เพลงชาติไทย

เพลงชาติไทย
โน้ตเพลงชาติไทย ฉบับเผยแพร่โดยคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546

เพลงชาติของ
ไทย สยาม (พ.ศ. 2477–2482) (5 ปี)
 ไทย (พ.ศ. 2482–ปัจจุบัน) (85 ปี)

เนื้อร้องหลวงสารานุประพันธ์, พ.ศ. 2482 (85 ปี)
ทำนองพระเจนดุริยางค์, พ.ศ. 2475 (92 ปี)
รับไปใช้พ.ศ. 2475 (92 ปี)
ตัวอย่างเสียง
เพลงชาติไทย (บรรเลงและขับร้อง)

เพลงชาติไทย เป็นเพลงชาติของราชอาณาจักรไทย พระเจนดุริยางค์ประพันธ์ทำนองขึ้นหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และขุนวิจิตรมาตราประพันธ์คำร้องฉบับแรกสุดซึ่งแต่งขึ้นหลังจากนั้นในปีเดียวกัน ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อร้องหลายครั้งจนเป็นเนื้อร้องฉบับปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. 2482

ประวัติ

กำเนิดของเพลงชาติไทย

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีการใช้เพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์ตามธรรมเนียมสากล แม้เพลงดังกล่าวไม่ใช่เพลงชาติของประเทศสยามอย่างเป็นทางการก็ตาม แต่ก็ถืออนุโลมว่าเป็นเพลงชาติโดยพฤตินัยตามหลักดังกล่าว

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ประกาศใช้เพลงชาติมหาชัย ซึ่งประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นเพลงชาติอยู่ 7 วัน (ใช้ชั่วคราว ระหว่างรอพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติใหม่) แต่ไม่ได้รับความนิยมจากประชาชน ต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติฉบับที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการแทนเพลงสรรเสริญพระบารมี

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ผู้ประพันธ์ทำนองเพลงชาติ

ที่มาของทำนองเพลงชาติปัจจุบันนั้น จากบันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์ ได้เล่าไว้ว่า ราวปลายปี พ.ศ. 2474 เพื่อนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของท่าน คือ หลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา)[1]: 15  ได้ขอให้ท่านแต่งเพลงสำหรับชาติขึ้นเพลงหนึ่ง ในลักษณะของเพลงลามาร์แซแยซ ซึ่งพระเจนดุริยางค์ได้บอกปฏิเสธ เพราะถือว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติอยู่แล้ว ทั้งการจะให้แต่งเพลงนี้ก็ยังไม่ใช่คำสั่งของทางราชการด้วย แม้ภายหลังหลวงนิเทศกลกิจจะมาติดต่อให้แต่งเพลงนี้อีกหลายครั้งก็ตาม พระเจนดุริยางค์ก็หาทางบ่ายเบี่ยงมาตลอด เพราะท่านสงสัยว่าการขอร้องให้แต่งเพลงนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง ประกอบกับในเวลานั้นก็มีข่าวลือเรื่องการปฏิวัติอย่างหนาหูด้วย[2]

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผ่านไปได้ประมาณ 5 วันแล้ว หลวงนิเทศกลกิจ ซึ่งพระเจนดุริยางค์รู้ภายหลังว่าเป็น 1 ในสมาชิกคณะราษฎรด้วย ได้กลับมาขอร้องให้ท่านช่วยแต่งเพลงชาติอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของคณะผู้ก่อการ ท่านเห็นว่าคราวนี้หมดทางที่จะบ่ายเบี่ยง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานั้นอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงขอเวลาในการแต่งเพลงนี้ 7 วัน และแต่งสำเร็จในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ตนได้กำหนดนัดหมายวันแต่งเพลงชาติไว้ ขณะที่นั่งบนรถรางสายบางขุนพรหม-ท่าเตียน เพื่อไปปฏิบัติราชการที่สวนมิสกวัน จากนั้นจึงได้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลง โดยได้เลือกใช้ทำนองคล้ายคลึงกับเพลงมาซูแร็กดอมบรอฟสกีแยกอและมอบโน้ตเพลงนี้ให้หลวงนิเทศกลกิจนำไปบรรเลง ในการบรรเลงตนตรีประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันพฤหัสบดีถัดมา พร้อมทั้งกำชับว่าให้ปิดบังชื่อผู้แต่งเพลงเอาไว้ด้วย[2]

