ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค (เยอรมัน : Habsburgermonarchie ออกเสียง: [ˈhaːpsbʊʁɡɐmonaʁˌçiː] ⓘ ) ราชาธิปไตยโดเนา (เยอรมัน : Donaumonarchie ออกเสียง: [ˈdoːnaʊ̯monaʁˌçiː] ⓘ ) หรือ จักรวรรดิฮาพส์บวร์ค (เยอรมัน : Habsburgerreich ออกเสียง: [ˈhaːpsbʊʁɡɐˌʁaɪ̯ç] ⓘ ) เป็นคำที่ใช้แสดงถึงดินแดนและอาณาจักรต่าง ๆ ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินแดนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสาขาออสเตรีย ในทางประวัติศาสตร์ มีการใช้ศัพท์ ออสเตรีย อยู่บ่อยครั้งเพื่อกล่าวถึงราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค (เป็นการใช้ส่วนหนึ่งของบางสิ่ง เพื่ออ้างถึงส่วนทั้งหมดของสิ่งนั้น ) ถึงแม้ว่าในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1438 ถึง 1806 (เว้นช่วงไปใน ค.ศ. 1742 ถึง 1745) เชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจะถือครองพระราชอิสริยยศจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ด้วยก็ตาม แต่ตัวจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เอง (ซึ่งจักรพรรดิทรงมีอำนาจปกครองแต่เพียงเล็กน้อย) ก็ไม่ได้ถูกนับเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกกันในปัจจุบันว่าราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค
จุดเริ่มต้นของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คเริ่มนับจากการที่พระเจ้ารูด็อล์ฟที่ 1 ทรงได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์เยอรมนี ใน ค.ศ. 1273 และการที่ทรงได้รับดัชชีออสเตรีย เป็นดินแดนประจำราชวงศ์เมื่อ ค.ศ. 1282 ใน ค.ศ. 1482 จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 ทรงได้ครองเนเธอร์แลนด์ ผ่านทางการอภิเษกสมรส ดินแดนทั้งสองอยู่ในเขตแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ และถูกส่งต่อไปยังจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 พระราชนัดดาของพระองค์ ซึ่งทรงได้รับสืบทอดสเปนและอาณานิคม มาจากทางฝั่งพระราชมารดา และได้ปกครองเหนือจักรวรรดิฮาพส์บวร์คในช่วงแพ่ไพศาลที่สุด การสละราชสมบัติของจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ใน ค.ศ. 1556 นำไปสู่การแบ่งดินแดนต่าง ๆ ที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คถือครอง ระหว่างพระอนุชา แฟร์ดีนันท์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระองค์ในดินแดนออสเตรียมาตั้งแต่ ค.ศ. 1521 และได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์ฮังการี และโบฮีเมีย มาตั้งแต่ ค.ศ. 1526 กับพระราชโอรส พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน ก่อให้เกิดการแบ่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออกเป็นสาขาสเปน (ปกครองคาบสมุทรไอบีเรีย เนเธอร์แลนด์ บูร์กอญ และดินแดนในอิตาลี) ซึ่งมาสิ้นสุดเชื้อสายใน ค.ศ. 1700 และสาขาออสเตรีย (ซึ่งถือครองบัลลังก์จักรวรรดิ ฮังการี โบฮีเมีย และพระราชอิสริยยศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) และมีสาขาย่อยแตกออกไปจากสาขานี้อีก ซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1564 ถึง 1665 แต่หลังจากนั้นก็รวมกันเป็นรัฐร่วมประมุข ภายใต้ราชวงศ์เดียว
รัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คเป็นรัฐที่มีพระประมุขร่วมกัน โดยที่ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือสถาบันร่วมใด ๆ ยกเว้นราชสำนักฮาพส์บวร์คเอง โดยดินแดนทั้งนอกและในจักรวรรดิโรมันอันศักดิสิทธิ์ต่างมีพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวกัน รัฐองค์ประกอบ (Composite state) กลายมาเป็นรูปแบบรัฐราชาธิปไตยที่พบได้ทั่วไปในยุโรปภาคพื้นทวีป ระหว่างสมัยใหม่ตอนต้น [ 4] [ 5] การรวมดินแดนของจักรวรรดิฮาพส์บวร์คเกิดขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรรษที่ 