หมุดคณะราษฎร |
---|
|
ปีที่เสร็จ | 10 ธันวาคม พ.ศ. 2479; 88 ปีก่อน (2479-12-10) |
---|
สื่อ | ทองเหลือง |
---|
สภาพ | สูญหาย |
---|
หมุดก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ[1] โดยทั่วไปเรียกว่า หมุดคณะราษฎร เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนนที่ลานพระบรมรูปทรงม้าด้านสนามเสือป่า ณ ตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) อ่านประกาศคณะราษฎรในการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หมุดมีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ" กระทรวงมหาดไทยจัดทำขึ้น มีพิธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นและหัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้ฝัง
ในช่วงปีหลัง ๆ บริเวณหมุดคณะราษฎรกลายเป็นสถานที่จัดงานรำลึกถึงการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ในทุกวันที่ 24 มิถุนายน ทั้งยังเป็นสถานที่เคลื่อนไหวทางการเมือง
ปัจจุบัน หมุดคณะราษฎรสูญหาย หลังจากที่ถูกถอดออกไปและนำ "หมุดหน้าใส" มาใส่แทนในปี 2560[2] ในปี 2563 มีการฝังหมุดคณะราษฎรหมุดที่ 2 ณ ท้องสนามหลวง เพื่อทดแทนหมุดคณะราษฎรอันเดิม[3]
การปรับเปลี่ยน
หมุดคณะราษฎรถูกถอดออกและถูกกระทำหลายครั้ง เช่น มีการนำสีดำมาราดทับ การนำของแข็งมาขีดจนเป็นรอยมากมาย การปฏิบัติเชิงสัญลักษณ์ และการประกอบพิธีสะกด[4]
ต้นปี 2558 สมบัติ บุญงามอนงค์ ลงภาพชาวบ้านกลุ่มหนึ่งกระทำพิธีต่อหมุดคณะราษฎร พร้อมกล่าวว่าเป็นพิธีถอดหมุดออก แต่เป็นเพียงการกระทำตามความเชื่อของชาวบ้านเท่านั้น[5][6]
หมุดคณะราษฎรเคยหายไปจากที่ตั้งในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งสั่งให้ย้ายหมุดไป[7] หมุดที่ถูกย้ายนั้น ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นำไปเก็บรักษาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร[8] จนกระทั่งมีการนำหมุดกลับคืนที่เดิมในสมัยรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร[7]
วันที่ 31 ตุลาคม 2559 เทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ลงภาพหมุดพร้อมข้อความในเฟซบุ๊กว่า "ประกาศหาเจ้าของ ถ้าไม่มาขุดเอาไป ภายในวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ผมกับเพื่อน ๆ ถือว่าไม่มีเจ้าของ จะไปเอาออกหรือทำให้หมดสภาพเอง ถ้ายังอยากเก็บรักษาไว้ รีบขุดออกไปเสียให้พ้น" โดยก่อนหน้านั้น เทพมนตรีตั้งคำถามผ่านเฟซบุ๊กด้วยว่า "มีคนมาขอความเห็นตนว่าตั้งแต่คณะราษฎรปฏิวัติ 2475 มาถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาประมาณ 85 ปีแล้ว เราได้นักการเมือง รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ที่โกงกินบ้านเมืองมามากมาย สมควรที่จะถอนหมุดอันนี้ออกหรือไม่ มีคนพูดกันว่าหมุดอันนี้เป็นความอัปยศของระบอบประชาธิปไตยก็มี คิดเห็นประการใด"[9]
หมุดหน้าใส
วันที่ 14 เมษายน 2560 มีข่าวว่าหมุดคณะราษฎรถูกเปลี่ยน โดยหมุดใหม่มีข้อความว่า "ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน"[2] ข้อความดังกล่าวตรงกับคาถาภาษิตในพระราชลัญจกรประจำเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.)[10] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ผู้เขียนหนังสือ 2475 และ 1 ปีหลังการปฏิวัติ วิเคราะห์คำบนหมุดใหม่นี้ว่า มีการใช้คำเก่าหลายคำ ได้แก่ "ประเทศสยาม" ซึ่งเป็นชื่อเก่าของประเทศไทย, "สุขสันต์" ซึ่งเป็นคำที่มีอายุมาค่อนศตวรรษแล้ว, "หน้าใส" ซึ่งพบในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาจตีความว่าหมายถึงมีความสุขสดชื่น แต่ขัดกับคำว่า "ประชาชน" ซึ่งเป็นคำใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 (ก่อนหน้านี้จะใช้คำว่า "ราษฎร") โดยรวมแล้ว หมุดดังกล่าวพยายามสื่อว่า บ้านเมืองดูดี แต่ไม่เห็นอุดมการณ์มองไปข้างหน้า ซึ่งขัดกับข้อความในหมุดเดิมที่ว่า ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ อันเป็นวิสัยทัศน์[7] คาดกันว่าหมุดดังกล่าวถูกเปลี่ยนระหว่างวันที่ 3–7 เมษายน 2560 ช่วงดังกล่าวมีการปฏิสังขรณ์พระบรมรูปทรงม้า ทั้งยังมีการตั้งเต็นท์ขึงตาข่ายกรองแสงปิดรอบหมุดคณะราษฎร[10][11]
