"สงครามฝรั่งเศส-สยาม" เปลี่ยนทางมาที่นี่ สำหรับความขัดแย้งระหว่างไทยและฝรั่งเศสในพ.ศ. 2483–84 ดูที่
กรณีพิพาทอินโดจีน
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือในต่างประเทศเรียกว่า วิกฤตฝรั่งเศส-สยาม เป็นความขัดแย้งระหว่างสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 และราชอาณาจักรสยาม เหตุเริ่มในปีพ.ศ. 2429 โอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสในหลวงพระบาง เป็นผู้แทนหลักในการสนับสนุนผลประโยชน์ของฝรั่งเศสในลาว จากความขัดแย้งของลาวกับสยามกรณี พระเจ้าอนุวงศ์ และการปกครองเป็นครั้งคราวของชาวเวียดนามจากตังเกี๋ย เพิ่มความตึงเครียดระหว่างสยาม กับฝรั่งเศส ส่งผลให้ลาว ตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส ซึ่งทำให้อินโดจีนฝรั่งเศส ขยายขึ้นมาก
สาเหตุความขัดแย้ง
แผนที่ทางรัฐศาสตร์ของราชอาณาจักรสยามก่อนสนธิสัญญาสยาม–ฝรั่งเศส ร.ศ. 112
จากความสัมพันธ์อันดีที่มีมาช้านาน ได้เริ่มเห็นความขัดแย้งในปี พ.ศ. 2428 เมื่อกองกำลังสยามยกทัพไปปราบฮ่อที่หัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน โดยมีเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นแม่ทัพ ฝรั่งเศสได้กล่าวหาสยามว่าถือโอกาสรุกล้ำเข้าไปในดินแดนลาว ซึ่งอยู่ในอำนาจของญวน ซึ่งฝรั่งเศสกำลังจัดการปกครองเมืองญวนอยู่ ต่อมาสยามกับฝรั่งเศสได้ตกลงทำอนุสัญญาเมืองหลวงพระบาง โดยมี โอกุสต์ ปาวี เป็นไวซ์กงสุล (Vice Consul) ประจำเมืองหลวงพระบาง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของฝรั่งเศสบนคาบสมุทรอินโดจีน และติดตามความเคลื่อนไหวของอำนาจเก่าอย่างสยามในดินแดนที่เป็นประเทศลาว และ เขมร
ความขัดแย้งได้ยุติลงเมื่อพันตรี เปนเนอแกง ผู้บังคับการทหารฝรั่งเศสในแคว้นสิบสองปันนา ได้ลงนามในสัญญากับพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2431 สรุปความได้ว่าในระหว่างที่รัฐบาลทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้ข้อตกลงกัน ทหารฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ในสิบสองจุไท ทหารสยามจะตั้งอยู่ในหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน ต่างฝ่ายต่างจะไม่ล่วงเข้าไปในเขตซึ่งกันและกัน ส่วนที่เมืองแถงนั้นทหารสยามและทหารฝรั่งเศส จะตั้งรักษาอยู่ด้วยกันจนกว่ารัฐบาลทั้งสองฝ่ายจะตกลงกัน รวมทั้งจะช่วยกันปราบฮ่อที่เป็นโจรผู้ร้ายอยู่ตามแนวชายแดนให้สงบ
ในการปราบฮ่อครั้งนี้ฝ่ายสยามเห็นเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มีแผนที่เขตแดนอย่างชัดเจน จึงมอบหมายให้แมคคาร์ธี ที่ปรึกษาชาวอังกฤษ ซึ่งต่อมาได้รับราชการในราชสำนักสยามมีบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล ทำแผนที่ชายแดนทางภาคเหนือ จนถึงสิบสองจุไท แต่ยังไม่ได้ปักปันเขตแดน เพราะยังตกลงกับฝรั่งเศสที่มีอำนาจเหนือดินแดนแห่งนี้ไม่ได้
