Share to: share facebook share twitter share wa share telegram print page

โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์

โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์
Ramadhibodi Chakri Naruebodindra Hospital
แผนที่
ประเภทโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
ที่ตั้ง111 หมู่ 14 ถนนเลียบคลองส่งน้ำสุวรรณภูมิ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ข้อมูลทั่วไป
ก่อตั้งพ.ศ. 2554
สังกัดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ผู้อำนวยการผศ.นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ
จำนวนเตียง124[1]
เว็บไซต์https://www.rama.mahidol.ac.th/cnmi/

โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์[2] เป็นสถาบันการแพทย์ในสังกัดคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งอยู่ในซอยเทศบาลบางปู 119 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 เพื่อเพิ่มวิทยาลัยการแพทย์ในจังหวัดสมุทรปราการและข้างเคียง รวมทั้งเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาทางการแพทย์ของประชาชนในพื้นที่ โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปรักษาในกรุงเทพมหานคร โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560[3][4]

ประวัติ

รายละเอียดของโครงการ

1. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 รองรับการให้บริการทางการแพทย์ การศึกษาและการวิจัย มาเป็นเวลากว่า 40 ปี โดยที่คณะแพทยศาสตร์ฯ มีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาตามพันธกิจต่าง ๆ แต่มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น มีจำนวนผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นมากแต่สถานที่คับแคบ ทรัพยากรการเรียนรู้ในด้านสถานที่เรียน สถานที่ปฏิบัติการทางคลินิก หอพักนักศึกษา และพื้นที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่เพียงพอ รวมทั้งจำเป็นต้องพิจารณาหาโรงพยาบาลฝึกอบรมที่มีลักษณะผู้ป่วยในระดับปฐม ภูมิและทุติยภูมิสำหรับการเรียนการสอน

2. จากการที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีได้มีโอกาสจัดหน่วยแพทย์เคลื่อน ที่ในโครงการพระดาบสสัญจรของมูลนิธิพระดาบส และโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎรของสำนักราชเลขาธิการ ที่จังหวัดสมุทรปราการ พบว่าจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทยเป็นเขตชุมชน อุตสาหกรรมและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีประชาชนหนาแน่น มีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัย ระบบบริการสาธารณสุขมีแต่โรงพยาบาลขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่มีศูนย์บริการทางการแพทย์ระดับ Excellence Center หรือระดับคณะแพทยศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ในด้านการศึกษา วิจัยและบริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงได้เสนอโครงการพัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย เพื่อพัฒนาวงการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทย อันจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและเขตรอบนอก ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร รวมถึงประชาชนใน 7 จังหวัดภาคตะวันออก โดยโครงการนี้เชื่อมโยงกับคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ถนนพระราม 6 ซึ่งเน้นในด้านการศึกษาของแพทย์และบุคลากรในระดับหลังปริญญา และการบริการผู้ป่วยซับซ้อนให้มีการพัฒนาอย่างบูรณาการ

3. โครงการฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ซอยสุขาภิบาล 119 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 291-1-63 ไร่ โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

3.1 เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ฯ มีสถานที่เพียงพอในการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย และนักศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และสามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ

3.2 เพื่อดำเนินการสร้างโรงพยาบาล ขนาด 400 เตียง สำหรับให้บริการสุขภาพและสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน เพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยทุกระดับตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิอย่างบูรณาการ ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูและป้องกันโรค โดยเน้นการศึกษาและวิจัยด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ฟื้นฟู อาชีวอนามัย ผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วยระยะสุดท้าย

3.3 เพื่อเป็นต้นแบบการรักษาที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางมุ่งการตั้งเครือข่าย การเรียนรู้และบริการวิชาการให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลอำเภอของภาครัฐ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน และขยายการจัดการความรู้เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนในภูมิภาคตะวันออก ของประเทศเพื่อเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนไทย

3.4 เป็นศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษา ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และศูนย์บริการวิชาการ สำหรับประชาชนทั่วไป โดยแบ่งเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการศึกษา/วิจัย ศูนย์การแพทย์และเครือข่ายบริการทางการแพทย์ และอุทยานการเรียนรู้และความเป็นอยู่ชุมชนต้นแบบ

4. ระยะเวลาดำเนินโครงการรวมทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2554 — 2558)

นามพระราชทาน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ดำเนินโครงการ พัฒนารามาธิบดีสู่คณะแพทยศาสตร์ชั้นนำในเอเชีย หรือโครงการรามาธิบดี-บางพลี เมื่อวันอังคารที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๔ ปี และได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์สถาบันการแพทย์แห่งใหม่ โดยทางคณะฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ ในวันพุธ ที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๕ เวลา ๑๕.๐๐ น. และในวันศุกร์ที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๖พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสถาบันการแพทย์แห่งใหม่นี้ว่า “สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์” (เป็นพระนามที่ต่อจากรามาธิบดี โดยมีพระนามเต็มดังนี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหิตลาธิเบศรรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร) และชื่อภาษาอังกฤษว่า “CHAKRI NARUEBODINDRA MEDICAL INSTITUTE” อีกทั้งทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญ อักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎภายในมีอุณาโลม ประดิษฐานที่อาคารสถาบันการแพทย์แห่งใหม่ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดจากพระราชปรารภและพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่มีพระราชประสงค์ให้มีสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลของรัฐขนาดใหญ่ระดับโรงเรียนแพทย์ขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อให้การดูแลและให้บริการตรวจรักษาประชาชนในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เพื่อประกอบอาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตลอดจนถึงประชาชนในบริเวณใกล้เคียงรวมถึงจังหวัดชายฝั่งตะวันออก ตั้งแต่จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว อีกด้วย เนื่องจากในปัจจุบันโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในจังหวัดสมุทรปราการเป็นโรงพยาบาลเอกชน ประชาชนซึ่งมีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงบริการของโรงพยาบาลเอกชนเหล่านี้ได้[5]

