ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา

ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา
ส่วนหนึ่งของ แนวรบด้านตะวันออก ในสงครามโลกครั้งที่สอง

ทหารเยอรมันในสหภาพโซเวียตระหว่างปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา
วันที่22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 – 5 ธันวาคม ค.ศ. 1941
สถานที่
ผล ฝ่ายอักษะล้มเหลวทางยุทธศาสตร์
คู่สงคราม

นาซีเยอรมนี นาซีเยอรมนี
ราชอาณาจักรโรมาเนีย
อิตาลี
ฮังการี
สโลวาเกีย
รัฐเอกราชโครเอเชีย


ฟินแลนด์
สหภาพโซเวียต สหภาพโซเวียต
ผู้บังคับบัญชาและผู้นำ

นาซีเยอรมนี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
นาซีเยอรมนี วัลเทอร์ ฟอน เบราชิทช์
นาซีเยอรมนี วิลเฮ็ล์ม ริทเทอร์ ฟ็อน เลพ
นาซีเยอรมนี ฟรันซ์ ฮัลเดอร์
นาซีเยอรมนี เฟดอร์ ฟอน บอค
นาซีเยอรมนี เกอร์ด ฟอน รุนด์ชเทดท์
ราชอาณาจักรโรมาเนีย เอียน อันโตเนสคู

ประเทศฟินแลนด์ กุสตาฟ มันเนอร์เฮม

สหภาพโซเวียต โจเซฟ สตาลิน
สหภาพโซเวียต เกออร์กี จูคอฟ
สหภาพโซเวียต อะเลคซันดร์ วาซีเลฟสกี
สหภาพโซเวียต เซมิออน บูดิออนนืย
สหภาพโซเวียต คลีเมนต์ โวโรชีลอฟ
สหภาพโซเวียต เซมิออน ตีโมเชนโค
สหภาพโซเวียต มาร์เคียน โปปอฟ
สหภาพโซเวียต ฟิโอดอร์ คุซเนตซอฟ
สหภาพโซเวียต ดมีตรี ปัฟลอฟ โทษประหารชีวิต
สหภาพโซเวียต อีวาน ตูย์เลเนฟ

สหภาพโซเวียต มีฮาอิล คีร์โปนอส 
กำลัง
ทหารราบ ~3,900,000 นาย
รถถัง 3,600 คัน
เครื่องบิน 4,389 ลำ[1]
ทหารราบ ~3,200,000 นาย (ในภายหลังเพิ่มขึ้นเป็น 5,000,000+ นาย)
รถถัง 12,000-15,000 คัน
เครื่องบิน 35,000-40,000 ลำ (แต่ใช้งานได้จริงเพียง 11,357 ลำ[2])
ความสูญเสีย
ทหารสูญเสียทั้งหมด ~918,000 นาย[3]
รถถัง 2,758 คัน
เครื่องบิน 2,093 ลำ[4]
ทหารเสียชีวิต 802,191 นาย[5]
ทหารสูญเสียทั้งหมด 3,000,000 นาย
ถูกจับเป็นเชลย 3,300,000 นาย[6][7]
รถถัง 20,500 คัน
เครื่องบิน 21,200 ลำ[8][9]

ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา (เยอรมัน: Unternehmen Barbarossa, อังกฤษ: Operation Barbarossa, รัสเซีย: Операция Барбарросса) เป็นรหัสนามสำหรับการบุกครองสหภาพโซเวียตของฝ่ายอักษะ ซึ่งเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1941 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ปฏิบัติการดังกล่าวได้นำไปสู่การกระทำเพื่อเป้าหมายทางด้านอุดมการณ์ของนาซีเยอรมนีในการพิชิตดินแดนสหภาพโซเวียตทางด้านตะวันตกเพื่อที่จะสร้างพื้นที่อยู่อาศัยใหม่ให้กับชาวเยอรมัน เกเนอราลพลานอ็อสท์ของเยอรมันนั้นมีเป้าหมายที่จะใช้ประชากรที่พิชิตมาได้บางส่วนมาเป็นแรงงานเกณฑ์สำหรับความพยายามทำสงครามของฝ่ายอักษะ ในขณะที่ได้เข้ายึดแหล่งบ่อน้ำมันสำรองบนเทือกเขาคอเคซัส รวมทั้งทรัพยากรทางเกษตรกรรมของดินแดนต่าง ๆ ของโซเวียต เป้าหมายสูงสุดของพวกเขา รวมถึงท้ายที่สุดแล้ว ได้ทำการกวาดล้าง การถูกทำให้เป็นทาส การถูกทำให้เป็นเยอรมัน และการเนรเทศต่อชาวสลาฟจำนวนมากมายไปยังไซบีเรีย และเพื่อสร้างเลเบินส์เราม์(พื้นที่อยู่อาศัย) สำหรับเยอรมนี[10][11]

ในช่วงสองปีที่นำไปสู่การบุกครอง เยอรมนีและสหภาพโซเวียตได้ลงนามในสนธิสัญญาทางการเมืองและเศรษฐกิจเพื่อเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ อย่างไรก็ตาม กองบัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์(OKW) ได้เริ่มวางแผนการบุกครองสหภาพโซเวียตในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1940 (ภายใต้รหัสนามว่า ปฏิบัติการอ็อทโท) ซึ่งอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ได้มอบอำนาจ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1940 ในช่วงระหว่างปฏิบัติการดังกล่าว จำนวนกำลังพลประมาณสามล้านนายของฝ่ายอักษะ ซึ่งเป็นกองกำลังรุกรานที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาตร์สงคราม การบุกครองดินแดนสหภาพโซเวียตทางด้านตะวันตกตามแนวรบระยะทางประมาณ 2,900 กิโลเมตร (1,800 ไมล์) ด้วยยานยนต์ 600,000 คัน และจำนวนม้ากว่า 600,000 ตัว สำหรับปฏิบัติการที่ไม่ใช่การสู้รบ การบุกครองดังกล่าวได้ขยายตัวอย่างมากในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งในทางด้านภูมิศาสตร์และในการก่อตัวของแนวร่วมฝ่ายสัมพันธมิตร รวมทั้งสหภาพโซเวียต

ปฏิบัติการนี้ได้เปิดฉากแนวรบด้านตะวันออก ซึ่งมีกองกำลังมากมายที่เข้าร่วมมากกว่าในเขตสงครามอื่น ๆ ในประวัติศาสตร์ พื้นที่ดังกล่าวได้มีการพบเห็นถึงการสู้รบขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดูโหดร้ายและน่าสะพรึงกลัวที่สุด และมีการบาดเจ็บล้มตายสูงสุด (สำหรับกองกำลังฝ่ายโซเวียตและกองกำลังฝ่ายอักษะ) ซึ่งทั้งหมดนี้มีอิทธิพลต่อสงครามโลกครั้งที่สองและประวัติศาสตร์ในภายหลังของทศวรรษที่ 20 ในที่สุด กองทัพเยอรมันได้จับกุมกองกำลังทหารของกองทัพแดงโซเวียตได้ราวประมาณห้าล้านนาย[12] ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เคยกลับมามีชีวิตอีกเลย พวกนาซีได้จงใจให้อดอาหารหรือไม่ก็สังหารต่อเชลยศึกจำนวน 3.3 ล้านนายและพลเรือนอีกจำนวนมาก ด้วย"แผนความหิว" ซึ่งถูกใช้งานเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนอาหารของเยอรมันและกำจัดประชากรชาวสลาฟด้วยทุกขภิกภัย[13] มีการยิงเป้าและปฏิบัติการรมแก๊สจำนวนมากโดยพวกนาซี หรือผู้ให้ความร่วมมือด้วยความเต็มใจ[a] ได้ทำการสังหารชาวโซเวียตเชื้อสายยิวจำนวนกว่าล้านคน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฮอโลคอสต์[15]

ด้วยความล้มเหลวของปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ทำให้โชคชะตาของไรช์ที่สามต้องกลับตาลปัตร[16] ในทางปฏิบัติ กองทัพเยอรมันได้รับชัยชนะครั้งสำคัญและเข้ายึดครองพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดบางแห่งชองสหภาพโซเวียต (ส่วนใหญ่อยู่ในยูเครน) และได้รับความเสียหาย เช่นเดียวกับการบาดเจ็บล้มตายอย่างต่อเนื่อง แม้จะประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ฝ่ายรุกของเยอรมันต้องหยุดชะงักลงในยุทธการที่มอสโก เมื่อปลายปี ค.ศ. 1941 และตามมาด้วยการโจมตีตอบโต้กลับในฤดูหนาวของโซเวียตได้ผลักดันให้กองทหารเยอรมันกลับไป เยอรมันได้คาดหวังอย่างมั่นอกมั่นใจว่า การต่อต้านของโซเวียตจะพังทลายลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับในโปแลนด์ แต่กองทัพแดงได้ซึมซับการโจมตีที่รุนแรงที่สุดของกองทัพแวร์มัคท์ และจมปลักอยู่ในสงครามพร่ากำลัง ซึ่งเยอรมันไม่ได้เตรียมการมาก่อนเลย กองทัพที่ดูลิดรอนของแวร์มัคท์ไม่สามารถโจมตีตามแนวรบด้านตะวันออกทั้งหมดได้อีกต่อไป และตามมาด้วยปฏิบัติการเพื่อการรุกเข้ายึดกลับคืนและรุกเข้าไปลึก ๆ ในดินแดนโซเวียต เช่น กรณีสีน้ำเงิน ในปี ค.ศ. 1942 และปฏิบัติการซิทาเดลในปี ค.ศ. 1943 จนในที่สุดก็ต้องล้มเหลวซึ่งส่งผลทำให้แวร์มัคท์ต้องล่าถอยและพังทลายลง

เจตนาของเยอรมนี

ทฤษฎีของนาซีที่มีต่อสหภาพโซเวียต

ในปี ค.ศ. 1925 ฮิตเลอร์ได้เขียนเจตนาของเขาในการรุกรานสหภาพโซเวียตไว้อย่างชัดเจนใน ไมน์คัมพฟ์ (เยอรมัน: Mein Kampf; การต่อสู้ของข้าพเจ้า) โดยระบุถึงความเชื่อของเขาที่ว่าชาวเยอรมันเป็นชนที่พึงได้พื้นที่อยู่อาศัย (เยอรมัน: Lebensraum; อาทิเช่นที่ดิน ทรัพยากรและวัตถุดิบ) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นควรเสาะแสวงหาในดินแดนตะวันออก อีกทั้งนโยบายทางเชื้อชาติของนาซียังระบุว่าเชื้อชาติสลาฟเป็นเชื้อชาติที่ต่ำกว่ามนุษย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ "ยิวบอลเชวิค" ในหนังสือไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ยังเขียนไว้อีกว่าชะตากรรมของเยอรมนีคือการมุ่งสู่ตะวันออก อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหกร้อยปีก่อนหน้านั้น และ "เพื่อยุติการปกครองของชาวยิวในรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการยุติความเป็นรัฐของรัสเซียลงไปด้วย" หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้กล่าวถึงการต่อสู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับ "แนวคิดรวมเชื้อชาติสลาฟ" และชัยชนะที่ได้จะนำไปสู่ "ความเป็นเจ้าโลกนิรันดร" แม้ก่อนหน้านั้น ฮิตเลอร์จะเคยกล่าวว่า "เราจะต้องเดินทางเดียวกับพวกรัสเซีย ถ้านั่นเป็นประโยชน์ต่อเรา" ฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลนาซี คือ สั่งฆ่า เนรเทศ หรือจับชาวรัสเซียหรือชาวสลาฟเป็นทาส และให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเยอรมันแทน

ความสัมพันธ์เยอรมนี-โซเวียต ระหว่างปี 1939-1940

ภูมิรัฐศาสตร์ยุโรปในปี ค.ศ. 1941 ทันทีที่เริ่มปฏิบัติการปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา พื้นที่สีเทาคือนาซีเยอรมนี, แนวร่วม, และประเทศที่อยู่ภายใต้การควบคุม

สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอปได้รับการลงนามไม่นานก่อนหน้าการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนีและสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสนธิสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ทว่าได้มีข้อตกลงลับระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตว่าจะแบ่งเขตอิทธิพลของทั้งสองชาติ สนธิสัญญาดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับโลกเนื่องจากความเป็นอริดั้งเดิมของทั้งสองฝ่าย รวมถึงอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามเมื่อสนธิสัญญาได้รับการลงนามแล้ว ทั้งนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเหนียวแน่น โดยที่สหภาพโซเวียตเป็นผู้ส่งน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับเยอรมนี ซึ่งช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ ในขณะที่เยอรมนีก็ส่งมอบเทคโนโลยีทางการทหารให้กับสหภาพโซเวียต แต่ทว่าทั้งสองฝ่ายก็ยังคงความคลางแคลงในเจตนาของอีกฝ่าย หลังจากเยอรมนีได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะร่วมกับอิตาลีและญี่ปุ่น เยอรมนีได้เจรจาเชิญชวนให้สหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิกด้วย หลังจากการเจรจานานสองวันในกรุงเบอร์ลินระหว่างวันที่ 12–14 พฤศจิกายน เยอรมนีได้ส่งข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่สหภาพโซเวียตเพื่อเชิญชวน ทางด้านสหภาพโซเวียตได้ส่งข้อเสนอของตนกลับมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 แต่ไร้ท่าทีตอบสนองจากเยอรมนี เนื่องจากความเป็นอริต่อกันของทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกที และเมื่อเกิดข้อพิพาทที่ขัดแย้งกันขึ้นในยุโรปตะวันออก จึงเป็นผลให้การปะทะกันทางทหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนการรุกรานของเยอรมนี

การกระทำของสตาลินได้ทำให้นาซีเยอรมนีใช้อ้างเหตุผลเพื่อเตรียมการรุกรานและเพิ่มความเชื่อมั่นในความสำเร็จ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 สตาลินได้สั่งประหารและคุมขังประชาชนจำนวนหลายล้านคนระหว่างการกวาดล้างครั้งใหญ่ ซึ่งผู้ที่ถูกสั่งประหารและคุมขังนั้นได้รวมไปถึงบุคลากรทางทหารที่มีความสามารถ ทำให้กองทัพแดงอ่อนแอและขาดผู้นำ พรรคนาซียังได้ใช้ความโหดร้ายดังกล่าวในการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวหาว่า กองทัพแดงเตรียมการที่จะรุกรานเยอรมนี และการรุกรานของเยอรมนีนั้นเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว

ระหว่างช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1940 เมื่อปริมาณวัตถุดิบของเยอรมนีตกอยู่ในสภาวะวิกฤต และขีดความสามารถในการรุกรานสหภาพโซเวียตเหนือดินแดนคาบสมุทรบอลข่านมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงมีความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการรุกรานสหภาพโซเวียต แต่ในขณะนั้น ฝ่ายเยอรมนียังไม่มีแผนการที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ฮิตเลอร์ได้กล่าวแก่นายพลของเขาในเดือนมิถุนายนถึงชัยชนะในยุโรปตะวันตกว่า "เป็นการเตรียมการต่อเป้าหมายสำคัญที่แท้จริง นั่นคือ การจัดการกับพวกบอลเชวิค" แต่นายพลของเขาได้แย้งว่าการยึดครองสหภาพโซเวียตภาคพื้นยุโรปจะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองมากกว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ฮิตเลอร์ได้คาดหวังผลประโยชน์หลายประการที่จะได้หลังจากการเอาชนะสหภาพโซเวียตไว้ว่า:

  • เมื่อสหภาพโซเวียตพ่ายแพ้แล้ว จะทำให้สามารถปลดประจำการทหารส่วนใหญ่ในกองทัพเพื่อนำไปแก้ปัญหาการขาดแรงงานของเยอรมนีในขณะนั้น เนื่องจากเมื่อการรบสำคัญสิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่ต้องการทหารจำนวนมากอีกต่อไป
  • ยูเครนจะกลายเป็นแหล่งอาหารราคาถูกที่อุดมสมบูรณ์ให้กับชาวเยอรมัน เนื่องจากมีความเหมาะสมต่อเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง
  • เนื่องจากสหภาพโซเวียตมีประชากรมากมาย ทำให้ฮิตเลอร์มองโซเวียตเป็นแหล่งแรงงานทาสราคาถูกซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางภูมิยุทธศาสตร์ให้กับประเทศเยอรมนีอย่างมาก
  • ความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตจะยิ่งทำให้จักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งกำลังจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก
  • สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำมันบากู เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจได้

ในวันที่ 5 ธันวาคม ฮิตเลอร์ได้รับทราบแผนการรุกรานที่เป็นไปได้ และอนุมัติแผนการทั้งหมด ต่อมา ในวันที่ 18 ธันวาคม ฮิตเลอร์ได้ลงนามในคำสั่งสงครามหมายเลข 21 ไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีในเรื่องปฏิบัติการซึ่งตั้งชื่อว่า "บาร์บาร็อสซา" กล่าวว่า "กองทัพเยอรมันต้องพร้อมที่จะบดขยี้สหภาพโซเวียตได้อย่างรวดเร็ว" โดยแผนการรุกรานถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ส่วนทางด้านสหภาพโซเวียต สตาลินได้กล่าวแก่นายพลของเขาว่า จากที่ฮิตเลอร์ได้กล่าวถึงการรุกรานสหภาพโซเวียตใน ไมน์คัมพฟ์ กองทัพแดงจะต้องพร้อมที่จะตั้งรับการรุกรานจากเยอรมนี และพูดว่า ฮิตเลอร์คิดว่ากองทัพแดงจะต้องใช้เวลาเตรียมการนานถึงสี่ปี แต่เราจะต้องพร้อมได้เร็วกว่านั้นและเราคิดจะยืดเวลาของสงครามได้นานออกไปอีกสองปี

ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1940 นายทหารระดับสูงของกองทัพเยอรมันได้ร่างบันทึกซึ่งกล่าวถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นภายหลังการรุกรานสหภาพโซเวียต รวมไปถึงความคิดที่ว่ายูเครน เบโลรุสเซียและรัฐแถบบอลติกจะเป็นภาระใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจต่อเยอรมนี ส่วนนายทหารอีกพวกหนึ่งได้แย้งว่าระบบรัฐการของโซเวียตจะไม่ได้รับผลกระทบ และการยึดครองดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อเยอรมนี รวมไปถึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องเข้าไปเกี่ยวยุ่งกับพวกบอลเชวิคด้วย ฮิตเลอร์ปฏิเสธความคิดเห็นทั้งหมด รวมไปถึงนายพลจอร์จ โธมัส ซึ่งกำลังเตรียมการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่ลบที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการรุกรานสหภาพโซเวียต

ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซาส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากความคิดของฮิตเลอร์แต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่บุคลากรทางทหารและสมาชิกในพรรคนาซีแนะนำว่าเขาควรที่จะจัดการกับเกาะบริเตนให้เสร็จสิ้นไปก่อน แล้วจึงค่อยเปิดการโจมตีสหภาพโซเวียตในแนวหน้าตะวันออก แต่ส่วนใหญ่เหล่านายพลของฮิตเลอร์ก็เห็นด้วยกับฮิตเลอร์ว่าการบุกโซเวียตนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง ในตอนนั้นฮิตเลอร์พิจารณาแล้วว่าตนเองนั้นเป็นอัจฉริยะทางการทหารและการเมือง และเป็นที่แน่ชัดว่าในขณะนั้นเขาได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วในแทบทุกประเทศที่เขาโจมตี (ยกเว้นเกาะบริเตนที่ยังสามารถยันการโจมตีของเยอรมันได้อยู่) ทั้ง ๆ ที่ก่อนการโจมตี โอกาสที่เขาจะชนะนั้นมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามเขาละเลยคำแนะนำของผู้บัญชาการกองทัพเยอรมัน ซึ่งเกิดมาจากความไม่ยั้งคิดและความยินดีที่จะเสี่ยง ประสมกับระเบียบวินัยของทหารของเขาและยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบ ทำให้เขาสามารถเอาชนะซูเดเทนแลนด์ ออสเตรีย และเชโกสโลวาเกียอย่างง่ายดาย จากนั้นเขาก็สามารถเอาชนะประเทศโปแลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ได้โดยประสบกับปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นเขาก็ยังสามารถทำลายกองทัพของฝรั่งเศสได้อย่างรวดเร็วโดยการบุกผ่านลักเซมเบิร์กซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของแนวมายิโนต์ (Maginot Line) และทำการปิดล้อมกองกำลังสัมพันธมิตร แล้วกองทัพของเขาจึงมุ่งหน้าไปทางใต้ไปยังชายแดนสวิส ต่อมากองกำลังสัมพันธมิตรสามารถโจมตีฝ่าส่วนปิดล้อมด้านเหนือออกมาได้ แต่ก็ถูกต้อนไปยังเมืองดันเคิร์ก และจนมุมโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งกองทัพบริเตนกู้ภัยออกมาได้ ซึ่งทำให้ตอนนี้ผืนดินในภูมิภาคยุโรปตะวันตกเป็นของฮิตเลอร์โดยสิ้นเชิง แต่กองทัพของเขาไม่สามารถบุกข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังเกาะบริเตนได้ในทันทีเนื่องจากความเหนือกว่าของอังกฤษในด้านการรบทางทะเล และมีอำนาจเท่าเทียมกันทางอากาศ ซึ่งข้อได้เปรียบดังกล่าวของอังกฤษทำให้ยังไม่ยอมจำนนโดยง่าย แม้ว่าจะต้องยันกับเยอรมัน โดยไม่สามารถตอบโต้กลับได้ก็ตาม เมื่อความด้อยกว่าของกองทัพเรือเยอรมันในด้านกองกำลังทางทะเล และไร้ความได้เปรียบในด้านกองกำลังทางอากาศ ทำให้การบุกมิอาจทำได้ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ฮิตเลอร์หมดความอดทน และในขณะเดียวกันความต้องการในการบุกโซเวียตนั้นมีมากกว่าการบุกเกาะบริเตน (เนื่องจากฮิตเลอร์เชื่อว่าชาวอังกฤษเป็นเผ่าพันธุ์ที่เท่าเทียมกับเผ่าพันธุ์อารยัน) ทำให้ฮิตเลอร์โน้มน้าวบุคลากรของเขาว่ารัฐบาลบริเตนจะต้องพยายามสงบศึกกับเยอรมันแน่นอนเมื่อสหภาพโซเวียตถูกล้มไปแล้ว โดยเขากล่าวว่า:

"เราเพียงแค่ต้องถีบประตูลงมา แล้วอาคารที่เสื่อมโทรมทั้งอาคารก็จะถล่มลงมาด้วย"

แต่ฮิตเลอร์นั้นมั่นใจเกินไปจากการที่เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการรบในยุโรปตะวันตก อีกทั้งยังสบประมาทความสามารถของโซเวียตที่จะสู้รบในสงครามนอกฤดูหนาว ทำให้เขาเชื่อว่าการรบจะจบลงก่อนฤดูหนาวในรัสเซีย และไม่ได้สั่งการให้เตรียมเสบียงเสื้อผ้ากันความหนาวเย็นให้กับทหาร ซึ่งจะส่งผลรุนแรงในเวลาต่อมา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์หวังไว้ว่าเมื่อเขาเอาชนะกองทัพแดงได้แล้ว รัฐบาลอังกฤษจะต้องเจรจาขอสงบศึกกับนาซีเยอรมนีอย่างแน่นอน

การเตรียมตัวของฝ่ายเยอรมัน

ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้เคลื่อนพลจำนวนสามล้านสองแสนนายไปยังชายแดนหน้าสหภาพโซเวียตเพื่อเตรียมตัวในการโจมตี, สั่งให้เริ่มปฏิบัติการณ์สอดแนมทางอากาศเหนือน่านฟ้าของโซเวียต และยังสั่งให้กักตุนเสบียงเป็นจำนวนมากในโปแลนด์ที่เยอรมนีได้มา กระนั้นการบุกสหภาพโซเวียตก็ยังเป็นที่แปลกใจสำหรับฝ่ายโซเวียตอย่างมาก ซึ่งความแปลกใจนี้ส่วนใหญ่มาจากความเชื่อที่มั่นคงของสตาลินว่าอาณาจักรไรค์ที่สามไม่น่าที่จะโจมตีประเทศของตนหลังจากที่เพิ่งเซ็นกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพมาได้เพียงสองปีเท่านั้น สตาลินยังเชื่อด้วยว่ากองทัพนาซีคงจะจัดการสงครามกับเกาะบริเตนให้เสร็จเสียก่อนถึงจะเปิดสมรภูมิรบใหม่กับตน แม้ว่าจะมีคำเตือนหลายครั้งหลายคราวมาจากหน่วยข่าวกรองของเขา สตาลินก็ยังปฏิเสธที่จะเชื่อการรายงานทั้งหมด โดยเกรงว่าข้อมูลดังกล่าวอาจเป็นการปล่อยข่าวโคมลอยจากกองทัพอังกฤษ เพื่อที่จะจุดชนวนสงครามระหว่างนาซีและโซเวียต อีกทั้งการที่รัฐบาลเยอรมันออกมาช่วยทำการลวงสตาลิน โดยกล่าวว่า พวกเขาแค่กำลังเคลื่อนกำลังทหารให้ออกมานอกระยะของเครื่องบินทิ้งระเบิดของอังกฤษ และยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าพวกเขาพยายามจะหลอกรัฐบาลอังกฤษให้เชื่อว่ากองทัพนาซีกำลังจะบุกสหภาพโซเวียตอีกด้วย แต่ตามจริงพวกเขากำลังเตรียมตัวในการบุกเกาะบริเตนอยู่ต่างหาก และหลังจากเหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่สตาลินได้รู้ ทำให้การเตรียมตัวตั้งรับการโจมตีของเยอรมนีเป็นไปอย่างไม่จริงจัง อย่างไรก็ตาม ควรสังเกตกรณีที่ ดร. ริชาร์ด ซอร์จ สายลับของโซเวียต ได้ให้ข้อมูลที่กล่าวถึงวันที่เยอรมนีจะบุกโซเวียตได้อย่างถูกต้อง รวมถึงอาร์น บัวร์ลิง นักถอดรหัสชาวสวีเดนที่ทราบวันที่เยอรมนีจะบุกก่อนที่โซเวียตจะทราบอีกด้วย

ปฏิบัติการณ์ลวงของเยอรมนีเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) โดยจุดประสงค์คือเพิ่มมูลความจริงให้ตรงกับคำอ้างของเยอรมนีว่าเกาะบริเตนคือเป้าหมายที่แท้จริง ปฏิบัติการณ์ดังกล่าวคือปฏิบัติการณ์ไฮฟิสก์ และปฏิบัติการณ์ฮาร์พูน โดยทั้งสองปฏิบัติการณ์จำลองว่าการเตรียมตัวบุกเกาะบริเตนเริ่มขึ้นในประเทศนอร์เวย์, ชายฝั่งตามแนวช่องแคบอังกฤษและแคว้นเบรอตาญในฝรั่งเศส ประกอบกับการอ้างเหตุผลเกี่ยวกับการสะสมกำลังดังที่ระบุไว้ข้างต้น รวมถึงการปฏิบัติการณ์ระดมกำลังเรือรบ, ปฏิบัติการณ์สอดแนมทางอากาศและการฝึกซ้อมภาคสนาม ถูกจัดขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นไปอีก โดยแผนการบุกจริง ๆ ถูกจัดขึ้น และปล่อยให้ข้อมูลสามารถรั่วไหลได้บางส่วน

แต่เยอรมันมีปัญหาในการคิดยุทธวิธีที่จะรับประกันว่ากองทัพนาซีจะสามารถยึดสหภาพโซเวียตได้สำเร็จ โดยที่ฮิตเลอร์, กองบัญชาการสูงสุดแห่งเวร์มัคท์ และผู้บัญชาการระดับสูงอีกหลาย ๆ คนมีแนวคิดที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับแผนกลยุทธที่จะใช้ในการโจมตีสหภาพโซเวียต และจุดประสงค์หลักของยุทธการควรเป็นเช่นใด กองบัญชาการกองทัพบกเสนอว่าควรเคลื่อนพลตรงไปยังเมืองหลวงมอสโก แต่ฮิตเลอร์นั้นต้องการที่จะให้กองทัพเคลื่อนทัพไปยังยูเครนที่อุดมสมบูรณ์และดินแดนบริเวณทะเลบอลติกเสียก่อนที่จะเคลื่อนพลไปยึดมอสโก การโต้แย้งที่เกิดขึ้นทำให้แผนการในการส่งกำลังบำรุงต้องหยุดชะงัก และทำให้การบุกล่าช้าไปอีกถึงหนึ่งเดือนกว่า ๆ ตามกำหนดการการบุกในเดือนพฤษภาคม

กลยุทธสุดท้ายที่ฮิตเลอร์และนายพลของเขาร่วมกันวางขึ้นคือการแบ่งกองกำลังออกเป็นสามกลุ่มทัพโดยแต่ละกลุ่มทัพถูกจัดให้ยึดภูมิภาคที่กำหนดไว้รวมถึงเมืองใหญ่ ๆ ในสหภาพโซเวียต เมื่อการบุกสหภาพโซเวียตเริ่มต้นขึ้น จะแบ่งแนวทางการบุกออกเป็นสามทางโดยเคลื่อนพลไปตามเส้นทางที่เคยถูกบุกในประวัติศาสตร์ (อ้างอิงตามการบุกราชอาณาจักรรัสเซียของนโปเลียน โบนาปาร์ต) กลุ่มทัพเหนือถูกมอบหมายให้เคลื่อนพลผ่านดินแดนรอบทะเลบอลติก แล้วจึงเคลื่อนไปยังรัสเซียตอนเหนือ โดยทำการยึดหรือทำลายเมืองเลนินกราด (เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน) อีกด้านหนึ่ง กลุ่มทัพกลางถูกมอบหมายให้มุ่งหน้าตรงไปยังเมืองสโมเลนสค์ แล้วทำการยึดมอสโก โดยต้องทำการเคลื่อนพลผ่านประเทศเบลารุสในปัจจุบันและผ่านภูมิภาคกลางแถบตะวันตกที่สาธารณรัฐสังคมนิยมรัสเซียครอบครองอยู่ และกลุ่มทัพใต้จะต้องเปิดการโจมตีในส่วนที่เป็นใจกลางของยูเครนที่เป็นศูนย์กลางทางเกษตรกรรมและประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น โดยยึดเมืองเคียฟ ก่อนที่จะเคลื่อนพลมุ่งไปทางทิศตะวันออกผ่านทุ่งหญ้าสเตปปส์ในรัสเซียตอนใต้ไปยังแม่น้ำโวลกาและเทือกเขาคอเคซัสที่อุดมไปด้วยน้ำมันดิบ

การเตรียมตัวของฝ่ายโซเวียต

เมื่อสหภาพโซเวียตก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 1940 (พ.ศ. 2483) ในตอนนั้นสหภาพโซเวียตคือชาติมหาอำนาจ จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วของโซเวียตในทศวรรษที่แล้วทำให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของโซเวียตเป็นรองแค่สหรัฐอเมริกา และมีผลผลิตเท่าเทียมกับประเทศเยอรมนี การผลิตยุทโธปกรณ์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างคงที่ โดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีก่อนสงครามโลกครั้งที่สองที่เศรษฐกิจของโซเวียตนั้นถูกกำหนดไปที่การผลิตอุปกรณ์ทางทหารอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากในช่วงต้นทศวรรษที่ 1930 (พ.ศ. 2473–พ.ศ. 2478) หลักการปฏิบัติของกองทัพแดงนั้นถูกพัฒนาให้ทันสมัยยิ่งขึ้นแล้วจึงประกาศให้เป็นหลักปฏิบัติภาคสนามของกองทัพในปี พ.ศ. 2479 (ค.ศ. 1936) จึงทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจดังกล่าวขึ้น