ฝรั่งเศสมีท่าทีเรื่องเขตแดนพิพาทแข็งกร้าวมากขึ้น และข่มขู่มิให้มหาอำนาจอย่างอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝรั่งเศสได้นำปัญหาข้อพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2435 โดยหยิบยกกรณีที่ ม.มาสซี เจ้าหน้าที่สถานกงสุลฝรั่งเศสเมืองหลวงพระบาง ถึงแก่กรรมโดยการฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2435 ที่เมืองจัมปาศักดิ์ ว่าเกิดจากการคุกคามและข่มขู่จากกองทัพสยาม มาใช้ประโยชน์ต่อกรณีพิพาทดังกล่าว ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐสภาลงมติอนุมัติให้ดำเนินการโดยทันที โดยมีเงื่อนไขว่า ให้ใช้วิธีการที่ดีที่สุด สำเร็จโดยเร็ว โดยเสียเงินและเลือดเนื้อน้อยที่สุด
เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จึงมีคำสั่งไปยังผู้สำเร็จราชการอินโดจีน ให้ดำเนิน การขับไล่กองกำลังสยามให้พ้นเขตแดนที่กำลังพิพาทกันอยู่ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น พร้อมทั้งกล่าวหาว่าสยามไม่รักษาคำมั่นตามข้อตกลงเรื่องการรักษาสถานะเดิม คือการตกลงให้ต่างฝ่ายต่างคงอยู่ในเขตแดนเดิม และจะไม่รุกล้ำเข้าไปในแดนเขตของอีกฝ่ายหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสยามต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และให้ปล่อยตัวทหาร และคนในบังคับของฝรั่งเศส ที่ถูกสยามควบคุมตัวไว้ด้วย
วันที่ 21 มีนาคม 2435 ฝรั่งเศสได้ส่งเรือลูแตง (Lutin) เข้ามาจอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส ในพระนคร เพื่อแสดงแสนยานุภาพ โดยมีผู้บัญชาการสถานีทหารเรือเมืองไซ่ง่อนเข้ามาเจรจาและร้องขอให้สยามยอมรับเขตแดนญวนว่าจรดถึงฝั่งซ้ายลำน้ำโขง แต่สยามคัดค้านคำร้องขอนี้ พร้อมทั้งได้ดำเนินการทางการทูตกับอังกฤษเรื่องตั้งอนุญาโตตุลาการตัดสินปัญหาความขัดแย้ง และเชิญสหรัฐอเมริกาเข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธไม่ยอมรับตามที่เสนอ สยามจึงเตรียมการป้องกันปากน้ำเจ้าพระยา
บริบท
ความขัดแย้งดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อผู้ว่าราชการอินโดจีน ฌอง เดอ ลาแนสซัง ส่งโอกุสต์ ปาวีเป็นกงสุลมายังกรุงเทพฯ เพื่อนำอิตาลีมาอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส รัฐบาลในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความเชื่ออย่างผิด ๆ ว่ารัฐบาลอังกฤษ จะสนับสนุน ปฏิเสธจะยกดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง กลับเสริมการแสดงตนทางทหารและการปกครองแทน
เหตุการณ์มาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจโดยสองเหตุการณ์ซึ่งผู้ว่าราชการสยามในคำม่วน และหนองคาย ขับพ่อค้าวาณิชชาวฝรั่งเศสสามคนจากแม่น้ำโขง ตอนกลางในเดือนกันยายน 2436 ซึ่งสองในนั้นต้องสงสัยว่าลักลอบค้าฝิ่น ไม่นานจากนั้น กงสุลฝรั่งเศสในหลวงพระบาง มัซซี ซึ่งกระสับกระส่ายและเสียขวัญ ฆ่าตัวตายระหว่างทางกลับไซ่ง่อน มาในฝรั่งเศส เหตุการณ์เหล่านี้ถูกการวิ่งเต้นอาณานิคมใช้เพื่อปลุกปั่นอารมณ์ชาตินิยมต่อต้านสยาม เป็นบริบทของการแทรกแซง
การเสียชีวิตของมัสซีทำให้โอกุสต์ ปาวีเป็นกงสุลฝรั่งเศสคนใหม่ ในเดือนมีนาคม 2436 ปาวีเรียกร้องให้สยามอพยพที่มั่นทางทหารทั้งหมดบนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง ใต้คำม่วน โดยอ้างว่าดินแดนนั้นเป็นของเวียดนาม เพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องเหล่านี้ ฝรั่งเศสส่งเรือปืน "รูแตง" มายังกรุงเทพฯ ซึ่งผูกเรืออยู่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาติดกับสถานอัครราชทูตลาว
ลำดับเหตุการณ์สำคัญ
เมื่อเห็นว่าฝรั่งเศสดำเนินการทางทหารเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าจะต้องเตรียมการด้านการทหารและความมั่นคงเพื่อความปลอดภัยของราชอาณาจักร จึงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งกรรมการปรึกษาการป้องกันพระราชอาณาเขต จำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ
พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงศ์ เสนาบดีกระทรวงการคลัง
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิธาดา เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรีไชยยันต์) เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
นายพลเรือโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าขจรจรัสวงศ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพานิชการ
วันที่ 10 กรกฎาคม 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีลายพระหัตถ์เลขาถึงพระยาชลยุทธโยธินทร์ แจ้งกำหนดเรือรบฝรั่งเศสจะเข้าพระนครในวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 เวลาเย็น โดยให้พระยาชลยุทธโยธินทร์ เตรียมการวางตอร์ปิโด ให้เต็มช่องยิง และมีพระบรมราชานุญาตให้ทำการยิงตอบโต้ได้
วันที่ 11 กรกฎาคม 2436 กรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศได้มีโทรเลขไปยังอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส แจ้งเรื่องเรือรบฝรั่งเศสที่จะเข้ามาแสดงแสนยานุภาพข่มขู่สยาม ให้นำความไปเรียนต่อ ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ (ฝรั่งเศส) และได้รับคำชี้แจงจากฝรั่งเศสว่าที่ฝ่ายทหารกระทำการลงไปนั้นไม่ได้มุ่งหมายจะให้เรือรบเข้าไปในพระนครเพื่อข่มขู่สยามแต่ประการใด ฝรั่งเศสมีความประสงค์อย่างเดียวกับอังกฤษที่ส่งเรือรบเข้ามาก่อนหน้านี้แล้วเท่านั้น และรับรองว่าจะถอนคำสั่งเดิมเสีย
วันที่ 13 กรกฎาคม 2436 ม.เดอแวลล์ ได้มีโทรเลขถึง โอกุสต์ ปาวี ราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพ ฯ ถึงเรื่องที่กองทัพสยามได้วางลูกตอร์ปิโดไว้ในร่องน้ำ ให้แจ้งแก่กองเรือฝรั่งเศสทราบว่า รัฐบาลฝรั่งเศสตกลงจะยับยั้งไม่ให้เรือลำใดข้ามสันดอนเข้าไปก่อนเวลานี้ โทรเลขฉบับนี้มาถึงม.ปาวี เวลาเช้าของวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 แต่ยังมิได้ดำเนินการทางการทูตเพื่อยับยั้งความขัดแย้ง ได้เกิดการปะทะกันบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นเสียก่อน และตอนเย็นถึงค่ำการสู้รบยิ่งทวีความรุนแรงท่ามกลางที่ฝนตกลงมาอย่างหนัก เมื่อเรือรบฝรั่งเศส 2 ลำ และเรือนำร่องก็แล่นเข้ามาในปากน้ำเจ้าพระยา ทหารที่ประจำป้อมพระจุลจอมเกล้า ทำการยิงด้วยดินเปล่าเป็นสัญญาณเตือน 3 นัดให้ถอยเรือกลับไป แต่กองเรือฝรั่งเศสยังคงรุกล้ำเข้ามา ทหารบนฝั่งจึงยิงด้วยกระสุนจริง แต่ตั้งเป้าให้ลูกปืนตกคล่อมหัวเรือไป ในการปะทะนี้ทหารเรือไทย เสียชีวิต 8 นาย สามารถยิงให้เรือนำร่องเยเบเซท้องทะลุ ต้องแล่นไปเกยตื้น และฝรั่งเศสตาย 3 นาย แต่เรือฝรั่งเศสอีกสองลำยังคงแล่นทวนน้ำเข้าพระนครต่อไป
