ขุนพลและขุนนางของจ๊กก๊ก (ค.ศ. 227-263)
จูกัดเจี๋ยม (จูเก่อ จาน) |
---|
諸葛瞻 |
|
|
ขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน) (รักษาการ) |
---|
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 261 (261) – ค.ศ. 263 (263) |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
---|
ผู้พิทักษ์นครหลวง (都護 ตูฮู่) (รักษาการ) |
---|
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 261 (261) – ค.ศ. 263 (263) |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
---|
ขุนพลที่ปรึกษาทัพ (軍師將軍 จฺวินชือเจียงจฺวิน) |
---|
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?) |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
---|
รองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเช่อ) |
---|
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. ? (?) |
กษัตริย์ | เล่าเสี้ยน |
---|
|
ข้อมูลส่วนบุคคล |
---|
เกิด | ค.ศ. 227[a] นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน |
---|
เสียชีวิต | ป. พฤศจิกายน ค.ศ. 263 (36 ปี)[a] นครเหมียนจู๋ มณฑลเสฉวน |
---|
คู่สมรส | พระธิดาของเล่าเสี้ยน |
---|
บุตร | |
---|
บุพการี | |
---|
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
---|
ชื่อรอง | ซือ-ยฺเหวี่ยน (思遠) |
---|
บรรดาศักดิ์ | อู่เซียงโหว (武鄉侯) |
---|
|
จูกัดเจี๋ยม (ค.ศ. 227 – ป. พฤศจิกายน ค.ศ. 263)[a] มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จูเก่อ จาน (จีน: 諸葛瞻; พินอิน: Zhūgě Zhān) ชื่อรอง ซือ-ยฺเหวี่ยน (จีน: 思遠; พินอิน: Sīyuǎn) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐจ๊กก๊กในยุคสามก๊กของจีน เป็นบุตรชายของจูกัดเหลียงอัครมหาเสนาบดีคนแรกของจ๊กก๊ก
ประวัติช่วงต้น
เมื่อจูกัดเจี๋ยมมีอายุ 16 ปี ได้สมรสกับเจ้าหญิงแห่งจ๊กก๊ก (พระธิดาของเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊ก) และได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกองทหารม้า (騎都尉 ฉีตูเว่ย์) หนึ่งปีถัดมา จูกัดเจี๋ยมได้เลื่อนเป็นขุนพลราชองครักษ์ (中郎將 จงหลางเจี้ยง) ในหน่วยยฺหวี่หลิน (羽林) แห่งกองกำลังราชองครักษ์ ภายหลังได้ดำรงตำแหน่งในราชสำนักจ๊กก๊ก ได้แก่ ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง), รองราชเลขาธิการ (尚書僕射 ช่างชูผูเช่อ) และขุนพลที่ปรึกษาทัพ (軍師將軍 จฺวินชือเจียงจฺวิน)
นอกจากการรับราชการเป็นขุนนางแล้ว จูกัดเจี๋ยมยังมีทักษะด้านการวาดภาพและการเขียนอักษรวิจิตร เนื่องจากผู้คนในจ๊กก๊กคิดถึงจูกัดเหลียงที่เสียชีวิตใน ค.ศ. 234 เป็นอย่างมาก จึงชื่นชอบจูกัดเจี๋ยมเป็นพิเศษในเรื่องความสามารถของจูกัดเจี๋ยม เพราะจูกัดเจี๋ยมทำให้ผู้คนนึกถึงจูกัดเหลียงผู้เป็นบิดา[2] เมื่อใดก็ตามที่ราชสำนักจ๊กก๊กดำเนินนโยบายซึ่งเป็นที่เห็นชอบ ผู้คนก็จะยกให้เป็นผลงานของจูกัดเจี๋ยม แม้ว่าเรื่องนั้น ๆ อาจไม่เกี่ยวข้องกับจูกัดเจี๋ยมเลยก็ตาม[3] เนื่องจากจูกัดเหลียงไม่เคยจัดตั้งสำนักประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการใด ๆ ในราชสำนักจ๊กก๊ก จึงยากที่จะแยกแยะว่าจูกัดเจี๋ยมมีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายใดบ้าง แม้ว่าเป็นที่ชัดเจนว่าชื่อเสียงของจูกัดเจี๋ยมยิ่งใหญ่กว่าผลงานจริง ๆ ที่จูกัดเจี๋ยมกระทำ[4]
จุดสูงสุดของอำนาจ
การเลื่อนตำแหน่งบ่อยครั้งของจูกัดเจี๋ยมดำเนินต่อไปจนกระทั่งจูกัดเจี๋ยมขึ้นมามีตำแหน่งสูงสุดของระบบบริหารของราชสำนักคือเป็นราชเลขาธิการ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น จูกัดเจี๋ยมยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการผู้พิทักษ์นครหลวง (都護 ฮู่จฺวิน) และรักษาการขุนพลพิทักษ์ (衛將軍 เว่ย์เจียงจฺวิน)[5]
จูกัดเจี๋ยมได้เห็นการที่จูกัดเหลียงบิดาของคนใช้นโยบายแข็งกร้าวต่อวุยก๊กที่เป็นรัฐอริของจ๊กก๊กในรูปของการศึก 5 ครั้งระหว่างปี ค.ศ. 228 ถึงปี ค.ศ. 234 จูกัดเจี๋ยมจึงตระหนักถึงอันตรายโดยเนื้อแท้ของการใช้กำลังทหารมากเกินไป โดยเฉพาะสำหรับจ๊กก๊กที่มีกำลังด้อยกว่าวุยก๊กในแง่ของกำลังทางการทหารและกำลังทางเศรษฐกิจ หลังเกียงอุยขึ้นเป็นผู้บัญชาการทัพทั้งหมดของจ๊กก๊กโดยพฤตินัย จูกัดเจี๋ยมพยายามทัดทานไม่ให้เกียงอุยทำศึกกับวุยก๊กต่อไปแต่ไม่เป็นผล เกียงอุยยกทัพไปทำศึกกับวุยก๊กทั้งหมด 11 ครั้งระหว่างปี ค.ศ. 240 ถึง ค.ศ. 262 หลังเกียงอุยประสบความพ่ายแพ้ยับเยินจากการรบกับทัพวุยก๊ก จูกัดเจี๋ยมจึงเขียนฎีกาถึงเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊ก ทูลเสนอให้ปลดเกียงอุยจากอำนาจบัญชาการทหารและตั้งเงียมอูซึ่งเป็นสหายของขันทีฮุยโฮขึ้นแทนที่ ฎีกาของจูกัดเจี๋ยมถึงเล่าเสี้ยนได้รับการเก็บรักษาไว้และยังมีอยู่ในยุคราชวงศ์จิ้น[6] แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเล่าเสี้ยนทรงปฏิบัติตามคำแนะนำของจูกัดเจี๋ยมหรือไม่ เพราะเกียงอุยไม่ได้กลับไปเซงโต๋ (成都 เฉิงตู) นครหลวงของจ๊กก๊ก หลังจากความล้มเหลวในการทำศึกครั้งสุดท้ายจากทั้งหมด 11 ครั้ง อาจเป็นเพราะว่าเกียงอุยรู้ว่าผู้คนในจ๊กก๊กไม่พอใจตนมากขึ้น เล่าเสี้ยนยังทรงประนีประนอมกับข้อเสนอของจูกัดเจี๋ยมที่จะเปลี่ยนจากท่าทีเชิงโจมตีต่อวุยก๊กให้เป็นท่าทีเชิงป้องกัน เนื่องจากก่อนหน้านี้พระองค์ให้เปลี่ยนรูปแบบป้องกันที่ลองและทดสอบแล้วของอุยเอี๋ยน แทนที่ด้วยยุทธวิธีที่มีความเสี่ยงสูงแต่ก็ให้ผลตอบแทนสูงของเกียงอุย