ในปี พ.ศ. 2484 กองกำลังของโซเวียตในภูมิภาคตะวันตกนั้นน้อยกว่ากองกำลังของเยอรมนีมาก อย่างไรก็ตามขนาดโดยรวมของกองกำลังโซเวียตในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2484 นั้นรวมแล้วมีถึงห้าล้านนายกว่า ๆ ซึ่งมีจำนวนมากกว่ากองกำลังภาคพื้นดินของเยอรมนีที่ใช้บุกโซเวียตในยุทธการบาร์บาร็อสซาเสียอีก นอกจากนี้การสะสมกำลังของกองทัพแดงยังแข็งแกร่งขึ้นอย่างคงที่ และยังมีความสามารถในการวางกำลังที่เป็นต่อกว่าเยอรมนีในสมรภูมิตะวันออก แต่ในขณะที่ทั้งสองฝ่ายมีกำลังมากน้อยต่างกันไป จะถูกต้องกว่าที่จะระบุว่าการบุกสหภาพโซเวียตใน พ.ศ. 2484 ของเยอรมนี ทั้งฝ่ายต่อสู้กันโดยใช้กำลังทหารที่ใกล้เคียงกันมากโดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม ในด้านระบบยุทโธปกรณ์ที่สำคัญ ทางฝ่ายโซเวียตนั้นมีอยู่มากทีเดียว อาทิเช่น กองทัพแดงนั้นมีความเหนือกว่าอย่างมากในกองกำลังยานเกราะที่มีรถถังประจำการถึง 24,000 คัน ซึ่งมีถึง 12,782 คันที่ประจำอยู่ในเขตทหารภูมิภาคตะวันตก (ซึ่งมีสามเขตในภูมิภาคที่สามารถปะทะกับกองทัพเยอรมันในสมรภูมิตะวันออก) ส่วนกองทัพบกเวอร์มัคท์ (Wehrmacht) ของเยอรมนีมีรถถังประจำการอยู่ทั้งหมด 5,200 คัน โดยใช้ในการบุกโซเวียต 3,350 คัน นี่ทำให้อัตราส่วนของรถถังที่สามารถใช้ได้ระหว่างเยอรมนีและโซเวียตนั้นเป็น 4 : 1 ซึ่งทำให้กองทัพแดงมีความได้เปรียบที่เหนือกว่า รถถังรุ่น ที-34 ของโซเวียตเป็นรถถังที่ล้ำหน้าที่สุดและทันสมัยที่สุดในเวลานั้น และยังมีรถถังรุ่น BT-8 (ภาษารัสเซีย: Bystrokhodniy หรือรถถังเร็ว) ที่เป็นรถถังที่เร็วที่สุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรถถังเยอรมันแล้ว ตามที่นายทหารข่าวกรองของโซเวียต วิกเตอร์ ซูโวรอฟ (Viktor Suvorov) อ้างว่า รถถังหนักของเยอรมนีรุ่นแรกนั้นเพิ่งถูกออกแบบในวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 (1941) ซึ่งถือว่าล้าหลังกว่าโซเวียตที่เริ่มโครงการออกแบบรถถังหนัก T-35 ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1930) อีกทั้งโซเวียตยังมีจำนวนอาวุธปืนใหญ่ และเครื่องบินรบที่มากกว่าเยอรมนี ซึ่งรวมไปถึงปืนใหญ่สนาม A-19 ที่ว่ากันว่าเป็นปืนใหญ่ที่ดีที่สุดในโลกในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม รถถังรุ่นที่ทันสมัยที่สุดของโซเวียตยังไม่ถูกผลิตในปริมาณมากในช่วงต้นของสงคราม

อีกทั้งความได้เปรียบทางปริมาณของโซเวียตนั้นยังถูกหักล้างด้วยคุณภาพเหนือกว่ามากของเครื่องบินรบเยอรมัน รวมถึงการฝึกฝนกองกำลังเยอรมันที่เหนือกว่าและเตรียมพร้อมมามากกว่า การที่ทหารเจ้าหน้าที่และผู้บัญชาการระดับสูงของโซเวียตถูกกวาดล้างในการกวาดล้างใหญ่ของสตาลิน (พ.ศ. 2478 – พ.ศ. 2481; 1935-38) ยังทำให้นายทหารของกองทัพแดงถึงเกือบหนึ่งในสาม และนายพลแทบทุกคนถูกประหารชีวิต หรือส่งให้ไปประจำการในไซบีเรีย และถูกแทนที่ด้วยนายทหารที่มีแนวโน้มที่ "ไว้ใจได้ทางการเมือง" มากกว่านายทหารที่ถูกกวาดล้าง ซึ่งรวมไปถึงสามในห้าบรรดาจอมพลช่วงก่อนสงครามซึ่งถูกประหารชีวิต ผู้บัญชาการกองพลและกองร้อยประมาณสองในสามถูกจับยิงเป้า การกวาดล้างดังกล่าวจึงทำให้เหลือแต่นายทหารที่อ่อนกว่าและได้รับการฝึกน้อยกว่ามาแทนที่ อย่างเช่นกรณีหนึ่งใน พ.ศ. 2484 (1941) ที่ 75% ของนายทหารของกองทัพแดงได้ดำรงตำแหน่งนานน้อยกว่าหนึ่งปี และอายุโดยเฉลี่ยของผู้บัญชาการกองพลของโซเวียตนั้น น้อยกว่าอายุโดยเฉลี่ยของผู้บัญชาการกองร้อยของเยอรมนีถึง 12 ปี โดยนายทหารเหล่านี้มีทีท่าที่ไม่เต็มใจอย่างยิ่งที่จะริเริ่มในการทำสิ่งใด ๆ และส่วนใหญ่ขาดการฝึกฝนในการบัญชาการ

ในขณะที่สงครามในสมรภูมิทางตะวันตกกำลังดำเนินไป กำลังรบส่วนใหญ่ของโซเวียตยังคงประจำการอยู่เหมือนในยามสงบ ซึ่งอธิบายว่าทำไมบรรดาเครื่องบินรบของโซเวียตถึงได้จอดเรียงกันและใกล้กันเป็นกลุ่ม ๆ มากกว่าที่จะกระจายกันไปตามที่เคยปฏิบัติเป็นปกติในยามสงคราม ด้วยเหตุนั้น จึงทำให้กองเครื่องบินที่จอดอยู่กลายเป็นเป้าโจมตีง่าย ๆ สำหรับเครื่องบินจู่โจมจากอากาศสู่พื้นดินของเยอรมันในวันแรก ๆ ที่เยอรมนีบุกโซเวียต อีกเหตุผลหนึ่งคือการที่กองทัพอากาศโซเวียตถูกสั่งห้ามไม่ให้โจมตีเครื่องบินสอดแนมของเยอรมัน แม้ว่าจะมีเครื่องบินเยอรมันบินอยู่เป็นร้อย ๆ ลำอยู่เหนือน่านฟ้าสหภาพโซเวียตก็ตาม กองเครื่องบินขับไล่ของโซเวียตประกอบไปด้วยเครื่องบินรุ่นล้าสมัยย้อนไปถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเช่นเครื่องบินปีกสองชั้น I-15 และเครื่องบินปีกชั้นเดียวรุ่นแรกของโซเวียต I-16 และเครื่องบินขับไล่รุ่นใหม่กว่าเช่นมิก (MiG) และ LaGG (Lavochkin-Gorbunov-Goudkov) เพียงไม่กี่ลำที่ใช้งานได้ โดยมีเครื่องบินจำนวนไม่มากที่ติดตั้งวิทยุสื่อสารลงไป อีกทั้งวิทยุไม่กี่รุ่นที่มีอยู่นั้นก็ไม่ได้ถูกเข้ารหัสและมีสภาพการใช้งานที่ไม่แน่นอน รวมถึงยุทธวิธีต่อสู้ทางอากาศที่ยังล้าสมัยอยู่

กองทัพแดงแห่งสหภาพโซเวียตกระจัดกระจายกันออกไป, ไม่มีความพร้อมในการทำศึก และมีกองกำลังหน่วยต่าง ๆ ที่อยู่แยกจากกัน โดยไม่มีการลำเลียงไปยังจุดรวมพลเมื่อการรบเกิดขึ้น แม้ว่ากองทัพแดงจะมีปืนใหญ่ชั้นดีจำนวนมาก แต่ปืนส่วนใหญ่กลับไม่มีกระสุน กองปืนใหญ่มักไม่สามารถเข้าสู่การรบได้เพราะไม่มีการลำเลียงพล กองกำลังรถถังนั้นมีขนาดใหญ่และคุณภาพดี แต่ขาดการฝึกและการสนับสนุนทางเสบียง รวมถึงมาตรฐานในการบำรุงรักษายังแย่มาก กองกำลังถูกส่งเข้าสู่การรบโดยไม่มีการจัดการเติมเชื้อเพลิง, สนับสนุนเสบียงกระสุน หรือทดแทนกำลังทหารที่สูญเสียไป โดยมีบ่อยครั้งที่หลังจากการปะทะเพียงครั้งเดียว หน่วยรบถูกทำลายหรือถูกทำให้หมดสภาพ รวมไปถึงความจริงที่ว่ากองทัพโซเวียตกำลังอยู่ในช่วงจัดระบบหน่วยยานเกราะให้กลายเป็นกองพลรถถังยิ่งเพิ่มความไม่เป็นระบบของกองกำลังรถถังมากยิ่งขึ้นไปอีก

แม้ว่าในเอกสารใด ๆ จะระบุว่ากองทัพแดงใน พ.ศ. 2484 อย่างน้อยก็มีกำลังเท่าเทียมกับกองทัพเยอรมัน แต่ผลที่ตามมาในสมรภูมินั้นแตกต่างจากเอกสารมาก ด้วยเหตุที่ว่ากองทัพแดงนั้นประกอบด้วยนายทหารที่ไร้ความสามารถ เช่นเดียวกันกับการขาดแคลนยุทโธปกรณ์, การสนับสนุนเสบียงยานเกราะที่ไม่เพียงพอ และทหารที่ได้รับการฝึกในระดับต่ำ ทำให้กองทัพแดงเสียเปรียบกองทัพเยอรมันอย่างมากเมื่อปะทะกัน ยกตัวอย่างเช่น ตลอดช่วงการบุกสหภาพโซเวียตของเยอรมนี กองทัพแดงจะเสียรถถังหกคันในขณะที่กองทัพเยอรมันเสียเพียงแค่คันเดียว