วันที่ 14 กรกฎาคม 2436 ซึ่งเป็นวันชาติของฝรั่งเศส ทั้งสองฝ่ายยุติการสู้รบและการปะทะตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นการให้ความเคารพ “เรือธง” ของฝรั่งเศส การเจรจาเพื่อหาข้อยุติจึงเริ่มขึ้น
บทบาทของอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกาต่อกรณีความขัดแย้ง
อังกฤษ ในนามของรัฐบาลบริเตนใหญ่ ได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ในลักษณะถ่วงดุลอำนาจกับฝรั่งเศสเมื่อเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอาจขยายเป็นการทำสงคราม วันที่ 22 มีนาคม 2436 กัปตันโยนส์ ราชทูตอังกฤษได้ส่งโทรเลขไปยัง ลอร์ดโรสเบอรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขออนุญาตส่งเรือรบสวิฟท์ (Swiff) เข้าไปคุ้มครองทรัพย์สมบัติของอังกฤษ และรักษาความสงบเรียบร้อย ในกรณีที่อาจเกิดสงครามขึ้นในพระนคร เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว วันที่ 20 เมษายน 2436 ราชนาวีอังกฤษได้ส่งเรือสวิฟท์ เข้ามาทอดสมอหน้าสถานทูตอังกฤษ
อังกฤษทราบว่าฝรั่งเศสได้สั่งเคลื่อนกำลังทางเรือให้มารวมกันอยู่ที่ไซ่ง่อน และสืบทราบว่าฝรั่งเศสจะส่งกองเรือเข้ามารุกรานสยาม ในขณะที่ฝ่ายสยามเองได้เตรียมการป้องกันปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้เอาเรือมาจมขวางไว้ที่ปากน้ำ เมื่อข่าวนี้แพร่ออกไปก็ทำให้เกิดความวิตกกังวลในวงการค้าทั่วไป อังกฤษจึงคิดจะส่งเรือรบเข้ามาในสยามอีกเพื่อคุมเชิงฝรั่งเศส และเพื่อคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของชนชาติอังกฤษ แต่การดำเนินการของอังกฤษ กลับสร้างความตรึงเครียดขึ้นบริเวณอ่าวสยาม เมื่อฝรั่งเศสได้ทราบว่าอังกฤษได้จัดส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติม และรู้สึกว่ามีทีท่าในทางส่งเสริมให้กำลังใจฝ่ายสยาม และอาจเป็นการคุกคามฝรั่งเศส จึงส่งเรือรบเข้ามาเพิ่มเติมอีกสองลำชื่อว่า โกแมต (Comete) และ แองกงสตัง (Inconstang) เดินทางเข้าสู่ปากน้ำเจ้าพระยา เพื่อกดดันฝ่ายสยาม
ส่วนทางด้านสหรัฐอเมริกา ที่มีอิทธิพลเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกคาบเกี่ยวกับฟิลิปปินส์ ได้รับการติดต่อจากสยามให้เข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และเข้าร่วมเป็นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นหนทางที่แก้ไขความขัดแย้งโดยสันติ จึงยินดีเข้าร่วม แต่ได้รับการคัดค้านจากฝรั่งเศสเพราะฝรั่งเศสเห็นว่าท่าทีของสหรัฐอเมริกานั้นไม่แตกต่างจากอังกฤษ กล่าวคือสนับสนุนสยาม อีกทั้งนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาคือไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ ถือนโยบายโดดเดี่ยว (Isolation) เมื่อฝรั่งเศสไม่เห็นด้วยจึงถอนตัวออกไป ปธน โกลเวอร์ คีฟแลนด์ ของสหรัฐพยายามเจรจากรณีของเหตุรศ 112 แต่ฝรั่งเศสปฏิเสธและกล่าวหาว่าไทยพยายามยึดดินแดนดังกล่าว.
