คดีดิไอคอนกรุ๊ป
|
|
งาน ICON EVOLUTION EXPO เมื่อ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2566
|
สาระแห่งคดี
|
ข้อกล่าวหา
|
หลอกชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุน แต่สุดท้ายกลับไม่ดำเนินการตามที่ตกลงไว้
|
คู่ความ
|
จำเลย
|
บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด
|
ศาล
|
คดีดิไอคอนกรุ๊ป เป็นคดีพิเศษที่ 115/2567 ที่มีหมายจับ ผู้บริหารและพนักงาน บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ในข้อหามีพฤติกรรมหลอกชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุน แต่สุดท้ายกลับไม่ดำเนินการตามที่ตกลงไว้ โดย กรรชัย กำเนิดพลอย เริ่มเปิดเผยเรื่องนี้ในช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567
คดีดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับนักแสดงและผู้มีชื่อเสียงชาวไทยจำนวนหนึ่ง โดยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567 ศาลได้ออกหมายจับผู้กระทำความผิดในคดีนี้จำนวน 18 คน และตำรวจสามารถจับกุมได้ทั้งหมดในวันเดียวกัน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึง แซม - ยุรนันท์ ภมรมนตรี, มีน - พีชญา วัฒนามนตรี และ กันต์ กันตถาวร โดยทั้งสามมีทนายความมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมหลักทรัพย์ แต่ศาลอาญายกคำร้อง อีกทั้งศาลยังไม่อนุญาตให้มีการประกันตัวจำเลยที่เหลือในคดีนี้ทั้งหมดด้วย
หลังเกิดกรณีดังกล่าว ธุรกิจจำนวนหนึ่งได้ชี้แจงว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดิไอคอนกรุ๊ป อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ยังมีการพิจารณาเพิกถอนรางวัลที่เคยมอบให้บริษัทดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม ละครโทรทัศน์ที่มีผู้ต้องหาในคดีนี้ร่วมแสดง จะยังคงออกอากาศตามเดิม
วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ามีผู้แจ้งความรวมทั้งสิ้น 10,460 ราย มูลค่าความเสียหาย 3,213 ล้านบาทเศษ[1]
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดเป็นเงินประมาณ 320,320,308 บาท โดยเป็นทรัพย์สินประเภทหุ้นในบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ หน่วยลงทุน และสินทรัพย์ดิจิตอล จำนวน 26 รายการ และเป็นทรัพย์สินประเภทเงินในบัญชีซื้อชายหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร จำนวน 63 รายการ รวมทรัพย์สินที่ยืดและอายัดทั้งสิ้น 89 รายการ มูลค่าประมาณ 144,275,765 บาท พร้อมดอกผลไว้ชั่วคราวมีกำหนดไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ รวมทั้ง 4 คำสั่ง[2]
ภูมิหลัง
บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งโดย วรัตน์พล วรัทย์วรกุล จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีสำนักงานใหญ่อยู่ในย่านรามอินทรา ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าสุขภาพและความงาม ในช่วง 5 ปีแรก ดิไอคอนกรุ๊ปมีรายได้รวมทั้งหมดมากกว่า 10,000 ล้านบาท โดยครึ่งหนึ่งเป็นรายได้ในปี พ.ศ. 2564 เพียงปีเดียว
บริษัทใช้กลยุทธ์ในการจำหน่ายสินค้าหลายประการ เช่น จำหน่ายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายโดยที่ไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้เอง และเปิดสอนการขายออนไลน์ให้แก่ตัวแทนจำหน่ายและผู้ที่สนใจ รวมถึงการนำศิลปิน นักแสดง หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง มาดำรงตำแหน่งต่าง ๆ หรือเป็นพรีเซนเตอร์ให้กับสินค้าในเครือ
