เหตุการณ์ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นเหตุการณ์ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปิดล้อมอาคารรัฐสภาในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เพื่อกดดันไม่ให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยอ้างว่ารัฐบาลขาดความชอบธรรมที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ[1]จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายในวันที่ 7 ตุลาคม
ในวันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2551 หลังจากที่ผู้ชุมนุมจากจังหวัดต่าง ๆ ได้ทยอยสู่ที่ชุมนุมแล้ว เวลาประมาณ 20.30 น. แกนนำพันธมิตรทั้งรุ่นแรกและรุ่นที่สองได้ขึ้นเวทีพร้อมกัน และประกาศขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อทำการปิดล้อมไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้ในวันรุ่งขึ้น (7 ตุลาคม)
เวลาประมาณ 06.20 น. ของเช้าวันอังคารที่ 7 ตุลาคม ตำรวจได้ระดมยิงแก๊สน้ำตาร่วม 100 นัด เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางให้คณะรัฐมนตรีและสมาชิกรัฐสภาเข้าไปประชุมรัฐสภาเพื่อแถลงนโยบายต่อรัฐสภา[2] ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ โดย นาง รุ่งทิวา ธาตุนิยม บาดเจ็บสาหัสภายหลังเสียชีวิตลง ในวันที่ 5 กันยายน 2559[3] ในวันดังกล่าวกลุ่มพันธมิตรฯ ได้เข้าทำการตัดน้ำตัดไฟในอาคารรัฐสภา ทางรัฐสภาจึงต้องใช้ไฟฟ้าสำรอง ต่อมาในเวลาประมาณ 09.30 น. การแถลงนโยบายร่วมได้เริ่มขึ้น แต่ ส.ส. และ ส.ว. หลายคนไม่ได้อยู่ในที่ประชุม นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาได้ให้นับองค์ประชุมปรากฏว่าไม่ครบองค์ประชุม จึงได้ให้พักการประชุม และเมื่อเปิดประชุมใหม่ปรากฏว่ามีเพียง ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น รวมจำนวน 320 คน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ฝ่ายค้านได้คว่ำบาตรการแถลงนโยบายครั้งนี้
เมื่อสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายเสร็จเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ก็ไม่สามารถจะเดินทางออกมาได้ เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมได้ปิดกั้นประตูทางออกแทบทุกทาง จึงต้องเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจแทน พร้อมด้วยชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาว ไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย ที่ถนนแจ้งวัฒนะ เพื่อหารือกับผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ถึงสถานการณ์[4]
ต่อมาเวลา 16.00 น. เกิดเหตุการณ์รถจิ๊ปเชโรกีระเบิดที่หน้าที่ทำการพรรคชาติไทย มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย คือ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี เป็นแกนนำพันธมิตรฯ จ.บุรีรัมย์ เป็น นรต.46 อดีตตำรวจ สวป.บุรีรัมย์ เป็นน้องเขยของนายการุณ ใสงาม ผู้ประสานงานพันธมิตร
ต่อมาเวลาประมาณ 17.00 น. บรรดา ส.ส. และ ส.ว. ยังคงติดอยู่ภายในอาคารรัฐสภา เนื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยอมให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวออก โดยให้ผู้จะออกแสดงบัตร และอนุญาตให้ออกเฉพาะที่ไม่ใช่ ส.ส. และ ส.ว. เท่านั้น เช่น พนักงานสภาและสื่อมวลชน ต่อมา ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตายิงอีกหลายนัด เพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. ออกไปได้ และระดมยิงแก๊สน้ำตาต่อเนื่องไปจนถึงหัวค่ำ ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและลานพระบรมรูปทรงม้า จากการปะทะกัน มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมยอดผู้บาดเจ็บทุกฝ่ายทั้งสิ้นในขณะนั้น 381 ราย เสียชีวิต 2 ราย ได้แก่ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี และอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ[5] และตำรวจได้รับบาดเจ็บ 11 นาย[6]