19 โดยดินแดนต่าง ๆ ถูกรวบรวมและจัดตั้งเป็นจักรวรรดิออสเตรีย ซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1804 ถึง 1867 และพัฒนาไปเป็นจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ซึ่งดำรงอยู่สืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 1918[ 6] [ 7] ก่อนที่จะล่มสลายลงหลังจากความพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ในทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ ดินแดนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (สาขาออสเตรีย) มักจะถูกเรียกโดยนามนัย ว่า "ออสเตรีย" และเมื่อถึงราว ๆ ค.ศ. 1700 ศัพท์ภาษาละติน monarchia austriaca (ราชาธิปไตยออสเตรีย) ก็ถูกนำมาใช้เพื่อให้สะดวกต่อการกล่าวถึงดินแดนเหล่านี้[ 8] ภายในเขตแดนของจักรวรรดิ ดินแดนอันกว้างใหญ่นี้ประกอบไปด้วยดินแดนที่สืบทอดมาแต่เดิมก่อน ค.ศ. 1526 เรียกว่า เอิบลันท์ (Erblande) ดินแดนของราชบัลลังก์โบฮีเมีย ดินแดนเนเธอร์แลนด์ของสเปนเดิม ซึ่งเป็นดินแดนหนึ่งของราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คตั้งแต่ ค.ศ. 1714 ถึง 1794 ดินแดนสวามิภักดิ์ (Fief) บางส่วนในอิตาลี และนอกพรมแดนจักรวรรรดินั้นประกอบไปด้วยดินแดนทั้งหมดของราชบัลลังก์ฮังการี และดินแดนที่ได้มาจากการขับไล่จักรวรรดิออตโตมัน ศูนย์กลางของราชวงศ์อยู่ที่เวียนนา ยกเว้นในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1583 ถึง 1611 ซึ่งย้ายไปอยู่ที่ปราก [ 9]
ที่มาและการขยายดินแดน
ด้านหน้าเหรียญเงินซึ่งจัดทำโดย อันโทน ชาร์ฟฟ์ ใน ค.ศ. 1882 เพื่อเฉลิมฉลองการครบรอบ 600 ปี ของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค
พระปฐมวงศ์ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คเท่าที่มีหลักฐานให้สืบค้น คือ กราฟ (เคานต์) เรดบ็อตแห่งเคล็ดเกา ซึ่งประสูติในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 10 ชื่อของราชวงศ์มีที่มาจากปราสาทฮาพส์บวร์ค ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ปัจจุบัน ซึ่งกราฟเรดบ็อตทรงเป็นผู้สร้าง[ 10] หลังจาก ค.ศ. 1279 ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คทรงเข้ามาปกครองออสเตรีย พระเจ้ารูด็อล์ฟที่ 1 แห่งเยอรมนี ทรงพระราชทานดัชชีออสเตรีย อันเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเยอรมนี ซึ่งอยู่ภายในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ อีกทอดหนึ่ง ให้แก่เหล่าพระราชโอรสในการประชุมที่เอาก์สบวร์ก แห่ง ค.ศ. 1282 นำไปสู่การก่อตั้ง "ดินแดนสืบทอดออสเตรีย " (Austrian hereditary lands) นับแต่บัดนั้น ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คก็ยังเป็นที่รู้จักกันในนามราชวงศ์ออสเตรีย นอกจากนี้ ระหว่าง ค.ศ. 1438 ถึง ค.ศ. 1806 อาชดยุกแห่งออสเตรีย จากราชวงศ์ฮาพส์บวร์คยังได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ติดต่อกันอีกด้วย โดยมีการขาดช่วงไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง
ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คก้าวขึ้นมามีความความสำคัญต่อยุโรปด้วยผลจากพระราโชบายประจำราชวงศ์ที่ริเริ่มโดยจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับมารีแห่งบูร์กอญ ทำให้เนเธอร์แลนด์ของบูร์กอญ กลายเป็นหนึ่งในราชสมบัติของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค พระราชโอรสของทั้งสอง ฟิลิปผู้หล่อเหลา ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนาผู้บ้าคลั่ง (พระราชธิดาในพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน และสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา ) จึงทำให้จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (พระราชโอรสในฟิลิปผู้หล่อเหลาและสมเด็จพระราชินีนาถฆัวนา) ได้รับสืบทอดเนเธอร์แลนด์ของฮาพส์บวร์ค สเปน พร้อมดินแดนในปกครอง และออสเตรีย มาใน ค.ศ. 1506 1516 และ 1519 ตามลำดับ
