รัฐประหารในประเทศไทย เป็นการถอดถอนรัฐบาลด้วยวิถีทางนอกกฎหมาย ซึ่งมักเป็นการใช้กำลังทหารเพื่อโค่นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้ง หรือแม้แต่รัฐบาลชุดที่หัวหน้าคณะรัฐประหารเองเป็นผู้นำก็มี
ลักษณะ
ประเทศไทยขาดเสถียรภาพทางการเมืองสูงและมีรัฐประหารหลายครั้ง ประเทศไทยมีรัฐประหารมากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย[1] ในปี 2559 "ประเทศไทยมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเวลา 57 จาก 85 ปีนับแต่ล้มสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 2475"[2] ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566 ประเทศไทยมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีในประเทศไทยเป็นเวลา 63 ปี 3 เดือน จาก 91 ปี ผู้บัญชาการทหารบกที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรักษาการนายกรัฐมนตรีมีทั้งหมด 11 ราย รายล่าสุดได้แก่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
รัฐประหารครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2557 โดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ผู้ก่อการรัฐประหารในประเทศไทยเป็นผลสำเร็จ ส่วนใหญ่เกิดจากกองทัพบก[3] ส่วนทหารเรือเคยพยายามก่อรัฐประหารมาแล้วครั้งหนึ่งในกบฏวังหลวง เมื่อปี พ.ศ. 2492 และกบฏแมนฮัตตัน เมื่อปี พ.ศ. 2494 แต่กระทำการไม่สำเร็จ ทำให้ทหารเรือเสียอำนาจในการเมืองไทยไป[4][5]
สาเหตุที่ผู้ก่อการอ้างมักเป็นเรื่องการฉ้อราษฎร์บังหลวง การดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และความแตกแยกในหมู่ประชาชน[6] อย่างไรก็ตาม นิธิ เอียวศรีวงศ์ มองว่า รัฐประหารในประเทศไทยไม่เคยเกิดขึ้นจากการตัดสินใจโดยลำพังของกองทัพ แต่ต้องอาศัยความเห็นชอบจากชนชั้นนำกลุ่มอื่น และมองว่ารัฐประหารในประเทศไทยจะยังมีอยู่ตราบเท่าที่การเมืองไทยยังเป็นเพียงเรื่องการจัดสรรอำนาจในหมู่ชนชั้นนำ[7]
ในกรณีประเทศไทย เมื่อคณะรัฐประหารได้ทำการยึดอำนาจได้สำเร็จคณะรัฐประหารในไทยมักจะใช้วิธีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและเสนอให้พระมหากษัตริย์ลงนามประกาศใช้ โดยมีหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (Countersign the Royal Command) มีการออกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวรับรองสถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ อาจมีการรับรองความสมบูรณ์สถานะทางกฎหมายของคำสั่งหรือประกาศ และรวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรอีกด้วย[8]
ในปี พ.ศ. 2567 ประเทศไทยมีประชาชนเรียกร้องการรัฐประหารอย่างเปิดเผย[9]ซึ่งเป็นเรื่องแปลกเนื่องจากประชาชนในประเทศอื่นไม่เคยออกมาเรียกร้องรัฐประหาร
รายชื่อรัฐประหารในประเทศไทย
- รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
- รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
- รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย จอมพล ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
- รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม
- รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
- รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม
- รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร (ตามที่ตกลงกันไว้)
- รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดย จอมพล ถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
- รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
- รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
- รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ
- รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พันตำรวจโท ดร. ทักษิณ ชินวัตร
- รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 นำโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลัง นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)
ทั้งนี้ บางตำราระบุว่า การปิดสภาผู้แทนราษฎร และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย และมิได้แยกเหตุการณ์วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นรัฐประหารอีกครั้ง[10]
ประเด็น
การเลือกใช้คำ "รัฐประหาร" กับ "ปฏิวัติ"
การปฏิวัติ หมายถึง การเปลี่ยนรูปแบบหรือระบอบการปกครองประเทศไทย จากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบหนึ่งอย่างสิ้นเชิง หรือมีการเปลี่ยนแปลงประมุขของรัฐเพื่อเปลี่ยน
รูปแบบประมุขของรัฐ ดังนั้น การปฏิวัติต้องเป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจหรือการเมืองใหม่ทั้งหมด ซึ่งในประวัติศาสตร์สยามและไทยยังเคยเกิดขึ้นครั้งเดียว คือ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[11]
รัฐประหาร หมายถึง การใช้กำลังเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารประเทศโดยฉับพลันเพื่อเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล โดยการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลเดิมแต่ไม่เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองหรือประมุขของประเทศ
การรับรองคณะรัฐประหารของพระมหากษัตริย์
ในปี 2563 รองศาสตราจารย์ หริรักษ์ สูตะบุตร รองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ้างว่า พระมหากษัตริย์จะปฏิเสธไม่รับรองคณะรัฐประหารและบรรดาคำสั่งต่าง ๆ ไม่ได้ เพราะจะเป็นการถือฝ่ายทางการเมือง[12] และ อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการประวัติศาสตร์ อ้างว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้แล้ว คณะรัฐประหารจะถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ซึ่งมีอำนาจเหนือกว่าพระมหากษัตริย์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้พระมหากษัตริย์อยู่ในฐานะที่ไม่อาจปฏิเสธการรับรองคณะรัฐประหารหรือคำสั่งต่าง ๆ ได้[13]
อย่างไรก็ตาม ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่าพระมหากษัตริย์เคยปฏิเสธการรับรองรัฐประหารมาแล้ว ได้แก่ กบฏยังเติร์กปี 2524 แม้ว่าจะมีประชาชนส่วนหนึ่งสนับสนุนด้วยซ้ำ ทำให้การก่อการครั้งนั้นล้มเหลว[14] ด้านพันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร หัวหน้าคณะจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหัวหน้าคณะ (ในส่วนนี้มีข้อสังเกตว่า ยังไม่มีการอ้างอิงทางวิชาการ) จะเห็นว่าเป็นการเกื้อกูลกันระหว่างกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ปี 2490 คณะใดที่ไม่ได้รับการโปรดเกล้า คณะนั้นก็จะเป็นกบฏ[15]
แนวทางแก้ไข
ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์และนักการเมือง เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคต โดยมีแนวทาง เช่น การปฏิรูปกองทัพ การเปิดกลไกเพื่อเอาผิดกับคณะรัฐประหารในอนาคต ตลอดจนการห้ามองค์การตุลาการรับรองอำนาจคณะรัฐประหาร[16] ส่วนเมื่อปี 2563 ในการชุมนุม "#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีการเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยมีข้อเรียกร้องหนึ่งว่าห้ามพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐประหารอีก[17]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น