เหตุการณ์
จุดเริ่มต้น
เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2567 กรรชัย กำเนิดพลอย ผู้ประกาศข่าวของช่อง 3 เอชดี ได้ระบุในรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ในช่วงหนึ่ง เกี่ยวกับบริษัทขายตรงชื่อดัง ที่ใช้ดารานักแสดงที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และหลอกชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงทุน แต่สุดท้ายกลับไม่ดำเนินการตามที่ตกลงไว้ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม[3] โดยตนได้พูดคุยกับผู้เสียหายในกรณีนี้และรวบรวมข้อมูลไว้ทั้งหมดแล้ว และต่อมาในวันรุ่งขึ้น (8 ตุลาคม) กรรชัยได้โพสต์ข้อความเพิ่มว่าบริษัทดังกล่าวเริ่มมีพฤติกรรมข่มขู่บุคคลอื่น และพยายามปกป้องพรีเซ็นเตอร์ แต่ไม่ปกป้องผู้เสียหาย[4] ในเวลาต่อมามีผู้เสียหายออกมาแสดงตนและเปิดเผยกระบวนการหลอกลวงนี้เพิ่มขึ้น เช่น คริสโตเฟอร์ เบญจกุล อดีตนักแสดงที่ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งเพจเฟซบุ๊กที่โพสต์ในกรณีของคริสโตเฟอร์ได้ระบุคำใบ้เพิ่มผ่านแฮชแท็ก #ขยันผิดที่10ปีก็ไม่รวย ซึ่งเป็นวลียอดนิยมของวรัตน์พลที่เป็นผู้ก่อตั้งดิไอคอนกรุ๊ป[5]
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ผู้ใช้สื่อสังคมวิพากษ์วิจารณ์ดิไอคอนกรุ๊ปอย่างกว้างขวาง รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ไปยังผู้มีชื่อเสียงที่ดำรงตำแหน่งในดิไอคอนกรุ๊ป เช่น กันต์ กันตถาวร ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด, มิน - พีชญา วัฒนามนตรี ประธานเจ้าหน้าที่การสื่อสาร, แซม - ยุรนันท์ ภมรมนตรี ประธานเจ้าหน้าที่การวิจัย หรือพรีเซ็นเตอร์ของสินค้าในเครือ เช่น บอย - ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์, ป้อง - ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์, เวียร์ - ศุกลวัฒน์ คณารศ, โดม - ปกรณ์ ลัม และ พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร เป็นต้น
การชี้แจงและให้สัมภาษณ์จากผู้ก่อตั้งบริษัท
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม สองวันหลังกรรชัยเปิดเผยพฤติกรรมของดิไอคอนกรุ๊ป วรัตน์พล ผู้ก่อตั้งดิไอคอนกรุ๊ป ได้โพสต์ชี้แจงโดยสรุปว่า ตนดำเนินธุรกิจนี้อย่างถูกต้องและโปร่งใสมาโดยตลอด ส่วนกรณีที่มีผู้เสียหายนั้น ทีมงานของตนตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ตัวแทนจำหน่ายของดิไอคอนกรุ๊ป อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหากตนทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาจริง ตนจะยอมรับโทษตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด[6] ห้าวันถัดจากนั้นวรัตน์พลได้มาพูดคุยกับผู้เสียหายจากคดีดิไอคอนกรุ๊ปในรายการโหนกระแส และเดอะสแตนดาร์ดนาว ตามลำดับ โดยในรายการโหนกระแส เขาขอโทษผู้เสียหาย และบอกว่าจะ "พยายามรับผิดชอบให้เต็มที่ที่สุด จนกว่าผมจะไม่มีอะไรเหลือ หรือจนกว่าผมจะตาย"[7] และในเดอะสแตนดาร์ดนาว เขาได้ประกาศไม่รับตัวแทนจำหน่ายให้ดิไอคอนกรุ๊ปเพิ่ม[8]
ความเคลื่อนไหวจากผู้เคยมีส่วนเกี่ยวข้อง
ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีชื่อเสียง
