ขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊ก (เสียชีวิต ค.ศ. 258)
จูกัดเอี๋ยน (จูเก่อ ต้าน) |
---|
諸葛誕 |
|
|
ขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) |
---|
ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 257 (257) – ค.ศ. 258 (258) |
กษัตริย์ | ซุนเหลียง |
---|
มหาขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東大將軍 เจิงตงต้าเจียงจฺวิน) |
---|
ดำรงตำแหน่ง สิงหาคมหรือกันยายน ค.ศ. 255 – ค.ศ. 257 (257) |
กษัตริย์ | โจมอ |
---|
มหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東大將軍 เจิ้นตงต้าเจียงจฺวิน) |
---|
ดำรงตำแหน่ง กุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 255 – สิงหาคมหรือกันยายน ค.ศ. 255 |
กษัตริย์ | โจมอ |
---|
|
ข้อมูลส่วนบุคคล |
---|
เกิด | ไม่ทราบ อำเภออี๋หนาน มณฑลชานตง |
---|
เสียชีวิต | 10 เมษายน ค.ศ. 258 อำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย |
---|
บุตร | |
---|
ความสัมพันธ์ | |
---|
อาชีพ | ขุนพล, ขุนนาง |
---|
ชื่อรอง | กงซิว (公休) |
---|
บรรดาศักดิ์ | โหวแห่งฉิวฉุน (壽春侯 โช่วชุนโหว) |
---|
|
จูกัดเอี๋ยน หรือ จูกัดตุ้น[a] (เสียชีวิต 10 เมษายน ค.ศ. 258[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า จูเก่อ ต้าน (จีน: 諸葛誕; พินอิน: Zhūgě Dàn) ชื่อรอง กงซิว (จีน: 公休; พินอิน: Gōngxiū) เป็นขุนพลและขุนนางของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน
ในช่วงที่จูกัดเอี๋ยนดำรงตำแหน่งสำคัญทางการทหารในช่วงกลางและช่วงปลายของการรับราชการ ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์กบฏทั้งสามครั้งที่เกิดขึ้นในอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) ระหว่างปี ค.ศ. 251 และ ค.ศ. 258 ในเหตุการณ์กบฏครั้งที่สอง จูกัดเอี๋ยนช่วยเหลือสุมาสูผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กในการปราบกบฏ หลังปราบปรามกบฏเสร็จสิ้น ราชสำนักวุยก๊กมอบหมายให้จูกัดเอี๋ยนดูแลการทหารในฉิวฉุน เมื่อตระกูลสุมามีอำนาจมากขึ้นและตั้งตนเองเป็นผู้ปกครองโดยพฤตินัยของวุยก๊ก จูกัดเอี๋ยนกลัวว่าตนจะถูกสังหารเช่นเดียวกับหวาง หลิง (王淩) และบู๊ขิวเขียมที่เป็นผู้นำของกบฏสองครั้งแรก จูกัดเอี๋ยนจึงตัดสินใจเริ่มต้นก่อกบฏครั้งที่สามในปี ค.ศ. 257 เพื่อต่อต้านสุมาเจียวผู้สืบทอดอำนาจถัดจากสุมาสูในฐานะผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊ก แม้ว่าจูกัดเอี๋ยนจะได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากง่อก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก แต่กบฏของจูกัดเอี๋ยนในที่สุดก็ถูกปราบปรามโดยทัพหลวงของวุยก๊ก ตัวจูกัดเอี๋ยนถูกสังหารด้วยฝีมือของเฮาหุนนายทหารใต้บังคับบัญชาของสุมาเจียว
การรับราชการช่วงต้น
จูกัดเอี๋ยนเป็นชาวอำเภอหยางตู (陽都縣 หยางตูเซี่ยน) เมืองลองเอี๋ยหรือลงเสีย (琅邪郡 หลางหยาจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคืออำเภออี๋หนาน มณฑลชานตง จูกัดเอี๋ยนสืบเชื้อสายจากจูเก่อ เฟิง (諸葛豐)[3] และเป็นลูกพี่ลูกน้องกับจูกัดกิ๋นและจูกัดเหลียง[4] จูกัดเอี๋ยนเริ่มรับราชการในตำแหน่งเจ้าพนักงานสำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง) ครั้งหนึ่งจูกัดเอี๋ยนและตู้ จี (杜畿) ผู้เป็นรองราชเลขาธิการ (僕射 ผู่เย่) ทดลองนั่งเรือในแม่น้ำ เรือพลิกคว่ำหลังถูกคลื่นซัด ทั้งสองจึงตกลงไปในน้ำ เมื่อราชองครักษ์หน่วยหู่เปิน (虎賁) มาช่วยทั้งคู่ จูกัดเอี๋ยนจึงบอกให้ช่วยตู้ จีก่อน ตัวจูกัดเอี่ยนหมดสติไปหลังจากนั้นและถูกน้ำพัดลอยไปขึ้นฝั่ง และในที่สุดก็ฟื้นขึ้นมา[5]
ต่อมาจูกัดเอี๋ยนได้เป็นนายอำเภอ (令 ลิ่ง) ของอำเภอเอ๊งหยง (滎陽縣 สิงหยางเซี่ยน)[6] จากนั้นได้เป็นเจ้าพนักงาน (郎 หลาง) ในกรมบุคลากร (吏部 ลี่ปู้) ในช่วงเวลานั้น เหล่าข้าราชการได้แนะนำบุคคลต่าง ๆ ให้จูกัดเอี๋ยน จูกัดเอี๋ยนจะเผยในที่สาธารณะถึงสิ่งที่ข้าราชการเหล่านั้นพูดกับตนเป็นการส่วนตัว ก่อนที่จะมอบหมายงานให้บุคคลที่ข้าราชการเหล่านั้นแนะนำ เมื่อจูกัดเอี๋ยนประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการจะคำนึ่งถึงสิ่งที่คนอื่น ๆ พูดไม่ว่าในแง่บวกหรือแง่ลบ ด้วยเหตุนี้เหล่าข้าราชการจึงระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อจะแนะนำบุคคลากรให้จูกัดเอี๋ยน[7]
หลังจากผ่านประสบการณ์ในกรมบุคลากร จูกัดเอี๋ยนได้ย้ายไปเป็นผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบและราชเลขาธิการ (御史中丞尚書 ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิงช่างชู) จูกัดเอี๋ยนเป็นสหายสนิทกับแฮเฮาเหียนและเตงเหยียง ทั้งสามได้รับการยกย่องอย่างมากจากข้าราชการคนอื่น ๆ และพลเรือนในนครหลวง ภายหลังมีบางคนทูลโจยอยจักรพรรดิแห่งวุยก๊กว่าจูกัดเอี๋ยนและสหายรวมถึง "ผู้มีชื่อเสียง" คนอื่น ๆ[c] ปฏิบัติหน้าที่เพื่อผิวเผินและมีพฤติกรรมแสวงชื่อเสียง โจยอยทรงไม่โปรดและมีพระประสงค์จะกีดกันพฤติกรรมเช่นนี้ออกจากเหล่าข้าราชบริพาร พระองค์จึงทรงปลดจูกัดเอี๋ยนจากตำแหน่ง[9]
หลังโจยอยสวรรคตในปี ค.ศ. 239 โจฮองขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิพระองค์ใหม่ พระองค์โปรดให้จูกัดเอี๋ยนกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบและราชเลขาธิการ ต่อมาเลื่อนให้มีตำแหน่งข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลยังจิ๋วและมียศเป็นขุนพลสำแดงยุทธ (昭武將軍 เจาอู่เจียงจฺวิน)[10]
ยุทธการที่ตังหิน
ในปี ค.ศ. 251 ทัพหลวงของวุยก๊กนำโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาอี้ปราบปรามกบฏที่ก่อโดยหวาง หลิง (王淩) ขุนพลวุยก๊ก หลังจากนั้นราชสำนักวุยก๊กแต่งตั้งให้จูกัดเอี๋ยนเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน) มอบอาญาสิทธิ์และมอบหมายให้ดูแลราชการทหารในมณฑลยังจิ๋ว และตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นเตงเฮาแห่งซันหยง (山陽亭侯 ชานหยางถิงโหว)[11][12] ภายหลังจากสุมาอี้เสียชีวิตในปีเดียวกันนั้น สุมาสูบุตรชายของสุมาอี้ขึ้นสืบทอดอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และกุมอำนาจราชสำนักวุยก๊กต่อไป[13]
ช่วงต้นหรือกลางปี ค.ศ. 252 จูกัดเอี๋ยนแจ้งสุมาสูว่าทัพง่อก๊กได้บุกรุกอาณาเขตของวุยก๊กและก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่พร้อมแนวป้องกันภายนอกที่ตังหิน (東興; ทางตะวันออกเฉียงใต้ของนครเฉาหู มณฑลอานฮุยในปัจจุบัน) จูกัดเอี๋ยนเสนอให้สุมาสูส่งอองซองและบู๊ขิวเขียมนำกำลังทหารเข้าโจมตีและทำลายเขื่อน[14] ต่อมาในปีเดียวกัน สุมาสูดำเนินกลยุทธ์โจมตีง่อก๊กสามทิศทาง โดยส่งอองซองเข้าโจมตีเมืองลำกุ๋น (南郡 หนานจฺวิ้น; ปัจจุบันคือนครจิงโจว มณฑลหูเป่ย์) บู๊ขิวเขียมโจมตีบู๊เฉียง (武昌; ปัจจุบันคือนครเอ้อโจว มณฑลหูเป่ย์) อ้าวจุ๋นและจูกัดเอี๋ยนนำกำลังทหาร 70,000 นายโจมตีเขื่อนตังหิน[15] จูกัดเก๊กขุนพลง่อก๊กจึงนำกำลังทหาร 40,000 นายไปตังหินเพื่อตอบโต้ทัพวุยก๊ก[16] ยุทธการที่ตังหินสิ้นสุดลงด้วยชัยชนะทางยุทธวิธีของทัพง่อก๊ก จูกัดเอี๋ยนถูกย้ายตำแหน่งไปเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน) หลังกลับจากยุทธการ[17]
กบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม
ต้นปี ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียมและบุนขิมเริ่มก่อกบฏในอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย)[18] เพราะทั้งคู่ไม่พอใจที่ตระกูลสุมากุมอำนาจราชสำนักวุยก๊ก ทั้งคู่สนิทกับโจซองที่เป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊กและเหล่าผู้ติดตาม[19] ซึ่งถูกถอดออกจากอำนาจในรัฐประหารในปี ค.ศ. 249 โดยสุมาอี้ บู๊ขิวเขียมและบุนขิมส่งคนนำสารไปพบจูกัดเอี๋ยนเพื่อโน้มน้าวให้จูกัดเอี๋ยนรวบรวมกำลังทหารในมณฑลอิจิ๋วมาช่วยสนับสนุนพวกตน แต่จูกัดเอี๋ยนประหารชีวิตคนนำสารและประกาศอย่างเป็นสาธารณะว่าบู๊ขิวเขียมและบุนขิมกำลังก่อกบฏ[20]
สุมาสูนำทัพหลวงวุยก๊กด้วยตนเองยกไปจัดการกับกลุ่มกบฏ สุมาสูสั่งจูกัดเอี๋ยนให้นำกำลังทหารจากมณฑลอิจิ๋วและเคลื่อนพลไปยังฉิวฉุนผ่านท่าข้ามอานเฟิง (安風津 อานเฟิงจิน) หลังสุมาสูปราบกบฏได้สำเร็จ กองกำลังของจูกัดเอี๋ยนเป็นกองกำลังแรกที่เข้าฉิวฉุน ประชาชนพลเมืองของฉิวฉุนซึ่งมีมากกว่า 100,000 คนจึงพากันหนีไปยังชนบทหรือหนีไปยังง่อก๊กเพราะกลัวว่าจะถูกฆ่า[21]
ราชสำนักวุยก๊กแต่งตั้งให้จูกัดเอี๋ยนมหาขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東大將軍 เจิ้นตงต้าเจียงจฺวิน) โดยมีเกียรติเทียบเท่ากับเสนาบดีระดับซันกง และมอบหมายให้ดูแลราชการทหารในมณฑลยังจิ๋ว ก่อนหน้านี้เมื่อข่าวที่บู๊ขิวเขียมและบุนขิมก่อกบฏแพร่ไปถึงง่อก๊ก ซุนจุ๋นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กพร้อมด้วยลิกี๋, เล่าเบา และคนอื่น ๆ นำทัพง่อก๊กไปยังฉิวฉุนเพื่อสนันสนุนกลุ่มกบฏ แต่เมื่อทัพง่อก๊กมาถึง ทัพวุยก๊กก็ยึดฉิวฉุนคืนมาได้แล้ว ทัพง่อก๊กจึงล่าถอย จูกัดเอี๋ยนส่งเจียวปั้น (蔣班) ผู้ใต้บังคับบัญชาให้นำกำลังทหารไล่ตามตีทัพง่อก๊กที่ล่าถอย เจียวปั้นสังหารเล่าเบาในการรบครั้งนั้นและได้ตราประจำตำแหน่งของเล่าเบากลับมา จูกัดเอี๋ยนได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับหมู่บ้านเป็นโหวระดับอำเภอคือ "เกาผิงโหว" (高平侯) จากความดีความชอบในการปราบกบฏ และได้รับศักดินาเพิ่มเติม 3,500 ครัวเรือน ราชสำนักวุยก๊กยังเปลี่ยนตำแหน่งให้จูกัดเอี๋ยนเป็น "มหาขุนพลโจมตีภาคตะวันออก" (征東大將軍 เจิงตงต้าเจียงจฺวิน)[22]
กบฏจูกัดเอี๋ยน
การเตรียมการก่อกบฏ
