ขุนพลของรัฐวุยก๊ก (ค.ศ. 190-261)
อองกี๋ (หวาง จี)
王基 ศิลาป้ายสุสานอองกี๋
ขุนพลโจมตีภาคใต้ (征南將軍 เจิงหนานเจียงจฺวิน ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 259 (259 ) – ค.ศ. 261 (261 ) กษัตริย์ โจมอ / โจฮวน ขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東將軍 เจิงตงเจียงจฺวิน ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 258 (258 ) – ค.ศ. 259 (259 ) กษัตริย์ โจมอ ขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน ) (รักษาการ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 257 (257 ) – ค.ศ. 258 (258 ) กษัตริย์ โจมอ ข้าหลวงมณฑลอิจิ๋ว (豫州刺史 ยฺวี่โจวชื่อฉื่อ ) (รักษาการ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 255 (255 ) – ค.ศ. 257 (257 ) กษัตริย์ โจมอ ขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 255 (255 ) – ค.ศ. 257 (257 ) กษัตริย์ โจมอ ขุนพลเชิดชูความดุดัน (揚烈將軍 หยางเลี่ยเจียงจฺวิน ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 250 (250 ) – ค.ศ. 255 (255 ) กษัตริย์ โจฮอง ข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว (荊州刺史 จิงโจวชื่อฉื่อ ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 250 (250 ) – ค.ศ. 255 (255 ) กษัตริย์ โจฮอง ขุนพลโจมตีกบฏ (討寇將軍 เถ่าโค่วเจียงจฺวิน ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? (? ) – ค.ศ. 249 (249 ) กษัตริย์ โจฮอง เจ้าเมืองตันฉอง[ a] (安豐太守 อานเฟิงเจียงจฺวิน ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? (? ) – ค.ศ. 249 (249 ) กษัตริย์ โจฮอง เจ้าเมืองอันเป๋ง (安平太守 อานผิงเจียงจฺวิน ) ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. ? (? ) – ค.ศ. ? (? ) กษัตริย์ โจยอย
ข้อมูลส่วนบุคคล เกิด ค.ศ. 190[ b] นครเจา-ยฺเหวียน มณฑลชานตง เสียชีวิต 9 มิถุนายน ค.ศ. 261 (71 ปี)[ b] ที่ไว้ศพ นครลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน บุตร บุพการี ความสัมพันธ์ หวาง เวิง (อา) หวาง เฉียว (ลูกพี่ลูกน้อง) อาชีพ ขุนพล ชื่อรอง ปั๋ว-ยฺหวี (伯輿) สมัญญานาม จิ่งโหว (景侯) บรรดาศักดิ์ อานเล่อเซียงโหว (安樂鄉侯)
อองกี๋ , อองตี๋ [ c] หรืออองกิ๋ม [ d] (ค.ศ. 190 – 9 มิถุนายน ค.ศ. 261)[ b] มีชื่อในภาษาจีนกลาง ว่า หวาง จี (จีน : 王基 ; พินอิน : Wáng Jī ) ชื่อรอง ปั๋ว-ยฺหวี (จีน : 伯輿 ; พินอิน : Bóyú ) เป็นขุนพลของรัฐวุยก๊ก ในยุคสามก๊ก ของจีน เริ่มรับราชการในฐานะข้าราชการชั้นผู้น้อยภายใต้หวาง หลิง (王淩) ข้าหลวงมณฑลเฉงจิ๋ว ในเวลานั้นอองกี๋ได้รับการยกย่องว่าเป็นข้าราชการตัวอย่างที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ภายหลังได้ย้ายไปรับราชการในราชสำนักที่นครลกเอี๋ยง ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมือง แต่ถูกปลดออกจากตำแหน่งเป็นเวลาสั้น ๆ เมื่อสุมาอี้ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กยึดอำนาจจากโจซอง ที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วมในรัฐประหาร เมื่อปี ค.ศ. 249 อย่างไรก็ตาม อองกี๋ได้รับการเรียกตัวกลับเข้ารับราชการอย่างรวดเร็ว และได้เลื่อนขึ้นเป็นข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นขุนพล ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 251 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี ค.ศ. 261 อองกี๋ยังคงรักษาความสัมพันธ์ในการทำงานอย่างใกล้ชิดแต่ด้วยความเชี่ยวชาญกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สุมาสู และสุมาเจียว ในช่วงเวลานี้ อองกี๋ได้ดูแลราชการทหารในมณฑลเกงจิ๋ว อิจิ๋ว และยังจิ๋ว และป้องกันชายแดนด้านตะวันออกและด้านใต้ของวุยก๊กจากง่อก๊ก ที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก อองกี๋ยังช่วยสุมาสูและสุมาเจียวในการปราบปราบสองในสามกบฏในฉิวฉุน ในปี ค.ศ. 255 และ ค.ศ. 257-258 ตามลำดับ ในปี ค.ศ. 261 ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนเสียชีวิต อองกี๋ได้คาดการณ์ได้อย่างถูกต้องว่านายทหารง่อก๊กสองนายแสร้งแปรพักตร์เข้าด้วยวุยก๊ก และสามารถป้องกันทัพวุยก๊กจากการตกเข้าสู่กลอุบายของง่อก๊ก
ประวัติช่วงต้น
อองกี๋เป็นชาวอำเภอชฺวีเฉิง (曲城縣 ชฺวีเฉิงเซี่ยน ) เมืองตงไหล (東萊郡 ตงไหลจฺวิ้น ) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของนครเจา-ยฺเหวียน มณฑลชานตง ในปัจจุบัน[ 5] อองกี๋เกิดในปี ค.ศ. 190[ b] ในช่วงปลาย ของยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันออก อองกี๋เสียบิดาตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์จึงได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดีจากหวาง เวิง (王翁 ) ผู้เป็นอา อองกี๋จึงกตัญญูต่ออาเป็นอย่างสูง[ 6]
