จักรพรรดิญี่ปุ่น (ญี่ปุ่น : 日本天皇 ) ทรงเป็นผู้นำราชวงศ์ญี่ปุ่น และประมุขแห่งรัฐ ของญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 มาตรา 1 บัญญัติว่า "จักรพรรดิทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งญี่ปุ่นและสัญลักษณ์แห่งความสมัครสมานของชนชาวญี่ปุ่น ตำแหน่งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับความยินยอมของชนชาวญี่ปุ่นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย"[ 1]
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวที่ประมุขแห่งรัฐเรียกว่า "จักรพรรดิ " และราชวงศ์ญี่ปุ่นก็เป็นราชวงศ์เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน[ 2] ต้นกำเนิดในทางประวัติศาสตร์ของจักรพรรดิญี่ปุ่นนั้นปรากฏในปลายยุคโคฟุง (คริสต์ศตวรรษที่ 3–7) แต่เอกสารในทางประเพณีที่เรียกว่า โคจิกิ (เขียนเสร็จใน ค.ศ. 712) และ นิฮงโชกิ (เขียนเสร็จใน ค.ศ. 720) ระบุว่า จักรพรรดิจิมมุ ทรงสถาปนาประเทศขึ้นเมื่อ 660 ปีก่อนคริสตกาล และถือกันว่า ทรงสืบเชื้อสายโดยตรงมาจากอามาเตราซุ เทพธิดาแห่งดวงตะวัน[ 3] [ 4] จักรพรรดิพระองค์ปัจจุบัน คือ จักรพรรดินารูฮิโตะ ผู้เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 หนึ่งวันหลังจากจักรพรรดิอากิฮิโตะ พระบิดา ทรงสละราชบัลลังก์
ในทางประวัติศาสตร์ บทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่นสลับไปมาระหว่างหน้าที่เชิงพิธีการกับหน้าที่ของผู้ปกครองอย่างแท้จริง เพราะนับแต่เกิดระบอบโชกุน เมื่อ ค.ศ. 1199 เป็นต้นมา โชกุน ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ และบางสมัย เช่น ยุคคามากูระ (ค.ศ. 1203–1333) ก็มีชิกเก็ง มาใช้อำนาจแทนโชกุนอีกทอดหนึ่ง ทำให้โชกุนและชิกเก็งเป็นผู้ปกครองประเทศโดยพฤตินัย แม้ว่าโดยนิตินัยแล้วจะได้รับแต่งตั้งจากจักรพรรดิอีกที กระทั่งมีการปฏิรูปเมจิ เมื่อ ค.ศ. 1867 โชกุนโทกูงาวะ โยชิโนบุ ถวายอำนาจคืนจักรพรรดิเมจิ ทำให้พระองค์ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยโดยบริบูรณ์ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1889 แต่เมื่อมีการตรารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับ ค.ศ. 1947 ก็กำหนดให้จักรพรรดิกลับไปเป็นประมุขแต่ในทางพิธีการดังเดิม ไม่มีแม้กระทั่งอำนาจการเมืองในทางนิตินัย
จักรพรรดิประทับ ณ เคียวโตะ เมืองหลวงเดิม มาเกือบ 11 ศตวรรษ จนกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงแปรพระราชฐานมายังพระราชวังหลวง ในโตเกียว เมืองหลวงใหม่ นอกจากนี้ วันพระราชสมภพของจักรพรรดิ (พระองค์ปัจจุบัน คือ 23 กุมภาพันธ์) ยังเป็นวันหยุดราชการ
บทบาท