เนื่องจากจูกัดเอี๋ยนเป็นสหายสนิทกับแฮเฮาเหียนและเตงเหยียง (鄧颺 เติ้ง หยาง) ซึ่งทั้งคู่เป็นคนสนิทของโจซอง และจูกัดเอี๋ยนได้เห็นถึงจุดจบของหวาง หลิงและบู๊ขิวเขียม จูกัดเอี๋ยนจึงรู้สึกไม่สบายใจและกังวลว่าตนอาจตกเป็นเหยื่อของการกวาดล้างโดยตระกูลสุมา ดังนั้นเมื่อจูกัดเอี๋ยนประจำการอยู่ในอำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) จึงพยายามเพิ่มความนิยมของตนในมวลชนในพื้นที่แม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) โดยใช้ความเอื้อเฟื้ออย่างมาก จูกัดเอี๋ยนยังใช้ทรัพย์สินส่วนตัวในการตัดสินบนผู้ใต้บังคับบัญชาและจ้างทหารรับจ้างหลายพันนายป็นองครักษ์[23] จูกัดเอี๋ยนยังนิรโทษกรรมให้กับนักโทษที่ทำความผิดถึงขั้นต้องโทษประหารชีวิต[24]
ในช่วงฤดูหนาวของปี ค.ศ. 256 จูกัดเอี๋ยนหาข้ออ้างเพื่อจะตั้งมั่นในฉิวฉุนและเสริมสร้างการป้องกันให้แข็งแกร่งขึ้น จูกัดเอี๋ยนเขียนฎีกาถึงราชสำนักอ้างว่าตนได้ยินว่าทัพง่อก๊กกำลังวางแผนจะโจมภูมิภาคแถบแม่น้ำห้วย จึงขอกำลังทหาร 100,000 นายและขออนุญาตสร้างโครงสร้างป้องกันในพื้นที่[25] ในช่วงเวลานั้น หลังสุมาสูเสียชีวิตในปี ค.ศ. 255 สุมาเจียวน้องชายของสุมาสูได้สืบทอดอำนาจในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊ก กาอุ้นแนะนำสุมาเจียวให้คอยจับตาดูเหล่าขุนพลที่รักษาจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั่ววุยก๊ก และประเมินว่าขุนพลเหล่านี้จงรักภักดีต่อสุมาเจียวหรือไม่ สุมาเจียวทำตามคำแนะนำของกาอุ้นและส่งกาอุ้นไปพบจูกัดเอี๋ยน กาอุ้นถามจูกัดเอี๋ยนว่า "ผู้มีปัญญาหลายคนในลกเอี๋ยงต่างหวังจะให้จักรพรรดิสละราชบัลลังก์เพื่อเปลี่ยนให้ผู้ปกครองที่ดีกว่าขึ้นครองแทน ท่านก็รู้เรื่องนี้อยู่แล้ว ท่านมีความเห็นประการใด" จูกัดเอี๋ยนตอบอย่างรุนแรงว่า "ท่านเป็นบุตรชายของข้าหลวงกา (กากุ๋ย) ไม่ใช่หรือ รัฐปฏิบัติต่อครอบครัวของท่านเป็นอย่างดีมาหลายชั่วรุ่น ท่านจะทรยศต่อรัฐและปล่อยให้ตกอยู่ในมือผู้อื่นได้อย่างไร ข้าไม่อาจทนได้ หากมีปัญหาในลกเอี๋ยง ข้าก็จะยอมตายเพื่อรัฐ" กาอุ้นฟังแล้วก็เงียบอยู่[26] หลังกลับมาลกเอี๋ยง กาอุ้นบอกกับสุมาเจียวว่า "จูกัดเอี๋ยนมีเกียรติและความนิยมสูงในยังจิ๋ว หากท่านเรียกตัวมาที่นี่และเขาไม่เชื่อฟัง ก็จะเป็นเพียงปัญหาเล็ก แต่หากท่านไม่เรียกตัวมา จะกลายเป็นปัญหาใหญ่" ในช่วงต้นฤดูร้อนของปี ค.ศ. 257 สุมาเจียวออกพระราชโองในนามของราชสำนักให้จูกัดเอี๋ยนกลับมาลกเอี๋ยงเพื่อให้มารับตำแหน่งเป็นเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง) ในราชสำนักกลาง[27][28] แม้ว่าพระราชโองการนี้จะเป็นการเลื่อนตำแหน่งให้จูกัดเอี๋ยนเป็นเสนาบดีผู้ทรงเกียรติ (คือเป็นหนึ่งในสามตำแหน่งเสนาบดีระดับซันกง) แต่แท้จริงเป็นการดำเนินการเพื่อถอดจูกัดเอี๋ยนจากการมีอำนาจในฉิวฉุนและตั้งให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสุมาเจียวในลกเอี๋ยง
การก่อกบฏ
เมื่อจูกัดเอี๋ยนได้รับราชโองการก็รู้ว่าสุมาเจียวสงสัยตน จูกัดเอี๋ยนจึงเริ่มหวาดกลัว ในชื่อ-ยฺหวี่ (世語) ระบุว่าจูกัดเอี๋ยนสงสัยว่างักหลิม (樂綝 เยฺว่ หลิน) ข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลยังจิ๋วเป็นผู้ยุยงสุมาเจียวให้ถอดตนจากการมีอำนาจในฉิวฉุนและเรียกตัวไปลกเอี๋ยง จูกัดเอี๋ยนจึงนำกำลังทหารหลายร้อยนายไปยังที่ว่าการมณฑลเพื่อสังหารงักหลิม เมื่อจูกัดเอี๋ยนมาถึงเห็นว่าประตูเปิดอยู่จึงตะโกนบอกทหารรักษาประตูว่า "คราก่อนท่านไม่ใช่ลูกน้องของข้าหรอกหรืิอ" จากนั้นก็ใช้กำลังบุกเข้าไปและสังหารงักหลิม[29] อีกบันทึกหนึ่งจากเว่ย์มั่วจฺว้าน (魏末傳) ระบุว่าจูกัดเอี๋ยนจัดงานเลี้ยงขึ้นหลังได้รับพระราชโองการ และพูดปดว่าตนต้องการลาหยุดงานวันหนึ่งและออกนอกฉิวฉุน จูกัดเอี๋ยนนำทหาร 700 นายไปกับตนด้วย เมื่องักหลิมได้ยินเรื่องนี้จึงสั่งให้ปิดประตูเมือง จูกัดเอี๋ยนจึงสั่งทหารของตนให้ใช้กำลังเข้าเปิดประตู จุดไฟเผาที่ว่าการมณฑล และสังหารงักหลิม จากนั้นจึงเขียนฎีกาส่งไปยังราชสำนักโดยกล่าวหาว่างักหลิมลอบร่วมมือกับง่อก๊กและอ้างว่าตนได้สังหารงักหลิมหลังล่วงรู้เรื่องการทรยศของงักหลิม นักประวัติศาสตร์เผย์ ซงจือเชื่อว่าบันทึกในเว่ย์มั่วจฺว้านไม่เป็นความจริง[30] ไม่ว่าในกรณีใด จูกัดเอี๋ยนได้สังหารงักหลิมและเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุนต่อต้านราชสำนักวุยก๊ก[31]
ขณะเมื่อจูกัดเอี๋ยนก่อกบฏมีกำลังพลประมาณ 100,000 นายภายใต้การบังคับบัญชาของตนในภูมิภาคแม่น้ำห้วย กำลังพลส่วนใหญ่ประจำการในฐานะส่วนหนึ่งของนโยบายถุนเถียนของราชสำนักวุยก๊ก จูกัดเอี๋ยนยังรวบรวมทหารอีก 40,000 ถึง 50,000 นายในมณฑลยังจิ๋ว จูกัดเอี๋ยนมีเสบียงสะสมที่สามารถใช้ได้เป็นเวลาหนึ่งปีและมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองในภูมิภาคนั้นอย่างสมบูรณ์[32] จากนั้นจึงส่งงอก๋ง (吳綱 อู๋ กาง) หัวหน้าเสมียน (長史 จ๋างฉื่อ) ให้นำจูกัดเจ้งบุตรชายของตนไปขอความช่วยเหลือจากง่อก๊ก โดยให้จูกัดเจ้งยังคงอยู่ที่ง่อก๊กในฐานะตัวประกัน[33]
ซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กมีความยินดี จึงสั่งให้จวนเต๊ก (全懌 เฉวียน อี้), จวนตวน (全端 เฉวียน ตวาน), ต๋องจู (唐咨 ถาง จือ), หวาง จั้ว (王祚) และนายทหารคนอื่น ๆ ให้นำกำลังพลง่อก๊ก 30,000 นายไปสนับสนุนการก่อกบฏของจูกัดเอี๋ยน ซุนหลิมยังบอกกับบุนขิมผู้แปรพักตร์มาเข้าด้วยง่อก๊กหลังความพ่ายแพ้ของบู๊ขิวเขียมให้ไปช่วยจูกัดเอี๋ยน ราชสำนักง่อก๊กมอบอาญาสิทธิ์ให้จูกัดเอี๋ยนและแต่งตั้งให้มีตำแหน่งดังต่อนี้: ผู้พิทักษ์ทัพซ้าย (左都護 จั่วตู่ฮู่), มหาเสนาบดีมหาดไทย (大司徒 ต้าซือถู), ขุนพลทหารม้าทะยาน (驃騎將軍 เพี่ยวฉีเจียงจฺวิน) และข้าหลวงมณฑลของมณฑลเฉงจิ๋ว (青州牧 ชิงโจวมู่) และยังตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นโหวแห่งฉิวฉุน (壽春侯 โช่วชุนโหว)[34]
ยุทธการ
ในบรรดากองกำลังจำนวนมากที่ถูกส่งไปปราบปรามกบฏจูกัดเอี๋ยน กองกำลังที่นำโดยอองกี๋มาถึงฉิวฉุนเป็นกองกำลังแรกและเริ่มปิดล้อมฉิวฉุน ก่อนที่จะการปิดล้อมจะดำเนินการเสร็จ ทัพง่อก๊กที่นำโดยต๋องจูและบุนขิมสามารถเดินทัพตัดผ่านภูมิประเทศภูเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของฉิวฉุนและเข้าฉิวฉุนเพื่อพบกับจูกัดเอี๋ยนได้[35]
ประมาณเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 257 สุมาเจียวมาถึงอำเภอฮางเสีย (項縣 เซี่ยงเซี่ยน; ปัจจุบันคืออำเภอเฉิ่นชิว มณฑลเหอหนาน) ที่ซึ่งสุมาเจียวบัญชากำลังพลรวม 260,000 นายที่ระดมมาจากทั่ววุยก๊กเพื่อปราบกบฏ และมุ่งหน้าไปยังฉิวฉุน สุมาเจียวตั่งมั่นอยู่ที่ชิวโถว (丘頭) ในขณะที่ส่งอองกี๋และตันเกี๋ยน (陳騫 เฉิน เชียน) ให้ปิดล้อมฉิวฉุนและเสริมกำลังการปิดล้อมด้วยโครงสร้างป้องกันอย่างกำแพงดินและคูน้ำ ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สุมาเจียวยังสั่งให้โจเป๋า (石苞 ฉือ เปา) และจิวท่าย (州泰 โจว ไท่) ให้นำกำลังพลส่วนหนึ่งออกลาดตระเวนโดยรอบบริเวณและป้องกันกองกำลังใด ๆ ที่อาจยกมาช่วยจูกัดเอี๋ยน เมื่อบุนขิมและคนอื่น ๆ พยายามจะตีฝ่าวงล้อมออกไป ก็ถูกทัพวุยก๊กตีโต้จนถอยกลับมา[36]
จูอี้ขุนพลง่อก๊กนำอีกกองกำลังไปยังฉิวฉุนเพื่อช่วยจูกัดเอี๋ยน จิวท่ายโจมตีจูอี้ที่หลีเจียง (黎漿) และเอาชนะได้ ซุนหลิมผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งง่อก๊กโกรธมากที่จูอี้ล้มเหลวจึงสั่งให้นำตัวจูอี้ไปประหารชีวิต[37]
การแปรพักตร์
หลังจากนั้นไม่นาน ฉิวฉุนก็ค่อย ๆ ขาดแคลนเสบียงและถูกตัดขาดจากภายนอกมากขึ้น ผู้ช่วยคนสนิทสองคนของจูกัดเอี๋ยนคือเจียวปั้น (蔣班 เจี่ยว ปาน) และเจียวอี้ (焦彝 เจียว อี๋) บอกกับจูกัดเอี่ยนว่า "จูอี้มาพร้อมทัพใหญ่แต่ไม่อาจทำการใดได้ ซุนหลิมประหารชีวิตจูอี้และกลับไปกังตั๋ง แท้จริงแล้วซุนหลิมกำลังจะสร้างแนวร่วมเมื่อส่งกำลังพลมาช่วยเรา การตัดสินใจของซุนหลิมที่จะถอยกลับไปแสดงให้เห็นว่าเขามีท่าทีจะรอและเฝ้าดู บัดนี้ในเมื่อทหารของเรายังมีขวัญกำลังใจสูงและกระหายที่จะออกรบ เราจึงควรมุ่งกำลังทั้งหมดไปที่การตีฝ่าวงล้อมไปทางด้านใดด้านหนึ่ง อย่างน้อยเราก็สามารถนำกำลังพลวางส่วนหลบหนีและเอาตัวรอดไปได้"[38]
บุนขิมไม่เห็นด้วยและบอกจูกัดเอี๋ยนว่า "ทัพกังตั๋งเป็นที่ขึ้นชื่อในเรื่องการได้รับชัยชนะหลายครั้ง ข้าศึกของเราทางเหนือก็หยุดทัพกังตั๋งไม่ได้ ท่านควรนำทหารหมื่นกว่านายเข้าร่วมกับกังตั๋ง จวนตวน ตัวข้า และคนอื่น ๆ จากกังตั๋งก็ติดอยู่กับท่านที่นี่ ครอบครัวของเรายังคงอยู่ในกังตั๋ง แม้ว่าซุนหลิมไม่ต้องการช่วยพวกเรา ท่านคิดหรือว่าองค์จักรพรรดิและพระญาติวงศ์จะทอดทิ้งเรา ในอดีตมีเหตุที่ข้าศึกของเราประสบกับภัยโรคระบาดหลายครั้ง บัดนี้พวกเราติดอยู่ที่นี่มาเกือบปีแล้ว หากเราปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกแตกแยก ก็จะเกิดการก่อกำเริบภายในขึ้น เราควรยืนหยัดต่อไปและมีความหวังว่าความช่วยเหลือจะมาถึงในไม่ช้า"[39]
บุนขิมโกรธมากเมื่อเจียวปั้นและเจียวอี้โน้มน้าวจูกัดเอี๋ยนหลายครั้งให้ปฏิบัติตามแผนของตน ด้านจูกัดเอี๋ยนก็รู้สึกรำคาญเจียวปั้นและเจียวอี้จึงขั้นต้องการจะประหารชีวิตทั้งคู่ เจียวปั้นและเจียวอี้กลัวพวกตนจะถูกสังหารและตระหนักว่าจูกัดเอี๋ยนมีชะตาต้องล้มเหลว ดังนั้นในเดือนธันวาคม ค.ศ. 257 หรือมกราคม ค.ศ. 258 เจียวปั้นและเจียวอี้จึงหนีออกจากฉิวฉุนและยอมจำนนต่อสุมาเจียว[40][41]
ต่อมาสุมาเจียวดำเนินอุบายโน้มน้าวจวนเต๊ก (全懌 เฉวียน อี้) และจวนตวน (全端 เฉวียน ตวาน) ให้ยอมจำนน จวนเต๊กและจวนตวนจึงนำทหารหลายร้อยนายออกจากฉิวฉุนและแปรพักตร์เข้าด้วยฝ่ายสุมาเจียว การแปรพักตร์ของทั้งคู่ยิ่งทำให้ภายในทัพของจูกัดเอี๋ยนเกิดความหวาดกลัวและตื่นตระหนกมากยิ่งขึ้น[42]
การพยายามฝ่าวงล้อม
ในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม ค.ศ. 258 บุนขิมบอกกับจูกัดเอี๋ยนว่า "เจียวปั้นและเจียวอี้จากไปเพราะพวกเราไม่ทำตามความคิดพวกเขาที่ให้โจมตีข้าศึก จวนตวนและจวนเต๊กก็แปรพักตร์เช่นกัน ข้าศึกคงต้องลดการป้องกันลง บัดนี้ถึงเวลาที่จะเข้าโจมตีข้าศึกแล้ว" จูกัดเอี๋ยนเห็นด้วย ตัวจูกัดเอี๋ยนพร้อมด้วยบุนขิมและต๋องจูจึงนำกำลังพลออกโจมตีและพยายามตีฝ่าวงล้อม[43][44]
ความพยายามในการตีฝ่าวงล้อมไม่เป็นผล เพราะทัพวุยก๊กได้สร้างกำแพงและโครงสร้างป้องกันอื่น ๆ ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และอยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบมากกว่า ทหารวุยก๊กทุ่มก้อนหินและยิงเกาทัณฑ์ใส่ทัพจูกัดเอี๋ยน ทหารฝ่ายจูกัดเอี๋ยนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตรงมหลายพันนาย พื้นดินนองไปด้วยเลือด จูกัดเอี๋ยนไม่สามารถตีฝ่าวงล้อมได้จึงล่าถอยกลับเข้าฉิวฉุน ในช่วงเวลานั้นเสบียงในฉิวฉุนก็หมดลง ทหารของจูกัดเอี๋ยนหลายพันนายลอบออกจากฉิวฉุนและยอมจำนนต่อสุมาเจียว[45]
ความล้มเหลวและการเสียชีวิต
ก่อนหน้านี้ บุนขิมต้องการให้จูกัดเอี๋ยนลดการปันส่วนเสบียงอาหารลงและส่งทหารทั้งหมดออกตีฝ่าวงล้อม ส่วนตัวบุนขิมและกำลังทหารจากง่อก๊กจะยังคงอยู่ด้านหลังเพื่อรักษาฉิวฉุน จูกัดเอี๋ยนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งและทะเลาะกับบุนขิมในเรื่องนี้ แม้ว่าในช่วงแรกจูกัดเอี๋ยนและบุนขิมจะร่วมมือกัน แต่ทั้งคู่ก็รู้สีกระแวงและไม่ไว้วางใจกันและกันมากยิ่งขึ้นในขณะที่สถานการณ์ในฉิวฉุนเลวร้ายลง ในที่สุดจูกัดเอี๋ยนก็สั่งประหารชีวินบุนขิม[46]
บุตรชายของบุนขิมคือบุนเอ๋งและบุนเฮา (文虎 เหวิน หู่) ทราบข่าวการเสียชีวิตของบิดาด้วยฝีมือของจูกัดเอี๋ยน ทั้งคู่จึงพยายามหนีออกจากฉิวฉุน หลังจากที่บุนเอ๋งและบุนเฮาโน้มน้าวทหารของพวกตนให้ร่วมติดตามพวกตนไปแต่ไม่สำเร็จ ทั้งคู่จึงหลบหนีไปเพียงลำพังสองคนและยอมจำนนต่อสุมาเจียว เหล่านายทหารแนะนำสุมาเจียวให้ประหารชีวิตทั้งคู่ แต่สุมาเจียวพูดว่า "ความผิดของบุนขิมไม่อาจให้อภัย แม้ว่าบุตรชายของบุนขิมก็ควรถูกประหารชีวิต แต่พวกเขาก็ยอมจำนนต่อเราแล้ว อีกทั้งเมือง (ฉิวฉุน) ก็ยังไม่ถูกยึดคืน การประหารทั้งสองคนนี้ก็มีแต่จะทำให้กบฏยิ่งฮึดสู้มากขึ้น" สุมาสูจึงนิรโทษกรรมให้บุนเอ๋งและบุนเฮา แล้วสั่งทหารม้าหลายร้อยนายให้คุ้มกันทั้งคู่เดินตระเวนรอบฉิวฉุนและประกาศแก่กลุ่มกบฏในฉิวฉุนว่า "เห็นหรือไม่ว่าบุตรชายของบุนขิมได้รับการไว้ชีวิตแล้ว จะมีอะไรต้องกลัวอีกเล่า" จากนั้นสุมาเจียวจึงแต่งตั้งให้บุนเอ๋งและบุนเฮาเป็นนายทหารและให้ทั้งคู่มีบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว)[47]
ในเวลานั้น ทหารส่วนใหญ่ของจูกัดเอี๋ยนหมดกำลังใจที่ต่อสู้หลังติดอยู่ในฉิวฉุนเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีอาหาร จูกัดเอี๋ยน, ต๋องจู และนายทหารที่เหลือในฉิวฉุนก็จนปัญญาเช่นกัน สุมาเจียวมาถึงฉิวฉุนและบัญชาการทัพให้เข้ากระชับวงล้อมและร้องเรียกให้ข้าศึกออกรบ ฝ่ายกบฏไม่ตอบสนอง จากนั้นจูกัดเอี๋ยนพยายามจะตีฝ่าวงล้อมพร้อมด้วยผู้ใต้บังคับบัญชาไม่กี่นาย เฮาหุน (胡奮 หู เฟิ่น) นายทหารใต้บังคับบัญชาของสุมาเจียวนำทหารเข้าโจมตีจูกัดเอี๋ยนและสังหารจูกัดเอี๋ยนได้ ศีรษะที่ถูกตัดของจูกัดเอี๋ยนถูกนำไปวางประจาน และสมาชิกในครอบครัวของจูกัดเอี๋ยนก็ถูกประหารชีวิต จูกัดเอี๋ยนนั้นเคยจ้างทหารรับจ้างหลายร้อยคนไว้เป็นองครักษ์ หลังจูกัดเอี๋ยนเสียชีวิต องครักษ์เหล่านี้ก็ถูกจับกุมและได้รับการเสนอโอกาสให้ยอมสวามิภักดิ์แล้วจะได้รับการไว้ชีวิต แต่ไม่มีทหารรับจ้างคนใดยอมรับข้อเสนอ ทั้งหมดจึงถูกประหารชีวิต ความภักดีขององครักษ์เหล่านี้ต่อจูกัดเอี๋ยนเทียบได้กับความจงรักภักดีของผู้ติดตาม 500 คนของเตียนหอง (田橫 เถียน เหิง)[d] อีจ้วน (于詮 ยฺหวี เฉฺวียน) นายทหารของง่อก๊กกล่าวว่า "ข้าได้รับคำสั่งจากนายให้นำกำลังทหารมาช่วยเหลือผู้อื่น ข้าล้มเหลวในการทำภารกิจและไม่สามารถกระทำการใดเพื่อเอาชนะข้าศึกได้ ข้าไม่อาจทนต่อเรื่องนี้ได้" แล้วอีจ้วนจึงถอดเกราะของตนและบุกเข้าหาข้าศึกแล้วถูกสังหาร[48][49] ต๋องจู, หวาง จั้ว (王祚) และนายทหารง่อก๊กคนอื่นยอมจำนนต่อสุมาเจียว อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ยึดมาได้จากทัพง่อก๊กกองใหญ่เหมือนเนินเขา[50]
ครอบครัว
จูกัดเอี๋ยนมีบุตรชายอย่างน้อย 1 คนและบุตรสาวอย่างน้อย 2 คน
บุตรสาวคนหนึ่งของจูกัดเอี๋ยนสมรสกับหวาง กว่าง (王廣) บุตรชายของหวาง หลิง (王淩) ในคืนวันแต่งงาน หวาง กว่างกล่าวกับนางว่า "เจ้ามีสีหน้าที่คล้ายกับกงซิว (公休; ชื่อรองของจูกัดเอี๋ยน) มาก!" นางตอบว่า "ท่านไม่สามารถเป็นเหมือนเยี่ยน-ยฺหวิน (彥雲; ชื่อรองของหวาง หลิง) จึงเปรียบภรรยาของตนเหมือนผู้กล้า!"[51] นางน่าจะถูกประหารชีวิตพร้อมด้วยครอบครัวตระกูลหวาง (ออง) ที่เหลือหลังการล่มจมของหวาง หลิง
บุตรสาวอีกคนหนึ่งของจูกัดเอี๋ยนสมรสกับสุมาเตี้ยมบุตรชายคนที่ 6 ของสุมาอี้ซึ่งขึ้นเป็นอ๋องในยุคราชวงศ์จิ้น นางเป็นที่รู้จักในพระนาม "จูเก่อไท่เฟย์" (諸葛太妃) หรือ "มหาชายาจูกัด" นางให้กำเนิดโอรสของสุมาเตี้ยม 4 พระองค์ ได้แก่ ซือหม่า จิ้น (司馬覲), ซือหม่า เหยา (司馬繇), ซือหมา ฉุ่ย (司馬漼) และซือหม่า ต้าน (司馬澹)[52] พระโอรสของซือหม่า จิ้นคือซือหม่า รุ่ย (司馬睿) ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิผู้ก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317-420) และจูกัดเอี๋ยนได้รับการนับว่าเป็นบรรพบุรุษของจักรพรรดิทุกพระองค์ของราชวงศ์จิ้นตะวันออก
บุตรชายของจูกัดเอี๋ยนคือจูกัดเจ้ง ถูกส่งไปเป็นตัวประกันในง่อก๊กในปี ค.ศ. 257 เพื่อขอการสนับสนุนจากง่อก๊กในการก่อกบฏของบิดา[33] จูกัดเจ้งยังคงอยู่ในง่อก๊กและรับราชการเป็นเสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า) ในปี ค.ศ. 280 หลังราชวงศ์จิ้นพิชิตง่อก๊ก จูกัดเจ้งไปหลบซ่อนตัวในบ้านของพี่สาวคนหนึ่ง (คนที่สมรสกับสุมาเตี้ยม) สุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) จักรพรรดิแห่งราชวงศ์จิ้นทรงถือว่าจูกัดเจ้งเป็นพระญาติของพระองค์ (สุมาเตี้ยมเป็นพระปิตุลาหรืออาของสุมาเอี๋ยน) และทรงทราบว่าจูกัดเจ้งซ่อนตัวอยู่ในบ้านของพี่สาว จึงเสด็จไปเยี่ยม เมื่อจูกัดเจ้งได้ยินว่าจักรพรรดิเสด็จมาเยี่ยม จึงซ่อนตัวอยู่ในห้องส้วมและปฏิเสธที่จะออกมา จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนทรงยืนกรานจะพบจูกัดเจ้งและตรัสว่า "วันนี้ ในที่สุดเราก็ได้พบกันอีกครั้ง" จูกัดเจ้งทูลตอบทั้งน้ำตาว่า "กระหม่อมเสียใจที่ไม่อาจเอาสีทาตัวและลอกผิวหนังออกจากหน้าได้[e] ก่อนที่กระหม่อมจะได้พบกับฝ่าบาทอีกครั้ง!" จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนแต่งตั้งให้จูกัดเจ้งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) แต่จูกัดเจ้งปฏิเสธการรับตำแหน่ง จากนั้นกลับไปบ้านเกิดและใช้ชีวิตในฐานะสามัญชนในช่วงชีวิตที่เหลือ[53] จูกัดเจ้งมีบุตรชาย 2 คนคือจูเก่อ อี๋ (諸葛頤) และจูเก่อ ฮุย (諸葛恢) จูเก่อ อี๋รับราชการเป็นเสนาบดีพิธีการ (太常 ไท่ฉาง) ในยุคราชวงศ์จิ้นและเป็นที่โปรดปรานของจักรพรรดิจิ้น-ยฺเหวียนตี้[54] จูเก่อ ฮุยรับราชการเป็นหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง)[55] และมีบทประวัติของตนเองในจิ้นชู (เล่มที่ 77)
ในวัฒนธรรมประชานิยม
จูกัดเอี๋ยนปรากฏครั้งแรกในฐานะตัวละครที่เล่นได้ในภาคที่ 7ของซีรีส์วิดีโอเกมไดนาสตีวอริเออร์ของโคเอ
ดูเพิ่ม
หมายเหตุ
- ↑ ชื่อที่ปรากฏในสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 81[1]
- ↑ บทชีวประวัติสุมาเจียวในจิ้นชูระบุว่าจูกัดเอี๋ยนถูกสังหารในวันอี๋โหย่ว (乙酉) ในเดือน 2 ของศักราชกำลอ (甘露 กานลู่) ปีที่ 2 ในรัชสมัยของโจมอ[2] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 258 ในปฏิทินกริกอเรียน
- ↑ "ผู้มีชื่อเสียงเหล่านี้" รวมถึงบุตรชายของข้าราชการที่มีชื่อเสียง เช่น หลิว ซี (劉熈) บุตรชายของเล่าฮอง (劉放 หลิว ฟ่าง), ซุน มี่ (孫密) บุตรชายของซุนจู (孫資 ซุน จู) และเว่ย์ เลี่ย (衞烈) บุตรชายของเว่ย์ เจิน (衞臻)[8]
- ↑ เตียนหอง (田橫 เถียน เหิง; เสียชีวิต 202 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นผู้ปกครองของรัฐเจ๋ (齊 ฉี) ในช่วงสงครามฌ้อ–ฮั่น (206–202 ปีก่อนคริสตกาล) ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างการล่มสลายของราชวงศ์จิ๋น (秦 ฉิน) และการก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น หลังเตียนหองพ่ายแพ้ให้กับเล่าปัง (พระเจ้าฮั่นโกโจ จักรพรรดิก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น) เตียนหองก็ฆ่าตัวตายหลังปฏิเสธที่จะยอมจำนน เตียนหองมีผู้ติดตาม 500 คน และทั้งหมดก็ฆ่าตัวตายตามนายไป
- ↑ จูกัดเจ้งกำลังทูลบอกความรู้สึกอับอายของตนเองขณะได้พบกับจักรพรรดิสุมาเอี๋ยน "เอาสีทาตัว" อ้างอิงจากเรื่องราวของอิเยียง (豫讓 ยฺวี่ ร่าง) ส่วน "ลอกผิวหนังออกจากหน้า" อ้างอิงจากเรื่องราวของเนี่ย เจิ้ง (聶政) ทั้งคู่เป็นมือสังหารที่มีชื่อเสียงในยุควสันตสารท
อ้างอิง
- ↑ ("สุมาสูก็มานะในใจยืนขึ้นจึงว่า ข้าป่วยเพียงนี้มิพอเปนไรจำจะไปเองจึงจะได้การ ก็ให้สุมาเจียวอยู่รักษาเมือง จึงให้จูกัดตุ้นนายทหารเปนแม่ทัพเมืองอิจิ๋วยกไปตีเมืองชิวฉุน ให้อ้าวจุ๋นนายทหารเปนแม่ทัพเมืองเซงจิ๋ว ยกไปสกัดอยู่ตำบลเจี๋ยวซองเปนทางข้าศึกจะกลับไป ให้อองตี๋นายทหารไปตีตำบลติ่นลำ ตัวสุมาสูเปนทัพหลวงขี่รถยกทัพไปตั้งอยู่เมืองซงหยง ขุนนางแลทหารทั้งปวงนั่งพร้อมกันคิดอ่านการซึ่งจะให้มีชัยแก่ข้าศึก") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 2, 2024.
