ราชวงศ์อู่ทอง[1] หรือ ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา[1][2][3] หรือ ราชวงศ์เชียงราย[4] ปกครองอาณาจักรอยุธยารวมระยะเวลา สองครั้งราว 42 ปี ทั้งหมดล้วนเป็นชื่อสมมุติที่นักประวัติศาสตร์ใช้เรียกราชวงศ์แรกที่ปกครองอาณาจักรอยุธยา เพื่อความสะดวกในการศึกษาประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา โดยกำหนดเอาพระนามตามตำนานของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ที่มีพระนามเดิมว่า "พระเจ้าอู่ทอง" มาเป็นชื่อราชวงศ์ แต่ความเป็นมาของราชวงศ์ดังกล่าวยังคงคลุมเครืออยู่[5]
ประวัติ
ต้นสายเดิมของราชวงศ์นี้ยังเป็นปริศนาไม่ทราบแน่ชัด จึงมีการสมมติชื่อของราชวงศ์นี้ไว้หลายชื่อ ดังข้อสันนิษฐานต่อไปนี้ เช่น:
- ทฤษฎีที่ต้นราชวงศ์มาจากภาคเหนือ และสถาปนาเป็นต้นราชวงศ์เชียงราย[4]
- ทฤษฎีที่ต้นราชวงศ์อพยพหนีโรคห่ามาจากเมืองอู่ทอง[6]
- ต่อเนื่องมาจากการอพยพลงมาสู่ตอนใต้ของทฤษฎีแรกที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่เมืองอู่ทอง แต่เมืองอู่ทองเกิดโรคห่า จึงได้อพยพลงสู่กรุงศรีอยุธยา
- แต่ทฤษฎีนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว เพราะจากการสำรวจเมืองอู่ทองของมานิต วัลลิโภดม พบว่าเมืองอู่ทองร้างไปก่อนการตั้งกรุงศรีอยุธยาถึง 300 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่เจ้าเมืองอู่ทองจะหนีโรคห่ามาในช่วงเวลานั้น[5][7]
- ทฤษฎีที่เชื่อว่าต้นราชวงศ์มีความเกี่ยวดองกับละโว้มาก่อน[8]
- เนื่องจากหลังการสถาปนากรุงอโยธยาในปี พ.ศ. 1893 เอกสารของจีนยังคงเรียกอโยธยาว่า "หลอหู" (羅渦国) ซึ่งคือละโว้ อันแสดงถึงความเกี่ยวดองกับละโว้มาก่อน โดยเฉพาะที่สมเด็จพระราเมศวรครองเมืองละโว้ในฐานะลูกหลวงอีกประการหนึ่ง
นอกจากนี้ใน พงศาวดารล้านช้าง ซึ่งเป็นพงศาวดารของลาว ได้ระบุว่า ขุนบรม (หรือ ขุนบูลม ในภาษาลาว) ได้ให้กำเนิดบุตรเจ็ดคนไปครองเมืองต่าง ๆ โดยคนที่ห้าคือ "งัวอิน" ได้ครองเมืองอโยธยา[9] หรือในหนังสือ คู่มือทูตตอบ เขียนขึ้นโดยราชบัณฑิตไม่ปรากฏนามในสมัยกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2224 ระบุว่า กษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากสมเด็จพระปฐมสุริยนารายณีศวรบพิตร์ และมีลูกหลานคือสมเด็จพระพนมทะเลศรีมเหศวรวารินทร์ราชบพิตร อพยพไปกรุงสุโขทัยก่อนลงมาสร้างเมืองเพชรบุรี และต่อมาได้สร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีใหม่[10] เป็นต้น
มีการสันนิษฐานว่าราชวงศ์นี้อาจมีเชื้อสายลาว ดังพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า "ในต้นราชตระกูลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 นั้น เป็นเชื้อลาวมาตั้งพระราชธานีในประเทศสยาม ธรรมเนียมต่าง ๆ คงยังเจือลาวอยู่บ้าง"[4] บ้างก็ว่าอาจมีเชื้อสายพราหมณ์ เนื่องจากหลังการสิ้นอำนาจในการครองกรุงศรีอยุธยา ผู้สืบเชื้อสายจากราชวงศ์ดังกล่าวไม่ถูกสังหารเหมือนพราหมณ์ในพระราชไอยการของกรุงศรีอยุธยาที่มิให้ต้องโทษหรือประหาร[11] ทั้งนี้ทั้งนั้นความเป็นมาหรือเชื้อสายของต้นราชวงศ์นี้ ยังคงคลุมเครืออยู่ในปัจจุบัน[5]
การขึ้นสู่อำนาจ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ พระเจ้าอู่ทอง ทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์อู่ทองและเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาอันเป็นราชธานี ทรงครองราชย์เป็นเวลาถึง 18 ปี(12 มีนาคม พ.ศ. 1893 – พ.ศ. 1912) จนกระทั่งพระองค์ทรงสวรรคต
