ชุดยิง (หน่วยทหาร)

ชุดยิงของกองกําลังป้องกันชาติรัฐจอร์เจียพร้อมกับอาวุธปืนเอ็ม 4 คาร์บินระหว่างการฝึกทางทหาร
สัญลักษณ์แผนที่นาโต้[1]

ชุดยิง

ชุดยิงทหารราบ

ชุดสุนัขสาวัตรทหาร

ชุดอีโอดีทหารช่าง

ชุดยิง (อังกฤษ: fireteam หรือ fire team) เป็นหน่วยรองทางทหารขนาดเล็กของทหารราบสมัยใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหลักนิยมทางยุทธ์วิธีของ "ความริเริ่มของนายทหารชั้นประทวน" (NCO initiative), "การรบผสมเหล่า" (combined arms), "การเฝ้าระวังเป็นห้วง" (bounding overwatch) และ "การยิงประกอบการเคลื่อนที่" (fire and movement) ในการรบ[2] ขึ้นอยู่กับความต้องการของภารกิจ รูปแบบ "มาตรฐาน" ของชุดยิงประกอบไปด้วสมาชิกสี่คนหรือน้อยกว่านั้น ได้แก่ พลยิงอาวุธกล, พลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็ก, พลปืนเล็ก และผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดยิง บทบาทหน้าที่ของหัวหน้าชุดยิงหรือการดูแลให้ชุดยิงทำงานประสานกันเป็นหน่วย ชุดยิงสองหรือสามชุดจะถูกจัดเป็นตอนหรือหมู่ในการปฏิบัติการร่วมกัน ซึ่งนำโดยผู้บังคับหมู่[3][4][5][6][7]

ในอดีตนั้น กองทัพมีการพึ่งพาและให้ความสำคัญกับสถาบันของเหล่านายทหารชั้นประทวนที่มีการกระจายอำนาจและจัดการโครงสร้างการบังคับบัญชาชุดยิงอย่างมีประสิทธิภาพ "จากล่างขึ้นบน" ส่งผลให้เกิดประสิทธิผลอย่างสูงจากการปฏิบัติการของทหารราบ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทัพที่จำกัดเพราะการปฏิบัติการของนายทหาร ซึ่งตามธรรมเนียมนั้นหน่วยที่ใหญ่กว่าขาดผู้นำที่เป็นนายทหารชั้นประทวน และสั่งการแบบรวมศูนย์ "จากบนลงล่าง" การจัดหน่วยแบบชุดยิงในการสงครามในศตวรรษที่ 21 นั้น ต้องเผชิญกับการต่อสู้และปะทะที่เร็วขึ้น มีอันตรายถึงชีวิตมากขึ้น โดยจะมีการระบุและรื้อถอนทุกสิ่งที่ทำให้การตอบสนองช้าลงระหว่างทิศทางการตรวจจับศัตรูครั้งแรกและพื้นที่โดยรอบของชุดยิง[8][9]

หลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐนับว่าชุดยิง หรือลูกเรือ เป็นหน่วยทางหทารที่เล็กที่สุด[10][11] ในขณะที่หลักนิยมของเนโทมีการใช้หน่วยทางทหารที่เล็กที่สุดคือชุด[12] ชุดยิงเป็นหน่วยทางทหารพื้นฐานที่ใช้งานในหน่วยทหารราบสมัยใหม่ในกองทัพบกสหราชอาณาจักร, กรมอากาศโยธินกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร, ราชนาวิกโยธิน, กองทัพบกสหรัฐ, เหล่านาวิกโยธินสหรัฐ, กองกำลังอากาศโยธินกองทัพอากาศสหรัฐ, กองทัพแคนาดา และกองทัพบกออสเตรเลีย

แนวคิด

แนวคิดของชุดยิงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความต้องการทางยุทธ์วิธีที่มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการทางทหาร ชุดยิงมีความสามารถในการปฏิบัติการด้วยตัวของมันเอกเมื่อเข้าไปรวมกันกับหน่วยปฏิบัติการที่ขนาดใหญ่กว่า การจัดกำลังชุดยิงที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยการฝึกทหารที่ดี มีประสบการณ์ในการปฏิบัติการร่วมกัน มีการสื่อสารกันที่ดี และเหล่านายทหารชั้นประทวนที่มีความเป็นมืออาชีพเพื่อถ่ายทอดคำสั่งการทางยุทธ์วิธีให้กับสมาชิกในชุดยิง

จากความต้องการเหล่านี้ได้นำไปสู่ความสำเร็จของแนวคิดชุดยิงโดยกองทัพมืออาชีพมากขึ้น มันใช้กองกำลังทางทหารที่น้อยกว่าในการจัดรูปขบวนทหารราบหรือช่วยลดการระดมพลการเกณฑ์ทหารอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งการเกณฑ์ทหารทำให้การจัดชุดยิงทำได้ยาก เนื่องจากสมาชิกในชุดจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากมีประสบการณ์ในการปฏิบัติการร่วมกันและมีความผูกพันธ์กันจากการใช้เวลาปฏิบัติการร่วมกันเมื่อเวลาผ่านไป

ในการรบ ขณะโจมตีหรือใช้กลยุทธ์ ชุดยิงจะกระจายกำลังออกไปในระยะห่าง 50 เมตร (160 ฟุต) เมื่ออยู่ในตำแหน่งการตั้งรับ ชุดสามารถครอบคลุมได้ถึงระยะยิงของอาวุธหรือขีดจำกัดการมองเห็น แล้วแต่ว่าในขณะนั้นระยะใดน้อยกว่า ในขณะที่ภูมิประเทศเปิดโล่ง ชุดยิงที่มีประสิทธิภาพสามารถมีระยะครอบคลุมได้ถึง 500 เมตร (1,600 ฟุต) แม้ว่าระยะของการตรวจพบจะมีประสิทธิภาพในระยะไม่เกิน 100 เมตร (330 ฟุต) หรือประมาณระยะนั้นโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ซึ่งตราบใดที่อาวุธหลักยังคงใช้งานได้ชุดยิงก็จะมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติการอยู่