การดำเนินการเพื่อยุติความขัดแย้ง
เมื่อเกิดการสู้รบกันขึ้นที่ปากน้ำเจ้าพระยาในตอนเย็นวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 แล้ว Auguste Pavie ได้รายงานเหตุการณ์ไปยังกรุงปารีสโดยทันที และในวันที่ 14 กรกฎาคม 2436 ม.เดอ แวลล์ รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศฝรั่งเศสได้โทรเลขแจ้งให้ Auguste Pavie ขอคำอธิบายจากเสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศของสยามโดยทันที และแจ้งด้วยว่าได้สั่งการไปยังนายพลเรือ ฮูมานน์ ให้เรือหยุดอยู่ที่สันดอนปากน้ำเจ้าพระยา พร้อมทั้งทูลให้พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ทรงทราบว่าสยามจะต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้
ขณะที่ทางพระนคร เหตุการณ์ตึงเครียด ได้พยายามทำความเข้าใจกันทั้งสองฝ่ายเพื่อมิให้เกิดการสู้รบกันขึ้นอีก ขณะฝ่ายฝรั่งเศสคงยืนยัน และบีบบังคับให้สยามตกลงยินยอมตามคำเรียกร้องของตน โดยมีเรือรบลอยลำอยู่ในพระนคร และยังมีกองเรือในบังคับบัญชาของนายพลเรือ ฮูมานน์ เป็นกำลังคอยสนับสนุนอยู่ในทะเลอีกด้วย เป็นการแสดงกำลังเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเจรจาทางการทูตให้แก่ฝรั่งเศส พร้อมกันนี้ รัฐสภาของฝรั่งเศสได้พิจารณาเรื่องนี้เป็นเรื่องด่วน เพื่อกำหนดท่าทีให้รัฐบาลดำเนินอย่างแข็งกร้าวต่อสยาม
วันที่ 18 กรกฎาคม 2436 รัฐสภาฝรั่งเศสได้ประชุมพิจารณาและลงมติมอบอำนาจให้รัฐบาลดำเนินการให้รัฐบาลสยามรับรองและเคารพสิทธิของฝรั่งเศส และรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยื่นข้อเรียกร้องให้สยามดำเนินการดังนี้
1. เคารพสิทธิของญวน และเขมร เหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายลำน้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในลำน้ำนี้
2. ถอนทหารสยามที่ตั้งอยู่บนฝั่งซ้ายของลำน้ำโขงให้เสร็จสิ้นภายในเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน
3. เสียค่าปรับไหมให้แก่ฝรั่งเศสในเหตุการณ์ที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน และความเสียหายแก่เรือและทหารประจำเรือฝรั่งเศสที่ปากน้ำเจ้าพระยา
4. ลงโทษผู้กระทำความผิดและเสียเงินค่าทำขวัญแก่ครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตชาวฝรั่งเศสและคนในบังคับฝรั่งเศส
5. เสียเงิน 2,000,000 ฟรังค์ เป็นค่าปรับไหมในความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดแก่ฝรั่งเศส
6. จ่ายเงิน 3,000,000 ฟรังค์ ชำระทันที เป็นการมัดจำการจะชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ และเงินค่าทำขวัญ หรือถ้าไม่สามารถจ่ายได้ จำต้องยอมให้รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเก็บภาษีอากรในเมืองพระตะบอง และเสียมราฐ ทั้งนี้ เร่งรัดให้รัฐบาลสยามตอบภายใน 48 ชั่วโมง
เมื่อได้รับแจ้งดังนี้แล้ว วันที่ 22 กรกฎาคม 2436 รัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แจ้งให้ Auguste Pavie ทราบ ดังนี้