หลังจากนั้นไม่นาน พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมหลายภาคส่วนได้ประณามการกระทำของตำรวจครั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์การปะทะกัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานหน่วยพยาบาลเพื่อให้ทำการดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บ และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนสามแสนบาทแก่โรงพยาบาลรามาธิบดีเพื่อเป็นการค่าใช้จ่ายในการรักษา[7]
ผู้ทุพพลภาพ ขาขาด ได้แก่ นาย ตี๋ แซ่เดียว[8]นาย บัญชา บุญแก้ว ขาขาด นาย ธัญญา กุลแก้ว ขาขาด นางสาว นาฎยา ธิยา นิ้วเท้าขวาขาด นาย ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ข้อมือขวาขาด [9]และ นาย เสถียร ทับมะลิผล โดย นาย เสถียร ทับมะลิผล เสียชีวิต 14 กรกฎาคม 2555
มีตำรวจได้รับบาดเจ็บสาหัส 5 ราย ได้แก่ ร.ต.ต.เกียงไกร กิ่งสามี, ส.ต.ท.พงษ์ไท เชื้อชุมสุข ส.ต.ต.พีรเชษฐ์ ธราปัญจทรัพย์, ส.ต.ท.เศรษฐวุฒิ บัวทุม และส.ต.ท.วุฒิชัย คำปงศักดิ์ เนื่องจาก นายปรีชา ตรีจรูญ[10] ขับรถชน
นอกจากนั้น พลตำรวจตรี โกสินทร์ บุญสร้าง ถูกทำร้ายร่างกายจนสลบหมดสติในเหตุการณ์นี้
ลำดับเหตุการณ์ตามวันและวันเวลา
6 ตุลาคม
- เหตุการณ์[11]
- 18.20 น. แกนนำพันธมิตรฯ ประกาศเชิญชวนประชาชนในทำเนียบรัฐบาลขยายพื้นที่ชุมนุม ไปหน้าอาคารรัฐสภา ยกระดับต่อต้านรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยขอมติกลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนพลไปปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้นายสมชายเข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันที่ 7 ตุลาคม 2551
- 19.00 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลจำนวน 2 กองร้อย เตรียมพร้อมรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้ารัฐสภา รวมกับกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่มีอยู่โดยรอบทำเนียบ รวมทั้งสิ้น 7 กองร้อย จำนวน 1,050 นาย
- 19.30 น. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ , รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ. (มก.), รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ. (มก.1), ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล/รอง ผบ.เหตุการณ์ ประชุมติดตามสถานการณ์กรณีดังกล่าว ณ ศปก.น.
- 19.55 น. กลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 4,000 คน เดินทางถึงหน้ารัฐสภา ปิดล้อมทั้งด้านถนนอู่ทองใน และถนนราชวิถี
- 22.30 น. ผู้ชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล ประมาณ 40,000 คน ส่วนหน้ารัฐสภา 4,000 คน กำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลที่ปฏิบัติอยู่ ณ ขณะนี้มีรวม 12 กองร้อย จำนวน 1,800 นาย ฝ่ายสืบสวนปะปนกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งที่ทำเนียบและรัฐสภา เกาะติดด้านการข่าว บันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว
- 23.00 น. มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดพิเศษขึ้น โดยนัด พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เข้ารายงานสถานการณ์และสั่งการให้รักษาความสงบ
7 ตุลาคม
- 00.30 น. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (มก.) สั่ง ตำรวจภูธรภาค 1 , 2 , 7 และ ตำรวจตระเวนชายแดน จัดกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลเพิ่มอีกหน่วยละ 3 กองร้อย รวม 12 กองร้อย ปฏิบัติภารกิจวันที่ 7 ตุลาคม เวลา 03.00 น. เป็นต้นไป
- 01.30 น. นาย สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ประกาศจะไม่ให้มีการประชุมรัฐสภา ผู้ชุมนุมบริเวณทำเนียบ 37,500 คน, รัฐสภา 5,250 คน
- 01.40 น. พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนพร พร้อมด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ. รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ. (มก) รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ. (มก.2) ประชุมติดตามสถานการณ์ ณ ศปก.น.
