สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ นามเดิม ดิศ[1] เป็นขุนนางตระกูลบุนนาค ผู้มีบทบาทในการต่างประเทศของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ฯลฯ
ประวัติ
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2331 เดิมชื่อ ดิศ เป็นบุตรของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวล ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เกิดในสายสกุลบุนนาคซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด) สมุหนายกชาวเปอร์เชียในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม บิดาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์คือเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) ดำรงตำแหน่งเป็นสมุหพระกลาโหมในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก บ้านของเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาอยู่ที่บริเวณกำแพงพระบรมมหาราชวังทางทิศใต้ บริเวณวัดพระเชตุพนฯในปัจจุบัน[2] สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์มีพี่สาวร่วมมารดาได้แก่เจ้าคุณวังหลวง (นุ่น) เจ้าคุณวังหน้า (คุ้ม) และเจ้าคุณปราสาท (ต่าย) และมีน้องชายร่วมมารดาคือคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)
ดิศเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในตำแหน่งเป็นนายสุดจินดาหุ้มแพรมหาดเล็ก หลังจากนั้นได้เลื่อนขึ้นเป็นหลวงสิทธิ์นายเวร และจมื่นไวยวรนาถตามลำดับ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดิศได้รับตำแหน่งพระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก ในขณะที่น้องชายคือทัตเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ ใน พ.ศ. 2361 มีการขยายพระบรมมหาราชวังลงมาทางใต้ พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) จึงย้ายที่อยู่ไปยังริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกใต้บ้านกุฎีจีน[3] บริเวณบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วัดประยุรวงศเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าในปัจจุบัน
ใน พ.ศ. 2362 เจ้าเมืองมาเก๊าส่งนายคาร์ลูส มานูเอล ดา ซิลเวียรา (Carlos Manoel da Silveira) หรือ "นายกาลส" เข้ามายังกรุงเทพฯเพื่อเป็นตัวแทนของโปรตุเกสเจริญสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) จัดการต้อนรับคณะทูตโปรตุเกส เป็นการต้อนรับแขกเมืองชาวยุโรปครั้งแรกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
รับทูตครอว์เฟิร์ด
ในพ.ศ. 2363 สุลต่านอาหมัดทัจอุดดินฮาลิมชาฮ์ (Ahmad Tajuddin Alim Shah) แห่งไทรบุรี หรือ "ตวนกูปะแงหรัน" (Tunku Pangeran) แข็งเมืองไม่ยอมขึ้นต่อกรุงเทพฯ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) ยกทัพไปยึดเมืองไทรบุรีใน พ.ศ. 2364 สุลต่านตวนกูปะแงหรันหนีไปยังเกาะหมากหรือเกาะปีนัง ซึ่งไทรบุรีได้ยกให้แก่อังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2329 สยามจึงเข้าปกครองไทรบุรีโดยตรง ฝ่ายอังกฤษมีความกังวลว่าเมื่อสยามผนวกไทรบุรีแล้วตนจะไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งอยู่ที่เกาะปีนังอีกต่อไป มาร์เควสแห่งเฮสติงส์ (Marquess of Hastings) ผู้ปกครองบริติชอินเดีย ส่งนายจอห์น ครอว์เฟิร์ด (John Crawfurd) เป็นทูตเข้ายังกรุงเทพฯ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและดูท่าทีของสยามในเดือนเมษายน พ.