พรรคแรงงาน หรือ พรรคแรงงานประชาธิปไตย เป็นพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2511 มีนายเชื้อ กาฬแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค และจดทะเบียนขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2517 และ พ.ศ. 2525 โดยมี นายเสรี สุชาตะประคัลภ์ เป็นหัวหน้าพรรคทั้ง 2 ครั้ง
ประวัติ
พรรคแรงงาน จดทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2511[1] โดยมีนายเชื้อ กาฬแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค และมีนายวีระ ถนอมเลี้ยง เป็นเลขาธิการพรรค และยุบพรรคในปี พ.ศ. 2514
พรรคแรงงาน จดทะเบียนจัดตั้งพรรคตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 และ พระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2517 เป็นลำดับที่ ๒๔/๒๕๑๗ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2517 โดยมีนาย เสรี สุชาตะประคัลภ์ เป็นหัวหน้าพรรคและนาย สอาด ปิยวรรณ เป็นเลขาธิการพรรค [2]
ในการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้งคือเมื่อ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 และ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 พรรคแรงงานได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งโดยทั้ง 2 ครั้งมี ส.ส. จากพรรคแรงงานเข้าสภาเพียงคนเดียว[3] คือ นายสอาด ปิยวรรณ ส.ส.ลำปาง เลขาธิการพรรค
คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้มีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 6 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2517 บรรดาพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวให้เป็นอันสิ้นสุดลง และห้ามตั้งพรรคการเมือง [4] แต่ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ยกเลิกคำสั่งฉบับดังกล่าว [5] ในปี พ.ศ. 2525 ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ในชื่อพรรคแรงงานประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2525 [6] ต่อมาได้ถูกยุบพรรคเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2532 [7]
พรรคแรงงานประชาธิปไตย
พรรคแรงงานประชาธิปไตย จดทะเบียนจัดตั้งพรรคขึ้นมาใหม่ในชื่อพรรคแรงงานประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2525 [8] มีนายเสรี สุชาตะประคัลภ์ เป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง
ต่อมาในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2529 ได้มีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคเป็น ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร[9] และในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2529 พรรคแรงงานประชาธิปไตย ได้รับเลือกตั้ง ส.ส. จำนวน 1 ที่นั่ง คือ พันเอก สมคิด ศรีสังคม จากจังหวัดอุดรธานี และนับเป็น ส.ส.เพียงคนเดียวของพรรค
พรรคแรงงานประชาธิปไตย ถูกยุบพรรคเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2532 [10]
อ้างอิง