ฟเตหปุระสีกรี

27°05′28″N 77°39′40″E / 27.091°N 77.661°E / 27.091; 77.661

ฟเตหปุระสีกรี *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
Diwan-i-Khas – ท้องพระโรง (ส่วนพระองค์)
พิกัด27°5′27.6″N 77°39′39.6″E / 27.091000°N 77.661000°E / 27.091000; 77.661000
ประเทศเมืองอัคระ รัฐอุตตรประเทศ
ธงของประเทศอินเดีย อินเดีย
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณาii, iii, iv
อ้างอิง255
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2529 (คณะกรรมการสมัยที่ 10)
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ฟเตหปุระสีกรี (อังกฤษ: Fatehpur Sikri; ฮินดี: फ़तेहपुर सीकरी; อูรดู: فتحپور سیکری) เป็นเมืองตั้งอยู่ในเขตอำเภออัคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1569 โดยสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร และยังใช้เป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิโมกุลระหว่างปี ค.ศ. 1571–1585[1] ภายหลังจากชัยชนะจากสงครามกับชาวเมืองจิตเตารครห์ (Chitaurgarh) และรณถัมโภระ (Ranthambore) พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยย้ายเมืองหลวงจากอัคระมายังที่แห่งใหม่บริเวณนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งของสะพานสิครีเป็นระยะทาง 23 ไมล์ (37 กิโลเมตร) เพื่อเป็นเกียรติแก่นักบุญลัทธิศูฟี พระนามว่า "ซาลิม คิชติ" (Salim Chishti) โดยได้ใช้เวลาออกแบบผังเมืองและสร้างถึง 15 ปี ซึ่งรวมถึงกำแพงเมืองรอบด้าน พระราชวัง ตำหนัก ฮาเร็ม ศาล มัสยิด และอาคารสาธารณูปโภคต่าง ๆ [2] ทรงตั้งชื่อเมืองว่า "ฟะเตฮาบาด" (Fatehabad) มาจากคำภาษาอาหรับว่า "ฟัตห์" แปลว่า "ชัยชนะ" และต่อมากลายเป็น "ฟเตหปุระสีกรี" (Fatehpur Sikri)[3] ฟเตหปุระสีกรี นั้นถือเป็นหนึ่งในสิ่งปลูกสร้างในสถาปัตยกรรมโมกุลที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดในประเทศอินเดีย[4]

จากการสันนิษฐานของนักประวัติศาสตร์ จักรพรรดิอักบัรได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและก่อสร้างสถานที่แห่งนี้อย่างมาก โดยตั้งใจที่จะชุบชีวิตอันหรูหราของราชสำนักเปอร์เซียโบราณ โดยการวางแผนนั้นรับรูปแบบตามราชสำนักเปอร์เซีย แต่มีการปรับโดยใส่รายละเอียดแบบอินเดีย การก่อสร้างนั้นใช้หินทรายสีแดงที่มีแหล่งอยู่ใกล้เคียงกับฟเตหปุระสีกรี ดังนั้นสิ่งก่อสร้างหลัก ๆ นั้นจะมีสีแดง บริเวณหมู่ราชมนเทียรประกอบด้วยตำหนักหลายหลังเรียงต่อกันอย่างเรียบร้อยและสมมาตรบนฐานเดียวกัน เป็นลักษณะพิเศษที่นำมาจากการก่อสร้างแบบอาหรับ และเอเชียกลาง โดยองค์รวมแล้ว ถือได้ว่าพระองค์นั้นทรงพระปรีชาสามารถยิ่งในการผสมผสานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมในแบบของพระองค์เอง

นครฟเตหปุระสีกรีนั้นถูกทิ้งร้างในปี ค.ศ. 1585 ภายหลังจากการเสร็จสิ้นเพียงไม่กี่ปีเนื่องจากการขาดแคลนแหล่งน้ำ และที่ตั้งของเมืองซึ่งอยู่ใกล้กับอาณาเขตของอาณาจักรราชปุตนะทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์ไม่สงบบ่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจักรพรรดิอักบัรจึงมีพระราชดำริให้ย้ายเมืองหลวงไปยังลาฮอร์แทน ก่อนจะย้ายกลับไปยังอัคระในปี ค.ศ. 1598 ที่ซึ่งพระองค์เริ่มปกครองสมัยแรก ๆ ที่พระองค์มีความสนใจต่อดินแดนแถบเดกกันขึ้น[5] พระองค์มิได้ย้ายกลับมาประทับที่นครแห่งนี้อีกเลย ยกเว้นเพียงช่วงสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 1601 เท่านั้น[6][7]

ในประวัติศาสตร์โมกุลสมัยต่อมาได้มีการชุบชีวิตให้กับฟเตหปุระสีกรีอีกครั้งหนึ่งเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิมูฮัมมัดชาห์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1719 - ค.ศ.1748) และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซัยยิด ฮุสเซน อาลี คาน บาร์ฮา ซึ่งเป็นหนึ่งในสองพี่น้องซัยยิดแห่งจักรวรรดิโมกุล ซึ่งถูกลอบสังหารในสถานที่แห่งนี้ในปี ค.ศ. 1720 ในปัจจุบันพระราชวังและบริเวณสถานที่แห่งนี้ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีเยี่ยมทำให้มีลักษณะคล้ายเมืองผีสิง (เมืองร้าง) ซึ่งยังคงมีกำแพงเมืองเป็นปราการโดยรอบทั้งสามทิศอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่แรกก่อสร้าง โดยรอบนอกของบริเวณเป็นเมืองใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของฟเตหปุระสีกรี ซึ่งได้ยกระดับเป็นเทศบาลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1865-1904 และต่อมากลายเป็นเมืองในที่สุด ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของแถบนี้เคยเป็นที่รู้จักด้านงานหิน และแกะสลักหิน และในช่วงของจักรพรรดิอักบัรนั้นยังมีชื่อเสียงด้านการทอผ้าไหมอีกด้วย[1]

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม

แผนผังภายในแสดงที่ตั้งของกลุ่มอาคาร

ฟเตหปุระสีกรีนั้นตั้งอยู่บนบริเวณสันเขา ที่มีขนาดความยาว 3 กิโลเมตร (1.9 ไมล์) และกว้าง 1 km (0.62 mi) อาคารภายในนั้นถูกล้อมรอบด้วยกำแพงเมืองยาว 6 km (3.7 mi)[4] ครอบคลุมทั้งสามด้าน อีกด้านหนึ่งเป็นทะเลสาบธรรมชาติ (ในสมัยนั้น) [8]สถาปนิกหลักได้แก่ ตูฮีร์ ดาส (Tuhir Das) โดยออกแบบอย่างอินเดียซึ่งผสมผสานงานศิลปะแบบเบงกอลและคุชราต และยังพบองค์ประกอบสำคัญของสถาปัตยกรรมฮินดูและเชนผนวกเข้ากับองค์ประกอบแบบศิลปะอิสลามอย่างกลมกลืน วัตถุดิบหลักที่ใช้สร้างได้แก่หินทรายสีแดง ที่ขุดได้ในบริเวณใกล้เคียง จึงเรียกกันว่า "หินทรายสีกรี"[9][10] ตัวกำแพงเมืองนั้นประกอบด้วยประตูหลักทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ ประตูเดลี ประตูลาล ประตูอัคระ ประตูบีร์บาล ประตูชันดันปาล ประตูกวาลิออร์ ประตูเทห์รา ประตูคอร์ และประตูอัชเมียร์[11]

วิวแบบพาโนรามาของพระราชวัง
ประตูชัยบูลันด์ ดาร์วาซา (Buland Darwaza) ที่มีความสูง 54 เมตร
มัสยิดจามา (Jama Masjid)
สุสานของนักบุญซาลิม คิชติ (Salim Chishti) (ซ้ายมือ) ตั้งอยู่ในมัสยิดจามา (Jama Masjid) ภายในสวนของ
ฟเตหปุระสีกรี
เสากลางของท้องพระโรงเล็ก (Diwan-i-khas)
ปัญจมหัล (Panch Mahal) ตำหนักสูงห้าชั้น