ศ. 2364 พระยาสุริยวงศ์มนตรี (ดิศ) ได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาสุริยวงศ์โกษาที่พระคลัง พระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) ให้การต้อนรับแก่นายครอว์เฟิร์ด โดยให้พักที่ตึกหน้าวัดประยุรวงศ์[4]และนำนายครอว์เฟิร์ดเข้าเฝ้ากรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ การเจรจาระว่างสยามและอังกฤษในครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจากฝ่ายอังกฤษเสนอให้ตั้งกงสุลและลดภาษี ฝ่ายสยามร้องขอซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการศึกกับพม่า ฝ่ายอังกฤษตอบว่าจะขายอาวุธให้แก่สยามก็ต่อเมื่อสยามงดทำศึกกับพันธมิตรของอังกฤษ (หมายถึงพม่า) อีกทั้งนายครอว์เฟิร์ดยังถือจดหมายของพระยาไทรบุรีตวนกูปะแงหรันมาสร้างความไม่พอใจแก่ฝ่ายสยาม หลังจากการเจรจากับครอว์เฟิร์ด พระยาสุริยวงศ์โกษา (ดิศ) ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยาพระคลัง
สนธิสัญญาเบอร์นี
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) โดยเสด็จกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ในการสร้างป้อมเมืองสมุทรปราการ ใน พ.ศ. 2364 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยาศรีสุริยวงศ์ (ทัต) น้องชายของเจ้าพระยาพระคลังได้เลื่อนขึ้นเป็นพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา จางวางพระคลังสินค้า ทั้งเจ้าพระยาพระคลังและพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา สองพี่น้องจึงได้รับราชการในพระคลังด้วยกัน
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2368 เฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) หรือ "หันตรีบารนี" เป็นตัวแทนของอังกฤษเข้ามาขอทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยาม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) และเจ้าพระยานครฯ (น้อย) เป็นตัวแทนฝ่ายสยามในการเจรจาสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษ นำไปสู่การทำสนธิสัญญาเบอร์นี (Burney Treaty) ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2369
ใน พ.ศ. 2371 เจ้าพระยาพระคลังสร้างวัดประยุรวงศ์ขึ้นในนิวาสสถานบริเวณบ้านกุฎีจีนริมคลองสาน ถวายเป็นพระอารามหลวงได้รับพระราชทานนามวัดว่า "วัดประยุรวงศาวาส" ใน พ.ศ. 2373 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เลื่อนขึ้นเป็นสมุหพระกลาโหม เจ้าพระยาพระคลังปฏิเสธเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าพระยามหาเสนามักจะ "อายุสั้น"[5] พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นที่สมุหพระกลาโหมแต่เพียงเท่านั้น ไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่สมุหกลาโหมจึงรับผิดชอบทั้งกรมกลาโหมและกรมคลัง ถือทั้งตราคชสีห์ของสมุหพระกลาโหมและตราบัวแก้วของเสนาบดีคลังในเวลาเดียวกัน[4]
สงครามที่หัวเมืองมลายู
