กันทรริยามหาเทวมนเทียร (เทวนาครี : कंदारिया महादेव मंदिर, Kandāriyā Mahādeva Mandir) แปลว่า "มหาเทพแห่งถ้ำ" เป็นโบสถ์พราหมณ์ ที่ใหญ่ที่สุดและวิจิตรที่สุดในบรรดาหมู่มนเทียร ยุคกลางที่พบในเมืองขชุราโห รัฐมัธยประเทศ ประเทศอินเดีย และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่สุดของมนเทียรที่สามารถคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน
ที่ตั้ง
กันทาริยามหาเทวมนเทียรตั้งอยู่ในอำเภอฉตารปุระ รัฐมัธยประเทศ ในอินเดียกลาง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านขชุราโห และเป็นหนึ่งในหมู่มนเทียรที่กินพื้นที่ราว 6 ตารางกิโลเมตร (2.3 ตารางไมล์)[ 2] มนเทียรนี้ตั้งอยู่ในส่วนตะวันตกของหมู่บ้าน ทางตะวันตกของมนเทียรพระวิษณุ [ 3]
หมู่มนเทียรแห่งหมู่บ้านขชุราโหนั้นตั้งอยู่ที่ความสูง 282 เมตร (925 ฟุต) และเชื่อมต่อกับทั้งทางถนน, ทางราง และทางอากาศ ขชุราโหนั้นตั้งอยู่ 55 กิโลเมตร (34 ไมล์) ทางใต้ของมโหบา , 47 กิโลเมตร (29 ไมล์) ทางตะวันออกจากตัวเมืองฉตารปุระ , 43 กิโลเมตร (27 ไมล์) จากปันนะ , 175 กิโลเมตร (109 ไมล์) ทางรถจากฌันสี ทางเหนือ และ 600 กิโลเมตร (370 ไมล์) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเดลี ขชุราโหตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟ 9 กิโลเมตร (5.6 ไมล์)[ 5] และอยู่ภายใต้พื้นที่บริการของท่าอากาศยานขชุราโห (รหัสทีาอากาศยาน IATA: HJR) ซึ่งมีเที่ยวบินระหว่างขชุราโหกับเดลี , อัคระ และ มุมไบ ตัวท่าอากศยานตั้งอยู่ห่างออกไป 6 กิโลเมตร (3.7 ไมล์) จากมนเทียร[ 5] [ 6]
ประวัติ
ขชุราโหในอดีตเคยเป็นราชธานีของจักรวรรดิจันเทละ กันทาริยามหาเทวมนเทียรซึ่งเป็นหนึ่งในมนเทียรที่มีการบำรุงรักษาไว้ได้ดีที่สุดจากยุคกลางของอินเดีย[ 7] นั้นถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาหมู่มนเทียรทางตะวันตกซึ่งสร้างขึ้นโดยผู้ปกครองชาวจันเทละ เทพเจ้าองค์ประธานของมนเทียรนี้คือพระศิวะ ซึ่งประดิษฐานอยู่ภายในครรภคฤห์ ของมนเทียร[ 8]
กันทาริยามหาเทวมนเทียรสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าวิทยธาร (ครองราชย์ 1003-1035) ในยุคสมัยต่าง ๆ ของจักรวรรดิจ้นเทละได้มีการสร้างมนเทียรที่มีชื่อเสียงหลายแห่งเพื่อถวายบูชาแด่พระวิษณุ, พระศิวะ, พระสูรยะ, พระศักติในศาสนาฮินดู และตีรถังกร ต่าง ๆ ในศาสนาไชนะ พระเจ้าวิทยธารหรือ “บีดา” (Bida) ตามบันทึกของนักประวัติศาสตร์มุสลิม อิบน์-ออลาฏีร์ ทรงเป็นผู้ปกครองที่มีอำนาจมาก และเคยต่อสู้กับมะห์มุดแห่งกันซี หลังถูกรุกรานในปี 1019 ศึกนี้ไม่สามารถหาผู้ชนะได้ และมะห์มุดก็ได้เดินทางกลับกันซี ก่อนจะทำสงครามต่อพระเจ้าวิทยธารอีกครั้งในปี 1022 มะห์มุดได้โจมตีป้อมกลินชร แต่การยึดป้อมนั้นไม่สำเร็จและถูกยกเลิกไป ท้ายที่สุดทั่งมะห์มุดและพระเจ้าวิทยธารได้ตกลงสงบศึกกัน, ตกลงเป็นมิตรและแลกเปลี่ยนของขวัญซึ่งกันและกัน พระเจ้าวิทยธารฉลองชัยชนะเหนือมะห์มุดและผู้ปกครองอื่น ๆ ด้วยการสร้างกันทาริยามหาเทวมนเทียรขึ้น เพื่อถวายบูชาแด่พระศิวะ เทพเจ้าประจำตระกูลของพระองค์ จากการศึกษาตีความจารึกที่พบบนเสาผนังด้านหน้า ของมณฑป ของมนเทียร พบว่าระบุชื่อผู้ก่อสร้างคือ วิริมทะ (Virimda) ที่ซึ่งตีความว่าเป็นอีกนามหนึ่งของพระเจ้าวิทยธาร การก่อสร้างนั้นดำเนินขึ้นระหว่างปี 1025 และ 1050