สมเด็จพระราเมศวร พระราชโอรสของพระเจ้าอู่ทองและเจ้าเมืองลพบุรี ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 1912 แต่ครองราชย์เพียงปีเดียวก็สละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 หรือ ขุนหลวงพะงั่ว เจ้าเมืองสุพรรณบุรีและผู้เป็นพระมาตุลาและกลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ทรงสถาปนาราชวงศ์ใหม่นามว่า ราชวงศ์สุพรรณภูมิ และครองราชย์เป็นระยะเวลา 18 ปี จนกระทั่งพระองค์ทรงสวรรคตใน พ.ศ. 1931 สมเด็จพระเจ้าทองลัน พระราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 ได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นเวลาต่อมาแต่กลับถูกสมเด็จพระราเมศวรใช้กำลังแย่งชิงราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าทองลันซึ่งครองราชย์ได้เพียงเจ็ดวันก็ถูกสำเร็จโทษ พระราชอำนาจจึงกลับมาอยู่ในมือของสมเด็จพระราเมศวรอีกครั้ง ภายหลังจากนั้นพระองค์ทรงสร้างคุณูปการต่ออาณาจักรอยุธยาไว้หลายประการ ไม่ว่าจะด้านพระศาสนาหรือการสงคราม ซึ่งพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ควรยกย่องเชิดชูพระเกียรติที่ทรงปกครองบ้านเมืองให้อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขโดยที่ไม่มีเมืองต่าง ๆ มารุกราน พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงขยายอาณาเขตให้อาณาจักรอยุธยายิ่งใหญ่ พระองค์ยังทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่ตลอดเวลา แม้เวลาส่วนมากจะทำศึกสงคราม
สมเด็จพระราเมศวรทรงสวรรคตใน พ.ศ. 1938 สิริพระชนมพรรษา 56 พรรษา ทรงครองราชสมบัติรวม 2 ครั้งเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยสมเด็จพระเจ้ารามราชา พระราชโอรสของพระองค์ได้สืบราชสมบัติต่อมา
การสิ้นสุดอำนาจ
สมเด็จพระเจ้ารามราชา พระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวร ได้สืบราชสมบัติสืบมา แต่ภายหลังได้ถูกถอดจากการเป็นกษัตริย์ด้วยทรงมีข้อพิพาทกับเจ้าพระยามหาเสนาบดี ผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีและเป็นผู้บังคับบัญชาทหาร เจ้าพระยามหาเสนาบดีได้หนีไปอยู่ฟากปทาคูจาม แล้วได้ร่วมกับสมเด็จพระอินทราชา ยกกำลังจากเมืองสุพรรณบุรีมายึดกรุงศรีอยุธยา แล้วทูลเชิญสมเด็จพระอินทราชาขึ้นครองราชย์กรุงศรีอยุธยา ส่วนสมเด็จพระเจ้ารามราชาได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองปทาคูจาม หลังครองกรุงศรีอยุธยาได้ 15 ปี สวรรคตปีใดไม่ปรากฏหลักฐาน
บ้างก็ว่าสมเด็จพระเจ้ารามราชาถูกสมเด็จพระอินทราชาเนรเทศให้ครองเมืองจตุมุข โดย ไมเคิล วิคเคอรี (Michael Vickery) ได้สันนิษฐานว่าสมเด็จพระรามาธิบดี (คำขัด) บิดาของเจ้าพญายาต กษัตริย์เขมร เป็นบุคคลเดียวกับ "พระรามเจ้า" ในพระราชพงศาวดารฉบับปลีกว่าเป็นบุคคลเดียวกับสมเด็จพระเจ้ารามราชา[12] และวิคเคอรีก็สันนิษฐานอีกว่าเมือจตุมุขดังกล่าวเป็นเมืองเดียวกับเมืองปทาคูจาม[13]
