หน่วยทางทหาร

แผนผังหน่วยของกองทัพบกเดนมาร์ก, เมษายน พ.ศ. 2483

หน่วยทางทหาร[1] หรือ องค์การทหาร[1] (อังกฤษ: military organization หรือ military organisation) คือการจัดโครงสร้างกองทัพของรัฐเพื่อให้มีขีดความสามารถทางทหาร (military capability) ให้เป็นไปตามนโยบายการป้องกันประเทศที่ได้กำหนดไว้ ในบางประเทศ กองกำลังกึ่งทหารอาจจะถูกรวมอยู่ในกองทัพของประเทศด้วย แม้ว่าจะไม่ถือว่าเป็นทหารก็ตาม กองทัพที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยทางทหารหรือกำลังกึ่งทหาร เช่น กองกำลังผู้ก่อความไม่สงบ มักจะเลียบแบบการจัดหน่วยทางทหาร หรือใช้โครงสร้างเหล่านี้ ในขณะที่หน่วยทางทหารที่เป็นทางการจะใช้รูปแบบการจัดหน่วยตามลำดับชั้น

ประวัติ

การใช้ยศทหาร เป็นโครงสร้างในการกำหนดลำดับชั้นเริ่มมีการใช้งานครั้งแรกในกองทัพโรมัน

ในยุคปัจจุบัน การควบคุม การจัดการ และการบริหารปฏิบัติการหน่วยทหารมักดำเนินงานโดยรัฐบาลผ่านหน่วยงานของรัฐบาลภายในโครงสร้างการบริหารรัฐกิจ (public administration) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่ากระทรวงกลาโหม หรือกรมกลาโหม โดยหน่วยงานนี้จะควบคุมสั่งการผ่านเหล่าทัพในการสั่งการหน่วยและรูปขบวนทหารในการรบ การสนับสนุนการรบ และการสนับสนุนการช่วยรบ

การควบคุม การจัดการ และการบริหารปฏิบัติการ

โดยปกติแล้ว การควบคุมปฏิบัติการโดยพลเรือนหรือพลเรือนบางส่วนต่อหน่วยทางทหารระดับชาตินั้นจะเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ผู้นำทางการเมืองมาจากการเลือกตั้งในฐานะของสมาชิกของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล หรือที่รู้จักกันในชื่อว่ากระทรวงกลาโหม ในขณะที่ระบบประธานาธิบดี เช่น สหรัฐ ประธานาธิบดีจะเป็นผู้บัญชาการทหาร และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาในระดับรองลงมา สายการบังคับบัญชาในระดับรองลงมาจากรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมมักจะเป็นเลขานุการของส่วนปฏิบัติการของกองทัพโดยรวม เช่น หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนทั่วไปกับกองทัพ หรือหน่วยงานภายใต้กองทัพ

จากนั้นจะมีผู้บัญชาการในระดับรองลงมาที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือสาขาเพื่อให้คำปรึกษา เช่น ผู้ให้คำแนะนำด้านยุทธศาสตร์ การประเมินขีดความสามารถทางทหาร หรือการจัดหางานวิจัย การออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวิทยาการทหาร และภายในแต่ละส่วนจะพบกับเหล่าบริการที่มีความชำนาญด้านธุรกิจ

เหล่าทัพ

รูปขบวนพาหนะทางทหารผสมอากาศยานและเรือรบระหว่างการฝึกระหว่างกองทัพเรือสหรัฐและกองกำลังป้องกันตนเองทางอากาศญี่ปุ่น

ในประเทศส่วนใหญ่ กองทัพแบ่งออกเป็น 3 เหล่าทัพ (military branches, service, armed service, หรือ military service) กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ

หลายประเทศมีรูปแบบมาตรฐานของเหล่าทัพทางการทหาร 3 เหล่าทัพ บางประเทศยังมีการจัดหน่วยของกองกำลังไซเบอร์ (cyber force), บริการฉุกเฉิน (emergencies service), การแพทย์ (medical service), การส่งกำลังบำรุงทางทหาร (military logistics), กองทัพอวกาศ (space force), นาวิกโยธิน (marines) และหน่วยรบพิเศษ (special forces) เช่น คอมมานโด (commando) หรือหน่วยส่งทางอากาศ (airborne force) ซึ่งเป็นหน่วยติดอาวุธอิสระ ส่วนของหน่วยยามชายแดน (border guard) หรือหน่วยยามฝั่ง (coast guard) ในระดับชาติอาจเป็นหน่วยงานอิสระแยกออกมาจากเหล่าทัพ แม้ว่าในหลายประเทศหน่วยยามชายแดนหรือหน่วยยามฝั่งนั้นเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของพลเรือนก็ตาม ในขณะที่หลายประเทศไม่มีกองทัพเรือด้วยเหตุผลด้านภูมิศาสตร์

ในกองทัพขนาดใหญ่ อาจจะมีวัฒนธรรมระหว่างเหล่าทัพที่แตกต่างกันไปอย่างมากในแต่ละเหล่าทัพ