บุลันด์ ดรวาซา

บุลันด์ ดรวาซา ประตูชัยตั้งอยู่บริเวณกำแพงฝั่งทิศใต้ของมัสยิดจามาภายในบริเวณของฟเตหปุระสีกรี โดยมีขนาดใหญ่โตถึง 54 เมตรจากบริเวณด้านนอกและค่อย ๆ ลดหลั่นลงมาจนเหลือขนาดเพียงเท่ามนุษย์ปกติบริเวณด้านใน บริเวณประตูแห่งนี้ถูกต่อเติมขึ้นภายหลังถัดจากมัสยิดประมาณ 5 ปี ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1576-1577 [12] เพื่อใช้เป็น "ประตูชัย" สำหรับชัยชนะของสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัรต่ออาณาจักรคุชราต บริเวณส่วนคานโค้งด้านในจะพบจารึกว่า "อีซา (พระเยซู) บุตรแห่งมารีกล่าวไว้ว่า: โลกนี้เหมือนดั่งสะพานซึ่งไว้ใช้ผ่านทางเท่านั้น แต่ไม่สามารถสร้างบ้านบนนี้ได้ เขาซึ่งหวังเพียงแค่ชั่วโมงหนึ่งอาจจะหมายถึงความหวังชั่วนิจนิรันดร ถ้าโลกนี้สามารถทนได้แค่เพียงหนึ่งชั่วโมง ให้ใช้เวลานี่เพื่อสวดมนต์วิงวอนสำหรับอนาคตที่ยังมองไม่เห็น"
บริเวณซุ้มประตูทางเข้าประกอบด้วยช่องโค้งจำนวนสามแห่ง โดยช่องกลางนั้นมีขนาดใหญ่ที่สุด นิยมเรียกกันว่า "ประตูเกือกม้า" เนื่องจากเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มักจะตอกเกือกม้าติดลงบนบานประตูขนาดใหญ่เพื่อเป็นการนำโชค[13]

มัสยิดจามา

มัสยิดจามา คือมัสยิดซึ่งสันนิษฐานจากหลักฐานว่าเป็นสิ่งก่อสร้างแรก ๆ ที่สร้างขึ้นในฟเตหปุระสีกรี เนื่องจากหลักจารึกได้ระบุว่าสร้างเสร็จราวปี ค.ศ. 1571-1572 ส่วนบริเวณประตูที่นำไปสู่สวนด้านหน้านั้น ได้แก่บูลันด์ ดาร์วาซาสร้างเสร็จราว ๆ 5 ปีต่อมา[12] การก่อสร้างนั้นอิงตามหลักของมัสยิดแบบอินเดีย ซึ่งมีโถงอิวันตั้งอยู่ตรงกลางลาน พร้อมทั้งฉัตรี (บุษบกแบบอินเดีย) ที่เรียงรายกันเป็นแถวเหนือบริเวณกำแพงอาคาร ในมัสยิดประกอบด้วยมิหร็อบ (สถาปัตยกรรมที่เป็นเครื่องหมายระบุทิศทางสู่ศูนย์รวมศรัทธาของมุสลิม)จำนวนสามแห่งโดยห่างกันจำนวน 7 ช่วงโค้ง มิหร็อบหลักตรงกลางนั้นมีโดมครอบอยู่ โดยตกแต่งด้วยงานอินเลย์หินอ่อนขาวประดับอย่างวิจิตรในรูปทรงเรขาคณิต[9]

