ฟอนต์ความกว้างคงที่ (อังกฤษ: monospaced บ้างก็เรียก fixed-pitch, fixed-width, หรือ non-proportional font) เป็นฟอนต์ที่กำหนดให้ทุกตัวอักษรและการเว้นวรรค มีความกว้างเท่ากัน [1] [a] ในทางตรงกันข้าม ฟอนต์โดยส่วนใหญ่นั้นมีความกว้างผันแปร นั่นคือตัวอักษรและการเว้นวรรคมีความกว้างต่างกัน
มักใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่กับเครื่องพิมพ์ดีดและการเรียงพิมพ์รหัสต้นทาง
มีการใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่กันอย่างแพร่หลายในคอมพิวเตอร์และ เครื่องเทอร์มินัลคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ ซึ่งมักมีความสามารถด้านกราฟิกที่จำกัดอย่างมาก การควบคุมฮาร์ดแวร์ในยุคนั้นจึงมักทำอย่างเรียบง่ายขึ้นด้วยการตั้งโหมดข้อความ โดยกำหนดให้พื้นที่หน้าจอถูกแบ่งส่วนออกเป็นตาราง และในแต่ละช่องของตารางนี้สามารถตั้งค่าให้แสดงอักขระได้ช่องละหนึ่งตัวอักษร โดยการทำดัชนีลงในแผนที่อักขระของฮาร์ดแวร์ ระบบบางระบบอนุญาตให้แสดงข้อความสีได้โดยการเปลี่ยนสีพื้นหน้าและพื้นหลังของแต่ละช่องตาราง และอาจมีเอฟเฟกต์อื่น ๆ เช่น วิดีโอย้อนกลับและข้อความกะพริบ อย่างไรก็ตาม ระบบในช่วงแรกมักจะแสดงได้แค่ฟอนต์คอนโซลแบบเดียว
แม้ว่าปัจจุบันคอมพิวเตอร์จะสามารถแสดงฟอนต์ได้หลากหลายแบบ แต่สิ่งแวดล้อมสำหรับการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จและซอฟต์แวร์โปรแกรมแก้ไขข้อความส่วนใหญ่ยังคงใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่เป็นฟอนต์โดยปริยาย เนื่องจากทำให้รหัสต้นทางอ่านง่ายขึ้น เนื่องจากการอ่านรหัสเหล่านั้นมักจะต้องแยกแยะระหว่างอักษรแต่ละตัวได้เป็นอย่างดี และทำให้ความแตกต่างระหว่างตัวอักษรชัดเจนขึ้นในสถานการณ์อย่างช่องป้อนรหัสผ่าน เนื่องจากไม่สามารถพิมพ์ผิดได้[2] ยังมีการใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่ในโปรแกรมเลียนแบบเทอร์มินัลและการจัดวางข้อมูลในตารางในเอกสารข้อความธรรมดา ในคู่มือทางเทคนิคและทรัพยากรสำหรับภาษาการเขียนโปรแกรม มักใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่เพื่อแยกแยะโค้ดจากข้อความภาษาคน ฟอนต์ความกว้างคงที่ยังใช้โดยเอาท์พุตของตัวถอดรหัสซึ่งทำให้ข้อมูลจัดเรียงในคอลัมน์แนวตั้ง
การจดจำอักขระด้วยแสงมีความแม่นยำมากขึ้นด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่ ตัวอย่างได้แก่ OCR-A และ OCR-B
คำว่า modern (ทันสมัย) ถูกใช้เป็นคำพ้องความหมายกับฟอนต์แบบความกว้างคงที่ในบางกรณี เช่น ในรูปแบบ OpenDocument (ISO/IEC 26300:2006) และ รูปแบบ Rich Text Format คำว่า "modern" ใช้แทนฟอนต์ความกว้างคงที่[3] [4]
ตัวอย่างของฟอนต์ความกว้างคงที่ ได้แก่ เคอเรียร์, Lucida Console, Menlo, Monaco, Consolas, Inconsolata และ Source Code Pro
ใช้ในงานศิลปะ