ส่วนในประเทศที่มีขนาดเล็กส่วนใหญ่จะมีองค์กรเดียวในการจัดการกองทัพทุกเหล่าทัพในประเทศ โดยกองทัพบกในประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มที่จะมีกำลังหลักเป็นทหารราบเป็นหลัก ในขณะที่กองทัพบกในประเทศพัฒนาแล้วมักจะมีหน่วยขนาดใหญ่กว่า มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีราคาสูงและใช้กำลังพลจำนวนไม่สูงมากในหน่วยทหารราบ

ในกองทัพตะวันตก กำลังรบร่วม (joint force) หมายถึงหน่วยหรือรูปแบบที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของหน่วยรบจากสองหรือสามเหล่าทัพขึ้นไปประกอบกำลังร่วมกัน

กองกำลังรักษาความมั่นคงภายใน

ฌ็องดาร์เมอรี (gendarmerie), สารวัตรทหาร (military police) และกองกำลังความมั่นคง (security force) หรือกองกำลังที่มีศักยภาพเทียบเท่า เช่น กำลังกึ่งทหาร (paramilitary force), กองกำลังอาสาสมัคร (militia) กองกำลังภายใน (internal troop) และหน่วยยุทธวิธีตำรวจ (police tactical unit) เป็นการรักษาความมั่นคงภายในที่พบได้ทั่วไปในประเทศส่วนใหญ่บนโลก แต่พบไม่บ่อยในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ใช้งานระบบกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษและจ้างตำรวจพลเรือนในการบังคับใช้กฎหมาย และมีข้อจำกัดในการใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือกำลังตำรวจพลเรือน[a]

หน่วยบัญชาการ รูปขบวนและหน่วยทหาร

เป็นเรื่องปกติ อย่างน้อยในกองทัพของยุโรปและอเมริกาเหนือจะเรียกองค์ประกอบพื้นฐานของกองทัพว่าเป็น หน่วยบัญชาการ รูปขบวน และหน่วยทหาร

ในบริบททางทหาร หน่วยบัญชาการคือชุดของหน่วยและรูปขบวนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของนายทหารเพียงคนเดียว แม้ว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หน่วยบัญชาการก็เป็นชื่อที่ตั้งให้กับกลุ่มชุดรบ (battle group) ในกองทัพบกสหรัฐ โดยทั่วไปกองบัญชาการด้านการบริหารและทางยุทธศาสตร์จะถูกรับผิดชอบโดยรัฐบาลแห่งชาติหรือหรือกองบัญชาการทหารแห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่การบริการระดับชาติของแต่ละหน่วยจะมีการบังคับบัญชาเป็นของตนเอง (เช่น ส่วนทางบก, ส่วนทางอากาศ, ส่วนทางเรือ และส่วนการแพทย์ในกองทัพบกเบลเยียม) แต่การมีอยู่ของส่วนบัญชาการเฉพาะหน่วยไม่ได้เป็นการขัดขวางคำสั่งการที่ไม่ได้อิงตามส่วนบริการเหล่านั้น

รูปขบวน (formation) ถูกกำหนดโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐว่าเป็น "อากาศยาน, เรือ หรือหน่วย ตั้งแต่ 2 ลำ (หน่วย) ขึ้นไปที่ดำเนินกิจกรรมร่วมกันภายใต้ผู้บังคับหน่วย"[2] คำว่า Fomin ในสารานุกรมสหภาพโซเวียตที่ยิ่งใหญ่ เน้นถึงการรวมกำลังว่าเป็น "รูปขบวนคือหน่วยทางทหารที่ก่อตั้งขึ้นมาจากหน่วยกองกำลังที่เชี่ยวชาญด้านอาวุธและบริการเพื่อสร้างความสมดุลในการรบผสมเหล่า รูปขบวนต่าง ๆ แตกต่างกันเพียงความสามารถในการใช้กำลังเพื่อบรรลุพลในระดับต่าง ๆ ต่อเป้าหมายในทางยุทธศาสตร์ การปฏิบัติการ ทางยุทธวิธีตามวัตถุประสงค์ของภารกิจที่แตกต่างกัน"[3] เป็นหน่วยทางทหารที่มีการผสมผสานกันระหว่างหน่วยย่อยที่สามารถบูรณาการและปฏิบัติการ และปกติจะมีขีดความสามารถในการรบได้ ตัวอย่างของรูปขบวน เช่น กองพล, กองพลน้อย, กองพัน, กองบิน เป็นต้น นอกจากนี้รูปขบวนอาจจะหมายถึงรูปแบบทางยุทธวิธี[4] การจัดเตรียมกำลังทางกายภาพหรือการจัดวางกำลังทหารและอาวุธ เช่น รูปขบวนแบบกระดองเต่า (testudo formation), รูปขบวนลิ่ม เป็นต้น