สุสานนักบุญซาลิม คิชติ

สุสานนักบุญซาลิม คิชติ เป็นอาคารสร้างด้วยหินอ่อนสีขาวครอบบริเวณสุสานของนักบุญซาลิม คิชติ (ค.ศ. 1478-1572) ตั้งอยู่ภายในลานกลางของมัสยิดชามา ตัวสุสานมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสชั้นเดียว บริเวณทางเข้ามีบันไดหินอ่อนเตี้ย ๆ นำเข้าไปยังภายในของอาคาร บริเวณตรงกลางอาคารซึ่งเป็นที่ตั้งของหลุมฝังศพนักบุญ ตกแต่งครอบด้วยด้วยบุษบกทำเป็นงานไม้แกะสลักประดับโมเสกมุก โดยรอบของอาคารนั้นไม่ได้เป็นผนังทึบ แต่ใช้ "จาลี" หรือฉากหินแกะสลักอย่างวิจิตรพิศดารด้วยทรวดทรงเรขาคณิตอย่างกลมกลืนโดยรอบอาคารแทน

สุสานแห่งนี้ออกแบบโดยอิทธิพลจากมอโซเลียมในยุคต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 (สมัยสุลต่านแห่งคุชราต) นอกจากนี้ยังมีคันทวยทำด้วยหินอ่อนสลักเป็นทรวดทรงอ่อนช้อยคล้ายงู ซึ่งรองรับส่วนของชายคาโดยรอบ[14]
บริเวณซ้ายมือของสุสาน ทางทิศตะวันออกเป็นที่ตั้งของสุสานอีกแห่งหนึ่งสร้างจากหินทรายสีแดง โดยเป็นสุสานหลักของอิสลาม คาน ที่ 1 บุตรของชีคบัดรุดดิน คิชติ และหลานของชีคซาลิม คิชติ ซึ่งเคยเป็นนายพลประจำกองทัพโมกุลในรัชสมัยของสมเด็จพระจักรพรรดิชะฮันกีร์ ด้านบนของสุสานนั้นประดับยอดด้วยโดม และฉัตรีจำนวน 36 หลัง นอกจากนี้ยังเป็นที่ฝังศพของอีกหลายบุคคล บางสุสานนั้นไม่สามารถระบุได้ ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้สืบตระกูลของชีคซาลิม คิชติ[15]

ดิวัน-อิ-อัม

ดิวัน-อิ-อัม ท้องพระโรงกลางซึ่งพบได้ในเมืองสำคัญของอาณาจักรโดยทั่ว เพื่อใช้สำหรับประมุขของแคว้นประทับว่าราชการ ซึ่งสำหรับที่นี่ มีลักษณะเป็นหมู่อาคารโดยมีอาคารหลักทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งเปิดสู่สนามหญ้ากว้างใหญ่บริเวณด้านหน้า ใกล้กันทางทิศตะวันตกเฉียงใต้เป็นที่ตั้งของที่ประทับของสุลต่านเตอร์กิก ซึ่งด้านในมีอ่างน้ำแบบเตอร์กิกอยู่

ดิวัน-อิ-กัส

ดิวัน-อิ-กัส ท้องพระโรงส่วนพระองค์ มีลักษณะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมประกอบด้วยยอดแบบฉัตรีทั้งสี่มุมด้านบนของอาคาร ท้องพระโรงแห่งนี้มีชื่อที่บริเวณเสากลางซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส ตัวเสานั้นเป็นทรงแปดเหลี่ยม ซึ่งตกแต่งด้วยงานแกะอย่างวิจิตรเป็นลายเรขาคณิตและบุปผชาติ หัวเสาเป็นกลีบคานจำนวน 36 กลีบซึ่งรองรับบริเวณที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัร และยังเชื่อมกับคานทั้งสี่มุมของอาคารบริเวณชั้นบน ซึ่งบนคานนั้นเป็นทางเดินไปยังที่ประทับ บริเวณที่แห่งนี้ใช้เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดิอักบัรเสด็จออกพบแขกต่างศาสนาที่มักจะแลกเปลี่ยนความเชื่อซึ่งกันและกัน และยังเป็นสถานที่ออกพบแขกสำคัญเป็นการส่วนพระองค์อีกด้วย

