แผ่นดินไหวในอิยาเปล พ.ศ. 2558 เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2558 ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเมืองอิยาเปล นอกชายฝั่งประเทศชิลีราว 46 กิโลเมตร แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 19:54:32 น. ตามเวลาในประเทศชิลี (UTC–3) มีขนาดความรุนแรง 8.3-8.4 ตามมาตราขนาดโมเมนต์[6][1][7]
แผ่นดินไหวมีขนาด 8.3 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ เกิดขึ้นเนื่องจากการเคลื่อนของรอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ (thrust) บนรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกนัซกากับแผ่นอเมริกาใต้ ตอนกลางของประเทศชิลี แผ่นนัซกาในบริเวณนี้เคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออก–ตะวันออกเฉียงเหนือ (ENE) ด้วยความเร็ว 74 มิลลิเมตรต่อปีเมื่อเทียบกับแผ่นอเมริกาใต้ และเริ่มมุดตัวลงใต้พื้นทวีปอเมริกาใต้บริเวณร่องลึกอาตากามา ซึ่งทอดตัวยาวขนานไปกับทวีปอเมริกาใต้ทั้งทวีป จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ห่างจากร่องลึกไปทางทิศตะวันตกราว 85 กิโลเมตร แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้มีความสอดคล้องกันทั้งในด้านขนาด ที่ตั้ง และกลไกการเกิด[8]
โดยทั่วไปแล้วแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มักจะแสดงในรูปของจุดบนแผนที่ แต่ความเป็นจริงแล้วศูนย์กลางของแผ่นดินไหวจะมีลักษณะเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ซึ่งแผ่นดินไหวในครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางครอบคลุมพื้นที่ขนาดยาวถึง 230 กิโลเมตร และกว้าง 100 กิโลเมตร[8]
ประเทศชิลีตั้งอยู่บนเขตรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกที่มีพลังมากที่สุดแห่งหนึ่งบนโลก[9] ซึ่งทำให้พื้นที่ดังกล่าวมีประวัติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มาตั้งแต่อดีต เช่น แผ่นดินไหวขนาด 8.8 เมื่อ พ.ศ. 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 500 คน และก่อให้เกิดความเสียหายในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีขนาดยาว 400 กิโลเมตรทอดตัวไปตามรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ตั้งอยู่ทางใต้ของแผ่นดินไหวครั้งนี้ นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวเมื่อ พ.ศ. 2557 ขนาด 8.2 ใกล้กับเมืองอิกิเก และแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์เมื่อ พ.ศ. 2503 ขนาด 9.5 Mw ทางภาคใต้ของประเทศ ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา พื้นที่รัศมี 400 กิโลเมตรรอบจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในครั้งนี้ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 7 Mw มาแล้ว 15 ครั้ง[8]
หลังเหตุแผ่นดินไหว เบื้องต้นรัฐบาลชิลีได้ประกาศยอดผู้เสียชีวิต 5 รายและบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 20 คน[9] จนถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 ราย โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตจากประเทศอาร์เจนตินา 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งหมดมากกว่า 34 คน[10][5] นอกจากนี้ประชาชนในเมืองอิยาเปลยังไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้เนื่องจากระบบทั้งสองเกิดความเสียหายจากแผ่นดินไหว[11] และแรงสั่นไหวยังรู้สึกได้บนอาคารสูงในกรุงบัวโนสไอเรส เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินา และเมืองเซาเปาลูในประเทศบราซิล ซึ่งห่างจากจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวกว่า 1,100 กิโลเมตร และ 2,600 กิโลเมตรตามลำดับ[12]
ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิกในโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ได้ประกาศเตือนภัยคลื่นสึนามิบริเวณชายฝั่งของชิลีและเปรูหลังเกิดแผ่นดินไหว 6 นาที[13] ซึ่งต่อมาได้คาดการณ์ความสูงของคลื่นว่าจะสูงมากกว่า 3 เมตรบริเวณชายฝั่งชิลี 1–3 เมตรบริเวณหมู่เกาะเฟรนช์โปลินีเซีย ซึ่งห่างออกไปในมหาสมุทรแปซิฟิกกว่า 7,800 กิโลเมตร 0.3–1 เมตรบริเวณชายฝั่งทวีปอเมริกาใต้ (นอกจากชิลี) และหมู่เกาะในโอเชียเนีย และต่ำกว่า 0.3 เมตรสำหรับชายฝั่งแปซิฟิกนอกเหนือจากที่กล่าวมา[14] ประกาศดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและแจ้งเตือนไปยังประเทศเอกวาดอร์ เปรู นิวซีแลนด์ ฟีจี หมู่เกาะโซโลมอน รัฐฮาวาย และรัฐแคลิฟอร์เนีย ความสูงของคลื่นสึนามิที่กระทบแนวชายฝั่งของแคว้นโกกิมโบ ประเทศชิลี วัดได้ 4.5 เมตร คลื่นทำให้เกิดน้ำท่วมในเมืองโกกิมโบ ตองกอย และกองกอง (ใกล้กับบัลปาราอิโซ) ทางการชิลีได้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งราวหนึ่งล้านคน[9]