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ศรีกรุงก็ได้ลงข่าวเรื่องการประพันธ์เพลงชาติใหม่โดยเปิดเผยว่า พระเจนดุริยางค์เป็นผู้แต่งทำนองเพลงนี้ ทำให้พระเจนดุริยางค์ถูกเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง ตำหนิอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ แม้ภายหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี จะได้ชี้แจงว่าท่านและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คิดการแต่งเพลงนี้ และเพลงนี้ก็ยังไม่ได้รับรองว่าเป็นเพลงชาติเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการทดลองก็ตาม แต่พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับคำสั่งปลดจากทางราชการให้รับเบี้ยบำนาญ ฐานรับราชการครบ 30 ปี และหักเงินเดือนครึ่งหนึ่งเป็นบำนาญ อีกครึ่งที่เหลือเป็นเงินเดือน โดยให้รับราชการต่อไปในอัตราเงินเดือนใหม่นี้ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเอง[2]

ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ผู้ประพันธ์คำร้องเพลงชาติฉบับแรกสุด

ส่วนเนื้อร้องของเพลงชาตินั้น คณะผู้ก่อการได้ทาบทามให้ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เป็นผู้ประพันธ์ โดยคำร้องที่แต่งขึ้นนั้นมีความยาว 2 บท สันนิษฐานว่าเสร็จอย่างช้าก่อนวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เนื่องจากมีการคันพบโน้ตเพลงพร้อมเนื้อร้องซึ่งตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งลงวันที่ตีพิมพ์ในวันดังกล่าว[3]: 20  แม้เพลงนี้จะเป็นเพลงที่ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปก็ตาม แต่เพลงนี้ก็ยังไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นเพลงชาติ และมีการจดจำต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีใครรู้ที่มาชัดเจน ดังปรากฏว่า มีการคัดลอกเนื้อเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราส่งเข้าประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ เมื่อ พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้แต่งด้วย[3]: 24 

เนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราประพันธ์เริ่มแรกสุดแต่ไม่เป็นทางการ และ เป็นฉบับต้องห้าม ก่อนที่จะมีการแก้ไขเมื่อมีการประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ ใน พ.ศ. 2476 มีดังนี้ (โปรดเทียบกับเนื้อร้องฉบับราชการ พ.ศ. 2477 ในหัวข้อ เพลงชาติไทยฉบับ พ.ศ. 2475 และ พ.ศ. 2477)

   แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบชาติไทยดึกดำบรรพ์บุราณลงมา ร่วมรักษาเอกราษฎร์ชนชาติไทย
บางสมัยศัตรูจู่มารบ ไทยสมทบสวนทัพเข้าขับไล่
ตะลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
   อันดินแดนสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือกระดูกที่เราบูชา เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
ยึดอำนาจกุมสิทธิ์อิสสระเสรี ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย สถาปนาสยามให้เทิดชัยไชโย  

เพลงชาติฉบับราชการ พ.ศ. 2477

ฉันท์ ขำวิไล ผู้ประพันธ์เพลงชาติสยามฉบับราชการ บทที่ 3 และบทที่ 4

ในปี พ.ศ. 2477 รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติเป็นผู้ดำเนินการ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธาน มีกรรมการท่านอื่น ๆ ดังนี้คือ พระเรี่ยมวิรัชพากย์, พระเจนดุริยางค์, หลวงชำนาญนิติเกษตร, จางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรี ตราโมท การประกวดเพลงชาติในครั้งนั้นได้ดำเนินการประกวดเพลงชาติ 2 แบบ คือ เพลงชาติแบบไทย (ประพันธ์ขึ้นโดยดัดแปลงจากดนตรีไทยเดิม) และเพลงชาติแบบสากล ซึ่งผลการประกวดมีดังนี้

