พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย เดิมเรียก พระเจ้ากรุงสยาม เป็นประมุขแห่งรัฐ ของประเทศไทย ตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์จะลดลงหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และถูกจำกัดโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงได้รับความเคารพนับถือจากประชาชนส่วนใหญ่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 กับทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับว่า พระมหากษัตริย์ "ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้" นอกจากนั้น พระมหากษัตริย์ยังทรงได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายอาญา ทำให้การด่ากล่าวให้ร้ายพระองค์ถือเป็นความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ [ 3] [ 4] ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ทรงใช้อำนาจอธิปไตย ผ่านคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาล ทรงเป็นจอมทัพไทย พุทธมามกะ และอัครศาสนูปถัมภก มีพระราชอำนาจสถาปนาและพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กับฐานันดรศักดิ์ พระราชทานอภัยโทษ ประกาศสงครามและสงบศึก รวมตลอดถึงพระราชอำนาจอื่น ๆ ซึ่งจะทรงใช้ได้ก็แต่โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ยกเว้นพระราชอำนาจบางประการที่ทรงใช้ได้ตามพระราชอัธยาศัย คือ ตั้งและถอดองคมนตรี กับบรรดาข้าราชการในพระองค์ มีการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินให้แก่ส่วนราชการในพระองค์ทุกปี[ 5]
พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี ในปัจจุบัน เป็นประมุขราชวงศ์ มีที่ประทับอย่างเป็นทางการคือพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยทรงตอบรับการขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 แต่ในทางนิตินัยถือว่าพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559[ 6]
รัชทายาท ของพระมหากษัตริย์ไทยมีตำแหน่งเรียกว่าสยามมกุฎราชกุมาร การสืบพระราชสันติวงศ์ของพระมหากษัตริย์เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 โดยมีลักษณะเป็นการโอนจากบิดาสู่บุตรตามหลักบุตรคนหัวปี เฉพาะที่เป็นชาย แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดให้เสนอพระนามพระราชธิดาขึ้นสืบราชบัลลังก์ได้ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งรัชทายาทไว้ ทั้งนี้หากมีการแก้ไขกฎมณเฑียรบาลให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ได้ พระราชธิดาก็มีสิทธิที่จะเป็นรัชทายาทได้เช่นเดียวกันโดยสมบูรณ์[ 7] [ 8] [ 9]
บทบาทตามรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญปี 2490 และ 2492 มีการเพิ่มพระราชอำนาจอย่างสำคัญ เช่น พระมหากษัตริย์สามารถแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี ฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบต่อพระมหากษัตริย์ ทรงสามารถแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้กึ่งหนึ่ง[ 10] : 47
การใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย
กรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจยับยั้งร่างกฎหมาย ตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา เช่น
พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาทหาร พุทธศักราช 2477, พระราชบัญญัติแก้ไขวิธีพิจารณาความอาชญา พุทธศักราช 2477, พระราชบัญญัติแก้ไขวิธีพิจารณาความอาชญา พุทธศักราช 2477 (ฉะบับที่ 3): คณะรัฐมนตรีที่มีพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นนายกรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัติเหล่านี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีประหารชีวิตจากตัดศีรษะเป็นยิงให้ตาย และเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดที่ต้องมีพระบรมราชานุมัติก่อนประหารชีวิตเป็นให้จบที่คำพิพากษาของศาล สภาเห็นชอบ แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ และพระราชทานร่างคืนมายังสภา สภาลงมติยืนยันตามเดิม และถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกครั้ง แต่ไม่ทรงลงภายใน 15 วัน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 กำหนดให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เสมือนว่า ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว[ 11] : 4–9
พระราชบัญญัติอากรมฤดกและการรับมฤดก พุทธศักราช 2476: เดิมคณะรัฐมนตรีที่มีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 เพื่อเก็บอากรมฤดกจากผู้รับมฤดก และมีการพิจารณาเรื่อยมาจนสภาเห็นชอบในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 และมีการพิจารณาเพิ่มเติมจนถวายพระมหากษัตริย์ได้ใน พ.ศ. 2477 แต่ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายภายใน 30 วัน โดยมีบันทึกว่า ทรงขอให้แก้ไขให้ชัดเจนว่า จะไม่เก็บอากรมฤดกจากพระราชทรัพย์ ซึ่งสภาแก้ไขตามนั้น ในที่สุด จึงทรงลงพระปรมาภิไธย[ 12] : 10–12
