ทองกวาว

ทองกวาว
บน: กลุ่มดอก, ล่าง: ใบ
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
Plantae
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
Tracheophyta
เคลด: พืชดอก
Angiosperms
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
Eudicots
เคลด: โรสิด
Rosids
อันดับ: ถั่ว
Fabales
วงศ์: ถั่ว
Fabaceae
วงศ์ย่อย: วงศ์ย่อยถั่ว
สกุล: Butea

(Lam.) Taub.
สปีชีส์: Butea monosperma
ชื่อทวินาม
Butea monosperma
(Lam.) Taub.
ชื่อพ้อง
  • Butea frondosa Roxb. ex Willd.
  • Erythrina monosperma Lam.[1]
  • Plaso monosperma (Lam.) Kuntze[2]

ทองกวาว, ทอง หรือ ทองธรรมชาติ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในวงศ์ถั่ว มีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้ จากประเทศปากีสถาน, อินเดีย, บังกลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และทางตะวันตกของอินโดนีเซีย[1]

ทองกวาวมีชื่ออื่นอีกคือ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), ดอกจาน (อีสาน)

เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลของจังหวัดเชียงใหม่ และเป็นต้นไม้ประจำโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย

ลักษณะทั่วไป

ต้นไม้ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 5–15 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ ลำต้นแตกกิ่งต่ำคดงอ เปลือกนอกสีเทาถึงสีเทาคล้ำค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ เปลือกในสีแดง สับเปลือกทิ้งไว้จะมีน้ำยางใส ๆ ไหลออกมาทิ้งไว้สักพักจะกลายเป็นสีแดง

ใบ ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงเวียนสลับ ใบย่อยมี 3 ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยที่ปลายเป็นรูปมนเกือบกลม ใบย่อยด้านข้างรูปไข่เบี้ยว กว้าง 8-15 ซม. ยาว 9-17 ซม. ปลายใบมน โคนใบสอบ แผ่นใบหนา หลังใบเกลี้ยง ท้องใบมีขนสาก เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม.

ดอก ออกเป็นช่อแบบไม่แตกแขนง ตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 2-15 ซม. ก้านช่อดอกมีขนสีน้าตาล ก้านช่อดอกยาว 3-4 ซม. กลีบรองกลีบดอกเชื่อมกันเป็นรูปบาตรยาว 1.3 ซม. ส่วนบนแยกออกเป็นกลีบสั้น ๆ 5 กลีบ มีขนสีน้ำตาลดำปกคลุมตลอดกลีบดอกยาว 7 ซม. มี 5 กลีบ ขนาดไม่เท่ากันคล้ายดอกถั่ว กลีบด้านล่างรูปเรือแยกเป็นอิสระดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 6 ซม. ดอกมีทั้งสีแสดและสีเหลืองสด ดอกสีเหลืองพบที่เชียงราย เชียงใหม่ อุบลราชธานี สุรินทร์

ผล ผลเป็นฝักแบนรูปบรรทัดกว้าง 3.5 ซม. ยาว 1.5 ซม. ผลแก่สีน้ำตาลอมเหลืองมีขนอ่อนนุ่มสีขาวเป็นมัน มีเมล็ดเดียวตรงปลายฝัก

การปลูกเลี้ยง

  • การปลูก: นิยมปลูกลงในแปลงปลูก เพื่อประดับบริเวณบ้านและสวน ขนาดหลุมปลูก 50x50x 50 เซนติเมตรใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก : ดินร่วนอัตรา 1:2 ผสมดินถ้าปลูกเพื่อประดับบริเวณบ้านหรืออาคารควรให้มีระยะห่างที่เหมาะสมเพราะทองกวาวเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่พอสมควร
  • การดูแล: ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง ชอบดินร่วนซุย ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2:3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 4-5 ครั้ง ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร
  • การขยายพันธุ์: โดยการเพาะเมล็ด

ประโยชน์

  • ดอก ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวด ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ
  • ฝัก ต้มเอาน้ำเป็นยาขับพยาธิ
  • ยาง แก้ท้องร่วง
  • เปลือก มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากเปลือก ช่วยเพิ่มขนาดหน้าอกให้ใหญ่ขึ้น แต่จะลดจำนวนอสุจิ
  • เมล็ด บดผสมมะนาว ทาบริเวณผื่นคัน
  • ใบ ต้มกับน้ำ แก้ปวด ขับพยาธิ ท้องขึ้น ริดสีดวงทวาร
  • ราก ต้มรักษาโรคประสาท บำรุงธาตุ [3]

ความเชื่อของไทย

  • ไม้มงคล คนไทยโบราณเชื่อว่า บ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ประจำบ้านจะทำให้มีเงินมีทองมาก นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ควรปลูกต้นทองกวาวไว้ทางทิศใต้ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณทั่วไปให้ปลูกในวันเสาร์
  • ทองกวาวเป็นพืชที่มีความสำคัญในศาสนาฮินดู ใช้เป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ไม้ทองกวาวใช้เป็นฟืนเผาศพ ถือเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์[4]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "Butea monosperma". Germplasm Resources Information Network (GRIN). Agricultural Research Service (ARS), United States Department of Agriculture (USDA). สืบค้นเมื่อ 2009-10-24.
  2. "Butea monosperma (Lam.) Taub". theplantlist.org. ThePlantList. สืบค้นเมื่อ 28 June 2020.
  3. ธงชัย เปาอินทร์. ต้นไม้ยาน่ารู้. กทม. 2551
  4. จารุพันธ์ ทองแถม. พืชมหัศจรรย์โลกวิกฤติ. กทม. เศรษฐศิลป์. 2555

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!