จักรพรรดิญี่ปุ่นมิได้เป็นผู้บริหารสูงสุดในทางนิตินัยของประเทศ ซึ่งต่างจากพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญโดยส่วนใหญ่ เพราะรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 มาตรา 65 และ 66 ระบุไว้ชัดเจนว่า อำนาจบริหารเป็นของคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เป็นหัวหน้า[ 5] ทั้งจักรพรรดิก็มิใช่ผู้บัญชาการสูงสุดของกองกำลังป้องกันตนเอง เพราะตามกฎหมายแล้วเป็นบทบาทของนายกรัฐมนตรี
อำนาจของจักรพรรดิจำกัดอยู่แต่ทางพิธีการ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1947 มาตรา 4 ระบุว่า "จักรพรรดิทรงปฏิบัติกิจที่เกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดินตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น และไม่ทรงมีอำนาจในราชการแผ่นดิน"[ 6] ส่วนมาตรา 3 ก็ระบุว่า "กิจของจักรพรรดิที่เกี่ยวเนื่องกับราชการแผ่นดิน ต้องเป็นไปตามคำแนะนำและความยินยอมของคณะรัฐมนตรี และให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบกิจดังกล่าว"[ 7]
รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ระบุว่า "จักรพรรดิทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามที่สภานิติบัญญัติ ถวายชื่อ จักรพรรดิทรงแต่งตั้งประธานศาลสูงสุด ตามที่คณะรัฐมนตรีถวายชื่อ"[ 8]
นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ให้จักรพรรดิทรงปฏิบัติกิจดังต่อไปนี้ในนามของประชาชน แต่เมื่อทรงได้รับคำแนะนำและความยินยอมของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น[ 9]
ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม, พระราชบัญญัติ, พระราชกฤษฎีกา, และสนธิสัญญา
เรียกประชุมสภานิติบัญญัติ
ยุบสภาผู้แทนราษฎร
ประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติเป็นการทั่วไป
รับรองการแต่งตั้งและถอดถอนรัฐมนตรีและข้าราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด และรับรองหนังสือมอบอำนาจและตราตั้งเอกอัครราชทูตและอัครราชทูต
รับรองการนิรโทษกรรมหมู่, การนิรโทษกรรมพิเศษ, การลดโทษ, การรอการลงโทษ, และการคืนสถานะ
พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
รับรองสัตยาบันสารและเอกสารอื่นในทางการทูตตามที่กฎหมายกำหนด
ออกรับเอกอัครราชทูตและอัครราชทูตต่างประเทศ
ปฏิบัติพิธีการ
ปรกติแล้ว พิธีการที่รัฐธรรมนูญกล่าวถึง คือ ชินนินชิกิ (การแต่งตั้งข้าราชการผู้ใหญ่ เช่น นายกรัฐมนตรี, ประธานศาลสูงสุด ฯลฯ) ซึ่งกระทำในพระราชวังหลวง และการเปิดประชุมวุฒิสภา ณ อาคารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งสมัยสามัญและวิสามัญ[ 10]
การเรียกขาน
ในภาษาญี่ปุ่น มีคำสองคำซึ่งเทียบเท่ากับคำว่า "จักรพรรดิ" (emperor) คือ คำว่า "เท็นโน" (天皇) แปลตรงตัวว่า "เจ้าฟ้า" (heavenly sovereign) ใช้เรียกจักรพรรดิญี่ปุ่น และ "โคเต" (皇帝) ซึ่งมาจากภาษาจีนว่า "หฺวังตี้" (ฮ่องเต้) ใช้เรียกจักรพรรดิชาติอื่น