รูปแบบของชาติต่าง ๆ

แคนาดา

ในกองทัพบกแคนาดา "ชุดยิง" หมายถึงทหารสองนายที่จับคู่กันเพื่อยิงและเคลื่อนที่ สองชุดยิงรวมกันเป็น "กลุ่มจู่โจม" ซึ่งคล้ายกันกับรูปแบบของกองทัพอื่น ๆ สองกลุ่มโจู่โจมและกลุ่มยานพาหนะ หนึ่งพลขับและหนึ่งพลปืนจะนับเป็นหนึ่งตอนที่ประกอบไปด้วยกำลังสิบนาย[13]

จีน

กองทัพปลดปล่อยประชาชนใช้รูปแบบของ "เซลล์" สามคน (three-man "cells" เทียบเท่ากับชุดยิง) เป็นรูปขบวนทหารที่เล็กที่สุด และหน่วยทางทหารดังกล่าวถูกใช้งานตลอดช่วงสงครามจีน–ญี่ปุ่นครั้งที่สอง, สงครามกลางเมืองจีน, สงครามเกาหลี, สงครามจีน-อินเดีย และตลอดช่วงสงครามจีน–เวียดนาม มีชื่อเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "ระบบ สาม-สาม" (three-three organization จีน: 三三制[14]

ในแหล่งข้อมูลของจีน กลยุทธ์นี้เรียกว่า "ชุดยิง สาม-สาม"ตามองค์ประกอบของการโจมตี: ทหารสามนายจะประกอบเป็นชุดยิง 1 ชุด และชุดยิง 3 ชุดจะเป็น 1 หมู่ 1 หมวดของจีนประกอบไปด้วยทหารจำนวน 50 นาย ซึ่งจะจัดชุดยิงสามระดับ ใช้การโจมตี "จุดเดียว" จากทั้ง "สองด้าน"[15] โดยแต่ละเซลล์จะประกอบไปด้วยปืนยิงกล (ในสงครามเกาหลีเป็นปืนกลมือหรือปืนกลเบา ในช่วงต้นถึงกลางสงครามเย็นใช้ปืนเล็กยาวจู่โจมหรือปืนกลเบาของหมู่) ในขณะที่ทหารที่เหลือใช้ปืนเล็กยาวแบบลูกเลื่อนหรือปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติเพื่อให้แต่ละ "เซลล์" สามารถยิงและเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ

ตัวอย่างชุดยิงของกองทัพอาสาสมัครประชาชนจีนในช่วงปลายสงครามเกาหลี[14]

ไทย

กองทัพบก

การจัดกำลังในรูปแบบหมู่ปืนเล็ก (11 นาย) ของกองทัพบกไทย จะแบ่งเป็น 2 ชุดยิงและ 1 ผู้บังคับหมู่

การจัดหน่วยในรูปแบบชุดยิงในประเทศไทย ส่วนของกองทัพบกไทย[16] ถือเป็นส่วนหนึ่งของรูปขบวนทำการรบในระดับหมู่ปืนเล็ก มีกำลังทั้งหมด 11 นาย มีผู้บังคับหมู่ ภายในแบ่งเป็น 2 ชุดยิง คือชุดยิง ก. และชุดยิง ข. มีกำลังชุดยิงละ 5 นาย ซึ่งทั้งสองชุดยิงมีการจัดกำลังที่เหมือนกัน[16][17] คือ

  • ผู้บังคับหมู่: เป็นนายทหารชั้นประทวนยศจ่าสิบเอก มีหน้าที่ในการทำตามคำสั่งของผู้บังคับหมวด รับผิดชอบการฝึก วินัย การควบคุมการยิง การปฏิบัติทางยุทธวิธี และการบำรุงรักษาอาวุธ ใช้อาวุธปืนเล็กสั้น (ปลส.) เอ็ม 249 มินิมิ หรือปืนเอ็ม 4 คาร์บิน
  • หัวหน้าชุดยิง ก.: เป็นนายทหารชั้นประทวนยศสิบเอก มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับหมู่เกี่ยวกับการบัญชาการชุดยิง วินัยการยิง ทำหน้าที่เป็นพลปืนเล็กและสามารถปฏิบัติการแทนผู้บังคับหมู่ได้ ใช้ปืนเล็ก (ปล.) เอชเค 33, เอ็ม 16 เอ4 หรือกาลิล เอซ
  • หัวหน้าชุดยิง ข.: เป็นนายทหารชั้นประทวนยศสิบเอก มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับหมู่เกี่ยวกับการบัญชาการชุดยิง วินัยการยิง ทำหน้าที่เป็นพลปืนเล็กและสามารถปฏิบัติการแทนผู้บังคับหมู่ได้ ใช้ปืนเล็ก (ปล.) เอชเค 33, เอ็ม 16 เอ4 หรือกาลิล เอซ
    • พลปืนเล็ก: เป็นพลทหาร ใช้ปืนเล็ก (ปล.)
    • พลปืนเล็ก: เป็นพลทหาร ใช้ปืนเล็ก (ปล.)
    • พลปืนเล็กกล: เป็นพลทหาร ใช้ปืนเล็กกล (ปลก.) ทาวอร์ ซาร์ 21 หรือปืนเล็กกลเนเกฟ
    • พลยิงเครื่องยิงลูกระเบิด: เป็นสิบตรี ใช้ปืนเล็ก (ปล.) เอ็ม 16 ติดเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 203 หรือเครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มิลลิเมตร เอ็ม 79 (ค.40)

ในกองทัพบกไทย ตำแหน่งพลปืนเล็ก พลปืนเล็กกล และพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดนั้นสามารถปฏิบัติการทดแทนกันได้[16] และเนื่องจากในหมู่ปืนเล็กประกอบไปด้วย 2 ชุดยิง ทำให้การจัดชุดภายในสามารถกำหนดให้ชุดใดชุดหนึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนดำเนินกลยุทธ์ และให้อีกชุดเป็นส่วนในการยิงสนับสนุนตามความเหมาะสมจากสถานการณ์และภูมิประเทศ[17]