หน่วยทั่วไป คือหน่วยทางทหารที่เป็นเนื้อเดียวกัน (ทั้งการรบ, การสนับสนุนการรบ หรือสมรรถภาพในเชิงไม่ใช่การสู้รบ) ซึ่งรวมไปถึงเจ้าหน้าที่บริการที่ส่วนใหญ่มาจากหน่วยบริการเดียว หรือเหล่าบริการเดียว โดยมีภาระหน้าที่ในทั้งด้านการบริหารและการบังคับการอยู่ในตัวเอง หน่วยใด ๆ ก็ตามที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของอีกหน่วยหนึ่งถือเป็นหน่วยย่อยหรือหน่วยรอง ไม่ใช่เรื่องแปลกในสหรัฐที่หน่วยและรูปขบวนจะใช้ตรงกัน ส่วนในทางปฏิบัติของเครือจักรภพ รูปขบวนจะไม่ถูกใช้กับหน่วยทหารขนาดเล็ก เช่น กองพัน, หมวด จะถูกเรียกว่า "หน่วย" (unit) และหมวด หรือ กองร้อยจะใช้เรียกว่าเป็นหน่วยย่อย ในเครือจักรภพ รูปขบวนจะหมายถึง กองพัน, กองพลน้อย เป็นต้น

กองทัพที่แตกต่างกัน และแม้แต่เหล่าบริการที่แตกต่างกันของกองทัพ อาจจะใช้ชื่อเดียวกันเพื่อแสดงถึงความแตกต่างของหน่วยทางทหารประเภทต่าง ๆ เช่น กองเรือ (squadron) ในกองทัพเรือส่วนใหญ่ กองเรือคือรูปขบวนของเรือหลายลำ ในกองทัพอากาศส่วนใหญ่เป็นหน่วยเรียกว่าฝูงบิน (squadron) ในกองทัพบกสหรัฐเป็นหน่วยขนาดกองพันของทหารม้าเรียกว่ากองพันทหารม้า (squadron) และในกองทัพบกในเครือจักรภพขนาดกองร้อยในระดับหน่วยย่อย

อัตราการจัดและยุทโธปกรณ์

อัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ (table of organization and equipment: TOE หรือ TO&E) เป็นเอกสารที่เผยแพร่โดยหน่วยสนับสนุนการจัดการกองทัพบกสหรัฐ (U.S. Army Force Management Support Agency) ซึ่งกำหนดหน่วยทางทหาร, กำลังพล, และยุทโธปกรณ์ของหน่วยตั้งแต่กองพลลงมา แต่รวมไปถึงกองบัญชาการของกองทัพน้อยและกองทัพ

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับภารกิจและขีดความสามารถของหน่วยตลอดจนสถานะปัจจุบันของหน่วย อัตราการจัดและยุทโธปกรณ์ทั่วไปสามารถใช้ได้กับหน่วยทั่วไป (เช่น ทหารราบ) มากกว่าหน่วยเฉพาะ (เช่น กองพลทหารราบที่ 3) ด้วยวิธีนี้ ทุกหน่วยในเหล่าเดียวกัน (เช่น ทหารราบ) จะปฏิบัติตามแนวทางตามโครงสร้างเดียวกัน

ลำดับชั้นสมัยใหม่

กองทัพบก

ตารางต่อไปนี้แสดงถึงภาพรวมของคำศัพท์บางคำที่ใช้อธิบายลำดับชั้นของกองทัพบกในกองทัพทั่วโลก แม้ว่าจะเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่ากองทัพบกของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน แต่หลายกองทัพบกก็เลือกใช้รูปแบบของสหราชอาณาจักร หรือสหรัฐ หรือทั้งสองประเทศ[5] อย่างไรก็ตาม หน่วยและรูปขบวนทหารจำนวนมากมีประวัติย้อนกลับไปในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ยาวนาน และได้รับการคิดค้นโดยนักคิดทางการทหารหลายคนตลอดช่วงประวัติศาสตร์ของยุโรป

ตัวอย่าง เช่น กองทัพน้อยสมัยใหม่ถูกนำมาใช้งานครั้งแรกในฝรั่งเศสประมาณปี พ.ศ. 2348 โดยนโปเลียน โดยเป็นการจัดกลุ่มยุทธวิธีที่ยืดหยุ่นมากขึ้นของสองกองพลในช่วงระหว่างสงครามนโปเลียน

สัญลักษณ์เนโท ชื่อ รูปแบบ กำลังพล การประกอบหน่วย ผู้บัญชาการหรือผู้นำ
หน่วยบัญชาการรบรวม[6] หรือเทียบเท่า
ภูมิภาค[b][5]
ยุทธบริเวณ
หน่วยบัญชาการ 1,000,000–10,000,000 4+ หมู่กองทัพ OF-10: จอมพล
OF-9: พลเอก, พลเอกทหารบก หรือ พลเอกอาวุโส
หมู่กองทัพ หรือเทียบเท่า
แนวรบ
หน่วยบัญชาการ 400,000–1,000,000[5] 2+ กองทัพ OF-10 จอมพล
OF-9: พลเอก, พลเอกทหารบก หรือ พลเอกอาวุโส
กองทัพสนาม หน่วยบัญชาการ 100,000–200,000 2–4 กองทัพน้อย OF-10: จอมพล
OF-9: พลเอก, พลเอกทหารบก หรือ พลเอกอาวุโส
กองทัพน้อย รูปขบวน 20,000–60,000 2+ กองพล OF-9: พลเอก หรือ พลเอกทหารบก[c]
OF-8: พลโท, นายพลกองทัพน้อย หรือ พลเอกอาวุโส[d]
OF-7: พลตรี[e]