ในภาษาญี่ปุ่นเก่า ก่อนใช้คำว่า "เท็นโน" นั้น เรียกขานพระมหากษัตริย์ญี่ปุ่นว่า "ยามาโตโอกิมิ" (大和大王) แปลว่า "มหาราชาแห่งยามาโตะ " (Great King of Yamato), "วาโอ" (倭王) แปลว่า "ราชาแห่งวะ" (King of Wa), หรือ "วาโกกูโอ" (倭国王) แปลว่า "ราชาแห่งรัฐวะ" (King of Wa State)
จักรพรรดิญี่ปุ่นพระองค์ปัจจุบัน มักเรียกขานว่า "เท็นโนเฮกะ" (天皇陛下) แปลว่า "สมเด็จพระจักรพรรดิ", หรือ "คินโจเฮกะ" (今上陛下) แปลว่า "สมเด็จพระองค์ปัจจุบัน", หรือสั้น ๆ ว่า "เท็นโน"
คำว่า "เท็นโน" นั้นใช้มาจนถึงยุคกลาง ก็เลิกใช้ไป แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จวบจนปัจจุบัน[ 11]
ในภาษาอังกฤษ เคยเรียกจักรพรรดิญี่ปุ่นว่า "มิกาโดะ" (御門) แปลตรงตัวว่า "ประตูอันทรงเกียรติ" (honorable gate) หมายถึง ประตูพระราชวัง[ 12]
นับแต่สมัยจักรพรรดิเมจิ มีธรรมเนียมตั้งชื่อรัชศก สำหรับจักรพรรดิแต่ละพระองค์ และเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว จะเรียกขานพระองค์ด้วยชื่อรัชศก เช่น จักรพรรดิอากิฮิโตะ มีชื่อรัชศกว่า "เฮเซ" และเป็นที่คาดหมายว่า เมื่อสวรรคตแล้ว พระนามจะเปลี่ยนไปเป็น "จักรพรรดิเฮเซ"
ทรัพย์สิน
เดิมเชื่อกันจนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองว่า จักรพรรดิญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก[ 13] กฎหมายพระราชทรัพย์ (Imperial Property Law) ที่มีผลใช้บังคับในเดือนมกราคม ค.ศ. 1911 แยกพระราชทรัพย์ของจักรพรรดิออกเป็นสองประเภท คือ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (crown estate) กับทรัพย์สินส่วนพระองค์ (personal property) และให้เสนาบดีกระทรวงวัง (Imperial Household Minister) รับผิดชอบคดีความเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ กฎหมายดังกล่าวยังให้เก็บภาษีจากพระราชทรัพย์ได้ตราบที่ไม่มีบทบัญญัติว่าไว้เป็นอื่น และให้นำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกใช้เพื่อกิจการสาธารณะหรือกิจการที่ได้รับพระราชานุญาตได้ ส่วนพระราชทรัพย์ของพระราชวงศ์ เช่น จักรพรรดินีม่าย, จักรพรรดินี, มกุฏราชกุมาร, มกุฏราชกุมารี, ราชนัดดา, และคู่ครองของราชนัดดา ได้รับการยกเว้นภาษี[ 14] ดังนั้น เมื่อประสบปัญหาทางการเงินใน ค.ศ. 1921 ราชวงศ์จึงขายที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ 289,259.25 เอเคอร์ (ร้อยละ 26 ของทั้งหมด) ไปให้เอกชน หรือโอนให้รัฐบาล ต่อมาใน ค.ศ. 1930 ยังบริจาคปราสาทนาโงยะ ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมขายและบริจาคพระตำหนักอีกหกหลังออกไปจากความครอบครองของราชวงศ์[ 14] ครั้น ค.ศ. 1939 มีการบริจาคปราสาทนิโจ ที่พำนักเก่าของโชกุนตระกูลโทกูงาวะ ในเคียวโตะ ให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นกัน