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ต่อมา คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ): มีบันทึกว่า พระมหากษัตริย์ทรงขอให้แก้ไขคำปรารภให้สั้นลง และแก้ไขข้อกำหนดที่ให้ประธานองคมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เพราะทรงเห็นว่า จะทำให้ประธานองคมนตรี ซึ่งมาจากการเลือกสรรของพระมหากษัตริย์ กลายเป็นมีบทบาททางการเมือง ซึ่งขัดกับหลักการที่ให้พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง[ 11] : 7
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์: คณะรัฐมนตรีที่มีอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติในเดือนมกราคม พ.ศ. 2535 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดที่เกิดจากการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา โดยกำหนดว่า ถ้าผู้ทำละเมิดเป็นสื่อมวลชน ต้องใช้ค่าเสียหายในวงเงิน 20 เท่าของอัตราขั้นสูงแห่งโทษปรับทางอาญา เว้นแต่พิสูจน์ความเสียหายได้มากกว่านั้น พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย และไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และสภามิได้นำกลับไปพิจารณาใหม่ ร่างพระราชบัญญัติจึงตกไป[ 11] : 7–8
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... (ต่อมา คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547): ใน พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีที่มีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อรัฐสภา รัฐสภาเห็นชอบ แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ และพระราชทานร่างคืนไปให้พิจารณาใหม่ โดยทรงระบุว่า พบข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำและการอ้างเลขมาตรา[ 11] : 8
ร่างพระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 พ.ศ. .... (ต่อมา คือ พระราชบัญญัติเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 พ.ศ. 2547): ใน พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีที่มีพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อรัฐสภา รัฐสภาเห็นชอบ แต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ และพระราชทานร่างคืนไปให้พิจารณาใหม่ โดยทรงระบุว่า บรรยายลักษณะเหรียญผิด[ 11] : 8
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ต่อมา คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 : ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประชาชนได้ให้ความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 และนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ ถวายให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย แต่ต่อมา ขอพระราชทานร่างคืนมาเพื่อ "แก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามที่สำนักราชเลขาธิการแจ้ง"[ 13] : 1 มีรายงานว่า เป็นประเด็นเกี่ยวกับพระราชอำนาจ เช่น ให้ทรงตั้งหรือไม่ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในเวลาที่ไม่ประทับอยู่ในประเทศ ก็ได้[ 14]
บทบาทในการเมืองไทย
หลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระมหากษัตริย์ไทยมีพระราชอำนาจจำกัดตามรัฐธรรมนูญ และถูกคณะราษฎรลดบทบาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมมือกับคณะเจ้าเพื่อพยายามล้มล้างและประหัตประหารสมาชิกคณะราษฎร[ 10] : 19–33 เครือข่ายสายลับของพระองค์ใช้วังไกลกังวล เป็นศูนย์กลาง[ 10] : 27 ทรงโยกย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของพระองค์[ 10] : 33 ความขัดแย้งในเรื่องพระราชอำนาจเป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกับรัฐบาลคณะราษฎรจนนำไปสู่การสละราชสมบติ[ 10] : 163–4
เหตุการณ์การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองโจมตีปรีดี พนมยงค์และมรดกของเขา ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีรัฐประหารถึง 11 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2490 ซึ่งทำลายอำนาจของคณะราษฎร ความขัดแย้งกับจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ในเรื่องที่ดินตั้งแต่ปี 2494[ 10] : 48–9 สุดท้ายนำไปสู่รัฐประหารปี 2500 โดยมีหลักฐานพระองค์และกลุ่มกษัตริย์นิยมเคลื่อนไหวเตรียมรัฐประหาร มีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า พระองค์ทรงพระราชทานเงินสนับสนุนแก่พรรคประชาธิปัตย์ 700,000 บาท และมีรายงานว่าพระองค์ทรงเสด็จฯ ไปบ้านพักของหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ในยามวิกาลอย่างลับ ๆ อยู่เสมอ[ 10] : 52