ใน พ.ศ. 2375 ตนกูกูเด็น (Tunku Kudin) ผู้เป็นหลานของตนกูปะแงหรันปลุกระดมชาวไทรบุรีลุกฮือขึ้น[6]และเข้ายึดเมืองไทรบุรีได้ เจ้าพระยานครฯ (น้อย) ซึ่งขณะนั้นอยู่ที่กรุงเทพฯจึงมีคำสั่งให้พระยาสงขลา (เถี้ยนเส้ง) เกณฑ์ทัพในหัวเมืองปักษ์ใต้รวมถึงหัวเมืองปัตตานีเจ็ดหัวเมืองไปปราบตนกูกูเด็น ฝ่ายเจ้าเมืองปัตตานีห้าเมืองจากเจ็ดเมืองเมื่อทราบว่าถูกเกณฑ์คนไปสู้รบกับไทรบุรีจึงก่อการกบฏขึ้นบ้าง โดยทั้งสุลต่านแห่งกลันตันและสุลต่านแห่งตรังกานูต่างส่งทัพมาช่วยฝ่ายปัตตานี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่สมุหพระกลาโหมยกทัพไปช่วยเจ้าพระยานครฯและพระยาสงขลา[4] เจ้าพระยาพระคลังยกทัพถึงเมืองสงขลาเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2375 แต่เจ้าพระยานครฯสามารถเข้ายึดเมืองไทรบุรีไว้ได้แล้ว เจ้าพระยาพระคลังจึงช่วยพระยาสงขลาในการเข้ายึดเมืองปัตตานี
เจ้าพระยาพระคลังและพระยาสงขลายกทัพถึงเมืองปัตตานีในเดือนกรกฎาคม และเข้าโจมตีเมืองปัตตานีทั้งทางบกและทะเล พระยาตานี (ต่วนสุหลง) สู้ไม่ได้จึงหลบหนีไปยังเมืองกลันตัน เจ้าพระยาพระคลังจึงเข้ายึดเมืองปัตตานีได้สำเร็จและยกทัพต่อไปที่กลันตัน สุลต่านมูฮาหมัด (Muhammad) แห่งกลันตันผู้เป็นญาติของพระยาตานีไม่สู้รบขอเจรจาแต่โดยดีและมอบตัวพระยาตานีให้แก่เจ้าพระยาพระคลัง หลังจากเสร็จสิ้นสงครามหัวเมืองมลายูแล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้สร้างเจดีย์ขึ้นบนเขาแดงเมืองสงขลาเรียกว่า "เจดีย์องค์ดำ"[7]
ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2376 ประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็กสัน ส่งนายเอดมันด์ โรเบิตส์ (Edmund Roberts) มาถึงยังกรุงเทพฯ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี เรือของนายโรเบิตส์ติดสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เจ้าพระยาพระคลังจึงส่งเรือออกไปรับทูตอเมริกันและจัดที่พำนักให้ที่ตึกหน้าวัดประยุรวงศ์ นายเอดมันต์ โรเบิตส์ มอบสารจากประธานาธิบดีแจ็กสันให้แก่เจ้าพระยาพระคลัง รวมทั้งประชุมที่บ้านของเจ้าพระยาพระคลังในการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับสยาม นำไปสู่สนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ ค.ศ. 1833 (Treaty of Amity and Commerce of 1833) หรือสนธิสัญญาโรเบิตส์ (Roberts Treaty) ในเดือนเมษายน
อานามสยามยุทธ
ใน พ.ศ. 2376 สงครามอานามสยามยุทธ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ที่สมุหกลาโหม ยกทัพเรือเข้าโจมตีเมืองไซง่อนของเวียดนามราชวงศ์เหงียนร่วมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งยกทัพไปทางบก เจ้าพระยาพระคลังเข้ายึดเมืองห่าเตียนหรือเมืองบันทายมาศได้และนำทัพเรือไปตามคลองหวิญเต๊ (Vĩnh Tế) เข้าโจมตีและยึดเมืองโจดกหรือเจิวด๊ก (Châu Đốc จังหวัดอานซางในปัจจุบัน) ได้ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2377 เมื่อทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ตามมาสมทบที่เมืองโจดกแล้ว ทั้งเจ้าพระยาพระคลังและเจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงยกทัพสยามไปตามแม่น้ำบาสักไปยังเมืองไซ่ง่อน และพบกับทัพเรือของเวียดนามที่คลองหวั่มนาว (Vàm Nao) ปรากฏว่าบรรดาแม่ทัพนายกองเรือต่างไม่ยอมถอนสมอเรือขึ้นเพื่อเข้าโจมตีข้าศึก[4] แม้ว่าเจ้าพระยาพระคลังจะลงเรือป่าวประกาศให้เรือถอนสมอแล้วก็ตาม เป็นผลให้ฝ่ายสยามต้องล่าถอยกลับไปยังเมืองโจดก เจ้าพระยาพระคลังนำทัพเรือล่าถอยมายังคลองหวิญเต๊ไปยังเมืองบันทายมาศ น้ำในคลองหวิญเต๊นั้นตื้นเขินทำให้เจ้าพระยาพระคลังต้องนำเรือบางส่วนขึ้นบกแล้วให้ช้างลากไปยังเมืองกำปอต ชาวกัมพูชาในขบวนนั้นลุกฮือขึ้นสังหารผู้คุมช้างแล้วนำช้างไปหมดสิ้น[4] เจ้าพระยาพระคลังล่าถอยจากเมืองบันทายมาศไปยังเมืองจันทบุรีและกลับถึงกรุงเทพฯในเดือนพฤษภาคม
หลังจากการศึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) นำกำลังชาวจีนต่อเรือแบบญวนขึ้นแปดสิบลำ และรื้อกำแพงเมืองจันทบุรีลงแล้วสร้างป้อมปราการขึ้นใหม่ย้ายเมืองจันทบุรีไปที่ค่ายเนินวง (ตำบลบางกะจะ อำเภอเมืองจันทบุรี) เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการรุกรานของเวียดนาม รวมทั้งสร้างวัดโยธานิมิตขึ้นที่จันทบุรี
ปราบจีนตั้วเหี่ย
ใน พ.ศ. 2390 พระยามหาเทพ (ปาน) จับกุมชาวจีนที่เมืองสาครบุรี (สมุทรสาคร) ชื่อว่าเผียวในข้องหาค้าฝิ่นหลายครั้ง พระยามหาเทพเรียกเก็บเงินจากนายเผียวเพื่อแลกกับการปล่อยตัว ทำให้นายเผียวชาวจีนไม่พอใจรวมพรรคพวกขึ้นเป็นอั้งยี่หรือจีนตั้วเหี่ย (แต้จิ๋ว: 大兄 dua7 hian1) ขึ้นที่ตำบลลัดกรุด เมืองสาครบุรี ขึ้นในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2390 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) คุมทัพเรือออกไปปราบนายเผียว เจ้าพระยาพระคลังจึงมีคำสั่งให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ) นำกำลังไปปราบ จมื่นราชามาตย์จึงกล่าวว่าพระยามหาเทพติดสินบนจากนายเผียวเพื่อปล่อยตัวไปหลายครั้ง[4]ขอให้พระยามหาเทพยกกำลังไปปราบ พระยามหาเทพ (ปาน) จึงยกกำลังเรือออกไปปราบแต่ถูกปืนที่ท้องเสียชีวิต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงยกกองกำลังในกรมพระตำรวจของพระยามหาเทพไปปราบจีนตั้วเหี่ยและให้ฝ่ายเมืองสมุทรสงครามและราชบุรีตั้งกำลังคอยสกัด เจ้าพระยาพระคลังยกทัพถึงตำบลลัดกรุดเข้าโจมตีฝ่ายจีนตั้วเหี่ยแตกไปได้ นายเผียวและพรรคพวกหลบหนีไปยังพม่าแต่ถูกกองกำลังของสมุทรสงครามเข้าโจมตีและถูกจับได้ที่ราชบุรี
ในขณะที่การปราบจีนตั้วเหี่ยที่เมืองสาครบุรียังไม่เรียบร้อยนั้น ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2390 ที่เมืองฉะเชิงเทรากลุ่มชาวจีนวิวาทกันจนเกิดเป็นจีนตั้วเหี่ยพระยาวิเศษฤๅไชย เจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ถูกสังหาร เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) จึงให้จมื่นราชามาตย์ (ขำ) รักษาการณ์อยู่ที่สาครบุรีและยกทัพไปปราบจีนตั้วเหี่ยที่ฉะเชิงเทราพร้อมกับจมื่นไวยวรนาถ (ช่วง) และให้เมืองพนัสนิคมจัดทัพชาวลาวยกมาทางบก เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) เดินทางกลับจากกัมพูชาหลังจากเสร็จสิ้นสงครามอานัมสยามยุทธพอดี เจ้าพระยาพระคลังพบเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่ฉะเชิงเทรา เจ้าพระยาบดินทรเดชาคอยสนับสนุนเจ้าพระยาพระคลังในการปราบจีนตั้วเหี่ย ฝ่ายจีนตั้วเหี่ยถูกตีแตกพ่ายไปจึงหลบหนีออกจากเมืองแต่ถูกชาวเมืองฉะเชิงเทราสังหารไปจำนวนมาก หลังจากเสร็จสิ้นการปราบจีนตั้วเหี่ยแล้ว เจ้าพระยาพระคลังจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ พร้อมกับเจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ปราบจีนตั้วเหี่ยหลายครั้งจนเป็นที่เลื่องลือของราษฎรว่า "เจ้าพระยาพระคลังเดือนสี่เล่นตรุษเมืองนครไชยศรี เดือนห้าเล่นสงกรานต์เมืองฉะเชิงเทรา"[4]