กองพล รูปขบวน 6,000–25,000 2–8 กองพลน้อย หรือ กรม OF-8: พลโท
OF-8 หรือ OF-7: นายพลกองพล
OF-7: พลตรี หรือ
OF-6: พันเอกอาวุโส[f]

กองพลน้อย รูปขบวน 3,000–5,000[5] 2+ กรม หรือ กลุ่ม, หรือ
3–8 กองพัน หรือเทียบเท่า
OF-7: พลตรี
OF-7 or OF-6: พลจัตวา
OF-6: บริกกะเดียร์, พลจัตวา, พันเอกอาวุโส
OF-5: พันเอก

กรม หรือ กลุ่ม หน่วย 1,000–3,000 2+ กองพัน หรือเทียบเท่า OF-5: พันเอก

กองพัน หรือเทียบเท่า
กรม (บางประเทศสำหรับอาวุธบางส่วนเท่านั้น)
กองพันทหารม้า (ทหารม้าสหรัฐ)
ฝูงบิน (บางประเทศสำหรับการบิน)
โคฮอร์ต
หน่วย 300–1,000 2–6 sub-units (กองร้อย หรือเทียบเท่า) OF-4: พันโท

กองร้อย หรือเทียบเท่า
กองร้อยปืนใหญ่

สควอดเดริน (บางประเทศสำหรับอาวุธบางส่วนเท่านั้น)
กองทหารม้าสหรัฐ
เซนทูเรีย

หน่วย หรือ
หน่วยรอง
100–250 2–8 หมวด หรือเทียบเท่า OF-3: พันตรี
OF-2: ร้อยเอก
OR-9: พันดาบ

ชตัฟเฟิล[7] หรือ เอชลอน[8] หน่วยรองย่อย 50–90 2 หมวด / กอง หรือ 6–10 ตอน OF-2: ร้อยเอก หรือ ร้อยเอกเสนาธิการ
OR-8: นายดาบ หรือ พันดาบ

หมวด หรือเทียบเท่า
กอง (บางประเทศสำหรับอาวุธบางชนิด)
หน่วยรองย่อย 20–50 2+ ตอน, หรือ ยานพาหนะ OF-1: ร้อยโท หรือ ร้อยตรี
OR-7: นายดาบ

ตอน หรือ ชุดลาดตระเวน - 12–24 2–3 หมู่ หรือ 3–6 ชุดยิง OR-6: จ่าสิบตรี
OR-5: สิบเอก

หมู่ - 6–12 2–3 ชุดยิง หรือ 1+ เซลล์ OR-5: สิบเอก
OR-4: สิบโท

ชุดยิง หรือ ชุด - 2–4 ไม่มี OR-3: สิบตรี ถึง OR-5: สิบเอก

OR-2: พลทหาร

แต่ละขั้นอาจจะถูกข้ามไปในลำดับนี้ ตัวอย่าง เช่น กองกำลังของเนโทโดยทั่วไปจะข้ามจากกองพันไปยังกองพลน้อย ในทำนองเดียวกัน ประเทศมหาอำนาจทางการทหารขนาดใหญ่เท่านั้นที่จะมีหน่วยทางทหารในระดับสูงที่สุด และกองทัพบกในแต่ละประเทศอาจจะใช้ชื่อดั้งเดิม ทำให้เกิดความสับสนในการจำแนก เช่น สหราชอาณาจักร หรือแคนาดากรมทหารติดอาวุธ (กองพัน) แบ่งออกเป็นสควอดเดริน (กองร้อย) และกอง (หมวด) ในขณะที่สควอดเดรินทหารม้าอเมริกัน (กองพัน) แบ่งออกเป็นกอง (กองร้อย) และหมวด ในระบบของฝรั่งเศส (ซึ่งใช้งานโดยหลายประเทศในแอฟริกา) กองร้อยแบ่งออกเป็นตอน (หมวด) ประกอบด้วย 3 "กลุ่มการต่อสู้" ของทหาร 7 นาย พร้อมด้วยกลุ่มพลประจำรถและกองบัญชาการที่ประกอบไปด้วยพลซุ่มยิง 2 นาย

