ยุทธการฉางชา (17 กันยายน – 6 ตุลาคม ค.ศ. 1939) เป็นความพยายามครั้งแรกของญี่ปุ่นในการยึดครองฉางชา ประเทศจีน ระหว่างสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่สอง
เบื้องหลัง
สงครามจีน-ญี่ปุ่นยังคงดำเนินต่อไปหลังจากการสู้รบเป็นเวลาสองปี ในช่วงต้นเดือนกันยายน นายพลญี่ปุ่น โตชิโซะ นิชิโอะ ของ "กองทัพโพ้นทะเลญี่ปุ่นในจีน" และพลโท เซย์ชิโร อิตากาคิ ได้วางแผนที่จะยึดครองฉางชา เมืองหลวงของมณฑลหูหนาน กองพลที่ 101 และ 106 ของญี่ปุ่นได้มีการจัดวางกำลังทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำกาน ทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซี และกองพลที่ 6, 3, 13 และ 33 เคลื่อนกำลังลงใต้จากมณฑลหูเป่ย์มายังมณฑลหูหนาน
ปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงจูงใจสองประการของญี่ปุ่นในการโจมตี ได้แก่ การลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างพันธมิตรเยอรมนีและสหภาพโซเวียตศัตรูของญี่ปุ่น และหลังจากความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในมองโกเลียใน การโจมตีในจีนครั้งใหญ่จะช่วยฟื้นขวัญกำลังใจของกองทัพได้[1]
มีความชัดเจนว่ากองทัพญี่ปุ่นมีกำลังพลถึง 100,000 นาย ที่กำลังมุ่งหน้ามาบรรจบกันที่ฉางชา ยุทธศาสตร์ของจีนคือการตอบโต้แนวของข้าศึกทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซีแล้วจึงล้อมแนวที่กำลังเดินทัพมุ่งลงใต้
ลำดับเหตุการณ์
ฝ่ายญี่ปุ่นเริ่มการโจมตีเมื่อวันที่ 17 กันยายน เมื่อกองทัพที่ประจำอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจียงซีโจมตีไปทางตะวันตกมุ่งหน้าไปยังมณฑลเหอหนาน อย่างไรก็ตาม แนวของญี่ปุ่นขยายออกไปกว้างเกินไปทางตะวันตกและถูกโจมตีโต้โดยกองทัพจีนทั้งทางเหนือและทางใต้ บีบบังคับให้ต้องถอนกำลังกลับไปทางตะวันออก
เมื่อวันที่ 19 กันยายน ฝ่ายญี่ปุ่นดำเนินการโจมตีจีนตามแม่น้ำซินเชียงโดยตัดสินใจใช้แก๊สพิษ ถึงแม้ว่าการใช้แก๊สพิษจะถูกห้ามตามอนุสัญญาเจนีวา ตามที่นักประวัติศาสตร์ชาวญี่ปุ่น อาวุธเคมีได้รับมอบอำนาจจากคำสั่งเฉพาะที่กำหนดโดยจักรพรรดิฮิโรฮิโตะซึ่งถูกส่งผ่านไปยังกองบัญชาการกองทัพจักรวรรดิ การใช้อาวุธเคมีดังกล่าวได้มาจากการทดลองเชลยชาวจีนโดยหน่วย 731 อย่างไรก็ตามกองทัพญี่ปุ่นก็ได้ใช้แก๊สพิษต่อที่ตั้งของทหารจีน เมื่อวันที่ 23 กันยายน กองทัพญี่ปุ่นสามารถขับไล่ทหารจีนออกจากพื้นที่แม่น้ำซินเชียงได้ และกองพลที่ 6 และที่ 13 ข้ามแม่น้ำโดยมีการยิงสนับสนุนจากปืนใหญ่และเคลื่อนพลต่อลงไปทางใต้ตามแม่น้ำมีหลัว
การสู้รบอย่างหนักยังคงดำเนินต่อไปหลังวันที่ 23 กันยายน และกองทัพจีนล่าถอยไปทางทิศใต้เพื่อหลอกล่อให้ฝ่ายญี่ปุ่นติดตามมา ในขณะที่กองพันสนับสนุนเข้ามาถึงในทางตะวันออกและทางตะวันตกสำหรับกลยุทธ์การโอบล้อมกองทัพจีน เมื่อวันที่ 29 กันยายน ญี่ปุ่นเข้าถึงชานเมืองฉางชา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายญี่ปุ่นไม่สามารถยึดเมืองนี้ได้เนื่องจากเส้นทางเสบียงถูกตัดขาดโดยกองทัพจีน
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม กองทัพจีนได้ยิงเครื่องบินญี่ปุ่นตกเป็นจำนวนมาก ซี่งเครื่องบินดังกล่าวได้รับคำสั่งจากยาสุจิ โอคามูระ เพื่อเป็นการเปิดทางรุกเข้าสู่ฉางชา และในวันที่ 6 ตุลาคม กองทัพญี่ปุ่นที่ฉางชาได้ถูกทำลายลงเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ส่วนที่เหลืออยู่ล่าถอยไปทางทิศเหนือ
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม กองทัพจีนได้ยึดครองพื้นที่ในมณฑลหูหนานทางตอนเหนือของมณฑลหูเป่ย์และมณฑลเจียงซีตอนเหนือคืนกลับมาได้สำเร็จ
บทสรุป
ฉางชาถือเป็นเมืองหลักเมืองแรกที่ไม่ตกอยู่ในเงื้อมมือหลังการโจมตีของญี่ปุ่น ผู้บัญชาการ เสวี่ย เยวี่ย ผู้เป็นขุนศึกที่มีสีสันและพันธมิตรของเจียง ไคเช็ค ได้รับการชื่นชมจากชัยชนะที่ฉางชา การรักษาเมืองฉางชาไว้ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถขยายอิทธิพลลงไปทางตอนใต้ของจีน
อ้างอิง
- ↑ Van De Ven, Hans J., War and Nationalism in China, 1925–1945, pg. 237.