ก่อนหน้านี้ อุยเอี๋ยนขุนพลจ๊กก๊กคิดค้นยุทธวิธีเชิงป้องกันเพื่อขัดขวางและขับไล่ทัพที่รุกราน โดยการการสร้าง "ค่ายคุ้มกัน" ไว้บริเวณชานเมืองและทางออกของเส้นทางที่นำไปสู่เมืองฮันต๋ง (漢中 ฮั่นจง) อันเป็นจุดยุทธศาสตร์บนถนนที่นำไปสู่ใจกลางของจ๊กก๊ก แม้ภายหลังการเสียชีวิตของอุยเอี๋ยน เล่าเสี้ยนก็ยังทรงให้ปฏิบัติตามแนวทางนี้ซึ่งทำให้ทัพจ๊กก๊กสามารถป้องการการบุกของทัพวุยก๊กได้ทุกครั้ง แต่เกียงอุยโต้แย้งว่ายุทธวิธีของอุยเอี๋ยนนั้น "ทำได้เพียงขับไล่ข้าศึกเท่านั้น แต่ไม่อาจเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ใหญ่ได้" เกียงอุยคาดหวังชัยชนะที่เด็ดขาด จึงเสนอให้ละทิ้งค่ายที่อุยเอี๋ยนสร้างขึ้นและถอนกำลังทหารออกจากด่านต่าง ๆ ในเทือกเขาฉินหลิ่ง (秦岭) ทั้งหมด เพื่อที่จะสามารถลวงทัพวุยก๊กที่บุกเข้ามาให้ยกล่วงเข้าไปในแดนเมืองฮันต๋ง ที่ซึ่งกำลังทหารวุยก๊กที่เหนื่อยล้าจะถูกสกัด และถูกทัพจ๊กก๊กตีแตกพ่ายระหว่างล่าถอยได้โดยง่าย[7] เกียงอุยอ้างว่าการจัดการของตนจะสามารถบรรลุชัยชนะเด็ดขาดอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อนขณะเพิ่งสร้างแนวป้องกันตามแนวเทือกเขาฉินหลิ่ง เนื่องจากการวิเคราะห์ของเกียงอุยฟังมีเหตุผลและมีคุณค่า จูกัดเจี๋ยมจึงไม่คัดค้านการรื้อป้อมปราการที่เชื่อมโยงกันของอุยเอี๋ยน
ความพยายามในการปกป้องจ๊กก๊กที่ไร้ผล
ในช่วงต้นปี ค.ศ. 263 เกียงอุยขอกำลังเสริมจากเซงโต๋หลังได้ยินว่าราชสำนักวุยก๊กตั้งให้ขุนพลจงโฮยรับผิดชอบราชการทหารตามแนวชายแดนวุยก๊ก-จ๊กก๊ก แต่เล่าเสี้ยนทรงเชื่อคำทำนายของแม่มดหมอผีที่ฮุยโฮแนะนำ ซึ่งทำนายว่าวุยก๊กจะไม่โจมตีจ๊กก๊ก เล่าเสี้ยนจึงไม่ทรงแจ้งจูกัดเจี๋ยมเกี่ยวกับคำทูลเตือนของเกียงอุย[8] แต่เล่าเสี้ยนก็ทรงส่งกำลังเสริมก่อนที่วุยก๊กจะเริ่มการบุก[9]
