คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทย (เต็ม 100); ที่มา:
[1]
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2561 ขององค์การความโปร่งใสสากลจัดอันดับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99 จาก 180 ประเทศ[2] ข้าราชการมีพฤติกรรมฉ้อฉลโดยไม่ถูกลงโทษ[3][4] และภาคธุรกิจในประเทศไม่ควรถือว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย[5]
พลวัต
ส่วนร่วมของธุรกิจกับรัฐบาลส่งผลให้มีการให้สินบนอย่างกว้างขวางในหลายภาคส่วนทั่วประเทศ การให้สินบนและการขัดกันของผลประโยชน์พบบ่อยทั้งภาคเอกชนและรัฐ การเมืองเงินในประเทศไทยเกิดจากจำนวนส่วนร่วมระหว่างภาคธุรกิจและการเมืองสูง แม้มีกฎหมายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง แต่ระบบข้าราชการประจำของไทยไม่มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมายดังกล่าว[5] ประเทศไทยถือว่ามีกฎหมายต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวงมากพอสมควร แต่เปิดช่องให้รัฐบาลแต่ละชุดใช้ดุลยพินิจของตนเพื่อตัดสินว่าพฤติกรรมใดเข้าข่ายบ้าง และทำให้การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่มีความเสมอต้นเสมอปลาย[6]: 1–2 การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีการปรับตัวหลังใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งป้องกันการละเมิดอำนาจแบบซ่อนเร้น เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปลี่ยนไปใช้วิธีโอนหุ้นให้ญาติแทน, นักการเมืองมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตัว[6]: 27
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดทำการสำรวจในหมู่นักธุรกิจที่ติดต่อกับข้าราชการผู้ตัดสินมอบสัมปทาน กว่าร้อยละ 25 เป็นค่าเฉลี่ยของค่าสินบนที่จ่ายเพื่อให้ได้สัญญาจากหน่วยงานของรัฐ การสำรวจเดียวกันยังแสดงว่านักธุรกิจร้อยละ 78 ที่สำรวจยอมรับว่าต้องจ่าย "ค่าธรรมเนียม" ซึ่งพวกเขาเล่าว่าดูเหมือนเพิ่มขึ้นในช่วงปีหลัง นักธุรกิจบางคนอ้างว่าอัตราที่ข้าราชการบางคนคิดค่าสัญญานั้นสูงถึงร้อยละ 40[7] โครงการรับสินบนสูงเป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ การซ่อมและสร้างถนน/สะพาน การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การจ่ายเงินชดเชยอุทกภัย การชดเชยพันธุ์พืช/สัตว์ เป็นต้น หน่วยงานที่มีภาพลักษณ์ฉ้อฉลมากที่สุด คือ ตำรวจ รองลงมาคือ นักการเมือง กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมที่ดิน เป็นต้น[8]: 3–11, 3–12
ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศระหว่างปี 2538 ถึง 2554 พบว่า ไทยมีคะแนนต่ำสุดในปี 2538 (รัฐบาลชวน หลีกภัย) และสูงสุดในปี 2548 (รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร)[8]: 3–10
ในเดือนธันวาคม 2563 พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวปาฐกถาว่า ในปีงบประมาณ 2562 ป.ป.ช. ได้รับเรื่องร้องเรียนนับหมื่นเรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 230,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง และในปีงบประมาณ 2563 มีเรื่องร้องเรียนราว 8,600 เรื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 90,000 ล้านบาท[9]
ข้อมูลของบารอมิเตอร์คอรัปชันโลกปี 2563 พบว่าในรอบปีที่ผ่านมา ชาวไทยร้อยละ 24 จ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับบริการสาธารณะ, ร้อยละ 27 ใช้เส้นสายส่วนตัวเพื่อให้ได้รับบริการสาธารณะ, ร้อยละ 28 ได้รับข้อเสนอซื้อเสียง[10]: 53
การฉ้อราษฎร์บังหลวงภาครัฐ
ในปี 2553 มีรายงานการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกี่ยวกับการเข้าถึงสาธารณูปโภคของรัฐ ใบอนุญาต สัญญาและการขึ้นทะเบียนต่าง ๆ อยู่บ้าง และมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างกว้างขวางในการขอสัญชาติของชาวเขา[5]
ในประเทศไทยมีการฮั้วประมูล[11] บริษัทที่ไม่จ่ายค่าอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการอาจเสียเปรียบด้านการแข่งขันเทียบกับบริษัทอื่น[11]
การโกงเลือกตั้ง