ทั้งนี้ผู้สืบเชื้อสายในราชวงศ์ดังกล่าวมิได้รับโทษทัณฑ์หรือถูกประหารหลังการสูญเสียอำนาจ ทั้งยังอาจได้รับการยกย่องให้เป็นตระกูลที่ศักดิ์สิทธิ์ ราชวงศ์ละโว้-อโยธยาจึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นปุโรหิตให้ทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมในราชสำนักโดยมิให้กำลังอำนาจใด ๆ[11] และสตรีจากราชวงศ์นี้ก็รับราชการเป็นพระสนมในพระมหากษัตริย์ในตำแหน่ง "ท้าวศรีสุดาจันทร์"[14] ซึ่งเป็นหนึ่งในสนมเอกสี่ทิศของพระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยา อันเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจปกแผ่ยังทิศทั้งสี่[15]
การฟื้นอำนาจ
จากการที่ราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ยังคงมีบทบาทในราชสำนักอาณาจักรอยุธยาทั้งด้านพิธีกรรมทางศาสนา และการส่งสตรีเข้ารับราชการฝ่ายในเป็นพระสนมในพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์นี้ยัง "รอคอย" ที่จะนำอำนาจของพวกตนหวนคืนกลับมา[16] ในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ได้มีสตรีจากราชวงศ์ละโว้-อโยธยา เข้ารับราชการเป็นพระมเหสีฝ่ายซ้าย คือ แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ซึ่งเพิ่มพูนอำนาจจากการประสูติกาลพระราชโอรสคือสมเด็จพระยอดฟ้า ทำให้พระนางมีฐานะที่สูงส่งกว่าพระชายาอีกสามพระองค์[14] ต่อมาสมเด็จพระไชยราชาธิราช พระสวามีได้เสด็จกลับจากราชการสงคราม ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต จึงได้มีการยกสมเด็จพระยอดฟ้าผู้เป็นพระโอรสครองราชย์ต่อมาในปี พ.ศ. 2089 โดยมีนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
หลังการสิ้นพระชนม์ของพระสวามี พระนางก็ลอบสังวาสกับพันบุตรศรีเทพ (บุญศรี) ซึ่งเป็นข้าหลวงเดิมอันถือเป็นเรื่องผิดกฎมนเทียรบาลด้วยห้ามการมีสามีใหม่ ด้วยแสวงหาอำนาจที่จะคุ้มครองบัลลังก์ ทรงเห็นว่ากลุ่มของพันบุตรศรีเทพอาจจะเหมาะควร[1] เพื่อการลุแก่อำนาจ พระนางทรงอ้างว่าสมเด็จพระยอดฟ้ายังทรงพระเยาว์ ทั้งหัวเมืองเหนือก็ไม่เป็นปกติ จึงปรึกษากับขุนนางว่าจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดินจนกระทั่งพระยอดฟ้าทรงเจริญพระชนมายุ เหล่าขุนนางก็เห็นชอบด้วย เมื่อขุนวรวงศาธิราชขึ้นครองราชย์แล้ว แล้วนำสมเด็จพระยอดฟ้าไปสำเร็จโทษที่วัดโคกพระยา[17] อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานี้พงศาวดารพม่ากลับจดพระนามผู้ครองราชย์ว่า "พระอัครมเหสี" ซึ่งคือตัวท้าวศรีสุดาจันทร์นั่นเอง[18][19]
แต่ท้ายที่สุดการฟื้นอำนาจของพระนางก็สิ้นสุดลง โดยกลุ่มขุนนางผู้ใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยกับการครองราชย์นั้น นำโดยขุนพิเรนทรเทพ (ต่อมาคือสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช) ได้ร่วมกันวางแผนจับและสังหารขุนวรวงศาธิราชกับนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์พร้อมด้วยบุตร แล้วนำพระศพไปเสียบประจานที่วัดแร้ง[17]
รายพระนามพระมหากษัตริย์
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทตำนานและพงศาวดาร ทำให้เชื่อได้ว่า "ราชวงศ์อู่ทอง" เป็นความสัมพันธ์กันทางเครือญาติระหว่างเมืองลพบุรีกับเมืองสุพรรณบุรี แต่อย่างไรก็ตามความเป็นมาของราชวงศ์นี้ยังคงคลุมเครืออยู่ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์อู่ทอง มี 3 พระองค์ ได้แก่
แผนผัง
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 นิพัทธพงศ์ พุมมา และณรงค์กรรณ รอดทรัพย์ (มกราคม-มิถุนายน พ.ศ. 2555). "นางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์:ผู้หญิงกับอำนาจเชิงพื้นที่หลากมิติ" (PDF). วรสาร มฉก. วิชาการ. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2557.
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน. 2553, หน้า 60
- ↑ บาราย (3 ตุลาคม พ.ศ. 2553). "เอกสารคำหับ". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2557.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 สุจิตต์ วงษ์เทศ (17 พฤษภาคม 2556). "พระเจ้าแผ่นดินอยุธยา เป็นเชื้อราชวงศ์ลาว มีในพระราชนิพนธ์ ร.4, ร.5". sujitwongthes.com. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2557.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 "พระเจ้าอู่ทอง". สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-03-02. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2557.
- ↑ "สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)". โอเชี่ยนสไมล์ทัวร์. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2557.
- ↑ "กรุงศรีอยุธยา (มรดกโลก)". จดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. สืบค้นเมื่อ 7 เมษายน 2557. [ลิงก์เสีย]
- ↑ "พระสุริโยไทเป็นใคร? มาจากไหน ?". Bandhit Press. สืบค้นเมื่อ 13 มกราคม 2557.
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. "พลังลาว" ชาวอีสาน มาจากไหน?. กรุงเทพฯ : มติชน. 2549, หน้า 95
- ↑ ไมเคิล ไรท์. (4 กุมภาพันธ์ 2548). "ภูมิประวัติศาสตร์สยาม:เอกสารชั้นต้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่เปิดเผยใหม่". ศิลปวัฒนธรรม. 26:4, หน้า 91
- ↑ 11.0 11.1 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน. 2553, หน้า 95
- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ). ความยอกย้อนของประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ:รุ่งแสงการพิมพ์. 2539, หน้า 63
- ↑ จันทร์ฉาย ภัคอธิคม. "พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา:ในทรรศนะของนายไมเคิล วิคเคอรี". ข้อมูลประวัติศาสตร์ในรอบทศวรรษ (พ.ศ. 2420-2530). กรุงเทพฯ : สยามสมาคม. 2531, หน้า 50
- ↑ 14.0 14.1 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. การเมืองในประวัติศาสตร์ ยุคสุโขทัย-อยุธยา พระมหาธรรมราชา กษัตราธิราช. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน. 2553, หน้า 90
- ↑ สุจิตต์ วงษ์เทศ. ท้าวศรีสุดาจันทร์ "แม่หยัวเมือง" ใครว่าหล่อนชั่ว ?. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : เรือนแก้วการพิมพ์, 2557, หน้า 73
- ↑ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. พระศรีสุริโยทัยเป็นใคร? มาจากไหน?. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มติชน. 2544, หน้า 48
- ↑ 17.0 17.1 พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553, หน้า 66-7
- ↑ สุเนตร ชุตินธรานนท์ ดร. พม่ารบไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ : มติชน. 2554, หน้า 74
- ↑ นราธิปประพันธ์พงศ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. พระราชพงศาวดารพม่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2550, หน้า 1131
ดูเพิ่ม