เมื่ออองกี๋อายุ 16 ปี ที่ว่าการเมืองได้รับอองกี๋มารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย อองกี๋ลาออกในเวลาต่อมาหลังตระหนักว่าตนไม่สนใจในราชการ จากนั้นจึงเดินทางไปยังเมืองลองเอี๋ย (琅邪郡 หลางหยาจฺวิ้น ; อยู่บริเวณนครหลินอี๋ มณฑลชานตง ในปัจจุบัน) เพื่อศึกษาเพิ่มเติมกับเต้เหี้ยน (鄭玄 เจิ้ง เสฺวียน ) ผู้เป็นบัณฑิตลัทธิขงจื๊อ [ 7]
ในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาของหวาง หลิง
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 220 และ ค.ศ. 226 ที่ว่าการเมืองตงไหลเสนอชื่ออองกี๋เป็นเซี่ยวเหลียน (孝廉; คำเรียกผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับราชการ) มายังราชสำนักของรัฐวุยก๊ก อองกี๋จึงได้รับการตั้งเป็นมหาดเล็กกลาง (郎中 หลางจง )[ 8] เวลานั้น หวาง หลิง (王淩) ซึ่งเพิ่งขึ้นรับตำแหน่งเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ ) ของมณฑลเฉงจิ๋ว ได้รับอองกี๋มารับราชการเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วย (別駕 เปี๋ยเจี้ย ) ของตน ภายหลังอองกี๋ถูกเรียกตัวมายังราชธานีลกเอี๋ยง เพื่อรับราชการเป็นขุนนางห้องสมุดหลวง (秘書郎 มี่ชูหลาง ) หวาง หลิงส่งคำร้องมายังราชสำนักกลางเพื่อขอให้อองกี๋ยังคงรับราชการในมณฑลเฉงจิ๋วและได้รับการอนุมัติ[ 9]
ครั้งหนึ่งอองลอง ผู้เป็นเสนาบดีมหาไทย (司徒 ซือถู ) เคยขอให้หวาง หลิงย้ายอองกี๋มายังสำนักของตนในลกเอี๋ยง แต่หวาง หลิงปฏิเสธ[ 10] อองลองจึงเขียนฎีกาถวายราชสำนักกล่าวหาว่าหวาง หลิงกีดกันผู้มีความสามารถ "ข้าราชการระดับท้องถนนที่ทำงานได้ดีเป็นพิเศษก็ควรจะเลื่อนขั้นเป็นระดับเมือง ข้าราชการระดับเมืองที่ทำงานได้ดีก็ควรได้รับการแนะนำไปยังราชสำนักกลาง แนวปฏิบัตินี้มีต้นกำเนิดมาจากธรรมเนียมโบราณของขุนนางที่เสนอผู้มีความสามารถในท้องถิ่นให้กับผู้ปกครองของตน ข้าพระพุทธเจ้าไม่เคยได้ยินว่ามีเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคคนใดปฏิเสธที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของตนได้รับราชการในราชสำนักกลาง"[ 11] แม้จะมีข้อกล่าวหาของอองลอง แต่หวาง หลิงก็ยังคงปฏิเสธที่จะให้อองกี๋ไป ตลอดช่วงเวลาที่หวาง หลิงดำรงตำแหน่งในเฉงจิ๋ว ผลงานส่วนใหญ่ของหวาง หลิงแท้จริงแล้วมาจากความพยายามของอองกี๋[ 12]
รับราชการในราชสำนัก
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 230 และ ค.ศ. 235[ e] สุมาอี้ ผู้ดำรงตำแหน่งมหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน ) ของวุยก๊กเรียกตัวอองกี๋มารับราชการกับตน หวาง หลิงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมให้อองกี๋ไป ก่อนที่อองกี๋จะไปถึงสำนักของสุมาอี้ ก็ได้รับการตั้งให้เป็นขุนนางสำนักราชเลขาธิการราชวัง (中書侍郎 จงชูชื่อหลาง )[ 13]
ในรัชสมัยของโจยอย จักรพรรดิแห่งวุยก๊กระหว่างปี ค.ศ. 226 ถึง ค.ศ. 239 โจยอยทรงเริ่มโครงการก่อสร้างพระราชวังที่หรูหราและฟุ่มเฟือย เนื่องจากโครงการนี้ใช้แรงงานมหาศาล จึงส่งผลกระทบอย่างหนักต่อราษฎรที่ถูกเกณฑ์มาเป็นคนงานในโครงการ[ 14] อองกี๋เขียนฎีกาถึงโจยอยทูลแนะนำพระองค์ให้หยุดโครงการ:
"ข้าพระพุทธเจ้าได้ยินว่าคนโบราณใช้น้ำเป็นอุปมาในการกล่าวถึงราษฎร 'น้ำอาจทำให้เรือลอย แต่ก็ทำให้เรือจมได้เช่นกัน' ผู้ปกครองที่ทรงปัญญาที่สุดเอาใจใส่คำเตือนนี้อยู่เสมอ ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีเมื่อราษฎรมีชีวิตที่มีความสุขสงบ แต่หากชีวิตยากเข็ญ ราษฎรก็จะคิดถึงการก่อกบฏ นั่นเป็นสาเหตุที่จักรพรรดิองค์ก่อน ทรงสนับสนุนความประหยัดและความเรียบง่าย พระองค์มีพระประสงค์จะป้องกันการลุกฮือของประชาราษฎร์ งันเอี๋ยน (顏淵 เหยียน เยฺวียน หรือ 顏回 เหยียน หุย ) เคยกล่าวว่าเมื่อตงเหยฺจื่อ (東野子) ยังคงบังคับม้าให้เดินจนหมดแรงขณะขับรถม้าจึงเพิ่งรู้ตัวว่าตนจะล้มเหลว บัดนี้โครงการก่อสร้างพระราชวังใช้ทุนทรัพย์สูงและมีภาระหนักจนทำให้หลายครอบครัวพังทลาย ก่อความไม่พอใจอย่างมากจากเหล่าราษฎร ข้าพระพุทธเจ้าหวังว่าฝ่าบาทจะทรงเรียนรู้จะความผิดพลาดของตงเหยฺจื่อ ขอทรงตรึกตรองเกี่ยวกับอุปมาเรื่องน้ำและราษฎร ให้เวลาม้าที่อ่อนล้าได้พักฟื้น และลดภาระให้กับราษฎร ในช่วงต้นยุคราชวงศ์ฮั่น ตั้งแต่รัชสมัยของจักรพรรดิเซี่ยวเหวิน (孝文) เป็นต้นมา มีเพียงสมาชิกของราชวงศ์เท่านั้นที่สามารถเป็นขุนนางได้ เจี่ย อี้ (賈誼) รู้สึกกังวลจึงกล่าวว่า 'พวกท่านยังคิดว่าตนปลอดภัยขณะพวกท่านกำลังนอนอยู่บนกองฟืนที่ลุกเป็นไฟ' ทุกวันนี้ศัตรูของเรายังไม่ถูกกำจัด ในขณะที่ขุนพลที่น่าเกรงขามของเราบัญชาการทัพใหญ่ จะยิ่งเป็นการยุ่งยากที่จะรับมือพวกเขาหากพวกเขาร่วมกำลังกันต่อต้านเรา ในระยะยาวก็จะเป็นการยากยิ่งที่ราชวงศ์นี้จะคงอยู่ไปยาวนาน หากผู้ใดไม่ระแวดระวังและมุ่งเน้นไปที่การกำจัดภัยคุกคามในยุคแห่งความเจริญรุ่งเรือง ลูกหลานก็จะอยู่อย่างพออกพอใจได้ไม่นานก่อนหายนะจะเกิดแก่รัฐนี้ หากเจี่ย อี้ฟื้นขึ้นจากตายและเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในบัดนี้ เขาก็จะยิ่งเป็นกังวล"[ 15]