เมื่อทัพวุยก๊กเริ่มเคลื่อนพลมายังจ๊กก๊กในเดือนกันยายน ค.ศ. 263 แผนในครึ่งแรกของเกียงอุยได้ผล คือเมื่อทัพวุยก๊กยกมาโดยไม่มีการต่อต้านจนมาถึงอำเภอฮั่นเสีย (漢城縣 ฮั่นเฉิงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเหมี่ยน มณฑลฉ่านซี) และอำเภอก๊กเสีย (樂城縣 เล่อเฉิงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฉิงกู้ มณฑลฉ่านซี) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหยื่อล่อเพื่อบั่นทอนกำลังข้าศึก แต่จงโฮยส่งกองกำลังแยกที่เล็กกว่า 2 กองเข้าโจมตี 2 อำเภอ ตัวจงโฮยนำทัพหลักของวุยก๊กรุดหน้าเข้าอาณาเขตของจ๊กก๊ก ใน ช่วงเวลาเดียวกัน เกียงอุยพ่ายแพ้ให้กับขุนพลวุยก๊กอองกิ๋น (王頎 หวาง ฉี) และเอียวหัว (楊欣 หยาง ซิน) และต้องล่าถอยไปยังด่านภูเขาที่มีป้อมปราการป้องกันแน่นหนาที่เกียมโก๊ะ (劍閣 เจี้ยนเก๋อ; ในอำเภอเจี้ยนเก๋อ มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน)[10] เมื่อจูกัดเจี๋ยมรู้ว่าแผนของเกียงอุยล้มเหลวและความหายนะของจ๊กก๊กกำลังใกล้เข้ามา จูกัดเจี๋ยมจึงรีบรวบรวมกำลังทหารในเซงโต๋และยกไปยังอำเภอโปยเสีย (涪縣 ฝูเซี่ยน; ในนครเหมียนหยาง มณฑลเสฉวนในปัจจุบัน) เพื่อเตรียมการป้องกันครั้งสุดท้าย
การรบกับเตงงายและการเสียชีวิต
ความเคลื่อนไหวทางการทหารดังกล่าวเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ การรุดหน้าอย่างรวดเร็วของจงโฮยทำให้ขุนพลจ๊กก๊กส่วนใหญ่ตกตะลึง เมื่อตระหนักถึงอันตรายของการปล่อยให้ข้าศึกยกล่วงเข้ามา เกียงอุยและขุนพลคนอื่น ๆ จึงยังคงตั้งมั่นอยู่ที่เกียมโก๊ะ จูกัดเจี๋ยมรู้ว่าเกียงอุยป้องกันได้เป็นอย่างดี จึงไม่ส่งกำลังเสริมไปที่เกียมโก๊ะ แต่ตั้งมั่นในอำเภอโปยเสีย เมื่อเตงงายขุนพลวุยก๊กปรากฏพร้อมกำลังทหารอย่างกะทันหันที่อิวกั๋ง (江由 เจียงโหยว) หลังใช้ทางลัดอันตรายข้ามภูมิประเทศภูเขา ข้าราชการที่รักษาอิวกั๋งยอมจำนนโดยไม่ต่อสู้ หฺวาง ฉง (黃崇) บุตรชายของอุยก๋วน (黃權 หฺวาง เฉฺวียน) โน้มน้าวหลายครั้งให้จูกัดเอี๋ยนเคลื่อนพลอย่างรวดเร็วและเข้ายึดภูมิประเทศที่ได้เปรียบก่อนที่เตงงานจะยึดได้[11] แต่จูกัดเอี๋ยนเห็นว่าแผนการของหฺวาง ฉงเสี่ยงเกินไป จึงใช้แนวทางที่ "รอบคอบ" มากกว่าแทน เมื่อหฺวาง ฉงโน้มน้าวจูกัดเจี๋ยมหลายครั้งให้ยกเข้าโจมตีเตงงาย จูกัดเจี๋ยมจึงยอมให้และส่งกองหน้าไปลองโจมตีข้าศึกแต่ถูกตีแตกพ่าย จากนั้นจูกัดเจี๋ยมจึงออกจากอำเภอโปยเสียไปยังอำเภอกิมก๊ก (綿竹 เหมียนจู๋) ซึ่งมีป้อมปราการดีกว่า ที่ซึ่งจูกัดเจี๋ยมวางแผนจะยืนหยัดต่อต้านเตงงายเป็นครั้งสุดท้าย[12]