1. เพลงชาติแบบไทย

คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติได้ตัดสินให้ผลงานเพลง "มหานิมิตร" ซึ่งประพันธ์โดย จางวางทั่ว พาทยโกศล เป็นผลงานชนะเลิศ เพลงมหานิมิตรนี้จางวางทั่วได้ประพันธ์ดัดแปลงมาจากเพลงหน้าพ­าทย์สำคัญของไทยที่มีชื่อว่า "ตระนิมิต" ให้สามารถบรรเลงเป็นทางสากล ซึ่งเพลงตระนิมิตนี้ เป็นเพลงที่ถือว่าเป็นเพลงครู นักดนตรีจะใช้บรรเลงในพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่น งานไหว้ครู บรรเลงเป็นการอัญเชิญครูบาอาจารย์ เทวดาทั้งหลายมาประชุมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้นจึงมีความหมายอันควรแก่การเคารพนับ­ถือเป็นสิริมงคล เหมาะสมที่จะใช้เป็นเพลงชาติไทยได้

รัฐบาลได้ทดลองบรรเลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงอยู่ระยะหนึ่ง แต่ต่อมาเมื่อคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติจะเสนอผลการประกวดให้คณะรัฐมนตรีประกาศรับรองนั้น คณะกรรมการฯ ได้ประชุมกันและมีความเห็นว่า เพลงชาติมีลักษณะที่บ่งบอกถึงความ­ศักดิ์สิทธิ์ หากมีการใช้อยู่ 2 เพลง จะทำให้คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง จึงได้ตัดสินใจไม่เสนอเพลงชาติแบบไทยที่ได้คัดเลือกไว้ให้คณะรัฐมนตรีประกาศรับรองเป็นเพลงชาติในที่สุด[4]

2. เพลงชาติแบบสากล
โน้ตเพลงชาติสยามฉบับราชการ พ.ศ. 2477

คณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติมีความเห็นให้ใช้ทำนองเพลงซึ่งประพันธ์โดยพระเจนดุริยางค์เป็นทำนองเพลงชาติแบบสากล สำหรับบทร้องนั้นได้คัดเลือกบทร้องของขุนวิจิตรมาตราซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นบทร้องชนะเลิศ และได้เพิ่มบทร้องของนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นบทร้องที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเข้าอีกชุดหนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้ประกาศรับรองให้เป็นบทร้องเพลงชาติฉบับราชการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477[5]

บทร้องทั้งของขุนวิจิตรมาตราและนายฉันท์ ประพันธ์ในรูปฉันทลักษณ์แบบกลอนสุภาพ (กลอนแปด) ความยาว 4 บท แต่ละบทมี 4 วรรค ผลงานของแต่ละคนจึงมีความยาวของบทร้องเป็น 16 วรรค เมื่อนำมารวมกันแล้วจึงทำให้บทร้องเพลงชาติทั้งหมดมีความยาวถึง 32 วรรค ซึ่งนับว่ายาวมาก หากจะร้องเพลงชาติให้ครบทั้งสี่บทจะต้องใช้เวลาร้องถึง 3 นาที 52 วินาที (เฉลี่ยแต่ละท่อนรวมดนตรีนำด้วยทั้งเพลงตกที่ท่อนละ 35 วินาที) ในสมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จึงนิยมร้องแต่เฉพาะบทร้องของขุนวิจิตรมาตรา และต่อมาภายหลังจึงไม่มีการขับร้อง คงเหลือแต่เพียงทำนองเพลงบรรเลงเท่านั้น

เพลงชาติสยามฉบับสังเขป พ.ศ. 2478

ในปี พ.ศ. 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 (มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน) ระเบียบดังกล่าวนี้ได้มีการกำหนดให้แบ่งการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติออกเป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิสดาร (บรรเลงตามความยาวปกติเต็มเพลง) และการบรรเลงแบบสังเขป ในกรณีของเพลงชาตินั้น ได้กำหนดให้บรรเลงเพลงชาติฉบับสังเขปในการพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สโมสรสันนิบาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีปกติ ส่วนการบรรเลงแบบเต็มเพลงนั้นให้ใช้ในงานพิธีใหญ่เท่านั้น[6]

ท่อนของเพลงชาติที่ตัดมาใช้บรรเลงแบบสังเขปนั้น คือท่อนขึ้นต้น (Introduction) ของเพลงชาติ (เทียบกับเนื้อร้องเพลงชาติฉบับปัจจุบันก็คือตั้งแต่ท่อน สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย) ความยาวประมาณ 10 วินาที ไม่มีการขับร้องใด ๆ ประกอบ[1]: 27–28 