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม สองวันหลังกรรชัยเปิดเผยพฤติกรรมของดิไอคอนกรุ๊ป แซม ยุรนันท์ ภมรมนตรี ประธานเจ้าหน้าที่การวิจัย ได้ชี้แจงว่า ตนไม่ได้เข้าประชุมกรรมการ หรือมีส่วนในการกำหนดทิศทางของดิไอคอนกรุ๊ปแต่อย่างใด เนื่องจากวรัตน์พลเป็นกรรมการคนเดียวของดิไอคอนกรุ๊ป แต่หากตำรวจติดต่อมา ตนก็พร้อมที่จะเข้าให้ข้อมูล[9] ต่อมาเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม บอย ปกรณ์ ได้ชี้แจงว่าตนทำหน้าที่เพียงเป็นพรีเซ็นเตอร์เท่านั้น ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในดิไอคอนกรุ๊ป[10] ในวันเดียวกัน กันต์ กันตถาวร ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่งเป็นพิธีกรในช่องเวิร์คพอยท์ ภายใต้สังกัดเวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ได้ประกาศยุติบทบาทพิธีกรในรายการของเวิร์คพอยท์ทั้งหมดเป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีนี้จะมีความชัดเจน[11] อย่างไรก็ตาม แม้ สคบ. จะเตรียมเรียกผู้มีชื่อเสียงที่ดำรงตำแหน่งในดิไอคอนกรุ๊ปทั้ง 3 คนมาให้ข้อมูลในสัปดาห์ถัดไป[12] แต่ในเวลาต่อมา ดิไอคอนกรุ๊ปก็ได้ออกแถลงว่า ทั้ง 3 คนไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม หรือผู้ถือหุ้นของดิไอคอนกรุ๊ปแต่อย่างใด เป็นเพียงผู้ช่วยและทำการตลาดให้สินค้าของดิไอคอนกรุ๊ปเท่านั้น[13] เช่นเดียวกับพรีเซ็นเตอร์อีก 2 คน คือ บอย ที่ดิไอคอนกรุ๊ปก็แถลงว่าเป็นเพียงพรีเซ็นเตอร์เพื่อช่วยทำการตลาดให้สินค้าของดิไอคอนกรุ๊ปเช่นกัน[14] อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น มีผู้มีชื่อเสียงประกาศยุติสัญญารับจ้างในการดำเนินงานกับดิไอคอนกรุ๊ปไปแล้ว 3 คน ดังนี้
- บอย ปกรณ์ ประกาศในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ขอยุติสัญญาการเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับสินค้า และคืนเงินค่าจ้างให้ดิไอคอนกรุ๊ป โดยระบุว่าตน "พร้อมอยู่ฝั่งผู้เสียหาย"[15]
- มิน พีชญา ประกาศในวันเดียวกัน ขอยุติสัญญาในการร่วมงานกับดิไอคอนกรุ๊ปทั้งหมด โดยระบุว่าตน "เลือกอยู่ข้างประชาชน" เช่นกัน[16]
- กันต์ กันตถาวร ประกาศเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ขอยุติสัญญาในการร่วมงานกับดิไอคอนกรุ๊ปทั้งหมด โดยระบุว่า "ทุกอย่างต้องอยู่ในมาตรฐานของความถูกต้อง"[17]
ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม มีบุคคลเบื้องหลังของดิไอคอนกรุ๊ปเปิดเผยในรายการถกไม่เถียงว่า วรัตน์พลและดิไอคอนกรุ๊ปมีที่ปรึกษาคือบุคคลตัวย่อ ธ. ที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเคยถือหุ้นอยู่ 21% ในดิไอคอนกรุ๊ป[18] ซึ่งต่อมามีการเปิดเผยว่าคือ ธเนตร วงษา สามีของ กบ - อนุสรา จันทรังษี อดีตนางเอกชื่อดังในยุค 80[19]
พระเมธีวชิโรดม
เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม มีการเผยแพร่คลิปที่พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี) เคยเทศน์ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในดิไอคอนกรุ๊ป[20] สี่วันถัดมา (15 ตุลาคม) พระเมธีวชิโรดมออกประกาศชี้แจงว่าตนเป็นหนึ่งในพระสงฆ์ที่ดิไอคอนกรุ๊ปนิมนต์มาสอนธรรมะและทำบุญถวายสังฆทานเป็นประจำทุกเดือน แต่ขออภัยในหลักการสอนของท่านเอง[21] และดิไอคอนกรุ๊ปก็แถลงขอขมาพระสงฆ์ทุกรูปเช่นเดียวกัน[22] อย่างไรก็ตาม สองวันถัดมา (17 ตุลาคม) ในรายการโหนกระแส ทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ ก็เปิดเผยว่า พบตาลปัตรเป็นตราดิไอคอนกรุ๊ป และมีการบริจาคเงินให้พระเมธีวชิโรดมอย่างน้อย 1,000,000 บาท[23]