โครงการนี้จึงเป็นโอกาสทองของประชาชนไทยที่จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในขณะเดียวกับที่เป็นโอกาสของบุคลากรรามาธิบดีที่จะใช้ความสามารถและศักยภาพที่มีอยู่ร่วมกันเป็นพลังที่จะก่อให้เกิดคุณูปการแก่สังคมไทยอย่างเต็มภาคภูมิ และเป็นโครงการที่ชาวรามาธิบดีทุกหมู่เหล่า น้อมใจกายดำเนินโครงการเพื่อถวายเป็นราชสักการะ และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษาซึ่งสมพระเกียรติยศอย่างแท้จริง[6]

อาคารภายในสถาบัน

  1. โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลและหอผู้ป่วยในขนาด 400 เตียง
  2. ศาลาประชาคม หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์รามาธิบดี
  3. ศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 1
  4. ศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 2
  5. อาคารกายวิภาคทางคลินิก
  6. อาคารวิศวกรรม
  7. หอพักนักศึกษา และบุคลากร
  8. อาคารนันทนาการ
  9. หอพักเจ้าหน้าที่
  10. พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  11. อาคารจอดรถ

การเดินทาง

รถโดยสารประจำทางสาย 3-26E (R26E เดิม) วิ่งระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดี ถึงสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

โดยในปัจจุบันกรมการขนส่งทางบก ได้มีการเปิดตัวรถเมล์มาตรฐานใหม่ 2 เส้นทาง ตามแผนปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเส้นทางรถเมล์สาย R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) ซึ่งมีบริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตประกอบการขนส่ง ซึ่งในปัจจุบันรถเมล์สายนี้ได้เปิดให้บริการ มีจำนวนรถที่ให้บริการทั้งสิ้น 16 คัน เดินรถขั้นต่ำวันละ 48 เที่ยวต่อวัน โดยมีค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 15 บาท ถึงสูงสุดที่ 27 บาท[7][8] (ปัจจุบันบริษัท มารัตน์ ทรานสปอร์ต จำกัด ได้ยุติการเดินรถไปแล้ว และ ขสมก. เข้ามาเดินรถแทนในสาย 3-26E ในระหว่างรอเปิดคัดเลือกผู้เดินรถรายใหม่[9])

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

  • Handicapped/disabled access เส้นทางที่มีรถรองรับวีลแชร์
สายที่ จุดเริ่มต้น จุดสิ้นสุด เส้นทางขาไป (โรงพยาบาลรามาธิบดี) เส้นทางขากลับ (สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์) เวลาเดินรถเที่ยวแรก (สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์) เวลาเดินรถเที่ยวแรก (โรงพยาบาลรามาธิบดี) เวลาเดินรถเที่ยวสุดท้าย (สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์) เวลาเดินรถเที่ยวสุดท้าย (โรงพยาบาลรามาธิบดี) ประเภทของรถที่ให้บริการ ผู้ให้บริการ หมายเหตุ
3-26E (3) โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
การเคหะบางพลี
ม.หัวเฉียว
เมกาบางนา
ศรีเอี่ยม
ซีคอนสแควร์
ตลาดเอี่ยมสมบัติ
พระราม 9
ทางด่วน
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
รพ.พระมงกุฎ
รพ.รามาธิบดี

โรงพยาบาลรามาธิบดี
โรงพยาบาลสงฆ์
โรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย
กรมแพทย์ทหารบก
อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สวนสันติภาพ
ป.ป.ส
ดินแดง
แยกอสมท.
ทางด่วน
พระราม 9
ตลาดเอี่ยมสมบัติ
ซีคอนสแควร์
ศรีเอี่ยม
เมกาบางนา
ม.หัวเฉียว
การเคหะบางพลี
สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์

05:20 น. 05:30 น. 20:30 น. 22:00 น. 1.รถโดยสารประจำทางปรับอากาศสีฟ้า (ใช้แก๊สธรรมชาติ) ขสมก.

อ้างอิง

  1. http://gishealth.moph.go.th/healthmap/infoequip.php?maincode=41373&id=112572[ลิงก์เสีย]
  2. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล | สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์
  3. พิธีเปิดสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ข่าวในพระราชสำนัก วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560 - YouTube
  5. สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ความหวังแห่งใหม่ของคนไทย - ไทยรัฐออนไลน์
  6. "ความเป็นมาสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 2018-01-13.
  7. ขบ.เปิดตัวรถเมล์มาตรฐานใหม่ ขึ้นฟรี 5 วัน เริ่ม 16 ม.ค. สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-รามาธิบดี
  8. ขบ.เปิดตัวรถเมล์มาตรฐานใหม่ ขึ้นฟรี 5 วัน เริ่ม 16 ม.ค. สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-รามาธิบดี - ผู้จัดการออนไลน์
  9. วันแรกของสาย 3-26E ขสมก., bangkokbusclub
Prefix: a b c d e f g h i j k l m n o p q r s t u v w x y z 0 1 2 3 4 5 6 7 8 9

Portal di Ensiklopedia Dunia

Kembali kehalaman sebelumnya