ในเรื่องพระราชอำนาจโดยพฤตินัยนั้น ธงทอง จันทรางศุ เขียนถึงพระราชอำนาจนี้ว่า "แม้ว่าพระราชอำนาจดังกล่าวจะมิได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตาม แต่ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เข้าใจตรงกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าเป็นพระราชอำนาจที่มีอยู่จริง และอาจกล่าวได้ว่าเป็นพระราชอำนาจส่วนที่สำคัญที่สุดในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญเท่าที่ปรากฏในปัจจุบัน"[ 15] : 461 การสถาปนาพระราชอำนาจนำของพระมหากษัตริย์เกิดขึ้นผ่านการดำเนินโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชหัตถเลขาใจความว่า ควรถือพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้า ขึ้นไปอยู่เหนือการเมือง "โดยเฉพาะการไม่เข้าไปเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมือง อันอาจจะนำมาซึ่งการโจมตี ติเตียน และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับราษฎร" ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่มีหน้าที่ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะการไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับหลักการการดำรงอยู่เหนือการเมือง [ 16] ในปี 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (พระยศในขณะนั้น) ทรงมีพระราชโองการ เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความโดยสรุปว่า การนำพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ แม้จะทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว มาเกี่ยวข้องกับระบบการเมือง ไม่ว่าจะโดยทางใดก็ตาม เป็นการกระทำที่ขัดต่อโบราณราชประเพณี ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมของชาติ ถือเป็นการกระทำที่มิบังควรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง[ 17] [ 18]
ประวัติ
กำเนิด
รูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาตลอด 1,000 ปี ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตามอาณาจักรต่าง ๆ ของกลุ่มคนที่ใช้ภาษาตระกูลไต-ไทย ลุ่มแม่น้ำโขงและแม่น้ำเจ้าพระยา โดยมีคติแบบแผนคล้ายคลึงกันทั่วไปในดินแดนอุษาคเนย์ แนวคิดการปกครองแบบราชาธิปไตยสมัยแรกเริ่มตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาผี การบูชาแถนและคติผีฟ้าเจ้าฟ้า หลังจากการได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดู (รับเข้ามาจากจักรวรรดิขะแมร์ ) ที่ถือว่าวรรณะ กษัตริย์ มีอำนาจทางทหาร และหลักความเชื่อแบบเถรวาท ที่ถือพระมหากษัตริย์เป็น "ธรรมราชา" และคติ “พระจักรพรรดิราช” หลังจากที่พระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 อันเป็นแนวคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ควรจะปกครองประชาชนโดยธรรม โดยสันนิษฐานระเบียบแบบแผนของพระมหากษัตริย์ไทยตลอดจนราชสำนักนั้นเริ่มต้นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถในสมัยกรุงศรีอยุธยา
ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกพระมหากษัตริย์ว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเรียกว่าพระเจ้ากรุงสยาม [ 19] สถานะของพระมหากษัตริย์ในยุคนี้ได้รับคติ "เทวราชา" จากศาสนาฮินดู กล่าวคือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพเจ้าอวตารมาเพื่อปกครองมวลมนุษย์ ดังเห็นได้จากการใช้คำนำหน้าพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้า"
ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มนักศึกษาซึ่งได้รับการศึกษาแบบตะวันตกและนายทหารเรียก "ผู้ก่อการ" ได้ปฏิวัติยึดอำนาจ และเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ชาวสยาม ในเดือนธันวาคมปีนั้นจึงพระราชทานรัฐธรรมนูญเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาสู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ บทบาทของพระมหากษัตริย์ก็เหลือเพียงประมุขแห่งรัฐเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ผ่านรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และศาลตามลำดับ โดยเป็นการเปลี่ยนแนวคิดจากอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน มาเป็นความคิดแบบ "อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ" (สมมติว่ากษัตริย์มาจากมติของปวงชน) ซึ่งได้อิทธิพลมาจากขุนนางร่างกฎหมายที่นิยมกษัตริย์[ 10] : 11–12