แต่ก็มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความข้างต้นในหนังสือ Icebreaker โดยผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เคยเป็นนายทหารข่าวกรองหลักของโซเวียต (GRU - Glavnoe Razvedyvatel'noe Upravlenie) วิกเตอร์ ซูโวรอฟ โดยเนื้อความในหนังสือแย้งว่ากองกำลังภาคพื้นดินของโซเวียตนั้นมีความเป็นระบบระเบียบดีมาก และถูกวางกำลังกระจายกันไปเป็นกลุ่มใหญ่ ๆไปตลอดตามแนวชายแดนระหว่างเยอรมนีและโซเวียตเพื่อเตรียมตัวในการบุกทวีปยุโรปของสหภาพโซเวียตที่ถูกกำหนดไว้ในวันอาทิตย์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ส่วนยุทธการบาร์บาร็อสซาของเยอรมนีนั้น เขาอ้างว่าที่จริงแล้วเป็นการชิงเปิดการโจมตีก่อนของเยอรมนี โดยอาศัยความได้เปรียบที่กำลังทหารโซเวียตกำลังรวมพลอยู่เป็นจำนวนมากหน้าพรมแดนเยอรมนี ซูโวรอฟทำการแย้งว่าฉะนั้นการที่กองกำลังโซเวียตมารวมพลกันหน้าพรมแดนเยอรมนีจึงเป็นการเดินกลยุทธแบบรุก และไม่ใช่การตั้งรับดังที่ประวัติศาสตร์ดั้งเดิมบันทึกอยู่แต่อย่างใด แต่การตีความของเขาถูกปฏิเสธโดยนักประวัติศาสตร์ที่ได้รับความนับถือหลายต่อหลายคนมาโดยตลอด โดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์สงครามชาวอเมริกัน เดวิด แกลนท์ซ (David Glantz) และการตีความดังกล่าวไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นจริงเป็นจังนักในบรรดานักประวัติศาสตร์วิชาการที่อยู่ทางตะวันตก อย่างไรก็ตาม มุมมองนี้ต่างออกไปในยุโรปตะวันออก รวมถึงประเทศรัสเซีย ที่ ๆ มีการโต้วาทีในประเด็นที่เกี่ยวกับการปะทะระหว่างโซเวียตและเยอรมนียังคงมีอยู่ จากการศึกษาอย่างจริงจังโดยนักประวัติศาสตร์ทางทหารชาวรัสเซีย มิคาเอล เมลทยูคอฟ (Mikhail Meltyukhov) ในหนังสือ Stalin's Missed Chance ได้ทำการสนับสนุนที่ว่ากองกำลังโซเวียตนั้นได้ทำการรวมพลเพื่อเตรียมเปิดการโจมตีเยอรมนีอยู่จริง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เมลทยูคอฟก็ปฏิเสธคำกล่าวที่ว่าการบุกของเยอรมนีเป็นการชิงเปิดการโจมตีก่อน แต่เขาเชื่อว่าทั้งสองฝ่ายต่างกำลังเตรียมทำการบุกอยู่เช่นกัน แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ไม่เชื่อว่าฝ่ายหนึ่งจะเปิดการโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง

ในช่วงก่อนสงคราม แน่นอนว่า สหภาพโซเวียตได้ประกาศโฆษณาชวนเชื่อออกมาโดยตลอด โดยกล่าวว่ากองทัพแดงนั้นแข็งแกร่งมาก และสามารถเอาชนะผู้รุกรานไม่ว่าหน้าไหนได้อย่างง่ายดาย

จากการที่โจเซฟ สตาลินมีนายทหารประจำการที่จะรายงานเฉพาะสิ่งที่เขาต้องการได้ยินเท่านั้น, กอปรกับความเชื่อมั่นอย่างไร้มูลเหตุในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่โจมตีต่อกัน สตาลินถูกชักนำให้เชื่อว่าสถานภาพของสหภาพโซเวียตในช่วงต้นปี พ.ศ. 2484 (1941) นั้นแข็งแกร่งกว่าที่มันเป็นจริง ๆ มาก ในฤดูใบไม้ผลิในปีเดียวกัน หน่วยงานข่าวกรองของสตาลินได้ทำการเตือนสตาลินถึงการโจมตีของเยอรมนีที่กำลังจะเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ความเชื่อมั่นของสตาลินในนายทหารและกำลังทหารของเขานั้นมั่นคงมาก จนเขาและคณะนายพลที่ปรึกษา ที่ถึงแม้จะทราบดีถึงความเป็นไปได้ที่เยอรมนีจะโจมตี และได้เตรียมการสำคัญ ๆ ไว้หลายอย่าง กลับตัดสินใจที่จะไม่ยั่วยุฮิตเลอร์ ผลก็คือทหารตามแนวชายแดนโซเวียตไม่ได้อยู่ในสถานะที่ตื่นตัวเต็มที่ ถึงขนาดที่ทหารโซเวียตถูกห้ามไม่ให้ยิงโต้ตอบโดยไม่ได้ขออนุญาตเมื่อถูกโจมตี แม้ว่าจะมีคำสั่งให้ตื่นตัวในบางส่วนในวันที่ 10 เมษายน แต่กำลังทหารโซเวียตก็ยังคงไม่พร้อมเมื่อการโจมตีของเยอรมนีเริ่มต้นขึ้น นี่อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดการโต้แย้งโดยวิกเตอร์ ซูโวรอฟ กระทั่งเมื่อการโจมตีเริ่มต้นขึ้น สตาลินก็ยังคงปฏิเสธที่จะวางกำลังและเคลื่อนกำลังทหารทั้งหมดเข้าสู่แนวรบ

แต่กระนั้น กองกำลังโซเวียตขนาดมหึมาก็ถูกประจำการไว้หลังชายแดนฝั่งตะวันตกในกรณีที่เยอรมนีเกิดโจมตีขึ้นมาจริง ๆ อย่างไรก็ตาม กองกำลังเหล่านี้เปราะบางมาก ซึ่งเกิดจากการกำลังเปลี่ยนแปลงหลักการทางยุทธวิธีของกองทัพแดง ในปี พ.ศ. 2481 (1938) กองทัพแดงได้ทำการแปลงกลยุทธป้องกันให้เป็นแบบระนาบมาตรฐานเหมือนกับชาติอื่นตามการสนับสนุนของนายพลพาฟลอฟ โดยมีเหล่ากองร้อยทหารราบเป็นกำลังหลัก เสริมด้วยส่วนประกอบที่เชื่อมต่อกันคล้ายกับรถถัง โดยจะทำการขุดสนามเพลาะเพื่อสร้างพื้นที่ป้องกันที่แน่นหนา แต่หลังจากความพ่ายแพ้อย่างย่อยยับของประเทศฝรั่งเศสต่อนาซีเยอรมนีในศึกแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเป็นที่น่าประหลาดใจว่า กองทัพฝรั่งเศสที่ถือว่าแข็งแกร่งเป็นอันดับที่สองของโลกในเวลานั้น (รองมาจากกองทัพแดง) กลับถูกเอาชนะได้ในเวลาแค่หกสัปดาห์เท่านั้น โซเวียตได้ทำการวิเคราะห์เหตุการณ์ตามข้อมูลบางส่วน และสรุปว่าการล่มสลายของรัฐบาลฝรั่งเศสนั้นเกิดขึ้นจากการพึ่งพากลยุทธป้องกันแนวระนาบ และการขาดแคลนกองกำลังยานเกราะ โซเวียตตัดสินใจที่จะไม่ทำผิดพลาดซ้ำรอย โดยแทนที่การขุดสนามเพลาะให้เป็นการป้องกันในแนวระนาบ พวกเขาจะวางกำลังเหล่ากองร้อยทหารราบให้รวมพลกันในกระบวนทัพที่เคลื่อนพลได้ง่ายในขนาดใหญ่ และรถถังทุกคันจะถูกรวมพลกันเป็นกองพลยานเกราะขนาดใหญ่ยักษ์ 31 กองพล โดยที่แต่ละกองพลนั้นถูกวางแผนให้ใหญ่กว่ากองทัพรถถังแพนเซอร์ (แต่มีเพียงไม่กี่กองพลเท่านั้นที่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางแผนไว้ได้ก่อนวันที่ 22 กรกฎาคม) เมื่อใดก็ตามที่เยอรมนีเปิดการโจมตี ยานเกราะหัวหอกของเยอรมนีก็จะถูกตัดกำลังและกวาดล้างโดยกองพลจักรกล ซึ่งหลังจากนั้นจะทำการเข้ารวมกับทัพทหารราบเพื่อที่จะขับไล่กองกำลังทหารราบเยอรมันที่เปราะบางเมื่อกำลังทำการเคลื่อนพลประชิดกลับไป ส่วนปีกด้านซ้ายของสหภาพโซเวียต จะมีกำลังเสริมขนาดมหึมาในยูเครนที่ใหญ่พอที่จะสามารถทำการโอบล้อมทางยุทธศาสตร์ โดยหลังจากที่ทำลายกลุ่มทัพเยอรมันในด้านใต้แล้ว กองกำลังโซเวียตก็จะบุกขึ้นเหนือฝ่าโปแลนด์ไปยังด้านหลังของกลุ่มทัพกลางและเหนือ จากนั้นกองทัพเยอรมันที่ถูกโอบล้อมก็จะต้องถูกทำลายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามมาด้วยการปลดปล่อยทวีปยุโรปอย่างผู้กรำชัยชนะ

ขนาดกำลังของกองทัพทั้งสองฝ่ายบนแนวรบด้านตะวันออกในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2484

กองทัพแดง กองทัพเยอรมัน (รวมถึงพันธมิตร) อัตราส่วน
จำนวนกองพล 190 166 1.1 : 1
จำนวนทหาร 3,289,851 4,306,800 1 : 1.3
จำนวนอาวุธปืนและปืนครก 59,787 42,601 1.4 : 1
รถถัง (รวมถึงปืนจู่โจม) 15,687 4,171 3.8 : 1
อากาศยาน 10,743 4,846 2.2 : 1

แหล่งที่มา: Mikhail Meltyukhov “Stalin's Missed Chance”, ตารางที่ 47

การโจมตีในวันที่ 22 มิถุนายน

กองกำลังฝ่ายอักษะเปิดการโจมตีสหภาพโซเวียตในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2484 เมื่อเวลา 4.45 น. มันยังเป็นเรื่องยากที่จะประมาณกองกำลังของแต่ละฝ่ายได้อย่างแม่นยำในช่วงต้น ๆ ของการรบ เนื่องจากปริมาณกองกำลังเยอรมันส่วนใหญ่ยังรวมถึงกองกำลังสำรองที่ถูกกำหนดให้บุกจากทางทิศตะวันออกเข้ามา แต่ยังไม่ได้เปิดการโจมตี เช่นเดียวกันกับปัญหาหลายอย่างที่เกี่ยวกับการเปรียบเทียบสถิติทหารของทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าจะประมาณและคาดคะเนแล้ว จำนวนที่ดูสมเหตุสมผลน่าจะเป็นทหารเยอรมันประมาณ 2.6 ล้านนายที่เข้าทำการรบในวันที่ 22 มิถุนายน โดยมีทหารโซเวียตประจำการตามเขตแดนทหารอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ส่วนการจะเอาปริมาณกองกำลังของพันธมิตรของเยอรมนี มารวมด้วยคงจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งยุทธการได้เริ่มขึ้นได้สักพักแล้ว แต่การทำให้ฝ่ายตรงข้ามประหลาดใจของเยอรมนีนั้นประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ โดยกองบัญชาการสามัญของสหภาพโซเวียตหรือสตาฟก้า (Stavka: Shtab vierhovnogo komandovania) ที่ได้รับรายงานว่ากองกำลังทหารเยอรมันกำลังเข้าประชิดชายแดนเพื่อจัดวางกำลังพล ในเวลา 00.30 น. และได้สั่งการเตือนทหารตามชายแดนว่าสงครามกำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า แต่กลับไม่มีทหารสักหน่วยที่เข้าสถานะเตรียมพร้อมในเวลานั้น

