ในปี พ.ศ. 2485 จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ได้ยกร่างและประกาศใช้อักขรวิธีไทยแบบใหม่ขึ้น เพื่อให้การสะกดคำในภาษาไทยกะทัดรัดและลดความซ้ำซ้อนของตัวอักษรลง อย่างไรก็ตาม เมื่อจอมพล แปลก พ้นจากตำแหน่งในปลายปี พ.ศ. 2487 นโยบายต่าง ๆ ของจอมพล แปลก ได้ถูกยกเลิก ซึ่งรวมถึงอักขรวิธีไทยดังกล่าวด้วย รวมระยะเวลาการบังคับใช้อักขรวิธีของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยประมาณ 2 ปี 3 เดือน
ประวัติ
เมื่อประเทศไทยถูกดึงเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ามายังประเทศไทย และขณะเดียวกันนั้นก็ได้แจ้งแก่รัฐบาลไทยว่า ภาษาไทยนี้ยากมาก ทั้งการอ่าน เขียน พูด จึงขอให้เปิดโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่น และบังคับให้คนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น เหมือนคนจีนในเกาะไต้หวัน ทั้งๆที่ภาษาญี่ปุ่นมีความยุ่งยากทั้งในส่วนไวยกรณ์ การเขียน (มีตัวอักษรถึงสามประเภท) และการออกเสียง (ซึ่งตัวจีนตัวหนึ่งออกเสียงได้หลายแบบ) มากกว่าภาษาไทยหลายเท่า
จอมพล แปลก จึงเรียกประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิต ปรึกษาหารือเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไข เมื่อตกลงกันได้แล้ว จึงแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทย ประกอบไปด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งสิ้น 29 คน เปลื้อง ณ นคร และทวี ทวีวรรธนะ อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย
คณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยมีแนวทางส่งเสริมภาษาไทย 4 แนวทางคือ
- ส่งเสริมการศึกษาหลักและระเบียบภาษาไทย อย่างที่เรียกว่าภาษาศาสตร์
- ส่งเสริมการแต่ง ทั้งในวิธีร้อยแก้ว และร้อยกรอง ซึ่งรวมเรียกว่าวรรณคดี
- ส่งเสริมให้มีการวิจารณ์วรรณคดี
- จัดตั้งสมาคมวรรณคดี เพื่อจะได้เป็นแหล่งที่เพาะความรู้ภาษาไทย และโฆษณาภาษาไทย
คณะกรรมการดังกล่าวช่วยกันยกร่างเรื่องการปรับปรุงตัวอักษรไทยเสนอจอมพล แปลก และจอมพล แปลก เห็นชอบด้วย จึงลงนามในประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่อง การปรับปรุงอักสรไทย[1] เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยให้เหตุผลว่า "ตัวสระและพยัญชนะของภาสาไทยมีอยู่หลายตัวที่ซ้ำเสียงกันโดยไม่จำเป็น ถ้าได้งดไช้เสียบ้างก็จะเป็นความสดวกไนการสึกสาเล่าเรียกภาสาไทยไห้เป็นที่นิยมยิ่งขึ้น"
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ประกาศให้ใช้เลขสากล (เลขอาหรับ) แทนที่เลขไทย เพื่อความสะดวกในการติดต่อทั่วไป และเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว[2]
หลังจากจอมพล แปลก พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ในวันถัดมานั้น ควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ออกประกาศยกเลิกการใช้อักขรวิธีดังกล่าว และการใช้เลขสากล[3] ส่งผลให้กลับไปใช้อักขรวิธีไทยแบบเดิมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งได้ใช้มาจวบจนถึงปัจจุบัน และแม้ว่าจอมพล แปลก จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491 จอมพล แปลก ก็มิได้นำอักขรวิธีดังกล่าวกลับมาใช้อีก
อนึ่ง สาเหตุหลักของการที่อักขรวิธีไทยของคณะกรรมการส่งเสริมวัฒนธรรมภาษาไทยนั้นไม่ได้รับความนิยม คือ การขัดต่อความรู้สึกของประชาชน และความเคยชินกับอักษรไทยแบบเดิม[4]
การเปลี่ยนแปลง
งดใช้
- สระ: ใ, ฤ, ฤๅ, ฦ, ฦๅ
- พยัญชนะ: ฃ, ฅ, ฆ, ฌ, ฎ, ฏ, ฐ , ฑ, ฒ, ณ, ศ, ษ, ฬ
เปลี่ยนแปลงอักษร
ตัวอักษร ญ ให้คงไว้ แต่ตัดเชิง (ั) ออกเสีย เป็น
หลักเกณฑ์
- คำที่เคยใช้สระ ใ (ไม้ม้วน) ให้ใช้ ไ (ไม้มลาย) แทน
- คำที่เคยใช้สระ ฤ ฤๅ ให้ใช้ ร (เรือ) ประกอบสระตามกรณีที่ออกเสียงภาษาไทย เช่น
- ฤ ใน พฤกษา → รึ → พรึกสา
- ฤ ใน ฤกษ์ → เริ → เริกส์
- ฤ ใน ฤทธิ์ → ริ → ริทธิ์
- ฤๅ → รือ
- คำที่เคยใช้สระ ฦ ฦๅ ให้ใช้ ล (ลิง) ประกอบสระตามกรณีที่ออกเสียงในภาษาไทย เช่น
- คำที่เคยใช้พยัญชนะ ฆ (ระฆัง) ใช้ ค (ควาย) แทน เช่น
- เฆี่ยน → เคี่ยน
- ฆ้อง → ค้อง
- คำที่เคยใช้ ฌ (เฌอ) ใช้ ช (ช้าง) แทน
- คำที่เคยใช้พยัญชนะวรรค ฎ (ชฎา) ให้ใช้พยัญชนะวรรค ด (เด็ก) แทน โดยลำดับคือ
- ฎ (ชฎา) → ด (เด็ก) เช่น
- ชฎา → ชดา
- กฎหมาย → กดหมาย
- ฏ (ประฏัก) → ต (เต่า) เช่น
- ฐ (ฐาน) → ถ (ถุง) เช่น
- ฑ (มณโฑ) ในกรณีที่อ่านเป็นเสียง ด ให้ใช้ ด (เด็ก)
- ฑ (มณโฑ) ในกรณีที่อ่านเป็นเสียง ท ให้ใช้ ท (ทหาร)
- ฒ (ผู้เฒ่า) ให้ใช้ ธ (ธง) เช่น
- ณ (เณร) ให้ใช้ น (หนู) เช่น
- คำที่เคยใช้พยัญชนะ ศ ษ ให้ใช้ ส แทน เช่น
- ประกาศ → ประกาส
- ราษฎร → ราสดร
- คำที่เคยใช้พยัญชนะ ฬ (จุฬา) ให้ใช้ ล (ลิง) แทน เช่น
- คำที่มิได้มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต ให้เขียนตามระเบียบคำไทย เช่น
- บรร (ร หัน) → บัน เช่น
- ควร → ควน
- เสริม → เสิม
- เจริญ → จเริน
- สำคัญ → สำคัน
- ทหาร → ทหาน
- กระทรวง → กระซวง
อ้างอิง
แหล่งข้อมูล