กองทัพ, หมู่กองทัพ, ภูมิภาค และยุทธบริเวณ ล้วนเป็นรูปขบวนขนาดใหญ่ที่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างกองทัพในด้านของขนาดและตำแหน่งลำดับชั้น ในขณะที่กองพลมีลักษณะดั้งเดิมเป็นระดับสนับสนุนส่วน (ปืนใหญ่สนาม, โรงพยายบาล, การส่งกำลังบำรุง และการซ่อมบำรุง เป็นต้น) เข้าไปในโครงสร้างหน่วย ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง กองพลน้อยจำนวนมากในปัจจุบันก็มีหน่วยสนับสนุนดังกล่าวเรียกว่ากรมผสมในสำนวนทางทหารของสหรัฐ หรือกลุ่มชุดรบในสหราชอาณาจักรและกองกำลังอื่น ๆ หลักนิยมของกองทัพบกแคนาดายังรวมไปถึงชุดรบซึ่งเป็นกองร้อยทหารราบที่เสริมด้วยรถถัง หรือสควอดเดรินรถถังที่เสริมด้วยทหารราบ หรือการผสมของกองร้อยทหารราบเต็มกองร้อยกับสควอดเดรินรถถัง

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพแดงได้ใช้โครงสร้างทางทหารพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงเริ่มต้นมีหลายหน่วยมีกำลังไม่เพียงพอและขนาดของหน่วยมีขนาดต่ำกว่าระดับขั้นหนึ่งระดับตามปกติที่กองทัพอื่นใช้ เช่น การแบ่งส่วนของกองทัพแดงในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่สองจะมีขนาดพอ ๆ กับกรมทหารหรือกองพลน้อยของประเทศส่วนใหญ่[9][10] บริเวณจุดสูงสุดของระดับขั้นของชาติอื่น ๆ มักเรียกว่าหมู่กองทัพ ขณะที่กองทัพแดงเรียกว่าแนวรบ ในอีกด้าน ช่วงเวลาเดียวกันหมู่กองทัพแวร์มัคท์ของเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแนวรบด้านตะวันออก เช่น หมู่กองทัพกลาง มีมากกว่าจำนวนข้างต้นของกองทัพโซเวียตอย่างมีนัยยะสำคัญ และมีความเกี่ยวข้องกับทิศทางเชิงยุทธศาสตร์ของโซเวียต

กองทัพเรือ

หน่วยทางเรือของทหารเรือในระดับหมวดเรือหรือสูงกว่ามักไม่ค่อยมีการจัดกำลังตามแบบจริง ๆ เนื่องจากเรือมักปฏิบัติการเป็นกลุ่มที่เล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม มีคำศัพท์ทางทหารทั่วไปที่ใช้อย่างแพร่หลายในกองทัพเรือเพื่อสื่อสารแนวคิดเกี่ยวกับจำนวนเรือที่มีในหน่วยแต่ละรูปแบบ

โดยปกติเรือในกองทัพเรือจะถูกจัดกลุ่มตามวัตถุประสงค์เฉพาะ ซึ่งมักจะเป็นไปในเชิงกลยุทธ์ และการจัดหน่วยรูปแบบเหล่านี้มักจะมีการจัดขึ้นและปรับเปลี่ยนรูปแบบตามเงื่อนไขและความต้องการของกองทัพเรือ ซึ่งแตกต่างจากการจัดหน่วยทางทหารของกองทัพบกที่หน่วยต่าง ๆ มีรูปแบบที่คงที่ และมียุทโธปกรณ์และบุคลากรทางทหารเท่ากัน คงรูปแบบในระยะยาว

ชื่อหน่วย ประเภทเรือ การประกอบหน่วย ผู้บังคับบัญชา
หน่วยบัญชาการรบรวม (สหรัฐ)[6] หรือ กองทัพเรือ หรือ กระทรวงกองทัพเรือ เรือทุกลำในกองทัพเรือ 2+ ทัพเรือ จอมพลเรือ หรือ พลเรือเอก
ทัพเรือ เรือทุกลำในมหาสมุทรหรือภูมิภาค 2+ กองเรือประจัญบาน พลเรือเอก หรือ พลเรือโท
กองเรือประจัญบาน (สหรัฐ, พ.ศ. 2465-2484) เรือทุกประเภทจำนวนมาก 2+ กองเรือเฉพาะกิจ พลเรือโท
กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี (สหรัฐ) ชุดเรือสนับสนุนประกอบกำลังกัน 2+ หมู่เรือเฉพาะกิจ, หมู่เรือ หรือ หมวดเรือ พลเรือตรี (ครึ่งบน) หรือ พลเรือตรี
หมู่เรือ หรือ หมู่เรือเฉพาะกิจ มักจะเป็นเรือรบหลัก 2+ เรือขนาดใหญ่ พลเรือตรี (ครึ่งล่าง), พลเรือจัตวา หรือ พลเรือหมู่เรือ
หมวดเรือ หรือ หมู่เรือเฉพาะกิจ เรือจำนวนไม่มาก มักเป็นเรือประเภทเดียวกันหรือคล้ายกัน 2+ กองเรือ พลเรือตรี (ครึ่งล่าง), พลเรือจัตวา หรือ พลเรือหมวดเรือ
กองเรือ หรือ หน่วยเรือเฉพาะกิจ เรือขนาดเล็ก เรือจำนวนไม่มาก มักเป็นเรือประเภทเดียวกันหรือคล้ายกัน นาวาเอก หรือ นาวาโท
หน่วยเรือเฉพาะกิจ เรือลำเดียว ลำเดียว นาวาเอก, นาวาโท, นาวาตรี หรือ เรือเอก