ต่อมามีการเปิดเผยคลิปที่พระเมธีวชิโรดมเหน็บแหนมคนไม่มาสัมมนากับดิไอคอนกรุ๊ปว่ามีทัศนคติที่คับแคบและไม่ฉลาด[24] ส่งผลให้ในวันที่ 18 ตุลาคม อำนวยพร มณีวรรณ ได้นำคลิปดังกล่าวประกอบหลักฐานประกอบอื่น ๆ เข้าแจ้งความพระเมธีวชิโรดม ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนให้มีการฉ้อโกงประชาชนจากคดีนี้[25][26] ด้าน ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า ตนไม่ก้าวล่วงในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของพระสงฆ์ และมอบอำนาจในการพิจารณาให้มหาเถรสมาคม[27]
อย่างไรก็ตาม มีผู้แสดงความเห็นว่า การกระทำของพระเมธีวชิโรดมดังกล่าว อาจไม่เข้าข่ายความผิดฐานสนับสนุนให้มีการฉ้อโกงประชาชน เช่นเดียวกับดาราที่ไปเป็นพรีเซ็นเตอร์แต่มิได้เป็นผู้บริหารของดิไอคอนกรุ๊ป[28]
การรวบรวมหลักฐานและดำเนินคดี
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พลตำรวจโท อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลคดีการหลอกให้ลงทุนของดิไอคอนกรุ๊ป โดยได้สั่งการให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ภายใต้กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตั้งศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์เพื่อรับแจ้งความจากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนและตกเป็นผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าว[29] ต่อมา พันตำรวจเอก อุเทน นุ้ยพิน รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตำรวจกำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อขออำนาจศาลออกหมายจับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องภายใน 48 ชั่วโมง รวมถึงหารือกับกระทรวงการคลังในการตั้งข้อหา ซึ่งเบื้องต้นมีฐานความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และฟอกเงิน รวมถึงหารือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อพิจารณาโอนเป็นคดีพิเศษ[30]
สองวันถัดมา (13 ตุลาคม) พลตำรวจตรี โสภณ สารพัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และพลตำรวจตรี มนตรี เทศขัน ผู้บังคับการปราบปราม ได้แถลงความคืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป โดยตอนหนึ่งระบุว่า นอกจากวรัตน์พล, กันต์ กันตถาวร, มิน พีชญา และแซม ยุรนันท์ แล้ว ผู้เสียหายยังแจ้งความเอาผิด "บอสปีเตอร์" และ "บอสหมอเอก" เพิ่มอีกด้วย ตำรวจจึงถือว่าทั้ง 6 คนเป็นผู้ต้องหา แต่ยังไม่มีการออกหมายจับ[31] วันถัดมา (14 ตุลาคม) กรรชัยพร้อมด้วย กัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ และบอย ปกรณ์ ได้พาผู้เสียหาย 40 คนที่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการดำเนินธุรกิจของดิไอคอนกรุ๊ป เข้าแจ้งความที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง[32]
การออกหมายจับผู้ต้องหา
