มาตราเมร์กัลลี (อังกฤษ: Mercalli scale) เป็นมาตราสำหรับใช้กำหนดขั้นความรุนแรงของแผ่นดินไหว คิดค้นโดยจูเซปเป เมร์กัลลี (Giuseppe Mercalli) ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหวชาวอิตาลี เมื่อ พ.ศ. 2445 โดยแบ่งไว้ 10 อันดับ ต่อมาในปี พ.ศ. 2474 แฮร์รี โอ. วูด และแฟรงก์ นิวแมนน์ นักวิทยาแผ่นดินไหวชาวอเมริกันได้นำมาตราเมร์กัลลีมาปรับปรุงทำให้มาตรานี้เพิ่มเป็น 12 อันดับ เรียกว่า Modified Mercalli Intensity Scale อักษรย่อ MM ปัจจุบันมาตราเมร์กัลลีไม่ค่อยเป็นที่นิยม
ระดับความรุนแรงตามมาตราเมร์กัลลีเปรียบเทียบกับแมกนิจูดของแผ่นดินไหว
แมกนิจูด
|
มาตราเมร์กัลลี
|
1.0 - 3.0
|
I
|
3.0 - 3.9
|
II - III
|
4.0 - 4.9
|
IV - V
|
5.0 - 5.9
|
VI - VII
|
6.0 – 6.9
|
VII – X
|
7.0 – 9.9
|
VIII หรือสูงกว่า
|
10.0 หรือสูงกว่า
|
X หรือสูงกว่า
|
ระดับความรุนแรงตามมาตราเมร์กัลลี
มาตราเมร์กัลลีบ่งบอกว่าบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายมากน้อยเพียงใด โดยจัดระดับความรุนแรงเป็น 12 ระดับ ด้วยเลขโรมันตั้งแต่ I ถึง XII ดังนี้
I. ไม่รู้สึกได้
|
ตรวจวัดได้โดยเครื่องมือวัดความสั่นสะเทือนเท่านั้น ไม่สามารถรู้สึกได้นอกจากจะอยู่ในกรณีแวดล้อมที่เหมาะสมโดยเฉพาะบริเวณที่อ่อนไหวต่อความสั่นสะเทือน บางครั้งอาจสังเกตได้จากอาการผิดปกติของนกและสัตว์ต่าง ๆ บางครั้งรู้สึกมึนงงหรือคลื่นเหียนอาเจียน บางครั้งต้นไม้ สิ่งก่อสร้าง ของเหลวและน้ำอาจแกว่งไกว ประตูอาจแกว่งช้ามาก
|
II. อ่อน
|
รู้สึกได้เป็นบางคน โดยเฉพาะที่อยู่บนอาคารสูง ๆ หรือเป็นผู้ที่มีประสาทไว เหตุการณ์ต่าง ๆ จะคล้ายกับอันดับ I แต่สังเกตได้ง่ายกว่า บางครั้งวัตถุห้อยแขวนอาจแกว่งไกว
|
III. อ่อน
|
รู้สึกได้หลาย ๆ คนสำหรับผู้ที่อยู่ในตัวอาคาร การสั่นไหวโดยปกติจะสิ้นสุดโดยเร็ว จนบางครั้งอาจไม่รู้สึกว่าเป็นแผ่นดินไหว การสั่นไหวคล้ายกับมีรถบรรทุกหนักแล่นผ่านในระยะไกล ๆ วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกวเล็กน้อยและมากขึ้นในชั้นบนของอาคารสูง ๆ รถยนต์ที่จอดอยู่อาจสั่นไหวบ้างเล็กน้อย
|
IV. เบา
|
ผู้ที่อยู่ในบ้านจะรู้สึกกันทั่ว ส่วนผู้ที่อยู่นอกบ้านจะไม่ค่อยรู้สึก ถ้าเป็นเวลากลางคืนอาจทำให้บางคนตื่นจากหลับ ข้าวของในบ้าน เช่น ถ้วยชาม หน้าต่าง บานประตู สั่นไหวหรือลั่นปึงปัง รถยนต์ที่จอดอยู่สั่นไหวโคลงเคลงเห็นได้ชัด
|
V. ปานกลาง
|