อองซก มีชื่อเสียงจากการเขียนบทวิจารณ์และอรรถาธิบายของคัมภีร์ในลัทธิขงจื๊อ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับระเบียบ จรรยา และขนบธรรมเนียม ทัศนะของอองซกแตกต่างไปอย่างมากจากทัศนะของเต้เหี้ยน บัณฑิตลัทธิขงจื๊อ อองกี๋มักจะท้าทายและไม่เห็นด้วยกับอองซกเพราะอองกี๋ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของเต้เหี้ยน[ 16]
ต่อมาอองกี๋ได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว ) ของเมืองอันเป๋ง (安平郡 อานผิงจฺวิ้น ; อยู่บริเวณนครเหิงฉุ่ย มณฑลเหอเป่ย์ ในปัจจุบัน) ต่อมาอองกี๋ลาออกจากตำแหน่งด้วยเหตุผลทางราชการ[ 17]
ในฐานะเจ้าเมืองตันฉอง
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 239 และ ค.ศ. 249[ f] โจซอง มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน ) แห่งวุยก๊กเรียกตัวอองกี๋มารับราชการเป็นขุนนางผู้ช่วย (從事中郎 ฉงชื่อจงหลาง ) ของตน ภายหลังอองกี๋ได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าเมือง (太守 ไท่โฉ่ว ) ของเมืองตันฉอง[ a] (安豐郡 อานเฟิงจฺวิ้น ; อยู่บริเวณนครลู่อาน มณฑลอานฮุย ในปัจจุบัน)[ 20]
ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง อองกี๋ปกครองเมืองอย่างเคร่งครัดแต่ยุติธรรม อองกี๋ยังปฏิบัติด้วยความเมตตาเป็นครั้งคราวเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน เมืองตันฉองนั้นตั้งอยู่ใกล้ชายแดนระหว่างวุยก๊กและง่อก๊ก ที่เป็นรัฐอริของวุยก๊ก อองกี๋จึงจัดตั้งและเสริมการป้องกันเพื่อยับยั้งข้าศึก ต่อมาอองกี๋ได้รับยศเพิ่มเติมเป็นขุนพลโจมตีกบฏ (討寇將軍 เถ่าโค่วเจียงจฺวิน )[ 21]
ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 245 และ ค.ศ. 252[ g] มีรายงานว่าทัพของง่อก๊กระดมพลที่เกี๋ยนเงียบ (建業 เจี้ยนเย่ ; ปัจจุบันคือนครหนานจิง มณฑลเจียงซู ) นครหลวงของง่อก๊ก ทัพง่อก๊กยังประกาศว่ากำลังเตรียมการจะบุกอาณาเขตของวุยก๊กในมณฑลยังจิ๋ว จูกัดเอี๋ยน ข้าหลวงมณฑลยังจิ๋วขอความเห็นของอองกี๋เกี่ยวกับการโต้ตอบการบุกของง่อก๊ก[ 22] อองกี๋ตอบว่า:
"ในอดีต ซุนกวน โจมตีหับป๋า (合肥 เหอเฝย์ ) และกังแฮ (江夏 เจียงเซี่ย ) จวนจ๋อง โจมตีโลกั๋ง (廬江 หลูเจียง ) จูเหียน โจมตีซงหยง (襄陽 เซียงหยาง ) แต่พวกเขาไม่ได้อะไรกลับไปเลยจากยุทธการเหล่านี้ บัดนี้ลกซุน และคนอื่น ๆ ตายไปแล้ว ด้านซุนกวนก็อยู่ในวัยชราและไม่มีทายาทที่มีสติปัญญาหรือหัวหน้านักยุทธศาสตร์ที่เก่งกาจพอจะให้พึ่งพาได้ หากซุนกวนนำทัพด้วยตนเองเพื่อโจมตีเรา ก็จะต้องเป็นกังวลว่าอาจเกิดความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายระหว่างข้าราชบริพารของตนเองในช่วงที่ตนกำลังออกมาโจมตีฝ่ายเราอยู่ หากซุนกวนยอมให้ขุนพลของตนนำทัพมาโจมตีเรา ก็จะไม่มีขุนพลผ่านศึกเหลืออยู่กับตนให้พึ่งพา และเขายังไม่ไว้วางใจขุนพลใหม่อย่างเต็มที่ สิ่งที่ซุนกวนพยายามจะทำจริง ๆ คือการสับเปลี่ยนตำแหน่งในราชสำนักและตั้งคนที่ตนไว้วางใจในตำแหน่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจว่าการปกครองของตนจะอยู่ได้ในระยะยาว"[ 23]
อองกี๋วิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง ซุนกวนไม่ได้ยกทัพโจมตีวุยก๊กในช่วงเวลานั้น[ 24]
เมื่อโจซอง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของวุยก๊กระหว่างปี ค.ศ. 239 ถึง ค.ศ. 249 ได้ผูกขาดอำนาจและเอิื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ทำให้เกิดการทุจริตทางการเมืองและความเสื่อมโทรมทางวัฒนธรรม อองกี๋ได้เขียนตำรา "ฉือเย่าหลุน" (時要論; "ข้อเขียนว่าด้วยความต้องการของยุคสมัย") เพื่อแสดงทัศนะของตนเกี่ยวกับการเมืองร่วมสมัย[ 25] จากนั้นอองกี๋ลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองตันฉองโดยอ้างว่าสุขภาพไม่ดี ต่อมาไม่นานอองกี๋ก็ได้รับการเรียกตัวจากราชสำนักวุยก๊กให้มารับราชการเป็นเจ้าเมืองโห้หล้ำ (河南尹 เหอหนานอิ่น ) แต่ก่อนที่อองกี๋จะเข้ารับตำแหน่ง โจซองก็ถูกโค่นล้มจากอำนาจในรัฐประหาร ที่ก่อการโดยสุมาอี้ ที่เป็นผู้สำเร็จราชการร่วม แล้วโจซองก็ถูกประหารชีวิตพร้อมด้วยครอบครัวและพรรคพวก อองกี๋เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจซอง จึงพลอยถูกดึงเข้าไปพัวพันในเรื่องนี้และถูกปลดจากตำแหน่ง[ 26]