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ตำรวจ ปคบ. ได้นำพยานหลักฐานขออำนาจศาลอาญาออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องในคดีดิไอคอนกรุ๊ปทั้งหมด 18 คน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้ต้องหา 6 คนข้างต้นด้วย ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม[33] โดยศาลอนุมัติทั้ง 18 หมายจับ[34] ตำรวจ ปคบ. จึงเข้าจับกุมวรัตน์พลระหว่างเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงกับ สคบ. ในวันนั้น[35] และสามารถจับกุมผู้ต้องหาที่เหลือได้จนครบทั้ง 18 คนในวันเดียวกัน[36] โดยผู้ต้องหาทั้ง 18 คน มีดังนี้[37]
- นายกันต์ กันตถาวร
- นายจิรวัฒน์ แสงภักดี
- นายเชษฐ์ณภัฎ อภิพัฒนากานต์
- น.ส.เสาวภา วงษ์สาขา
- น.ส.กนกธร ปูรณะสุคนธ์
- นายกลด เศรษฐนันท์
- นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล
- น.ส.ปัญจรัศม์ กนกรักษ์ธนพร
- นายฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ
- น.ส.นัฐปสรณ์ ฉัตรธนสรณ์
- น.ส.ญาสิกัญจณ์ เอกชิสนุพงศ์
- นายนันท์ธรัฐ เชาวนปรีชา
- นายธวิณทร์ภัส ภูพัฒนรินทร์
- นายหัสยานนท์ เอกชิสนุพงศ์
- นายยุรนันท์ ภมรมนตรี
- น.ส.พีชญา วัฒนามนตรี
- นางวิไลลักษณ์ เจ็งสุวรรณ
- นายธนะโรจน์ ธิติจริยาวัชร์
วันเดียวกัน DSI ได้อายัดที่ดินจำนวน 63 ไร่ ริมถนนคู่ขนานถนนกาญจนาภิเษก ในพื้นที่ตำบลลาดสวาย อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ซึ่งดิไอคอนกรุ๊ปซื้อมาในมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายธุรกิจและก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมในชื่อ "ดิไอคอนซิตี" (The iCon City) ซึ่งประกอบด้วย หอประชุม บ้านของผู้บริหาร และอาคารศูนย์การเรียนรู้ออนไลน์ เนื่องจากพบว่าเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงินและฉ้อโกงประชาชน[38] นอกจากนี้ตำรวจ ปคบ. ยังอายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาในคดีนี้ ประกอบด้วยรถยนต์หรู 23 คัน, เงินสด 1,620,000 บาท, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 39 ชิ้น, สินค้าแบรนด์เนม 121 รายการ รวมถึงนาฬิกาหรูและทรัพย์สินอื่น ๆ รวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท[39]
วันถัดมา (17 ตุลาคม) รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและกิจการเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้นำหลักฐานเข้าแจ้งความอดีตผู้ประกาศข่าว ดีเจ และพิธีกรรายการชื่อดังมีส่วนเกี่ยวข้องกับดิไอคอนกรุ๊ป[40] วันเดียวกัน ตำรวจได้นำผู้ต้องหาจำนวน 17 คนไปฝากขังที่ศาลอาญา พร้อมระบุว่าไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพนักงานสอบสวน[41] โดยแบ่งกลุ่มผู้ต้องหาออกเป็น 4 ชุด เพื่อขึ้นรถ 4 คัน ซึ่งกลุ่มสุดท้ายเป็นผู้มีชื่อเสียงที่ดำรงตำแหน่งในดิไอคอนกรุ๊ป คือ แซม ยุรนันท์, กันต์ กันตถาวร และมิน พีชญา รวมถึงหมอเอก[42] ซึ่งต่อมาตำรวจเปิดเผยว่าทั้ง 17 คนให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา[43] ส่วนวรัตน์พลยังประสงค์ให้ปากคำต่อ จึงยังไม่มีการส่งตัวพร้อมกับคนอื่น ๆ โดยจะนำตัวมาฝากขังต่อศาลในวันถัดไป (18 ตุลาคม)[44] จากนั้นมีเพียงทนายความของแซม ยุรนันท์, กันต์ กันตถาวร และมิน พีชญา ที่ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยตัวชั่วคราวคนละ 2,000,000 บาท แต่ศาลอาญายกคำร้อง[45] ส่งผลให้ผู้ต้องหาทั้ง 17 คนถูกนำตัวไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อแยกคุมขังในคืนเดียวกันทันที[46] วันเดียวกัน คณะกรรมการธุรกรรม ภายใต้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) มีมติให้อายัดทรัพย์สินของดิไอคอนกรุ๊ปเพิ่มเติมอีก 1,500,000 บาท[47]
