ตันเกี๋ยน

ตันเกี๋ยน (เฉิน เชียน)
陳騫
ราชครู (太傅 ไท่ฟู่)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – 22 ธันวาคม ค.ศ. 281 หรือ ค.ศ. 292
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
มหาองครักษ์ (太保 ไท่เป่า)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – 22 ธันวาคม ค.ศ. 281 หรือ ค.ศ. 292
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
เสนาบดีกลาโหม (大司馬 ต้าซือหม่า)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 276 (276) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
เสนาบดีกลาโหม (太尉 ไท่เว่ย์)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 274 (274) – ค.ศ. 276 (276)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 274 (274)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
ขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 274 (274)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
ขุนพลทหารม้าและรถรบ
(車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน)
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 266 (266) – ค.ศ. ? (?)
กษัตริย์สุมาเอี๋ยน
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 201 หรือ ค.ศ. 212
นครเทียนฉาง มณฑลอานฮุย
เสียชีวิต22 ธันวาคม ค.ศ. 281[a] หรือ ค.ศ. 292[b]
บุตรเฉิน ยฺหวี
บุพการี
อาชีพขุนพล, ขุนนาง
ชื่อรองซิวเยฺวียน (休淵)
สมัญญานามอู่ (武)
บรรดาศักดิ์เกาผิงกง (高平公)

ตันเกี๋ยน[1] หรือ ตังเขียน[2][3][4] (ค.ศ. 201 - 22 ธันวาคม ค.ศ. 281[a]; บางแหล่งระบุเป็น ค.ศ. 212 - 292[b]) มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า เฉิน เชียน (จีน: 陳騫; พินอิน: Chén Qiān) ชื่อรอง ซิวเยฺวียน (จีน: 休淵; พินอิน: Xiūyuān) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊กของจีน ภายหลังเป็นขุนพลและขุนนางของราชวงศ์จิ้นตะวันตก

ประวัติช่วงต้น

ตันเกี๋ยนเป็นชาวอำเภอตงหยาง (東陽縣 ตงหยางเซี่ยน) เมืองหลินหฺวาย (臨淮郡 หลินหฺวายจฺวิ้น) ซึ่งปัจจุบันคือนครเทียนฉาง มณฑลอานฮุย[8] บิดาของตันเกี๋ยนคือตันเกียว (陳矯 เฉิน เจี่ยว) เสนาบดีมหาดไทย (司徒 ซือถู) ของรัฐวุยก๊กในยุคสามก๊ก เดิมตันเกียวเกิดในตระกูลเล่า (劉 หลิว) แห่งเมืองกองเหลง (廣陵 กว่างหลิง) ต่อมาตระกูลตัน (陳 เฉิน) ซึ่งเป็นตระกูลของมารดารับไปเลี้ยงดู จึงเปลี่ยนชื่อสกุลจาก "เล่า" เป็น "ตัน"[9]

ตันเกี๋ยนเป็นคนเรียบง่ายแต่มั่นคงตั้งแต่วัยเด็กและมีไหวพริบดี ชื่อ-ยฺหวี่ (世語) ของกัว ปาน (郭颁) มีบันทึกว่าในช่วงที่ตันเกียวบิดาของตันเกี๋ยนดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักราชเลขาธิการ (尚書令 ช่างชูลิ่ง) ของวุยก๊ก ครั้งหนึ่งตันเกียวรู้สึกกังวลเพราะเล่าหัวใส่ร้าย ในเวลานั้นตันเกียวบอกกับบุตรชายสองคนให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เฉิน เปิ่น (陳本) บุตรชายคนโตไม่สามารถเสนอความคิดใด ๆ ได้ แต่ตันเกี๋ยนบุตรชายคนรองพูดกับบิดาว่า "ฝ่าบาททรงเป็นเจ้าแผ่นดินผู้มีสติปัญญาแจ่มแจ้ง และท่านพ่อก็เป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ผู้รับพระบัญชา แม้เจ้าแผ่นดินและเสนาบดีมีความไม่ลงรอยใด ๆ แต่ความเสียหายใหญ่สุดของท่านก็เป็นเพียงการไม่อาจขึ้นถึงตำแหน่งระดับซันกง (三公) เท่านั้นเอง" ผลปรากฏว่าแม้มีคำว่าร้ายของเล่าหัว แต่จักรพรรดิโจยอยก็ไม่ได้ทรงดำเนินใด ๆ กับตันเกียวจริง ๆ[10][11] นอกจากนี้ ครั้งหนึงตันเกี๋ยนในวัยเยาว์ถูกแฮเฮาเหียนดูถูก แต่ตันเกี๋ยนไม่ใส่ใจในเรื่องนี้เลย กลับทำให้แฮเฮาเหียนรู้สึกแปลกใจและเริ่มชื่นชมตันเกี๋ยน[12] จะเห็นได้ว่าตันเกี๋ยนมองเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างกระจ่างแจ้งตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ และรู้วิธีการจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