การซื้อสิทธิ์ขายเสียงในประเทศไทยเป็นที่กล่าวขานมาช้านาน คำว่า "คืนหมาหอน" เป็นพฤติกรรมที่มีการเดินตามบ้านไปแจกเงินให้เลือกผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในยามวิกาลจนหมาเฝ้าบ้านเห่าหอน[12] การเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2500 ได้ชื่อว่า "สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์"[13] เนื่องจากสมุนจอมพล แปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ใช้วิธีข่มขู่ถึงบ้าน, เวียนเทียนลงคะแนน, เปลี่ยนหีบเลือกตั้ง จนถึงฆาตกรรม มีการนำคะแนนยาวนานถึง 7 วัน[14]
รายงานของบีบีซีในปี 2562 ระบุว่า หัวคะแนนมักเป็น "ผู้สมัครสอบตก" ที่เคยซื้อเสียงให้ตนเอง แต่ในช่วงหลัง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในภาคอีสานกลายเป็นหัวคะแนนใหม่[15] งานวิจัยของรองศาสตราจารย์ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครในชนบท แต่ต้องมีความสนิทสนมคุ้นเคยด้วย[15]
อย่างไรก็ดี รองศาสตราจารย์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ว่า วาทกรรมซื้อสิทธิ์ขายเสียงมีการผลิตซ้ำจากนักวิชาการและสื่อจำนวนหนึ่ง[16] งานวิจัยของเธอในปี 2554 พบว่า คนภาคใต้ร้อยละ 19 มองว่าเงินเป็นสิ่งผูกมัดที่จะต้องเลือก ซึ่งเป็นภาคที่มีสัดส่วนดังกล่าวมากที่สุด แต่เธอย้ำว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่บอกระดับของการซื้อเสียงได้[17] ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นว่า การเลือกที่ตัวบุคคลที่สามารถให้เงินและการอุปถัมภ์ของคนชนบท หรือการเลือกที่พรรคการเมืองเพราะนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของคนเมืองต่างก็ยึดประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้งไม่ต่างกัน[15]
การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ได้ชื่อว่าเอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชารัฐตั้งแต่การออกแบบการเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญ การแบ่งเขต การกำหนดระบบการเลือกตั้ง การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และการตีความทางเทคนิคเพื่อตัดที่นั่งของพรรคอนาคตใหม่[18] หรือแม้แต่กรรมการการเลือกตั้งที่มีที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งควบคุมโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติอีกทอดหนึ่ง[19]
กระบวนการยุติธรรม
หลังรัฐประหารปี 2557 ฝ่ายตุลาการถูกทำให้เป็นเรื่องการเมืองอย่างสูง[11] การบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยมีความผันแปรและการดำเนินคดีการฉ้อราษฎร์บังหลวงระดับสูงอาจมีแรงจูงใจทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง[11] เช่นในปี 2557 ป.ป.ช. สั่งฟ้องดำเนินคดีต่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพราะมีพฤติกรรมส่อทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล[20] แต่ในปี 2563 ป.ป.ช. กลับไม่ดำเนินคดีต่อพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทั้งที่ครอบครองนาฬิกาหรูและอาจเข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติ พร้อมทั้งชี้แจงแทนเขาว่าเป็นการยืมใช้คงรูป[21]
กระบวนการยุติธรรมมักเชื่องช้าและเปิดช่องให้มีการจ่ายเงินแก่ข้าราชการเพื่อเร่งรัด มีรายงานว่าทนายความที่รัฐจัดหาให้คนยากจนมีการเรียกรับเงินจากลูกความโดยตรง[5]
บางทีมีการใช้วิธีการนอกกฎหมายเพื่อมีผลต่อกระบวนการยุติธรรมและคำพิพากษา เช่น ในคดีการเสียชีวิตของวิเชียร กลั่นประเสริฐซึ่งมีวรยุทธ อยู่วิทยาเป็นผู้ต้องสงสัยนั้น มีความพยายามแก้ไขหลักฐาน คือ ความเร็วรถและการครอบครองยาเสพติด[22] อีกทั้งอัยการยังสั่งไม่ฟ้อง[23] คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา อ้างการแทรกแซงคำพิพากษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเหตุที่ตัดสินใจพยายามฆ่าตัวตายสองครั้งในปี 2563[24]
ทหารและตำรวจ