- 04.30 น. พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล /รอง ผบ.เหตุการณ์ พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ประชุมซักซ้อมการปฏิบัติร่วมกับ รอง ผบก./ผบ.ร้อย ผู้ควบคุมกำลัง
- 05.50 น. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยังคงถกเครียดประเมินสถานการณ์พันธมิตรปิดรัฐสภา หลังพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางมาหารือด่วนเมื่อคืนที่ผ่านมา ขณะตำรวจตระเวนชายแดนเริ่มตั้งแถวเตรียมพร้อมรับคำสั่งทันที
- 06.00 น. พันตำรวจเอก ไพฑูรย์ มณีอินทร์ ประกาศเตือนทางโทรโข่งว่าจะมีการใช้แก๊สน้ำตา
- 06.15 น. กำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจล 12 กองร้อย เข้าปฏิบัติการตามแผน โดยนำกำลังเข้าทางด้านถนนราชวิถี แยกการเรือน, ถนนพิชัย แยกขัตติยานี เพื่อนำกำลังเข้ารักษาความปลอดภัยภายในรัฐสภา
- 08.30 น. เกิดเหตุไฟดับภายในอาคารรัฐสภา โดยกลุ่มพันธมิตรฯได้ตัดสายไฟบริเวณด้านนอกรัฐสภา ทำให้บริเวณภายในรัฐสภาไฟดับ อย่างไรก็ตาม ภายในอาคารรัฐสภาได้ใช้ไฟสำรองจากเครื่องปั่นไฟแทน ซึ่งไฟฟ้าสำรองดังกล่าวจะสามารถใช้ได้เพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
- 09.27 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ออกจากบ้านพัก คาดว่าจะเดินทางมาที่รัฐสภา
- 10.40 น. การประชุมรัฐสภา นาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ให้สมาชิกรัฐบาลกดบัตรแสดงตน เพื่อนับองค์ประชุมก่อนที่จะแถลงนโยบายรัฐบาล ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมจำนวน 320 คน ซึ่งถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อให้มีการลงคะแนนเพื่อดำเนินการแถลงนโยบายของรัฐสภา สมาชิกรัฐสภาจำนวน 307 คนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย 2 คน และไม่ลงคะแนน 5 คน
- 10.54 น. กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า
- 10.58 น. นาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ประกาศนับองค์ประชุมอีกครั้ง พบว่ามีสมาชิกรัฐสภาร่วมประชุมจำนวน 320 คน ซึ่งถือว่าครบองค์ประชุมแล้ว จากนั้นได้มีการลงคะแนนให้เริ่มการแถลงนโยบายของรัฐ ปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภาเห็นด้วยจำนวน 320 คน จึงสามารถเปิดประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาลได้ ขณะนี้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เริ่มแถลงนโนบายรัฐบาล
- 11.00 น. ตำรวจได้เสริมกำลังควบคุมสถานการณ์บริเวณรอบนอกรัฐสภา โดยเฉพาะถนนพิชัย ที่เป็นทางเดียวที่เปิดให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีเข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภา
- 11.59 น. พันธมิตรฯ กลับมายึดพื้นที่ถนนอู่ทองในตัดกับถนนราชวิถีได้แล้ว หลังถูกสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อเช้าวันที่ 7 ตุลาคมโดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ผลักดันกำลังตำรวจได้สำเร็จ
- 12.00 น. พันธมิตรฯ ได้ระดมปาขวดน้ำบรรจุน้ำปัสสาวะเต็มขวดข้ามเข้ามาในรั้วสภา และอีกส่วนหนึ่งกำลังช่วยกันพลิกรถกรงขังของตำรวจจนคว่ำลงไป
- 12.05 น. พันธมิตรฯ ได้เข้าปิดล้อมอาคารรัฐสภาอีกครั้ง หลังจากที่ถูกสลายการชุมนุมเมื่อเช้านี้ โดยเจ้าหน้าที่ได้ปิดประตูฝั่ง ถ.ราชวิถี จากนั้นพันธมิตรได้ใช้แผงเหล็กกั้นแล้วนำโซ่มาล่ามประตูและล็อกกุญแจหลาย ชั้นเพื่อไม่ให้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาที่อยู่ภายในอาคารออกมาได้
- 12.25 น. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน ออกแถลงการณ์ประณามพันธมิตรฯ ว่าได้กระทำความผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 ถือเป็นปรปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนบุคคลซึ่งถูก ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรองรับไว้ นอกจากนี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทำความผิด มาตรา 112 และ 116 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาลโดยใช้กำลังข่มขืน ประทุษร้าย เพื่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความ ปั่นป่วนในราชอาณาจักรหรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี
- 12.59 น. ตำรวจเจ็บ 2 นาย จากการที่ปะทะกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ซึ่งตำรวจ 1 ใน 2 นายนี้ โดนด้ามธงเสียบท้องทะลุหลังด้วย และถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
