รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทย เป็นพิธีที่รัฐสภาหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติจัดขึ้นหลังมีการเลือกตั้งและสรรหาสมาชิกสภาเสร็จสิ้นลงและมีการเรียกประชุมสภาสมัยสามัญขึ้นครั้งแรก[1] ปัจจุบันมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 122 ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดําเนินมาทรงทํารัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์ มาทํารัฐพิธีก็ได้”[2]
ความเป็นมา
เดิมที่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งสภากรรมการองคมนตรีขึ้น และมีการประชุมขึ้นครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 พระองค์ได้พระราชทานพระราชดำรัสให้เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ อัญเชิญไปอ่านในการเปิดประชุมในครั้งนั้น โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า[1]
…ท่านย่อมทราบแล้วว่าตำนานของกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมาการปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิ์ขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่เมื่อบ้านเมือง เจริญขึ้น มีราชการมากขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงตั้งแต่งผู้ที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวง ทบวงการต่าง ๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ…
—
เจ้าพระยามหิธร ผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]
กระทั่งเกิดการการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งใช้เป็นธรรมนูญปกครองแผ่นดินชั่คราวในขณะนั้นมิได้บัญญัติในเรื่องดังกล่าว กระนั้นก็ตาม จึงได้อาศัยประเพณีข้างต้นมาปฏบัติโดยอนุโลม เมื่อมีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขึ้นครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งใช้เป็นสถานที่ประชุมสภาขึ้นชั่วคราว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญพระราชดำรัสไปอ่านเปิดการประชุม ความว่า[3]
วันนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นการสำคัญอันหนึ่งในประวัติการณ์ของประเทศอันเป็นที่รักของเรา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ท่านทั้งหลายคงจะตั้งใจที่จะช่วยกันปรึกษาการงานเพื่อนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศสยามสืบไป และเพื่อรักษาความอิสรภาพของไทยไว้ชั่วฟ้าและดิน ข้าพเจ้าขออำนวยพร แก่บรรดาผู้แทนราษฎรทั้งหลายให้บริบูรณ์ด้วยกำลังกาย กำลังปัญญา เพื่อจะได้ช่วยกันทำการให้สำเร็จตามความประสงค์ของเราและของท่านซึ่งมีจุดมุ่งหมาย อันเดียวกันทุกประการเทอญ
—
เจ้าพระยามหิธร ผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]
กระทั่งมีการกำหนดรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มาตรา 30 วรรคสอง ว่า "พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำ หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทที่บรรลุนีติภาวะแล้วหรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้"[4] นับเป็นครั้งแรกที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับพิธีนี้
นับแต่นั้นเป็นต้นมา เมื่อมีการเรียกประชุมรัฐสภาหรือสภาอันใดที่มีความหมายเดียวกันขึ้นเป็นสมัยแรกของสภานั้น พระมหากษัตริย์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธี หรืออาจทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดเกล้ากระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ไปในพิธีดังกล่าวเสมอ
นับแต่การสร้างอาคารรัฐสภาแห่งที่ 2 ขึ้นแทนการใช้โถงพิธีพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว แต่ยังคงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ โถงพิธีพระที่นั่งอนันตสมาคมกระทั่งรัฐพิธีเปิดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2557 ก่อนปิดปรับปรุงในปี พ.ศ. 2560
ในปี พ.ศ. 2562 ได้จัดรัฐพิธีขึ้น ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ และปี พ.ศ. 2566 ได้ใช้โถงภายในเจดีย์จุฬามณีของอาคารรัฐสภาไทยหลังที่สาม เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธี[5]
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหลายฉบับได้บัญญัติเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไว้ใกล้เคียงกันในส่วนที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์หรือผู้แทนเป็นองค์ประธานผู้กระทำพิธีเปิดประชุม แต่มีความแตกต่างกันอยู่ในบางประเด็น เช่น ไม่ได้ระบุว่าให้กระทำรัฐพิธีในการเปิดประชุมสมัยใด โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๆ ดังจะได้สังเกตในตารางนี้
รัฐธรรมนูญ |
มาตรา |
ความในมาตรา |
สภาชุดแรก
|
2475*
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
ผู้แทนราษฎรชั่วคราว
|
2475
|
30
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดปิดประชุม
พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำ หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทที่บรรลุนีติภาวะแล้วหรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
|
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 1
|
2489
|
46
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมพฤฒสภาและสภาผู้แทนตามสมัยประชุม ทรงเปิดและปิดประชุม
พิธีเปิดประชุมจะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
|
พฤฒสภา ชุดที่ 1 และสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 4
|
2490*
|
54
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนตามสมัยประชุม ทรงเปิดและปิดประชุม
พิธีเปิดประชุมจะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำหรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาท ที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
|
วุฒิสภา ชุดที่ 2 และสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 5
|
2492
|
114
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภาทรงเปิดและปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่งมาทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้
|
รัฐสภา (วุฒิสภา ชุดที่ 2 และสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 5)