การรับราชการกับวุยก๊ก

ต่อมาตันเกี๋ยนเข้ารับราชการในตำแหน่งเจ้าหน้าที่สำนักราชเลขาธิการ (尚書郎 ช่างชูหลาง) ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว) ของเมืองจงชาน (中山郡 จงชานจฺวิ้น) และเจ้าเมืองของเมืองอันเป๋ง (安平郡 อานผิงจฺวิ้น) ตามลำดับ ตันเกี๋ยนปกครองอย่างมีธรรมมาภิบาลทำให้ตันเกี๋ยนมีชื่อเสียงขึ้น[13] ภายหลังย้ายไปมีตำแหน่งนายกองพันของอัครมหาเสนาบดี (相國司馬 เซียงกั๋วซือหม่า), หัวหน้าเสมียน (長史 จ๋างฉื่อ) และผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ (御史中丞 ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง) แล้วเลื่อนขึ้นเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู) กับได้รับบรรดาศักดิ์อานกั๋วถิงโหว (安國亭侯)[14] ในช่วงเวลานั้นทัพของรัฐจ๊กก๊กที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กยกพลมาทางหล่งโย่ว (隴右) หลายครั้ง ตันเกี๋ยนเข้ารักษาตำแหน่งขุนพลโจมตีจ๊ก (征蜀將軍 เจิงฉู่เจียงจฺวิ้น) เอาชนะทัพจ๊กก๊กได้และยกกลับมา[15]

ในปี ค.ศ. 257 จูกัดเอี๋ยนขุนพลวุยก๊กก่อกบฏที่อำเภอฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน; ปัจจุบันคืออำเภอโช่ว นครลู่อาน มณฑลอานฮุย) เพื่อต่อต้านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาเจียว ตันเกี๋ยนได้รับการตั้งให้รักษาการขุนพลสงบตะวันออก (安東將軍 อานตงเจียงจฺวิน) และเข้าร่วมในการปราบกบฏ[16]

ในปี ค.ศ. 258 หลังสุมาเจียวปราบกบฏจูกัดเอี๋ยนได้สำเร็จ สุมาเจียวมอบอาญาสิทธิ์ในตันเกี๋ยนในการกำกับดูแลราชการทหารทั้งหมดในภูมิภาคหฺวายเป่ย์ (淮北) ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำห้วย (淮河 หฺวายเหอ) และแต่งตั้งให้ตันเกี๋ยนเป็นขุนพลสงบตะวันออกอย่างเป็นทางการ กับให้มีบรรดาศักดิ์เป็นเฮาแห่งกองเหลง (廣陵侯 กว่างหลิงโหว)[17]

ในปี ค.ศ. 259 ตันเกี๋ยนย้ายไปดูแลราชการทหารทั้งหมดในมณฑลอิจิ๋วและได้รับการตั้งให้เป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ) ของมณฑลอิจิ๋ว[18] ภายหลังได้ย้ายไปดูแลราชการทหารในกังหนำ (江南 เจียงหนาน) และเกงจิ๋ว ได้เลื่อนยศเป็นเป็นมหาขุนพลโจมตีภาคใต้ (征南大將軍 เจิงหนานต้าเจียงจฺวิน) และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นถานโหว (郯侯)[19]

ในปี ค.ศ. 265 สุมาเจียวเสียชีวิต สุมาเอี๋ยนบุตรชายสืบทอดฐานันดรศักดิ์จีนอ๋อง (晉王 จิ้นหวาง) ตันเกี๋ยนและขุนพลโจเป๋า (石苞 ฉือ เปา่) ทูลโจฮวนจักรพรรดิแห่งวุยก๊กหลายครั้งว่ารัฐวุยก๊กถึงคราวสิ้นสุดแล้ว โน้มน้าวพระองค์ให้คล้อยตามลิขิตฟ้าและสละราชบัลลังก์[20]