- 13.00 น. การะประชุมแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อสภาได้สิ้นสุดลง นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ปิดการประชุม ขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ยังไม่สามารถออกจากอาคารรัฐสภาได้
- 13.42 น. พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ นายทหารคนสนิท พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เดินทางเข้ายื่นประกันตัว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ต่อศาล มั่นใจจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
- 14.05 น. สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากรัฐสภา โดยปีนรั้วออกมาพร้อมผู้ติดตาม พร้อมกับเรียกประชุมด่วนที่กองบัญชาการกองทัพไทย
- 15.00 น. ดาบตำรวจ ทวีป กลั่นเนียม สังกัดกองบัญชาการตำรวจภูธร ภาค 6 จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งถูกผู้ชุมนุมพันธมิตรใช้ด้ามธงปลายแหลมแทงเข้าที่ซี่โครงทะลุปอด พ้นขีดอันตรายแล้ว ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
- 15.30 น. ที่กองบัญชาการกองทัพไทย นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เรียกผู้บัญชาการเหล่าทัพ ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดยนั่งเฮลิคอปเตอร์ตำรวจมาที่กองทัพไทย
- 15.47 น. เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณหน้าพรรคชาติไทย โดยจุดที่ระเบิดเป็นรถจี๊ป เชโรกี ทะเบียน พต 4755 กทม. โดยตัวรถฉีกขาดทั้งหมด และมีผู้เสียชีวิตคาที่อยู่ข้างรถ โดยรถดังกล่าวเป็นของผู้ชุมนุม ทราบภายหลังผู้เสียชีวิตชื่อ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี เป็นน้องเขยของ การุณ ใสงาม
- 15.58น. ตำรวจยิงระเบิดแก๊สน้ำตา เข้าใส่ฝูงชนบริเวณแยกสะพานซังฮี้จรดถึงแยกการเรือน เพื่อเตรียมเปิดทางให้ ส.ส. ที่เข้าร่วมประชุมสภา ออกจากนอกบริเวณรัฐสภา ทางประตูพระที่นั่งวิมานเมฆ
- 16.42 น. นาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ได้ปีนรั้วสภาออกไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากมีอายุมากแล้ว โดยเจ้าหน้าที่พยายามประคองอุ้มนายชัยออกไปอย่างทุลักทุเล
- 16.50 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุมที่หน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมถอยร่นมาจนถึงหน้าประตูสภาฝั่งถนนราชวิถี
- 17.00 น. ศาลอาญาสั่งยกคำร้องกรณีที่ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นคำร้องขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราว พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ต้องหาในความผิดฐานเป็นกบฏ โดยทนายอ้างว่าการจับกุมของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- 17.05 น. หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเพื่อสลายผู้ชุมนุมบริเวณประตูรัฐสภาให้ถอยร่นไปจนถึงลานพระบรมรูปทรงม้า ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเปิดประตูรัฐสภาเพื่อเปิดทางให้ข้าราชการ ผู้สื่อข่าว รวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ที่ติดค้างอยู่ภายใน ทยอยกันออกไปด้านนอกได้
- 17.25 น. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประจำวันอังคารที่ 7 ตุลาคม 2551 ปิดที่ 528.71 จุด ลดลง 23.09 จุด โดยมีปริมาณการซื้อขายทั้งสิ้น 16,313.39 ล้านบาท หลักทรัพย์ที่มีราคาปิดเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น 28 หลักทรัพย์ ลดลง 369 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 49 หลักทรัพย์
- 17.39 น. นาย สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี แถลงที่กองบัญชาการกองทัพไทยว่ายังไม่เห็นใบลาออกของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แต่ขณะนี้เป็นห่วงสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นที่รัฐสภา โดยประสานกับฝ่ายที่มีหน้าที่ดูแล แต่ไม่ใช่รัฐบาลจะแก้ไขฝ่ายเดียวได้ อย่างไรก็ตามยังไม่มีความคิดจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นครั้งที่ 2
- 17.43 น. ตำรวจยิงระเบิดแก๊สน้ำตา กลุ่มพันธมิตรกระเจิงวิ่งเข้าสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งมีทหารราบ ร.1 พัน 2 รอ. พร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉินเข้ารักษา
- 17.50 น. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เผยจะปฏิบัติภารกิจในการเยือนประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนต่อไป ส่วนสำหรับข้อเรียกร้องให้ลาออก หรือ ยุบสภานั้น นายสมชาย กล่าวว่า จะพิจารณาตามความเหมาะสม แต่ตราบใดที่อยู่ในหน้าที่ จะไม่ชะลอการทำงาน
