การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง ส่วนหนึ่งของ สงครามพม่า–สยาม ช้างศึกในช่วงสงครามพม่า–สยามตอนปลายวันที่ พ.ศ. 2111–2112 สถานที่ ผล
อาณาจักรตองอูชนะ
กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู
พระบรมวงศานุวงศ์ส่วนหนึ่งถูกนำไปยังพม่า
คู่สงคราม
อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรล้านช้าง
อาณาจักรตองอู
พื้นที่ควบคุม:
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ
หน่วยที่เกี่ยวข้อง
กำลัง
ไม่ทราบ
ข้อมูลฝั่งพม่า: กองทัพพม่า
54,600 นาย, ทหารม้า 5,300 นาย และทหารช้าง 530 นาย
ร่วมกับกองทัพพิษณุโลก: มากกว่า 70,000 นาย ความสูญเสีย
สยาม ไม่ทราบ ล้านช้าง ทหาร 30,000 นาย และช้าง 100 เชือก
ไม่ทราบ
การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่หนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างอาณาจักรตองอู และอาณาจักรอยุธยา อันเป็นผลมาจากความต้องการของพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งต้องการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศราช [ 4] และอาจถือได้ว่าเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามช้างเผือก ใน พ.ศ. 2106 ที่ทรงตีกรุงศรีอยุธยาไม่สำเร็จ[ 5]
ความขัดแย้งภายในกรุงศรีอยุธยาระหว่างสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับเจ้าเมืองพิษณุโลก สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ซึ่งมีพระทัยฝักใฝ่พม่า ได้นำไปสู่ความพินาศของกรุงศรีอยุธยาในที่สุด[ 4] จนกระทั่ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพให้กับอาณาจักรอยุธยาในอีก 15 ปีต่อมา
เบื้องหลัง
พระเทียรราชาขึ้นครองราชย์
หลังจากพระเทียรราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระองค์ได้ทรงสถาปนาขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งเป็นราชนิกูลข้างพระราชมารดาแต่เดิมขึ้นเป็นเจ้า ทรงนามว่า สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช กรุงหงสาวดีเห็นว่าเป็นช่วงผลัดแผ่นดินจึงบุกโจมตีกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าสงครามพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อพระมหาจักรพรรดิทรงทราบจึงทรงนำทัพออกต้านศึก และในขณะที่พระมหาจักรพรรดิทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าแปรอยู่ ช้างพระที่นั่งของพระมหาจักรพรรดิก็เสียที ทำให้พระเจ้าแปรไล่ชน แต่พระสุริโยทัย ได้นำช้างมาขวาง ทำให้พระศรีสุริโยทัยเสด็จสวรรคต หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็ส่งเรือรบไปยิงค่ายพม่า ทำให้พม่าต้องถอยทัพกลับหงสาวดี เมื่อกลับถึงเมืองพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้กลับยึดติดกับการตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้จึงทรงติดสุราอย่างหนักจนออกว่าราชการไม่ได้ ต้องให้บุเรงนองผู้เป็นพระญาติเป็นผู้สำเร็จราชการแทน
หลังพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ถูกลอบปลงพระชนม์ พระเจ้าบุเรงนอง ได้ครองหงสาวดี และก็นำกองทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาหมายจะตีอยุธยา เรียกว่าสงครามช้างเผือก ตอนแรกทรงส่งสาส์นมาขอช้างเผือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิได้ส่งพระราชสาส์นตอบกลับไปว่า "ถ้าประสงค์จะได้ช้างเผือกก็ให้เสด็จมาเอาโดยพระองค์เองเถิด" ทำให้พระเจ้าบุเรงนองถือเอาสาส์นนี้เป็นเหตุยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา
สงครามช้างเผือก
ในปี พ.ศ. 2106 พระเจ้าบุเรงนองทรงยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา โดยเข้ามาทางด่านแม่ละเมา กำลังประมาณ 500,000 คนพร้อมด้วยช้าง ม้า และอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมาก โดยยกเข้ามาทางเมืองตาก ด้วยกำลังมากกว่าสามารถยึดหัวเมืองเหนือได้เกือบทั้งหมดโดยสะดวกจนมาถึงเมืองพิษณุโลก พระมหาธรรมราชาได้ทรงสู้เป็นสามารถและทำการป้องกันเมืองอย่างดี พระเจ้าบุเรงนอง จึงขอเจรจา พระมหาธรรมราชาจึงส่งพระสงฆ์จำนวน 4 รูป เพื่อทำการเจรจาแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ อีกทั้งในเมืองยังขาดเสบียง และเกิดไข้ทรพิษระบาดขึ้นในเมือง ด้วยสมเด็จพระมหาธรรมราชาเกรงว่าหากขืนสู้รบต่อไปด้วยกำลังคนที่น้อยกว่าอาจทำให้เมืองเมืองพิษณุโลกถูกทำลายลงเหมือนกับหัวเมืองเหนืออื่น ๆ ก็เป็นได้ พระมหาธรรมราชาจึงยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนอง
พระเจ้าบุเรงนองทรงบังคับให้พระมหาธรรมราชาและเจ้าเมืองอื่น ๆ ถือน้ำกระทำสัตย์ให้อยู่ใต้บังคับของพม่าทำให้พิษณุโลกต้องแปรสภาพเป็นเมืองประเทศราชของหงสาวดีและไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แล้วให้พระธรรมราชาครองเมืองพิษณุโลกดังเดิม แต่อยู่ในฐานะเป็นหัวเมืองประเทศราชของหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองทรงขอพระนเรศวร ไปเป็นองค์ประกันที่หงสาวดีในปี พ.ศ. 2107 พร้อมทั้งสั่งให้ยกทัพตามลงมาเพื่อตีกรุงศรีฯด้วย
พระองค์รบชนะทัพอยุธยาที่ชัยนาท และลงมาตั้งค่ายล้อมพระนครทั้ง 4 ทิศ กองทัพพม่ายกมาประชิดเขตเมืองใกล้ทุ่งลุมพลี พระมหาจักรพรรดิทรงให้กองทัพบก และกองทัพเรือระดมยิงใส่พม่าเป็นสามารถ แต่สู้ไม่ได้จึงถอย ทางพม่าจึงยึดได้ป้อมพระยาจักรี (ทุ่งลุมพลี) ป้อมจำปา ป้อมพระยามหาเสนา (ทุ่งหันตรา) แล้วล้อมกรุงศรีฯอยู่นาน พระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าพม่ามีกำลังมาก การที่จะออกไปรบเพื่อเอาชัยคงจะยากนัก จึงทรงสั่งให้เรือรบนำปืนใหญ่ล่องไปยิงทหารพม่าเป็นการถ่วงเวลาให้ เสบียงอาหารหมดหรือเข้าฤดูน้ำหลากพม่าคงจะถอยไปเอง แต่พม่าได้เตรียมเรือรบ และปืนใหญ่มาจำนวนมากยิงใส่เรือรบไทยพังเสียหายหมด แล้วตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในพระนครทุกวัน ถูกชาวบ้านล้มตาย บ้านเรือน วัด เสียหายเป็นอย่างมาก แต่ถึงแม้ว่าพม่าจะยิงปืนใหญ่เข้าสู่พระนครเป็นระยะ ๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าสู่ตัวเมืองได้