การรับราชการกับราชวงศ์จิ้น

ในปี ค.ศ. 266 จักรพรรดิโจฮวนสละราชบัลลังก์ให้สุมาเอี๋ยน สุมาเอี๋ยนขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิและก่อตั้งราชวงศ์จิ้นตะวันตก ตันเกี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลทหารม้าและรถรบ (車騎將軍 เชอฉีเจียงจฺวิน) และมีบรรดาศักดิ์เป็นเกาผิงจฺวิ้นกง (高平郡公) ต่อมาตันเกี๋ยนได้รับตำแหน่งเป็นขุนนางมหาดเล็ก (侍中 ชื่อจง) และมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน) ขึ้นมากำกับดูแลราชการทหารทั้งหมดของมณฑลยังจิ๋ว ได้รับพระราชทานขวานเหลืองอาญาสิทธิ์[21]

ในปี ค.ศ. 274 ตันเกี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหมในชื่อตำแหน่งทายอุ้ย (太尉 ไท่เว่ย์)[22]

ในปี ค.ศ. 276 ตันเกี๋ยนได้รับการแต่งตั้งเป็นเสนาบดีกลาโหมในชื่อตำแหน่งต้ายสุม้า (大司馬 ต้าซือหม่า)[23]

ครั้งหนึ่งตันเกี๋ยนเข้าไปในราชสำนักและทูลจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนว่า "เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย) และคันห่อง (牽弘 เชียน หง) สองคนนี้ต่างก็เป็นนายทหารที่กล้าหาญแต่ไร้แผนการ หัวแข็งและเอาแต่ใจ ไม่ฟังคำผู้ใด ไม่เหมาะที่จะดูแลชายแดน หากไม่หาขุนพลที่ดีกว่ามาแทนที่ย่อมสร้างความอับอายให้ราชวงศ์ หวังว่าฝ่าบาทจะทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ" ในเวลานั้นคันห่องดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลของมณฑลยังจิ๋ว และครั้งหนึ่งคันห่องเคยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของตันเกี๋ยนที่เป็นผู้บังคับบัญชา สุมาเอี๋ยนจึงทรงเห็นว่าคำทูลของตันเกี๋ยนมาจากเพียงเพราะความไม่ลงรอยกันระหว่างตันเกี๋ยนและคันห่อง เพื่อจะทรงแสดงความให้เกียรติต่อตันเกี๋ยน สุมาเอี๋ยนจึงทรงมีรับสั่งให้เรียกคันห่องมาที่ราชสำนัก แต่คันห่องได้รับการแต่งตั้งให้เป็รข้าหลวงมณฑลเลียงจิ๋ว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่ได้ใส่พระทัยต่อคำทูลของตันเกี๋ยน หลังจากตันเกี๋ยนทราบเรื่องการตัดสินพระทัยของสุมาเอี๋ยนก็ถอนหายใจ โดยเห็นว่าการตัดสินพระทัยครั้งนี้จะจบลงด้วยความล้มเหลวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลปรากฏว่าในช่วงที่เฮาเหลกและคันห่องป้องกันชายแดนได้เกิดความขัดแย้งกับชนเผ่าต่างชาติ ทั้งสองเสียชีวิตในที่รบ ในที่สุดความวุ่นวายเหล่านี้ก็คลี่คลายหลังการใช้กำลังปราบปรามเป็นเวลาหลายปี ในภายหลังจักรพรรดิสุมาเอี๋ยนก็ทรงโทมนัสกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[24]

ในช่วงบั้นปลายชีวิตของตันเกี๋ยน ตันเกี๋ยนที่ขึ้นมามีตำแหน่งขุนนางสูงสุดเริ่มคิดเรื่องการเกษียณตนเอง ในปี ค.ศ. 277 ตันเกี๋ยนขอมารับราชการเป็นขุนนางในราชสำนัก ไม่ต้องการจะปฏิบัติหน้าที่ในส่วนภูมิภาคอีกต่อไป ตันเกี๋ยนกลับมาที่ราชสำนักในตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม ต่อมาตันเกี๋ยนขอลาออกจากตำแหน่งหลายครั้งโดยอ้างเหตุผลเรื่องอาการป่วย จักรพรรดิสุมาเอี๋ยนออกพระราชโองการว่าแผ่นดินต้องการให้ตันเกี๋ยนอยู่ในตำแหน่งให้ดูแลราชกิจและปฏิเสธที่จะให้ตันเกี๋ยนลาออก ตันเกี๋ยนกลับไปบ้านอย่างไม่พอใจ สุมาเอี๋ยนส่งขุนนางมหาดเล็กให้ไปเชิญตันเกี๋ยนกลับไปสำนักของเสนาบดีกลาโหม ตันเกี๋ยนก็ยังคงทูลขอลาออกอีกหลายครั้ง ในที่สุดสุมาเอี๋ยนจึงทรงยอมให้ตันเกี๋ยนออกจากตำแหน่งเสนาบดีกลาโหม แล้วตั้งให้มีตำแหน่งกิตติมศักดิ์เป็นมหาองครักษ์ (太保 ไท่เป่า) และราชครู (太傅 ไท่ฟู่) รวมถึงพระราชทานไม้เท้าพิธีการ ตั้งให้มีบรรดาศักดิ์เป็นเกาผิงกง (高平公) ไม่จำเป็นต้องมาเข้าเฝ้าที่ราชสำนัก และได้รับการส่งกลับไปบ้านด้วยรถเทียมม้า 4 ตัว สุมาเอี๋ยนทรงให้ความเคารพตันเกี๋ยนอย่างสูงและปฏิบัติต่อตันเกี๋ยนด้วยความสุภาพยิ่ง เนื่องด้วยตันเกี๋ยนเป็นนายทหารผ่านศึกอาวุโส[25]

