พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชสมภพ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 — สวรรคต 7 มกราคม พ.ศ. 2408 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2409)) เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับบวรราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่สอง[1] รองจากสมเด็จพระเชษฐาธิราช ทรงศักดิ์สูงกว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระมหาอุปราช) พระองค์ใดในอดีต โดยพระองค์ได้รับพระอิสริยยศเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 4 แห่งราชวงศ์จักรี
พระราชประวัติ
ขณะยังทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชบุตรลำดับที่ 50 หรือพระราชโอรสพระองค์ที่ 27 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระราชโอรสลำดับที่ 5 ที่พระราชสมภพแต่สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี แต่เป็นพระองค์ที่ 3 ที่ได้พระราชสมภพเป็นพระองค์ เสด็จพระราชสมภพในรัชกาลที่ 1 เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 10 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2351 ณ พระราชวังเดิม คลองบางกอกใหญ่ อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระราชบิดา ซึ่งในครั้งนั้นเรียกว่าพระบวรราชวังใหม่ เนื่องมาจากในขณะนั้นพระราชบิดายังดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล[5] โดยมีคุณหญิงนก (ไม่ทราบสกุล) เป็นพระพี่เลี้ยง[6] พระองค์มีพระโสทรเชษฐารวมทั้งสิ้น 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าฟ้าราชกุมาร (สิ้นพระชนม์เมื่อประสูติ) เจ้าฟ้ามงกุฏ (ภายหลังได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) และพระองค์เป็นเจ้าฟ้าพระองค์น้อย (เนื่องจากไม่ได้รับพระสุพรรณบัฏเฉลิมพระนาม)
ภายหลังพระองค์ประสูติได้ประมาณ 1 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จสวรรคต สมเด็จพระราชบิดาของพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี ก่อนบรมราชาภิเษกได้ 10 วัน เจ้าฟ้าพระองค์น้อยได้เสด็จตามสมเด็จพระราชบิดามาประทับในพระบรมมหาราชวัง เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 12 พรรษา 6 เดือน มีการพระราชพิธีโสกันต์อย่างธรรมเนียมสำหรับสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า[7] หลังจากนั้นเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อศึกษาศีลธรรมและพระศาสนา เมื่อพระองค์ลาผนวชทรงได้ศึกษาวิชาตามแบบแผนราชสกุลที่จัดให้เจ้านายเรียน โดยพระองค์ทรงศึกษาอักษรสยามในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) วัดโมลีโลกยารามราชวรวิหาร ร่วมพระอาจารย์เดียวกับสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์
เมื่อพระชนมายุได้ 16 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงเสด็จกลับไปประทับ ณ พระราชวังเดิม[7] พร้อมกับพระราชมารดา ส่วนสมเด็จพระเชษฐาของพระองค์นั้นทรงสมณเพศประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุและวัดสมอราย เมื่อพระองค์มีพระชนมายุได้ 21 พรรษา ผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และเสด็จไปประทับ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หลังจากลาผนวชพระองค์จึงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงรับราชการ
พระองค์ทรงเข้ารับราชการในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพเสด็จสวรรคต เป็นเหตุให้ข้าไทในเจ้านายต่าง ๆ คาดว่าเจ้านายของตนจะได้รับการสถาปนาที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา (ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค)) จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ถ้าไม่ทรงตั้งกรมพระราชวังฯ แล้ว ขอให้ยกเจ้าต่างกรมผู้ใหญ่เลื่อนขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุน เพื่อให้ข้าไทเห็นว่าเจ้านายของตัวได้เลื่อนยศเพียงนั้น จะได้หายตื่น ทรงพระราชดำริเห็นด้วย จึงโปรดให้เลื่อนกรมและตั้งกรมเจ้านายรวม 8 พระองค์ด้วยกัน โดยทรงตั้งเจ้าฟ้าพระองค์น้อยเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์[8][9] ได้รับสุพรรณบัฏในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2375[10] ในขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ 24 พรรษา ได้ทรงบังคับบัญชากรมทหารปืนใหญ่ กรมทหารแม่นปืนหน้าปืนหลัง และญวนอาสารบแขก อาสาจาม[7]
