สัญลักษณ์
เอกโองการบนร้านค้าแห่งหนึ่งในย่านพาหุรัด กรุงเทพมหานคร
ศาสนาซิกข์ เป็นหนึ่งในห้าศาสนาที่ได้รับการรับรองโดยกรมการศาสนาของประเทศไทย ในปัจจุบันมีศาสนิกชนประมาณ 70,000 คน ถือว่าเป็นศาสนาส่วนน้อยในไทย[1] เชื่อกันว่าศาสนาซิกข์เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกกับพ่อค้าชาวอินเดียในปลายคริสต์ศตวรรศที่ 19 ปัจจุบันมีโบสถ์ซิกข์ (คุรุทวารา) ทั้งหมดราว 20 แห่งในประเทศไทย โดยมีคุรุทวาราหลักอยู่ที่สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันมีนายปินเดอร์ปาลซิงห์ มาดาน เป็นผู้นำศาสนาซิกข์ นายกสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา สถาบันศาสนาซิกข์แห่งประเทศไทย[2]
ประวัติ
กิรปาราม มะดาน (Kirparam Madan) เป็นพ่อค้าชาวอินเดียหนึ่งในกลุ่มชาวซิกข์กลุ่มแรกที่เดินทางมาถึงประเทศไทยในปี 1884 กุระปารามเป็น "เสหัชธารี" (Sehajdhari; ศาสนิกชนชาวซิกข์ที่พึ่งเปลี่ยนมานับถือศาสนาซิกข์) จากหมู่บ้านพเทวาล (Bhadewal) ในเขต Sialkot ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน[3] เขาเดินทางมายังสยามพร้อมกับญาติพี่น้องตระกูลมะดาน คือ นารุลา และ เชาวลา ตระกูลมะดานถือเป็นชาวอินเดียโพ้นทะเลกลุ่มแรก ๆ ในประเทศไทย[4]
ในปี 1911 เริ่มมีครอบครัวซิกข์มาตั้งรกรากในสยามมากขึ้นโดยมีบางกอกเป็นศูนย์กลาง อย่างไรก็ตามไม่มีศาสนสถาน (คุรุทวารา) สร้างขึ้นในสยามเลย การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจึงหมุนเวียนไปในบ้านของศาสนิกชนในเครือข่าย ทุก ๆ วันอาทิตย์และวันคุระปุรับ (Gurpurab) คุรุทวาราแห่งแรกสร้างขึ้นในปี 1912 ในอาคารไม้ทั้งหลังในย่านบ้านหม้อ ก่อนในปี 1913 จะย้ายไปยังอาคารไม้หลังใหญ่กว่าเดิมที่เช่าในระยะยาวบนหัวมุมพาหุรัด ถนนจักรเพชร หลังตกแต่งและปรับปรุงจนพร้อมแล้วก็ได้อัญเชิญคุรุกรันถสาหิบมาประดิษฐาน
อาคารได้รับการต่อเติมและขยายใหญ่ในปี 1979 วางศิลาฤกษ์โดยปัญจเปียร์ (Panj Piare; บุคคลอันเป็นที่รักยิ่งทั้งห้า) และสร้างเสร็จในปี 1981
อ้างอิง