พระเจ้าบุเรงนองจึงมีพระราชสาส์นให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกจะรบให้รู้แพ้รู้ชนะหรือเลือกยอมสงบศึก โดยที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเลือกสงบศึก[ 6] อยุธยาจึงต้องยอมปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของพม่า โดยมอบช้างเผือก 4 ช้างให้แก่พม่า มอบตัวบุคคลที่คัดค้านไม่ให้ส่งช้างเผือกแก่พม่าเมื่อครั้งก่อนสงครามช้างเผือก ได้แก่ พระราเมศวร เจ้าพระยาจักรีมหาเสนา และพระสมุทรสงคราม ไปเป็นตัวประกัน[ 7] ส่งช้างให้แก่พม่าปีละ 30 เชือก ส่งเงินให้แก่พม่าปีละ 300 ชั่ง และให้พม่ามีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองมะริด[ 7] โดยมีการเจรจาขึ้นบริเวณสถานที่ประทับชั่วคราวระหว่างวัดพระเมรุสาธิการรามกับวัดหัศดาวาส[ 4] โดยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงต่อรองขอดินแดนของอยุธยาทั้งหมดที่พระเจ้าบุเรงนองยึดไว้คืน พระเจ้าบุเรงนองก็ถวายคืนแต่โดยดี จากนั้นพม่าก็ถอยกลับไปหงสาวดี
ถึงแม้ว่าพม่าจะได้รับประโยชน์จากข้อตกลงดังนี้ แต่พระเจ้าบุเรงนองยังไม่ทรงประสบความสำเร็จในการได้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองประเทศราช[ 4] ดังนั้น พระเจ้าบุเรงนองจึงทรงพยายามดำริหาวิธีในการเอาชนะกรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมารบอีกครั้งหนึ่ง
พระมหาธรรมราชาเอาพระทัยออกห่าง
พระมหาธรรมราชาทรงแสดงท่าทีฝักใฝ่พม่าตั้งแต่ระยะหลังสงครามช้างเผือกแล้ว โดยทรงยินยอมส่งกำลังทหารไปช่วยพระเจ้าบุเรงนองล้อมเมืองเชียงใหม่ ตามที่ติดต่อมา[ 5] ราวปี พ.ศ. 2108 พระมหาธรรมราชาทรงส่งข่าวเรื่องการพระราชทานพระเทพกษัตรี แก่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งอาณาจักรล้านช้าง แต่ถูกกองทัพพม่าดักชิงตัวไปกลางทาง ทำให้การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับล้านช้างล้มเหลวลง[ 5]
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบก็ทรงเสียพระทัย จึงเสด็จไปประทับที่วังหลัง ให้พระมหินทร์พระโอรสว่าราชการแทน เมื่อพระชนมายุประมาณ 59 พรรษา ต่อมาได้เสด็จออกผนวชใน พ.ศ. 2109 โดยมีข้าราชการออกบวชด้วยจำนวนมาก โดยพระมหินทร์ พระราชโอรสทรงได้ว่าราชการแทน ต่อมาทรงมีเรื่องกินแหนงแคลงใจกับพระมหาธรรมราชาจนเกิดความร้าวฉานระหว่างพิษณุโลกกับกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากพระองค์สมคบพระไชยเชษฐากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้างยกทัพไปตีเมืองพิษณุโลกเพื่อกำจัดพระมหาธรรมราชา จนพระองค์มิอาจรั้งราชการแผ่นดิน จึงทูลเชิญให้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิลาผนวชหลังจากที่ผนวชได้ไม่นาน แล้วกลับมาว่าราชการตามเดิม
ก่อนเสียกรุง
ต่อมาพระมหาธรรมราชาเสด็จไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองในปี พ.ศ. 2108 โดยทรงกล่าวโทษว่าอยุธยาวางแผนกำจัดพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองจึงให้พระมหาธรรมราชาเป็นเจ้าเมืองประเทศราช ทรงพระนามว่า พระศรีสรรเพชญ์ เจ้าฟ้าพิษณุโลก หรือ เจ้าฟ้าสองแคว อันอยู่ในฐานะกบฏต่ออาณาจักรอยุธยา[ 8]