ในฐานะข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว
ในปีเดียวกัน (ค.ศ. 249) หลังถูกปลดจากตำแหน่ง อองกี๋ได้รับการเรียกตัวกลับมารับราชการเป็นราชเลขาธิการ (尚書 ช่างชู ) ในสำนักราชเลขาธิการ ในปีถัดมา อองกี๋ได้เลื่อนเป็นข้าหลวงมณฑล (刺史 ชื่อฉื่อ ) ของมณฑลเกงจิ๋ว และได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลเชิดชูความดุดัน (揚烈將軍 หยางเลี่ยเจียงจฺวิน ) หลังรับตำแหน่งได้ไม่นาน ราชสำนักวุยก๊กมีคำสั่งให้อองกี๋เข้าร่วมกับอองซอง ขุนพลวุยก๊กในการทัพที่รบกับง่อก๊ก [ 27]
ระหว่างยุทธการ อองกี๋นำกำลังทหารเข้าโจมตีทัพง่อก๊กที่นำโดยปู้ เสีย (步恊) ที่อำเภออิเหลง (夷陵縣 อี๋หลิงเซี่ยน ; ปัจจุบันคือนครอี๋ชาง มณฑลหูเป่ย์ ) ปู้ เสียและทหารล่าถอยไปหลังกำแพงเมือง ปิดประตูและไม่ยอมออกรบกับอองกี๋ อองกี๋จึงสั่งทหารให้แสร้งทำเป็นเตรียมการจะโจมตีเมือง ขณะเดียวกันก็ลอบส่งทหารไปยึดยุ้งฉางของทัพง่อก๊กที่สฺยงฟู่ (雄父 ) ทหารอองกี๋สามารถยึดข้าวสารได้มากกว่า 300,000 หู (斛; หน่วยปริมตร) และจับตัวถาน เจิ้ง (譚正 ) ขุนพลง่อก๊กได้ พลเรือนง่อก๊กหลายพันคนยอมสวามิภักดิ์ต่อทัพง่อก๊ก อองกี๋จัดเตรียมให้พลเรือนได้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในอำเภออิเหลง ราชสำนักวุยก๊กตั้งให้อองกี๋มีบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว ) เพื่อเป็นเกียรติจากผลงานในการศึกของอองกี๋[ 28]
อองกี๋เขียนหนังสือถึงอองซอง พยายามโน้มน้าวอองซองให้ย้ายฐานปฏิบัติการไปยังเมืองกังแฮ (江夏郡 เจียงเซี่ยจฺวิ้น ; อยู่บริเวณอำเภอยฺหวินเมิ่ง มณฑลหูเป่ย์ ในปัจจุบัน) เพื่อให้ใกล้กับชายแดนวุยก๊ก-ง่อก๊กที่แฮเค้า (夏口 เซี่ยโข่ว ; อยู่ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นมา ทัพง่อก๊กก็ไม่กล้าข้ามแม่น้ำมาโจมตีอาณาเขตของวุยก๊กเหมือนที่เคยทำมาก่อน[ 29]
ในช่วงที่อองกี๋ดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลเกงจิ๋ว ได้ปกครองมณฑลอย่างซื่อสัตย์ยุติธรรม รักษาวินัยดีในกองทัพและภาคการเกษตร และสร้างสำนักศึกษาหลายแห่งเพื่อส่งเสริมการศึกษา อองกี๋ได้รับการยกย่องอย่างมากจากชาวมณฑลเกงจิ๋ว[ 30]
ในช่วงเวลานั้น ราชสำนักวุยก๊กต้องการเริ่มการทัพรบกับง่อก๊ก จึงมีคำสั่งให้อองกี๋คิดกลยุทธิ์ขึ้นมา[ 31] อองกี๋พูดว่า
"หากเราเริ่มการทัพตอนนี้และพิชิตง่อไม่สำเร็จ เราจะไม่เพียงเสียขวัญกำลังใจ แต่ยังสิ้นเปลืองทรัพยากร ดังนั้น เราควรโจมตีก็ต่อเมื่อเราเตรียมพร้อมเป็นอย่างดีแล้ว หากเราไม่สร้างคลองเพิ่ม สะสมเสบียงอาหารมากขึ้น และก่อสร้างเรือรบเพิ่มขึ้น แม้เราจะตั้งกำลังทหารไว้เหนือน้ำ แต่เราก็จะไม่ได้รับความได้เปรียบเชิงยุทธวิธีใด ๆ บัดนี้กังเหลง (江陵 เจียงหลิง ) มีพื้นที่เพาะปลูกหลายพันหมู่ (畝; หน่วยพื้นที่) ได้รับน้ำจากแม่น้ำจวี่ (沮) และจาง (漳) เรายังมีผืนดินอุดมสมบูรณ์โดยรอบอานลู่ (安陸) เราควรมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาฐานผลิตทางการเกษตรให้แข็งแกร่ง เตรียมการอย่างเพียงพอ จากนั้นจึงส่งทหารเข้าโจมตีกังเหลงและอิเหลง แล้วจึงเข้ายึดแฮเค้า ใช้แม่น้ำจวี่และจางในการขนส่งเสบียงอาหาร ขวัญกำลังใจของข้าศึกจะตกลงเมื่อเห็นว่าเรามีการเตรียมการอย่างดีและใช้สภาพทางภูมิศาสตร์ให้เป็นประโยชน์ เมื่อถึงเวลานั้น ทหารข้าศึกจำนวนมากก็เริ่มแปรพักตร์มาเข้าด้วยฝ่ายเรา จากนั้นเราสามารถผูกพันธมิตรกับชนเผ่าพื้นเมืองในง่อและร่วมกันโค่นล้มการปกครองของง่อ จากนั้นเราควรแบ่งกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่ทางเหนือของแฮเค้าและยึดอาณาเขตของ่อเหนือแม่น้ำแยงซี เมื่อทำเช่นนี้เราก็จะตัดการติดต่อระหว่างง่อและจ๊ก สกัดไม่ให้ทั้งสองฝ่ายส่งกำลังเสริมมาช่วยเหลือกันและกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ง่อก็จะตกเป็นเหยื่อของเราโดยง่าย แต่ในขณะนี้ข้าพเจ้าเห็นว่ายังไม่ถึงเวลาที่เราจะโจมตีง่อ"[ 32]
การทัพจึงถูกยกเลิกไป[ 33]
เมื่อสุมาสู สืบทอดอำนาจต่อจากสุมาอี้ ผู้บิดาในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งวุยก๊กในปี ค.ศ. 251 อองกี๋เขียนหนังสือถึงสุมาสูว่า:[ 34]
"แผ่นดินกว้างใหญ่ มีหลายเรื่องที่ต้องจัดการ ท่านควรกระตือรือร้นอยู่เสมอและขยันให้มาก หากปณิธานของท่านสูงส่งและเที่ยงธรรม ท่านจะไม่มีความคิดชั่วร้ายใด ๆ หากใจของท่านบริสุทธิ์และสงบ ท่านจะไม่รู้สึกถูกรบกวนจากเสียงมากมายโดยรอบท่าน หากท่านรอบคอบและระมัดระวัง ท่านจะไม่พบการชี้นำและคำสั่งที่ไปสู่ภารกิจอันยากลำบาก หากท่านใช้ผู้มีปัญญา ความสามารถ และพรสวรรค์เป็นอย่างดี ท่านจะได้รับความเคารพจากทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน การกระทำของท่านจะส่งผลต่อการรับรู้ของราษฎรเกี่ยวกับตัวท่าน ในขณะที่ความรอบรอบของท่านจะเป็นสิ่งกำหนดว่าท่านจะรักษาความมั่นคงภายในได้ดีเพียงใด เค้าอิ๋น (許允 สฺวี ยฺหวิ่น ), เปาต้าน (傅嘏 ฟู่ กู่ ), ยฺเหวียน ข่าง (袁侃) และชุย จ้าน (崔贊) เป็นผู้ชอบธรรมและมีคุณธรรม ท่านสามารถร่วมงานกับพวกเขาอย่างใกล้ชิดในเรื่องนโยบายได้"[ 35]
