แดง (ชื่อวิทยาศาสตร์: Xylia xylocarpa) เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร (สูงสุด 37 เมตร) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (Fabaceae) เป็นไม้ที่ชอบขึ้นในป่าเต็งรัง, ป่าเบญจพรรณ และป่าสัก กระจายพันธุ์ในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยขึ้นได้ทั่วทุกภาค
ลำต้นค่อนข้างเปล่า ตรง หรือเป็นปุ่มปม เรือนยอดรูปทรงกลม หรือเก้งก้าง ไม่ค่อยแน่นอน สีเขียวอมแดง เปลือกเรียบสีเทาอมแดง ตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบาง ๆ รอบลำต้น เมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันสีแดง ยอดอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุม ใบเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น ก้านใบยาว 2–7 เซนติเมตร ช่อใบยาว 10–22 เซนติเมตร แต่ละช่อมีใบย่อย 4–5 คู่ ใบย่อยรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แผ่นใบมักจะเบี้ยว มีขนาดไม่เท่ากัน กว้าง 3–7 เซนติเมตร ยาว 7–20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมมน ฐานใบมักจะเบี้ยว ใบแก่ไม่มีขนปกคลุม หรืออาจจะมีขนประปรายด้านท้องใบเล็กน้อย ก้านใบย่อยยาว 2–4 มิลลิเมตร ดอกสีเหลือง ขนาดเล็ก ขึ้นอัดกันแน่นบนช่อกลมเดี่ยว ๆ หรือแตกกิ่งก้าน หรือขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง แต่ละช่อประมาณ 1.4 เซนติเมตร ก้านช่อดอกยาว 2–5 เซนติเมตร มีขนปกคลุมประปราย กลีบรองดอกเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีขนสีเหลืองปกคลุม กลีบดอก 5 กลีบติดกันเล็กน้อยที่บริเวณฐาน เกสรตัวผู้มี 10 อัน แยกจากกันเป็นอิสระยื่นออกมานอกดอก ดอกจะออกมาพร้อมกับใบอ่อนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ฝักจะแก่ประมาณเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ผลเป็นฝักแบน รูปขอบขนานเรียวและโค้งงอที่ส่วนปลาย ฝักแข็ง ยาวประมาณ 7–10 เซนติเมตร สีน้ำตาลอมเทา ผิวเรียบ ไม่มีขนปกคลุม ไม่มีก้าน เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก ผนังของฝักที่แตกมักจะม้วนบิดงอ เมล็ดแบนเรียวแหลม ยาวรีหรือเกือบกลม ยาว 0.4–0.7 นิ้ว กว้าง 0.35–0.5 นิ้ว สีน้ำตาลเป็นมัน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งพอประมาณ เมล็ดแม้จะผ่านไปเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี ก็สามารถงอกได้หากอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม ฝักหนึ่งมีจำนวนหลายเมล็ด
แดง เป็นไม้ที่ใช้ประโยชน์ ด้วยการใช้เนื้อไม้ในเชิงอุตสาหกรรมป่าไม้ ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ต่าง ๆ เนื้อไมีสีแดงเรื่อ ๆ หรือสีน้ำตาลอมแดง เสี้ยนเป็นลูกคลื่น หรือมักสน เนื้อละเอียดพอประมาณ มีความแข็งแรง มีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.18 ดอก เปลือกและแก่นใช้บำรุงหัวใจ แก้ไข้ แก้ช้ำใน[2]
แดงเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดตาก[3] และมีชื่อเรียกต่างออกไปตามแต่ละท้องถิ่น อาทิ "คว้าย" (เชียงใหม่, กาญจนบุรี), "ไคว" (แพร่ แม่ฮ่องสอน) "จะลาน, จาลาน, ตะกร้อม, สะกรอม" (จันทบุรี), "ซะกร็อฺม[4], ปราน" (สุรินทร์) เป็นต้น[5]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
Xylia xylocarpa | |
---|
Mimosa xylocarpa | |
---|