ณ จุดนี้ จักรวรรดิฮาพส์บวร์คได้แผ่ไพศาลออกไปอย่างกว้างใหญ่จนทำให้จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ต้องเสด็จไปทั่วดินแดนในปกครองอยู่เสมอ ๆ และทำให้ต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการและข้าหลวงในส่วนต่าง ๆ ของจักรวรรดิ เช่น อีซาแบลแห่งโปรตุเกส พระมเหสีทรงสำเร็จราชการแทนพระองค์ในสเปน และมาร์กาเรเทอแห่งออสเตรีย พระราชปิตุจฉา (อา) เป็นข้าหลวงปกครองกลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำ เพื่อปกครองดินแดนหลายแห่งที่อยู่ภายใต้พระองค์ จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทรงบรรลุข้อตกลงกับแฟร์ดีนันท์ พระราชอนุชา ณ การประชุมสภาที่เมืองวอร์มส์ ใน ค.ศ. 1521 ตาม ข้อตกลงฮาพส์บวร์ค แห่งเมืองวอร์มส์ ซึ่งได้รับการรับรองในอีกหนึ่งปีให้หลังในบรัสเซลส์ แฟร์ดีนันท์ทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นอาร์ชดยุก ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระเชษฐาในดินแดนสืบทอดออสเตรีย[ 11] [ 12]
หลังจากที่พระเจ้าลอโยชที่ 2 แห่งฮังการี เสด็จสวรรคตในยุทธการที่โมฮาช ขณะทรงต่อสู้กับจักรวรรดิออตโตมัน อาร์ชดยุกแฟร์ดีนันท์ (ผู้อภิเษกสมรสกับพระเชษฐภคินีของพระเจ้าลอโยช ตามข้อตกลงในการประชุมใหญ่แห่งเวียนนาครั้งที่หนึ่ง ระหว่างจักรพรรดิมัคซีมีลีอาน พระอัยกาของอาร์ชดยุกแฟร์ดีนันท์ และพระเจ้าวลาดิสเลาส์ที่ 2 พระราชบิดาของพระเจ้าลอโยช) จึงทรงได้รับเลือกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งโบฮีเมีย และฮังการี ใน ค.ศ. 1526[ 9] [ 13] แต่โบฮีเมียและฮังการีก็ยังมิได้เป็นดินแดนที่สืบทอดกันตามราชสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 17 ภายหลังจากจักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 2 ทรงปราบกบฏชาวโบฮีเมียได้ในยุทธการที่ภูเขาสีขาว เมื่อ ค.ศ. 1620 พระองค์ทรงประกาศใช้ พระราชกฤษฎีกาแผ่นดินฉบับปรับปรุง (Renewed Land Ordinance) ใน ค.ศ. 1627 หรือ 1628 ซึ่งทำให้ให้ราชบัลลังก์โบฮีเมียเปลี่ยนมาใช้ระบอบสืบราชสันตติวงศ์ ส่วนฮังการีนั้นเปลี่ยนมาใช้ระบอบสืบราชสันตติวงศ์เมื่อจักรพรรดิเลโอพ็อลท์ที่ 1 ทรงยึดดินแดนฮังการีเกือบทั้งหมดกลับมาจากชาวออตโตมันเติร์ก ได้ภายหลังยุทธการที่โมฮาช (ค.ศ. 1687) และทรงจัดประชุมสภาในนครเพรสบวร์ค
แผนที่ของทวีปยุโรปตอนกลาง ใน ค.ศ. 1648:
จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทรงแบ่งราชวงศ์ฮาพส์บวร์คออกเป็นสองสาขาใน ค.ศ. 1556 ด้วยการยกออสเตรียและราชบัลลังก์จักรวรรดิให้กับพระราชอนุชา (ตามที่ตัดสินกันในการเลือกตั้งจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ค.ศ. 1531 ) และจักรวรรดิสเปน ให้กับเฟลิเป พระราชโอรส สาขาสเปน (ปกครองเนเธอร์แลนด์ ราชอาณาจักรโปรตุเกส ระหว่าง ค.ศ. 1580 ถึง 1640 และภูมิภาคเมซโซจอร์โน [ภาคใต้ของอิตาลี]) สิ้นสุดเชื้อสายลงใน ค.ศ. 1700 สาขาออสเตรีย (ปกครองจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ฮังการีและโบฮีเมีย) มีสาขาย่อยแตกออกไปจากสาขานี้อีก ซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1564 ถึง 1665 แต่หลังจากนั้นก็รวมกันเป็นรัฐร่วมประมุข ภายใต้ราชวงศ์เดียว
ชื่อ
ราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค (เยอรมัน : Habsburgermonarchie ) : เป็นคำนิยามอย่างกว้างที่ถูกใช้บ่อยครั้ง แต่มิใช่ชื่ออย่างเป็นทางการ
ราชาธิปไตยออสเตรีย (ละติน : monarchia austriaca ) นิยามซึ่งเริ่มนำมาใช้ประมาณ ค.ศ. 1700 เพื่อให้สะดวกต่อการกล่าวถึงดินแดนของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสาขาออสเตรีย [ 8]
ราชาธิปไตยโดเนา (เยอรมัน : Donaumonarchie ) ชื่อไม่เป็นทางการซึ่งใช้โดยสิ่งร่วมสมัย
ราชาธิปไตยคู่ (เยอรมัน : Doppel-Monarchie ) หมายถึงดัชชีออสเตรียและราชอาณาจักรฮังการี สองรัฐซึ่งอยู่ภายใต้ผู้ปกครองพระองค์เดียวกัน