สุมาสูยอมรับคำแนะนำของอองกี๋[ 36]
ในปี ค.ศ. 254 หลังสุมาสูปลดโจฮอง จักรพรรดิวุยก๊กออกจากตำแหน่ง และตั้งโจมอ ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน อองกี๋ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากกวนไล่เหาขึ้นเป็นโหวระดับหมู่บ้านชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "ฉางเล่อถิงโหว" (常樂亭侯 )[ 37]
ปราบกบฏบู๊ขิวเขียมและบุนขิม
ในปี ค.ศ. 255 บู๊ขิวเขียม และบุนขิม ขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน ; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย ในปัจจุบัน) อำเภอเอกของเมืองห้วยหนำ (淮南郡 หฺวายหนานจฺวิ้น ) ซึ่งถูกเรียกว่ารัฐฌ้อ (楚國 ฉู่กั๋ว ) ในเวลานั้น อองกี๋ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้กำกับทัพ (監軍 เจียงจฺวิน ) ได้รับมอบอาญาสิทธิ์ และได้รับมอบหมายให้บัญชาการทัพวุยก๊กที่ประจำในฮูโต๋ (許昌 สฺวี่ชาง ) สุมาสู ผู้สำเร็จราชการแห่งวุยก๊กนำกำลังทหารจากลกเอี๋ยง นครหลวงของวุยก๊กไปปราบปรามกบฏและพบกับอองกี๋ที่ฮูโต๋[ 39]
เมื่อสุมาสูถามอองกี๋ว่าคิดอย่างไรกับการกระทำของบู๊ขิวเขียมและบุนขิม อองกี๋ตอบว่า "ข้าราชการท้องถิ่นในห้วยหนำไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อการก่อกบฏ บู๊ขิวเขียมและบุนขิมบังคับให้พวกเขาก่อกบฏโดยขู่ว่าจะฆ่าหากไม่ทำตาม พวกเขาจะแตกกระจายไปเมื่อทัพหลวงยกมาถึง อีกไม่นานเราจะได้เห็นศพของบู๊ขิวเขียมและบุนขิมแขวนอยู่ที่ประตู" สุมาสูเห็นชอบด้วย[ 40]
สุมาสูมอบหมายให้อองกี๋บัญชาการทัพหน้า ในเวลานั้น นายทหารวุยก๊กหลายคนเชื่อว่าบู๊ขิวเขียมและบุนขิมมีกำลังมากและยากจะเอาชนะ ราชสำนักวุยก๊กจึงมีคำสั่งให้อองกี๋ให้รักษาที่มั่นและงดเข้าปะทะกับกลุ่มกบฏในยุทธการ[ 41] อองกี๋ไม่เห็นด้วยโดยกล่าวว่า:
"บู๊ขิวเขียมและบุนขิม บู๊ขิวเขียมและบุนขิมมีโอกาสเข้าโจมตีเรา แต่กลับยังไม่ทำเช่นนั้น นี่หมายความว่าพวกเขาไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่างจากที่เห็น และพวกเขาพยายามจะไม่เปิดเผยจุดอ่อนนี้ของพวกตน เราควรใช้โอกาสนี้แสดงแสนยานุภาพของเราและแสดงให้ผู้คนเห็นว่าเราสามารถปราบกบฏได้ หากเราไม่รุดหน้าและมุ่งแต่จะสร้างป้อมปราการ ผู้คนก็จะคิดว่าเรากลัวพวกกบฏ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการทหาร หากพวกกบฏจับครอบครัวของข้าราชการท้องถิ่นเป็นตัวประกันเพื่อบังคับให้ก่อกบฏ เราก็จะสูญเสียการสนับสนุนจากผู้คน เหล่าผู้ที่ถูกบู๊ขิวเขียมและบุนขิมข่มขู่ต่างก็รู้ว่าพวกตนทำผิด แต่พวกตนก็ไม่กล้าหนีเพราะหลายชีวิตในครอบครัวตกอยู่ในความเสี่ยง นี่เป็นที่ที่มวลชนหลากหลายมารวมตัวกันและเป็นที่ที่พวกกบฏขาดความกล้าหาญในการรบ แต่ก็ยังเป็นโอกาสสำหรับข้าศึกที่จะแสวงประโยชน์ หากพวกง่อ ใช้โอกาสนี้เข้าโจมตีเรา ก็จะสามารถยึดครองอาณาเขตกว้างขวางในห้วยหนำ หากเป็นเช่นนั้น ดินแดนของเฉียว (譙) เพ่ย์ (沛) หรู (汝) และยฺวี่ (豫) ก็จะตกอยู่ในอันตราย นั้นจะเป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวง เราควรเร่งยึดลำเต๋ง (南頓 หนานตุ้น ) ซึ่งมียุ้งฉางที่เต็มไปด้วยเสบียงอาหารที่สามารถเลี้ยงทหารของเราได้ถึง 40 วัน ด้วยการยึดลำเต๋งและรักษาตำแหน่งสำคัญไว้ เราก็จะสามารถแสดงแสนยานุภาพต่อพวกกบฏได้ นี่เป็นขั้นตอนสำคัญสู่การปราบปรามกบฏ"[ 42]
แล้วอองกี๋จึงขออนุญาตโจมตีกลุ่มกบฏหลายครั้ง เมื่อได้รับการอนุมัติในที่สุด อองกี๋นำกองกำลังของตนไปยังแม่น้ำอิ๋นซุย (濦水 อิ๋นฉุ่ย )[ 43] ที่นั่นอองกี๋ขออนุญาตโจมตีกลุ่มกบฏ:
"กองทัพที่เคลื่อนได้เร็วเป็นกองทัพที่แข็งแกร่ง เราไม่ควรเสียเวลาไปเปล่า ๆ บัดนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ภายในเรามีกบฏต้องปราบและภายในเรามีข้าศึกที่แข็งแกร่งที่ต้องรับมือ หากเราไม่เด็ดขาดในตอนนี้ ข้าก็คาดไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายหลัง หลายคนกล่าวว่าข้าควรระมัดระวังในการนำทัพออกรบ แม้ว่าพวกเขาพูดถูกว่าข้าควรระมัดระวัง แต่ข้าเห็นว่าพวกเขาพูดผิดที่ห้ามไม่ให้ข้ารุดหน้าต่อไป การระมัดระวังไม่ได้หมายความว่าจะต้องรักษาที่มั่นไว้และไม่ทำอะไรเลย หากเราโจมตีตอนนี้ เราก็ชนะได้ บัดนี้เรายึดจุดยุทธศาสตร์และตั้งแนวป้องกันที่แข็งแกร่งแล้ว เราไม่ต้องขนส่งเสบียงอาหารไปแนวหน้าด้วยระยะทางไกลอีกต่อไป การปล่อยให้ข้าศึกเข้าถึงเสบียงอาหารในพื้นที่ได้ต่อไปถือเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง"[ 44]