|
2495
|
59
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุม และทรงเปิดปิดประชุม
พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนิรมาทรงทำ หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชชทายาทที่บรรลุนีติภาวะแล้วหรือนายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้ (เลื่อนเลขมาตราตาม มาตรา 5 (5))
|
สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 7
|
2502*
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
สภาร่างรัฐธรรมนูญ
|
2511
|
110
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรง เปิดและปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิด ประชุมด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้า ฯ ให้รัชทายาทซึ่ง บรรลุนิติภาวะแล้วหรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์มาทำพิธี ก็ได้
|
รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 10 และวุฒิสภา ชุดที่ 3)
|
2515*
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
|
2517
|
138
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุม สมัยประชุมสามัญประจำปีสมัยแรกด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้รัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้
|
รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 11 และวุฒิสภา ชุดที่ 4)
|
2519
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
สภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
|
2520*
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
|
2521
|
117
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีสมัยแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้รัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้
|
รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 13 และวุฒิสภา ชุดที่ 5)
|
2534*
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
|
2534
|
135
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราช ดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกตามมาตรา 133 วรรคหนึ่งด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้
|
รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 17 และวุฒิสภา ชุดที่ 6
|
2540
|
161
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญทั่วไปครั้งแรกตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้
|
รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 21 และวุฒิสภา ชุดที่ 8)
|
2549*
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
สมัชชาแห่งชาติ
|
2550
|
128
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุม สามัญทั่วไปครั้งแรกตามมาตรา 127 วรรคหนึ่ง ด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์ มาทำรัฐพิธีก็ได้
|
รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 23 และวุฒิสภา ชุดที่ 9)
|
2557*
|
-
|
ไม่มีการบัญญัติไว้
|
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
|
2560
|
122
|
พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม
พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่ง เป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้
|
รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 และวุฒิสภา ชุดที่ 12)
|
หมายเหตุ * แทนรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะไม่มีการบัญญัติว่าด้วยเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ
รูปแบบพิธี
เมื่อมีกำหนดการรัฐพิธีจากสำนักพระราชวังให้กำหนดจัด ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอนันตสมาคม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของสภาอื่นที่เทียบเท่า คณะรัฐมนตรี หรือคณะผู้ปกครองประเทศในขณะนั้น พร้อมด้วยคณะทูตานุทูตที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททุกคนแต่งกายด้วยเครื่องแบบเต็มยศรอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ท้องพระโรงหน้า หน้าพระวิสูตร (ม่าน) เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาถึงพระที่นั่งอนันตสมาคม เสด็จผ่านท้องพระโรงไปทางหลัง แล้วเสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรภายในพระวิสูตร จากนั้น มหาดเล็กรัวกรับ ชาวม่านไขพระวิสูตร (รูดม่านเก็บ) ชาวพนักงานประโคมกระทั่งแตรมโหระทึก ทหารกองเกียรติยศถวายเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เมื่อสุดเสียงประโคมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา เมื่อสิ้นพระราชดำรัสแล้ว มหาดเล็กรัวกรับให้สัญญาณ ชาวม่านปิดพระวิสูตร ประโคมและบรรเลงเพลงเกียรติยศเช่นเดียวกับเมื่อเสด็จออก เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นจึงเริ่มดำเนินการประชุมสภาขึ้นได้[1]
ทั้งนี้ หากมิได้ประกอบพิธี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม กำหนดการรัฐพิธีจะปรับรูปแบบพิธีให้เป็นไปตามข้างต้นโดยอนุโลม เช่น รัฐพิธีในปี พ.ศ. 2549 ได้ประกอบพิธี ณ หอประชุมกองทัพเรือ ได้ให้ประธานสมัชชาแห่งชาติได้กราบบังคมทูลรายงานก่อนที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามกุฎราชกุมารทรงมีพระราชดำรัสในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรแก่ผู้ที่เฝ้าในที่ประชุมนั้น[6]
ภายหลังการปิดปรับปรุงพระที่นั่งอนันตสมาคมในปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ได้ประกอบรัฐพิธีในปี พ.ศ. 2562 [7] และปี พ.ศ. 2566 โดยกำหนดการได้ระบุให้สมาชิกสภาและข้าราชการผู้เข้าเฝ้าแต่งกายชุดปกติขาว ไม่มีการไขพระวิสูตรและประโคมกระทั่งแตรมโหระทึก[8][9]
การประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทย
คลังภาพ
-
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทยครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476
-
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489
-
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2493
-
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาไทยครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
อ้างอิง