จักรวรรดิออสเตรีย (เยอรมัน : Kaisertum Österreich ) ชื่ออย่างเป็นทางการของจักรวรรดิฮาพส์บวร์คที่สถาปนาขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1804 ภายหลังจากสิ้นสุดของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ คำว่า "จักรวรรดิ" ในที่นี้หมายถึงดินแดนที่ปกครองโดยจักรพรรดิ มิใช่ "อาณาจักรอันแพ่ไพศาล"
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (เยอรมัน : Österreich-Ungarn ) รัฐซึ่งดำรงอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1867–1918 เป็นชื่อที่นิยมใช้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้จักรวรรดิจะมีชื่อทางการว่าราชาธิปไตยออสเตรีย-ฮังการี (เยอรมัน : Österreichisch-Ungarische Monarchie ) ก็ตาม[ 14] [ 15] [ 16] [ 17]
ดินแดนส่วนพระองค์ หรือ โครนลันท์เดอร์ (Kronländer ) (ค.ศ. 1849–1918) เป็นชื่อเรียกดินแดนส่วนต่าง ๆ ในจักรวรรรดิออสเตรียนับตั้งแต่ ค.ศ. 1849 และของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ตั้งแต่ ค.ศ. 1867 เป็นต้นไป ภายหลังจากการสถาปนาจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ราชอาณาจักรฮังการี (หรือเรียกอย่างเจาะจงว่า ดินแดนแห่งราชบัลลังก์ฮังการี [Lands of the Hungarian Crown]) ไม่ได้ถูกนับเป็น "ดินแดนส่วนพระองค์" อีกต่อไป ดังนั้นนิยาม "ดินแดนส่วนพระองค์" จึงกลายเป็นนิยามเดียวกับ "เหล่าราชอาณาจักรและดินแดนอันมีผู้แทนในราชสภา" (Die im Reichsrate vertretenen Königreiche und Länder ) ซึ่งใช้เรียกดินแดนซิสไลทาเนีย (Cisleithania) หรือดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของออสเตรียในจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี
พื้นที่ฟากฮังการีของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีมีชื่อเรียกว่า "ดินแดนแห่งราชบัลลังก์เซนต์อิชต์วาน " หรือ"ดินแดนแห่งพระมงกุฎเซนต์อิชต์วานอันศักดิ์สิทธิ์" (Länder der Heiligen Stephans Krone ) ส่วนดินแดนโบฮีเมีย (เช็กเกีย) นั้นเรียกว่า "ดินแดนแห่งราชบัลลังก์เซนต์วาสลัฟ" (Länder der Wenzels-Krone )
ชื่อของดินแดนองค์ประกอบ
ประเทศออสเตรียในปัจจุบันปกครองในระบอบสาธารณรัฐกึ่งสหพันธ์ ประกอบไปด้วยเก้ารัฐ (Bundesländer ) ได้แก่ นีเดอร์เอิสเตอร์ไรช์ โอแบร์เอิสเตอร์ไรช์ ทีโรล สตีเรีย ซัลทซ์บวร์ค คารินเทีย ฟอร์อาร์ลแบร์ค บัวร์เกินลันท์ และเวียนนา ซึ่งเป็นเมืองหลวง
บัวร์เกินลันท์ แยกตัวออกมาจากฮังการีและกลายเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรียใน ค.ศ. 1921
ซัลทซ์บวร์ค กลายเป็นส่วนหนึ่งของออสเตรียใน ค.ศ. 1816 ภายหลังจากการสิ้นสุดสงครามนโปเลียน โดยแต่เดิมนั้นซัลทซ์บวร์คอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าชายอัครมุขนายกแห่งซัลทซ์บวร์ค ในฐานะดินแดนอธิปไตย
เวียนนา เมืองหลวงของประเทศออสเตรีย ได้รับสถานะเป็นรัฐเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1922 เวียนนามีสถานะเป็นที่ประทับขององค์จักรพรรดิและเมืองหลวงของจักรวรรดิออสเตรีย (Reichshaupt und Residenzstadt Wien ) มาเป็นเวลาหลายศตวรรษ
ออสเตรีย ในทางประวัติศาสตร์ถูกแบ่งออกเป็น "ออสเตรียเหนือแม่น้ำเอ็นส์" (Austria above the Enns) และ "ออสเตรียใต้แม่น้ำเอ็นส์" (Austria below the Enns) (แม่น้ำเอ็นส์เป็นเส้นแบ่งระหว่างรัฐ โอแบร์- และนีเดอร์เอิสเตอร์ไรช์) พื้นที่ของรัฐโอแบร์เอิสเตอร์ไรช์ขยายใหญ่ขึ้นจากการผนวกพื้นที่อินส์เวียร์เทล (Innviertel, "มุมแม่น้ำอินส์ ") ซึ่งแต่เดิมเป็นของไบเอิร์น ตามข้อตกลงในสนธิสัญญาเทเชิน (ค.ศ. 1779) ภายหลังสงครามสืบราชบัลลังก์ไบเอิร์น