สุมาสูต้องการคอยจนกว่าทัพวุยก๊กที่ระดมมาทั้งหมดจะมาถึงแล้วจึงค่อยเปิดการโจมตีฉิวฉุน จึงไม่อนุญาตให้อองกี๋โจมตีก่อน อองกี๋จึงพูดว่า "เมื่อขุนพลออกสู่สนามรบ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้านายเสมอไป หากพวกกบฏยึดอาณาเขตได้พวกกบฏก็จะยิ่งได้เปรียบ หากเรายึดอาณาเขตได้เราจะยิ่งได้เปรียบ นี่คือความหมายของการยึดครองอาณาเขต ที่ข้าหมายถึงถึงที่ลำเต๋ง"[ 45] สุมาสูจึงอนุมัติและส่งอองกี๋เข้ายึดลำเต๋ง (南頓 หนานตุ้น ; ทางตะวันตกของนครเซี่ยงเฉิง มณฑลเหอหนาน ในปัจจุบัน) เมื่อบู๊ขิวเขียมทราบเรื่องนี้ก็นำทัพมุ่งไปลำเต๋งเช่นกัน หลังเดินทางไปได้ประมาณ 10 ลี้ ก็ทราบข่าวว่าอองกี๋ตีกองกำลังฝ่ายตนได้และยึดได้ลำเต๋ง บู๊ขิวเขียมจึงล่าถอยไปอำเภอฮางเสีย (項縣 เซี่ยงเซี่ยน ; ปัจจุบันคืออำเภอเฉิ่นชิว มณฑลเหอหนาน)[ 46]
ในช่วงเวลานั้น เตงงาย ข้าหลวงมณฑลกุนจิ๋ว นำทหารมาตั้่งมั่นที่งักแกเสีย (樂嘉 เยฺว่เจีย ; ปัจจุบันคือนครเซี่ยงเฉิง มณฑลเหอหนาน) เมื่ออองกี๋รู้ว่าบู๊ขิวเขียมส่งบุนขิมให้นำทัพเข้าโจมตีเตงงายที่งักแกเสีย อองกี๋จึงถือโอกาสของสถานการณ์นี้เข้าโจมตีและยึดอำเภอฮางเสียจากกลุ่มกบฏ หลังกบฏถูกปราบปราม อองกี๋ได้รับการเลื่อนขั้นเป็นขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน ) และรับผิดชอบดูแลปฏิบัติการทางการทหารในมณฑลอิจิ๋ว อองกี๋ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการข้าหลวงมณฑลอิจิ๋ว และได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับหมู่บ้านเป็นโหวระดับตำบลชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "อานเล่อเซียงโหว" (安樂鄉侯 )[ 47] อองกี๋เขียนฎีกาถึงราชสำนักวุยก๊ก เสนอให้มอบศักดินา 200 ครัวเรือนจากเขตศักดินาของตนให้กับหวาง เฉียว (王喬 ) ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้อง เพื่อแสดงความขอบคุณต่อหวาง เวิง (王翁; บิดาของหวาง เฉียว) อาของอองกี๋ที่ล่วงลับไปแล้วที่ช่วยเลี้ยงดูตนตั้งแต่อยู่ในวัยเยาว์ ราชสำนักอนุมัติคำขอพิเศษนี้และตั้งให้หวาง เฉียวมีบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว )[ 48]
ปราบกบฏจูกัดเอี๋ยน
เมื่อจูกัดเอี๋ยน ขุนพลวุยก๊กเริ่มก่อกบฏในฉิวฉุน (壽春 โช่วชุน ; อยู่บริเวณอำเภอโช่ว มณฑลอานฮุย ในปัจจุบัน) ในปี ค.ศ. 257 อองกี๋ได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการขุนพลพิทักษ์ภาคตะวันออก (鎮東將軍 เจิ้นตงเจียงจฺวิน ) เพิ่มเติ่มจากตำแหน่งในปัจจุบันคือขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน ) อองกี๋ยังได้รับมอบหมายให้ดูแลปฏิบัติการทางทหารในมณฑลยังจิ๋ว และอิจิ๋ว [ 49] ในเวลานั้น ทัพหลวงของวุยก๊กตั้งมั่นอยู่ที่อำเภอฮางเสีย (項縣 เซี่ยงเซี่ยน ; ปัจจุบันคืออำเภอเฉิ่นชิว มณฑลเหอหนาน ) ไม่กล้าโจมตีกลุ่มกบฏเพราะรู้ว่ากลุ่มกบฏเป็นทหารที่ชำนาญศึก ราชสำนักวุยก๊กจึงมีคำสั่งให้อองกี๋กำกับการสร้างแนวป้องกันและป้อมปราการ และปฏิเสธคำขอของอองกี๋ที่ขอโจมตีกลุ่มกบฏ[ 50]
ง่อก๊ก ที่เป็นรัฐอริของวุยก๊กส่งจูอี้ ให้นำทัพง่อก๊กมายังฉิวฉุนเพื่อสนับสนุนจูกัดเอี๋ยน ทัพง่อก๊กตั้งค่ายที่อำเภออานเฉิง (安城縣 อานเฉิงเซี่ยน ; ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอผิง-ยฺหวี มณฑลเหอหนานในปัจจุบัน)[ 51]
อองกี๋ปฏิบัติตามคำสั่งและนำกำลังทหารเข้ายึดเนินทางทางเหนือ อองกี๋บอกกับนายทหารว่า "ป้อมปราการแข็งแกร่งมากแล้ว กำลังทหารก็มารวมตัวกันที่นี่ เราเพียงต้องรักษาการป้องกันและรอให้ข้าศึกยกมา หากเรายังคงจัดกำลังทหารมารักษาจุดยุทธศาสตร์ เราจะมีแต่จะยิ่งกระจัดกระจาย เมื่อเป็นเช่นนั้น แม้ว่าคนที่ฉลาดที่สุดก็ไม่สามารถคิดวิธีแก้ปัญหาใด ๆ ได้ "[ 52] จากนั้นอองกี๋จึงเขียนรายงานถึงราชสำนักวุยก๊กว่า:
"ด้วยสถานการณ์ในบัดนี้ที่เผชิญหน้ากับข้าศึก เราควรรักษาที่มั่นและไม่เคลื่อนไหว หากเราจัดและกระจายกำลังเพื่อป้องกันจุดยุทธศาสตร์ จะยิ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมากในหมู่ทหารและทำให้สถานการณ์ไม่มั่นคง กองกำลังทั้งหมดเข้าประจำตำแหน่งในป้อมปราการ การรักษาความมั่นคงเป็นกุญแจสำคัญของความสามารถของแม่ทัพในการนำกองกำลังในยุทธการ"[ 53]
ราชสำนักอนุมัติ[ 54]
สุมาเจียว มหาขุนพล (大將軍 ต้าเจียงจฺวิน ) แห่งวุยก๊กนำทัพหลวงไปยังฉิวโถว (丘頭; ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเฉิ่นชิว มณฑลเหอหนาน ในปัจจุบัน) และจัดกำลังทหารโดยรอบป้อมเมื่อสร้างแนวป้องกัน[ 55] เวลานั้นอองกี๋บัญชาทหาร 26 หน่วยตั้งมั่นอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของป้อม สุมาเจียวส่งคนนำสารไปพบอองกี๋และมีคำสั่งให้อองกี๋รักษาที่มั่นและงดการออกไปปะทะกับกลุ่มกบฏในสนามรบ ในเวลาไม่นาน ภายในป้อมก็ขาดแคลนเสบียงในขณะที่กลุ่มกบฏเพิ่มความรุนแรงในการโจมตีมากขึ้น อองกี๋ยังคงป้องกันอย่างมั่นคงและรักษาที่มั่นไว้ เมื่อโอกาสมาถึง อองกี๋ก็เปิดฉากโต้กลับและเอาชนะกลุ่มกบฏได้[ 56]