ผู้ที่อยู่ในอาคารจะรู้สึกกันได้เกือบทุกคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกอาคารก็รู้สึกได้เป็นส่วนใหญ่ ผู้ที่หลับจะตกใจตื่น มีบางคนตกใจ บางคนตื่นเต้นเล็กน้อย บางคนวิ่งออกไปนอกบ้าน อาคารสั่นไหว ถ้วยชามเครื่องแก้วหล่นแตก หน้าต่างร้าวในบางกรณีแต่ไม่เสมอไป แจกัน วัตถุขนาดเล็กที่ไม่มั่นคงล้มคว่ำหรือหล่น วัตถุห้อยแขวนและบานประตูแกว่งไกว รูปภาพแกว่งกระทบผนังหรือเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิม ประตูเปิดปิดเอง ลูกตุ้มนาฬิกาหยุดแกว่ง หรือแกว่งเร็วขึ้น ช้าลง วัตถุชิ้นเล็ก ๆ เครื่องประดับบ้านเคลื่อนจากที่เดิม ของเหลวที่เต็มในภาชนะที่ไม่มีฝากระฉอก ต้นไม้ พุ่มไม้ สั่นไหวเล็กน้อย
|
VI. แรง
|
รู้สึกได้ทุกคนทั้งในและนอกอาคาร ตกใจกันมาก ตื่นเต้นโดยทั่วไป บางคนตื่นตกใจและหลายคนวิ่งออกนอกอาคาร ผู้ที่หลับจะตกใจตื่น ผู้คนรู้สึกโคลงเคลง ต้นไม้ พุ่มไม้ สั่นไหวเล็กน้อยถึงปานกลาง ของเหลวมีอาการสั่นไหวรุนแรง ระฆังขนาดเล็กดัง มีความเสียหายเล็กน้อยในอาคารที่ก่อสร้างไว้ไม่ดี ปูนปลาสเตอร์หล่นเล็กน้อย หรือเกิดรอยร้าว โดยเฉพาะ ปล่องไฟ ถ้วยชาม เครื่องแก้วแตก และหน้าต่างอาจแตกด้วย ของใช้กระจุกกระจิก หนังสือ รูปภาพหล่น เครื่องประดับบ้านหลายอย่างล้มคว่ำ ของหนัก ๆ เคลื่อนจากที่เดิม
|
VII. แรงมาก
|
ตกใจกันทุกคนและทั้งหมดวิ่งออกนอกอาคาร หลายคนมีความรู้สึกว่ายืนไม่อยู่ ผู้ที่กำลังขับรถสังเกตได้ว่ามีแผ่นดินไหว ต้นไม้ พุ่มไม้ สั่นไหวปานกลางถึงแรง น้ำในบ่อ ทะเลสาบเป็นคลื่น และน้ำขุ่น เนื่องจากโคลนถูกเขย่า แม่น้ำที่เป็นทราย กรวดพัง ระฆังในโบสถ์ใบใหญ่ดัง วัตถุห้อยแขวนแกว่งไกว อาคารที่ออกแบบและก่อสร้างไว้อย่างดีไม่มีความเสียหาย จะเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลางในอาคารทั่วไปที่ก่อสร้างไว้ดี และเสียหายค่อนข้างมากสำหรับอาคารที่ออกแบบและก่อสร้างไว้ไม่ดี บ้านที่สร้างด้วยอิฐ กำแพงเก่า ๆ และสิ่งก่อสร้างที่มียอดแหลม ปล่องไฟและกำแพงร้าวจนถึงแตก ปูนปลาสเตอร์หล่นมาก ซีเมนต์ผสมปูนขาวที่ใช้พอกผนังหล่น หน้าต่างเครื่องประดับบ้านแตกหรือเสียหายมาก สิ่งก่อสร้างที่ทำด้วยอิฐ หรือกระเบื้องเสียหาย บางครั้งหลังคาก็เสียหายด้วย ลวดลายที่ทำเป็นกระบังออกมาของหอหรือตึกสูง ๆ หล่น อิฐและหินเคลื่อนที่จากที่เดิม เครื่องประดับบ้านหนักล้มคว่ำและเสียหาย คู คลอง คอนกรีตสำหรับการชลประทานเสียหายอย่างสิ้นเชิง
|
VIII. อย่างรุนแรง
|
ผู้คนทั่วไปตกใจ ผู้ที่กำลังขับขี่รถยนต์จะรู้สึกว่าขับขี่ไม่สะดวก ต้นไม้สั่นไหวอย่างแรง กิ่งก้านและลำต้นหักโค่น โดยเฉพาะต้นปาล์ม ทรายและโคลนพุ่งขึ้นมาปริมาณเล็กน้อย มีการเปลื่ยนแปลงอย่างชั่วคราวหรือถาวรของน้ำพุ บ่อน้ำที่แห้งอาจมีน้ำไหล มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำพุและน้ำในบ่อ โครงสร้างที่เป็นอิฐเสียหายเล็กน้อย โดยเฉพาะที่ต้านแรงจากแผ่นดินไหวได้ อาคารธรรมดาบางส่วนจะพังลง บางครั้งบ้านไม้เสียหาย แผ่นกรุฝาผนังหลุดออกจากกรอบ เสาที่ผุผังแตกออก กำแพงพัง กำแพงหินแตกร้าวมาก น้ำจากใต้ดินซึมขึ้นมา ปล่องไฟ เสา อนุสาวรีย์ หอสูงเกิดการบิดงอ ล้มลง เครื่องประดับบ้านหนัก ๆ เคลื่อนที่หรือล้มคว่ำ