บรรลือ สุกใส ผู้อำนวยการเขตดุสิต ทราบว่ามีการเปลี่ยนหมุด แต่เขตไม่ใช่ผู้เปลี่ยน[12][13] พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลไม่รู้เห็นในการเปลี่ยนหมุด แต่ไม่ได้ออกมาตรการเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ[14] พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงการแจ้งความว่า ไม่สามารถกระทำได้ เพราะหมุดไม่มีเจ้าของ[15] การตรวจสอบกล้องวงจรปิดก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะยุทธพันธ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานครถอดกล้องวงจรปิดในบริเวณดังกล่าวจำนวน 11 ตัวไปซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม[16] วันที่ 18 เมษายน มีการวางกำลังตำรวจและรั้วเหล็กล้อมหมุดดังกล่าว พร้อมสั่งห้ามถ่ายรูปกับหมุดใหม่ โดยอ้างว่าเพื่อรักษาความปลอดภัยจากมิจฉาชีพ[17] พลตำรวจโท ศานิตย์ มหถาวร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยืนตรวจตราอยู่ในบริเวณด้วย[18] นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติขอให้ยุติการทวงถามเรื่องหมุดคณะราษฎร เพื่อความสงบของบ้านเมือง[19]
ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีต่อวัฒนา เมืองสุข เนื่องจากลงข้อความว่า หมุดคณะราษฎรเป็นโบราณวัตถุ โดย บก.ปอท. อ้างว่า เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และอาจเข้าข่ายปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง[20] ต่อมา หน้าเฟซบุ๊กของกลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมศิลปากร ระบุว่า หมุดคณะราษฎร (สะกดผิดเป็น "หมุดคณะราษฎร์") มิใช่โบราณวัตถุ เป็นเพียงเครื่องหมายระบุตำแหน่ง[21]
วันที่ 17 เมษายน 2560 ที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นักศึกษา 3 คนจากกลุ่ม PPDD ธรรมศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ จัดกิจกรรม "ประชาชนหน้าไม่ใสก็ได้ป่ะ??" เรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขโมยหมุดคณะราษฎรนำหมุดมาคืน มีการลงชื่อเรียกร้องทวงหมุดคณะราษฎรคืนบนเว็บไซต์ Change.org หัวข้อ "เอาผิดผู้ทำลาย และต้องคืนหมุดคณะราษฎร" เพื่อให้มีความคืบหน้าในการสืบสวนกรณีดังกล่าว[22] วันที่ 18 เมษายน ปีเดียวกัน ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ติดตามหาหมุดคณะราษฎร แต่ถูกตำรวจและทหารควบคุมตัวจากศูนย์บริการประชาชนไปยังกองบัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์[23]
วันที่ 19 เมษายน 2560 กลุ่มประชาธิปไตยใหม่เข้าแจ้งความให้เจ้าหน้าที่ติดตามหาตัวคนร้ายมาดำเนินคดีในความผิดฐานลักทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งรวมหมุดคณะราษฎรด้วยเนื่องจากเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (10)[24] วันเดียวกัน ทหารยังเชิญตัวบุญสิน หยกทิพย์ ฝ่ายประสานงานชมรมธรรมาธิปไตยแห่งชาติ และเพื่อน ที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์เรื่องหมุดคณะราษฎรไปปรับทัศนคติทีมณฑลทหารบกที่ 11[25]
วันที่ 25 เมษายน 2560 ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี วิชาญ ภูวิหาร รองประธานสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ อ้างว่าเป็นผู้ถอนหมุดคณะราษฎรดังกล่าว และอ่านแถลงการณ์รับผิดชอบจำนวน 27 หน้า วิชาญอ้างว่า เมื่อถอนหมุดแล้วก็วางไว้ที่บริเวณเดิมไม่ได้เอาไปไหน และไม่ทราบว่าอยู่ที่ใด [26]
หลังจากนั้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 ซึ่งตรงกับวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมและอดีตนักโทษการเมือง นำหมุดคณะราษฎรจำลองที่เตรียมมาไปติดตั้งกลับคืนที่จุดที่อยู่เดิมของหมุดคณะราษฎร ถูกตำรวจจับกุมจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังมณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนถูกส่งตัวกลับบ้านในเวลา 19.45 น.[27]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
|
---|
การเมือง | ระบอบการปกครอง | |
---|
อุดมการณ์ | |
---|
อื่น ๆ | |
---|
| |
---|
ศิลปะ-วัฒธรรม | |
---|
สถานที่ และสิ่งปลูกสร้าง | อนุสาวรีย์ | |
---|
ผังเมือง | |
---|
การศึกษา-กีฬา | |
---|
ศูนย์ราชการ | |
---|
การทหาร | |
---|
สาธารณสุข | |
---|
คมนาคม | |
---|
ศาสนสถาน | |
---|
เศรษฐกิจ | |
---|
|
---|
อื่น ๆ | |
---|
- (✗) = ไม่ปรากฏแล้ว, ถูกรื้อถอน, สูญหาย, ยกเลิก
- (∇) = เปลี่ยนชื่อ, เปลี่ยนแปลงความหมาย
|