หลังปรากบฏจูกัดเอี๋ยนได้ อองกี๋เขียนหนังสือถึงสุมาเจียวว่า:
"ในตอนแรกหลังการหารือกันอย่างมาก มีนายทหารหลายนายที่ต้องการจัดกำลังทหารใหม่ ในเวลานั้น ข้าพเจ้าไม่ได้อยู่ในแนวหน้าจึงรับปากพวกเขา ท่านขุนนพล ท่านคิดทุกอย่างรอบคอบ รักษาความสงบมั่นคง และต้านแรงกดดันจากเหล่านายทหารจนถึงขั้นขัดราชโองการ แต่ในท้ายที่สุด ท่านก็เอาชนะกบฏได้สำเร็จ ไม่เคยมีเรื่องเช่นนี้มาก่อนในประวัติศาสตร์"[ 57]
สุมาเจียวต้องการขอให้ต๋องจู และผู้แปรพักตร์จากง่อก๊กให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทางในการนำทัพวุยก๊กบุกลึกเข้าไปในอาณาเขตของง่อก๊กเพื่อเปิดการโจมตี[ 58] แต่อองกี๋คัดค้านสุมาเจียวโดยกล่าวว่า:
"ไม่กี่ปีที่ผ่านมา จูกัดเก๊ก ต้องการใช้ประโยชน์จากแรงผลักดันที่ได้จากชัยชนะของง่อที่ตงกวาน (東關) จึงระดมกำลังทหารจากกังตั๋งและนำทัพเข้าโจมตีซินเสีย (新城 ซินเฉิง ) แต่จูกัดเก๊กไม่เพียงล้มเหลวในการยึดครองซินเสีย แต่ยังได้รับความเสียหายอย่างหนัก เกียงอุย ก็ต้องการใช้ประโยชน์จากแรงผลักดันที่ได้จากชัยชนะของจ๊กที่แม่น้ำเตียวซุย (洮水 เถาฉุ่ย ) จึงนำกำลังทหารบุกลึกเข้าไปในแดนเราเพื่อโจมตีเรา ท้ายที่สุดเส้นทางขนส่งเสบียงของเกียงอุยก็ยืดยาวเกินไป และเกียงอุยก็พ่ายแพ้ยับเยินที่เซียงเท้ง (上邽 ช่างกุย ) ทุกครั้งหลังจากที่ทหารได้ชัยชนะ ก็มีแนวโน้มที่พวกเขาจะดูเบาข้าศึก เมื่อพวกเขาดูเบาข้าศึก ก็มีแนวโน้มที่จะไปสู่ความประมาท บัดนี้ทัพง่อก๊กเพิ่งพ่ายแพ้และยังเผชิญกับภัยคุกคามภายใน พวกเขาอาจจะเพิ่มการป้องกันและระแวดระวัง นอกจากนี้หลังจากทำศึกมาหลายปี ทหารเหนื่อยล้าและอยากกลับบ้าน ในตอนนี้เราได้ทหารกบฏที่ยอมจำนนหลายพันนายและประหารชีวิตจูกัดเอี๋ยนผู้ทรยศแล้ว นับตั้งแต่ศึกสงครามในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่น มา ไม่เคยมีมาก่อนที่ฝ่ายชนะจะได้รับชัยชนะโดยสมบูรณ์เช่นนี้ เมื่อครั้งฮูฮ่องเต้ (武皇帝 อู่หฺวางตี้ ; หมายถึงโจโฉ) ทรงเอาชนะอ้วนเสี้ยว ในยุทธการที่กัวต๋อ พระองค์ไม่ได้ไล่ตามตีข้าศึกเพราะพระองค์ทรงเห็นว่าพระองค์ได้รับมามากแล้วจากชัยชนะของพระองค์ และการดันทุรังรุดหน้าไปก็มีแต่จะส่งผลเสียย้อนกลับเท่านั้น"[ 59]
สุมาเจียวจึงยกเลิกการโจมตีง่อก๊ก[ 60]
หลังทำให้ภูมิภาคห้วยหนำกลับมาสงบ อองกี๋ได้รับการแต่งตั้งจากตำแหน่งเดิมคือขุนพลพิทักษ์ภาคใต้ (鎮南將軍 เจิ้นหนานเจียงจฺวิน ) ให้เป็นขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東將軍 เจิงตงเจียงจฺวิน ) รับผิดชอบดูแลราชการทหารในมณฑลยังจิ๋ว อองกี๋ยังได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์จากโหวระดับตำบลเป็นโหวระดับอำเภอชื่อบรรดาศักดิ์ว่า "ตงอู่โหว" (東武侯 )[ 61] อองกี๋เขียนฎีกาถึงราชสำนักเพื่อปฏิเสธการเลื่อนบรรดาศักดิ์ และมอบความดีความชอบในการปราบกบฏในผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งหมด หัวหน้าเสมียนและนายกองพัน 7 คนใต้บังคับบัญชาของอองกี๋ได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักดิ์โหว[ 62]
เมื่อมารดาของอองกี๋เสียชีวิตในปี ค.ศ. 258 ราชสำนักวุยก๊กออกพระราชโองการให้เก็บข่าวเรื่องการเสียชีวิตของมารดาอองกี๋เป็นความลับ ศพของหวาง เป้า (王豹 ) บิดาของอองกี๋ได้รับการขุดขึ้นมาและย้ายมายังลกเอี๋ยง เพื่อฝังใหม่พร้อมกับมารดาของอองกี๋ ราชสำนักยังแต่งตั้งย้อนหลังให้หวาง เป้าเป็นเจ้าเมืองปักไฮ (北海 เป๋ย์ไห่ )[ 63]
ในฐานะขุนพลโจมตีภาคใต้
ในปี ค.ศ. 259 อองกี๋ได้รับการแต่งตั้งจากตำแหน่งเดิมคือขุนพลโจมตีภาคตะวันออก (征東將軍 เจิงตงเจียงจฺวิน ) ไปเป็นขุนพลโจมตีภาคใต้ (征南將軍 เจิงหนานเจียงจฺวิน ) และรับผิดชอบดูแลปฏิบัติการทางการทหารในมณฑลเกงจิ๋ว [ 64] ในปีถัดมา ราชสำนักวุยก๊กเพิ่มศักดินาให้อองกี๋ 1,000 ครัวเรือน ทำให้อองกี๋มีศักดินาทั้งหมดเพิ่มเป็น 5,700 ครัวเรือน บุตรชายของอองกี๋ 2 คนได้รับการตั้งให้มีบรรดาศักด์โหวระดับหมู่บ้านหรือเตงเฮา (亭侯 ถิงโหว ) และโหวระดับรองหรือกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว ) ตามลำดับ[ 65]
ในช่วงระหว่างวันที่ 17 เมษายนและ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 261[ h] เฮาเหลก (胡烈 หู เลี่ย ) เจ้าเมืองซงหยง (襄陽 เซียงหยาง ) รายงานว่าเติ้ง โหยว (鄧由 ) และหลี่ กวาง (李光 ) นายทหารของง่อก๊ก กำลังวางแผนจะนำกำลังทหาร 18 หน่วยแปรพักตร์มาเข้าด้วยวุยก๊ก และได้ส่งผู้ใต้บังคับบัญชาชื่อจาง อู๋ (張吳 ) และเติ้ง เชิง (鄧生 ) ข้ามชายแดนมาแล้ว[ 66] เมื่อได้รับข่าวสุมาเจียว และราชสำนักวุยก๊กมีคำสั่งให้อองกี๋ระดมทหารหลายหน่วยจากทั่วมณฑลเกงจิ๋วรวมถึงซงหยงให้เตรียมการบุกง่อก๊กครั้งใหญ่โดยความช่วยเหลือของผู้แปรพักตร์[ 67] [ 68]