ปลาย ค.ศ. 1935 รัฐบาลคำนวณว่า ที่ดินในกรรมสิทธิ์ของราชสำนักถือมีราว 3,111,965 เอเคอร์ โดย 2,599,548 เอเคอร์เป็นที่ดินส่วนพระองค์ของจักรพรรดิ และราว 512,161 เอเคอร์เป็นที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ดินทำนองนี้ประกอบด้วย หมู่พระราชวัง, ป่า, ไร่, และสถานที่ใช้ประทับหรือใช้เพื่อการพาณิชย์ จึงประเมินมูลค่าพระราชทรัพย์ประเภทที่ดินทั้งหมดไว้ที่ 650 ล้านเยน (195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)[ 14] [ 15] ส่วนทรัพย์สินส่วนพระองค์ในรูปมรดก, เครื่องเรือน, ปศุสัตว์สายพันธุ์แท้, และการลงทุนในหน่วยงานใหญ่ เช่น ธนาคารแห่งญี่ปุ่น, บรรษัทโรงแรมหลวง , และบรรษัทนิปปงยูเซ็ง มีมูลค่ารวมหลายร้อยล้านเยน[ 14]
เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง เกิดการปฏิรูปรัฐธรรมนูญซึ่งบีบให้ราชวงศ์ขายสินทรัพย์ให้แก่เอกชนหรือรัฐบาล เจ้าหน้าที่ในราชสำนักก็ตัดจำนวนลงจากราว 6,000 คนเป็นประมาณ 1,000 คน ส่วนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งประเมินไว้ที่ 17.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก็โอนไปยังเอกชนหรือรัฐบาล เหลือไว้แต่ที่ดินเพียง 6,810 เอเคอร์ ส่วนค่าใช้จ่ายของราชวงศ์นั้น รัฐบาลจะอนุมัติงบสนับสนุนเป็นรายปี[ 16]
ใน ค.ศ. 2017 มีการประเมินว่า จักรพรรดิอากิฮิโตะมีพระราชทรัพย์เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[ 17] แต่มูลค่าที่แท้จริงของพระราชทรัพย์และค่าใช้จ่ายของจักรพรรดิและราชวงศ์นั้นไม่ทราบแน่ชัด เพราะปกปิดจากสาธารณะมาตั้งแต่ ค.ศ. 2003 หลังเกิดกรณีที่นักข่าวของ ไมนิจิชิมบุง นาม โมริ โยเฮ (Mori Yohei) ไปได้เอกสารราชการ 200 ฉบับ แล้วนำมาเขียนเป็นหนังสือเปิดเผยรายละเอียดของเงินปีที่รัฐบาลอนุมัติให้ราชวงศ์ โดยระบุว่า เงินปีสำหรับ ค.ศ. 2003 อยู่ที่ 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[ 18] ทั้งยังเปิดเผยว่า ราชวงศ์จ้างคนมาใช้งานเป็นเจ้าหน้าที่มากกว่า 1,000 คน นอกเหนือไปจากข้อมูลอื่น ๆ[ 19]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
↑ "日本国憲法" . Japanese Law Translation Database System (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Ministry of Justice, Japan. 2009-04-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2019-05-11 . 第一条 天皇は、日本国の象徴であり日本国民統合の象徴であつて、この地位は、主権の存する日本国民の総意に基く。
↑ "Japan desperate for male heir to oldest monarchy" . London: independent.co.uk. March 1, 1996. สืบค้นเมื่อ June 5, 2010 .
↑ Kinsley, David (1989). The goddesses' mirror : visions of the divine from East and West . Albany: State University of New York Press. pp. 80 –90. ISBN 9780887068355 .
↑ "Amaterasu" . Ancient History Encyclopedia . สืบค้นเมื่อ 21 October 2017 .