ดินแดนสืบทอด (Erblande หรือ Erbländer โดยส่วนมากใช้คำว่า Österreichische Erblande ) ดินแดนสืบทอดเยอรมัน (ในราชาธิปไตยออสเตรีย) หรือดินแดนสืบทอดออสเตรีย (สมัยกลาง – ค.ศ. 1849 หรือ 1918) ในนิยามอย่างจำกัดแล้วหมายถึงดินแดน "ดั่งเดิม" ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค หลัก ๆ แล้วคือ ออสเตรีย (Österreich ) สตีเรีย (Steiermark ) คารินเทีย (Kaernten ) คาร์นิโอลา (Krain ) ทีโรล (Tirol ) และฟอร์อาร์ลแบร์ค ในนิยามอย่างกว้างดินแดนแห่งราชบัลลังก์โบฮีเมีย ก็ถูกนับเป็นดินแดนสืบทอด (ตั้งแต่ ค.ศ. 1526 ถูกนับรวมอย่างแน่นอนจาก ค.ศ. 1620/27 เป็นต้นไป) เช่นกัน ศัพท์ดังกล่าวถูกแทนด้วยคำว่า "ดินแดนส่วนพระองค์" (ดูด้านบน) ในรัฐธรรมนูญเดือนมีนาคม ค.ศ. 1849 แต่ศัพท์นี้ก็ยังมีการใช้หลังจากนี้เช่นกัน ดินแดนสืบทอด ยังรวมไปถึงดินแดนเล็ก ๆ ที่มีสถานะเป็นราชรัฐ ดัชชี หรือเคาน์ตี ในดินแดนส่วนอื่น ๆ ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ด้วย
ดินแดน
การขยายตัวของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คในบริเวณยุโรปตอนกลาง
รัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค ณ ช่วงเวลาที่ จักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 เสด็จสวรรคตใน ค.ศ. 1790 เส้นสีแดงเป็นเครื่องหมายแทนพรมแดนของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
ดินแดนภายใต้การการปกครองของรัฐราชาธิปไตยออสเตรียเปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วงเวลาหลายศตวรรษ แต่แกนกลางนั้นประกอบไปด้วยดินแดนสี่ส่วนเสมอ:
พระราชพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา ในเพรสบวร์ค ราชอาณาจักรฮังการี ค.ศ. 1741
ดินแดนแห่งราชบัลลังก์โบฮีเมีย สภาแห่งโบฮีเมีย (เช็ก : zemský sněm ) ได้เลือกแฟร์ดีนันท์ (ต่อมาคือจักรพรรดิแฟร์ดีนันท์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) เป็นพระมหากษัตริย์โบฮีเมียใน ค.ศ. 1526 เดิมประกอบไปด้วยดินแดนห้าส่วน ได้แก่:
ราชอาณาจักรฮังการี – ดินแดนสองในสามที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรฮังการีในสมัยกลางถูกจักรวรรดิออตโตมัน และราชรัฐทรานซิลเวเนีย รัฐเมืองขึ้นของจักรวรรดิเข้ายึดครอง ในขณะการปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คถูกจำกัดอยู่ในบริเวณทางตะวันตกและทางเหนือของราชอาณาจักรเดิม โดยส่วนที่อยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คก็ยังคงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่าราชอาณาจักรฮังการี เช่นเดิม เมื่อสงครามออตโตมัน-ฮาพส์บวร์ค สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1699 ดินแดนส่วนหนึ่งที่เคยถูกปกครองโดยราชอาณาจักรฮังการีในสมัยกลางจึงเข้ามาอยู่ใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค นอกจากนี้ยังพื้นที่บางส่วนที่ถูกผนวกเพิ่มเติมใน ค.ศ. 1718 (แต่ก็ยังมีดินแดนบางส่วนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเดิม โดยเฉพาะด้านใต้ของแม่น้ำซาวาและแม่น้ำดานูบยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของออตโตมัน )
ราชอาณาจักรโครเอเชีย
ยูโรปา เรจีนา (Europa regina) สัญลักษณ์ที่สื่อถึงทวัปยุโรปที่ถูกครอบงำโดยราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค
เหล่าทหารของเขตพรมแดนทหาร (Military Frontier) ซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการรุกรานจากจักรวรรดิออตโตมัน ค.ศ. 1756
ตลอดช่วงเวลาแห่งการดำรงอยู่ของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค มีดินแดนอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คสาขาออสเตรียอยู่ชั่วขณะหนึ่ง (ดินแดนบางแห่งในรายชื่อด้านล่างนี้สืบทอดโดยหลักสิทธิของบุตรคนรอง [Secundogeniture] หรือก็คือถูกปกครองโดยสาขาอื่นของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คที่ไม่ใช่สาขาหลักนั้นเอง):