จอมพลเรือ (admiral of the fleet และ fleet admiral) ระดับห้าดาวส่วนใหญ่ไม่มีการใช้งานมาตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 ยกเว้นในการแต่งตั้งในพิธีการหรือตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ในยุคปัจจุบัน กองทัพเรือส่วนใหญ่ (ทั้งบลู-วอเตอร์เนวี และกรีน-วอเตอร์เนวี) จะได้รับการสั่งการจากพลเรือเอกระดับสี่ดาวหรือสามดาว ขึ้นอยู่กับขนาดของกองเรือสัมพันธ์กับระดับยศ ในกองทัพเรือที่มีขนาดเล็ก เช่น กองทัพเรือนิวซีแลนด์ หรือกองทัพเรือที่เป็นหน่วยยามฝั่งประสิทธิภาพสูง จะบัญชาการโดยพลเรือตรี (ระดับสองดาว), พลเรือจัตวา (ระดับหนึ่งดาว) หรือแม้แต่นาวาเอก

เรื่อบรรทุกอากาศยานมักจะถูกบัญชาการโดยนาวาเอก ซึ่งปกติเรือดำน้ำและเรือพิฆาตจะบัญชาการโดยนาวาเอกหรือนาวาโท เรือพิฆาตบางลำ โดยเฉพาะเรือพิฆาตขนาดเล็ก เช่น เรือฟริเกต (เดิมถูกเรียกว่าเรือพิฆาตคุ้มกัน) มักจะบัญชาการโดยนายทหารที่มียศนาวาโท ส่วนเรือคอร์เวตซึ่งเป็นเรือรบชั้นที่เล็กที่สุดจะบัญชาการโดยนายทหารยศนาวาโทหรือนาวาตรี ในเรือช่วยรบ ประกอบไปด้วย เรือปืน, เรือกวาดทุ่นระเบิด, เรือตรวจการณ์, เรือตรวจการณ์ลำน้ำ และเรือตอร์ปิโด มักจะได้รับการบัญชาการจากเรือตรี, เรือโท หรือนายดาบ และในเรือขนาดเล็กลดหลั่นลงไป ตำแหน่งผู้บังคับการเรือก็จะยิ่งมีตำแหน่งลดหลั่นคงมา เช่น เรือตรวจการณ์มักจะได้รับการบัญชาการจากเรือตรี ในขณะที่เรือฟริเกตมักจะไม่ค่อยถูกบัญชาการโดยนายทหารยศต่ำกว่านาวาโท

ในอดีต กองทัพเรือมีโครงสร้างที่ตายตัวกว่าปัจจุบันมาก เรือจะถูกรวมเป็นหมู่เรือ (division) ซึ่งในทางกลับกันอาจจะถูกรวมเป็นกองเรือที่มีหมายเลข (numbered squadron) ประกอบไปด้วยทัพเรือที่มีหมายเลข (numbered fleet) การอนุญาตให้เรือออกจาหน่วยเพื่อไปร่วมอีกหน่วยจะต้องได้รับการอนุญาตเป็นหนังสือคำสั่งที่เป็นลายลักษณ์อักษร

ในกองทัพเรือสหรัฐ มีการจัดกลุ่มเรือในรูปแบบของกองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตี (carrier strike group)[11] และชุดจู่โจมโพ้นทะเล (expeditionary strike group)[12]

นอกจากนี้ หน่วยทางทหารเรือมีการแบ่งระดับภายในเรือแต่ละลำด้วย ประกอบไปด้วยสามหรือสี่แผนก (เช่น แผนกการยุทธ์ และแผนกช่าง) ซึ่งแต่ละแผนกจะมีกอง และตามด้วยศูนย์งาน

กองทัพอากาศ

โครงสร้างหน่วยของกองทัพอากาศนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ บางกองทัพอากาศ (เช่น กองทัพอากาศสหรัฐ และกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร) แบ่งออกเป็น หน่วยบัญชาการ, กองบินน้อย (air group) และฝูงบิน และกองทัพอากาศอื่น ๆ (เช่น กองทัพอากาศโซเวียต) มีโครงสร้างหน่วยรูปแบบเดียวกับกองทัพบก ในกองทัพอากาศแคนาดาสมัยใหม่ใช้คำว่า กองการบิน (air division) เป็นรูปขบวนที่อยู่ระหว่างกองบินและหน่วยบัญชาการทางอากาศ (air command) เช่นเดียวกับกองทัพอากาศสหราชอาณาจักรและแคนาดาที่ในกองบินจะประกอบไปด้วยฝูงบินเป็นหน่วยรอง

สัญลักษณ์เนโท
(เปรียบเทียบกับ ทบ.)
ชื่อหน่วย
(ทอ.สหรัฐ / สหราชอาณาจักร / อื่น ๆ)
จำนวนบุคลากร จำนวนอากาศยาน จำนวนหน่วยรอง
(ทอ.สหรัฐ / สหราชอาณาจักร)
ผู้บังคับบัญชา
(ทอ.สหรัฐ / สหราชอาณาจักร)

