ชตสึรุ

"อากิตะชตสึรุ" ผลิตจากปลาฮาตาฮาตะ ส่วนขวดด้านขวาคือ อิชิรุ ผลิตจากปลาซาร์ดีน

ชตสึรุ (ญี่ปุ่น: 塩魚汁) เป็นน้ำปลาท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่มีกลิ่นฉุนคล้ายกับน้ำปลาของไทย น้ำปลาแท้ทำมาจากปลาที่เรียกว่า ฮาตาฮาตะ (Arctoscopus japonicus) โดยน้ำปลาชนิดนี้นิยมผลิตในจังหวัดอากิตะ

ในวรรณคดี

มีข้อสันนิษฐานที่เชื่อว่า ชตสึรุคือน้ำปลาญี่ปุ่นที่ปรากฏอยู่ใน กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ความว่า

ยำใหญ่ใส่สารพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ

ในบทประพันธ์กล่าวถึง "น้ำปลาญี่ปุ่น" จากข้อมูลงานวิจัย "กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน กาพย์เห่นิราศแรมรสร้าง" โดยศาสตราจารย์ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต ว่า น้ำปลาญี่ปุ่นดังกล่าวนั้นเป็นน้ำปลาที่น่าจะเข้ามากับเรือสินค้าที่เดินทางมายังกรุงเทพ น้ำปลาญี่ปุ่นนั้นมีรสชาติที่ไม่เค็มเท่ากับน้ำปลาไทย แต่อย่างไรก็ตามน้ำปลาญี่ปุ่นในที่นี้ก็ไม่น่าจะใช่ซอสโชยุ[1] ในตำรา แม่ครัวหัวป่าก์ ของท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ก็เจาะจงใช้น้ำปลาญี่ปุ่นปรุงรสเค็ม[2]

ในปัจจุบันได้ใช้น้ำปลาไทยแทน ทั้งยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าน้ำปลาญี่ปุ่นที่ปรากฏในสำรับอาหารไทยตำรับในรั้วในวังนั้นใช่น้ำปลาญี่ปุ่นจริงหรือไม่[3] กฤช เหลือลมัย สันนิษฐานว่าน้ำปลาสูตรพิเศษของญี่ปุ่นคือการนำไปหมักกับซีอิ๊วชั้นดี ส่วนศาสตราจารย์ชลดา เรืองรักษ์ลิขิต สันนิษฐานได้ว่า เป็นน้ำปลาสูตรพิเศษที่นำไปหมักกับซีอิ๊วดี ๆ ก็ได้[4]

อ้างอิง

  1. พิชามญชุ์ ชัยดรุณ. "Royal Cuisine: "ยำใหญ่" กับน้ำปลาญี่ปุ่นในสำรับไทย". chiangmaicitylife.
  2. "แม่ครัวหัวป่าก์". วัชรญาณ.
  3. สุริวัสสา กล่อมเดช. "'น้ำปลาญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ' ญี่ปุ่นมีน้ำปลาด้วยเหรอ?".
  4. "น้ำปลาญี่ปุ่นในวรรณคดีไทย ล้ำยวนใจ…ไม่ใช่โชยุ แต่คือ "น้ำปลาชั้นเลิศ" ของญี่ปุ่น". ศิลปวัฒนธรรม.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!