ปัญจมหัล

ปัญจมหัล เป็นตำหนักสูงห้าชั้นซึ่งสร้างลดหลั่นหลังคาขึ้นไปทีละชั้น โดยมีลักษณะเล็กลงเรื่อยจนกระทั่งชั้นบนสุด ซึ่งเป็นเพียงบุษบกแบบฉัตรี เมื่อตอนแรกสร้างภายในตกแต่งและกั้นห้องด้วยฉากหินฉลุ นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าตำหนักแห่งนี้เป็นที่ประทับของพระสนมและนางใน[16] บริเวณพื้นของแต่ละชั้นรองรับด้วยเสาหินแกะสลักโดยรอบรวมทั้งสิ้นจำนวน 176 ต้น[17]

ลักษณะประชากร

ฟเตหปุระสีกรี มีประชากรทั้งสิ้น 28,754 คน ประกอบด้วยประชากรชายร้อยละ 53 และหญิงร้อยละ 47 มีอัตราการรู้หนังสือร้อยละ 46 (แบ่งเป็นชายร้อยละ 57 และหญิงร้อยละ 34) ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยรวมของชาติที่ร้อยละ 59.50

ร้อยละ 19 ของประชากรทั้งหมดมีอายุต่ำกว่า 19 ปี

การคมนาคม

ฟเตหปุระสีกรี ตั้งอยู่ 39 กิโลเมตรจากเมืองอัคระ สนามบินที่ใกล้ที่สุดคือสนามบินกองทัพอากาศอัคระ (รหัส AGA) ตั้งอยู่ห่างไป 40 กิโลเมตร สถานีรถไฟที่ใกล้ที่สุดคือสถานีรถไฟฟเตหปุระสีกรี ตั้งอยู่ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังสามารถใช้ถนนหลวงเพื่อเดินทางไปยังเมืองอัคระ และเมืองอื่น ๆ ได้ ผ่านทางรถประจำทางขนส่งอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh State Road Transport Corporation) และยังมีแท็กซี่เอกชนต่าง ๆ ให้บริการด้วย[18]


ระเบียงภาพ

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 "Fatehpur Sikri". Imperial Gazetteer of India. Digital South Asia Library. Vol. 12. Oxford. pp. 84–85. สืบค้นเมื่อ 2012-11-04.
  2. Asher 1992, p. 51.
  3. "Alphabetical list of Towns and their population, Uttar Pradesh–202: Fatehpur Sikri" (pdf). Census of India. Government of India. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  4. 4.0 4.1 "Fatehpur Sikri". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  5. "General view of Fatehpur Sikri, from the top of the Buland Darwaza". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  6. Allen, Margaret Prosser (1991). Ornament in Indian architecture. University of Delaware Press. pp. 414–417. ISBN 0-87413-399-8. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  7. Richards, John F. (1996). The Mughal Empire. Cambridge University Press. p. 52. ISBN 0-521-56603-7. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  8. Asher 1992, p. 52.
  9. 9.0 9.1 "The principal mihrab in the north aisle of the Jami Masjid, Fatehpur Sikri". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  10. Aitken, Bill (2001). Speaking stones: world cultural heritage sites in India. Eicher Goodearth Limited. p. 68. ISBN 81-87780-00-2. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  11. "Agra Gate, Fatehpur Sikri". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  12. 12.0 12.1 "Monuments - Fatehpur Sikri". Government of India. 2010-01-22. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-09-08.
  13. "Buland Darwaza, Fatehpur Sikri 1801". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  14. "Mausoleum of Salim Chishti, Fatehpur Sikri 1802". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  15. "General view of the tombs of Shaikh Salim Chishti and Islam Khan, Fatehpur Sikri". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  16. "View looking south from the Diwan-i-Khas, Fatehpur Sikri". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2012-11-08.
  17. "Close view of grouped columns and balustrade at the north-east angle of the Panch Mahal, Fatehpur Sikri". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2013-06-09.
  18. "Fatehpur Sikri". Uttar Pradesh Tourism. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-25.

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!