พระมหาจักรพรรดิกับพระมหินทร์เสด็จขึ้นไปเมืองพิษณุโลก ในขณะที่พระมหาธรรมราชาเสด็จไปหงสาวดีแล้วนำพระวิสุทธิกษัตรี พร้อมด้วยพระเอกาทศรถมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่องจึงให้ไปเข้ากับหงสาวดีอย่างเปิดเผย ถึงแม้ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะทรงนำพระชายา พระโอรสและพระธิดาของพระมหาธรรมราชาลงมายังอยุธยา โดยหวังว่าพระมหาธรรมราชาจะไม่ทรงกล้าดำเนินการใด ๆ ต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ก็การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น[ 9] เมื่อพระมหาธรรมราชาเมื่อทราบว่าพระอัครชายาและโอรสธิดาถูกจับเป็นองค์ประกันก็ทรงวิตกยิ่งนัก แล้วรีบส่งสาสน์ไปยังพระเจ้าบุเรงนองให้ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา
ก่อนการเสียกรุง พ.ศ. 2112 พระมหาธรรมราชาได้ทรงส่งกองทัพมาร่วมล้อมกรุงศรีอยุธยาร่วมกับทัพใหญ่ของพระเจ้าบุเรงนองด้วย และได้ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในกองทัพพม่าด้วย และในปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 1 แห่งล้านช้างทรงส่งกองทัพเข้าช่วยเหลือกรุงศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาก็ทรงปลอมเอกสารลวงให้กองทัพล้านช้างนำทัพผ่านบริเวณที่ทหารพม่าคอยดักอยู่ กองทัพล้านช้างจึงแตกพ่ายกลับไป[ 10]
การเตรียมการของฝ่ายอยุธยา
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงให้เตรียมการป้องกันบ้านเมืองเพิ่มเติม ดังนี้[ 9]
สร้างป้อมและหอรบเพิ่มเติม โดยหอรบอยู่ห่างกันหอละ 40 เมตร รวมทั้งเสริมกำแพงให้แข็งแกร่งขึ้น
จัดปืนใหญ่ไว้ตามกำแพงเมืองเป็นจำนวนมาก โดยห่างกันเพียงกระบอกละ 10 เมตร
โปรดให้สร้างแนวกำแพงขึ้นใหม่โดยให้ชิดกับคูเมืองทุกด้าน
ให้สร้างหอรบไว้กลางลำน้ำที่เป็นคูเมืองแล้วเอาปืนใหญ่ติดตั้งไว้บนนั้น
ลำดับเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าบุเรงนองทรงนำทัพเข้ารุกรานกรุงศรีอยุธยาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2111 ยกเข้ามาทางด่านแม่ละเมา เมืองตาก รวมทั้งหมด 7 ทัพ ประกอบด้วย พระมหาอุปราชา เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู เจ้าเมืองอังวะ เจ้าเมืองเชียงใหม่ และเชียงตุง เข้ามาทางเมืองกำแพงเพชร โดยได้เกณฑ์หัวเมืองทางเหนือรวมทั้งเมืองพิษณุโลกมาร่วมสงครามด้วย รวมจำนวนได้กว่า 500,000 นาย[ 9] ยกทัพลงมาถึงพระนครในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โดยให้พระมหาธรรมราชาเป็นกองหลังดูแลคลังเสบียง ทัพพระเจ้าบุเรงนองก็ตั้งค่ายรายล้อมพระนครอยู่ไม่ห่าง[ 9] การตั้งรับภายในพระนครส่งผลให้มีการระดมยิงปืนใหญ่ของข้าศึกทำลายอาคารบ้านเรือนอยู่ตลอด ทำให้ได้รับความเสียหายอย่างมาก
ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเมื่อทราบว่าหัวเมืองทางเหนือเป็นของพม่าแล้ว จึงเตรียมรบอยู่ที่พระนคร นำปืนนารายณ์สังหารยิงไปยังกองทัพพระเจ้าหงสาวดีที่ตั้งอยู่บริเวณทุ่งลุมพลี ถูกทหาร ช้าง ม้าล้มตายจำนวนมาก พม่าจึงถอยทัพมาตั้งที่บ้านพราหมณ์ให้พ้นทางปืน แล้วพระเจ้าหงสาวดีจึงเรียกประชุมการศึก พระมหาอุปราชเห็นสมควรให้ยกทัพเข้าตีไทยทุกด้านเพราะมีกำลังมากกว่า แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่เห็นด้วยเพราะกรุงศรีอยุธยามีทำเลดีมีน้ำล้อมรอบ จึงสั่งให้ตีเฉพาะด้านตะวันออกเพราะคูเมืองแคบที่สุด พม่าพยายามจะทำสะพานข้ามคูเมืองโดยนำดินมาถมเป็นสะพาน พระมหาเทพ นายกองรักษาด่านอย่างเต็มสามารถ โดยให้ทหารไทยใช้ปืนยิงทหารพม่าที่ขนดินถมเป็นสะพานเข้ามา ทำให้พม่าล้มตายจำนวนมากจึงถอยข้ามคูกลับไป