ขอบเขตของดินแดนเหล่านี้แตกต่างไปตามช่วงเวลา และบางดินแดนก็ถูกปกครองโดยสาขารอง (ผ่านทางหลักสิทธิของบุตรคนรอง) ของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค สมาชิกของราชวงศ์ยังทรงถือครองพระราชอิสริยยศจักรพรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่าง ค.ศ. 1438 ถึง 1740 และอีกครั้งจาก ค.ศ. 1745 ถึง 1806
ลักษณะเฉพาะ
ตราอาร์ม ของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี [ 18] ใช้ระหว่าง ค.ศ. 1815–1866 และ ค.ศ. 1867–1915
ภายในรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คในช่วงสมัยใหม่ตอนต้น หน่วยภาวะต่าง ๆ ถูกปกครองตามขนบธรรมเนียมปฏิบัติของตนเอง จนถึงช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17 ดินแดนต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้ผู้ปกครองพระองค์เดียวกัน บ่อยครั้งที่เชื้อพระวงศ์ฮาพส์บวร์คสายรองได้ปกครองพื้นที่ส่วนหนึ่งของดินแดนสืบทอดในฐานะที่ดินส่วนพระองค์ (Apanages) ความพยายามรวมศูนย์ อย่างจริงจังเริ่มขึ้นในรัชสมัยของจักรพรรดินีมาเรีย เทเรซา และโดยเฉพาะในรัชสมัยของจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 ผู้เป็นพระราชโอรส (ตรงกับช่วงกลางถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18) แต่ความพยายามดังกล่าวก็ถูกละทิ้งเมื่อเกิดการต่อต้านขนาดใหญ่ต่อความพยายามปฏิรูปเชิงรุนแรงของจักรพรรดิโยเซ็ฟที่ 2 กระนั้น นโยบายรวมศูนย์อย่างค่อยเป็นค่อยไปมากกว่าก็ยังคงได้รับการปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยแห่งการปฏิวัติ (Revolutionary period) และสมัย เมทเทอร์นิช ที่ตามมา
ความพยายามรวมศูนย์ครั้งใหม่เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1849 ภายหลังจากการปราบปรามกระแสการปฏิวัติ ค.ศ. 1848 นับเป็นครั้งแรกที่เหล่ารัฐมนตรีพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์คไปเป็นรัฐที่มีระบบราชการแบบรวมศูนย์โดยมีศูนย์กลางการปกครองอยู่ที่กรุงเวียนนา กฎอัยการศึกถูกประกาศใช้ในพื้นที่ของราชอาณาจักรฮังการี ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มเขตทหาร (Military districts) รัฐบาลรวมศูนย์ภายใต้แนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใหม่ (Neo-absolutism) พยายามทำให้รัฐธรรมนูญและสภาฮังการีมีผลเป็นโมฆะ แต่ภายหลังจากที่ราชวงศ์ฮาพส์บวร์คพ่ายแพ้ในสงครามประกาศอิสรภาพอิตาลีครั้งที่สอง และสงครามออสเตรีย-ปรัสเซีย ใน ค.ศ. 1859 และ 1866 ตามลำดับ ทำให้นโยบายเหล่านี้ค่อย ๆ ถูกยกเลิกไป
ภายหลังจากการทดลองในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1860 การประนีประนอมออสเตรีย-ฮังการี ค.ศ. 1867 อันโด่งดังจึงได้มีผลบังคับใช้ นำไปสู่การก่อตั้งรัฐราชาธิปไตยคู่ออสเตรีย-ฮังการี ในระบอบการปกครองใหม่นี้ ราชอาณาจักรฮังการี ("ดินแดนแห่งราชบัลลังก์เซนต์อิชต์วาน") ถือเป็นรัฐอธิปไตยที่มีศักดิ์เท่ากับออสเตรีย โดยมีเพียงความเป็นรัฐร่วมประมุขและนโยบายการต่างประเทศและการทหารร่วมกันเท่านั้นที่คอยเชื่อมโยงฮังการีเข้ากับดินแดนอื่น ๆ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค อย่างไรก็ตาม แม้ดินแดนอื่น ๆ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค (ยกเว้นฮังการี) จะถูกเรียกรวม ๆ กันว่า "ออสเตรีย" ก็ตาม แต่กระนั้นดินแดนเหล่านี้ก็มีรัฐสภากลาง (เรียกว่า ไรชส์ราค [Reichsrat; ราชสภา]) และคณะรัฐมนตรีเป็นของตนเอง อันจะเห็นได้จากชื่ออย่างเป็นทางการของดินแดนเหล่านี้ คือ "เหล่าราชอาณาจักรและดินแดนอันมีผู้แทนในราชสภา" ครั้นเมื่อบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาถูกผนวก (หลังจากตกอยู่ภายใต้การปกครองและยึดครองโดยทหาร มาเป็นระยะเวลานาน) ดินแดนดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกรวมเข้ากับพื้นที่ฝั่งใดของจักรวรรดิ หากแต่ถูกปกครองโดยกระทรวงการคลังร่วม ของออสเตรีย-ฮังการี
จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีล่มสลายลงจากปัญหาทางชาติพันธุ์หลายประการที่ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งมาถึงจุดแตกหักเมื่อจักรวรรดิพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ภายหลังจากจักรวรรดิถูกยุบ จึงมีการสถาปนาสาธารณรัฐเยอรมันออสเตรีย (ในพื้นที่ของชาวออสเตรียผู้พูดภาษาเยอรมันของดินแดนสืบทอด) และสาธารณรัฐฮังการีที่หนึ่ง ขึ้นมาแทนที่ ในข้อตกลงสันติภาพที่ตามมาภายหลัง ดินแดนจำนวนหนึ่งได้ถูกยกให้กับโรมาเนีย และอิตาลี ส่วนที่เหลือของจักรวรรดิเดิมถูกแบ่งระหว่างประเทศใหม่ที่แยกตัวออกมา อันได้แก่ โปแลนด์ ราชอาณาจักรแห่งชาวเซิร์บ โครแอต และสโลวีน (ต่อมาคือยูโกสลาเวีย) และเชโกสโลวาเกีย
สาขาอื่นของราชวงศ์
สาขารองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คได้ปกครองแกรนด์ดัชชีตอสคานา ตั้งแต่ ค.ศ. 1765 ถึง 1801 และอีกครั้งจาก ค.ศ. 1814 ถึง 1859 ระหว่างที่ถูกขับไล่จากตอสคานา เชื้อพระวงศ์ของสาขารองนี้ได้ปกครองซัลทซ์บวร์คตั้งแต่ ค.ศ. 1803 ถึง 1805 และแกรนด์ดัชชีเวือทซ์บวร์ค ตั้งแต่ ค.ศ. 1805 ถึง 1814 อีกสาขาหนึ่งได้ปกครองดัชชีโมเดนา ตั้งแต่ ค.ศ. 1814 ถึง 1859 จักรพรรดินีมารี หลุยส์ มเหสีพระองค์ที่สองในจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 และพระราชธิดาในจักรพรรดิฟรันทซ์ที่ 1 แห่งออสเตรีย ทรงปกครองดัชชีปาร์มา ระหว่าง ค.ศ. 1814 ถึง 1847 นอกจากนี้ ประเทศเม็กซิโก ยังเคยอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ฮาพส์บวร์คระหว่าง ค.ศ. 1863 ถึง 1867 โดยมีจักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 1 พระราชอนุชาในจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1 แห่งออสเตรีย เป็นพระประมุข
รายพระนามผู้ปกครอง (ค.ศ. 1508–1918)
ผู้ปกครองที่มักถูกเรียกว่า "พระมหากษัตริย์ฮาพส์บวร์ค" หรือ "จักรพรรดิฮาพส์บวร์ค" ถือครองพระราชอิสริยยศมากมาย และปกครองดินแดนต่าง ๆ โดยมีการเรียกขานพระนามและอิสริยยศต่างกันไป
จักรพรรดิมัคซีมีลีอานที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และพระมเหสี อินฟันตามารีอาแห่งสเปน พร้อมพระราชโอรสธิดา
พระราชบัลลังก์แห่งจักรวรรดิออสเตรีย สร้างขึ้นในรัชสมัยจักรพรรดิฟรันทซ์ โยเซ็ฟที่ 1
ราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค-โลทริงเงิน
พระราชพงศวลี
ในงานเขียน
บันทึกความทรงจำที่มีชื่อเสียงที่สุดเกี่ยวกับความเสี่อมสลายของรัฐราชาธิปไตยฮาพส์บวร์ค คือ ดีเวิรท์ฟ็อนเกสเทิร์น (Die Welt von Gestern) ของสเตฟาน ชไวท์ [ 19]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
เชิงอรรถ
รายการอ้างอิง
↑ Beham, Markus Peter (2013). Transgressing Boundaries . LIT Verlag Münster. p. 254 . ISBN 9783643904102 .
↑ Taylor, Charles (2014). Boundaries of Toleration . Columbia University Press. p. 220. ISBN 9780231165679 .
↑ "Smoldering Embers: Czech-German Cultural Competition, 1848–1948" by C. Brandon Hone. Utah State University.
↑ Robert I. Frost (2018). The Oxford History of Poland-Lithuania: Volume I: The Making of the Polish-Lithuanian Union, 1385–1569, Oxford History of Early Modern Europe . สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด . p. 40. ISBN 9780192568144 .
↑ John Elliot (1992). The Old World and The New 1492-1650 . สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด . p. 50. ISBN 9780521427098 .
↑ Vienna website; "Archived copy" . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2011-11-23. สืบค้นเมื่อ 2011-09-11 .{{cite web }}
: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์ )
↑ Encyclopædia Britannica online article Austria-Hungary; http://www.britannica.com/EBchecked/topic/44386/Austria-Hungary
↑ 8.0 8.1 Hochedlinger 2013 , p. 9.