มีรูปแบบศิลปะที่สร้างขึ้นมาด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่ของคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งตัวอักษรที่ n ของแต่ละบรรทัดจะเรียงกันในแนวตั้ง (บางครั้งกลุ่มอักขระดังกล่าวเรียกว่าคอลัมน์) ด้านล่างนี้เป็นภาพการจำลองการวาดเส้นของศิลปะ ANSI โดยใช้ฟอนต์ความกว้างผันแปรเทียบกับฟอนต์ความกว้างคงที่
ฟอนต์ความกว้างผันแปร
|
ฟอนต์ความกว้างคงที่
|
┌─┐ ┌┬┐
│ │ ├┼┤
└─┘ └┴┘
|
┌─┐ ┌┬┐
│ │ ├┼┤
└─┘ └┴┘
|
เนื่องจากฟอนต์ความกว้างผันแปรไม่สามารถสร้างรูปกล่องดังแสดงได้ จึงใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่ในการสร้างและการดูงานศิลปะ ASCII และ ANSI แทน บทกวีบางบทที่แต่งขึ้นโดยใช้เครื่องพิมพ์ดีดหรือคอมพิวเตอร์ยังพึ่งพิงการจัดแนวแนวตั้งของคอลัมน์อักขระด้วย บทกวีของ E. E. Cummings มักถูกพิมพ์ในฟอนต์ความกว้างคงที่ด้วยเหตุผลนี้[ต้องการอ้างอิง] วิดีโอเกมคลาสสิกบางเกม (เช่น Rogue และ NetHack) และเกมเลียนแบบสไตล์เดียวกัน (เช่น Dwarf Fortress) จะใช้ตารางตัวอักษรเป็นฟอนต์ความกว้างคงที่เพื่อแสดงสถานะเกมให้ผู้เล่นเห็น เชื่อกันว่า เกม Quiz Show (พ.ศ. 2519) เป็นวิดีโอเกมแรกที่ใช้ "ฟอนต์อาร์เคด" แบบความกว้างคงที่ขนาด 8×8 ตัวอักษร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในเกมคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น
ตัวเลขความกว้างคงที่
ฟอนต์ความกว้างผันแปรจำนวนมาก จะมีตัวเลขที่มีความกว้างคงที่ (อาจเรียกว่า เลขตาราง หรือ Tabular figures)[5][6] เนื่องจากความกว้างคงที่ทำให้ตัวเลขทั้งหมดที่มีจำนวนหลักเท่ากันมีความกว้างเท่ากัน จึงใช้ระยะห่างดังกล่าวในการเรียงพิมพ์เอกสาร เช่น รายการราคาสินค้า รายการหุ้น และผลรวมในตำราเรียนคณิตศาสตร์ ซึ่งในเอกสารทั้งหมดนี้ การเปรียบเทียบจะทำได้ง่ายขึ้นหากตัวเลขเรียงกันเป็นคอลัมน์[7] ความกว้างคงที่ยังเป็นคุณลักษณะทั่วไปของอุปกรณ์การพิมพ์ที่เรียบง่าย เช่น เครื่องบันทึกเงินสดและตราประทับวันที่[8] แบบอักษรที่ออกแบบมาเพื่อการใช้งานระดับมืออาชีพในเอกสาร เช่น รายงานทางธุรกิจ อาจกำหนดให้ตัวเลขตัวหนาใช้ความกว้างเท่ากับตัวเลขในรูปแบบปกติ ความสอดคล้องระหว่างรูปแบบต่างๆ นี้เรียกว่า "duplexing" [9]
ในทางตรงกันข้าม ฟอนต์ที่มีตัวเลขความกว้างผันแปร จะวางตัวเลขให้ชิดกันมากขึ้น เพื่อลดพื้นที่ว่างในเอกสาร และเชื่อว่าจะช่วยให้ตัวเลขกลมกลืนกับข้อความมากขึ้น[10] ฟอนต์สมัยใหม่ที่ใช้รูปแบบ TrueType หรือ OpenType สามารถมีทั้งตัวเลขความกว้างผันแปรและตัวเลขความกว้างคงที่ในไฟล์ฟอนต์เดียวกันได้ และเลือกรูปแบบดังกล่าวได้โดยใช้การตั้งค่าตัวเลือกแบบอักษรในแอปพลิเคชัน เช่น โปรแกรมประมวลผลคำหรือเว็บเบราว์เซอร์[11][12][13]
การใช้ประโยชน์อื่น ๆ
ในชีวเคมี มักแสดงลำดับกรดนิวคลีอิกและโปรตีนด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่ เนื่องจากฟอนต์เหล่านี้รับประกันได้ว่าการแสดงนิวคลีโอไทด์หรือกรดอะมิโนแต่ละตัวจะใช้พื้นที่เท่ากัน การเรียงตำแหน่งของตัวอักษรในฟอนต์ความกว้างคงที่ช่วยให้เปรียบเทียบลำดับต่างๆ ได้ชัดเจนกว่า
