เลียง ไชยกาล

เลียง ไชยกาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2492 – พ.ศ. 2494
ก่อนหน้าสวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ
ถัดไปมุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445
เสียชีวิต2 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 (83 ปี)
พรรคการเมืองประชาชน
คู่สมรสอรพินท์ ไชยกาล
บุตร5 คน

เลียง ไชยกาล นักการเมืองไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมของไทยและอดีตหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี[1][2][3][4] 8 สมัย

ประวัติ

นายเลียง เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2445 ที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายสาย มารดาชื่อ นางสำเนียง (นามสกุลเดิม: ณ อุบล) โดยมารดามีศักดิ์เป็นหลานของเจ้าเมืองอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประจำจังหวัดอุบลราชธานี แล้วได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อวิชาครูยังกรุงเทพมหานคร ได้รับประกาศนียบัตร ประโยคประถม ที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ จังหวัดพระนคร เมื่อปี พ.ศ. 2464 และจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ก่อนจะเข้าสู่วงการการเมือง[5]

นายเลียง ไชยกาล สมรสกับ อรพินท์ ไชยกาล มีบุตรธิดาด้วยกัน 5 คน

การทำงาน

นายเลียงเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงลือลั่นจากการเป็นผู้อภิปราย เรื่องการฉวยโอกาสซื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ของพรรคคณะราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2480 ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกรณีร้อนทำให้ผู้มีอำนาจหลายคนต้องลาออกรวมไปถึงการยุบสภาของคณะรัฐบาลด้วย ซึ่งเป็นการยุบสภาครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในส่วนตัวนายเลียงเองก็ถูกจดหมายข่มขู่เอาชีวิต และถูกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลจับตัวโยนลงสระน้ำหลังอาคารรัฐสภา (พระที่นั่งอนันตสมาคม[6]) ต่อมาได้เข้าสังกัดกับพรรคก้าวหน้า ที่มี หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค

ในเหตุการณ์กบฏพระยาทรงสุรเดช นายเลียงได้มีชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาในการสมคบคิดในการสังหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 ที่มีการยุบพรรคก้าวหน้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ นายเลียงก็ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์

นายเลียง ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์[7] และได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีก 3 วาระ คือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (ครม.21-ครม.22) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (ครม.22) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ครม.22)[8]และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม (ครม.26)[9]

หลังคดีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้มีผู้ตะโกนในโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงว่า ปรีดีฆ่าในหลวง ในเวลาต่อมาผู้ตะโกนถูกจับได้ และซัดทอดนายเลียง ไชยกาล รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ปราศรัยในกรณีนี้ตามที่ต่าง ๆ อย่างรุนแรง ที่สุดนายเลียงได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไปคุมขังไว้ในเรือนจำลหุโทษเป็นเวลา 37 วัน[10]

หลังการรัฐประหารในปี พ.ศ. 2491 ที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคนได้แยกจากพรรคไป นายเลียง ไชยกาล ก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย และได้ก่อตั้งพรรคของตนเองชื่อ พรรคประชาชน มี นายสวัสดิ์ คำประกอบ เป็นรองหัวหน้าพรรค และ นายประสิทธิ์ ชูพินิจ เป็นเลขาธิการพรรค ซึ่งต่อมา นางอรพินท์ ไชยกาล ภรรยาของนายเลียงก็ได้ลงสมัคร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี ในปี พ.ศ. 2492 และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกของไทยด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 นายเลียง ได้จัดตั้งพรรคประชาชนขึ้นและรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอีกรอบ[11]

ถึงแก่อนิจกรรม

นายเลียง ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2529[10] มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2529 ณ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. การเมืองจังหวัดอุบลราชธานี- นักการเมืองดี ศรีอุบล
  2. อาร์วายทีไนน์,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งครั้งแรก
  3. ประกาศสภาผู้แทนราษฎร รายนามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรเภทที่ 1
  4. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. ๒๕๐๐ ครั้งที่ ๒
  5. หน้า 10 บทความ-การ์ตูน, เลียง ไชยกาล: เจ้าของกระทู้ล้มรัฐบาล. "ส่วนร่วมสังคมไทย" โดย นรนิติ เศรษฐบุตร. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,228: วันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม
  6. พายัพ โรจนวิภาต (พ.ศ. 2554), ยุคทมิฬ บันทึกนักโทษฝ่ายกบฏบวรเดช. ISBN 978-6167146-22-5
  7. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๒๑ ราย)
  8. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (นายปฐม โพธิแแก้ว นายเขมชาติ บุณยรัตนพันธุ์ นายเลียง ไชยกาล หลวงอรรถพรพิศาล นายเสมอ กัณฑาธัญ)
  9. ราชกิจจานุเบกษา,พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งและแต่งตั้งรัฐมนตรี (จำนวน ๓๐ ราย) เล่ม 74 ตอน 33ก วันที่ 1 เมษายน 2500
  10. 10.0 10.1 หน้า 10 บทความ-การ์ตูน, เลียง ไชยกาล: เจ้าของกระทู้ล้มรัฐบาล (2). "ส่วนร่วมสังคมไทย" โดย นรนิติ เศรษฐบุตร. เดลินิวส์ฉบับที่ 24,235: วันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559 ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม
  11. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง จดทะเบียนพรรคการเมือง (พรรคประชาชน)ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 85 ตอนที่ 119ง วันที่ 24 ธันวาคม 2511
  12. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๗ ตอนที่ ๓๓ ง หน้า ๒๕๐๙, ๑๓ มิถุนายน ๒๔๙๓
  13. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๗ ง หน้า ๕๕๐๖, ๑๓ ธันวาคม ๒๔๙๒
  14. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๙๓๖, ๑๖ กันยายน ๒๔๘๔

แหล่งข้อมูลอื่น

  • ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์. การเมืองสองฝั่งโขง : งานค้นคว้าวิจัยระดับปริญญาเอกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง การรวมกลุ่มทางการเมืองของ ส.ส.อีสาน พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๙๔ . กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2546. 558 หน้า. ISBN 974-322-844-6

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!