เมื่อเตงงายล้อมจูกัดเจี๋ยมที่กิมก๊ก เตงงายเสนอโอกาสให้จูกัดเจี๋ยมยอมจำนนและให้คำมั่นว่าจะเสนอกับราชสำนักวุยก๊กให้ตั้งจูกัดเจี๋ยมเป็นหลงเสอ้อง (琅邪王 หลางหยาหวาง) หรืออ๋องแห่งลองเอี๋ยหากจูกัดเจี๋ยมยอมจำนน แต่จูกัดเจี๋ยมปฏิเสธและให้นำตัวคนนำสารของเตงงายไปประหารชีวิต จากนั้นจึงสั่งให้กำลังทหารเตรียมการรบนอกด่าน ในเวลานั้นมีบุคคลสำคัญอื่น ๆ ของจ๊กก๊กอยู่กับจูกัดเจี๋ยมที่กิมก๊ก ได้แก่ เตียวจุ๋น (張遵 จาง จุน; หลานปู่ของเตียวหุย), หลี่ ฉิว (李球; นายกองราชองครักษ์), หฺวาง ฉง รวมถึงจูกัดสงบุตรชายคนโตของจูกัดเจี๋ยม หลังจากที่หฺวาง ฉงกล่าวต่อทหารจ๊กก๊กเพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจ ทั้งสองฝ่ายก็เริ่มเข้ารบกัน เตงงายสั่งให้เตงต๋ง (鄧忠 เติ้ง จง) บุตรชายและสุเมา (師纂 ชือ จฺว่าน) นายทหารอีกคนให้ตีขนาบตำแหน่งของจูกัดเจี๋ยม ทั้งสองเคลื่อนกำลังไปทางซ้ายและทางขวาของกระบวนทัพจ๊กก๊ก แต่ทัพจ๊กก๊กสกัดไว้และขับไล่กลับไป มีเพียงทัพหลักของเตงงายที่ยังตั้งมั่นอยู่ เมื่อเตงต๋งและสุเมากล่าวว่าไม่มีทางทำลายกระบวนทัพและเสนอให้ล่าถอย เตงงายพูดด้วยโกรธว่าทั้งคู่จะต้องชนะหากต้องการมีชีวิตต่อไป และขู่ว่าจะประหารชีวิตใครก็ตามที่พูดให้ล่าถอย เตงต๋งและสุมาจึงนำทหารเข้าโจมตีกระบวนทัพของจ๊กก๊กอีกครั้งและตีแตกเป็นผลสำเร็จ[13] จูกัดเจี๋ยม, จูกัดสง, เตียวจุ๋น, หลี่ ฉิว, หฺวาง ฉง และนายทหารจ๊กก๊กคนอื่น ๆ ถูกสังหารในที่รบ
ในนิยายสามก๊ก
ในนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่ยนอี้) ซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนและระหว่างยุคสามก๊ก ล่อกวนตงผู้เขียนนวนิยายบรรยายถึงการป้องกันนครหลวงเซงโต๋ที่จบลงด้วยความล้มเหลวในลักษณะที่เร้าอารมณ์ เมื่อเล่าเสี้ยนจักรพรรดิจ๊กก๊กขอความเห็นจากจูกัดเจี๋ยมว่าจะขับไล่ทัพวุยก๊กที่บุกเข้ามาอย่างไร จูกัดเจี๋ยมคิดจะแต่งกายให้เหมือนกับจูกัดเหลียงบิดาผู้ล่วงลับเพื่อขู่ให้ข้าศึกหนีไป อุบายของจูกัดเจี๋ยมได้ผลในช่วงแรกเมื่อทหารวุยก๊กแตกตื่นเพราะคิดว่าจูกัดเหลียงฟื้นจากความตาย แต่เตงงายชี้ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าเป็นเพียงใครบางคนที่ปลอมตัวเป็นจูกัดเหลียง จากนั้นเตงงายจึงสั่งให้ทหารจัดกำลังใหม่และเข้าโจมจี จูกัดเจี๋ยมเสียชีวิตในยุทธการที่กิมก๊กพร้อมด้วยจูกัดสงบุตรชายคนโต, หฺวาง ฉง และคนอื่น ๆ ในขณะที่ทัพเตงงายมีกำลังทหารเหนือกว่าเป็นอย่างมาก
ดูเพิ่ม
หมายเหตุ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 บทชีวประวัติของจูกัดเจี๋ยมในสามก๊กจี่บันทึกว่าจูกัดเจี๋ยมเสียชีวิตในฤดูหนาว (เดือน 10 ถึง 12) ของศักราชจิ่งเย่า (景耀) ปีที่ 6 ในรัชสมัยของเล่าเสี้ยน เทียบได้กับช่วงเวลาระหว่างวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 263 ถึง 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 264 ในปฏิทินจูเลียน อย่างไรก็ตาม จูกัดเจี๋ยมเสียชีวิตก่อนการยอมจำนนของจ๊กก๊ก ดังนั้น จูกัดเจี๋ยมน่าจะเสียชีวิตในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนหรือต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. 