ใน พ.ศ. 2392 เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปสักเลกเกณฑ์ไพร่พลในหัวเมืองตะวันตกได้แก่ เพชรบุรี ชุมพร ไชยา นครศรีธรรมราช และสงขลา
เลื่อนขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาฯ
ครั้นเจ้าพระยามหาเสนา(น้อย) ถึงแก่อสัญกรรม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เลื่อนเป็นที่เจ้าพระยามหาเสนา เจ้าพระยาไม่รับ อ้างว่าเป็นเจ้าพระยามหาเสนามักอายุสั้น จึงโปรดให้ว่าทั้งกลาโหมและกรมท่าในแผ่นดินนั้น เรียกว่า เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหม
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2394 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ว่าเจ้าพระยาอัครมหาอุดม บรมวงศเสนาบดี ไปก่อน ต่อมาจึงมีพระบรมราชโองการให้จารึกแผ่นสุพรรณบัฏเนื้อแปด แต่งตั้งเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ขึ้นเป็นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ วรุตมพงศนายก สยามดิลกโลกานุปาลนนารถ สกลราชวราณาจักราธิเบนทร ปรเมนทรมหาราชานุกูล สรรพกิจมูลมเหศวรเชษฐามาตยาธิบดี ศรีสรณรัตนธาดา อดุลยเดชานุภาพบพิตร[4] ที่ศักดินา 30,000 พระราชทานกลด เสลี่ยงงา พระแสงประดับพลอยลงยาราชาวดี เป็นเครื่องยศอย่างพระองค์เจ้าต่างกรม สำเร็จราชการทั้งสี่ทิศตลอดทั่วพระราชอาณาจักร ใช้ตราสุริยมณฑลเทพบุตรชักรถ รวมทั้งถือตราคชสีห์และตราบัวแก้วด้วยในเวลาเดียวกัน คนทั่วไปกล่าวขานนามสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่" ในขณะที่พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) น้องชายได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ คนทั่วไปเรียกขานนามว่า "สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย"
ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์มีบุตรชายทั้งสองช่วยราชการได้แก่ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ที่สมุหพระกลาโหม ช่วยราชการในกรมกลาโหม (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์) และเจ้าพระยาผู้ช่วยราชการกรมท่า (ขำ บุนนาค) ช่วยราชการในกรมท่า (ต่อมาคือ เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี) สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นหนึ่งในคณะผู้ปรึกษาฝ่ายสยามในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring Treaty) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2398
หนึ่งเดือนหลังจากการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้ถึงแก่พิราลัยในวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2398[8] ขณะอายุ 67 ปี ด้วยสาเหตุเป็นแผลที่หลังเท้าซ้ายจากการถูกเสี้ยนตำ เป็นพิษลามจนถึงแก่ชีวิต[9] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุจัตุรมุขขึ้นที่วัดประยุรวงศ์ ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ. 2398 จึงเชิญโกศของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ลงเรือแห่ไปขึ้นที่หน้าวัดประยุรวงศ์ ทำการฉลองสามวันสามคืน และพระราชทานเพลิงที่เมรุที่วัดประยุรวงศ์ ตามความประสงค์ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ที่ให้ประกอบพิธีที่วัดประยุรวงศ์เพื่อพิราลัยแล้ว