อาการตื่นตกใจของกองบัญชาการและทหารโซเวียตเมื่อถูกโจมตีมีสาเหตุมาจากช่วงเวลาที่การโจมตีเกิดขึ้นในกลางดึก อีกทั้งการที่ทหารฝ่ายอักษะจำนวนมากได้ทำการเข้าขนาบชายแดนโซเวียตและรุกล้ำเข้ามาพร้อม ๆ กัน และนอกจากกองกำลังภาคพื้นดินเยอรมันประมาณ 3.2 ล้านนาย (จำนวนทหารราบกับพลประจำยานเกราะรวมกัน) ที่ได้ทำการเข้าปะทะหรือได้ถูกจัดกำลังพลไว้สำหรับปฏิบัติการณ์ในยุโรปตะวันออกแล้ว ยังจะมีกองกำลังพันธมิตรของเยอรมนีที่ประกอบไปด้วยทหารโรมาเนีย, ฮังการี, สโลวาเกียและอิตาลีเป็นแสน ๆ คนที่กำลังเดินทัพมุ่งหน้าไปบรรจบกับกองทัพเยอรมนีอีกด้วย ในขณะที่กองทัพฟินแลนด์ได้ทำการสนับสนุนส่วนใหญ่ในตอนเหนือ โดยมีกองกำลังโซเวียตหันทัพมาทางฟินแลนด์อย่างซึ่ง ๆ หน้า (ไม่รวมถึงกองทัพโซเวียตที่อยู่ทางตอนกลางและกองกำลังสำรองของสตาฟก้า) และทำการเสริมกำลังถึงระดับที่ทหารโซเวียตที่เริ่มต้นจาก 2.6 ล้านนายในวันที่ 22 มิถุนายนเพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านคนในตอนท้ายปี แม้ว่าจะต้องหากำลังมาทดแทนกำลังที่สูญเสียไปถึง 4.5 ล้านนายในกองกำลังทุกภาค

ในช่วงแรกของการรบนั้น ความรวดเร็วในการโจมตีของเยอรมนีทำให้แผนป้องกันทั้งหมดของโซเวียตล้วนเปล่าประโยชน์ การขาดแคลนวิทยุสื่อสารรวมถึงการสื่อสารกันในรูปแบบอื่น ๆ ส่งผลให้คำสั่งจำนวนมากของกองบัญชาการโซเวียตมาถึงผู้รับสารไม่ทันท่วงที ในเวลาไม่กี่วันต่อมา กองกำลังประจำการของโซเวียตในลิทัวเนีย ที่อยู่ในบริเวณทะเลบอลติก ได้ทำการทรมานและสังหารหมู่นักโทษทางการเมือง เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสในการก่อกบฏ

เหตุการณ์ต่อมาที่เกิดขึ้น

ในขณะที่ประสบความสำเร็จในช่วงแรก แต่ในที่สุดแล้วเวลาของเยอรมนีก็หมดลง เมื่อตอนที่กองกำลังเยอรมันมาถึงชานเมืองรอบนอกของกรุงมอสโก ฤดูหนาวรัสเซียก็เริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม สาเหตุของความล่าช้านี้เกิดขึ้นมาจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งสำคัญในวันที่ 15 พฤษภาคม เนื่องจากฮิตเลอร์ต้องการที่จะเข้าไปยับยั้งแนวร่วมต่อต้านเยอรมนีในยูโกสลาเวีย และเข้าไปหยุดความคืบหน้าของกรีซในการต่อต้านอิตาลีภายใต้การปกครองของเบนิโต มุสโสลินีในอัลเบเนีย การตัดสินใจเช่นนี้ร่นระยะเวลาที่มีน้อยอยู่แล้วในฤดูร้อนของรัสเซียให้สั้นลงไปอีกห้าสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในหลาย ๆ เหตุผลที่นำไปสู่ความล่าช้าในการบุก อีกเหตุผลหนึ่งก็คือช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิในปี 2484 (1941) ในรัสเซีย ซึ่งมีสภาพอากาศที่มีฝนตกอยู่บ่อย ๆ ตลอดเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 ซึ่งทำให้ถนนหลายสายในรัสเซียภูมิภาคตะวันตกไม่สามารถขับรถบรรทุกและยานเกราะผ่านไปได้ โดยในระหว่างที่ยุทธการดำเนินไป ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้ทัพหลักที่กำลังมุ่งหน้าไปสู่มอสโกให้เปลี่ยนเส้นทางมุ่งลงใต้เพื่อช่วยกลุ่มทัพใต้ในการยึดยูเครน ซึ่งคำสั่งดังกล่าวชะลอเวลาการโจมตีเมืองหลวงของโซเวียตยิ่งขึ้นไปอีก แม้ว่ามันจะช่วยรักษาความมั่นคงของปีกซ้ายของกลุ่มทัพกลางไว้ได้ แต่เมื่อถึงตอนที่พวกเขาหันทัพมุ่งไปยังมอสโก ตอนนั้นเองกองทัพแดงก็เริ่มต่อต้านอย่างดุเดือด ด้วยดินโคลนที่เกิดขึ้นจากฝนตกในฤดูใบไม้ร่วง และหิมะที่เริ่มตกหนักในฤดูหนาว เป็นใจให้กับโซเวียตที่จะยับยั้งการรุกคืบเข้ามาของกองทัพเยอรมันให้หยุดลง

นอกจากนี้ โซเวียตที่ประกาศว่าการรบของพวกเขาคือ มหาสงครามผู้รักชาติ (Great Patriotic War) ได้ทำการปกป้องมาตุภูมิของพวกเขาได้ดุดันกว่าที่กองบัญชาการเยอรมันได้คาดการณ์ไว้ยิ่งนัก ป้อมปราการชายแดนเมืองเบรสต์ในเบลารุสสื่อถึงความหมายของชาวโซเวียตได้เป็นอย่างดี ป้อมที่ถูกโจมตีในวันแรก ๆ ของการบุกโดยเยอรมนี เป็นป้อมที่ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะถูกยึดด้วยความประหลาดใจของโซเวียตในไม่กี่ชั่วโมง กลับกลายเป็นการสู้รบในป้อมที่ยาวนานและขมขื่นระหว่างกองกำลังของเยอรมนีและโซเวียตเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ๆ การส่งกำลังบำรุงกลายเป็นอีกปัญหาใหญ่ของเยอรมนี เนื่องจากเส้นทางขนส่งเสบียงที่ยาวและง่ายต่อการโจมตีของพลพรรคต่อต้านฟาสซิสต์ของโซเวียตจากด้านหลัง อีกทั้งโซเวียตยังใช้กลยุทธ์ผลาญภพในแผ่นดินที่พวกเขาถูกบีบให้ถอนกำลังไป เพื่อไม่ให้กองทัพเยอรมันสามารถใช้ที่นา, อาหาร, เชื้อเพลิง และอาคารในดินแดนที่พวกเขายึดมาได้

แต่กองทัพเยอรมันยังคงคืบหน้าต่อไปแม้ว่าจะพบกับอุปสรรคบางประการ อย่างไรก็ตาม ก็มีบางครั้งที่เยอรมนีจะทำลายกองกำลังป้องกันทั้งหมดหรือปิดล้อมพวกเขาให้ยอมแพ้ โดยเฉพาะในศึกแห่งเคียฟที่มีผลลัพธ์ที่รุนแรงเป็นพิเศษ โดยในกลางเดือนตุลาคม กลุ่มทัพใต้ของเยอรมนีจึงสามารถยึดเคียฟมาได้ และจับกุมเชลยชาวโซเวียตได้มากกว่า 650,000 คน ในเวลาต่อมา หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด ในปี พ.ศ. 2508 (1965) เคียฟจึงได้รับการยกย่องให้เป็นวีรนคร (Hero City) สำหรับการป้องกันเยี่ยงวีรบุรุษของมัน

ส่วนกลุ่มทัพเหนือที่ถูกมอบหมายให้ยึดดินแดนรอบทะเลบอลติกจนถึงเมืองเลนินกราด (เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปัจจุบัน) การรุกคืบหน้าของกลุ่มทัพนี้เป็นไปด้วยดีจนกระทั่งพวกเขามาถึงชายเมืองรอบนอกทางทิศใต้ในเดือนสิงหาคม ที่ ๆ พวกเขาถูกกองกำลังโซเวียตต่อต้านอย่างดุเดือดจนทำให้การรุกคืบหน้าอย่างต่อเนื่องของพวกเขาต้องหยุดลง และเนื่องจากการพยายามที่จะยึดเมืองคงจะเป็นการเสียกำลังพลมากเกินไป กองบัญชาการเยอรมันจึงตัดสินใจที่จะปล่อยให้ประชากรในเมืองอดอาหารจนตายผ่านการปิดทางเสบียงและการคมนาคม ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการปิดล้อมแห่งเลนินกราด แต่เมืองยังคงยืนหยัดไว้ได้ แม้ว่ากองกำลังเยอรมันจะพยายามหลายครั้งหลายหนในการฝ่าแนวป้องกันของโซเวียต รวมถึงทำการโจมตีทางอากาศและระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองอย่างไม่หยุดหย่อน และทำให้เกิดการขาดอาหารและเชื้อเพลิงอย่างรุนแรง จนกระทั่งฝ่ายเยอรมันเองกลายเป็นฝ่ายที่ต้องล่าถอยเมื่อกำลังเสริมของกองกำลังโซเวียตในเลนินกราดมาถึงในตอนต้นปี พ.ศ. 2487 (1944) และทำให้เลนินกราดกลายเป็นเมืองแรกที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรนคร

สาเหตุของความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตในช่วงแรก ๆ

อาวุธยุทโธปกรณ์ของฝ่ายโซเวียตถูกยึดโดยทหารเยอรมัน

สาเหตุโดยรวมที่ทำให้กองทัพโซเวียตพ่ายแพ้อย่างยับเยินในปี พ.ศ. 2484 (1941) เป็นเพราะการโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัวของเยอรมนี ในขณะที่กองทัพโซเวียตแทบไม่ได้เตรียมตัวเลย และเนื่องจากในขณะนั้น กองกำลังของเยอรมันเป็นกองกำลังที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี และมีประสบการณ์การรบมากที่สุดในโลก เยอรมนีมีหลักการในการวางกำลังพล, การทำลายล้าง, การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม, และความเชื่อมั่นที่มาจากการประสบชัยชนะอย่างต่อเนื่องโดยเสียกองกำลังเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนกองกำลังโซเวียต เป็นไปในทางตรงกันข้าม ขาดทั้งบุคลากรที่มีความเป็นผู้นำ, ขาดการฝึกฝนและความพร้อม โดยแผนการของโซเวียตส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าสงครามระหว่างนาซีเยอรมนีและโซเวียตจะยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่งปี พ.ศ. 2485 (1942) ฉะนั้นเมื่อกองทัพเยอรมันเปิดการโจมตี กองทัพโซเวียตยังคงปฏิรูปองค์กร และดูเหมือนว่ากำลังเป็นไปในทางที่ดี แต่ยังไม่ได้ทำการทดสอบใด ๆ และยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่งถูกผลิตให้กับหน่วยงานภาคสนาม อีกทั้งกองทัพโซเวียตส่วนใหญ่ในยุโรปนั้น ยังคงรวมพลอยู่ในพรมแดนโซเวียตใหม่ทางตะวันตกที่เคยเป็นประเทศโปแลนด์ ซึ่งไม่ได้เตรียมการป้องกันอย่างเอาจริงเอาจังใด ๆ และทำให้มันถูกเอาชนะอย่างราบคาบและกองกำลังโซเวียตที่ปกป้องมันอยู่ก็ถูกทำลายลงในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการรบ อีกทั้งในช่วงแรก ๆ นั้น หน่วยรบของโซเวียตจำนวนมากยังถูกขัดขวางไม่ให้เข้าทำการรบตามคำสั่งของสองจอมพลผู้รอดชีวิตจากการกวาดล้าง นายพลซีมิยอน ทิโมเชนโก้ และนายพลกิออร์กี้ ชูคอฟ ที่ได้รับคำสั่งโดยตรงมาจากสตาลินอีกที ว่าไม่ให้ทำการเข้าปะทะ และไม่ให้ตอบโต้ต่อการยุยง ตามมาด้วยคำสั่งแรกจากมอสโกหลังการโจมตีที่ให้ทำการ 'ยืนหยัดต่อสู้และทำการสวนกลับ' ซึ่งจะทำให้กองทัพเยอรมันทำการโอบล้อมกองทัพโซเวียตได้โดยง่าย โดยสรุปคือ การที่โซเวียตพ่ายแพ้ในช่วงแรกก็เนื่องมาจากการขาดแคลนนายทหารที่มีประสบการณ์ (อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อโต้เถียงกันอยู่ในประเด็นนี้) และความล่าช้าทางด้านระบบบริหารราชการ