- 18.00 น. พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และเพื่อนร่วมรุ่น จปร.7 กับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตร เผยว่าเหตุการณ์พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ปะทะตำรวจเป็นแผนของ พล.ต.จำลอง เตรียมไว้แล้ว เมื่อ พล.ต.จำลอง ถูกจับ ก็ให้คนเข้ามาในกรุงเทพมหานคร และเข้ามายึดรัฐสภา โดยพยายามสร้างสถานการณ์ให้เหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ คือ เมื่อ พล.ต.จำลอง ถูกจับ สถานการณ์ก็รุนแรงขึ้น แต่ขณะนี้ไม่มีคนนำ ทำให้เหตุการณ์ไม่จบแบบนั้น สมัยนั้นมีตนและ พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ เพื่อนร่วมรุ่นเล่นด้วยเป็นผู้นำ แต่วันนี้ไม่มีคนทำต่อเนื่องทำแล้วหยุด
- 18.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ประสานรถพยาบาล เพื่อเข้ามารับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย ที่ถูกยิงบาดเจ็บ จากการสาดกระสุนใส่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่จนถึงขณะนี้ รถพยาบาล ก็ยังไม่สามารถเข้าไปในอาคารรัฐสภาได้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจรายแรก ที่ได้รับบาดเจ็บ จากการถูกยิงเข้าบริเวณไหปลาร้าด้านขวา มีการใช้มีดผ่าลูกกระสุนออก ซึ่งล่าสุด อาการปลอดภัยแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกนายหนึ่ง ที่ถูกยิงบริเวณราวนมด้านขวา ยังอยู่ในอาการอันตราย ซึ่งหน่วยพยาบาล กำลังเร่งปฐมพยาบาล และประสานรถพยาบาล ให้เข้ารับตัว
- 18.30 น. สหภาพแรงงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย นัดหยุดงานอีกรอบ 9 ต.ค.นี้ หลังไม่พอใจภาครัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมพันธมิตร
- 18.50 น. ภายหลังจากที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ไปรวมตัวกันบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ทำให้ตำรวจที่เข้าประจำการณ์อยู่บริเวณหน้า กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ตัดสินใจ ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ฝูงชนเป็นระยะ ๆ จนกลุ่มผู้ชุมนุม ต้องถอยร่นไปจนถึงบริเวณหน้าวัดเบญจมบพิตร ขณะเดียวกันรถพยาบาลจำนวนมาก วิ่งเข้าไปในที่เกิดเหตุ และนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลแล้ว
- 18.52 น. นาย ธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงต่างประเทศ ยืนยันว่าสถานการณ์ความรุนแรงในประเทศขณะนี้ ยังไม่จำเป็นต้องเชิญเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย มาทำความเข้าใจ
- 18.57 น. พันธมิตรยกทัพจากรัฐสภา กลับเข้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมประณามรัฐบาล เป็นสภาเลือดแถลงนโยบายท่ามกลางการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม
- 19.00 น. พลตำรวจตรี โกสินทร์ บุญสร้าง ถูกผู้ชุมนุมทำร้ายจนสลบไป
- 19.06 น. ลำเลียงเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ที่ถูกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทำร้าย มาที่โรงพยาบาล ขณะผู้ชุมนุมขับรถกระบะเข้าชนรองสารวัตร ที่แยกอู่ทองใน
- 19.28 น. ตำรวจและผู้ชุมนุมกว่าร้อยนายตรึงกำลังที่ ถนนศรีอยุธยา หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล
- 19.39 น. สวนสัตว์ดุสิตเกรงผลกระทบการสลายการชุมนุมย้ายสัตว์หนี เนื่องจากสัตว์บางชนิดอาจตกใจเสียงการยิงระเบิดแก๊สน้ำตา จนวิ่งชนกรงบาดเจ็บหรือล้มตาย
- 19.42 น. พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุ การยิงระเบิดแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมของตำรวจ เป็นการป้องกันตัวเองตามสถานการณ์พร้อมยืนยัน แก๊สน้ำตาไม่ทำอันตรายถึงกับทำให้ใครขาขาด
- 20.02 น. บรรยากาศเหตุการณ์ปะทะกันระหว่าง เจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตร บริเวณแยกถนนศรีอยุธยา ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วม 100 นาย คอยสกัดกั้นหลังรั้วลวดหนาม บริเวณถนนที่มุ่งหน้ามาสู่กองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งด้านตรงข้ามมีกลุ่มพันธมิตรจำนวนประมาณ 200 คน คอยตะโกนขับไล่เป็นระยะ ๆ นอกจากนี้ มีกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์พันธมิตร ที่นำผ้าปิดพรางใบหน้า และนำเครื่องขยายเสียงมาปราศรัยโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะ ๆ ด้วย
- 20.18 น. ทหารตรึงกำลังเข้มหน้ากองทัพบก และแยก จปร.รอเสริมทัพตำรวจ หากคืนนี้สถานการณ์ชุมนุมบานปลาย