หน่วยบัญชาการรบรวม[6] หรือ กองทัพอากาศ กองทัพอากาศทั้งหมด กองทัพอากาศทั้งหมด หน่วยบัญชาการหลัก / หน่วยบัญชาการ จอมพลอากาศ / จอมพลอากาศ หรือ พลอากาศเอก

หน่วยบัญชาการหลัก / หน่วยบัญชาการ แตกต่างกันไป แตกต่างกันไป แตกต่างกันไปตามภูมิภาคหรือหน้าที่ พลเอก / พลอากาศเอก

ไม่มีใน ทอ.สหรัฐ / หน่วยบัญชาการ หรือ กำลังรบทางอากาศยุทธวิธี (tactical air force)
/ กองทัพทางอากาศ[13]
แตกต่างกันไปตามภูมิภาคหรือหน้าที่ แตกต่างกันไป แตกต่างกันไปตามภูมิภาคหรือหน้าที่ พลเอก หรือ พลโท / พลอากาศเอก หรือ พลอากาศโท

กองทัพอากาศกำกับหมายเลข / ไม่มีใน ทอ.สหราชอาณาจักร แตกต่างกันไปตามภูมิภาคหรือหน้าที่ แตกต่างกันไป 2+ กองบิน / กองบินน้อย พลตรี หรือ พลโท / ไม่มี

ไม่มีใน ทอ.สหรัฐ / ไม่มีใน ทอ.สหราชอาณาจักร
/ กองพลบิน / กองการบิน
แตกต่างกันไปตามภูมิภาคหรือหน้าที่ แตกต่างกันไป 2+ กองบิน / กองบินน้อย พลตรี หรือ นายพลกองพล

กองบิน / กองบินน้อย
/ กองพลน้อยทหารอากาศรัสเซีย / กองพลน้อยทหารอากาศ[14] (air brigade)
1,000–5,000 48–200 2+ กองบินน้อย / กองบิน พลจัตวา / พลอากาศตรี หรือ พลอากาศจัตวา

กองบินน้อย (group) / กองบิน หรือสถานี
/ กรมบินรัสเซีย
300–1,000 17–48 3–4 ฝูงบิน / 3–10 หน่วยบิน พันเอก / นาวาอากาศเอก หรือ นาวาอากาศโท

ฝูงบิน 100–300 7–16 3–4 หน่วยบิน พันโท หรือ พันตรี / นาวาอากาศโท หรือ นาวาอากาศตรี

หน่วยบิน หรือ ชตัฟเฟิล[15] 20–100 4–6 2 ตอนหรือมากกว่านั้น พร้อมด้วยลูกเรือซ่อมบำรุงและสนับสนุน พันตรี หรือ ร้อยเอก / นาวาอากาศตรี หรือ เรืออากาศเอก

ชตัฟเฟิล[16] หรือ เอชลอน[17] 40–160 6-12 1-2 ตอน พร้อมด้วยลูกเรือซ่อมบำรุงและสนับสนุน ร้อยเอก หรือ ร้อยเอกเสนาธิการ

ตอน 10–40 ไม่มี–2 ไม่มี นายทหารปฏิบัติการ หรือ นายทหารประทวนชำนาญการ

ส่วน 8–12 ไม่มี ไม่มี นายทหารประทวนชำนาญการ หรือ นายทหารประทวน

หมู่ หรือ ลูกเรือ 2–4 ไม่มี ไม่มี นายทหารประทวน

กองกำลังเฉพาะกิจ

กองกำลังเฉพาะกิจ คือหน่วยหรือรูปขบวนที่สร้างขึ้นเป็นกลุ่มเฉพาะกาลสำหรับวัตถุประสงค์ในการปฏิบัติการโดยเฉพาะ นอกเหนือจากรูปแบบการจัดลำดับชั้นตามรูปแบบหน่วยทางทหารที่พัฒนามาตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในยุโรปในชื่อของ กองกำลังต่อสู้ (fighting force) ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะในการปฏิบัติการเฉพาะตามภารกิจ เช่น คัมพ์กรุพเพอของเยอรมัน หรือของสหรัฐคือ ชุดรบ (กองทัพบก) หรือ กองกำลังเฉพาะกิจ (กองทัพเรือ) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หรือ กลุ่มปฏิบัติการกลยุทธ์ (operational manoeuvre group) ของโซเวียตในช่วงสงครามเย็น ในกองทัพบกของสหราชอาณาจักรหรือเครือจักรภพ กลุ่มชุดรบ (battlegroup) กลายเป็นกลุ่มของกองร้อยระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเย็น