ทหารเยอรมันทำลายรถถังโซเวียต

ความผิดพลาดทางการยุทธของโซเวียตในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกระหว่างการรุกรานของเยอรมนีนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงกับโซเวียต โดยในช่วงแรก กองทัพแดงได้ประเมินกำลังรบของตนเองว่ามีปริมาณและประสิทธิภาพเกินกว่าความเป็นจริงที่เป็นอยู่อย่างลิบลับ โดยกองพลยานเกราะของโซเวียต จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะจัดการกับกองทัพรถถังแพนเซอร์ได้อย่างราบคาบ กลับถูกดักโจมตีและถูกทำลายอย่างยับเยินโดยเครื่องบินดิ่งทิ้งระเบิดของกองทัพอากาศลุฟท์วัฟเฟอของเยอรมนี ส่วนบรรดารถถังโซเวียต ซึ่งขาดการบำรุงรักษาและถูกควบคุมโดยพลขับที่ไร้ประสบการณ์ ยังประสบกับอัตราความชำรุดเสียหายที่พุ่งขึ้นอย่างน่าใจหาย อีกทั้งการขาดแคลนชิ้นส่วนอะไหล่และรถบรรทุกขนส่งยังทำให้การส่งกำลังบำรุงไม่สามารถทำได้อย่างสิ้นเชิง การตัดสินใจที่จะไม่ให้ทหารราบของตนขุดสนามเพลาะถูกพิสูจน์ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และส่งผลให้กองกำลังทหารราบของโซเวียต ที่ขาดทั้งรถถังและการสนับสนุนด้านการต่อต้านยานเกราะที่ไม่เพียงพอ ประสบกับการสูญเสียอย่างมหาศาล เนื่องจากไม่สามารถต่อกรกับกองทัพเยอรมันโดยใช้กลยุทธกระจายกำลังที่จำเป็นต้องใช้รถถังได้

ต่อจากนั้น สตาลินยังสั่งห้ามกองทัพของเขาไม่ให้ถอยทัพหรือยอมจำนน ซึ่งส่งผลให้กองทัพของเขาวางกำลังกระจายกันออกไปประจำพลอยู่ในตำแหน่งเรียงกันเป็นระนาบโดยไม่ทำการเคลื่อนพลใด ๆ ในขณะที่รถถังเยอรมันยังคงเจาะกองกำลังของโซเวียตเข้ามาได้อย่างง่ายดาย และตัดเส้นทางเสบียงรวมถึงทำการล้อมกองทัพโซเวียตทั้งหมดเอาไว้ ถึงตอนนั้นเองที่สตาลินอนุมัติให้กองทัพทั้งหมดของเขาถอยทัพมายังแนวหลังเพื่อรวมพลเตรียมการป้องกันแนวหลังหรือเตรียมการตอบโต้การโจมตี หลังจากนั้น ทหารชาวโซเวียตมากกว่า 2,400,000 นายถูกจับเป็นเชลยจนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 (1941) ในเวลาที่การรบในชานเมืองมอสโกเริ่มต้นขึ้นระหว่างกองกำลังโซเวียตและเยอรมัน

แม้ว่าเยอรมนีจะประสบกับความล้มเหลวในการยึดกรุงมอสโก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของยุทธการบาร์บาร็อสซา แต่ความสูญเสียอย่างมากของโซเวียตก็ทำให้การโฆษณาชวนเชื่อของโซเวียตเปลี่ยนจากจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยก่อนสงครามจะเกิดขึ้น รัฐบาลโซเวียตได้ออกมาระบุว่ากองทัพโซเวียตนั้นแข็งแกร่งมาก จนกระทั่งมาถึงฤดูใบไม้ร่วงที่รัฐบาลได้เปลี่ยนท่าที โดยประกาศว่ากองทัพโซเวียตนั้นยังอ่อนแอ และไม่มีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมทัพให้พร้อมทำสงคราม นอกจากนี้ยังถูกจู่โจมอย่างคาดไม่ถึงโดยเยอรมนี และเหตุผลอื่น ๆ ที่รัฐบาลโซเวียตได้อ้างสาเหตุ

สาเหตุของความพ่ายแพ้เยอรมนี (ในช่วงแรก) ได้ถูกนำเสนอต่างออกไปโดยวิกเตอร์ ซูโวรอฟในหนังสือ Icebreaker ของเขา โดยที่ซูโวรอฟอ้างว่าเหตุการณ์ในสงครามนั้นเป็นความจำนงของสตาลินอยู่แล้ว โดยคำกล่าวอ้างนี่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก และนักประวัติศาสตร์ชาวตะวันตกโดยทั่วไปถือว่าคำกล่าวอ้างของซูโวรอฟไม่มีมูลความจริง

ผลที่ตามมา

ยุทธการบาร์บาร็อสซานั้นมาถึงจุดสรุปเมื่อกลุ่มทัพกลางของเยอรมนีที่กำลังขาดแคลนเสบียงเนื่องจากโคลนหลังฤดูฝนในเดือนตุลาคม ถูกสั่งให้บุกรุดหน้าต่อไปยังมอสโก จนกระทั่งกำลังทหารเยอรมันรุดหน้ามาถึงหน้าพระราชวังเครมลินในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 (1941) เมื่อมาถึงตรงนั้น กองกำลังทหารเยอรมันทั้งหมดก็จำต้องหยุดลง เมื่อกำลังเสริมขนาดใหญ่ของสตาลินมาถึง จากไซบีเรีย พร้อมกับความสดใหม่ของทหารและการบำรุงรักษากำลังอย่างครบครัน และได้ทำการป้องกันมอสโกอย่างดุเดือดในศึกแห่งมอสโก ผลของการรบออกมาโดยฝ่ายโซเวียตเป็นผู้กรำชัยชนะอย่างเด็ดขาด และได้ทำการตีโต้กองกำลังเยอรมันกลับไปเมื่อฤดูหนาวมาถึง กองกำลังตอบโต้ของโซเวียตขนาดใหญ่ยักษ์ได้ถูกสั่งให้เข้าทำการโจมตีกลุ่มทัพกลางของเยอรมัน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเท่าไรนัก เนื่องจากกลุ่มทัพกลางวางกำลังอยู่ใกล้มอสโกมากที่สุด การป้องกันกรุงมอสโกได้สำเร็จ ทำให้เมืองนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรนครในเวลาต่อมา

เมื่อกองกำลังเยอรมันทั้งหมดที่ประจำการอยู่ในดินแดนของโซเวียตประสบกับการไม่มีที่อยู่ที่พักอาศัย (ซึ่งเกิดจากกลยุทธทำลายล้างของโซเวียต), ขาดเสื้อผ้าสำหรับฤดูหนาวที่เหมาะสม, ขาดเสบียงอาหารเป็นเวลานานติดต่อกัน (หิมะในฤดูหนาวที่กลบถนนจนมิด ทำให้การส่งกำลังบำรุงของเยอรมันแทบจะเป็นอัมพาต) และไม่มีที่จะไป (เพราะการออกไปในอากาศหนาวเช่นนั้นโดยไม่มีเสื้อผ้ากันหนาวที่ดีพอ หมายถึงความตายของทหารเยอรมัน) ทำให้กองกำลังเยอรมันไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากจะรอกำลังเสริมในฤดูหนาวในดินแดนแถบขั้วโลก ในขณะที่กองกำลังเยอรมันสามารถหลีกเลี่ยงการถูกตีให้แตกพ่ายยับเยินโดยกองกำลังตอบโต้ของโซเวียตมาได้ แต่ก็ประสบกับการสูญเสียกำลังเป็นจำนวนมากทั้งจากการรบ และการถูกโจมตีระหว่างเคลื่อนทัพ

การยึดกรุงมอสโกถือว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่ชัยชนะของเยอรมนีในขณะนั้น แต่ก็เกิดการถกเถียงระหว่างนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันว่าการเสียกรุงมอสโกจะนำไปสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เยอรมนีก็ประสบกับความล้มเหลวในการยึดมอสโก ซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลวของยุทธการบาร์บาร็อสซาในเวลาต่อมา ในเดือนธันว่าคม พ.ศ. 2484 (1941) เยอรมนีก็ประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา (ตามจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งหนึ่งในพันธมิตรอักษะของเยอรมนีที่ได้ทำการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ต่อสหรัฐอเมริกา) ซึ่งระหว่างเวลาหกเดือนต่อจากนี้ ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของเยอรมนีเริ่มล่อแหลมขึ้นมาทุกที เนื่องจากการวางแผนอุตสาหกรรมทางทหารของเยอรมนีถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการทำสงครามในระยะสั้นเท่านั้น และยังไม่มีความพร้อมที่จะทำสงครามยืดเยื้อแต่อย่างใด

