เทศกาลตงจื้อ |
---|
|
ชื่อทางการ | ตงจื้อ (冬至; Dōng zhì) |
---|
ชื่ออื่น | ตั่งเจะ, ตังโจ่ย (冬節; Tang-cheh, Dang1-zoih4) โทจิ (冬至, Tōji) ทงจี (동지, Dongji) ทุนจี (トゥンジー, 冬至, Tunji) |
---|
จัดขึ้นโดย | ชาวจีน, ชาวญี่ปุ่น, ชาวเกาหลี, ชาวรีวกีว, เปอรานากัน |
---|
ประเภท | วัฒนธรรม |
---|
ความสำคัญ | วาระที่ดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดสุดทางใต้ |
---|
การถือปฏิบัติ | ทำและรับประทานทังยฺเหวียน, บูชาบรรพบุรุษ |
---|
วันที่ | วันเหมายัน (ระหว่าง 21 ถึง 23 ธันวาคม) |
---|
ความถี่ | ประจำปี |
---|
ส่วนเกี่ยวข้อง | เหมายัน |
---|
เทศกาลตังโจ่ย หรือ เทศกาลฤดูหนาว (จีน: 冬至; พินอิน: dōng zhì, จีนกลาง: ตงจื้อ; อังกฤษ: Dongzhi Festival, Winter Solstice Festival) ตังโจ่ย หรือ ตังจี๋ หรือ ตงเจี่ย (ตามสำเนียงแต้จิ๋ว) หรือ ตั่งเจะ (ตามสำเนียงฮกเกี้ยน) มีความหมายถึง เทศกาลเฉลิมฉลองวันเหมายัน คือ วันที่พระอาทิตย์จะส่องแสงสั้นที่สุด หรือ วันที่เป็นจุดที่สุดของฤดูหนาว (The Extreme of Winter) (โดยประมาณจะตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม ของทุกปี แต่ปีที่มีอธิกมาส จะตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม)[1][2]
ประวัติ
ในยุคโบราณชาวจีนจะเรียกวันดังกล่าวนี้ว่า เฉี่ยงจี่ (สุดยาว) เป็นหลักการโคจรของดวงอาทิตย์ในแต่ละปี ภายหลังฤดูสารทชิวฮุง (เทศกาลกินเจ) ในเดือนตุลาคมแล้ว พระอาทิตย์เริ่มเคลื่อนลงสู่ทางทิศใต้ ถึงเส้นรุ้งที่ 23 องศา 26 ลิปดา 59 พิลิปดาใต้ ดังนั้น ทางขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ภูมิอากาศย่อมมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในซีกโลกเหนือแสงแดดในเวลากลางวันนั้นสั้น แต่เวลากลางคืนกลับยาว แต่ที่ทางซีกโลกใต้นั้นกลับตรงกันข้าม วันตังโจ่ยเป็นวันที่ดวงอาทิตย์โคจรอยู่ทางซีกโลกใต้นานที่สุด ดังนั้นวันนี้จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า น่ำจี่ (สุดใต้) และเมื่อผ่านพ้นวันนี้ไปแล้ว ดวงอาทิตย์ก็จะเริ่มโคจรกลับสู่ทางด้านทิศเหนือ วันเวลายามกลางวันก็จะเริ่มต้นยาวขึ้นตามลำดับ วันตังโจ่ย ถือเป็นวันตายตัวของวันที่ 22 (หรือวันที่ 21) ธันวาคม ตามปฏิทินทางสุริยคติสากล แต่สำหรับในปฏิทินจีน ได้ใช้หลักตามจันทรคติ
ดังนั้น เมื่อถือตามหลักของปฏิทินจีน วันตังโจ่ย จึงไม่ตายตัวทุก ๆ ปี แต่จะตรงกับเดือน 11 ตามปฏิทินจีน (เดือนธันวาคม) ซึ่งเรียกว่า เกี๋ยวง๊วย
ในยุคโบราณ ชาวจีนให้ความสำคัญกับเทศกาลตังโจ่ยไม่แพ้วันตรุษจีน เพราะถือเสมือนเทศกาลสิ้นปี ผู้คนจะปิดร้านรวงและบ้านเรือน ทำบุญตามวัดหรือไหว้เจ้า เอกลักษณ์ที่สำคัญในเทศกาลนี้ คือ ผู้คนจะปั้นและกินขนมที่มีลักษณะคล้ายขนมบัวลอยของไทย (ออกเสียงสำเนียงแต้จิ๋วว่า อี๊) ซึ่งทำจากแป้งและต้มกับน้ำเชื่อม เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ในภูมิภาคแต่ละที่ของจีนจะกินขนมชนิดนี้และมีชื่อเรียกแตกต่างออกไป เช่น ทางเหนือจะกินเกี๊ยวน้ำ ทางใต้จะกินขนมชนิดนี้ที่มีลูกใหญ่และเรียกว่า "ยฺเหวียนเซียว" (ทังยฺเหวียน, 湯圓) โดยมีความเชื่อว่า เมื่อรับประทานแล้วคนในครอบครัวจะรักผูกพันกันยิ่งขึ้น เพราะเมื่อถึงเทศกาลนี้แล้ว ญาติพี่น้องที่จากไปอยู่แต่ละที่ จะหวนคืนกลับบ้านมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง[3] อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นมงคลเพราะอายุเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปี
ดังนั้นเทศกาลนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เทศกาลไหว้ขนมบัวลอย ซึ่งประเพณีการรับประทานขนมบัวลอยนี้ก็ยังคงปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน[4]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น