ฝ่ายความมั่นคงในประเทศไทยมีชื่อเสียงว่าเป็นสถาบันที่ฉ้อฉลที่สุดในประเทศเนื่องจากความพัวพันกับการเมืองและระบบอุปถัมภ์[11] นายทหารชั้นผู้ใหญ่จำนวนมากได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารของรัฐวิสาหกิจ โดยเพิ่มขึ้น 5 เท่าระหว่างปี 2557 ถึง 2560[25] เมื่อปี 2559 มีข่าวบรรจุบุตรของพลเอก ปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นนายทหารยศว่าที่ร้อยตรี โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ลงนาม พลเอกปรีชาให้สัมภาษณ์ว่า หลายคนในกองทัพก็ทำแบบนี้[26] ผู้ก่อเหตุกราดยิงที่จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2563 เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยซึ่งอ้างเหตุลงมือเป็นการทุจริตบ้านพักทหาร[27] ข่าวข้อกล่าวหาการทุจริตการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ของกองทัพ เช่น เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที200, เรือเหาะสกายดรากอน, รถหุ้นเกราะยูเครน, เฮลิคอปเตอร์เอ็นสตรอม, ฝูงบินกริพเพน, เรือฟริเกต 2 ลำ,[28] กล้องตรวจการณ์กลางคืนแบบตาเดียว, ชุดทหารเกณฑ์ และเรือดำน้ำจีน เป็นต้น[29] พระมหากษัตริย์ยังทรงแต่งตั้ง พระราชทานและเรียกคืนยศได้ตามพระราชอัธยาศัยด้วย[30][31]
การฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยตำรวจก็มีแพร่หลาย ในปี 2559 มีหลายคดีที่ตำรวจถูกตั้งข้อหาลักพาตัว คุกคามทางเพศ โจรกรรมและการกระทำมิชอบ ทางการจับกุมเจ้าหน้าที่ตำรวจและพิพากษาลงโทษฐานฉ้อราษฎร์บังหลวง ค้ายาเสพติด การลักลอบนำเข้าหรือส่งออก และการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา[5] ตำรวจมีการเรียกรับประโยชน์จากบริษัทที่ดำเนินการผิดกฎหมาย[5] ในปี 2553 มีข่าวเมื่อพลตำรวจเอก สมเพียร เอกสมญา ไม่สามารถขอย้ายพื้นที่ได้ เพราะมีนายตำรวจอีกนายหนึ่งวิ่งเต้น[32]
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ส.ส. พรรคก้าวไกลออกมาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลโดยระบุว่ามีการฝากตำแหน่งของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมทั้งเปิดเผย "ตั๋วช้าง" หรือจดหมายฝากตำแหน่งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติส่งถึงสำนักงานราชเลขานุการในพระองค์ 904 ในปี 2562[33]
การศึกษา
การศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นระบุว่า งบโรงเรียนถูกตักตวงออกไป เช่น งบอาหาร งบอุปกรณ์การเรียน โดยระบุว่างบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนถูกโกงไปประมาณร้อยละ 30 เงินบริจาคถูกขโมยจนเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ โครงการ เช่น สหกรณ์ครู ยังมีการฉ้อฉล[34]
กีฬา
การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง
กฎหมายปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศไทย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 และ 2502 ห้ามการให้และรับสินบน การกรรโชก การละเมิดอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ การเป็นตัวกลางให้และรับสินบน บางความผิดมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต, อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต (United Nations Convention against Corruption) ซึ่งครอบคลุมการให้สินบนข้าราชการต่างด้าวมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยในปี 2554, พระราชบัญญัติการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เน้นย้ำเรื่องความโปร่งใสและความรับผิดในการบริหารราชการแผ่นดิน[5] อย่างไรก็ดี รัฐบาลชุดต่าง ๆ มักปราบปรามเพียงการฉ้อราษฎร์บังหลวงเล็กน้อยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ว่าตนจริงจังในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น[5]
ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนองค์การปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวง กล่าวคือ องค์การที่ทำหน้าที่ดังกล่าวเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานอัยการสูงสุด แต่กระบวนการมักเป็นไปอย่างล่าช้าและมีผู้ถูกลงโทษเพียงจำนวนหยิบมือ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่บางคนยังถูกข่มขู่[5]