บุตรธิดา
สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) มีบุตรธิดา 44 คน ดังนี้
- ท่านผู้หญิงจันทร์
ท่านผู้หญิงจันทร์เป็นธิดาพระยาพลเทพ (ทองอิน) มีบุตรธิดา ดังนี้
- หม่อมรอด
หม่อมรอดเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
- หม่อมอินใหญ่
หม่อมอินใหญ่เป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
- หม่อมปราง
- พระยาราชานุวงศ์ราชินิกุล (โต บุนนาค)
- หม่อมเกษ
หม่อมเกษเป็นหม่อมพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
- หม่อมทับทิม
- พระยาศรีสรราชภักดี (วัน บุนนาค)
- หม่อมพึ่ง
หม่อมพึ่งเป็นธิดาเจ้าพระยาพลเทพ เป็นหม่อมพระราชทานจากสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี
- หม่อมก้อนทอง
- พระยาพรหมธิบาล (จร บุนนาค)
- คุณชายเจิม บุนนาค
- คุณชายจู บุนนาค
- หม่อมสายบัว
- พระรัตนาญัปติ (ตู้ บุนนาค)
- หม่อมทับ
- พระสัจจาภิรมย์ (เปาะ บุนนาค)
- คุณชายบุตร บุนนาค
- หม่อมสุ่น
- นายรักษ์ภูวนารถ (ยอด บุนนาค)
- คุณชายเป้า บุนนาค
- หม่อมคล้าย
- พระยาอุไทยธรรม (จีน บุนนาค)
- คุณหญิงพูน บุนนาค
- หม่อมหรุ่น
- หม่อมอิน
- หม่อมปาน
หม่อมปานเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ
- คุณหญิงเปี่ยม ภรรยาพระยาสุรเสนา (สวัสดิ์ ชูโต) ต้นสกุลสวัสดิ์-ชูโต
- ท่านผู้หญิงเผือก ภรรยาเจ้าพระยามหาศิริธรรม (น้อยใหญ่) ต้นสกุลโกมารกุล ณ นคร
- หม่อมม่วง
- หม่อมทรัพย์
- หม่อมถมยา
- คุณหญิงปริก ภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
- หม่อมแก้ว
- คุณหญิงเกสร บุนนาค
- คุณชายแย้ม บุนนาค
- หม่อมบัว
- หม่อมแย้ม
- คุณหญิงสายหยุด ภรรยาเจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค)
- หม่อมพลับ
หม่อมพลับเป็นหม่อมประทานจากสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี
- หม่อมพุ่ม
- หม่อมกลั่น
เกียรติยศ
ธรรมเนียมยศของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ |
---|
ตราประจำตัว |
การเรียน | ใต้เท้ากรุณาเจ้า |
---|
การแทนตน | กระผม/ดิฉัน |
---|
การขานรับ | ขอรับเหนือเกล้า/เจ้าค่ะ |
---|
บรรดาศักดิ์
ในสมัยรัชกาลที่ 1
- นายสุจินดา หุ้มแพรมหาดเล็ก
- หลวงศักดินายเวร
ในสมัยรัชกาลที่ 2
- จมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก
- พระยาสุริยวงศ์มนตรี จางวางมหาดเล็ก
- พระยาสุริยวงศ์โกษา ว่าที่พระคลัง
- เจ้าพระยาพระคลัง เสนาบดีพระคลังเต็มตำแหน่ง
ในสมัยรัชกาลที่ 3
- เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม
สมัยรัชกาลที่ 4
- เจ้าพระยาอัครมหาอุดม บรมวงศเสนาบดี
- สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
สาแหรก
สาแหรกของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์
|
|
อ้างอิง
|
---|
| |
|
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม |
---|
|
|
|
---|
ราชาธิปไตย | ปัจเจกชน | เหตุการณ์สำคัญ | |
พระราชวงศ์
ชาวสยาม
ชาวต่างชาติ
| |
|
|