1. รัฐบาลสยามยังไม่ได้รับคำอธิบายอย่างแจ้งชัดเรื่องสิทธิของญวน และเขมรเหนือดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะต่าง ๆ ในข้อนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยว่า จะยอมโอนกรรมสิทธิเหนือดินแดนส่วนใด ๆ ให้ ถ้าหากฝรั่งเศสแสดงให้เห็นโดยเด่นชัดว่าญวนและเขมรมีสิทธิโดยชอบอยู่ เหนือดินแดนนั้นอย่างไร ตลอดเวลา 5 เดือนที่รัฐบาลสยามขอร้องให้นำกรณีพิพาทนี้ขึ้นสู่อนุญาโตตุลาการ ด้วยความมุ่งหมายที่จะให้สันติภาพเกิดแก่อาณาประชาราษฎร์ และให้เกิดความปลอดภัยแก่ผลประโยชน์ทางการค้าพาณิชย์ การที่ต่างประเทศที่มีกิจการได้กระทำอยู่ในประเทศสยาม แต่หาได้รับความร่วมมือจากฝรั่งเศสไม่
2. กองทหารสยามที่ตั้งอยู่ในดินแดนที่ระบุไว้ในข้อ 1 จะได้ถอยกลับมาสิ้นภายใน 1 เดือน
3. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอแสดงความเสียพระราชหฤทัย ในกรณีอันนำมาซึ่งความเสียหายร่วมกันแก่ฝ่ายสยามและฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ และที่คำม่วน (แก่งเจ๊ก) และทั้งที่ได้เกิดกระทบกระทั่งกันที่ปากน้ำเจ้าพระยาด้วย และปฏิบัติตามคำเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสอื่น ๆ ด้วย ถ้าเห็นว่าจำเป็น โดยอนุโลมตามลักษณะแห่งความยุติธรรม และตามความเป็นเอกราชของประเทศสยาม ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศสว่าจะเคารพนั้น
4. บุคคลใดที่ต้องหาว่าได้ทำการย่ำยีชนชาติฝรั่งเศสเป็นการส่วนตัวในคดีใดก็ดี อันปรากฏว่าละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมือง หรือกฎหมายระหว่างประเทศ ก็จะลงโทษตามรูปคดีนั้น ๆ หรือหากว่าสมควรจะชดใช้เป็นค่าทำขวัญ ก็จะได้ชำระให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตนั้นให้เสร็จสิ้นไป
5. รัฐบาลฝรั่งเศสกับรัฐบาลสยามได้โต้แย้งกันมาเป็นเวลานานในเรื่องเกี่ยวกับชนชาติฝรั่งเศสที่ได้รับความเสียหาย โดยขอเรียกร้องให้ชำระเงินที่ตนต้องได้รับความเสียหาย เพราะข้าราชการสยามดำเนินการผิดนั้น ข้อนี้ในนามแห่งรัฐบาลสยามขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่ความผิดของข้าราชการนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าไม่ควรยึดหลักอันใดมาคัดค้านข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงยินยอมชำระเงิน 2,000,000 ฟรังค์ ให้แก่รัฐบาลฝรั่งเศส แต่ทรงมีพระราชดำริว่าควรที่จะจัดตั้งคณะกรรมาธิการผสมพิจารณาเงินค่าทำขวัญในกรณีที่ได้อ้างมาในข้อ 4 นั้นด้วย
6. ที่จะให้จ่ายเงินจำนวน 3,000,000 ฟรังค์ เป็นเงินเหรียญโดยทันทีที่เพื่อมัดจำในการที่จะต้องชดใช้ค่าทำขวัญ และค่าปรับไหม ดังนั้น ถ้าได้พิจารณาให้ละเอียดเป็นราย ๆ ตามสมควรแก่การแล้ว รัฐบาลสยามเชื่อในความยุติธรรมของรัฐบาลฝรั่งเศสว่า จะได้รับเงินจำนวนที่เหลือคืนจากที่ได้จ่ายไปจริง เท่าที่ได้เรียกร้องในกรณีทั้งปวงโดยครบถ้วน
จากคำตอบที่ได้รับ ฝรั่งเศสเห็นว่ามิได้เป็นไปตามข้อเสนอจึงตัดสัมพันธ์ทางการทูต และสั่งการให้นาวาเอก เรอกุลุซ์ ผู้บังคับการเรือลาดตระเวนฟอร์แฟต์ ซึ่งออกเดินทางจากไซ่ง่อนติดตามเรือแองคองสตังต์ และเรือโคแมต ได้จอดคุมเชิงอยู่ภายนอกสันดอน ตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2436 และได้ส่งทหารจำนวนหนึ่งขึ้นยึดเกาะสีชัง แล้วออกประกาศปิดอ่าวสยาม สั่งการให้บรรดาเรือของชาติที่เป็นไมตรีกับสยามให้เวลาอีกสามวัน เพื่อถอยออกไปจากอ่าวสยาม หากเรือลำใดที่พยายามฝ่าฝืนเข้ามาจะได้รับการตอบโต้ตามอำนาจที่ฝรั่งเศสพึงมี