พระเจ้าแผ่นดินที่ 2
เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้สวรรคต เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เดินทางไปเข้าเฝ้าสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร กราบทูลว่าจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎตรัสว่าท่านฟากข้างโน้น (หมายถึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์) มีพระชะตาแรงต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ให้ถวายราชสมบัติแก่ท่านนั้นด้วย เพราะหากพระองค์รับราชสมบัติเพียงพระองค์เดียวจะเกิดอัปมงคล ด้วยไปกีดกันบารมีของสมเด็จพระอนุชา ถ้ามีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์เหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถเป็นพระเจ้าแผ่นดินด้วยก็จะพ้นจากอัปมงคล เจ้าพระยาพระคลังจึงไปเข้าเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ณ พระราชวังเดิมตามรับสั่ง[11] เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้าทั้ง 2 พระองค์ได้เสด็จยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เหล่าขุนนางมาประชุมพร้อมกันแล้วกราบทูลเชิญทั้งสองพระองค์เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ[12] เมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว จึงมีพระราชดำริว่าสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ก็ทรงพระปรีชารอบรู้กิจการต่าง ๆ มีผู้ใหญ่ผู้น้อยนิยมนับถือมาก สมควรที่จะพระราชทานยศใหญ่กว่ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลแต่ก่อน ๆ[13] แต่เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศฯ ยังไม่ได้รับพระสุพรรณบัฏตั้งพระนาม ทำให้ไม่มีพระนามเดิม ดูเป็นการต่ำทรามไป จึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏตั้งพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี ชั้นหนึ่งก่อน[14] แล้วจึงพระราชทานพระสุพรรณบัฏในการพระราชพิธีบวรราชาภิเษกในวันที่ 25 พฤษภาคม ว่า
"พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศวร์ มหิศเรศรรังสรรค์ มหันตวรเดโช ไชยมโหฬารคุณอดุลยเดช สรรพเทเวศรานุรักษ บวรจุลจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนารถ อิศวรราชรามวรังกูร บรมมงกุฎนเรนทรสูรยโสทรานุชาธิบดินทร เสนางคนิกรินทรบวราธิเบศร พลพยุหเนตรนเรศวรมหิทธิวรนายก สยามาทิโลกดิลกมหาบุรุษรัตน ไพบูลยพิพัฒนสรรพศิลปาคม สุนทโรดมกิจโกศล สัตปดลเศวตฉัตร สิริรัตนบวรมหาราชาภิเศกาภิสิต สรรพทศทิศพิชิตไชย อุดมมไหสวริยมหาสวามินทร สเมกธรณินทรานุราช บวรนารถชาติอาชาวศรัย ศรีรัตนไตรสรณารักษ อุกฤษฐศักดิสรรพรัษฎาธิเบนทร ปวเรนทรธรรมมิกราชบพิตร พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว"[15]
สวรรคต
หลังจากพระราชพิธีบวรราชาภิเษกแล้ว พระองค์ก็เริ่มทรงพระประชวรบ่อยครั้ง หาสมุฏฐานของพระโรคไม่ได้ จนกระทั่งประชวรด้วยวัณโรคและเสด็จสวรรคตเมื่อวันอาทิตย์ เดือน 2 แรม 6 ค่ำ เวลาเช้าย่ำรุ่ง ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2408 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2409) สิริพระชนมายุ 58 พรรษา ทรงอยู่ในบวรราชสมบัติทั้งสิ้น 15 ปี มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2409[16] โดยมีการจัดการแห่พระเมรุมาศพระบรมศพเช่นเดียวกับพระศพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ แต่เพิ่มเติมพระเกียรติยศพิเศษขึ้นหลายประการตามพระยศที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2[17]
ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังมิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดขึ้นดำรงตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เพราะในขณะนั้นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานารถ ยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ทำให้เสี่ยงต่อการถูกแย่งชิงราชบัลลังก์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเสนอพระองค์เจ้ายอดยิ่งเพื่อให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวินิจฉัย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้ายอดยิ่งเป็นเพียงแค่ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เท่านั้น ก่อนที่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งตั้งกรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์สุดท้าย
พระราชอัชฌาสัยและพระปรีชาสามารถ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชอัธยาศัยต่างจากพระเชษฐามาก เพราะฝ่ายแรกชอบสนุกเฮฮา ไม่มีพิธีรีตองอะไร ส่วนฝ่ายหลังค่อนข้างเงียบขรึม ฉะนั้นจึงมักโปรดในสิ่งที่ไม่ค่อยจะตรงกันนัก แต่ถ้าเป็นความสนิทสนมส่วนพระองค์แล้วพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทำอะไรก็มักนึกถึงพระราชอนุชาอยู่เสมอ เช่น คราวหนึ่งเสด็จขึ้นไปปิดทองพระพุทธรูปใหญ่วัดพนัญเชิง ก็ทรงปิดเฉพาะพระพักตร์ เว้นพระศอไว้พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ทรงปิดต่อ นอกจากนี้ทั้ง 2 พระองค์ ก็ทรงล้อเลียนกันอย่างไม่ถือพระองค์ และส่วนมากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ จะเป็นฝ่ายเย้าแหย่มากกว่า
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระปรีชาสามารถมาก ทรงรอบรู้งานใน ด้านต่าง ๆ มากมาย เช่น งานด้านกองทัพบก กองทัพเรือ ด้านต่างประเทศ วิชาช่างจักรกล และวิชาการปืนใหญ่ ทรงรอบรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีจนสามารถที่จะทรงเขียนโต้ตอบจดหมายเป็นภาษาอังกฤษกับเซอร์จอห์น เบาริง ราชทูตอังกฤษ ที่เดินทางมาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) ซึ่งข้อความในสนธิสัญญานั้น ถ้าเอ่ยถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The First King ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีคำกำกับว่า The Second King สำหรับในภาษาไทยนั้น ตามสนธิสัญญา ทางไมตรีกับประเทศอังกฤษ ในบทภาค ภาษาไทยจะแปลคำว่า The First King ว่า พระเจ้ากรุงสยามพระองค์เอก ส่วนคำว่า The Second King นั้นจะแปลว่า พระเจ้ากรุงสยามพระองค์ที่ 2 พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระนามปรากฏอยู่ในประกาศในอารัมภบทให้ดำเนินการเจรจาทำสนธิสัญญาฉบับนี้ด้วย ในฐานะพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ 2 คู่กับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์มีสายพระเนตรที่กว้างไกล ในด้านการ ต่างประเทศ ทรงรอบรู้ข่าวสารในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างดี ทรงทราบพระราชหฤทัยดีว่า ถ้าหากทรง ดำเนินนโยบายที่แข็งกร้าวแล้วไซร้ ไทยเราจะเสียประโยชน์ ส่วนบรรดาฝรั่งที่รู้จักมักคุ้นกับวังหน้ามักจะยกย่องชมเชยว่า ทรงเป็นสุภาพบุรุษเพราะพระองค์มีพระนิสัยสุภาพ โดยเฉพาะกับพระราชชนนี กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ด้วยแล้ว ทรงแสดงความเคารพเกรงกลัวเป็นอันมาก
นอกจากนี้โปรดการท่องเที่ยวไปตามหัวบ้านหัวเมือง ทั้งเหนือและใต้ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีพระอาการประชวรกระเสาะกระแสะอยู่เสมอ จึงต้องเสด็จไปเที่ยวรักษาพระองค์ตามหัวเมือง อยู่เนือง ๆ กล่าวกันว่า มักเสด็จไปประทับตามถิ่น ที่มีบ้านลาว เสด็จไปประทับที่บ้านสัมปะทวน แขวงนครไชยศรีบ้าง ทางเมืองพนัสนิคมบ้าง แต่เสด็จไปประทับที่ตำหนัก บ้านสีทา จังหวัดสระบุรีเสียโดยมาก แต่แท้ที่จริงแล้ว พระองค์ได้เคยเสด็จไปเที่ยวประพาสตามหัวเมือง ต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระยศเป็น เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์แล้ว เพราะทรงประจักษ์แจ้งแก่พระปรีชาญาณว่า การเสด็จประพาสหัวเมืองเป็นประโยชน์แก่ราชการบ้านเมือง ด้วยสามารถทรงทราบทุกข์สุขของไพร่ฟ้าประชาชนได้เป็น อย่างดีซึ่งดีกว่ารายงานในกระดาษมากนัก
