ดอน ปรมัตถ์วินัย (เกิด 25 มกราคม พ.ศ. 2493) เป็นนักการทูตและนักการเมืองชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อดีตเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพยุโรป
ประวัติ
ดอนเกิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2493 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของเลี้ยง กับ นงลักษณ์ ปรมัตถ์วินัย[1][2]
ดอน จบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจาก โรงเรียนวัดสุทธิวราราม และมัธยมศึกษาตอนปลายจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีใน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2510–2511 (สิงห์ดำ รุ่น 20) จากนั้น เขาได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) ไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา นายดอนได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยม สาขารัฐศาสตร์ และปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA) และยังได้รับปริญญาโท สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากวิทยาลัยกฎหมายและการทูตเฟลทเชอร์ ณ มหาวิทยาลัยทัฟส์ (The Fletcher School of Law and Diplomacy at Tufts University)
นอกจากนี้ เขายังจบการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 36 และการป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 6 จากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ. 36/ปรอ. 6 หรือ วปรอ. 366)
ดอนสมรสกับ นรีรัตน์ บุนนาค กรรมการบริษัท ปานะวงศ์ จำกัด บุตรีนาวาโท ตัปนวงศ์ บุนนาค บุตรพลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) กับกัญจนา บุนนาค ธิดาเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค)[3] มีบุตรด้วยกันหนึ่งคน คือ นายเพื่อน ปรมัตถ์วินัย
ใน พ.ศ. 2561 เขาได้รับรางวัลนิสิตเก่าดีเด่นจาก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การทำงาน
ดอนเริ่มเข้ารับราชการใน พ.ศ. 2517 ในกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ[2] ต่อมาระหว่างปี 2517- 2523 ไปทำงานในสังกัดกองเอเซียตะวันออก กองเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักเลขานุการรัฐมนตรี เป็นหนึ่งในคณะของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในการเยือนปักกิ่ง เพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เมื่อปี 2518 และทำงานกิจการอาเซียนในช่วงหลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย 2519[ต้องการอ้างอิง]
ในปี 2523 ดอนดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้ากองนโยบายเศรษฐกิจ และการเงิน และหัวหน้ากองพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม สำนักงานอาเซียนแห่งประเทศไทย
ต่อมาในปี 2524 ดอนได้รับแต่งตั้งให้เป็น เลขานุการเอกสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนีตะวันตก และเป็นที่ปรึกษาสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบอนน์ ในปี 2527[ต้องการอ้างอิง]
ในพ.ศ. 2528 ดอนกลับมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรมการเมือง ก่อนที่จะไปดำรงตำแหน่งอัครราชทูตสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน เอกอัครราชทูตประจำกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงกระทรวงการต่างประเทศ และอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกในปี 2531, 2534 และ 2535 ตามลำดับ[ต้องการอ้างอิง]
ต่อมาใน พ.ศ. 2537 เขาไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งประเทศไทยประจำสมาพันธรัฐสวิส นครรัฐวาติกัน และราชรัฐลิกเตนสไตน์ ถิ่นพำนัก ณ กรุงแบร์น[ต้องการอ้างอิง]
ต่อมาใน พ.ศ. 2542 ย้ายมาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงนี้ได้เริ่มต้นงานด้านเยาวชนไทยในโครงการยุวทูตความดี และกลับไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตอีกครั้ง โดยปี 2544 ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และมองโกเลีย ถิ่นพำนัก ณ กรุงปักกิ่ง กรุงปักกิ่ง[ต้องการอ้างอิง]
ต่อมาใน พ.ศ. 2547 เขาย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป ราชอาณาจักรเบลเยียม และราชรัฐลักเซมเบิร์ก ถิ่นพำนัก ณ กรุงบรัสเซลส์ ดูแลทุกกิจการของไทยกับสหภาพยุโรป
ใน พ.ศ. 2550 ดอนย้ายไปดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ทำงานเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของกัมพูชาเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับประเทศไทย กรณีเขาพระวิหาร ที่กัมพูชาพยายามนำเข้าสู่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ[ต้องการอ้างอิง] ในปี 2550 เขายังได้รับรางวัลครุฑทองคำ จากสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย[4] ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้สำหรับข้าราชการพลเรือนที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่น
และในปี 2552 ดอนเข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ถิ่นพำนัก ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ดูแลประสานงานความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างวิกฤตการเมืองไทย พ.ศ. 2553 และได้ดูแลโครงการโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง ไทย-สหรัฐอเมริกา ในระดับทั่วประเทศ จนกระทั่งออกจากตำแหน่ง โดยลาออกจากราชการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 ก่อนเกษียณอายุราชการเพียง 1 เดือน[5] และในเดือนพฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น นายดอน เข้ามารับตำแหน่งประธานกรรมการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ที่ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)[6] ซึ่งเขาเป็นผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ มาตั้งแต่ปี 2537[7]
ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2557 เขาลาออกจากบริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)[8] และบริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และเข้ารับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา[9] ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แทน พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558[10]
กระทั่งวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เขาเป็นรองนายกรัฐมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ[11]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
- ↑ "ประวัติการทำงานโดยสังเขปของ นาย ดอน ปรมัตถ์วินัย มอบต่อสมาคมข้าราชการพลเรือนเมื่อ พย.๒๕๕๓". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-10. สืบค้นเมื่อ 2014-09-28.
- ↑ 2.0 2.1 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เก็บถาวร 2017-12-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน กระทรวงการต่างประเทศ
- ↑ "นาวาโทตัปนวงศ์ บุนนาค - ชมรมสายสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-02-21. สืบค้นเมื่อ 2015-11-20.
- ↑ "ประกาศสมาคมข้าราชการพลเรือนแห่งประเทศไทย เรื่อง ผลการพิจารณาคัดเลือกผู้บริหารราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2550 - 2551" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2015-11-20.
- ↑ ไทยรัฐออนไลน์, มุมข้าราชการ 18/09/53 โดย ซี.12 , วันเสาร์ที่ 18 กันยายน 2553.
- ↑ มติชนออนไลน์ , ช.การช่างดึงอดีตทูตใหญ่ "ดอน ปรมัตถ์วินัย" นั่งปธ.คุมด้านสวล. แตกไลน์ลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์[ลิงก์เสีย], วันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 10:40:21 น.
- ↑ รายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการของบริษัท ผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุม และรายละเอียดเกี่ยวกับกรรมการของบริษัทย่อย บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน)
- ↑ "แจ้งกรรมการอิสระลาออก 29 สิงหาคม 2557" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2015-11-14.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี, เล่ม ๑๓๑ ตอนพิเศษ ๑๖๔ ง หน้า ๑, ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศให้รัฐมนตรีพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีและแต่งตั้งรัฐมนตรี, เล่ม ๑๓๒ ตอนพิเศษ ๑๙๑ ง หน้า ๓, ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ แต่งตั้งรัฐมนตรี, เล่ม ๑๓๗ ตอนพิเศษ ๑๘๐ ง หน้า ๑, ๖ สิงหาคม ๒๕๖๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๑๙ ข, หน้า ๔, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๑๐, ๒ ธันวาคม ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๑๒๑ ตอนที่ ๙ ข หน้า ๒, ๔ พฤษภาคม ๒๕๔๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๑๘ ตอนที่ ๔ ข หน้า ๒๑๔, ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
|
---|
เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ |
---|
|
| |
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ |
---|
|
|