- ↑ [(甘露三年)二月乙酉,...,斩诞.] จิ้นชู เล่มที่ 2
- ↑ (諸葛誕字公休,琅邪陽都人,諸葛豐後也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (吳書曰:初,瑾為大將軍,而弟亮為蜀丞相, ... 族弟誕又顯名於魏,一門三方為冠蓋,天下榮之。) อรรถาธิบายจากอู๋ชูในสามก๊กจี่ เล่มที่ 52.
- ↑ (魏氏春秋曰:誕為郎,與僕射杜畿試船陶河,遭風覆沒,誕亦俱溺。虎賁浮河救誕,誕曰:「先救杜侯。」誕飄于岸,絕而後蘇。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชื่อชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (初以尚書郎為滎陽令, ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (... 入為吏部郎。人有所屬託,輙顯其言而承用之,後有當否,則公議其得失以為襃貶,自是群僚莫不慎其所舉。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (世語曰:是時,當世俊士散騎常侍夏侯玄、尚書諸葛誕、鄧颺之徒,共相題表,以玄、疇四人為四聡,誕、備八人為八達,中書監劉放子熈、孫資子密、吏部尚書衞臻子烈三人,咸不及比,以父居勢位,容之為三豫,凡十五人。帝以構長浮華,皆免官廢錮。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (累遷御史中丞尚書,與夏侯玄、鄧颺等相善,收名朝廷,京都翕然。言事者以誕、颺等脩浮華,合虛譽,漸不可長。明帝惡之,免誕官。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (會帝崩,正始初,玄等並在職。復以誕為御史中丞尚書,出為揚州刺史,加昭武將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (王淩之陰謀也,太傅司馬宣王潛軍東伐,以誕為鎮東將軍、假節都督揚州諸軍事,封山陽亭侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (詔以揚州刺史諸葛誕為鎮東將軍,都督揚州諸軍事。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
- ↑ (八月,戊寅,舞陽宣文侯司馬懿卒。詔以其子衞將軍師為撫軍大將軍,錄尚書事。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
- ↑ (鎮東將軍諸葛誕言於大將軍師曰:「今因吳內侵,使文舒逼江陵,仲恭向武昌,以羈吳之上流;然後簡精卒攻其兩城,比救至,可大獲也。」) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
- ↑ (十一月,詔王昶等三道擊吳。十二月,王昶攻南郡,毌丘儉向武昌,胡遵、諸葛誕率衆七萬攻東興。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
- ↑ (甲寅,吳太傅恪將兵四萬,晨夜兼行,救東興。 ...) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 75.
- ↑ (諸葛恪興東關,遣誕督諸軍討之,與戰,不利。還,徙為鎮南將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (春,正月,儉、欽矯太后詔,起兵於壽春, ... 儉又遣使邀鎮南將軍諸葛誕,誕斬其使。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
- ↑ (初,揚州刺史文欽,驍果絕人,曹爽以鄉里故愛之。欽恃爽勢,多所陵傲。及爽誅,又好增虜級以邀功賞,司馬師常抑之,由是怨望。鎮東將軍毌丘儉素與夏侯玄、李豐善,玄等死,儉亦不自安,乃以計厚待欽。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 76.
- ↑ (後毌丘儉、文欽反,遣使詣誕,招呼豫州士民。誕斬其使,露布天下,令知儉、欽凶逆。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (大將軍司馬景王東征,使誕督豫州諸軍,渡安風津向壽春。儉、欽之破也,誕先至壽春。壽春中十餘萬口,聞儉、欽敗,恐誅,悉破城門出,流迸山澤,或散走入吴。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (以誕乆在淮南,乃復以為鎮東大將軍、儀同三司、都督揚州。吴大將孫峻、呂據、留贊等聞淮南亂,會文欽往,乃帥衆將欽徑至壽春;時誕諸軍已至,城不可攻,乃走。誕遣將軍蔣班追擊之,斬贊,傳首,收其印節。進封高平侯,邑三千五百戶,轉為征東大將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (誕旣與玄、颺等至親,又王淩、毌丘儉累見夷滅,懼不自安,傾帑藏振施以結衆心,厚養親附及揚州輕俠者數千人為死士。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (魏書曰:誕賞賜過度。有犯死罪者,虧制以活之。) อรรถาธิบายจากเว่ย์ชูในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (甘露元年冬,吴賊欲向徐堨,計誕所督兵馬足以待之,而復請十萬衆守壽春,又求臨淮築城以備寇,內欲保有淮南。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (魏末傳曰:賈充與誕相見,談說時事,因謂誕曰:「洛中諸賢,皆願禪代,君所知也。君以為云何?」誕厲色曰:「卿非賈豫州子?世受魏恩,如何負國,欲以魏室輸人乎?非吾所忍聞。若洛中有難,吾當死之。」充默然。) อรรถาธิบาจากยเว่ย์มั่วจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (世語曰:司馬文王旣秉朝政,長史賈充以為宜遣參佐慰勞四征,於是遣充至壽春。充還啟文王:「誕再在揚州,有威名,民望所歸。今徵,必不來,禍小事淺;不徵,事遲禍大。」乃以為司空。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (朝廷微知誕有自疑心,以誕舊臣,欲入度之。二年五月,徵為司空。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (書至,誕曰:「我作公當在王文舒後,今便為司空!不遣使者,健步齎書,使以兵付樂綝,此必綝所為。」乃將左右數百人至揚州,揚州人欲閉門,誕叱曰:「卿非我故吏邪!」徑入,綝逃上樓,就斬之。) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (誕旣被徵,請諸牙門置酒飲宴,呼牙門從兵,皆賜酒令醉,謂衆人曰:「前作千人鎧仗始成,欲以擊賊,今當還洛,不復得用,欲蹔出,將見人游戲,須臾還耳;諸君且止。」乃嚴鼓將士七百人出。樂綝聞之,閉州門。誕歷南門宣言曰:「當還洛邑,暫出游戲,揚州何為閉門見備?」前至東門,東門復閉,乃使兵緣城攻門,州人悉走,因風放火,焚其府庫,遂殺綝。誕表曰:「臣受國重任,統兵在東。揚州刺史樂綝專詐,說臣與吳交通,又言被詔當代臣位,無狀日乆。臣奉國命,以死自立,終無異端。忿綝不忠,輙將步騎七百人,以今月六日討綝,即日斬首,函頭驛馬傳送。若聖朝明臣,臣即魏臣;不明臣,臣即吳臣。不勝發憤有日,謹拜表陳愚,悲感泣血,哽咽斷絕,不知所如,乞朝廷察臣至誠。」