ในปี 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ หลังทรงไม่ลงรอยกับรัฐบาลที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น พระองค์ทรงประทับในสหราชอาณาจักรจนสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงสืบราชสันตติวงศ์ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 10 พรรษาและเสด็จอยู่ต่างประเทศในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทน ในช่วงนั้น บทบาทและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกยึดโดยรัฐบาลฟาสซิสต์จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้นำสยามเข้ากับฝ่ายอักษะระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสงครามยุติ จอมพลแปลกถูกถอดออกและพระมหากษัตริย์เสด็จนิวัติประเทศ ระหว่างสงคราม พระญาติหลายพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งต่อต้านการยึดครองของต่างชาติระหว่างสงครามและช่วยกู้ฐานะของประเทศไทยหลังสงคราม
หลังพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จสวรรคตในปี 2489 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นทรงพระชนมายุ 19 พรรษา กลายเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลถัดมา พระองค์มีปฐมบรมราชโองการดังนี้ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
ระหว่างปี 2475 ถึง 2500 พระมหากษัตริย์ไทยมีบทบาททางสังคมน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเขามีแนวคิดต่อต้านราชวงศ์ อย่างไรก็ดี หลังรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 รัฐบาลฟื้นฟูบทบาททางสังคมดังกล่าว และรื้อฟื้นราชประเพณีดั้งเดิมรวมทั้งการหมอบกราบ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในพุทธทศวรรษ 2510 เริ่มเห็นได้ชัดว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาททางการเมือง หลังจากทรงสนับสนุนนักศึกษาในปี 2516 ทรงเปลี่ยนมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาในปี 2519 และรัฐบาลธานินทร์ จนสู่รัฐบาลพลเอกเปรม[ 20] : 558 ปรากฏชัดในครั้งกบฏยังเติร์ก ในปี 2524 ที่ทรงประกาศสนับสนุนรัฐบาลพลเอกเปรมทำให้กบฏล้มเหลว[ 20] : 558–9
เริ่มเมื่อประมาณปี 2543 บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยถูกนักวิชาการ สื่อ ผู้สังเกตการณ์และนักประเพณีนิยมคัดค้านเพิ่มขึ้น และเมื่อผู้สนใจนิยมประชาธิปไตยที่มีการศึกษาเริ่มแสดงออกซึ่งสิทธิคำพูดของเขา หลายคนถือว่าชุดกฎหมายและมาตรการเกี่ยวข้องกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ในประเทศไทย ซึ่งมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์และราชวงศ์เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพการแสดงออก มีการจับกุม การสืบสวนอาญาและจำคุกหลายครั้งโดยอาศัยกฎหมายเหล่านี้ ในปี 2548 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์พระองค์ได้หากสร้างสรรค์และไม่มีแรงจูงใจทางการเมือง
บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 [ 21] : 378
ส่วนราชการในพระองค์
กรมราชเลขานุการในพระองค์ และสภาองคมนตรีไทย สนับสนุนภาระหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ โดยปรึกษากับนายกรัฐมนตรี พระราชวังและพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์มีสำนักพระราชวัง และสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เป็นผู้จัดการตามลำดับ หน่วยงานเหล่านี้ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลไทย และพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งพนักงานทั้งหมด[ 22]
การสืบราชสันตติวงศ์
สยามมกุฎราชกุมารเป็นพระอิสริยยศของผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อจากพระมหากษัตริย์ มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ และจะดำรงพระยศนี้ตลอดพระชนม์ชีพจนกว่าพระมหากษัตริย์จะสวรรคตหรือสละราชสมบัติ
พระอิสริยยศนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงกำหนดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2429 เพื่อเป็นรัชทายาทแทนตำแหน่งพระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
นอกจากพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมารแล้ว ยังมีกฎหมายกำหนดทายาทโดยสันนิษฐาน คือ กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
↑ Campbell, Charlie (n.d.). "Thais Face an Anxious Wait to See How Their New King Will Wield His Power" . Time . สืบค้นเมื่อ 2 December 2016 .
↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ: พ่อขุนศรีนาวนำถุม สถาปนากรุงสุโขทัย ไม่ใช่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ตามที่บอกในตำรา มติชนออนไลน์ สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2559
↑ "Thailand revives law banning criticism of king in bid to curb protests" . BBC News . 25 November 2020. สืบค้นเมื่อ 15 February 2021 .
↑ Strangio, Sebastian. "With Severe Sentence, Thailand Deepens Its War on Critics of the Monarchy" . Diplomat . สืบค้นเมื่อ 15 February 2021 .
