องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) คือองค์กรปกครองส่วนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีจังหวัดละหนึ่งแห่ง ยกเว้นกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ องค์การบริหารส่วนจังหวัด มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการสาธารณประโยชน์ในเขตจังหวัด ตลอดทั้งช่วยเหลือพัฒนางานของเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) รวมทั้งการประสานแผนพัฒนาท้องถิ่นเพื่อไม่ให้งานซ้ำซ้อน
ประวัติ
การจัดรูปแบบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและวิวัฒนาการตามลำดับ โดยจัดให้มีสภาจังหวัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 ตามความในพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ. 2476[1] ฐานะของสภาจังหวัด ขณะนั้น มีลักษณะเป็นองค์กรแทนประชาชน ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาหารือแนะนำแก่คณะกรรมการจังหวัด ยังมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่แยกต่างหากจากราชการบริหารส่วนภูมิภาคหรือเป็นหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้มีการตราพระราชบัญญัติสภาจังหวัด พ.ศ. 2481 ขึ้น โดยมีความประสงค์ที่จะแยกกฎหมายที่เกี่ยวกับสภาจังหวัดไว้โดยเฉพาะสำหรับสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฯ นั้น ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงฐานะและบทบาทของสภาจังหวัดไปจากเดิม กล่าวคือ สภาจังหวัดยังคงทำหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาของคณะกรรมการจังหวัดเท่านั้น จนกระทั่งได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495 ซึ่งกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นหัวหน้าปกครองบังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบบริหารราชการส่วนจังหวัดของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ โดยตรงแทนคณะกรรมการจังหวัดเดิม โดยผลแห่งพระราชบัญญัติฯ นี้ ทำให้สภาจังหวัดมีฐานะเป็นสภาที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด
แต่เนื่องจากบทบาทและการดำเนินงานของสภาจังหวัดในฐานะที่ปรึกษา ซึ่งคอยให้คำแนะนำและควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของจังหวัด ไม่สู้จะได้ผลสมตามความมุ่งหมายเท่าใดนัก จึงทำให้เกิดแนวคิดที่จะปรับปรุงบทบาทของสภาจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพโดยให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนในการปกครองตนเองยิ่งขึ้น ในปี พ.ศ. 2498 อันมีผลให้เกิด องค์การบริหารส่วนจังหวัด ขึ้นตามกฎหมายโดยมีฐานะเป็นนิติบุคคล แยกจากจังหวัด ในฐานะที่เป็นราชการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ต่อมาได้มีการประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 218 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่บทว่าด้วยการจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีฐานะเป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง
อำนาจหน้าที่
องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีหน้าที่พัฒนาจังหวัด ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การอาชีพ สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น
- จัดสร้างระบบสาธารณูปโภคที่เทศบาลและ อบต. ทำไม่ได้ เพราะขาดงบประมาณ เช่น สร้างบ่อบำบัดน้ำเสีย
- จัดทำโครงการที่เกี่ยวข้องทั้งเทศบาลและ อบต. เช่น การก่อสร้างถนนสายหลัก
- การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น จัดรถบรรทุกน้ำ ช่วยเหลือพื้นที่แห้งแล้ง
- การใช้ที่ดินเพื่อประโยชน์ของท้องถิ่น เช่น จัดให้มีสถานที่พักผ่อน สวนสาธารณะ
- การบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจารีตประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น
การเลือกตั้งผู้แทนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
ประชาชนในแต่ละจังหวัดสามารถเลือกตัวแทนเข้ามาบริหาร อบจ.ได้โดยตรงโดยการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. การเลือกตั้งนายก อบจ. ถือเขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครนายก อบจ. ได้ 1 คน
การเลือกตั้งสมาชิกสภา อบจ. ถือเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง อำเภอที่มีสมาชิกสภา อบจ. ได้มากกว่า 1 คน จะแบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้งเท่าจำนวนสมาชิกสภา อบจ. ที่มีในอำเภอนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือกผู้สมัครได้เขตเลือกตั้งละ 1 คน ส่วน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำหน้าที่ควบคุมและรับผิดชอบบริหารกิจการของ อบจ. ที่มีปลัด อบจ. เป็นหัวหน้า พนักงานทั้งหมดใน อบจ. และนายก อบจ. แต่งตั้งรองนายกซึ่งมิใช่สมาชิกสภา อบจ. เป็นผู้ช่วย เหลือในการบริหารงาน มีวาระการทำงานคราวละ 4 ปี
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด
สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ สมาชิกสภา อบจ. หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ส.อบจ. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน อยู่ในตำแหน่งวาระละ 4 ปี มีหน้าที่ดังนี้
- พิจารณาและออกกฎหมายของ อบจ. เรียกว่า “ข้อบัญญัติ อบจ.” เช่น การจัดเก็บภาษี, น้ำมัน, และยาสูบ
- ตรวจสอบควบคุมการบริหาร อบจ. เช่น ตรวจสอบการใช้เงินในโครงการต่าง ๆ ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาจังหวัดโดยรวบรวมจากแผนของทั้งเทศบาลและ อบต. เช่น การสร้างถนน
- ให้ความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีซึ่งมาจากภาษีของประชาชน ทั้งภาษีทางตรงที่ อบจ. จัดเก็บ เช่น ภาษีโรงเรือนและที่ดิน หรือภาษีทางอ้อม เช่น จากการซื้อสินค้า โดยนำส่วนที่เป็นภาษีกลับคืนมาพัฒนาท้องถิ่น
ผู้บริหารขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น เราเรียกว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีที่มาจากการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรง
สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 สมาชิกสภาจังหวัดทั่วประเทศได้มีการรวมตัวกันจัดการประชุมใหญ่ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีมติให้มีการก่อตั้งสหพันธ์สมาชิกสภาจังหวัดแห่งประเทศไทยขึ้น พร้อมกับได้เลือก อุดร จันทรวิโรจน์ ประธานสภาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานสหพันธ์ สมาชิกสภาจังหวัดแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งได้ขับเคลื่อนเรียกร้องให้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. 2498 และประสบผลสำเร็จในเวลาต่อมา เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติ องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 ขึ้นมาบังคับใช้ ส่งผลให้สภาจังหวัดเดิมได้แปรสภาพไปเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยได้แยกอำนาจหน้าที่ออกเป็นฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดเจน สหพันธ์สมาชิกสภาจังหวัดแห่งประเทศไทยจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นสมาคมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 โดยมี อำนวย แช่มช้อย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เป็นนายกสมาคมฯ คนแรก มีสำนักงานตั้งอยู่ ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยวิสัยทัศน์ “รวมเป็นหนึ่ง เป็นที่พึ่ง มีศักดิ์ศรี มีคุณธรรม”
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2554 สานันท์ สุพรรณชนะบุรี นายกสมาคมฯ ในขณะนั้น ได้ทำการย้ายสำนักงานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มาสร้างในสถานที่แห่งใหม่ มาอยู่ที่ เลขที่ 19/1-3 หมู่ที่ 4 ถนนราชพฤกษ์ ตำบลคลองข่อย อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารสำนักงานแห่งใหม่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 และได้ใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ทำการสำนักงานสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน[2]
รายชื่อนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
การจัดแบ่งเขตพื้นที่ในประเทศไทย |
---|
เขตการปกครอง | |
---|
เขตพื้นที่ | |
---|
เขตการปกครองในอดีต | |
---|
|
---|
เลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ | |
---|
เลือกตั้งนอกวาระ หรือแทนตำแหน่งที่ว่างลง | |
---|