กองทัพเรือ

รูปขบวนรบของนาวิกโยธินไทยระหว่างการฝึกร่วมกับสหรัฐในรหัสกะรัต (CARAT 2011) ณ หาดยาว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554

การจัดหน่วยในรูปแบบชุดยิงของกองทัพเรือไทย จะอยู่ในชื่อของ พวกยิง ซึ่งเป็นส่วนย่อยของหมู่ปืนเล็กนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ลักษณะเดียวกับกองทัพบกและอากาศโยธินของกองทัพอากาศ มีการจัดกำลัง 11 นายเท่ากัน แต่ใช้การเรียกชื่อ ยศ และอาวุธที่แตกต่างกันคือ[18]

  • ผู้บังคับหมู่: เป็นพันจ่าเอก ใช้ปืนเล็กยาว (ปลย.) เอ็ม 16 เอ2 และดาบปลายปืน
  • นายพวกยิงและพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิด: เป็นจ่าเอก 2 นาย ทำหน้าที่เป็นทั้งหัวหน้าชุดยิงและพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิด (fire team leader/grenadier) ใช้ปืนเล็กยาว (ปลย.) เอ็ม 16 เอ2ประกอบเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 203 และดาบปลายปืน
  • พลปืนเล็กกล: เป็นพลทหารเรือ 2 นาย ปกติจะอยู่กับนายพวกยิงในการยิงปืนเล็กกล ใช้อาวุธกลของหมู่ (SAW) ปืนมินิมิ
  • พลปืนเล็กกลผู้ช่วย: เป็นพลทหารเรือ 2 นาย ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพลปืนเล็กกล บรรทุกเครื่องกระสุนและทำหน้าที่แทนพลปืนเล็กกลได้ ใช้ปืนเล็กยาว (ปลย.) เอ็ม 16 เอ2 และดาบปลายปืน
  • พลปืนเล็กหมายเลข 1: เป็นพลทหารเรือ 2 นายที่ถูกฝึกให้เป็นพลตระเวนหน้า ใช้ปืนเล็กยาว (ปลย.) เอ็ม 16 เอ2 และดาบปลายปืน
  • พลปืนเล็กหมายเลข 2: เป็นพลทหารเรือ 2 นาย อาจถูกรับมอบหมายให้เป็นพลแม่นปืนของหมู่ปืนเล็ก (SDM) และอุปกรณ์ต่อต้านเป้าหมายมีค่าสูง เช่น พลปืนเล็ก พลซุ่มยิง และชุดต่อต้านรถถัง ใช้ปืนเล็กยาว (ปลย.) เอ็ม 16 เอ2 และดาบปลายปืน

กองทัพอากาศ

การจัดหน่วยในรูปแบบชุดยิงของกองทัพอากาศไทย จะอยู่ในส่วนของหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน ซึ่งรับผิดชอบกำลังรบภาคพื้นดินของกองทัพอากาศ โดยจัดกำลังในรูปแบบเดียวกันกับกองทัพบกในการจัดหมู่ปืนเล็กในการปฏิบัติการต่าง ๆ เช่น การลาดตระเวน องค์ประกอบภายในเหมือนกันทุกประการ คือมีกำลัง 11 นายใน 1 หมู่ปืนเล็ก ประกอบไปด้วย ผู้บังคับหมู่ 1 นาย ภายในแบ่งเป็น 2 ชุดยิง คือชุดยิง ก. และชุดยิง ข. มีกำลังชุดยิงละ 5 นาย (พลปืนเล็ก 2 นาย, พลปืนเล็กกล 1 นาย และพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิด 1 นาย) ซึ่งทั้งสองชุดยิงมีการจัดกำลังที่เหมือนกัน ยกเว้นในส่วนของอาวุธปืนที่ใช้ตามอัตราที่กองทัพอากาศมีใช้งานในประจำการ[19]

ฝรั่งเศส

ตอนของฝรั่งเศส (groupe de combat – "กลุ่มสู้รบ") แบ่งออกเป็นสองชุด "ชุดยิง" (équipe de feu) จะประกอบไปด้วยปืนเล็กยาวอัตโนมัติหรือปืนกลเบา "ชุดช็อก" équipe de choc) จะประกอบไปด้วยพลปืนเล็กที่ติดเครื่องยิงลูกระเบิดหรือเครื่องยิงจรวดแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นหน่วยลาดตระเวนและหน่วยกลยุทธ์ แต่ละชุดจะใช้การการเฝ้าระวังเป็นห้วง โดยมีหน่วยหนึ่งคอยคุ้มกันเมื่ออีกชุดเคลื่อนที่ หัวหน้าชุดมีวิทยุมือถือสำหรับติดต่อกับส่วนต่าง ๆ แบบเดียวกับชุดวิทยุสะพายหลังของผู้บังคับหมู่ ซึ่งสัญลักษณ์ที่พบเห็นบ่อยที่สุดในนายทหารชั้นประทวนสมัยใหม่ (chef d'équipe) คือวิทยุสื่อสารที่ห้อยอยู่รอบคอ

สหราชอาณาจักร

ทหารของกรมทหารอัลจีเรียสหราชอาณาจักร ระหว่างการปฏิบัติการในอัฟกานิสถานเมื่อปี พ.ศ. 2557 จำนวนและอุปกรณ์สอดคล้องกับชุดยิงของสหราชอาณาจักรในช่วงเวลานั้น (ซ้ายไปขวา: แอล110เอ2 แอลเอ็มจี, แอล85เอ2 พร้อมด้วย แอล123เอ2 ยูจีแอล, แอล85เอ2, แอล129เอ1)

หน่วยทหารราบของกองทัพบกสหราชอาณาจักร, ราชนาวิกโยธิน และกรมอากาศโยธินกองทัพอากาศสหราชอาณาจักร ได้เริ่มใช้งานแนวคิดชุดยิงมาใช้งานหลังจากนำปืนเล็กยาว เอสเอ 80 และอาวุธเบาสนับสนุนมาใช้งาน ตอนทหารราบมีทหารจำนวนแปดนาย ประกอบไปด้วยสองชุดยิง คือชาลีและเดลตา แต่ละชุดประกอบไปด้วยนายทหารชั้นประทวน (สิบโท หรือสิบตรี) และพลทหารอีกสามนาย

  • หัวหน้าชุดยิง: นายทหารชั้นประทวนจะใช้เป็นเล็กยาว แอล 85 พร้อมกับเครื่องยิงลูกระเบิดแบบติดใต้ปืน แอล 123 บางหน่วยอาจจะให้พลทหารใช้เครื่องยิงลูกระเบิดในอัตราด้วยนอกเหนือจากนายทหารชั้นประทวน
  • พลปืนเล็ก: ทหารเกณฑ์ 2 นาย ใช้ปืนเล็กยาว แอล 85[20] ภายในหน่วยก่อนหน้านี้ยังมีพลปืนเล็กอีก 2 นาย[21] แต่อัตราดังกล่าวถูกกำหนดให้แทนที่ด้วยพลแม่นปืน ซึ่งแยกออกจากตอนโดยใช้พลปืนเล็กชุดละ 1 นาย[22] ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 รูปแบบหน่วยทหารก่อนหน้านี้ได้ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง และให้อำนาจผู้บังคับตอนในการใช้ดุลยพินิจในการเปลี่ยนบทบาทของพลยิงปืนกลของตอนให้ไปทำหน้าที่พลปืนเล็กคนที่สามได้หากจำเป็น[20]
  • พลยิง: ทหารเกณฑ์ 1 นายต่อตอน ใช้ปืนกลเอนกประสงค์ แอล 72 เอ2 การจัดหน่วยของตอนก่อนหน้านี้จะมีพลทหาร 1 นายต่อหนึ่งชุดยิงที่ใช้อาวุธเบาสนับสนุน แอล 86[21] (ตั้งใจนำมาแทน แอล 7 เอ2) และปืนกลเบา แอล 110[22] ปืน แอล 110 เอ3 ถูกปลดประจำการในปี พ.ศ. 2562 และได้นำปืน แอล 7 เอ2 บางส่วนกลับเข้ามาประจำการในปืนกลของตอน[20]
  • พลแม่นปืนประจำชุด: ทหารเกณฑ์ 1 นายต่อตอน ใช้ปืนเล็กยาวสำหรับพลแม่นปืน แอล 129 เอ1 ก่อนหน้านี้การจัดหน่วยของชุดยิงใช้ทหารเกณฑ์ 1 นายต่อหนึ่งชุดยิงที่ใช้อาวุธสนับสนุนเบา แอล 86 เอ2[22] หรือ แอล 129 เอ1[23] ขึ้นอยู่กับความพร้อมของอาวุธ โดยปืน แอล 86 เอ2 ถูกถอนออกจากการประจำการในปี พ.ศ. 2562 ทำให้ปืน แอล 129 เอ1 กลายเป็นปืน DMR ของตอนอย่างเป็นทางการ[20]

โดยปกติชุดยิงจะถูกใช้เป็นหน่วยรองของตอนสำหรับการยิงและการดำเนินกลยุทธ์แทนที่จะเป็นหน่วยแยกตามรูปแบบของชุดยิง แม้ว่าชุดยิงหรือหน่วยขนาดชุดยิงมักจะใช้สำหรับภารกิจลาดตระเวนร่วม, การปฏิบัติการพิเศษ และการตรวจตราในเมือง (มักจะถูกเรียกว่า "บริคก์" ในสถานการณ์หลังสุด)[24]

สหรัฐ

กองทัพบก

ในกองทัพบกสหรัฐ เน้นย้ำแนวคิดเกี่ยวกับแนวคิดของชุดยิงเป็นพิเศษ[25][26][27] ซึ่งตามหลักนิยมของกองทัพบกสหรัฐ ชุดยิงหนึ่งจะประกอบไปด้วยทหาร 4 นาย[28][29][30]

  • หัวหน้าชุดยิง (TL) : ปกติจะเป็นสิบเอกหรือสิบโท (แม้ว่าบางครั้งชุดจะถูกนำโดยผู้ชำนาญการหรือสิบตรีเมื่อหมวดขาดนายทหารชั้นประทวนอาวุโสน้อย) เนื่องจากสามารถเป็นผู้นำที่ถ่ายทอดยุทธวิธีต่าง ๆ ให้กับลูกทีมได้ตลอด อุปกรณ์มาตรฐานประกอบด้วยชุดจีพีเอสและวิทยุสะพายหลัง และปืนเล็กยาวเอ็ม 16 หรือเอ็ม 4 คาร์บิน
  • พลปืนเล็ก (R) : เป็น "มาตรฐานพื้นฐานสำหรับทหารราบทุกนาย" ประกอบไปด้วยปืนเล็กยาวเอ็ม 16 หรือเอ็ม 4 คาร์บินและเครื่องยิงจรวดต่อสู้ถถังใช้แล้วทิ้งแบบ AT4 สะพายหลังไปด้วย พลปืนเล็กมักถูกมอบหมายให้อยู่กับพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็กเพื่อช่วยสร้างสมดุลในขีดความสามารถในการยิงของพลยิงอาวุธกล
  • พลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็กยาว (GR) : ให้การยิงมุมสูงแบบจำกัดเหนือ "จุดบอด" (dead zone) พลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดจะใช้ปืนเอ็ม 4 หรือเอ็ม 16 ที่ติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 203 (หรือรุ่นใหม่กว่าคือโมดูลเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 320) เอาไว้กับอาวุธ
  • พลยิงอาวุธกล (AR) : เป็นคนคอยเฝ้าตรวจ (overwatch) และการยิงข่ม (suppressive fire) ผ่านตัวคูณกำลังรบ (force multiplication) เป็นบุคคลที่สามารถสร้างความสูญเสียถึงชีวิตต่อฝ่ายตรงข้ามได้มากที่สุดของชุดยิงในแง่ของอำนาจการยิงและความคล่องตัว เมื่อเปรียบเทียบกับหมู่ปืนเล็กมาตรฐาน 9 นาย ปืนยาวอัตโนมัติมักจะเป็นปืนกลเบา เอ็ม 249 พลปืนยาวอัตโนมัติมักจะได้รับมอบหมายให้อยู่กับหัวหน้าชุดยิงเพื่อเพิ่มขอบเขตการยิงและช่วยสร้างสมดุลของอำนาจการยิงให้กับพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็ก