เมื่อสถานการณ์บีบบังคับเช่นนี้ สยามไม่มีทางเลือกอื่นจำต้องยอมรับคำขาด พระองค์เจ้าวัฒนานุวงศ์ อัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีส ได้นำหนังสือในนามรัฐบาลสยามไปยื่นแก่ ม.เดอแวลล์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลว่า เพื่อระงับและขจัดเหตุความวุ่นวายในพระนครอันจะนำมาซึ่งสันติสุขของพลเมือง สันติภาพของภูมิภาค รักษาผลประโยชน์ทางการค้าพาณิชย์ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสคงเป็นอยู่ดังเดิม
เมื่อได้รับคำตอบและได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสยอมสงบศึกและสั่งการให้นายพลเรือ ฮูมานน์ยกเลิกการปิดอ่าวสยามตั้งแต่เวลา 12.00 นาฬิกา ของวันที่ 3 สิงหาคม 2436 เป็นต้นไป
ผลที่เกิดขึ้นหลังจากกรณีพิพาท
ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่สยามสูญเสียไป
หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเจรจาตกลงกันได้แล้ว ได้มีการทำสัญญาสงบศึกระหว่างรัฐบาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2436 ซึ่งสาระสำคัญเป็นข้อกำหนดที่ฝรั่งเศสตั้งขึ้นเอง เช่น ให้สยามยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิอยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น ห้ามมิให้มีเรือติดอาวุธไว้ใช้ หรือเดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ และบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร โดยให้บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรี ขออารักขาเมืองจันทบุรี ให้ลงโทษบุคคลที่เป็นต้นเหตุแห่งการสูญเสียชีวิตของทหารฝรั่งเศสในคำม่วนโดยมีคนของฝรั่งเศสเข้าร่วมพิจารณาตัดสินด้วย และที่สำคัญ ในกรณีเกิดความยุ่งยากในการตีความหมายของสัญญานี้ให้ใช้ฉบับภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น
ผลของสัญญาสงบศึก นอกจากชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวนสามล้านฟรังก์แล้ว ได้ผูกพันให้สยามต้องเสียอธิปไตยบริเวณแม่น้ำโขงในเวลาต่อมา เป็นพื้นที่ประมาณ 143,000 ตารางกิโลเมตร และฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่าสิบปี (ระหว่างปี 2436-2447) จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ
ทั้งนี้ กรณีพิพาทนี้ได้กลายเป็นชนวนสงครามความขัดแย้งขึ้นอีกครั้งบนคาบสมุทรอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีน ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีจักรวรรดิญี่ปุ่น เข้าร่วมวงศ์ไพบูลย์ด้วยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสงครามมหาเอเซียบูรพา .
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
The French ambassador in Bangkok learns that soldiers of the Siamese border commander of Khammouane (ຄໍາມ່ວນ), Phra Yot, have killed the French Inspecteur de la Garde Civile, Grosgurin, in an ambush near Kien Ket. The French press reacts with outrage. It later emerges that Grosgurin was not killed in an ambush, but had provoked the incident. name Grosgurin. Some documents change the surname to Gonzalés. (Can't remember the evidence)
ราชาธิปไตย ปัจเจกชน เหตุการณ์สำคัญ
พระราชวงศ์
ชาวสยาม
ชาวต่างชาติ