เสียชีวิต

ตันเกี๋ยนเสียชีวิตวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 281[a] (บางแหล่งข้อมูลระบุว่าเสียชีวิตในปี ค.ศ. 292[b]) ขณะอายุ 81 ปี ราชสำนักแต่งตั้งย้อนหลังให้เป็นราชครู (太傅 ไท่ฟู่) ตั้งสมัญญานามว่า "อู่" (武)[26] เฉิน ยฺหวี(陳輿) บุตรชายของตันเกี๋ยนได้สืบทอดบรรดาศักดิ์[27]

ดูเพิ่ม

หมายเหตุ

  1. 1.0 1.1 1.2 บทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ในจิ้นชูระบุว่าตันเกี๋ยนเสียชีวิตในวันเหรินอิ๋น (壬寅) ในเดือน 11 ของศักราชไท่คาง (太康) ปีที่ 2 ในรัชสมัยของสุมาเอี๋ยน[5] วันที่นี้เทียบได้กับวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 281 ในปฏิทินกริกอเรียน
  2. 2.0 2.1 2.2 บทชีวประวัติของตันเกี๋ยนในจิ้นชูระบุว่าตันเกี๋ยนเสียชีวิตในศักราชยฺเหวียนคาง (元康) ปีที่ 2 (ค.ศ. 292)[6] ส่วนบทพระราชประวัติสุมาเอี๋ยน (จักรพรรดิจิ้นอู่ตี้) ในจิ้นชู และในจือจื้อทงเจี้ยนระบุว่าตันเกี๋ยนเสียชีวิตในศักราชไท่คาง (太康) ปีที่ 2 (ค.ศ. 281)[5][7]