ในกองร้อยปืนเล็กยาวทหารราบของกองพลน้อยชุดรบสไตร์เกอร์ (SBCT) ทหารหนึ่งนายในหมู่ชุดยิงปืนเล็กยาวอาจจะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านรถถัง (RMAT) ที่ใช้เอฟจีเอ็ม-148 เจฟลิน หรือเป็นพลแม่นปืนของหมู่ปืนเล็ก (DM) ที่ใช้ปืนเอ็ม 4 คาร์บินและปืนเล็กยาวเอ็ม 14 ในกรณีทั้งสอง ตำแหน่งที่กล่าวานี้จะมาแทนที่พลปืนเล็กของหมู่ปืนเล็กมาตรฐาน[31]

นาวิกโยธิน

นาวิกโยธินสหรัฐระหว่างการตรวจตราในอัฟกานิสถาน พ.ศ. 2552; จำนวนและอุปกรณ์สอดคล้องกับรูปแบบชุดยิงของนาวิกโยธินสหรัฐ (ซ้ายไปขวา: ปืนเอ็ม 4 คาร์บิน, ปืนเล็กยาว เอ็ม16เอ4 พร้อมเอ็ม 203, ปืนเล็กยาวเอ็ม16เอ4, เอ็ม 249)

หลักนิยมของเหล่านาวิกโยธินสหรัฐ กำหนดให้ชุดยิงใด ๆ ที่ปฏิบัติการต้องมีพลปืนกลอย่างน้อยหนึ่งทีม (2 นาย) และบรรยายสรุปชุดยิงด้วยหลักการจำคือ "ready-team-fire-assist" ซึ่งคำดังกล่าวคือการจัดชุดยิงเมื่ออยู่ในรูปขบวน

  • พลปืนเล็ก: ทำหน้าที่เป็นหน่วยสอดแนมของชุดยิง คือคำว่า "ready"
  • หัวหน้าชุดยิง: ใช้เอ็ม 203 และปฏิบัติหน้าที่เป็นพลเครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็ก คือคำว่า "team"
  • พลปืนเล็กอัตโนมัติประจำหน่วย: ใช้ปืนกลเบา เอ็ม 249 หรือ เอ็ม 27 ไอเออาร์ และทำหน้าที่เป็นรองผู้บังคับชุดยิง คือคำว่า "fire"
  • ผู้ช่วยพลปืนเล็กอัตโนมัติ: ใช้ปืนเล็กยาวมาตรฐานร่วมกับการทำหน้าที่สนับสนุนการตรวจจับ การค้นหาระยะไกล บรรจุกระสุนปืนกลเบา และให้การป้องกันระยะใกล้หากชุดยิงอยู่ภายใต้การโจมตี คือคำว่า "assist"

กองทัพเรือ

กองกำลังก่อสร้างของกองทัพเรือ หรือที่เรียกว่ากองพันก่อสร้าง ชื่อเล่นว่า "ซีบี" (Seabee ผึ้งทะเล) ใช้ชุดยิง (แบบเดียวกับกองร้อย, หมวด และหมู่) ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับที่ใช้ในนาวิกโยธินในโครงสร้างหน่วย หน่วยซีบีอาจจะสังกัดอยู่กับหน่วยนาวิกโยธินก็ได้

ชาติอื่น ๆ

ในกองทัพอื่น ๆ จำนวนมากมองว่าชุดยิงเป็นหน่วยทหารที่เล็กที่สุด กองทัพของบางประเทศประกอบด้วยทหาร 2 นายเป็นหน่วยทหารที่เล็กที่สุด ในขณะที่กรณีอื่น ๆ ชุดยิงประกอบด้วยทหารสองคู่ (ชุดยิงและชุดดำเนินกลยุทธ์) รวมกันเป็นชุดยิง ในกองกำลังคอมมิวนิสต์ของเวียดนาม ซึ่งมีคอมมิวนิสต์จีนเป็นที่ปรึกษาใกล้ชิด ยังได้นำแนวคิดชุดยิงที่คล้ายคลึงกับของจีน เรียกว่า "ตาม ตัม เฉื่อย" (tam tam chế) และยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน[32]

ประวัติ

ชุดยิงมีต้นกำเนิดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ช่วงสงครามนโปเลียนจนถึงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยุทธวิธีทางการทหารที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมรูปขบวนทหารขนาดใหญ่จากส่วนกลางถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ในขณะที่หน่วยขนาดเล็กมีการริเริ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

การจ้างทหารเพื่อทำหน้าที่อยู่ยามหรือการคุ้มกันวีไอพีมักจะจัดเป็นชุดทหารจำนวน 4 นาย ในกองทัพโรมัน เรียกหน่วยแบบนี้ว่า ควอเทอร์นิโอ (quaternio ภาษากรีก τετράδιον)[33]

ทหารในแถวขยายช่วงสงครามนโปเลียนมักจะทำงานเป็นทีม ทีมละสองคน โดยคนแรกล่วงหน้าไปจากกลุ่มหลักและอีกคนคอยยิงคุ้มกันซึ่งกันและกัน

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การสงครามสนามเพลาะส่งผลให้เกิดทางตันในแนวรบด้านตะวันตก เพื่อต่อสู้กับทางตันนี้ เยอรมันได้พัฒนาหลักนิยมที่เรียกว่ายุทธวิธีการแทรกซึม (อิงมาจากยุทธวิธีของรัสเซียที่ใช้งานในการรุกบรูซิลอฟ) ซึ่งจะมีการเตรียมปืนใหญ่ในช่วงสั้น ๆ ตามมาด้วยหน่วยสตอร์มทรูปเปอร์ขนาดเล็กและปฏิบัติการอิสระในการเจาะแนวป้องกันแบบแทรกซึม เยอรมันใช้หน่วยสตอร์มทรูปเปอร์เป็นหน่วยระดับตำที่สุดในการสร้างกองกำลังจู่โจมแนวของสัมพันธมิตร กองทหารของสหราชอาณาจักรและแคนาดาในแนวรบด้านตะวันตกเริ่มแบ่งหมวดออกเป็นตอนหลังจากยุทธการที่แม่น้ำซอมในปี พ.ศ. 2459 (แนวคิดนี้ถูกพัฒนาเพิ่มเติมต่อและนำมาใช้ในสงครามโลกครั้งที่สอง) หน่วยแชสเซอร์ (Chasseur) ของฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งหนึ่งหนึงถูกจัดเป็นชุดยิง ซึ่งเป็นชุดปืนกลเบาและพลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็กเพื่อทำลายตำแหน่งการยิงของเยอรมัน (ไม่ใช่การจู่โจม) ที่ระยะสูงสุด 200 เมตรโดยใช้เครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็ก โดยชุดปืนกลเบาเปิดฉากการยิงข่มไปยังตำแหน่งของศัตรู ในขณะที่ชุดเครื่องยิงลูกระเบิดเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่สามารถโจมศัตรูได้ด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด ยุทธวิธีของหน่วยแชสเซอร์ได้รับการทดสอบใช้จริงในช่วงการรุกเปแต็งในปี พ.ศ. 2460 ผู้รอดชีวิตจากหน่วยแชสเซอร์ได้สอนยุทธวิธีนี้ให้กับทหารราบอเมริกัน ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ใช้งานได้ผลในการปฏิบัติการที่แซงต์-มิฮีล และอาร์กอน ทำให้ชุดยิงในยุคนั้นจะประกอบไปด้วยทหารราบ 4 นาย คือพลจู่โจมพร้อมปืนคาร์บิน 2 นาย พลยิงเครื่องยิงลูกระเบิดจากปืนเล็ก 1 นาย และทหารช่าง 1 นาย

ช่วงระหว่างสงคราม

ในช่วงระหว่างสงคราม เชื่อกันว่าร้อยเอก อีแวนส์ เอฟ. คาร์ลสัน และเมอร์ริตต์ เอ. เอ็ดสัน นาวิกโยธินสหรัฐ ได้พัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับชุดยิงระหว่างการยึดครองนิการากัวของสหรัฐ (พ.ศ. 2455-2476) ในเวลานั้น หมู่นาวิกโยธินสหรัฐประกอบไปด้วยสิบตรีและนาวิกโยธินอีก 7 นายที่ใช้ปืนเล็กยาวเอ็ม 1903 สปริงฟิลด์แบบลูกเลื่อน และพลปืนเล็กอัตโนมัติ ใช้ปืนเล็กยาวอัตโนมัติบราวนิง เอ็ม1918 โดยหลังจากการเปิดตัวปืนกลมือทอมป์สัน และปืนลูกซองวินเชสเตอร์โมเดล 1912 ปืนทั้งสองได้รับความนิยมในหมู่นาวิกโยธินสหรัฐในฐานะอาวุธอาวุธป้องกันตำแหน่งสำหรับการตอบโต้การซุ่มโจมตีของกองโจรนิการากัวภายในผืนป่าที่หนาทึบ สามารถใช้เป็นที่กำบังสำหรับการตรวจตราที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ชุดของหทาร 4 นายพร้อมกับอาวุธปืนได้รับการทดสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพในแง่ของอำนาจการยิงและความคล่องตัวมากกว่าหมู่ปืนเล็กมาตรฐานที่ใช้กำลัง 9 นาย

ร้อยเอกคาร์ลสันซึ่งต่อมาได้เดินทางไปยังจีนในปี พ.ศ. 2480 ได้สังเกตหน่วยกองทัพเส้นทางที่ 8 คอมมิวนิสต์ของกองทัพปฏิวัติแห่งชาติจีนในการปฏิบัติการต่อต้านกองทัพบกจักรวรรดิญี่ปุ่น และได้นำแนวคิดดังกล่าวกลับไปยังสหรัฐเมื่อประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สอง ภายใต้การบัญชาการของเขา กองพันนาวิกโยธินที่ 2 ได้ออกปฏิบัติการพร้อมกับปืนเล็กยาวกึ่งอัตโนมัติ เอ็ม1 กาแรนด์ และจัดชุดยิงตามแนวคิดในรูปแบบมาตรฐาน 4 นาย (แม้ว่าจะถูกเรียกว่ากลุ่มยิงในเวลานั้น) กำลัง 3 กลุ่มยิงจัดเป็นหนึ่งหมู่ที่มีผู้บังคับหมู่ กลุ่มยิงประกอบไปด้วย พลปืนเล็กยาว เอ็ม1 กาแรนด์, พลปืนบาร์ และพลปืนกลมือ โดยหลังเขาบาดเจ็บสาหัสจากการรบ ตำแหน่งของเขาได้ถูกแทนที่ และกองพันของเขาถูกยุบลงเพื่อจัดโครงสร้างใหม่ในเวลาต่อมาตามหลักนิยมทั่วไปของนาวิกโยธินคือการจัดหมู่ละ 10 นาย ซึ่งหลังจากนั้นแนวคิดการจัดชุดยิงของคาร์ลสันได้ถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง

สงครามโลกครั้งที่สอง

หมู่ปืนเล็กของกองทัพบกสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่สองประกอบไปด้วยทหารจำนวน 12 นาย[34] แบ่งออกเป็นสามชุด ชุด "เอเบิล" (A "Able" การออกเสียงตัวอักษรแบบร่วมสมัย) ประกอบไปด้วยผู้บังคับหมู่และหน่วยสอดแนม 2 นาย ชุดสนับสนุน "เบเกอร์" (B "Baker") ประกอบไปด้วยพลปืนบาร์ พลปืนผู้ช่วย และผู้ถือกระสุน และชุด "ชาร์ลี" (C "Charlie") ประกอบไปด้วยผู้ช่วยผู้บังคับหมู่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นพลเครื่องยิงลูกระเบิดต่อต้านรถถัง และพลปืนเล็กอีก 5 นาย (ซึ่ง 1 ใน 5 นายนี้ทำหน้าที่เป็นพลเครื่องยิงลูกระเบิดต่อต้านรถถังสำรอง)[35]ในการจู่โจม ชุดเอจะคอยเฝ้าตรวจและรักษาความปลอดภัยหรือเป็นผู้ช่วยชุดซีในการจู่โจมตามคำสั่งของผู้บังคับหมู่ ในขณะที่ชุดบีจะทำการยิงข่ม ซึ่งการยิงข่มจากปืนบาร์จะถูกสนับสนุนจากปืนเล็กยาวจากชุดของปืนกลเองในระหว่างที่กำลังบรรจุกระสุน และอาจจะเสริมด้วยปืนกลขนาดกลางของหมวด

หน่วยเรนเจอร์ของกองทัพบกสหรัฐและกองกำลังปฏิบัติการพิเศษได้นำแนวคิดเกี่ยวกับชุดยิงในยุคแรกมาใช้งานในการทัพในอิตาลีและฝรั่งเศส แต่ละหน่วยย่อยของหมู่ประกอบไปด้วยทหาร 4 หรือ 5 นายที่ติดอาวุธหนัก ประกอบไปด้วยพลปืนเล็กอัตโนมัติบาร์และผู้ช่วย หน่วยสอดแนม (พลแม่นปืน / พลยิงเครื่องยิงลูกระเบิด) ที่ติดอาวุธหนักเอ็ม 1903 สปริงฟิลด์ที่ติดเครื่องยิงลูกระเบิด และหัวหน้าชุดที่ใช้ปืนเอ็ม 1 คาร์บินหรือปืนกลมือทอมป์สัน เอ็ม 1 ในภายหลังได้มีการใช้งานผิดไปจากวัตถุประสงค์ เนื่องจากทหารราบปกติปฏิเสธที่จะฝึกทักษะการต่อสู้และการฝึกพิเศษ และการประกอบกำลังเป็นชุดกองพลน้อยยิงในการต่อต้านกองกำลังที่ใหญ่กว่าได้ทำลายข้อได้เปรียบดั่งเดิมของรูปแบบนี้คือความก้าวร้าวและอำนาจในการยิง

ในขณะเดียวกัน คอมมิวนิสต์จีนได้สร้างแนวคิดชุดยิงแบบสามคนขึ้นในรูปแบบของเซลล์เมื่อพวกเขาจัดตั้งกองทัพประจำการ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้แพร่หลายไปยังกองกำลังคอมมิวนิสต์ทั่วทั้งเอเชีย

คู่รบ

คู่รบ (battle pair) เป็นหน่วยที่เล็กที่สุดที่สูงกว่าทหารรายบุคคล ในยุคปัจจุบันจะใช้งานในกองทัพกลุ่มประเทศบอลติกและหน่วยรบพิเศษ เช่น หน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ (SAS) ประกอบไปด้วยทหาร 2 นาย โดยมีทหารอีกหนึ่งนายที่มีอาวุโสเหนือกว่าทหารทั้ง 2 นายแรก (ตัดสินใจแทนทั้ง 2 นายหรือบังคับบัญชา) ชุดยิงจะประกอบด้วยชุดยิงและดำเนินกลยุทธ์จำนวน 2 ชุด และหมวดจะประกอบไปด้วยชุดยิง 2 ชุดขึ้นไป

ตัวอย่างการยิงและการดำเนินกลยุทธ์ในการต่อสู้จริง ระหว่างยุทธการที่โอกินาวะ นาวิกโยธินสหรัฐ ทางด้านซ้ายทำหน้าที่ยิงคุ้มครองนาวิกโยธินทางด้านขวาเพื่อทำลายที่กำบังและเคลื่อนไปยังตำแหน่งอื่น

แนวคิดนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากองทัพสหรัฐและประเทศในเครือจักรภพยังคงใช้ระบบชุดยิงประกอบเข้าเป็นหมู่เป็นหลักนิยมหลักอยู่

เอสโตเนีย

ชุดดังกล่าวเรียกว่า Lahingpaar หรือ คู่รบ

ฟินแลนด์

จนถึงปี พ.ศ. 2558 กองกำลังป้องกันฟินแลนด์ จัดกำลังในรูปแบบ 3 taistelupari (คู่รบ) ประกอบกำลังเป็นหนึ่งหมู่พร้อมกับผู้บังคับหมู่ ระบบชุดยิง 3 คนถือเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในหลักนิยมของทหารราบฟินแลนด์

ฝรั่งเศส

กองทัพบกฝรั่งเศสมีแนวคิดของ binôme ('คู่' 'pair') ในกองกำลังประจำการ เป็นการจับคู่ระหว่างทหารที่มากประสบการณ์กับทหารใหม่หรือทหารทดแทน โดยทหารใหม่เรียนรู้จากทหารที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติงานประจำวันและงานที่ได้รับผิดชอบตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

ในกองกำลังอาณานิคมเก่า (เช่นกองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส) มันคือการจัดระเบียบ คู่ทั้งสองจะต้องรับผิดชอบซึ่งกันและกัน หากคนใดคนหนึ่งฝ่าฝืนหรือไม่ทำตามกฎ คู่อีกคนจะถูกลงโทษด้วยเนื่องจากไม่ขัดขวางการกระทำนั้น

สวีเดน

ตามคู่มือสนามของกองทัพสวีเดน Stridspar (คู่รบ) ที่ทำงานประสานกันอย่างดีมีประสิทธิภาพเท่ากับทหารสี่นายที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันปฏิบัติหน้าที่แยกจากกัน