- 20.30 น. สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 40 คน ร่วมกันแถลงที่โรงแรมปริ๊นเซส โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากทม. กล่าวว่า ขอตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า ทำไมยิงแก๊สน้ำตาและยิงระเบิดใส่กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งที่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาออกมาจากรัฐสภาแล้ว ถือว่าจงใจฆ่าประชาชน ทำให้วิกฤตลุกลาม นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเพื่อยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้น รัฐบาลเข้าและออกสภาด้วยรอยเลือด ขัดกับนโยบายที่รัฐบาลแถลง และรัฐบาลต้องสอบสวนเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่ใช้ความรุนแรงด้วย ทั้งนี้กลุ่ม สมาชิกวุฒิสภาจะตั้งวอร์รูมที่โรงแรมปริ๊นเซสหลานหลวงอีกครั้งในวันที่ 8 ตุลาคม
- 20.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ายังคงมีกลิ่นแก๊สน้ำตาคละคลุ้งอยู่ ขณะที่พันธมิตรฯ พยายามกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง โดยได้พยายามใช้ผ้าปิดตามช่องท่อระบายน้ำเพื่อให้แก๊สฟุ้งกระจายออกมา พร้อมกับนำลวดหนามมากั้นเป็นแนวไว้
- 20.50 น. ตำรวจตั้งข้อสังเกตเจ้าหน้าที่ถูกยิง อาจเป็นฝีมือพันธมิตร หลังวิเคราะห์กระสุนที่ใช้ยิง เป็นอาวุธปืนที่หายไปจากทำเนียบ
- 20.50 น. พันธมิตร หน้ารัฐสภา ล่าถอยไปสมทบที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว ทิ้งไว้เพียงขยะเกลื่อนกลาด พร้อมเศษซากรถที่ถูกทำลาย
- 20.56 น. ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บที่ โรงพยาบาลวชิรพยาบาล พุ่งถึง 143 ราย มีตำรวจบาดเจ็บสาหัส 3 ราย
- 21.18 น. สรุปหลังปะทะเดือดระหว่างตำรวจกับกลุ่มพันธมิตรพบมีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย เจ็บอีก 225 ราย กระจายเข้ารักษาโรงพยาบาลหลายแห่ง
- 21.30 น. ตำรวจเริ่มตั้งแถวตรึงกำลังบริเวณระหว่างหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล กับ ลานพระบรมรูปทรงม้า
- 21.33 น. พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกกลุ่มพันธมิตรฯ ยิงได้รับบาดเจ็บภายในอาคารรัฐสภาว่า จากการสอบถามผู้เห็นเหตุการณ์ ทราบว่า ปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืนอัตโนมัติ และตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นปืนที่ถูกขโมยไปที่ทำเนียบรัฐบาล นอกจากนี้ ยังได้วิงวอนให้ผู้ชุมนุมพันธมิตรยุติการเคลื่อนไหว เพราะขณะนี้เป็นเวลากลางคืน เพราะมือที่ 3 อาจเข้ามาสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายได้ พร้อมกันนี้จะไม่ยอมให้กลุ่มผู้ชุมนุมบุกยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาลเด็ดขาด เนื่องจากเป็นสถานที่ราชการ และเป็นกองบัญชาการตำรวจทั่วกรุงเทพมหานคร จึงต้องรักษาไว้อย่างเต็มที่
- 22.10 น. ตำรวจเริ่มยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่พันธมิตรฯ บริเวณแยกลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากพันธมิตรเคลื่อนตัวเข้าไปใกล้กองบัญชาการตำรวจนครบาล หลังจากนั้นมีการยิงใส่อีก 4 นัด รวมเป็น 5 นัด ทำให้ผู้ชุมนุมต้องถอยร่นออกไป ตำรวจจึงหยุดยิงแก๊สน้ำตา
- 22.20 น. มีเสียงคล้ายระเบิดเสียงดังขึ้นสามนัดบริเวณแยกลานพระบรมรูปทรงม้าตัดไปยังหน้าบช.น. 2นัด จากนั้นตำรวจที่ตั้งแนวอยู่ได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม 5 นัดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การ์ดได้ควบคุมตัวเด็กช่างกลได้สองนาย ซึ่งเป็นต้นตอของระเบิดเสียงดังกล่าว และเมื่อสอบถามภายหลังพบว่าเด็กทั้งสองเกิดความแค้นที่เพื่อนถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บในช่วงเช้า
- 22:20 น. รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ธันย์ สุภัทรพันธ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับห้องผ่าตัดซึ่งมีไม่พอรองรับคนเจ็บ
- 22.21 น. กลุ่มพันธมิตรฮือปิดล้อมรถถ่ายทอดสดช่อง 3 และทีวีไทย ให้ออกจากทำเนียบรัฐบาล หลังถูกแกนนำกล่าวหาว่ารายงานข่าวไม่เป็นความจริง จนหวิดวางมวย "กมลพร วรกุล" พิธีกรสาวต้องเข้าเคลียร์ เรื่องจึงยุติ
- 22:34 น. ที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เหตุการณ์ตึงเครียดยิงระเบิดแก๊สน้ำตาอีกนับ 10 ลูกใส่ผู้ชุมนุม
- 23.15 น. ตำรวจยังคงยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่พันธมิตรฯ เป็นระยะ ๆ แต่เป็นการยิงขู่ ขณะที่พันธมิตรเข้ามาร่วมชุมนุมบริเวณแยกพระบรมรูปมากขึ้น
- 23.50 น. เจ้าหน้าที่หยุดยิงหลังพันธมิตรฯเริ่มนำกลุ่มชนกลับทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 8 ตุลาคม