พระราชกรณียกิจด้านการทหารเรือ
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใฝ่พระราชหฤทัยในวิชาการด้านจักรกลมาก และเพราะเหตุที่พระองค์โปรดการทหาร จึงทรงสนพระราชหฤทัยเกี่ยวกับอาวุธยุทธภัณฑ์เป็นพิเศษ เท่าที่ค้นพบพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์นั้น ก็มักจะทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร และเป็นเครื่องแบบทหารเรือด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่มีการบันทึกพระราชประวัติในส่วนที่ทรงสร้างหรือวางแผนงานเกี่ยวกับกิจการทหารใด ๆ ไว้บ้างเลย แม้ในพระราชพงศาวดาร หรือในจดหมายเหตุต่าง ๆ ก็ไม่มีการบันทึกผลงานพระราชประวัติในส่วนนี้ไว้เลย และแม้พระองค์เองก็ไม่โปรดการบันทึก ไม่มีพระราชหัตถเลขา หรือมีแต่ไม่มีใครเอาใจใส่ทอดทิ้ง หรือทำลายก็ไม่อาจทราบได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีงานเด่นที่มีหลักฐานทั้งของฝรั่งและไทยกล่าวไว้ แม้จะน้อยนิดแต่ก็แสดงให้เห็นถึงการริเริ่มที่ล้ำหน้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน
ผลงานนั้นคือการทหารเรือของไทยเรานั้น เริ่มมีเค้าเปลี่ยนจากสมัยโบราณเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และผู้ที่เป็นกำลังสำคัญ ในกิจการด้านทหารเรือในสมัยนั้น คือ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ และ จมื่นไวยวรนาถ (สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)) ด้วยทั้ง 2 ท่านนี้มีความรู้ในวิชาการต่อเรือในสมัยนั้น เป็นอย่างดี จึงได้รับหน้าที่ปกครอง บังคับบัญชาการทหารเรือในสมัยนั้น
ต่อมาได้แบ่งหน้าที่กันโดยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงบังคับบัญชาทหารเรือวังหน้า ส่วนทหารเรือบ้านสมเด็จอยู่ในปกครองบังคับบัญชาของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ในยามปกติทั้ง 2 ฝ่าย นี้ ไม่ขึ้นแก่กันแต่ขึ้นตรงต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงฝึกฝนทหารของพระองค์ โดยใช้ทั้งความรู้และความสามารถ และ ยังทรงมุ่งพระราชหฤทัยในเรื่องการค้าขายให้มีกำไร สู่แผ่นดินด้วยมิใช่สร้าง แต่เรือรบเพราะได้ทรงสร้างเรือเดินทะเล เพื่อการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้พระองค์ได้ทรงนำเอาวิทยาการ สมัยใหม่ของยุโรป มาใช้ฝึกทหารให้มีสมรรถภาพเป็นอย่างดี ทรงให้ร้อยเอก โทมัส น็อกส์ (Thomas George Knox) เป็นครูฝึกทหารวังหน้า ทำให้ทหารไทยได้รับวิทยาการอันทันสมัยตามแบบ ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป
การฝึกหัดใช้คำบอกทหารเป็น ภาษาอังกฤษทั้งหมดเริ่มมีเรือรบกลไฟเป็นครั้งแรก ชื่อเรืออาสาวดีรส3 และเรือยงยศอโยชฌิยา4 (หรือยงยศอโยธยา) ซึ่งเมื่อครั้งเรือยงยศอโยชฌิยา ได้เดินทางไปราชการที่สิงคโปร์ ก็ได้รับคำชมเชยจากต่างประเทศเป็นอันมาก ว่าพระองค์มี พระปรีชาสามารถทรงต่อเรือได้ และการเดินทางในครั้งนั้นเท่ากับเป็นการไปอวดธงไทยในต่างประเทศ ธงไทยได้ถูกชัก ขึ้นคู่กับธงอังกฤษ ที่ฟอร์ทแคนนิ่งด้วย และแม้พระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ก็โปรด ฯ ให้เป็นทหารเรือเช่นกัน ประวัติของเรือที่พระองค์ทรงมีใช้ในสมัยนั้น ตามที่พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ ได้รายงานเล่าไว้ในหนังสือ ประวัติทหารเรือไทย มีดังนี้
- เรือพุทธอำนาจ (Fairy) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Barque) ขนาด 200 ตัน มีอาวุธปืนใหญ่ 10 กระบอก เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน ใช้เป็นเรือพระที่นั่งของแม่ทัพ คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ เมื่อครั้งทรงเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ยกกองทัพไปรบกับญวน ตีเมืองบันทายมาศ (ฮาเตียน)