臣松之以為魏末傳所言,率皆鄙陋。疑誕表言曲,不至於此也。) อรรถาธิบายจากเว่ย์มั่วจฺว้านในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (誕被詔書,愈恐,遂反。召會諸將,自出攻揚州刺史樂綝,殺之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (斂淮南及淮北郡縣屯田口十餘萬官兵,揚州新附勝兵者四五萬人,聚穀足一年食,閉城自守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ 33.0 33.1 (遣長史吴綱將小子靚至吴請救。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (吴人大喜,遣將全懌、全端、唐咨、王祚等,率三萬衆,密與文欽俱來應誕。以誕為左都護、假節、大司徒、驃騎將軍、青州牧、壽春侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (是時鎮南將軍王基始至,督諸軍圍壽春,未合。咨、欽等從城東北,因山乘險,得將其衆突入城。) 'สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (六月,車駕東征,至項。大將軍司馬文王督中外諸軍二十六萬衆,臨淮討之。大將軍屯丘頭。使基及安東將軍陳騫等四靣合圍,表裏再重,壍壘甚峻。又使監軍石苞、兖州刺史州泰等,簡銳卒為游軍,備外寇。欽等數出犯圍,逆擊走之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (吴將朱異再以大衆來迎誕等,渡黎漿水,泰等逆與戰,每摧其鋒。孫綝以異戰不進,怒而殺之。) 'สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (漢晉春秋曰:蔣班、焦彝言於諸葛誕曰:「朱異等以大衆來而不能進,孫綝殺異而歸江東,外以發兵為名,而內實坐須成敗,其歸可見矣。今宜及衆心尚固,士卒思用,并力決死,攻其一靣,雖不能盡克,猶可有全者。」) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (文欽曰:「江東乘戰勝之威乆矣,未有難北方者也。況公今舉十餘萬之衆內附,而欽與全端等皆同居死地,父兄子弟盡在江表,就孫綝不欲,主上及其親戚豈肯聽乎?且中國無歲無事,軍民並疾,今守我一年,勢力已困,異圖生心,變故將起,以往準今,可計日而望也。」) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (班、彝固勸之,欽怒,而誕欲殺班。二人懼,且知誕之必敗也,十一月,乃相攜而降。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (城中食轉少,外救不至,衆無所恃。將軍蔣班、焦彝,皆誕爪牙計事者也,棄誕,踰城自歸大將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (大將軍乃使反間,以奇變說全懌等,懌等率衆數千人開門來出。城中震懼,不知所為。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (三年正月,誕、欽、咨等大為攻具,晝夜五六日攻南圍,欲決圍而出。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (漢晉春秋曰:文欽曰:「蔣班、焦彝謂我不能出而走,全端、全懌又率衆逆降,此敵無備之時也,可以戰矣。」誕及唐咨等皆以為然,遂共悉衆出攻。) อรรถาธิบายจากฮั่นจิ้นชุนชิวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (圍上諸軍,臨高以發石車火箭逆燒破其攻具,弩矢及石雨下,死傷者蔽地,血流盈壍。復還入城,城內食轉竭,降出者數萬口。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (欽欲盡出北方人,省食,與吴人堅守,誕不聽,由是爭恨。欽素與誕有隙,徒以計合,事急愈相疑。欽見誕計事,誕遂殺欽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (欽子鴦及虎將兵在小城中,聞欽死,勒兵馳赴之,衆不為用。鴦、虎單走,踰城出,自歸大將軍。軍吏請誅之,大將軍令曰:「欽之罪不容誅,其子固應當戮,然鴦、虎以窮歸命,且城未拔,殺之是堅其心也。」乃赦鴦、虎,使將兵數百騎馳巡城,呼語城內云:「文欽之子猶不見殺,其餘何懼?」表鴦、虎為將軍,各賜爵關內侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (城內喜且擾,又日飢困,誕、咨等智力窮。大將軍乃自臨圍,四靣進兵,同時鼓譟登城,城內無敢動者。誕窘急,單乘馬,將其麾下突小城門出。大將軍司馬胡奮部兵逆擊,斬誕,傳首,夷三族。誕麾下數百人,坐不降見斬,皆曰:「為諸葛公死,不恨。」其得人心如此。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (干寶晉紀曰:數百人拱手為列,每斬一人,輙降之,竟不變,至盡,時人比之田橫。吳將于詮曰:「大丈夫受命其主,以兵救人,旣不能克,又束手於敵,吾弗取也。」乃免冑冒陣而死。) อรรถาธิบายจากจิ้นจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (唐咨、王祚及諸裨將皆靣縛降,吴兵萬衆,器仗軍實山積。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
- ↑ (王公淵娶諸葛誕女。入室,言語始交,王謂婦曰:「新婦神色卑下,殊不似公休!」婦曰:「大丈夫不能彷彿彥雲,而令婦人比蹤英傑!」) ชื่อ-ยฺหวี่ เล่มที่ 19.
- ↑ (子恭王覲立。又封次子澹為武陵王,繇為東安王,漼為淮陵王。覲字思祖, ... 武陵莊王澹字思弘。 ... 東安王繇字思玄。 ... 東夷校尉文俶父欽為繇外祖諸葛誕所殺, ... 淮陵元王漼字思沖。) จิ้นชู เล่มที่ 38.
- ↑ (諸葛恢,字道明,琅邪陽都人也。祖誕,魏司空,為文帝所誅。父靚,奔吳,為大司馬。吳平,逃竄不出。武帝與靚有舊,靚姊又為琅邪王妃,帝知靚在姊間,因就見焉。靚逃於廁,帝又逼見之,謂曰:「不謂今日復得相見。」靚流涕曰:「不能漆身皮面,復睹聖顏!」詔以為侍中,固辭不拜,歸於鄉里,終身不向朝廷而坐。) จิ้นชู เล่มที่ 77.
- ↑ (恢兄頤,字道回,亦為元帝所器重,終於太常。) จิ้นชู เล่มที่ 77.
- ↑ (誕子靚,字仲思,吳平還晉。靚子恢,字道明,位至尚書令,追贈左光祿大夫開府。) อรรถาธิบายจากจิ้นจี้ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 28.
บรรณานุกรม
|
---|
จักรพรรดิ | |
---|
จักรพรรดินี | |
---|
เจ้าชายและราชนิกูลชาย | |
---|
เจ้าหญิงและราชนิกูลหญิง | |
---|
ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน | |
---|
ข้าราชการฝ่ายพลเรือน | |
---|
ข้าราชการฝ่ายทหาร | |
---|
สตรีที่มีชื่อเสียง | |
---|
บุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ | |
---|