หมู่มนเทียรโดยรอบแห่งขชุราโห รวมถึงกันทาริยามหาเทวมนเทียร ได้รับการรับรองสถาเป็นแหล่งมรดกโลก ของยูเนสโก ในปี 1986 ด้วยเกณฑ์ข้อ III สำหรับผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ และเกณฑ์ข้อ V สำหรับวัฒนธรรมของชาวจันเทละที่เป็นที่นิยมในดินแดนจนกระทั่งถูกรุกรานโดยมุสลิม ในปี 1202[ 2] [ 10]
องค์ประกอบ
องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมฮินดู ที่ปรากฏบนกันทาริยามหาเทวมนเทียร
กันทาริยามหาเทวมนเทียรมีความสูง 31 เมตร (102 ฟุต) และตั้งอยู่ในหมู่มนเทียรทางตะวันตก มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาทั้งสามกลุ่มของโบราณสถานแห่งขชุราโห[ 11] หมู่มนเทียรตะวันตกซึ่งประกอบด้วยมนเทียรกันทาริยา, มตังเกศวร (Matangeshwara) และ วิศวนาถ นั้นมีการจัดเรียงที่เปรียบได้กับ "การออกแบบจักรวาลหกเหลี่ยม (ยันตระ หรือภาพเขียนของจักรวาล)" อันสื่อถึงสามรูปของพระศิวะ[ 5] สถาปัตยกรรมของมนเทียรประกอบด้วยระเบียงและหอคอยที่สุดท้ายบรรจบกันเป็นศิขระ องค์ประกอบซึ่งพบได้ทั่วไปในศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมาในโดยเฉพาะในพื้นที่อินเดียกลาง[ 11]
มนเทียรตั้งอยู่บนฐานขนาดมหึมา ความสูง 4 เมตร (13 ฟุต)[ 12] ส่วนโครงสร้างของมนเทียรบนฐานนั้นออกแบบและก่อสร้างอย่างชาญฉลาดและวิจิตรตระการตา โครงสร้างหลักนั้นสร้างในรูปของภูเขาชัน (steep mountain) สัญลักษณ์สื่อถึงเขาเมรุ ที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดที่มาของการสร้างโลก[ 8] โครงสร้างหลักนั้นประกอบด้วยหลังคาที่มีการประดับประดาอย่างวิจิตร ฐานมีขนาดใหญ่ก่อนจะบรรจบกันด้านบนในรูปของศิขระ ประกอบด้วยยอดขนาดเล็กย่อย ๆ อีก 84 ยอด
อ้างอิง
บรรณานุกรม
Abram, David (2003). Rough Guide to India . Rough Guides. ISBN 978-1-84353-089-3 .
Allen, Margaret Prosser (1 January 1991). Ornament in Indian Architecture . University of Delaware Press. ISBN 978-0-87413-399-8 .
Asher, Catherine B.; Talbot, Cynthia (16 March 2006). India Before Europe . Cambridge University Press. ISBN 978-0-521-80904-7 .
Kramrisch, Stella (1988). The Presence of Siva . Motilal Banarsidass. ISBN 978-81-208-0491-3 .
Leuthold, Steven (16 December 2010). Cross-Cultural Issues in Art: Frames for Understanding . Routledge. ISBN 978-1-136-85455-2 .
Ring, Trudy; Salkin, Robert M.; Boda, Sharon La (1994). International Dictionary of Historic Places: Asia and Oceania . Taylor & Francis. ISBN 978-1-884964-04-6 .
Ross, Leslie D. (4 June 2009). Art and Architecture of the World's Religions . ABC-CLIO. ISBN 978-0-313-34287-5 .
Sushil Kumar Sullerey (2004). Chandella Art . Aakar. ISBN 978-81-87879-32-9 .
อ่านเพิ่มเติม
Michell, George; Singh, Snehal. Hindu temples of India (PDF)
Surface, Space and Intention: The Parthenon and the Kandariya Mahadeva. Gregory D. Alles. History of Religions , Vol. 28, No.1, August 1988, pp. 1–36.
แหล่งข้อมูลอื่น
ทางวัฒนธรรม ทางธรรมชาติ ผสม หมายเหตุ: ใช้ชื่อตามที่ได้เสนอขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก