โสร่ง เป็นผ้านุ่งอย่างหนึ่ง ที่ใช้ผ้าผืนเดียว เพราะชายสองข้างเข้าด้วยกันเป็นถุง แบบเดียวกับผ้าถุง หรือผ้าซิ่น ใช้นุ่งอย่างแพร่หลาย ทั้งหญิงและชาย ในหลายประเทศของเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านด้วย นอกจากนี้ยังนิยมใช้ในหลายท้องถิ่นในหมู่เกาะแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยที่แต่ละท้องถิ่น จะมีชื่อเรียกต่างกันไป ทว่าอาจเรียกรวม ๆ ได้ว่า โสร่ง
ในบางท้องถิ่น โสร่งอาจนิยมใช้อย่างลำลอง สำหรับแต่งกายอยู่กับบ้าน แต่ในบางประเทศ เช่น พม่า เราจะพบว่าโสร่งเป็นผ้านุ่งที่นิยมใช้กันทั่วไป ทั้งในหมู่ชนชั้นสูง ระดับผู้บริหารประเทศ นักการเมือง กระทั่งพ่อค้าแม่ขาย นักศึกษา และผู้คนทั่วไป
ลักษณะของโสร่ง
คำว่า "โสร่ง" เป็นคำทับศัพท์จากภาษามลายู ว่า "Sarung" ซารุง มีความหมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับในภาษาไทย โสร่ง หมายถึงผ้านุ่งดังกล่าวมาข้างต้น แต่มักจะใช้เรียกเฉพาะผ้านุ่งของผู้ชาย ที่นิยมกันในหมู่ชาวไทยมุสลิม ทั้งสำหรับใช้ในบ้าน และแต่งออกนอกบ้าน เช่นไปมัสยิด หรือรับแขก ก็นิยมนุ่งโสร่งกันโดยปกติ คำว่า โสร่ง นั้นบางครั้งก็เรียกอย่างง่าย ๆ ว่า ผ้านุ่ง ได้เช่นกัน สำหรับชาวไทยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็มีการใช้ผ้าโสร่งบ้างเช่นกัน เช่น ในภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออกที่ติดกับอีสาน อีกทั้งชาวไทยเชื้อสายมอญหลายๆถิ่น จะเป็นผ้าโสร่งไหม ลายตาหมากรุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อาจใช้ในพิธีการได้ด้วย
ผ้าโสร่งน่าจะมีใช้และคุ้นเคยกับคนไทยมาช้านาน แม้ว่าการใช้ผ้าโสร่งจะไม่แพร่หลายทั่วไปอย่างผ้าซิ่น ผ้าถุง หรือผ้าขาวม้า ก็ตาม แต่ปรากฏหลักฐานการใช้โสร่งในตัวหนังตะลุงบางตัว โดยเฉพาะตัวตลก ขณะเดียวกัน การแสดงบางอย่างของชาวไทยมุสลิม ก็นิยมนุ่งผ้าโสร่งเป็นแบบแผน
ผ้าโสร่งนั้นมีด้วยกันหลายลักษณะ ทั้งที่มีลวดลาย และมีสีพื้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับผ้าโสร่งที่มีลายตารางคล้ายผ้าขาวม้า แต่ตารางของโสร่งมักจะมีตาใหญ่กว่า ทั้งนี้ก็เพราะโสร่งจะมีขนาดที่ใหญ่กว่านั่นเอง กล่าวคือ ยาวเกือบจรดข้อเท้า ขณะที่ผ้าขาวม้ามักจะยาวลงไปไม่เกินครึ่งแข้งเท่านั้น
การนุ่ง
การนุ่งผ้าโสร่งก็เหมือนกับการนุ่งผ้าถุง โดยทั่วไป คือ ต้อง “นุ่ง” ขึ้นมาจากเท้า ไม่ใช่พันรอบตัว ดึงขึ้นมาให้ขอบด้านบนเลยเอวเล็กน้อย จับปลายผ้าเหยียดออกไปจนสุด แล้วพับทบกลับมาให้แน่นหนาพอดีกับลำตัว แล้วพับขอบด้านบนลงมาเป็นชายพก ด้วยเหตุนี้ผ้าโสร่งจึงดูจะเป็นทางการ มีความเรียบร้อยมากกว่าผ้าขาวม้า ผ้าโสร่งจึงใช้นุ่งในที่สาธารณะได้ไม่ขัดเขิน
ผ้าโสร่งนอกจากใช้เป็นนุ่งแล้ว ยังใช้เป็นผ้าห่ม ผ้านุ่งอาบน้ำ (คนไทยในอดีต และในชนบท ไม่มีห้องน้ำเฉพาะ อาจอาบน้ำใกล้บ่อ หรือในแม่น้ำลำคลอง) และยังใช้สอยอื่น ๆ ได้ เช่นเดียวกับผ้าขาวม้า นับเป็นผ้าสารพัดประโยชน์อีกอย่างหนึ่งของไทย นอกจากนี้ยังใช้เป็นผ้าไหว้ในพิธีแต่งงาน สำหรับไหว้พ่อแม่ของเจ้าบ่าวเจ้าสาวด้วย
ปัจจุบันนี้ มีการผลิตผ้าโสร่งจากวัสดุต่าง ๆ เช่น ฝ้าย ไหม และเส้นใยสังเคราะห์ และทอด้วยลวดลายต่าง ๆ กัน ทั้งลายขัดพื้น ลายตารางหมากรุก และอาจมีลวดลายพื้น ๆ เล็ก ๆ น้อย ๆ อีกด้วย
ดูเพิ่ม
|
---|
เครื่องนุ่งห่ม | | |
---|
เครื่องสวมศีรษะ | |
---|
เครื่องประดับ | |
---|
ดูเพิ่ม | |
---|