ในเนโท กองกำลังเฉพาะกิจร่วม (joint task force: JTF) จะเป็นการรวมกลุ่มแบบเฉพาะกาลที่รวมเอาส่วนจากกองทัพเดียวมากกว่าหนึ่งหน่วย ส่วนกองกำลังเฉพาะกิจผสม (Combined Task Force: CTF) นั้นจะเป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกาลที่รวมเอาส่วนจากมากกว่าหนึ่งชาติ และกองกำลังเฉพาะกิจร่วมผสม (Combined Joint Task Force: CJTF) จะเป็นการรวมกลุ่มเฉพาะกาลที่ประกอบไปด้วยส่วนจากมากกว่าเหล่าทัพเดียวและมากกว่าชาติเดียว

ดูเพิ่ม

หมายเหตุเพิ่มเติม

  1. ในสหรัฐ มักจะมีการเข้าใจผิดว่ากองทัพของพวกเขาถูกห้ามไม่ให้มีกองกำลังดังกล่าวตามบัญญัติกองกำลังร่วม (Posse Comitatus Act) บัญญัติดังกล่าวสงวนอำนาจให้แก่สภาคองเกรสในการจ้างกำลังทหารของรัฐบาลกลางเพื่อบังคับใช้กฎหมายและความสงบเรียบร้อย โดยใช้กับกองทัพบกสหรัฐ และกองทัพอากาศสหรัฐเท่านั้น ขณะที่นาวิกโยธินสหรัฐและกองทัพเรือสหรัฐจะถูกบังคับใช้แยกต่างหาก และหน่วยยามฝั่งสหรัฐ ที่มีการระบุบทบาทชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายยามสงบ กองกําลังป้องกันชาติของกองทัพบกสหรัฐที่อยู่ในการควบคุมของมลรัฐ (ในทางเทคนิคแล้วคือส่วนหนึ่งของกองทัพบกสหรัฐ) ก็ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบัญญัติกองกำลังร่วม (Posse Comitatus Act) ส่วนของบัญญัติปราบจลาจล (Insurrection Act) ซึ่งเป็นอำนาจการสั่งการของประธานาธิบดีสหรัฐในการใช้กำลังทหารของรัฐบาลกลางเพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง บัญญัติดังกล่าวถูกนำมาใช้งานในช่วงการจลาจลในลอสแอนเจลิส พ.ศ. 2535[ต้องการอ้างอิง]
  2. ในสหรัฐอเมริกา รูปแบบนี้เรียกว่า ภูมิภาคทหารบก
  3. บางประเทศเช่นบราซิล
  4. กลุ่มตะวันออก
  5. กองทัพบกกองทัพปลดปล่อยประชาชน
  6. กองทัพบกกองทัพปลดปล่อยประชาชน

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 แผนปฏิบัติการกรมยุทธศึกษาทหารบก (ด้านการเตรียมกำลัง ระยะ 20 ปี) (PDF). กรมยุทธศึกษาทหารบก. 2563. p. 13.[ลิงก์เสีย]
  2. United States Department of Defense, DOD Dictionary เก็บถาวร 2008-12-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. Fomin, N. N., Great Soviet Encyclopaedia (รัสเซีย: Большая Советская Энциклопедия), Moscow, 1978
  4. Shorter Oxford English Dictionary
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 "Military Units: Army". US Department of Defense. สืบค้นเมื่อ 2023-05-18.
  6. 6.0 6.1 6.2 FM 1-02 Operational Terms and Graphics. US DoD. 21 September 2004. pp. 5–37.
  7. APP-6C NATO Joint Military Symbology. NATO. May 2011. pp. 2–25.
  8. APP-6 Military Symbols for Land Based Systems. NATO. July 1986. pp. B8.
  9. "Доклад НКО август 1939. doklad-nko-8-39.shtml". Armor.kiev.ua. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20.
  10. Центральный государственный архив Советской армии (с июня 1992 г. Российский государственный военный архив). В двух томах. Том 2. Путеводитель. 1993 (ภาษารัสเซีย). Guides.rusarchives.ru. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-07-04. สืบค้นเมื่อ 2013-11-20.
  11. Bangkok, U. S. Embassy (2023-04-27). "กองเรือบรรทุกเครื่องบินโจมตีที่ 11 (CSG 11) – เรือ USS NIMITZ". สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย.
  12. Bangkok, U. S. Embassy (2022-05-23). "ไทย-สหรัฐฯ ร่วมการฝึกการัตประจำปี 2565 เพื่อยกระดับความร่วมมือทางทะเล". สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทย.
  13. http://www.airpages.ru/ru/vvs1.shtml Red Army VVS Organisation(rus)
  14. ฝ่ายวิเคราะห์เทคโนโลยีป้องกันประเทศ, Tta (2563-08-16). "สรุปข่าว สำนักข่าวจีนเผยภาพเครื่องบิน J-20 ยุคที่ 5 ประจำการในหน่วยรบของกองทัพอากาศจีน". {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)[ลิงก์เสีย]
  15. APP-6D NATO Joint Military Symbology. NATO Standardization Office. October 2017. pp. B-6, B-8.
  16. APP-6C NATO Joint Military Symbology. NATO. May 2011. p. B8.
  17. APP-6 Military Symbols for Land Based Systems. NATO. July 1986. pp. 2–25.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!