ค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทย เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่รัฐกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้าง กำหนดในอัตราต่อวัน กำหนดขึ้นครั้งแรกตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 12) บังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2567 เป็นต้นไป
ประวัติ
ประเทศไทยได้กำหนดให้มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นครั้งแรกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ได้กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ[1] โดยมีคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อพิจารณาและกำหนด โดยคณะกรรมการประกอบด้วยประธานและกรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง และได้กำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำต้องสามารถใช้ยังชีพแต่ลูกจ้างและคนในครอบครัว 2 คนได้อย่างปกติ[2] ต่อมาได้ปรับนิยามของค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นใหม่ โดยพิจารณาลดเป็นเงินที่ลูกจ้างคนเดียวสามารถควรจะได้รับและดำรงชีพได้[3] และคงใช้นิยามนี้จนถึงปัจจุบัน[4]
ในช่วงปี พ.ศ. 2516 – 2536 กระทรวงมหาดไทย โดยกองแรงงานเป็นผู้ดำเนินการหลักในการพิจารณาและประกาศบังคับใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทั่งมีการจัดตั้งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมขึ้นมาในปี พ.ศ. 2536 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงแรงงาน) กองแรงงาน กระทรวงมหาดไทยจึงโอนย้ายไปยังกระทรวงดังกล่าว ทำให้คณะกรรมการค่าจ้างจึงสังกัดกับกระทรวงนี้จนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงปี พ.ศ. 2536 – 2551 กำหนดในรูปของประกาศกระทรวง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นไปกำหนดเป็นประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีการออกประกาศกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว 48 ฉบับ[5]
นโยบายรัฐบาลต่อค่าจ้างขั้นต่ำ
รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 พรรคเพื่อไทยนำเสนอนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยเป็น 600 บาทภายในระยะเวลา 4 ปีที่เป็นรัฐบาลในลักษณะขั้นบันไดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ มีการวิเคราะห์ว่านโยบายนี้ตรงกับความต้องการของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ ทำให้ประชาชนออกมาสนับสนุนนโยบายนี้ แต่อาจส่งผลต่อต้นทุนของนายจ้างโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่มีผลผลิตน้อย ลดการจ้างแรงงานและกำลังการผลิต ลดการแข่งขันทางการค้า และเกิดภาวะเงินเฟ้อ ทำให้เกิดการคัดค้านจากฝ่ายนายจ้างบางส่วน จึงมีการเสนอว่าให้ดำเนินการเพิ่มค่าจ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ควรมีนโยบายอื่นควบคู่มาด้วย เช่น ดูแลปัจจัยต้นทุนการผลิต ควบคุมราคาสินค้าและบริการ สร้างความสมดุลระหว่างรายได้ของลูกจ้างกับต้นทุนของนายจ้าง และพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับประเทศรอบข้าง[6]
ค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบัน
อ้างอิง