ผลลัพธ์ของยุทธการบาร์บาร็อสซาต่อเยอรมนีนั้นสร้างความเสียหายให้กับโซเวียตในอย่างมหาศาล แต่ฝ่ายเยอรมันก็ไม่ได้มีสถานภาพต่างจากฝ่ายโซเวียตมากนัก แม้ว่าเยอรมนีจะล้มเหลวในการยึดกรุงมอสโก แต่กองกำลังเยอรมันก็สามารถยึดดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต รวมถึงเขตการปกครองของสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทั้งเขต ได้แก่เบลารุส, ยูเครน และดินแดนรอบทะเลบอลติก รวมถึงภูมิภาครัสเซียตะวันตกที่มอสโกปกครองอยู่ กองทัพเยอรมันสามารถยึดดินแดนมาได้กว่า 1,300,000 ตร.กม. ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่กว่า 75 ล้านคนตามสถิติจากปลายปี พ.ศ. 2484 รวมถึงกำลังวางแผนที่จะยึดดินแดนมาอีกกว่า 650,000 ตร.กม. ก่อนที่จะถูกบีบให้ถอยทัพหลังจากความพ่ายแพ้ในศึกแห่งสตาลินกราด (เมืองโวลกากราดในปัจจุบัน) และศึกแห่งเคิร์สก์ ในขณะเดียวกัน ทุกดินแดนที่เยอรมนียึดมาได้ล้วนแข็งข้อต่อเยอรมนี จากอัตราการก่อกวนกองกำลังเยอรมันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เยอรมนีลงโทษกลับอย่างโหดเหี้ยม ต่อมากองกำลังเยอรมันยังคงยันยื้อต่อกองกำลังตอบโต้ของโซเวียตอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่งผลให้เกิดผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากในทั้งสองฝ่ายจากการรบหลายต่อหลายครั้ง

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

  1. Bergström, p130
  2. Bergström 2007, p. 131-2: ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุสหภาพโซเวียตร่วมกับ Rosvoyentsentr, Moscow; Russian Aviation Research Trust; Russian Central Military Archive TsAMO, Podolsk; Monino Air Force Museum, Moscow.
  3. Boog, H, Germany's penis and the Second World War, VoI. 4: The Attack on the Soviet Union (Oxford, 1994)
  4. Bergström 2007, p 118: Sources Luftwaffe strength returns from the Archives in Freiburg.
  5. Krivosheev, G.F, 1997, p.96.
  6. เกี่ยวกับการรุกรานสหภาพโซเวียตของเยอรมนี
  7. การปฏิบัติต่อเชลยสงครามโซเวียต: การอดอาหาร โรคระบาดและการสังหาร (มิถุนายน 1941–มกราคม 1942)
  8. Bergström, p117
  9. Krivosheyev, G. 1993
  10. Rich 1973, pp. 204–221.
  11. Snyder 2010, p. 416.
  12. Chapoutot 2018, p. 272.
  13. Snyder 2010, pp. 175–186.
  14. Hilberg 1992, pp. 58–61, 199–202.
  15. United States Holocaust Memorial Museum 1996, pp. 50–51.
  16. Rees 2010.

อ้างอิง

  • Bellamy, Christopher (2007). Absolute War: Soviet Russia in World War Two. Knopf Publishers. ISBN 978-0-375-41086-4
  • Bergstrom, Christer (2007). Barbarossa - The Air Battle: July-December 1941. London: Chervron/Ian Allen. ISBN 978-1-85780-270-2.
  • Bethell, Nicholas and Time - Life Books Attack of USSR (Hard cover, ISBN 80-7237-279-3)
  • Clark, Alan. Barbarossa: The Russian–German Conflict, 1941–45. New York: Willam Morrow & Co., 1965.
  • John Erickson. The Road to Stalingrad. London: Cassell Military, 2003 (paperback, ISBN 0-304-36541-6).
  • Erickson, John and Dilks, David eds. Barbarossa: The Axis and the Allies. Edinburgh: Edinburgh University Press, 1994 (hardcover, ISBN 0-7486-0504-5); 1998 (paperback, ISBN 0-7486-1111-8).
  • Förster, Jürgen; Mawdsley, Evan. "Hitler and Stalin in Perspective: Secret Speeches on the Eve of Barbarossa", War in History, Vol. 11, Issue 1. (2004), pp. 61–103.
  • Farrell, Brian P. "Yes, Prime Minister: Barbarossa, Whipcord, and the Basis of British Grand Strategy, Autumn 1941", The Journal of Military History, Vol. 57, No. 4. (1993), pp. 599–625.
  • David Glantz. Barbarossa: Hitler's invasion of Russia, 1941. Stroud, Gloucestershire: Tempus, 2001 (paperback, ISBN 0-7524-1979-X).
  • Glantz, David M. Stumbling Colossus: The Red Army on the Eve of World War. Lawrence, KA: University Press of Kansas, 1998 (hardcover, ISBN 0-7006-0879-6).
  • Glantz, David M. Colossus Reborn: the Red Army at War, 1941–1943. Kansas: University Press of Kansas, 2005 (hardcover, ISBN 0-7006-1353-6).
  • Gorodetsky, Gabriel Grand Delusion: Stalin and the German Invasion of Russia. New Haven, CT; London: Yale University Press, 2001 (paperback, ISBN 0-300-08459-5).
  • Joachim Hoffmann. Stalin's War of Extermination. Capshaw, AL: Theses & Dissertations Press, 2001 (hardcover, ISBN 0-9679856-8-4).
  • Kershaw, Robert J. War Without Garlands: Operation Barbarossa, 1941/42. Shepperton: Ian Allan, 2000 (hardcover, ISBN 0-7110-2734-X).
  • Kirchubel, Robert. Operation Barbarossa 1941 (1): Army Group South. Oxford: Osprey, 2003 (paperback, ISBN 1-84176-697-6).
  • Kirchubel, Robert. Operation Barbarossa 1941 (2): Army Group North. Oxford: Osprey, 2005 (paperback, ISBN 1-84176-857-X).
  • Krivosheyev, G. Grif sekretnotsi snyat. Poteri vooruzhyonnykh sil SSSR v voynakh, boyevykh deystviyakh i voyennykh konfliktakh, Voyenizdat, Moscow, 1993.
  • Krivosheev, G.F. ed. Soviet casualties and combat losses in the twentieth century. London: Greenhill Books, 1997 (hardcover, ISBN 1-85367-280-7). Available on-line in Russian.
  • Koch, H.W. "Hitler's 'Programme' and the Genesis of Operation 'Barbarossa'", The Historical Journal, Vol. 26, No. 4. (1983), pp. 891–920.
  • Latimer, Jon, Deception in War, London: John Murray, 2001
  • Lubbeck, William; Hurt, David B. At Leningrad's Gates: The Story of a Soldier with Army Group North. Philadelphia, PA: Casemate, 2006 (hardcover, ISBN 1-932033-55-6).
  • Macksey, Kenneth. Why the Germans Lose at War: The Myth of German Military Superiority. London: Greenhill Books, 1999 (paperback, ISBN 1-85367-383-8).
  • Maser, Werner. Der Wortbruch: Hitler, Stalin und der Zweite Weltkrieg. München: Olzog, 1994 (hardcover, ISBN 3-7892-8260-X); München: Heyne, 2001 (paperback, ISBN 3-453-11764-6).
  • Megargee, Geoffrey P. War of Annihilation: Combat and Genocide on the Eastern Front, 1941. Lanham, MA: Rowman & Littelefield, 2006 (hardcover, ISBN 0-7425-4481-8; paperback, ISBN 0-7425-4482-6).
  • Murphy, David E. What Stalin Knew: The Enigma of Barbarossa. New Haven, CT; London: Yale University Press, 2005 (hardcover, ISBN 0-300-10780-3); 2006 (paperback, ISBN 0-300-11981-X).
    • Reviewed by Robert Conquest at The American Historical Review, Vol. 111, No. 2. (2006), p. 591.
  • Alexander Nekrich. "June 22, 1941; Soviet Historians and the German Invasion". Columbia: University of South Carolina Press, 1968.
  • Pleshakov, Constantine. Stalin's Folly: The Tragic First Ten Days of World War Two on the Eastern Front. Boston: Houghton Mifflin, 2005 (hardcover, ISBN 0-618-36701-2).
  • Raus, Erhard. Panzer Operations: The Eastern Front Memoir of General Raus, 1941–1945, compiled and translated by Steven H. Newton. Cambridge, MA: Da Capo Press, 2003 (hardcover, ISBN 0-306-81247-9); 2005 (paperback, ISBN 0-306-81409-9).
  • Rayfield, Donald. Stalin and his Hangmen,London, Penguin Books, 2004, ISBN 0-14-100375-8
    • Reviewed by David R. Snyder in The Journal of Military History, Vol. 69, No. 1. (2005), pp. 265–266.
  • Roberts, Cynthia. "Planning for War: The Red Army and the Catastrophe of 1941". Taylor and Francis Publishers. Europe-Asia Studies, Vol. 47, No. 8 (Dec, 1995), pp. 1293-1326.
  • Rees, Laurence. War of the Century: When Hitler Fought Stalin. New York: New Press, 1999 (hardcover, ISBN 1-56584-599-4).
  • Stolfi, R.H.S. German Panzers on the Offensive: Russian Front. North Africa, 1941–1942. Atglen, PA: Schiffer Publishing, 2003 (hardcover, ISBN 0-7643-1770-9).
  • Suvorov, Viktor. The Chief Culprit: Stalin's Grand Design to Start World War II. Dulles, VA: Potomac Books, 2007 (hardcover, ISBN 1-59797-114-6).
  • A.J.P. Taylor และ Mayer, S.L., eds. A History Of World War Two. London: Octopus Books, 1974. ISBN 0-7064-0399-1.
  • Martin van Creveld. Supplying War: Logistics from Wallenstein to Patton Cambridge: Cambridge University Press, 1977. ISBN 0-421-29793-1
  • Weeks, Albert L. Stalin's Other War: Soviet Grand Strategy, 1939–1941. Lanham, MD: Rowman & Littlefield, 2002 (hardcover; ISBN 0-7425-2191-5); 2003 (paperback, ISBN 0-7425-2192-3).
  • Wegner, Bernd ed. From Peace to War: Germany, Soviet Russia, and the World, 1939–1941 Providence, RI: Berghahn Books, 1997 (hardcover, ISBN 1-57181-882-0).
    • Reviewed by Peter Konecny, Canadian Journal of History, Vol. 34 Issue 2. (Aug., 1999) pp. 288–290.
  • Wieczynski, Joseph L.; Fox, J.P. "Operation Barbarossa: The German Attack on The Soviet Union, June 22, 1941", The Slavonic and East European Review, Vol. 74, No. 2. (1996), pp. 344–346.
  • Ziemke, Earl F. Moscow to Stalingrad: Decision in the East. Washington DC: U.S. Army Center of Military History, 1987; New York: Military Heritage Press, 1988 (hardcover, ISBN 0-88029-294-6).
  • Ziemke, Earl F. Stalingrad to Berlin: The German Defeat in the East. Washington DC: U.S. Army Center of Military History, 1966; Honolulu, HA: University Press of the Pacific, 2003 (paperback, ISBN 1-4102-0414-6).
  • Мельтюхов, М.И. Упущенный шанс Сталина. Советский Союз и борьба за Европу: 1939–1941 (Документы, факты, суждения). Москва: Вече, 2000.
  • Суворов, В. Последняя республика: Почему Советский Союз проиграл Вторую Мировую войну. Москва: AST, 2003 (hardcover, ISBN 5-17-007876-5).
  • lt. Kolobanov and KV-2. Notable engagements of KV series against outnumbering enemy forces: http://wio.ru/tank/ww2tank.htm

แหล่งข้อมูลอื่น


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!