อักษรอีลาไมต์ (Elamite)เป็นอักษรที่ใช้โดยชาวอีลาไมต์ก่อนยุคจักรวรรดิเปอร์เซียเมื่อราว พ.ศ. 43 ชาวอีลาไมต์เป็นกลุ่มชนที่มีอิทธิพลครอบงำทางตะวันออกของเมโสโปเตเมีย ซึ่งเป็นภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน การพัฒนาการเขียนของชาวอีลาไมต์เป็นคู่ขนานกับชาวสุเมเรีย คาดว่าเก่าสุดเมื่อราว 7, 457 ปีก่อนพุทธศักราช
ประเภทของอักษร
อักษรอีลาไมต์แบ่งเป็น 3 ระยะคือ
อักษรอีลาไมต์ระยะแรก (Proto-Elamite)
เป็นอักษรที่เก่าสุด ปรากฏครั้งแรกเมื่อ 2,357 ปีก่อนพุทธศักราช ในซูซา เมืองหลวงของอีแลม มีสัญลักษณ์ราว 1,000 ตัว บางส่วนใช้แทนคำ เป็นอักษรชนิดแรกที่พบในอีแลม แตกต่างจากอักษรรูปลิ่มที่ปรากฏในส่วนอื่นของเมโสโปเตเมีย มักประกอบด้วยเส้นตรงและวงกลม ข้อความที่เขียนขึ้นทั้งหมดมักเกี่ยวกับบัญชีและตัวเลข อักษรนี้ส่วนใหญ่ยังถอดความไม่ได้และขาดแคลนข้อความขนาดยาวที่เป็นจารึก 2 ภาษา อ่านจากขวาไปซ้าย และลงข้างล่างเมื่อถึงจุดสิ้นสุดบรรทัด
อักษรอีลาไมต์โบราณ (Old Elamite)
เป็นอักษรที่มาจากอักษรอีลาไมต์ระยะแรก เมื่อราว 1,707 – 1,677 ปีก่อนพุทธศักราช ถอดความได้บางส่วน มีสัญลักษณ์ 80 ตัว เขียนในแนวตั้งจากบนลงล่าง และซ้ายไปขวา
การค้นพบข้อความ 2 ภาษาซึ่งเป็นอักษรอีลาไมต์กับอักษรอัคคาเดียโบราณเมื่อ พ.ศ. 2448 ที่ซูซา ทำให้การถอดความง่ายขึ้น รูปแบบโดยทั่วไปเป็นอักษรพยางค์ โดยมีอักษรคำปนอยู่ด้วย รูปแบบอักษรพยางค์เหล่านี้ใกล้เคียงกับอักษรรูปลิ่มในสมัยเดียวกัน คือมีทั้งแบบใช้แทนพยางค์ พยัญชนะ-สระ และ สระ-พยัญชนะ การอ่านยังไม่แน่นอน สัญลักษณ์บางตัวใช้ลงท้ายพยางค์ พยัญชนะ-สระ-พยัญชนะ โดยมีเสียงสระต่างกัน ทำให้ยากต่อการออกเสียง ปัญหาหลักของการอ่านอักษรอีลาไมต์คือ ขาดข้อความขนาดยาว ความเข้าใจภาษาอีลาไมต์มีจำกัดเพราะไม่เกี่ยวข้องกับภาษาใดในปัจจุบัน และมีการศึกษาน้อยกว่าภาษาสุเมเรียและภาษาอัคคาเดีย
ใช้ในช่วง 757 ปีก่อนพุทธศักราชจนถึง พ.ศ. 874 พัฒนามาจากอักษรอัคคาเดีย มีสัญลักษณ์ 130 ตัว น้อยกว่าอักษรรูปลิ่มอื่นๆ
อักษรอีลาไมต์ไม่พบว่ามีการใช้อีกในช่วง 1,657 ปีก่อนพุทธศักราช จารึกที่พบในอีแลมในช่วงดังกล่าวเป็นภาษาสุเมเรียหรือภาษาบาบิโลเนียซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเมโสโปเตเมีย วรรณคดีอีลาไมต์เงียบหายไป 900 ปี มาปรากฏอีกครั้งในช่วง 757 ปีก่อนพุทธศักราช แต่เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นอักษรรูปลิ่ม แต่มีจำนวนอักษรน้อยมากคือ พบราว 145 ตัว โดย 113 ตัวใช้แทนพยางค์ 25 ตัวใช้แทนคำ 7 ตัวเป็นศัพท์กำหนด ในขณะที่อักษรรูปลิ่มในเมโสโปเตเมียมีใช้กว่า 700 ตัว
จารึกอักษรอีลาไมต์รูปลิ่มที่มีชื่อเสียงคือ จารึกที่หน้าผาเบอิสตุน ที่จารึกโดยคำสั่งของกษัตริย์ดาริอุสที่ 1 แห่งราชวงศ์อแคมีนิกของเปอร์เซีย เมื่อราว พ.ศ. 43 ในเวลานั้น ภาษาอีลาไมต์เป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาอราเมอิกและภาษาเปอร์เซียโบราณ โดยภาษาเมโสโปเตเมียที่เก่ากว่าเช่น ภาษาสุเมเรีย ภาษาบาบิโลเนีย เป็นภาษาที่ใช้ในทางศาสนาและวิทยาศาสตร์ ภาษาอีลาไมต์มีความสำคัญมากในช่วงต้นของจักรวรรดิเปอร์เซีย แล้วค่อยๆลดความสำคัญลงหลังจาก พ.ศ. 43 โดยภาษาอราเมอิกเข้ามาเป็นภาษากลางแทน ทิ้งให้ภาษาอีลาไมต์กลายเป็นปริศนามาจนทุกวันนี้
อ้างอิง