ฮุยโฮ

ฮุยโฮ (หฺวาง เฮ่า)
黃皓
นายกองร้อยราชรถ (奉車都尉 เฟิ่งเชอตูเว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 258 (258) – ค.ศ. 263 (263)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ผู้ถวายงานกลาง (中常侍 จงฉางชื่อ)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 258 (258) – ค.ศ. 263 (263)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ผู้ช่วยสำนักประตูเหลือง
(黃門丞 หฺวางเหมินเฉิง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 258 (258)
กษัตริย์เล่าเสี้ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดไม่ทราบ
เสียชีวิตไม่ทราบ
อาชีพขันที, ขุนนาง

ฮุยโฮ (ราว คริสต์ทศวรรษ 220–ค.ศ. 263) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า หฺวาง เฮ่า (จีน: 黃皓; พินอิน: Huáng Hào) เป็นขันทีและขุนนางชาวจีนผู้รับใช้เล่าเสี้ยน (ครองราชย์ ค.ศ. 223-263) จักรพรรดิลำดับที่ 2 และลำดับสุดท้ายของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊ก (ค.ศ. 220-280) ฮุยโฮได้รับความโปรดปรานจากเล่าเสี้ยนและขึ้นมามีอิทธิพลอย่างสูง ฮุยโฮสามารถเลื่อนตำแหน่งให้ผู้ติดตามและลดตำแหน่งผู้ที่ต่อต้านตน ซึ่งส่งผลเสียโดยรวมต่อวิธีการปกครองที่ดีของรัฐ เมื่อเกียงอุยขุนพลผู้นำทัพจ๊กก๊กพยายามทูลเตือนจักรพรรดิเล่าเสี้ยนในเรื่องการบุกของรัฐวุยก๊กที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ฮุยโฮทูลแนะนำเล่าเสี้ยนว่าการบุกจะไม่เกิดขึ้น เป็นผลทำให้รัฐจ๊กก๊กไม่ได้เตรียมพร้อมรับการบุกจ๊กก๊กโดยวุยก๊ก แล้วทำให้จักรพรรดิเล่าเสี้ยนจำต้องยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขในปี ค.ศ. 263

ประวัติ

ฮุยโฮเข้ามาในพระราชวังของจ๊กก๊กในช่วงคริสต์ทศวรรษ 220 ในฐานะขันทีผู้รับใช้เล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กผู้ทรงโปรดปรานฮุยโฮเพราะฮุยโฮฉลาดหลักแหลมและทูลด้วยคำประจบสอพลอ[1] เมื่อใดที่ฮุยโฮพยายามแทรกแซงราชการของรัฐ ตั๋งอุ๋นซึ่งเวลานั้นเป็นหัวหน้าขุนนางในราชสำนักจึงทูลเตือนเล่าเสี้ยนในเรื่องความอันตรายของคำประจบสอพลอและตักเตือนฮุยโฮไม่ให้ทูลชี้นำไปในทางที่ผิด ในช่วงเวลาที่ตั๋งอุ๋นมีชีวิตอยู่ ได้คอยตรวจสอบฮุยโฮและไม่ยอมให้ฮุยโฮได้รับการเลื่อนตำแหน่งเกินกว่าตำแหน่งผู้ช่วยสำนักประตูเหลือง (黃門丞 หฺวางเหมินเฉิง)[2]

หลังจากตั๋งอุ๋นเสียชีวิตเมื่อประมาณเดือนธันวาคม ค.ศ. 246 เฉิน จือ (陳祗) ขึ้นมาแทนที่ตั๋งอุ๋นในฐานะหัวหน้าขุนนางในราชสำนัก และร่วมกับฮุยโฮในการครอบงำราชสำนักและราชการของรัฐ เล่าเสี้ยนทรงตำหนิตั๋งอุ๋นผู้ล่วงลับว่าปฏิบัติต่อพระองค์ด้วยการดูหมิ่น เชื่อกันว่าพระองค์ตรัสเช่นนี้เพราะทรงถูกยุยงโดยฮุยโฮและเฉิน จือ เมื่อเฉิน จือเสียชีวิตในปี ค.ศ. 258 ฮุยโฮขึ้นมาเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในราชสำนักจ๊กก๊กในนครหลวงเซงโต๋ เล่าเสี้ยนทรงเลื่อนขั้นให้ฮุยโฮมีตำแหน่งเป็นผู้ถวายงานกลาง (中常侍 จงฉางชื่อ) และนายกองร้อยราชรถ (奉車都尉 เฟิ่งเชอตูเว่ย์)

ฮุยโฮใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมโดยการเลื่อนตำแหน่งให้ข้าราชการที่เป็นผู้สนับสนุนของตน และลดตำแหน่งผู้ที่ต่อต้านตน เมื่อหลัว เซี่ยน (羅憲) ปฏิเสธที่จะร่วมงานกับฮุยโฮ ฮุยโฮจึงให้ส่งหลัว เซี่ยนไปไกลจากนครหลวงเซงโต๋ให้ไปรับตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองปาตง (巴東郡 ปาตงจฺวิ้น; อยู่บริเวณอำเภอเฟิ่งเจี๋ย นครฉงชิ่งในปัจจุบัน)[3] เงียมอู (閻宇 เหยียน ยฺหวี่) สหายสนิทของฮุยโฮผู้รับราชการเป็นแม่ทัพเมืองปาตง (巴東都督 ปาตงตูตู) ตั้งให้หลัว เซียนเป็นรองแม่ทัพของตนเพราะเงียมอูมองหลัว เซียนในแง่ดีสูง ฮวนเกี๋ยนผู้เป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ปฏิเสธที่จะติดต่อกับฮุยโฮ ฮุยโฮไม่ชอบขับเจ้ง ขุนนางราชสำนักผู้คุ้นเคยกับการติดต่อกับฮุยโฮเป็นเวลาประมาณ 30 ปี แม้ว่าฮุยโฮไม่ได้ทำอันตรายขับเจ้งแต่ก็ไม่เคยให้ขับเจ้งได้รับการเลื่อนตำแหน่ง เล่าเอ๋งพระอนุชาของเล่าเสี้ยนทรงเกลียดชังฮุยโฮและไม่เคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฮุยโฮ หลังฮุยโฮขึ้นมามีอำนาจ ได้ทูลว่าร้ายเล่าเอ๋งต่อเบื้องพระพักตร์พระเจ้าเล่าเสี้ยน เป็นผลทำให้เล่าเสี้ยนทรงปฏิเสธที่จะพบกับเล่าเอ๋งเป็นเวลามากกว่า 10 ปี[4]

ในปี ค.ศ. 262 เกียงอุยขุนพลจ๊กก๊กเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยนเพื่อทูลเรียกร้องให้ประหารชีวิตฮุยโฮ แต่เล่าเสี้ยนทรงปฏิเสธ ตรัสว่าฮุยโฮเป็นเพียงข้ารับใช้ที่คอยทำธุระให้พระองค์ และตรัสบอกเกียงอุยว่าไม่ควรไปโกรธแค้นฮุยโฮ เกียงอุยรู้ว่าฮุยโฮมีผู้สนับสนุนจำนวนมากในราชสำนัก จึงกังวลว่าตนอาจจะไม่เป็นที่โปรดปรานของเล่าเสี้ยนเมื่อตนทูลขอเล่าเสี้ยนให้ประหารชีวิตฮุยโฮ ต่อมาเล่าเสี้ยนมีรับสั่งให้ฮุยโฮขอขมาต่อเกียงอุย เกียงอุยจึงหาข้ออ้างเพื่อออกจากนครหลวงเซงโต๋แล้วย้ายไปยังกองทหารประจำการที่ท่าจง (沓中; ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอโจวชฺวี มณฑลกานซู่ในปัจจุบัน) ในขณะเดียวกัน ฮุยโฮพยายามปลดเกียงอุยจากอำนาจบัญชาทหารและตั้งเงียมอูสหายสนิทของตนขึ้นแทนที่ เกียงอุยได้ยินเรื่องนี้จึงยังคงอยู่ที่ท่าจงและปฏิเสธที่จะกลับไปเซงโต๋เพราะรู้ว่าตนจะปลอดภัยเมื่ออยู่ที่ท่าจง

ในปี ค.ศ. 263 เกียงอุยได้รับข่าวว่าจงโฮยขุนพลของรัฐวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊กกำลังเคลื่อนพลมาในภูมิภาคกวนต๋ง (關中 กวานจง) มีท่าทีจะเตรียมเข้าบุกจ๊กก๊ก เกียงอุยจึงเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยน ทูลขอตั้งแนวป้องกันเพื่อรับมือการบุกที่กำลังจะมาถึง ฮุยโฮเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์จึงไปหาหมอผีเพื่อให้ทำนายอนาคต แล้วจึงทูลเล่าเสี้ยนว่าหมอผีทำนายว่าทัพวุยก๊กจะไม่โจมตีจ๊กก๊ก จึงไม่จำเป็นต้องทำตามแผนของเกียงอุย ภายหลังในปีเดียวกัน เตงงายขุนพลวุยก๊กนำกำลังทหารผ่านทางลัดข้ามภูมิประเทศที่เป็นภูเขา เลี่ยงแนวป้องกันของจ๊กก๊ก และมาถึงด้านนอกของนครเซงโต๋ เล่าเสี้ยนทรงยอมจำนนโดยไม่รบ นำไปสู่การล่มสลายของจ๊กก๊ก หลังจากที่เล่าเสี้ยนทรงยอมจำนน เตงงายได้ยินว่าฮุยโฮเป็นคนไม่น่าไว้วางใจจึงต้องการประหารชีวิตฮุยโฮ แต่ฮุยโฮติดสินบนคนของเตงงายไว้ก่อนแล้วเพื่อให้ช่วยปล่อยตัว แล้วฮุยโฮก็หลบหนีไปได้ ไม่ทราบแน่ชัดถึงชะตากรรมสุดท้ายของฮุยโฮ

ในนิยายสามก๊ก

ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ตอนที่ 119 ฮุยโฮถูกประหารชีวิตต่อสาธารณชนตามคำสั่งของสุมาเจียวผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก หลังฮุยโฮติดตามเล่าเสี้ยนไปยังลกเอี๋ยงนครหลวงของวุยก๊ก

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. (後主漸長大,愛宦人黃皓。皓便僻佞慧,欲自容入。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  2. (允常上則正色匡主,下則數責於皓。皓畏允,不敢為非。終允之世,皓位不過黃門丞。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 39.
  3. (時黃皓預政,眾多附之,憲獨介然。皓恚之,左遷巴東太守。) จิ้นชู เล่มที่ 57.
  4. (初,永憎宦人黃皓,皓既信任用事,譖構永於後主,後主稍疏外永,至不得朝見者十餘年。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 34.

บรรณานุกรม

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!