เพลงชาติไทย พ.ศ. 2482–ปัจจุบัน

ในปี พ.ศ. 2482 ได้มีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" รัฐบาลจึงได้ประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงชื่อประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่เช่นเดิม แต่กำหนดให้มีเนื้อร้องความยาวเพียง 8 วรรคเท่านั้น และปรากฏคำว่า "ไทย" ซึ่งเป็นชื่อประเทศอยู่ในเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลไทยจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องเพลงชาติไทย โดยแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482[7] และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เนื้อร้องของหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกไทยก่อนแก้ไขเป็นฉบับทางการมีดังนี้[8] (สำหรับเนื้อร้องฉบับประกาศใช้จริง ดูได้ในหัวข้อ เนื้อเพลง)

   ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย

การประกวดเพลงชาติครั้งนี้ได้ปรากฏหลักฐานว่ามีกวีและผู้มีชื่อเสียงในทางการประพันธ์เพลงหลายท่าน เช่น เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แก้ว อัจฉริยะกุล ชิต บุรทัต เป็นต้น ซึ่งรวมถึงผู้ประพันธ์เนื้อเพลงชาติสองฉบับแรก (ขุนวิจิตรมาตรา และฉันท์ ขำวิไล) ได้ส่งเนื้อร้องของตนเองเข้าประกวดด้วย แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านการตัดสินครั้งนั้น เฉพาะเนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราแต่งใหม่นั้น ปรากฏว่ามีการใช้คำว่า "ไทย" ถึง 12 ครั้ง[]

บทร้อง

ฉบับปัจจุบัน

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย[7]

จากเนื้อร้องเพลงชาติข้างต้น ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา ได้ให้ความหมายของเนื้อร้องไว้ ดังนี้

"ประเทศไทยเป็นถิ่นที่รวมชนผู้มีเลือดเนื้อเชื้อชาติของไทยไว้ให้ได้อยู่อาศัยร่วมกัน แผ่นดินทุกส่วนของประเทศไทยย่อมเป็นของชาวไทยทุกคน ประชาชนไทยรักษาแผ่นดินไทยทั้งหมดไว้ได้ ก็ด้วยทุกคนมีน้ำใจสามัคคี

รักคนไทยด้วยกันและรักประเทศชาติ ชนไทยรักที่จะอยู่สุขสงบแต่ถ้าจำเป็นต้องรบกับศัตรูแล้วคนไทยไม่เคยขลาดกลัวเลย ไม่มีวันยอมให้ศัตรูหน้าไหนมาข่มขู่ทำลายความเป็นอิสระของชาติไทยได้ ทุกคนยอมสละเลือด

ทุกหยดเพื่อชาติไทยอยู่ยั่งยืนจะปกป้องคุ้มครองประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป และให้มีแต่ชัยชนะตลอดไป"

ฉบับ พ.ศ. 2477

สำหรับเพลงชาติไทยและเพลงชาติสยาม
ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 6 เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ ลงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 เนื้อหากล่าวถึงการรับร้องบทร้องเพลงชาติซึ่งประพันธ์โดย นายพันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ในนามกองทัพบกไทย โดยยึดถือตามทำนองเพลงเดิมของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)

ประพันธ์ทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ ใช้เป็นเพลงชาติไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2475 (ในลักษณะไม่เป็นทางการ) โดยช่วงแรกใช้คำร้องที่ประพันธ์โดย ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2476 รัฐบาลได้จัดการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติ และประกาศรับรองเนื้อร้องที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่โดยขุนวิจิตรมาตรา และเนื้อร้องที่แต่งโดยนายฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเป็นฉบับที่ชนะการประกวด เป็นเนื้อร้องเพลงชาติฉบับทางราชการ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477

ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: ขุนวิจิตรมาตรา
(บทที่ 1 และบทที่ 2)
แต่งเมื่อ พ.ศ. 2475
แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2477
ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: ฉันท์ ขำวิไล
(บทที่ 3 และบทที่ 4)
แต่งเมื่อ พ.ศ. 2477
ประกาศใช้เพิ่มเติมจากเนื้อร้องเดิมในปีเดียวกัน
แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตต์แดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราษฎร์คือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมมีใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทอดไทยไชโย
เหล่าเราทั้งหลายขอน้อมกายถวายชีวิต
รักษาสิทธิ์อิสสระ ณ แดนสยาม
ที่พ่อแม่สู้ยอมม้วยด้วยพยายาม
ปราบเสี้ยนหนามให้พินาศสืบชาติมา
แม้ถึงภัยไทยด้อยจนย่อยยับ[]
ยังกู้กลับคงคืนได้ชื่นหน้า
ควรแก่นามงามสุดอยุธยา
นั้นมิใช่ว่าจะขัดสนหมดคนดี
เหล่าเราทั้งหลายเลือดและเนื้อเชื้อชาติไทย
มิให้ใครเข้าเหยียบย่ำขยำขยี้
ประคับประคองป้องสิทธิ์อิสสระเสรี
เมื่อภัยมีช่วยกันจนวันตาย
จะสิ้นชีพไว้ชื่อให้ลือลั่น
ว่าไทยมั่นรักชาติไม่ขาดสาย
มีไมตรีดียิ่งทั้งหญิงทั้งชาย
สยามมิวายผู้มุ่งหมายเชิดชัยไชโย

การบรรเลง

การแสดงความเคารพต่อเพลงชาติด้วยการหยุดนิ่งในอาการสำรวม

ในข้อบังคับทหารว่าด้วยการเคารพ มาตรา 3 การบรรเลงเพลงเคารพ ได้ระบุถึงการบรรเลงเพลงเคารพในส่วนของเพลงชาติไว้ว่า เพลงชาติจัดเป็นเพลงเคารพด้วยแตรวง ใช้บรรเลงแสดงความเคารพต่อธงประจำกองทหาร ธงประจำกองยุวชนทหาร ธงชาติประจำสำนักงานของรัฐบาล ในขณะขึ้นลง และธงราชนาวีประจำเรือใหญ่ในขณะทำพิธีธงขึ้นลง[9]

แนวปฏิบัติสำหรับธงชาติไทยโดยทั่วไป ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติและธงของต่างประเทศในราชอาณาจักร พ.ศ. 2529 ได้ระบุไว้เช่นกันว่า เพลงชาตินับเนื่องเป็นหนึ่งอาณัติสัญญาณในการเคารพธงชาติ กล่าวคือ

1. เมื่อมีการชักธงชาติขึ้นและลง ให้แสดงความเคารพโดยการยืนตรง หันไปทางเสาธง อาคาร หรือสถานที่ที่มีการชักธงชาติขึ้นและลง จนกว่าจะเสร็จการ
2. ในกรณีที่ได้ยินเพลงชาติหรือสัญญาณการชักธงชาติ จะเห็นหรือไม่เห็นการชักธงชาติก็ตาม ให้แสดงความเคารพโดยหยุดนิ่งในอาการสำรวม จนกว่าการชักธงชาติหรือเสียงเพลงชาติ หรือสัญญาณการชักธงชาติจะสิ้นสุดลง[10]

แนวปฏิบัติดังกล่าวนี้ ได้ริเริ่มให้มีขึ้นครั้งแรก จากการบรรเลงเพลงชาติ ตามสัญญาณจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ในเวลา 08:00 น. และ 18:00 น. โดยบัญชาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ราวปี พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2[11]

วีดิทัศน์ประกอบเพลง

ในปัจจุบัน นอกจากการบรรเลงเพลงชาติในเวลา 08:00 น. และ 18:00 น. ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีวิทยุกระจายเสียงทุกสังกัด ทุกสถานีทั่วประเทศในนามของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมีการแพร่ภาพวีดิทัศน์ประกอบเพลงชาติ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยช่องต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งเดิมแต่ละสถานีฯ จะเป็นผู้จัดทำวีดิทัศน์ประกอบขึ้นเอง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 รัฐบาลไทยมีนโยบายให้สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดทำวีดิทัศน์กลางขึ้น เพื่อเผยแพร่โดยโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทยทุกแห่งในรูปแบบเดียวกันทั่วประเทศ โดยเริ่มใช้วีดิทัศน์ของดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป

ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตที่ใช้คลื่นความถี่ให้บริการทั่วไปต้องจัดให้ออกอากาศเพลงชาติไทยทุกวัน ในเวลา 08:00 น. และ 18:00 น. [12]