มักพิมพ์บทภาพยนตร์และบทละครเวทีด้วยฟอนต์ความกว้างคงที่เพื่อให้ประเมินได้ง่ายว่าบทภาพยนตร์จะมีความยาวเท่าไรจากจำนวนหน้า มาตรฐานอุตสาหกรรมคือเคอเรียร์ขนาด 12 point โดยเป็นที่เข้าในกันว่า บทภาพยนตร์ที่พิมพ์แบบนี้เป๊ะๆ เต็มหนึ่งหน้า จะใช้เวลาแสดง/ฉายบนจอหนึ่งนาที[14]
มักใช้ฟอนต์ความกว้างคงที่ในเอกสารดนตรี tablature สำหรับกีตาร์และกีตาร์เบส โดยในเอกสารเหล่านั้น แต่ละบรรทัดในตารางจะแสดงถึงสายกีตาร์ ซึ่งต้องกดคอร์ดที่เล่นบนหลายสายตามลำดับแนวตั้ง ซึ่งสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อตัวอักษรมีความกว้างคงที่
ตัวอย่างไทป์เฟซอักษรไทย
- ไทป์เฟซมโน (Mano)[15]
Fonts-TLWG
Fonts-TLWG ซึ่งพัฒนาโดยไทยลินุกซ์เวิร์กกิงกรุ๊ปมีไทป์เฟซอักษรไทย 4 ไทป์เฟซ ที่ใช้รูปอะขระละตินแบบเดียวกับเคอเรียร์
- TlwgMono
- Tlwg Typewriter
- Tlwg Typist
- Tlwg Typo
ดูเพิ่ม
หมายเหตุ
อ้างอิง
- ↑ Rosendorf, Theodore (2009). The Typographic Desk Reference. New Castle, Delaware: Oak Knoll Press. p. 12. ISBN 978-1-58456-231-3.
- ↑ Spolsky, Joel (24 October 2001). "User Interface Design For Programmers". Joel On Software. สืบค้นเมื่อ 17 November 2014.
- ↑ OpenDocument v1.1 specification (PDF), สืบค้นเมื่อ 2010-05-01.
- ↑ Microsoft Corporation (June 1992), Microsoft Product Support Services Application Note (Text File) – GC0165: RICH-TEXT FORMAT (RTF) SPECIFICATION (TXT), สืบค้นเมื่อ 2010-03-13.
- ↑ "A New Face for Adobe". Typekit Blog. Adobe. สืบค้นเมื่อ 8 January 2016.
- ↑ Shinn, Nick. "Shinntype Modern Suite specification" (PDF). Shinntype. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 25 February 2021. สืบค้นเมื่อ 16 October 2015.
- ↑ Strizver, Elaine. "Proportional vs. Tabular Figures". fonts.com. Monotype Imaging. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
- ↑ "Revenue". Hoefler & Frere-Jones. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
- ↑ "Gotham Numerics". Hoefler & Frere-Jones. สืบค้นเมื่อ 27 September 2014.
- ↑ "Gotham: Numerics". Hoefler & Frere-Jones. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
- ↑ Butterick, Matthew. "Alternate figures: consider the context". Butternick's Practical Typography.
- ↑ Saller, Carol. "Old-Style Versus Lining Figures". Chronicle of Higher Education. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
- ↑ Bergsland, David. "Using numbers in the proper case". Design & Publishing Center. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2007. สืบค้นเมื่อ 4 August 2014.
- ↑ August, John (22 March 2006). "How accurate is the page-per-minute rule?". สืบค้นเมื่อ 17 November 2014.
- ↑ คัดสรร ดีมาก. "'มโน' เป็น Monospace". สืบค้นเมื่อ 2024-12-16.