อภิรัฐมนตรีสภา (อังกฤษ: Supreme Council of State) เป็นสภาที่ปรึกษาและนิติบัญญัติที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ พ.ศ. 2468 ถึง พ.ศ. 2475 โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้สร้างสภาลักษณะเดียวกับคณะรัฐมนตรีอันเป็นที่ประชุมของพระราชวงศ์ที่สำคัญที่สุด 5 พระองค์ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายให้ทรงลงพระปรมาภิไธย และประชุมหารือข้อราชการ สภาก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 เพียง 3 วันหลังจากพระองค์ขึ้นครองราชย์ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเชษฐาของพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468
สมาชิก
สภาประกอบด้วยพระราชวงศ์ 5 พระองค์ แต่ละพระองค์เป็นเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีที่สำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชบิดาและพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) ภายหลังมีสมาชิกสิ้นพระชนม์จึงมีการแต่งตั้งสมาชิกเพิ่มเติมจากพระราชวงศ์อีก 3 พระองค์ สมาชิกสภาประกอบด้วย
สภานี้มิใช่องค์กรเดียวของรัฐบาลในเวลานั้น หากแต่ยังมีสภากรรมการองคมนตรี (Privy Council) และเสนาบดีสภา (Council of Secretaries) อย่างไรก็ดี สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นสมาชิกที่โดดเด่นที่สุดของอภิรัฐมนตรีสภา เพราะพระองค์เป็นผู้สำเร็จราชการและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย
บทบาทหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภา
อภิรัฐมนตรีสภา เป็นสถาบันใหม่เทียบเท่าได้กับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ตั้งขึ้นภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 2 วัน (วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) มีหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาชั้นสูงแก่พระมหากษัตริย์ ซึ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการการเมืองการปกครองและนโยบายของประเทศ อภิรัฐมนตรีสภา มีการกำหนดการประชุมทุก ๆ วันศุกร์ สัปดาห์ละครั้ง โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานในการประชุม เริ่มการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน อภิรัฐมนตรีสภา ได้ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินหลายเรื่องที่สำคัญ กล่าวคือ
- ให้คำปรึกษาหารือข้อราชการเรื่อง "ร่างพระราชบัญญัติสภากรรมการองคมนตรี" ซึ่งพระราชทานลงมาให้ศึกษาและนำคำปรึกษาขึ้นถวายบังคมทูล
- วางรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปของเทศบาล โดยการปรับปรุงแก้ไขสุขาภิบาลที่มีอยู่ให้เป็นเทศบาล ซึ่งได้จัดตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานและความเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติเทศบาล
- พิจารณาโครงร่างรัฐธรรมนูญที่พระยากัลยาณไมตรี (ฟรานซิส บี. แซร์) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย มีลักษณะเป็นระบบนายกรัฐมนตรีให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงแทนองค์พระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรีเอง ส่วนพระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้อภิรัฐมนตรีสภามีหน้าที่เพียงถวายคำปรึกษาเท่านั้นไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โครงร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรีฉบับนี้จึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรีสภา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งของอภิรัฐมนตรีสภาทรงคัดค้านว่า การมีนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องและวิธีการปกครองในระบอบรัฐสภา ไม่ใช่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งไม่มีรัฐสภา เมื่อเป็นเช่นนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงระงับพระราชดำริเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แล้วทรงเริ่มงานวางพื้นฐานการปกครองแบบรัฐสภาขึ้นในปี พ.ศ. 2470 โดยการให้นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศและพระยาศรีวิสารวาจา (เทียนเลี้ยง ฮุนตระกูล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ และทรงมีพระราชดำรัสถึงความประสงค์ที่จะให้รัฐธรรมนูญแก่ราษฎรโดยเร็วที่สุด และต้องให้ทันวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันครบรอบมหาจักรี นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา จึงยกร่างรัฐธรรมนูญ และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2474 นอกจากนั้น นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจายังได้แนบบันทึกความเห็นประกอบเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีก 2 ฉบับว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น เพราะประชาชนยังไม่พร้อม และเทศบาลก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา โครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและพระบรมวงศานุวงศ์ได้พากันคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยอ้างเหตุผลว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควร เนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ เกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายภายหลัง คำคัดค้านดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงลังเลพระทัยว่าควรจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อใดจึงจะเหมาะสม ความไม่แน่นอนและเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ระบบการเมืองไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเหตุการณ์ การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 จึงเกิดขึ้น
อ้างอิง