สีแดง: สาธารณรัฐโรมัน , สีม่วง: จักรวรรดิโรมัน , สีเขียว: จักรวรรดิโรมันตะวันออก (จักรวรรดิไบแซนไทน์), สีฟ้า: จักรวรรดิโรมันตะวันตก
การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก เรียกอีกอย่างว่า การล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน หรือ การล่มสลายของกรุงโรม เป็นกระบวนการของการเสื่อมถอยในจักรวรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งล้มเหลวในการปกครอง สูญสิ้นอธิปไตยเดิมที่จักรวรรดิเคยมี และดินแดนอันกว้างใหญ่ถูกแบ่งออกเป็นหลายเมือง จักรวรรดิโรมัน สูญเสียความแข็งแกร่งทางการทหารในการปกครองอย่างมีประสิทธิภาพเหนือมณฑล ทางตะวันตกของตน นักประวัติศาสตร์สมัยใหม่แสดงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมถอย อันประกอบด้วยจำนวนประชากรชาวโรมัน จำนวนทหารในกองทัพ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการปกครองของจักรพรรดิ การต่อสู้แย่งชิงอำนาจภายใน การเปลี่ยนแปลงทางศาสนาในยุค และประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันจากภายนอก โดยการรุกรานของอนารยชน นอกวัฒนธรรมโรมันก็มีส่วนทำให้เกิดการล่มสลายเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในยุคนั้นก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก[ 1] เหตุผลในการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกเป็นหัวข้อหลักของประวัติศาสตร์นิพนธ์ โลกยุคโบราณ ที่บอกเล่าเรื่องความล้มเหลวของรัฐในอดีตและปัจจุบัน[ 2] [ 3] [ 4]
ในปี ค.ศ. 376 ชาวก็อธ (Goths) และชนเผ่าที่ไม่ใช่ชาวโรมัน หนีจากพวกฮัน มาลี้ภัยอยู่ในจักรวรรดิ ในปี ค.ศ. 395 หลังจากชนะสงครามกลางเมือง 2 ครั้ง จักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1 สวรรคต ทิ้งกองทัพที่ล่มสลายและจักรวรรดิที่ยังคงถูกครอบงำโดยชาวก็อธ มีการแบ่งฝักฝ่ายระหว่างแม่ทัพ โอรสทั้งสองของเทออดอซิอุสที่ 1 ไร้ความสามารถในการปกครองจักรวรรดิ นอกจากนั้นกลุ่มอนารยชนได้ทำการข้ามแม่น้ำไรน์ และเขตแดนอื่น ๆ และเช่นเดียวกับชาวก็อธ ชนเผ่าที่เข้ามาอยู่อาศัยไม่ถูกกำจัดถูกขับไล่หรือถูกปราบปราม กองกำลังติดอาวุธของจักรวรรดิตะวันตกมีจำนวนน้อยและไม่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีการฟื้นตัวระยะสั้นภายใต้ผู้นำที่มีความสามารถ แต่ไม่เคยมีการรวมศูนย์กำลังทางการทหารและการปกครองอีกเลยในจักรวรรดิโรมันตะวันตก[ 5]
เมื่อถึงปี ค.ศ. 476 ตำแหน่งของจักรพรรดิโรมันตะวันตกมีอำนาจทางทหาร การเมืองและอำนาจทางการเงินเพียงน้อยนิด ปราศจากอำนาจควบคุมมณฑลทางตะวันตกที่กระจัดกระจายซึ่งเดิมเป็นเขตแดนของโรมัน อาณาจักรของอนารยชนได้สร้างฐานอำนาจของตนเองขึ้นในพื้นที่ของจักรวรรดิตะวันตก ในปี ค.ศ. 476 พระเจ้าโอเดเซอร์ กษัตริย์องค์แรกแห่งอิตาลีได้ปลดจักรพรรดิองค์สุดท้ายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก จักรพรรดิโรมุลุส เอากุสตุส ลงจากราชบัลลังก์ และวุฒิสภาของจักรวรรดิโรมันตะวันตกได้ส่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้กับจักรพรรดิโรมันตะวันออก ทำให้เหลือเมืองหลวงเพียงแห่งเดียว ณ กรุงคอนสแตนติโนเปิล สิ้นสุดความเป็นศูนย์กลางของกรุงโรม นับแต่นั้น
แม้ว่าเกียรติภูมิของจักรวรรดิโรมันตะวันตกจะดำเนินต่อไปอีกหลายศตวรรษ และอิทธิพลทางวัฒนธรรมของจักรวรรดิยังคงอยู่ในทุกวันนี้ แต่จักรวรรดิตะวันตกไม่เคยมีความเข้มแข็งเท่าที่เคยมีอีกเลย จักรวรรดิไม่สามารถควบคุมยุโรปตะวันตก ทางเหนือของเทือกเขาแอลป์ ขณะที่จักรวรรดิโรมันตะวันออกหรือจักรวรรดิไบแซนไทน์ คงอยู่ต่อมาได้ แม้ว่าความแข็งแกร่งของจักรวรรดิโรมันจะลดลงจากเดิม จักรวรรดิโรมันตะวันออกจะยังคงอยู่เป็นเวลาอีกหลายศตวรรษ เป็นมหาอำนาจของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก
อ้างอิง
↑ McMichael, Anthony (6 February 2017). Climate Change and the Health of Nations . Oxford: Oxford University Press. pp. 141–159. ISBN 9780190262952 .
↑ Diamond, Jared (January 2011). Collapse . Penguin Books. pp. 13–14. ISBN 9780143117001 .
↑ e.g. Why Nations Fail. Acemoglu D and Robinson JA. Profile Books (Random House Inc.) 2012. ISBN 978-1-84668-429-6. pp. 166–175
↑ Ward-Perkins 2007, p. 1.
↑ Burns, Thomas S. Barbarians Within the Gates of Rome : A Study of Roman Military Policy and the Barbarians, ca. 375–425 A. D. Indiana University Press 1995. ISBN 978-0-253-31288-4.