พระเจ้าบุเรงนองทรงพยายามโจมตีอยู่นานจนถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2112 ก็ยังไม่ได้กรุงศรีอยุธยา อีกทั้งยังสูญเสียกำลังพลเป็นจำนวนมาก[ 11] พระองค์ทรงพยายามเปลี่ยนที่ตั้งค่ายอยู่หลายระยะ โดยในภายหลังทรงย้ายค่ายเข้าไปใกล้กำแพงเมืองจนทำให้สูญเสียพลอย่างมาก ระหว่างการสงครามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรและสวรรคตในเวลาต่อมา สมเด็จพระมหินทร์ ขึ้นครองราชและทรงบัญชาการรบแทน
พระเจ้าบุเรงนองจึงถามพระมหาธรรมราชาว่าจะ ทำอย่างไรให้ชนะศึกโดยเร็ว พระมหาธรรมราชาทรงแนะว่าพระยาราม เป็นแม่ทัพสำคัญหากได้ตัวมาการยึดพระนครจักสำเร็จ จึงมีสาสน์มาถึงพระอัครชายาว่า
"...การศึกเกิดจากพระยารามที่ยุยงให้พี่น้องต้องทะเลาะกัน ถ้าส่งตัวพระยารามมา ให้พระเจ้าหงสาวดีจะยอมเป็นไมตรี... " สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงอ่านสาสน์แล้ว ปรึกษากับข้าราชการต่าง ๆ จึงเห็นสมควรสงบศึกเพราะผู้คนล้มตายกันมากแล้ว สมเด็จพระมหินทร์ฯมีรับสั่งให้ส่งพระสังฆราชออกไปเจรจาและส่งตัวพระยารามให้พระเจ้าบุเรงนองเพื่อเป็นไมตรี แต่พระเจ้าบุเรงนองตระบัดสัตย์ไม่ยอมเป็นไมตรี ทำให้สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงพิโรธโกรธแค้นในการกลับกลอกของพระเจ้าบุเรงนองอย่างมาก มีรับสั่งให้ขุนศึกทหารทั้งปวงรักษาพระนครอย่างเข้มแข็ง พระเจ้าบุเรงนองเห็นว่ายังไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ จึงส่งพระมหาธรรมราชามาเกลี้ยกล่อมให้ยอมแพ้ แต่ถูกทหารไทยเอาปืนไล่ยิงจนต้องหนีกลับไป
พระเจ้าหงสาวดีจึงคิดอุบายจะใช้พระยาจักรี ที่จับตัวได้เป็นประกันเมื่อครั้งสงครามช้างเผือกเป็นไส้ศึก จึงให้พระมหาธรรมราชาทรงเกลี้ยกล่อมพระยาจักรีให้เป็นไส้ศึกในกรุงศรีอยุธยา แล้วแกล้งปล่อยตัวออกมา รุ่งเช้าพม่าทำทีเป็นตามหาแต่ไม่พบเลยจับตัวผู้คุมมาตัดหัวเสียบไว้ริมแม่น้ำเพื่อให้ไทยหลงกล
สมเด็จพระมหินทร์ฯทรงดีพระทัยที่พระยาจักรีหนีมาได้จึงทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้บังคับบัญชาการรบแทนที่พระยาราม ครั้นพระยาจักรีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรักษาพระนครแล้วจึงดำเนินการสับเปลี่ยนหน้าที่ของฝ่ายต่าง ๆ จนกระทั่งการป้องกันพระนครอ่อนแอลง พระยาจักรีได้ใส่ร้ายให้พระศรีสาวราชว่าเป็นกบฏจึงถูกสำเร็จโทษ เมื่อเห็นว่าได้เวลาอันควรพระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกด้าน และทำให้กองทัพพม่าเข้าสู่พระนครสำเร็จโดยใช้เวลาเพียง 1 เดือน[ 10]
ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2112 (เดือน 9 ไทย) พระยาจักรีจึงให้สัญญาณแก่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาและเปิดประตูเมือง ทำให้ทัพพม่าเข้ายึดพระนครสำเร็จ กรุงศรีอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอู
หลังสงคราม
พระเจ้าบุเรงนองประทับอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาจนกระทั่ง วันศุกร์ขึ้นหกค่ำ เดือนสิบสอง ปีมะเส็ง พ.ศ. 2112 ได้อภิเษกให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช ขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ในฐานะประเทศราช ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญที่ 1 บางแห่งเรียก พระสุธรรมราชา
สมเด็จพระมหินทราธิราช พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางน้อยใหญ่ ได้ถูกนำไปกรุงหงสาวดีด้วยแต่สมเด็จพระมหินทร์ประชวรและสวรรคตระหว่างทางไปกรุงหงสาวดี
พม่าเข้ายึดทรัพย์สินและกวาดต้อนผู้คนกลับไปพม่าเป็นจำนวนมาก โดยเหลือให้รักษาเมืองเพียง 1,000 คน คนที่เหลือก็หนีไปหลบอาศัยอยู่ที่อื่น บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายได้รับความเสียหายเป็นอันมาก[ 12] อาณาจักรอยุธยาจึงตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรตองอูเป็นเวลานาน 15 ปี
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
↑ Pires, Tomé (1944). Armando Cortesao (translator) (ed.). A suma oriental de Tomé Pires e o livro de Francisco Rodriguez: Leitura e notas de Armando Cortesão [1512 - 1515] (in Portuguese). Cambridge: Hakluyt Society.
↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 219.
↑ 5.0 5.1 5.2 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 220.
↑ ดนัย ไชยโยธา. หน้า 217-218.
↑ 7.0 7.1 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 218.
↑ ดนัย ไชยโยธา. หน้า 220-221.
↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 222.
↑ 10.0 10.1 ดนัย ไชยโยธา. หน้า 221.
↑ ดนัย ไชยโยธา. หน้า 224.
↑ ดนัย ไชยโยธา. หน้า 225.
บรรณานุกรม
ดนัย ไชยโยธา. (2543). พัฒนาการของมนุษย์กับอารยธรรมในราชอาณาจักรไทย เล่ม ๑ . โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
Harvey, G. E. (1925). History of Burma: From the Earliest Times to 10 March 1824 . London: Frank Cass & Co. Ltd.
Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 2 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
Jumsai, Manich (1976). "King Tilokarat (1441–1485)". Popular History of Thailand . Bangkok,Thailand: Claremint. ASIN B002DXA1MO .
Rajanubhab, Damrong (2001). Our Wars With the Burmese . Bangkok,Thailand: White Lotus. ISBN 9747534584 .
Wood, William A. R. (1924). History of Siam . Thailand: Chalermit Press. ISBN 1-931541-10-8 .
Sein Lwin Lay, Kahtika U (2006) [1968]. Mintaya Shwe Hti and Bayinnaung: Ketumadi Taungoo Yazawin (ภาษาพม่า) (2nd printing ed.). Yangon: Yan Aung Sarpay.
Simms, Peter and Sanda (1999). The Kingdoms of Laos: Six Hundred Years of History . Curzon Press. ISBN 0-7007-1531-2 .