- 03.20 น. ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่บริเวณปีกซ้ายตรงข้ามกับสำนักปลัดบัญชี กองทัพบก ได้มีมีชายฉกรรจ์ 2 คน ขี่รถมอเตอร์ไซค์มาจอดซุ่มอยู่ที่เชิงสะพานมัฆวานฯ จากนั้นได้ขว้างระเบิดสังหารเข้าใส่จุดรักษาการณ์ของพันธมิตรฯ ทำให้เกิดเสียงดังสนั่น และสะเก็ดระเบิดทำให้มีผู้บาดเจ็บนับสิบราย โดยรายที่ทุพพลภาพได้แก่เสถียร ทับมะลิผล เสียชีวิตวันที่ 14 กรกฎาคม 2555[12]
เหตุการณ์ภายหลัง
พิธีพระราชทานเพลิงศพ
วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปยังเมรุวัดศรีประวัติ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยมี พลอ.อ.สิทธิ เศวตศิลา พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ น.พ.เกษม วัฒนชัย นาย พลากร สุวรรณรัฐ พลเอก บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอก อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ พลเอกอภิชาต เพ็ญกิตติ ปลัดกระทรวงกลาโหม พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ[13] นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ [14] นาย อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน นาย เชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต่าง ๆ เฝ้ารับเสด็จ เฝ้ารับเสด็จ นอกจากนี้ทรงได้รับการต้อนรับอย่างปีติยินดีจากผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตรฯ หลายคน ณ ที่นั้น โดยเฉพาะแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
นาย พิภพ ธงไชย นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข อัญชลี ไพรีรักษ์[15] ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นาย สุริยะใส กตะศิลา นาย ศรัณยู วงศ์กระจ่าง น.ส.ศิริลักษณ์ ผ่องโชค นางสาว สโรชา พรอุดมศักดิ์ นาย สนธิ ลิ้มทองกุล [16][17]นาย กรณ์ จาติกวณิช นาย ศิริโชค โสภา นาย บุญยอด สุขถิ่นไทย นางสาว รสนา โตสิตระกูล รองศาสตราจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นาง สุนทรี เวชานนท์ นางสาว ลานนา คัมมินส์
สมเด็จพระบรมราชินีนาถมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต ซึ่งนายจินดา ระดับปัญญาวุฒิ บิดาของนางสาวอังคณา เปิดเผยว่าทรงแสดงความกังวลในสวัสดิภาพของผู้ชุมนุม และรับสั่งว่าจะจัดดอกไม้มาพระราชทานภายหลังด้วย[17] กับทั้งมีพระราชปฏิสันถารกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งนายสนธิมิได้เปิดเผยรายละเอียด กล่าวเพียงว่าเป็นแต่เรื่องส่วนตัวที่ไม่สำคัญนัก[16]
ก่อนหน้านี้ สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงพระราชอุทิศเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บในการจลาจลดังกล่าวทั้งสองฝ่าย ซึ่งฝ่ายพันธมิตรฯ กล่าวว่าเป็นสัญญาณแห่งการสนับสนุนฝ่ายตน [18]
ปฏิกิริยาจากกองทัพ
ในวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก, พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ, พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ร่วมกันออกอากาศในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ทางช่อง 3 โดยมี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[19]
ซึ่งการที่ผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดได้พร้อมใจกันออกรายการโทรทัศน์เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกครั้งนี้ ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงมีผู้เรียกเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า เป็น "การปฏิวัติผ่านหน้าจอ"[20]โดยวิกิลีกส์รายงานว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชกระแสรับสั่งห้ามไม่ให้มีการรัฐประหารจึงกลายเป็นที่มาของการที่ พล.อ.อนุพงษ์ เรียกร้องให้รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือยุบสภา
ปฏิกิริยาจากแกนนำชุมนุม
วันที่ 27 ตุลาคม 2551 นาย สนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวตำหนิแนวทางให้หยุดการชุมนุมโดยให้เจราจาทุกฝ่ายของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เขากล่าวถึงความจำเป็นในการชุมนุมเนื่องจากมีกลุ่มไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และกล่าวว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บมากถึง 400 คน[21]สืบเนื่องจากดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เรียกร้องให้มีการเจรจาทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การยุติการชุมนุมในวันที่ 26 ตุลาคม 2551 [22]
ในวันที่ 31 ตุลาคม 2551 พลตรี จำลอง ศรีเมือง [23]กล่าวตำหนิ ดร.ดิสธร วัชโรทัย อันเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ ดร.ดิสธร วัชโรทัย ได้กล่าว ในวันที่ 30 ตุลาคม 2551 ว่าถ้ารักในหลวงให้อยู่ชุมพร ไม่ต้องไปที่อื่น รักในหลวงให้อยู่บ้าน รักในหลวงให้กลับบ้าน คุณไปแสดงพลังตรงนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย รังแต่จะทำให้เกิดความแตกแยก ผมกล้าพูดตรงนี้เพราะผมเป็นตัวจริงเสียงจริงนะครับ รับพระราชกระแสมาเองว่า พวกเราต้องขยาย ทำอย่างไรให้เขาทราบว่า เรามีหน้าที่และทำหน้าที่อะไร ผมไม่ได้เข้าข้างใคร ผมไม่รู้ว่าใครผิดใครถูก ผมรู้อย่างเดียวว่า ผมอยู่พรรคในหลวง และพรรคนี้ใหญ่โตมาก[24]การแสดงออกดังกล่าวถูกตีความอย่างกว้างว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่พอพระทัยการชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาลและปิดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เนื่องจากนาย ดร.ดิสธร วัชโรทัย มีตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการพระราชวัง ราชการบริหารส่วนกลาง ณ เวลานั้น[25]
ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2552 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ซึ่งมี นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณาคดีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดนักการเมืองและนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง ตามข้อกล่าวหา ประกอบด้วย
- สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งเรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการ และเปิดทางให้ ส.ส.และ ส.ว.เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1
- พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี มีความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 6 ต่อ 3
- พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดขาขาดแขนขาด ก็ต้องยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป และมีการให้การจากพยานว่า เป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1
- พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และเป็นเจ้าของพื้นที่ มีความผิดวินัยร้ายแรงและอาญา เช่นกัน โดยที่ประชุม ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิด 8 ต่อ 1
สำหรับ พลตำรวจตรี ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี วิบูลย์ บางท่าไม้ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พลตำรวจตรี จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ออกปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ ทั้งหมด เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในความควบคุมรับผิดชอบและสั่งการของผู้บัญชาการตำรวจ นครบาล ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พฤติการณ์และพยานหลักฐานยังไม่พอฟังว่ามีมูลเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ราชการ จึงให้ข้อกล่าวหาตกไป
ส่วน พลตำรวจเอก วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นดังกล่าว ข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหาตกไป ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาโทษทางวินัยพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว และไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และพลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง[26]
บทสรุป ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษายกฟ้อง 4 จำเลย คดีสลายชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 โดยศาลชี้ว่าไม่ได้ทำผิดตามคำฟ้อง[27]
เอกสารการทูตสหรัฐ
ตามรายงานข่าวของเว็บหนังสือพิมพ์มติชน วิกิลีกส์ได้เผยแพร่เอกสารรายงานของอีริค จี. จอห์น อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 หนึ่งเดือนหลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 จอห์นรายงานถึงการสนทนากับสมาชิกตระกูลมหาเศรษฐีของไทยคนหนึ่งที่มีเส้นสายกว้างขวาง ซึ่งวิกิลีกส์ลบชื่อออก (ใช้ชื่อ สมมุติว่า นาย ก.) มีการสนทนากันหลายเรื่อง และในตอนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 โดยระบุถึงการวางแผนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังหวังจะสร้างสถานการณ์ปะทะขึ้นใหม่เพื่อให้คนตายอีกสักกว่า 20 ศพ อันจะทำให้การที่ทหารออกมายึดอำนาจสมเหตุผล"[28]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
|
---|
กลุ่มเคลื่อนไหวในช่วงปี พ.ศ. 2547−2554 |
บุคคลสำคัญ |
---|
แกนนำรุ่น 1 | |
---|
แกนนำรุ่น 2 | |
---|
ผู้ประสานงาน | |
---|
โฆษก | |
---|
แนวร่วมที่ มีชื่อเสียง | การเมือง | |
---|
กวี/นักร้อง/ นักแสดง | |
---|
สื่อมวลชน | |
---|
ทหาร/ตำรวจ | |
---|
นักวิชาการ | |
---|
อื่น ๆ | |
---|
|
---|
|
|
|
|
|