- เรือราชฤทธิ์ (Sir Walter Scott) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2379 เป็นเรือแบบเดียวกันกับพุทธอำนาจ เมื่อ พ.ศ. 2384 ไปราชการทัพรบกับญวน
- เรืออุดมเดช (Lion) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2384 เป็นเรือชนิดบาร์ก (Bark) ขนาด 300 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ฯ เมื่อ พ.ศ. 2384 ได้ใช้ไปราชการทัพรบกับญวน พ.ศ. 2387 ได้นำสมณทูตไปลังกา
- เรือเวทชงัด (Tiger) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2386 เป็นเรือชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 200 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
- เรือพุทธสิงหาศน์ (Cruizer) สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 เป็นเรือชนิดชิพ ขนาด 400 ตัน เรือลำนี้เป็นของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ
- เรือมงคลราชปักษี (Falcon) ซื้อเมื่อ พ.ศ. 2400 เดิมเป็นเรือของชาวอเมริกัน ชนิดสกูเนอร์ (Schooner) ขนาด 100 ตัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงซื้อมา แล้วดัดแปลงใช้เป็นเรือรบ เรือพระที่นั่งของพระองค์
เกียรติประวัติของการทหารเรือไทยสมควรจะต้องยกถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์เป็น ผู้ที่ทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการทหารเรือในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก เมื่อปรากฏว่ามีเรือรบต่างประเทศเข้ามาเยี่ยม ประเทศไทยคราวใดพระองค์ก็มักหาโอกาสเสด็จไปเยี่ยมเยียนเรือรบเหล่านั้นเสมอ เพื่อจะได้ทรงทราบว่าเรือรบต่าง ประเทศเขาตกแต่งและจัดระเบียบเรือกันอย่างไร แล้วนำมาเป็นแบบอย่างให้กับเรือรบของไทยในเวลาต่อมา
จากพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเห็นได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้นำในเรื่องเรือสมัยใหม่ ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นไม่มีใครเชื่อเลยว่าเหล็กจะลอยน้ำได้แต่พระองค์ได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้ปรากฏ ทรงต่อเรือรบ กลไฟขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย มีพระปรีชาสามารถหลายด้าน ทรงแตกฉานเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษจนสามารถติดต่อ กับชาวต่างประเทศได้เป็นอย่างดีพระสหาย และพระอาจารย์ เป็นชาว อเมริกันเสียเป็นส่วนมากทรงหมกมุ่นกับกิจการทหารเรือมาตั้งแต่ต้น ด้วยเหตุนี้จึงถือได้ว่าพระองค์ทรงเป็น ผู้บัญชาการ ทหารเรือ พระองค์แรก และควรถวายพระนามว่า ผู้บัญชาการทหารเรือวังหน้า สมควรได้รับการถวายพระเกียรติยศขั้นสูงสุด จากชาวกองทัพเรือ ตั้งแต่นี้และตลอดไป
พระราชสันตติวงศ์
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดารวมทั้งสิ้น 58 พระองค์ โดยประสูติก่อนบวรราชาภิเษก 33 พระองค์ และประสูติหลังจากบวรราชาภิเษก 25 พระองค์
พระเกียรติยศและพระราชอิสริยยศ
ธรรมเนียมพระยศของ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว |
---|
พระราชลัญจกร |
ธงประจำพระอิสริยยศ |
การทูล | ใต้ฝ่าละอองพระบาท |
---|
การแทนตน | ข้าพระพุทธเจ้า |
---|
การขานรับ | พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ |
---|
ตราอาร์ม (ทรงใช้ในเอกสารส่วนพระองค์)
ตราพระจุฑามณี ใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระอิสริยยศ
- เจ้าฟ้าพระองค์น้อย (4 กันยายน พ.ศ. 2351 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2375)
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (13 พฤษภาคม พ.ศ. 2375 - 15 พฤษภาคม 2394)
- สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอิศเรศจุฑามณี ตรีพิธเพ็ชรรัตนาลงกฎ อรรคราโชรสวรสศวิบุลย อดุลยเดชมหาสุขุมาลย์ วงศวโรดม บรมราชกุมาร (15 พฤษภาคม 2394 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394)
- พระบาทสมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว (25 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 - 7 มกราคม พ.ศ. 2409)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