263 จูกัดเจี๋ยมเสียชีวิตขณะมีอายุ 37 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก)[1] เมื่อคำนวณแล้ว ปีเกิดของจูกัดเจี๋ยมควรเป็นปี ค.ศ. 227
อ้างอิง
- ↑ ([景耀]六年冬, ... 遂戰,大敗,臨陣死,時年三十七。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (瞻工書畫,強識念,蜀人追思亮,咸愛其才敏。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (每朝廷有一善政佳事,雖非瞻所建倡,百姓皆傳相告曰:「葛侯之所為也:」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (是以美聲溢譽,有過其實。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (时都护诸葛瞻初统朝事,廖化过预,欲与预共诣瞻许。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 13.
- ↑ (維好戰無功,國內疲弊,宜表後主,召還為益州刺史,奪其兵權;蜀長老猶有瞻表以閻宇代維故事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (先主留魏延鎮漢中,皆實兵諸圍以御外敵。敵若來攻,使不得人。及興勢之役,王平捍拒曹爽,皆承此制。維建議,以為錯守諸圍,雖合《周易》「重門」之義,然適可禦敵,不獲大利。不若使聞敵至,諸圍皆斂兵聚谷,退就漢、樂二城。使敵不得入平,臣重關鎮守以捍之。有事之日,令遊軍並進以伺其虛。敵攻關不克,野無散谷,千里縣糧,自然疲乏。引退之日,然後諸城並出,與遊軍並力搏之,此殄敵之術也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (六年,維表後主:「聞鐘會治兵關中,欲規進取,宜並遣張翼、廖化詣督堵軍分護陽安關口、陰平橋頭,以防未然。」皓徵信鬼巫,謂敌終不自致。啟後主寢其事,而群臣不知。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (及鐘會將向駱谷,鄧艾將入沓中。然後乃遣右車騎廖化詣沓中為維援,左車騎張翼、輔國大將軍董厥等詣陽安關口以為諸圍外助。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 44.
- ↑ (欣等追蹑於强川口,大战,维败走...维遂东引,还守剑阁。锺会攻维未能克。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (到涪县,瞻盘桓未进,崇屡劝瞻宜速行据险,无令敌得入平地。瞻犹与未纳,崇至于流涕。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 43.
- ↑ (瞻督諸軍至涪停住,前鋒破,退還,住綿竹。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 35.
- ↑ (蜀卫将军诸葛瞻自涪还绵竹,列陈待艾。艾遣子惠唐亭侯忠等出其右,司马师纂等出其左。忠、纂战不利,并退还,曰:“贼未可击。”艾怒曰:“存亡之分,在此一举,何不可之有?”乃叱忠、纂等,将斩之。忠、纂驰还更战,大破之,斩瞻及尚书张遵等首,进军到雒。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
บรรณานุกรม
|
---|
จักรพรรดิ | |
---|
จักรพรรดินี | |
---|
เจ้าชายและราชนิกูลชาย | |
---|
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน | |
---|
ข้าราชการฝ่ายพลเรือน | |
---|
ข้าราชการฝ่ายทหาร | |
---|
สตรีที่มีชื่อเสียง | |
---|
บุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ | |
---|