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ยังพบว่า มีผู้มีชื่อเสียงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวอีกหลายคน เช่น พระเมธีวชิโรดม (วุฒิชัย วชิรเมธี), ปู - มัณฑนา หิมะทองคำ , มดดำ-คชาภา ตันเจริญ, ลีซอ - ธีรเทพ วิโนทัย[48], ตั้ม - วราวุธ โพธิ์ยิ้ม[49], ครูอ้วน - มณีนุช เสมรสุต[50], ลิเดีย - ศรัณย์รัชต์ ดีน[51], ก้อง - อรรฆรัตน์ นิติพน, วีที - วิทวัจน์ สุนทรวิเนตร์, ต๋อย - ไตรภพ ลิมปพัทธ์[52], พิชัย จาวลา[53], ธเนตร วงษา[54], พีพี - กฤษฏ์ อำนวยเดชกร[55], ฝน ธนสุนทร[56], เวียร์ - ศุกลวัฒน์ คณารศ, เอ๋ - อัจฉรา ทองเทพ, ป้อง - ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์, อ๋อม - สกาวใจ พูนสวัสดิ์, ต้นหอม-ศกุนตลา เทียนไพโรจน์, เด็บบี้ - เดบาร่าห์ ซี[57], บอย - ปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ , โดม - ปกรณ์ ลัม, ไกรภพ จันทร์ดี (กบ ไมโคร) ลูกตาล - ชลธิชา เพ็ชรณสังกุล , เคนโด้ - เกรียงไกรมาศ พจนสุนทร[58], ฟิล์ม-รัฐภูมิ โตคงทรัพย์ เป็นต้น โดยทั้งหมดมีความผิดเบื้องต้น คือ ทราบว่าเป็นการหลอกลวงแต่เจตนาไม่แจ้งความ และสามารถช่วยประชาชนไม่ให้ถูกหลอกลวงได้แต่ไม่ทำ แต่ทั้งหมดก็ให้การปฏิเสธเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มีเพียงกบ, ลูกตาล และบุคคลภายนอกอีก 3 คน ที่วรัตน์พลเตรียมมอบหมายให้ทนายของตนยื่นหนังสือไปยัง DSI เพื่อแจ้งความเอาผิดในฐานะอดีตแม่ข่ายของดิไอคอนกรุ๊ป[59]
คลิปเสียง
มีการเปิดเผยคลิปเสียงปริศนาที่เกี่ยวข้องกับคดีดิไอคอนกรุ๊ปอยู่ใน 2 ประเด็น ดังนี้
- "เทวดา สคบ." เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ในรายการโหนกระแส กรรชัยได้เปิดคลิปเสียงปริศนาที่ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าดิไอคอนกรุ๊ปได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในเรื่องที่ถูกร้องเรียน แต่ไม่ระบุว่าเป็นเสียงของใคร นักการเมือง ส. ได้แก่ นาย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งพรรคมีคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งดังกล่าวเนื่องจากคดีนี้[60] “ทนายตั้ม” ษิทรา เบี้ยบังเกิด เนื่องจากได้โทรศัพท์ไปรีดไถเงิน 7 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่นำผู้เสียหายเข้าแจ้งความคดีดิไอคอน[61] ทนายตั้ม ซึ่งขณะนี้ตำรวจมีได้แจ้งข้อหากับทนายตั้ม รวม 4 คดี คือ คดีเงิน 71 ล้านบาท , เงินคริปโทเคอเรนซี , รถหรู และค่าออกแบบ ในข้อหา ฉ้อโกง, ฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และได้มีการกระทำความผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน[62]
ความเคลื่อนไหวจากหน่วยงานอื่น ๆ
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เคยมอบโล่รางวัลเนื่องในวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย ประจำปี พ.ศ. 2565 ให้แก่ดิไอคอนกรุ๊ป ส่งผลให้ภายหลังเกิดกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้สั่งการให้ สคบ. รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายในกรณีดิไอคอนกรุ๊ป และใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบอย่างรัดกุม อีกทั้งประสานความร่วมมือกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ, สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหากพบว่าดิไอคอนกรุ๊ปกระทำความผิดตามที่กล่าวหาจริง จะสั่งการให้ สคบ. เพิกถอนโล่รางวัลที่เคยมอบให้ต่อไป[67]