|
IX. ร้ายแรง
|
พื้นดินแยก เกิดความเสียหายกับโครงสร้างที่เป็นอิฐ โครงบ้านไม้ถูกเหวี่ยงไม่ตั้งฉาก โดยเฉพาะแบที่สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหว อาคารต่าง ๆ ที่เป็นอิฐเสียหายมาก บางอาคารพังทลายเป็นส่วนใหญ่ หรือโครงตึกเลื่อนออกไปจากฐานราก ทำความเสียหายอย่างหนักต่ออ่างเก็บน้ำ ท่อใต้พื้นดินบางครั้งแตก หัก
|
X. อานุภาพรุนแรง
|
พื้นดินแยกโดยเฉพาะบริเวณที่ร่วนซุยและเปียก อาจมีรอยแยกกว้างหลายนิ้ว รอยแยกนี้อาจกว้างถึงหนึ่งหลาในแนวขนานกับชายฝั่งแม่น้ำและลำคลอง ดินพังบริเวณแม่น้ำและฝั่งทะเลที่ลาดชัน ทรายและโคลนเคลื่อนเป็นแนวขวางบนหาดและที่ราบลุ่ม ระดับน้ำในบ่อต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง เกิดคลื่นซัดชายฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง ทะเลสาบ ฯลฯ ทำความเสียหายอย่างหนักแก่เขื่อน กำแพงกั้นน้ำ โครงไม้ที่ก่อสร้างอย่างดีและสะพาน กำแพงอิฐอย่างดีเกิดรอยร้าว ทำลายอาคารโครงสร้างและฐานราก รางรถไฟโค้งงอเล็กน้อย ท่อใต้ดินฉีกขาด บาทวิถีซีเมนต์และผิวถนนลาดยางแตกแยกและเป็นคลื่น
|
XI. สุดขีด
|
พื้นดินสั่นสะเทือนมากเป็นบริเวณกว้าง รอยแตกกว้างใหญ่ แผ่นดินทรุดและเลื่อน พื้นดินเปียกชื้น มีน้ำพุ่งออกมาเป็นจำนวนมากพร้อมทรายและโคลน เกิดคลื่นในทะเลขนาดใหญ่ โครงสร้างที่เป็นไม้เสียหายมาก โดยเฉพาะบริเวณใกล้จุดศูนย์กลาง เขื่อน กำแพงกั้นน้ำ เสียหายค่อนข้างมาก สิ่งก่อสร้างจำนวนเล็กน้อยเหลืออยู่ได้ ทำลายสะพานที่ก่อสร้างอย่างดี โดยตอม่อ เสาสะพานแตก แต่สะพานไม้จะเสียหายน้อยกว่า รางรถไฟโค้ง บิดงอมาก
|
XII. ภัยพิบัติ
|
เสียหายทั้งหมด งานก่อสร้างเสียหายมากหรือพังทลาย พื้นดินพังทลาย พื้นดินสั่นสะเทือนอย่างรุนแรง และแตกแยก หินหล่นพังทลาย ตลิ่งหรือชายแม่น้ำทรุดและพัง มีการบิดฉีกขาดของหินขนาดใหญ่ มีรอยเลื่อนในหินที่มั่นคง โดยมีการแทนที่ในแนวราบและแนวดิ่ง ท่อน้ำบนดิน ใต้ดินเสียหาย ทะเลสาบถูกปิดกั้น เกิดน้ำตก แม่น้ำเปลี่ยนทิศทาง พื้นดินเป็นคลื่น วัตถุถูกเหวี่ยงขึ้นไปในอากาศ
|
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
- "Mercalli scale (modified)", พจนานุกรมศัพท์ภูมิศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2549, หน้า 378
- นพนันท์ อนุรัตน์, แผ่นดินไหว มหันตภัยใต้พิภพ, รู้รอบตัว, มกราคม 2534, หน้า 47
- The Modified Mercalli Intensity Scale เก็บถาวร 2007-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - U.S. Geological Survey (อังกฤษ)