↑ 9.0 9.1 "Czech Republic – Historic Centre of Prague (1992)" Heindorffhus, August 2007, HeindorffHus-Czech เก็บถาวร 2007-03-20 ที่ archive.today .
↑ Rady 2020 , pp. 12, 14–5
↑ Kanski, Jack J. (2019). History of the German speaking nations (ภาษาอังกฤษ). ISBN 9781789017182 .
↑ Pavlac, Brian A.; Lott, Elizabeth S. (30 June 2019). The Holy Roman Empire: A Historical Encyclopedia [2 volumes] . ISBN 9781440848568 .
↑ "Ferdinand I" . Encyclopædia Britannica .
↑ Kotulla 2008 , p. 485 .
↑ Simon Adams (30 July 2005). The Balkans . Black Rabbit Books. pp. 1974–. ISBN 978-1-58340-603-8 .
↑ Scott Lackey (30 October 1995). The Rebirth of the Habsburg Army: Friedrich Beck and the Rise of the General Staff . ABC-CLIO. pp. 166–. ISBN 978-0-313-03131-1 .
↑ Carl Cavanagh Hodge (2008). Encyclopedia of the Age of Imperialism, 1800-1914: A-K . Greenwood Publishing Group. pp. 59–. ISBN 978-0-313-33406-1 .
↑ ฮูโก แกร์ฮาร์ท สเตรอล (ค.ศ. 1851–1919): Oesterreichisch-Ungarische Wappenrolle
↑ Giorgio Manacorda (2010) Nota bibliografica อ้างใน Joseph Roth La Marcia di Radetzky , Newton Classici Stefan Zweig, l'autore del più famoso libro sull'Impero asburgico, Die Welt von Gestern
บรรณานุกรม
Hochedlinger, Michael (2013) [2003]. Austria's Wars of Emergence, 1683–1797 . Abingdon: Routledge. ISBN 978-0-582-29084-6 .
Kotulla, Michael (2008). Deutsche Verfassungsgeschichte: Vom Alten Reich bis Weimar (1495–1934) . Berlin: Springer. ISBN 978-3-540-48705-0 .
Rady, Martyn (2020). The Habsburgs: The Rise and Fall of a World Power . London: Allen Lane. ISBN 978-0-241-33262-7 .
อ่านเพิ่ม
Bérenger, Jean . A History of the Habsburg Empire, 1273–1700 (Routledge, 2013)
Bérenger, Jean . A History of the Habsburg Empire, 1700–1918 (Routledge, 2014)
Evans, Robert John Weston . The Making of the Habsburg Monarchy, 1550–1700: An Interpretation (Oxford University Press, 1979) ISBN 0-19-873085-3
Evans, R. J. W. "Remembering the Fall of the Habsburg Monarchy One Hundred Years on: Three Master Interpretations" Austrian History Yearbook (May 2020) Vol. 51, pp 269–291; historiography
Fichtner, Paula Sutter. The Habsburg Monarchy, 1490–1848: Attributes of Empire (Palgrave Macmillan, 2003)
Henderson, Nicholas. "Joseph II" History Today (Sept 1955) 5#9 pp 613–621.
Ingrao, Charles. The Habsburg Monarchy, 1618–1815 (2000)
Ingrao, Charles. In Quest and Crisis: Emperor Joseph I and the Habsburg Monarchy (1979)
Judson, Pieter M. The Habsburg Empire: A New History (2016)
Kann, Robert A. A History of the Habsburg Empire: 1526–1918 (University of California Press, 1974)
Lieven, Dominic. Empire: The Russian empire and its rivals (Yale University Press, 2002), comparisons with Russian, British, & Ottoman empires.
Macartney, Carlile Aylmer The Habsburg Empire, 1790–1918 , New York, Macmillan 1969
McCagg, Jr., William O. A History of the Habsburg Jews, 1670–1918 (Indiana University Press, 1989)
Mitchell, A. Wess. The Grand Strategy of the Habsburg Empire (Princeton University Press, 2018)
Oakes, Elizabeth and Eric Roman. Austria-Hungary and the Successor States: A Reference Guide from the Renaissance to the Present (2003)
Sked, Alan The Decline and Fall of the Habsburg Empire, 1815–1918 (London: Longman, 1989)
Stone, Norman. "The Last Days of the Habsburg Monarchy," History Today (Aug 1968), Vol. 18 Issue 8, pp 551–560; online
Steed, Henry Wickham; และคณะ (1914). A short history of Austria-Hungary and Poland . Encyclopaedia Britannica Company. p. 145 .
Taylor, A. J. P. The Habsburg monarchy, 1809–1918: a history of the Austrian Empire and Austria-Hungary , (London: Penguin Books. 2nd ed. 1964)
แหล่งข้อมูลอื่น