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เผยแพร่วีดิทัศน์เพลงชาติไทยรูปแบบใหม่ประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเนื้อหาแสดงถึงพลัง ความรู้สึกรักชาติแบบสมัยใหม่โดยไม่เน้นการสู้รบ[13] โดยได้มีการเผยแพร่ผ่านทางโทรทัศน์ในวันที่ 4 พฤษภาคม เวลา 08:00 น. ก่อนการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 แต่วีดิทัศน์ดังกล่าวมีการแก้ไขถึง 3 ครั้ง เนื่องจากมีกลุ่มองค์กรทางพระพุทธศาสนาบางส่วน ไม่เห็นด้วยกับวีดิทัศน์ดังกล่าวที่ไม่มีสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ เช่น พระพุทธรูป พระสงฆ์ เป็นต้น[14] โดยวีดิทัศน์ดังกล่าวได้ใช้เพลงชาติไทยที่มีการบันทึกเสียงใหม่ บรรเลงโดยวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย

แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนเพลงชาติไทย

กรณีเพลงชาติฉบับแกรมมี่ พ.ศ. 2548

วิดีโอหลายคลิปจากแหล่งข้อมูลภายนอก
video icon วิดีโอเพลงชาติกรณีเพลงชาติฉบับแกรมมี่ พ.ศ. 2548 โดยผู้ใช้ยูทูบ "พิพิธภัณฑ์ ธงชาติไทย"

ในปี พ.ศ. 2548 กระทรวงวัฒนธรรมเปิดเผยเพลงชาติฉบับใหม่ ซึ่งกระทรวงกลาโหมมอบหมายให้ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เรียบเรียง และจัดทำใหม่ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น สำหรับใช้ในหลายโอกาส ตามแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ที่ต้องการส่งเสริมความเป็นชาตินิยมในหมู่คนไทย ซึ่งเพลงชาติฉบับดังกล่าว มีการจัดทำออกมาถึง 6 รูปแบบ

ทั้งนี้ สื่อมวลชนให้คำนิยามสำหรับเรียกชื่อเพลงชาติแบบต่าง ๆ ที่ได้มีการเรียงเรียงใหม่ไว้ดังนี้

  1. "แบบเป็นทางการ" เสียงร้องหนักแน่นฮึกเหิม เหมาะสำหรับเปิดในสถานที่ราชการ ในงานราชการ งานทหาร หรือกิจกรรมที่ผู้จัดต้องการปลุกเร้าพลังรักชาติ
  2. "แบบไม่เป็นทางการ" เสียงร้องนุ่มนวลขึ้นกว่าฉบับแรก เหมาะสำหรับเปิดในงานทางการของภาคเอกชน งานมหรสพ หรืองานกึ่งทางการกึ่งลำลอง
  3. "แบบแกรมมี่ซาวด์ เอาใจวัยรุ่น" ขับร้องโดยนักร้องรุ่นเก่า ช่วงท้ายสร้างคีย์และเมโลดี้ใหม่ เหมาะสำหรับเปิดในงานลีลาศ
  4. "แบบแกรมมี่ซาวด์ เอาใจวัยรุ่น" ขับร้องโดยนักร้องรุ่นใหม่ ช่วงท้ายสร้างคีย์และเมโลดี้ใหม่ เหมาะสำหรับเปิดในโรงเรียนมัธยม หรือมหาวิทยาลัย
  5. "แบบเอาใจเด็กเล็ก" ใช้คณะเยาวชนร้องประสานเสียง เหมาะสำหรับเปิดในโรงเรียนอนุบาลและประถม
  6. "แบบเอาใจผู้สูงอายุ" ใช้เครื่องดนตรีไทยบรรเลง

แต่ด้วยกระแสเสียงคัดค้านจากสังคมเป็นจำนวนมาก ทำให้เพลงชาติที่มีการเรียบเรียงใหม่ทั้ง 6 แบบข้างต้น ไม่มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการในที่สุด ทั้งนี้ เพลงชาติที่เป็นทางราชการของไทยในปัจจุบัน เป็นฉบับซึ่งจัดทำและเผยแพร่โดย คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ตามมติคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับเพลงสำคัญของแผ่นดิน ลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546 และได้เริ่มใช้มา นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2547 โดยมีการเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ ในประเทศ[ต้องการอ้างอิง]