ในปี 2558 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตั้ง "พิพิธภัณฑ์กลโกงแห่งชาติ" ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร นักวิจารณ์บางคนวิจารณ์ว่าพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวเน้น "การกระทำรับสินบนฉาวโฉ่ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล" 10 อย่าง แต่ไม่มีกล่าวถึงกองทัพหรือธุรกิจ[35]
การเปิดโปงการทุจริตหรือการเป่านกหวีด (whistleblowing) ไม่ได้รับการคุ้มครองเท่าที่ควรและอาจถูกรังควานหรือปลดออกจากตำแหน่ง[5] เช่น กรณีของสิบเอก ณรงค์ชัย อินทรกวี (หมู่อาร์ม) ที่เปิดโปงการทุจริตในกองทัพบกในปี 2563 ก่อนถูกกล่าวหาว่าผิดวินัยทหารในเวลาต่อมา[36]
สื่อมวลชนรายงานข้อกล่าวหาการทุจริต เช่น ความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการเอื้อประโยชน์แก่พวกพ้องอยู่บ่อยครั้ง แต่หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 มีการตรวจพิจารณาอินเทอร์เน็ตมากขึ้น[5] องค์การนอกภาครัฐที่ดำเนินการเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองเผชิญกับการรังควานจากภาครัฐอยู่บ้าง[5]
การฉ้อราษฎร์บังหลวงภาคเอกชน
เศรษฐีและบริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งได้กำไรงามจากการซื้อขายที่ดิน โดยมีเส้นสายวงในเป็นข้าราชการและนักการเมืองซึ่งทำให้ทราบล่วงหน้าว่ารัฐบาลมีโครงการพัฒนาที่ดินที่ใดบ้าง[5]
สถานศึกษาหลายแห่งเรียกรับค่าน้ำชาเพื่อให้รับบุตรหลานเข้าศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่มีชื่อเสียง[5]
ในปี 2564 มีการเปิดเผยว่า บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น โตโยต้าสาขาประเทศไทย ได้จ่ายสินบนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ซึ่งข้าราชการศุลกากรคนหนึ่งเปิดเผยว่า โตโยต้าเลี่ยงภาษีกว่า 11,000 ล้านบาท[37]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- ↑ "Thailand Corruption Index | 1995-2020 Data | 2021-2023 Forecast | Historical | Chart". tradingeconomics.com. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "Corruption Perceptions Index 2018". Transparency International. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-04-27. สืบค้นเมื่อ 1 May 2019.
- ↑ "Country Reports on Human Rights Practices for 2016; Thailand". US Department of State. สืบค้นเมื่อ 4 March 2017.
- ↑ Chachavalpongpun, Pavin. "Thai Junta Beset By Corruption Scandals". The Diplomat. สืบค้นเมื่อ 2017-09-12.
- ↑ 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 "Business Anti-Corruption Portal: Thailand". Business Anti-Corruption Portal. GAN Integrity Solutions. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 June 2014. สืบค้นเมื่อ 2 July 2015.
- ↑ 6.0 6.1 Straub, Karsta. "AN OVERVIEW OF THAILAND'S ANTI‐CORRUPTION LEGISLATION" (PDF). Tilleke. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ Prateepchaikul, Veera (2013-07-26). "25%+ is too high a price to pay". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 1 December 2015.
- ↑ 8.0 8.1 สุขมาลพงษ์, จารุวรรณ. "แนวโน้มของคอรัปชั่นในประเทศไทย". สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "ป.ป.ช. ยอมรับ ยุค "คสช.-ประยุทธ์" เงินแผ่นดินรั่วไหลเฉียด 3 แสนล้าน". ประชาชาติธุรกิจ. 9 December 2020. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ GLOBAL CORRUPTION BAROMETER ASIA 2020 (PDF). Transparency International. ISBN 9783960761549. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 "Thailand Corruption Report". GAN Business Anti Corruption. GAN Business Anti Corruption. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-15. สืบค้นเมื่อ 4-3-18.
- ↑ สมคิด เลิศไพฑูรย์ (2547). นรนิติ เศรษฐบุตร (บ.ก.). สารานุกรมการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. p. 69.