↑ "สรุปเนื้อหาอภิปรายของฝ่ายค้านเกี่ยวกับงบประมาณ 2564 ของสถาบันกษัตริย์" . BBC News ไทย . สืบค้นเมื่อ 15 February 2021 .
↑ ประกาศสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ , ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 1/12/2559
↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 11/1/2560
↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เก็บถาวร 2014-08-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 11/1/2560
↑ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เก็บถาวร 2017-04-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน , ราชกิจจานุเบกษา, สืบค้นวันที่ 30/5/2561
↑ 10.0 10.1 10.2 10.3 10.4 10.5 10.6 10.7 ใจจริง, ณัฐพล (2013). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ: ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม (พ.ศ. 2475-2500) (1 ed.). ฟ้าเดียวกัน. ISBN 9786167667188 .
↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 วัชรภา ไชยสาร. (ม.ป.ป.). พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย . สืบค้นจาก http://kpi.ac.th/media/pdf/M7_90.pdf
↑ นภารัตน์ กิมทรง. (2547). กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย . กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สำนักวิชาการ, กลุ่มงานห้องสมุด.
↑ สำนักนายกรัฐมนตรี. (2560). หนังสือที่ นร 0503/451 ลงวันที่ 10 มกราคม 2560 เรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... . สืบค้นจาก https://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d011360-02.pdf เก็บถาวร 2020-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
↑ Reuters. (2017). Thailand to begin amending draft constitution on king's request . Retrieved from https://www.reuters.com/article/us-thailand-king-constitution-idUSKBN15115D
↑ ชิตบัณฑิตย์, ชนิดา. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (1 ed.). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์. ISBN 9789748278575 .
↑ "ไทยรักษาชาติ : สรุปคำวินิจฉัยศาล รธน. สั่งยุบ ทษช. "เซาะกร่อนบ่อนทำลาย" สถาบันพระมหากษัตริย์" . บีบีซีไทย . 7 Mar 2019. สืบค้นเมื่อ 11 Mar 2019 .{{cite news }}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์ )
↑ "Thailand's king condemns bid by sister to become PM" . BBC . กรุงเทพมหานคร. 2019-02-08. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-02-08. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08 .
↑ "ประกาศ สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" (PDF) (Press release). Bangkok: ราชกิจจานุเบกษา . 2019-02-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF) เมื่อ 2019-02-09. สืบค้นเมื่อ 2019-02-08 .
↑ " "สยาม" ถูกใช้เรียกชื่อประเทศเป็นทางการสมัยรัชกาลที่ 4" . ศิลปวัฒนธรรม. 6 Jul 2017. สืบค้นเมื่อ 25 Aug 2017 .{{cite web }}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์ )
↑ 20.0 20.1 Wyatt, David K. (2013). Thailand: A Short History [ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป ] (ภาษาอังกฤษ). แปลโดย ละอองศรี, กาญจนี. มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย. ISBN 978-616-7202-38-9 .
↑ Veerayooth Kanchoochat & Kevin Hewison. (2016). Introduction:
Understanding Thailand’s Politics, Journal of Contemporary Asia , 46:3, 371-387, DOI: 10.1080/00472336.2016.1173305
↑ "Thailand The King – Flags, Maps, Economy, History, Climate, Natural Resources, Current Issues, International Agreements, Population, Social Statistics, Political System" . Photius.com. 28 December 1972. สืบค้นเมื่อ 5 May 2012 .
แหล่งข้อมูลอื่น
งานวิชาการ
ประเภท ประเทศ / ดินแดน
ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปโอเชียเนีย ทวีปอเมริกา
ผู้นำรัฐและรัฐบาลของเอเชีย
ประมุขแห่งรัฐ
รัฐสมาชิกสหประชาชาติ และรัฐผู้สังเกตการณ์ รัฐที่ได้รับการยอมรับ แบบจำกัด
หัวหน้ารัฐบาล
รัฐสมาชิกสหประชาชาติ และรัฐผู้สังเกตการณ์ รัฐที่ได้รับการยอมรับ แบบจำกัด
ผู้นำสูงสุด 1 พื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ในทวีปเอเชีย ขึ้นอยู่กับการจำแนก