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. APP-6C Joint Military Symbology (PDF). NATO. May 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-09-21. สืบค้นเมื่อ 2023-12-30.
  2. "U.S. Army Infantry Squad Organization". AAManual. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 August 2017. สืบค้นเมื่อ 14 August 2017.
  3. "Field Manual" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2014-11-20. สืบค้นเมื่อ 2015-01-12.
  4. "MOS 11B - Infantryman Duty Descriptions". www.armywriter.com. สืบค้นเมื่อ 14 August 2017.
  5. "Job Description of a United States Army Infantry Team Leader". สืบค้นเมื่อ 14 August 2017.
  6. "What Are the Duties of Infantry Team Leaders?". สืบค้นเมื่อ 14 August 2017.
  7. "Sample Army Team Leader Duties, Responsibilities and Job Description - Citizen Soldier Resource Center". 26 February 2014. สืบค้นเมื่อ 14 August 2017.
  8. https://mwi.westpoint.edu/how-ukraines-roving-teams-of-light-infantry-helped-win-the-battle-of-sumy-lessons-for-the-us-army/
  9. https://static.rusi.org/403-SR-Russian-Tactics-web-final.pdf
  10. ADP 3-90 Offense and Defense. Washington, DC: US Department of the Army. 31 August 2012. p. 7.
  11. FM 1-02.2 Military Symbols. Washington, DC: US Department of the Army. 10 November 2020. p. 2–6.
  12. APP-6D NATO Joint Military Symbology. NATO Standardization Office. October 2017. p. 3–67.
  13. Department of National Defence (Canada) (1996). B-GL-309-003/FT-001, The Infantry Section and Platoon in Battle.
  14. 14.0 14.1 "Chinese Influences on Foreign Militaries". China Defence Forum (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2019-10-17.
  15. 林彪 (1948). 《一点两面与班组的三三制战术》. 辽吉第五军分区.
  16. 16.0 16.1 16.2 คู่มือนักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3 (PDF). หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน.
  17. 17.0 17.1 เดชนะ, นิพันธ์ (2565). วิชา ยุทธวิธีรูปขบวนทำการรบของหมู่ปืนเล็ก (PDF). โรงเรียนรักษาดินแดน ศูนย์การศึกษาวิชาทหาร.[ลิงก์เสีย]
  18. วิชา เทคนิคหมู่ปืนเล็ก โรงเรียนทหารนาวิกโยธิน (PDF). ศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน ค่ายกรมหลวงชุมพร. 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-12-18. สืบค้นเมื่อ 2023-12-19.
  19. "หนังสือข่าวทหารอากาศ ฉบับเดือน ตุลาคม 2562 by RTAF News - Issuu". issuu.com (ภาษาอังกฤษ). 2019-10-30. p. 65.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 "Soldier Magazine September 2018". British Army. สืบค้นเมื่อ 8 September 2018.
  21. 21.0 21.1 Ministry of Defence (United Kingdom) (1999). Army Code No. 71641, Infantry Tactical Doctrine Volume 1, Pamphlet No. 3 Infantry Platoon Tactics.
  22. 22.0 22.1 22.2 Ministry of Defence (United Kingdom) (2009). Army Code No. 71882, Infantry Tactical Doctrine Volume 1, Pamphlet No. 3 Infantry Platoon Tactics.
  23. "Janes | Latest defence and security news".
  24. "The British Experience in Northern Ireland: A Model for Modern Peacemaking Operations?" (PDF). School of Advanced Military Studies. 1993. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ December 26, 2019. สืบค้นเมื่อ 5 December 2018.
  25. Room reaching and clearing techniques based on the "US Army Field Manual FM 3-06.11" from June 2011.
  26. https://fas.org/irp/doddir/army/attp3-06-11.pdf Combined Arms Operations in Urban Terrain (ATTP 3-06.11 (FM 3-06.11) June 2011
  27. OE TSC G&V (25 October 2011). "Individual Movement Techniques & Fire Team Formations". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-11. สืบค้นเมื่อ 14 August 2017 – โดยทาง YouTube.
  28. U.S. Army Field Manual FM 3-21.8: The Infantry Rifle Platoon and Squad, Figure 1-5: Infantry fire team and Figure 1-6: Infantry squad. http://www.globalsecurity.org/jhtml/jframe.html#http://www.globalsecurity.org/military/library/policy/army/fm/3-21-8/fm3-21-8. Retrieved 28 October 2016.
  29. OE TSC G&V (25 October 2011). "Introduction to Rifle Squad". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-12-11. สืบค้นเมื่อ 14 August 2017 – โดยทาง YouTube.
  30. Headquarters, Department of the Army: ATTP 3-06.11 (FM 3-06.11) – Combined Arms Operations in Urban Terrain (June 2011)
  31. U.S. Army Field Manual FM 3-21.11: SBCT Infantry Rifle Company, Figure 1-4. SBCT infantry rifle platoon organization http://www.globalsecurity.org/military/library/policy/army/fm/3-21-11/c01.htm#sectionii1_7. Retrieved 28 October 2016.
  32. "Vietnam People's Army Rifle Platoon (2019)". battleorder.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-03-31. สืบค้นเมื่อ 2023-12-19.
  33. c.f. Acts 12:4 "When he had captured him, he put him in prison, and delivered him to four squads of four soldiers each [quattuor quaternionibus militum; τέσσαρσιν τετραδίοις στρατιωτῶν] to guard him"
  34. Army Lineage Series Infantry Part I: Regular Army, pp. 56 & 73 http://www.history.army.mil/html/books/060/60-3-1/index.html เก็บถาวร 2020-10-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 2 November 2016.
  35. War Department The Rifle Platoon and Squad in Offensive Combat Part 1, Section 1: Organization of the Rifle Platoon, March 15, 1943 (see FM 7-10, para. 133). http://www.hardscrabblefarm.com/ww2/offensive_combat.htm Retrieved 28 October 2016.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!