ในวัฒนธรรมสมัยนิยม
มีนักแสดงผู้รับบท พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่
พงศาวลี
พงศาวลีของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
|
|
แผนผัง
สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- บรรณานุกรม
- ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา (2459). "พระราชพงษาวดาร กรุงรัตนโกสินทร รัชกาลที่ ๒". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2561.
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา (2481). "พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่-๓". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561. [ที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงวงษานุประพัทธ์ (ตาด สนิทวงศ์ ณอยุธยา)]
- ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา (2477). "พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2561. [ที่ระลึก ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงธรรมสารเนติ (อบ บุนนาค)]
- จดหมายเหตุเรื่องทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์กรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 508 หน้า. ISBN 974-417-527-3
- ธำรงศักดิ์ อายุวัฒนะ. ราชสกุลจักรีวงศ์ และราชสกุลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2544. 490 หน้า. ISBN 974-222-648-2
- พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. ชุมนุมพระบรมราชาธิบายในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับ พ.ศ. ๒๔๕๗. กรุงเทพ : ต้นฉบับ, พ.ศ. 2554. 189 หน้า. หน้า 154-158. ISBN 974-616-7176-06-2 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: invalid prefix
- ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. ISBN 974-221-818-8
- สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ราชสกุลวงศ์. พิมพ์ครั้งที่ 14, กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. หน้า 57. ISBN 978-974-417-594-6
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
ทหารเรือวังหน้า | | |
---|
ทหารเรือวังหลวง | |
---|
ทหารเรือ (2430-33) | |
---|
กระทรวงทหารเรือ (2433-75) | |
---|
กองทัพเรือ (2475–ปัจจุบัน) | |
---|
|
---|
สมเด็จพระ / กรมสมเด็จพระ | | |
---|
กรมพระยา | |
---|
กรมพระ | |
---|
กรมหลวง | |
---|
กรมขุน | |
---|
กรมหมื่น | |
---|
- = สืบราชสมบัติ
- = สยามมกุฎราชกุมาร
- * = กรมพระราชวังบวร
- ตัวเอียง = ฝ่ายใน
- ตัวหนา = ยังทรงพระชนม์
- † = หลังสิ้นพระชนม์
- X = ถอดจากฐานันดรศักดิ์
|
|
|
---|
รัชกาลที่ 1 | | |
---|
รัชกาลที่ 2 | |
---|
รัชกาลที่ 3 | |
---|
รัชกาลที่ 4 | |
---|
รัชกาลที่ 5 | |
---|
รัชกาลที่ 6 | ไม่มีพระราชโอรส |
---|
รัชกาลที่ 7 | ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา |
---|
รัชกาลที่ 8 | ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา |
---|
รัชกาลที่ 9 | |
---|
รัชกาลที่ 10 | |
---|
()* สืบราชสมบัติ** กรมพระราชวังบวรสถานมงคล()^ สยามมกุฎราชกุมารX ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ |
|
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | | |
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | |
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ | |
---|
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ | |
---|
* กรมพระราชวังบวรสถานมงคล X ถูกถอดจากฐานันดรศักดิ์ |
|
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท | | |
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ | |
---|
สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ | |
---|
พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว | |
---|
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ | |
---|