วันเดียวกัน สมาคมการขายตรงไทย ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่าดิไอคอนกรุ๊ปไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมการขายตรงไทย พร้อมอธิบายรูปแบบธุรกิจขายตรงที่ถูกต้องจำนวน 9 ข้อ[68] และจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของดิไอคอนกรุ๊ปจำนวน 13 รายการ ในระบบฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า มีผลิตภัณฑ์ได้รับอนุญาตจำนวน 12 รายการ ส่วนอีก 1 รายการ ไม่พบในระบบฐานข้อมูล[69]
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย พล.อ.อ.นพ.อิทธิพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้แจ้งความต่อ บก.ปคบ. ให้เอาผิด "หมอเอก" ฐานานนท์ หิรัญไชยวรรณ เนื่องจากแพทยสภาตรวจสอบพบว่าไม่มีชื่ออยู่ในระบบแพทย์[70] วันเดียวกัน เทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. ได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของดิไอคอนกรุ๊ป, วรัตน์พล, ณิชพน ทองมี, ฐิตตญา หงษ์อุปถุมภ์ไชย และ กันต์ กันตถาวร จำนวน 11 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 125,548,076.99 บาท พร้อมดอกผลไว้ชั่วคราว มีกำหนดไม่เกิน 90 วัน[71]
วันถัดมา (16 ตุลาคม) ไอคอนสยาม ออกแถลงการณ์ระบุว่ามิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับดิไอคอนกรุ๊ปแต่อย่างใด[72] วันเดียวกัน บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ประกาศยุติสัญญาในการเป็นพิธีกรและศิลปินในสังกัดกับกันต์ กันตถาวร โดยจะมีหนังสือแจ้งไปยังกันต์ต่อไป[73] วันถัดจากนั้น ช่อง 7HD ออกประกาศระบุว่าอดีตผู้บริหารของช่องที่ร่วมเป็นแม่ข่ายของดิไอคอนกรุ๊ป ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานของช่องตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2565 และการกระทำดังกล่าวเป็นไปในลักษณะส่วนบุคคล ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับช่อง 7HD แต่อย่างใด[74] ในวันเดียวกัน บอย - ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มของบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) และผู้อำนวยการช่องวัน 31 ระบุว่า จะไม่ระงับการออกอากาศละคร เกมรักปาฏิหาริย์ ถึงแม้ว่าจะมี มิน พีชญา และแซม ยุรนันท์ ร่วมแสดงด้วยก็ตาม เนื่องจากเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อคนอื่นที่เกี่ยวข้องกับละคร และมองว่าคนดูสามารถแยกแยะระหว่างละครและชีวิตจริงของนักแสดงได้[75]
สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน พ.ต.อ.สมคิด สาวิสัย รอง ผบก.ภ.จว.สระบุรี ในที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือที่สื่อเรียกว่า ฐานะบอสโปลิส[76] ต่อมาตำรวจกองปราบปรามนำกำลังจับกุม นางสาว กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์[77] หัวหน้าพรรคสุวรรณภูมิ ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 นาย เอกภพ เหลืองประเสริฐ เข้ามอบตัวเนื่องจากถูกออกหมายจับ[78] สามวันหลังจากนั้นตำรวจนำกำลังจับกุม นาง วิลาวัลย์ พุทธสัมฤทธิ์ และ นาย สามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตรองโฆษกรัฐบาล[79]
อ้างอิง