- ↑ "ปัญหาความ "ศักดิ์สิทธิ์" ของการเลือกตั้ง จากปี 2500 เลือกตั้ง "สกปรก" ถึงปี 2549 เลือกตั้ง "ตลก-โจ๊ก"". รัฐสภา.[ลิงก์เสีย]
- ↑ ""เลือกตั้งสกปรก สกปรกตั้งแต่ออกแบบรธน." ดูกลเบื้องหลังเลือกตั้งสกปรก 2500". ศิลปวัฒนธรรม. 15 February 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ 15.0 15.1 15.2 "ซื้อสิทธิขายเสียง ใช่เพียงเรื่องเงิน". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ ศักดิ์ดวง, ศุภเดช (21 December 2013). "สิริพรรณ : เบื้องหลังวาทกรรมซื้อเสียง...ทำไมคนชนบทถึงเป็นผู้ร้าย?". สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ ศักดิ์ดวง, ศุภเดช (20 December 2013). ""สิริพรรณ" แจงงานวิจัยถูกบิด-ปัดชี้ภาคใต้มีซื้อเสียงมากสุด". สำนักข่าวอิศรา. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ McCargo, Duncan. "Anatomy: Future Backward". Contemporary Southeast Asia. 41 (2). doi:10.1355/cs41-2a. สืบค้นเมื่อ 2020-06-02.
- ↑ "เลือกตั้ง 62". Workpoint Today. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "ปปช.มีมติ7:0ฟันยิ่งลักษณ์ปล่อยทุจริตจำนำข้าว". โพสต์ทูเดย์ (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "ป.ป.ช. แจง "บิ๊กป้อม" ยืมนาฬิกาเพื่อน ไม่ผิด ชี้เป็นการ "ยืมใช้คงรูป"". ไทยรัฐ. 30 May 2020. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "อสส. ชี้คดี "บอส อยู่วิทยา" ยังไม่สิ้นสุด แจ้ง ตร.สอบเพิ่มเรื่องโคเคนและความเร็วรถ". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "อัยการสูงสุดสั่งตรวจสอบกรณีอัยการไม่สั่งฟ้อง "บอส" ทายาทกระทิงแดง". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ เปิดไทม์ไลน์ "ผู้พิพากษายิงตัว" คลิปแถลง ถูกแทรกแซง วอนเยียวยาลูกเมีย. ข่าวสดออนไลน์. 5 ต.ค. 2562 (เข้าถึง 8 มี.ค. 2563) คลิก
- ↑ "สามปีรัฐประหาร: ทหารตบเท้านั่งรัฐวิสาหกิจบนสัญญาปฏิรูป". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "พล.อ.ปรีชา" รับตั้งลูกตัวเองเป็นทหาร อ้างเรียนจบต้องมีงานทำ ไม่ผิดปกติ
- ↑ "เผยเอกสารกู้เงิน "มือกราดยิงโคราช" สะพัดถูกเบี้ยวเงินทอน ชนวนเหตุโศกนาฏกรรม". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "เจาะขบวนการทุจริตงบประมาณแบบบูรณาการ (6): จัดงบฯ กระทรวงกลาโหม "หลักการ" หรือ "ความเกรงใจ" - ThaiPublica". thaipublica.org. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "'พิจารณ์' แฉยับ ประยุทธ์ เอี่ยวทุจริต ซื้ออาวุธ ถามนายพลไทยเป็นนักกอล์ฟหรือ สวัสดิการเพียบ". มติชนออนไลน์. 16 February 2021. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "โปรดเกล้าฯให้เจ้าคุณพระสินีนาฏฯ พ้นจากตำแหน่ง ถอดฐานันดรศักดิ์ เรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ "โปรดเกล้าฯ คืนฐานันดรศักดิ์-เครื่องราชฯ เจ้าคุณพระสินีนาฏ". BBC ไทย. 2 September 2020. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ เนชั่นสุดสัปดาห์, ปีที่ 18 ฉบับที่ 929, 19 มีนาคม 2553 หน้า 8–9
- ↑ "โรม อารมณ์ค้าง เปิดเวทีอภิปรายนอกห้องประชุม เปิดปมตั๋วตำรวจ 'ตั๋วช้าง'". มติชนออนไลน์. 19 February 2021. สืบค้นเมื่อ 19 February 2021.
- ↑ "Thai education system: Completely corrupt". The ASEAN Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 22 February 2021.
- ↑ "Failing the graft battle" (Editorial). Bangkok Post. 28 February 2017. สืบค้นเมื่อ 1 March 2017.
- ↑ "หมู่อาร์มเปิดใจกับบีบีซีไทย หลัง ทบ.ชี้แจง "ความเข้าใจผิด"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 21 February 2021.
- ↑ Runyeon, Frank G. "Toyota Probed Possible Bribes To Top Thai Judges - Law360". www.law360.com (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 31 March 2021.
แหล่งข้อมูลอื่น