อ้างอิง

  1. ("ฝ่ายทหารเมืองวุยก๊กไม่มีรับสั่งให้ตีสกัดไว้ ก็ปล่อยกองทัพเมืองกังตั๋งเข้าไปในเมือง จึงเอาเนื้อความไปแจ้งแก่สุมาเจียว ๆ รู้แล้วจึงว่ากองทัพกังตั๋งแบ่งกันเข้าไปช่วยรักษาเมืองไว้ จูอี้ก็จะยกเข้าตีเรา สมคะเนที่เราคิดไว้ จึงให้หาอองกี๋ตันเกี๋ยนนายทหารสองคนมาสั่งว่า ท่านยกทหารไปซุ่มที่ทางกองทัพจูอี้จะยกมา ถ้าเขาคล้อยเข้ามาหน่อยหนึ่งแล้วจึงให้ทหารโห่ร้องไล่ฆ่าฟันตามหลังเข้ามา อองกี๋ตันเกี๋ยนก็พาทหารไปซุ่มอยู่ตามสั่ง") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 14, 2024.
  2. ("พระเจ้าโจมอขัดมิได้ก็รับว่าจะไป จึงมีตรารับสั่งให้เกณฑ์กองทัพในเมืองหลวงทั้งสองเมืองได้ยี่สิบหกหมื่น ตั้งอองกี๋เปนทัพหน้า ตังเขียนเปนปลัดทัพหน้า โจเป๋าเปนปีกขวา จิวท่ายเจ้าเมืองกุนจิ๋วเปนปีกซ้าย") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 14, 2024.
  3. ("สุมาเจียวเห็นชอบด้วย ก็สั่งให้โจเป๋าจิวท่ายคุมทหารเปนสองกองไปซุ่มอยู่ต้นทางเมืองโจเทาเสีย ให้อองกี๋กับตังเขียนคุมทหารไปซุ่มอยู่ปลายทางนั้น") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 14, 2024.
  4. ("จูกัดเอี๋ยนตกใจกลัวถอยทัพ ก็เห็นอองกี๋กับตังเขียนคุมทหารตีกระนาบเข้ามา") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒". วัชรญาณ. สืบค้นเมื่อ August 14, 2024.
  5. 5.0 5.1 [(太康)二年......十一月壬寅,大司馬陳騫薨。] จิ้นชู เล่มที่ 3
  6. (元康二年薨,年八十一) จิ้นชู เล่มที่ 35
  7. (十一月,壬寅,髙平武公陳騫薨。) จือจื้อทงเจี้ยน เล่มที่ 81
  8. (陳騫,臨淮東陽人也。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  9. (父矯,魏司徒。矯本廣陵劉氏,為外祖陳氏所養,因而改焉。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  10. (劉曄以先進見幸,因譖矯專權。矯懼,以問長子本,本不知所出。次子騫曰:「主上明聖,大人大臣,今若不合,不過不作公耳。」) อรรถาธิบายจากชื่อ-ยฺหวี่ในสามก๊กจี่ เล่มที่ 22.
  11. (初,矯為尚書令,侍中劉曄見幸于魏明帝,譖矯專權。矯憂懼,以問騫。騫曰:「主上明聖,大人大臣,今若不合意,不過不作公耳。」後帝意果釋) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  12. (騫尚少,為夏侯玄所侮,意色自若,玄以此異之。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  13. (起家尚書郎,遷中山、安平太守,並著稱績。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  14. (徵為相國司馬、長史、禦吏中丞,遷尚書,封安國亭侯。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  15. (蜀賊寇隴右,以尚書持節行征蜀將軍,破賊而還。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  16. (會諸葛誕之亂,復以尚書行安東將軍。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  17. (壽春平,拜使持節、都督淮北諸軍事、安東將軍,進爵廣陵侯。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  18. (轉都督豫州諸軍事、豫州刺史,持節、將軍如故。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  19. (又轉都督江南諸軍事,徙都督荊州諸軍事、征南大將軍,封郯侯。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  20. ((石苞)後每與陳騫諷魏帝以歷數已終,天命有在。) จิ้นชู เล่มที่ 33.
  21. (武帝受禪,以佐命之勳,進車騎將軍,封高平郡公,遷侍中、大將軍,出為都督揚州諸軍事,餘如故,假黃鉞。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  22. ((泰始十年)九月癸亥,以大將軍陳騫為太尉。) จิ้นชู เล่มที่ 3.
  23. ((咸寧二年八月)己亥,以太保何曾為太傅,太尉陳騫為大司馬) จิ้นชู เล่มที่ 3.
  24. (騫因入朝,言於帝曰:「胡烈、牽弘皆勇而無謀,強于自用,非綏邊之材,將為國恥。願陛下詳之。」時弘為揚州刺史,不承順騫命。帝以為不協相構,於是征弘,既至,尋復以為涼州刺史。騫竊歎息,以為必敗。二人後果失羌戎之和,皆被寇喪沒,征討連歲,僅而得定,帝乃悔之。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  25. (既位極人臣,年逾致仕,思欲退身。咸寧三年,求入朝,因乞骸骨。賜袞冕之服,詔曰:「騫元勳舊德,統乂東夏,方弘遠績,以一吳會,而所苦未除,每表懇切,重勞以方事。今聽留京城,以前太尉府為大司馬府,增置祭酒二人,帳下司馬、官騎、大車、鼓吹皆如前,親兵百人,廚田十頃,廚園五十畝,廚士十人,器物經用皆留給焉。又給乘輿輦,出入殿中加鼓吹,如漢蕭何故事。」騫累稱疾辭位,詔曰:「騫履德論道,朕所諮詢。方賴謀猷,以弘庶績,宜時視事。可遣散騎常侍諭意。」騫輒歸第,詔又遣侍中敦諭還府。遂固請,許之,位同保傅,在三司之上,賜以几杖,不朝,安車駟馬,以高平公還第。帝以其勳舊耆老,禮之甚重。又以騫有疾,聽乘輿上殿。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  26. (元康二年薨,年八十一,加以袞斂,贈太傅,諡曰武。) จิ้นชู เล่มที่ 35.
  27. (子輿嗣爵。) จิ้นชู เล่มที่ 35.

บรรณานุกรม

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!