↑ "日本国憲法" . Japanese Law Translation Database System (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Ministry of Justice, Japan. 2009-04-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2019-05-11 . 第六十五条 行政権は、内閣に属する。第六十六条 内閣は、法律の定めるところにより、その首長たる内閣総理大臣及びその他の国務大臣でこれを組織する。
↑ "日本国憲法" . Japanese Law Translation Database System (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Ministry of Justice, Japan. 2009-04-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2019-05-11 . 第四条 天皇は、この憲法の定める国事に関する行為のみを行ひ、国政に関する権能を有しない。
↑ "日本国憲法" . Japanese Law Translation Database System (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Ministry of Justice, Japan. 2009-04-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2019-05-11 . 第三条 天皇の国事に関するすべての行為には、内閣の助言と承認を必要とし、内閣が、その責任を負ふ。
↑ "日本国憲法" . Japanese Law Translation Database System (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Ministry of Justice, Japan. 2009-04-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2019-05-11 . 第六条 天皇は、国会の指名に基いて、内閣総理大臣を任命する。天皇は、内閣の指名に基いて、最高裁判所の長たる裁判官を任命する。
↑ "日本国憲法" . Japanese Law Translation Database System (ภาษาญี่ปุ่น). Tokyo: Ministry of Justice, Japan. 2009-04-01. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2021-05-06. สืบค้นเมื่อ 2019-05-11 . 第七条 天皇は、内閣の助言と承認により、国民のために、左の国事に関する行為を行ふ。一 憲法改正、法律、政令及び条約を公布すること。二 国会を召集すること。三 衆議院を解散すること。四 国会議員の総選挙の施行を公示すること。五 国務大臣及び法律の定めるその他の官吏の任免並びに全権委任状及び大使及び公使の信任状を認証すること。六 大赦、特赦、減刑、刑の執行の免除及び復権を認証すること。七 栄典を授与すること。八 批准書及び法律の定めるその他の外交文書を認証すること。九 外国の大使及び公使を接受すること。十 儀式を行ふこと。
↑ The formal investiture of the Prime Minister in 2010 , the opening of the ordinary session of the Diet in January 2012 and the opening of an extra session of the Diet in the autumn of 2011. The 120th anniversary of the Diet was commemorarated with a special ceremony in the House of Councillors in November 2010, when also the Empress and the Prince and Princess Akishino were present.
↑ Screech, (2006). Secret Memoirs of the Shoguns: Isaac Titsingh and Japan, 1779–1822, p. 232 n4.
↑ Kanʼichi Asakawa. The early institutional life of Japan: a study in the reform of 645 A.D. . Tokyo: Shueisha (1903), p. 25. "We purposely avoid, in spite of its wide usage in foreign literature, the misleading term Mikado . If it be not for the natural curiosity of the races, which always seeks something novel and loves to call foreign things by foreign names, it is hard to understand why this obsolete and ambiguous word should so sedulously be retained. It originally meant not only the Sovereign, but also his house, the court, and even the State, and its use in historical writings causes many difficulties which it is unnecessary to discuss here in detail. The native Japanese employ the term neither in speech nor in writing. It might as well be dismissed with great advantage from sober literature as it has been for the official documents."
↑ "Legacy of Hirohito". The Times . 3 May 1989.
↑ 14.0 14.1 14.2 14.3 "Japan – The Imperial Court". The Japan-Manchoukuo Year Book . The Japan-Manchoukuo Year Book Co. 1938. pp. 50–51.
↑ pp. 332–333, "Exchange and Interest Rates", Japan Year Book 1938–1939 , Kenkyusha Press, Foreign Association of Japan, Tokyo
↑ Reed, Christopher (5 October 1971). "Few personal possessions for reigning monarch". The Times .
↑ "Akihito Net Worth 2017: How Rich Is Japanese Emperor As Parliament Passed Historic Law For His Abdication" . The International Business Times . June 9, 2017. สืบค้นเมื่อ May 27, 2018 .
↑ "British Pound to US Dollar Spot Exchange Rates for 2003 from the Bank of England" . PoundSterling Live . สืบค้นเมื่อ May 27, 2018 .
↑ "Book lifts the lid on Emperor's high living" . The Daily Telegraph . 7 September 2003. สืบค้นเมื่อ May 27, 2018 .
ประเภท ประเทศ / ดินแดน
ทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ทวีปยุโรป ทวีปโอเชียเนีย ทวีปอเมริกา
ผู้นำรัฐและรัฐบาลของเอเชีย
ประมุขแห่งรัฐ
รัฐสมาชิกสหประชาชาติ และรัฐผู้สังเกตการณ์ รัฐที่ได้รับการยอมรับ แบบจำกัด
หัวหน้ารัฐบาล
รัฐสมาชิกสหประชาชาติ และรัฐผู้สังเกตการณ์ รัฐที่ได้รับการยอมรับ แบบจำกัด
ผู้นำสูงสุด 1 พื้นที่บางส่วนหรือทั้งหมดอยู่ในทวีปเอเชีย ขึ้นอยู่กับการจำแนก