ดูเพิ่ม

เชิงอรรถ

  1. เนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราส่งประกวดในปี พ.ศ. 2482 มีดังนี้

    "ไทยไทยไทย ระลึกไว้ เผ่าของเรา
    ที่รวมเข้า มาเป็นชาติ ไทยกาจกล้า
    เอาเนื้อถม สร้างแผ่นดิน ถิ่นไทยลงมา
    เอาเลือดทา ไว้เอกราช คงชาติไทย
    ไทยเชื้อเรา สร้างไทย ไว้สำหรับไทยอยู่
    เราต้องชู เชิดไทย ไว้ให้ได้
    ใครรุกราน ไทยพร้อม ไม่ยอมให้ใคร
    เอาชีพแลกชาติ ประเทศไว้ เพื่อไทยไชโย"

    ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน หน้า 85)

  2. ตามที่ปรากฏประกาศเพลงชาติลงวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2477[5] ซึ่งตีพิมพ์ในราชกิจนุเบกษาเล่ม 51 ตอน 0 ง วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2477 ได้พิมพ์ข้อความในวรรคนี้เป็น "แม้ถึงไทยไทยด้อยจนย่อยยับ" ซึ่งผิดจากลายมือต้นฉบับของฉันท์ ขำวิไล ซึ่งเขียนไว้ว่า "แม้ถึงภัยไทยด้อยจนย่อยยับ" ทำให้อ่านไม่ได้ความหมาย ในบทความนี้จึงถือเอาความตามลายมือของฉันท์ ขำไว้ไลแทนฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน. หน้า 45–46

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 สุกรี เจริญสุข (1989). เพลงชาติ (1 ed.). กรุงเทพฯ: เรือนแก้วการพิมพ์.
  2. 2.0 2.1 2.2 พระเจนดุริยางค์. บันทึกความทรงจำของพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยากร) ชิวประวัติของข้าพเจ้า. พระนคร: สถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน. pp. 20–21.
  3. 3.0 3.1 สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล (ธันวาคม 2004). "ความเป็นมาของเพลงชาติไทยปัจจุบัน". วารสารธรรมศาสตร์. 27 (1).
  4. ""มหานิมิต" เพลงชาติไทย ทำนองดนตรีไทย". ปฏากรณ์ดอทคอม. 14 กันยายน 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012.
  5. 5.0 5.1 ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศเพลงชาติ. เล่ม 51 ตอน 0 ง หน้า 1553. 26 สิงหาคม พ.ศ. 2477.
  6. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ. เล่ม 52 ตอน 0 ง. หน้า 3219. 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478.
  7. 7.0 7.1 ราชกิจจานุเบกษา. "ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉะบับที่ ๖ เรื่อง ทำนองและเนื้อร้องเพลงชาติ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 9 มิถุนายน 2012. เล่ม 56 ตอน 0 ง หน้า 2653. 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482.
  8. ครูเงิน (1981). "ประวัติเพลงชาติไทย". เพลงไทยตามนัยประวัติ (1 ed.). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ บรรณกิจ.
  9. "ข้อบังคับทหารว่าด้วยการเคารพ". สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพเรือ กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กันยายน 2012.
  10. "รวมข้อปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติ". การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 พฤษภาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2011.
  11. ศรัณย์ ทองปาน (มกราคม 2007). "สารคดีพิเศษ: ธ. ธง คนนิยม". นิตยสารสารคดี. Vol. 22 no. 263. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 ตุลาคม 2007.
  12. ราชกิจจานุเบกษา. ประกาศคณะการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดทำผังรายการสำหรับการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๖. เล่ม 130 ตอน 27 ง หน้า 22–27. 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556.
  13. "ปลัดสำนักนายกฯ เผยเพลงชาติไทยรูปแบบใหม่ เปลี่ยนวิดีทัศน์เนื้อหาภาพ-ปรับทำนอง". ผู้จัดการออนไลน์. 3 พฤษภาคม 2019.
  14. "แก้ MV เพลง 'ชาติไทย' ใหม่ใส่พระพุทธรูปเพิ่ม". Voice TV. 21 พฤษภาคม 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!