เมื่ออองกี๋ได้ยินเรื่องนี้ก็สงสัยว่าเติ้ง โหยวและหลี่ กวางแสร้งทำเป็นแปรพักตร์เข้าด้วยวุยก๊ก อองกี๋จึงเขียนรายงานด่วนถึงราชสำนักว่า:[ 69] [ 70] "เราควรตรวจสอบและยืนยันเสียก่อน เราไม่ควรเร่งระดมกำลังทหารและส่งให้ยกลึกเข้าไปในแดนข้าศึก"[ 71] จากนั้นจึงเขียนรายงานต่อเนื่องไปว่า:
"[...] ตั้งแต่ศักราชเจียผิง (嘉平; ค.ศ. 249-254) เราประสบการก่อกบฏและความขัดแย้งภายในมาหลายครั้ง สิ่งสำคัญที่สุดที่เราควรทำตอนนี้คือการประกันเสถียรภาพของรัฐในระยะยาวและนำความสงบสุขมาสู่ราษฎร เราไม่ควรกระตือรือร้นเกินไปที่จะโจมตีข้าศึกและแสวงหาผลประโยชน์ภายนอก ท้ายที่สุดเราอาจได้รับชัยชนะเพียงเล็กน้อย แต่สูญเสียอย่างหนัก"[ 72] [ 73]
หลังสุมาเจียว ได้รับรายงาน 2 ฉบับของอองกี๋ในช่วงเวลาสั้น ๆ สุมาเจียวยังเห็นว่าเติ้ง โหยวและหลี่ กวางน่าสงสัย สุมาเจียวจึงสั่งให้กำลังทหารที่ระดมเข้ามาให้หยุดอยู่ ณ ตำแหน่งปัจจุบันทันทีและรอคอยคำสั่งเพิ่มเติม[ 74] อองกี๋เขียนหนังสือถึงสุมาเจียวอีกครั้งว่า:
"ในอดีต พระเจ้าฮั่นโกโจ (漢高祖 ฮั่นเกาจู่ ) ทรงต้องการฟังคำแนะนำของหลีเสง (酈生 ลี่ เชิง ) และก่อตั้งหกรณรัฐ ขึ้นใหม่ แต่พระองค์หยุดพระดำรินั้นเมื่อเตียวเหลียง (張良 จาง เหลียง ) ทัดทาน ข้าพเจ้าอาจจะไม่ชาญฉลาดอย่างหลิวโหว[ i] (留侯) แต่ข้าพเจ้าก็เกรงว่าเจ้าเมืองซงหยงกำลังทำผิดพลาดแบบเดียวกับ (ลี่) อี้จี (酈食其; คือคนเดียวกันกับหลีเสง)"[ 75]
สุมาเจียวจึงสั่งการให้กำลังทหารระแวดระวังอย่างมากในทันที จากนั้นจึงเขียนหนังสือถึงอองกี๋ตอบว่า "หลายคนที่ทำงานร่วมกันข้าเป็นเพียงคนช่างประจบประแจงที่หวังจะได้รับความโปรดปรานจากข้าผ่านการเยินยอ มีน้อยคนนักที่กล้าจะพูดออกมาอย่างตรงไปตรงมากับข้า ท่านเป็นที่รู้จักในเรื่องความจงรักภักดี ท่านมอบคำแนะนำที่ดีแก่ข้าอยู่บ่อยครั้ง ข้าควรจะฟังคำแนะนำของท่านอีกครั้ง"[ 76] เป็นไปตามที่อองกี๋สงสัย เติ้ง โหยวและหลี่กวางแสร้งทำเป็นแปรพักตร์เข้าด้วยวุยก๊ก และไม่ได้นำกำลังทหารมาตามที่ให้คำมั่นไว้[ 77]
เสียชีวิต
อองกี๋เสียชีวิตในวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 261 ขณะอายุ 72 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก )[ b] ราชสำนักวุยก๊กแต่งตั้งย้อนหลังให้อองกี๋มีตำแหน่งเสนาบดีโยธาธิการ (司空 ซือคง ) และมอบสมัญญานามให้ว่า "จิ่งโหว" (景侯 ) พร้อมด้วยบรรดาศักดิ์ "ตงอู่โหว" (東武侯 ) ซึ่งอองกี๋ปฏิเสธไปเมื่อปี ค.ศ. 258[ 78] [ 1]
ชิ้นส่วนของศิลาป้ายสุสานของอองกี๋ถูกค้นพบในนครลั่วหยาง ในช่วงศักราชเฉียนหลง (ค.ศ. 1735–1795) ในยุคราชวงศ์ชิง ความจารึกบนศิลาถูกบันทึกในเล่มที่ 56 ของเฉฺวียนซานกั๋วเหวิน (全三國文 ) ที่รวบรวมโดยเหยียน เข่อจฺวิน (嚴可均 ) ในศตวรรษที่ 19[ 1]
ครอบครัว
บุตรชายของอองกี๋ชื่อหวาง ฮุย (王徽 ) ได้สืบทอดบรรดาศักด์ของบิดาและขึ้นเป็นตงอู่โหว (東武侯 ) คนใหม่ แต่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 264 และ ค.ศ. 265 ไม่นานก่อนราชวงศ์จิ้น ขึ้นมาแทนที่รัฐวุยก๊ก ราชสำนักวุยก๊กได้ก่อตั้งระบบบรรดาศักดิ์ 5 ขั้น และตั้งให้หวาง อี้ (王廙 ) หลานชายของอองกี๋เป็นตงอู่โหวคนใหม่ มีการก่อตั้งเขตศักดินาใหม่จากครัวเรือนส่วนเกินของเขตศักดินาตงอู่ และตั้งให้บุตรชายคนหนึ่งของหวาง อี้มีบรรดาศักดิ์ระดับกวนไล่เหา (關內侯 กวานเน่ย์โหว )[ 80]
อองกี๋มีบุตรสาวชื่อหวาง ช่าน (王粲 ) มีชื่อรอง ว่านฺหวี่ อี๋ (女儀 ) สมรสกับซือหม่า หรง (司馬肜 ) ในปี ค.ศ. 264 และขึ้นเป็นพระชายาในปี ค.ศ. 266 เมื่อซือหม่า หรงได้การแต่งตั้งให้มีฐานันดรศักดิ์เลียงอ๋อง (梁王 เหลียงหวาง ) โดยราชวงศ์จิ้น หวาง ช่านสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 284 มีการตั้งศิลาป้ายสุสานเพื่อหวาง ช่านในปี ค.ศ. 288 ใกล้กับอำเภอซุยหยาง (睢陽縣 ซุยหยางเซี่ยน ; ปัจจุบันคือเขตซุยหยาง นครชางชิว มณฑลเหอหนาน )[ 81]
ในปี ค.ศ. 266 หลังราชวงศ์จิ้นขึ้นมาแทนที่รัฐวุยก๊ก ราชสำนักของราชวงศ์จิ้นออกพระราชโองการว่า:
"เสนาบดีโยธาธิการอองกี๋ผู้ล่วงลับไปแล้วได้สร้างคุณงามความดีและปฏิบัติหน้าที่ด้วยคุณธรรม แต่ท่านใช้ชีวิตอย่างถ่อมตนและสมถะ และไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการส่วนตัวใด ๆ แม้ว่าท่านดำรงตำแหน่งเป็นเวลานาน แต่ที่บ้านก็ไม่ได้มั่งคั่งมากนัก ความประพฤิตและคุณธรรมทำให้ท่านเป็นแบบอย่างที่ดีแก่มวลชน ด้วยเหตุนี้ครอบครัวของท่านจึงจะได้รับบำเหน็จเป็นข้ารับใช้สองคน"[ 82]
ดูเพิ่ม
หมายเหตุ
อ้างอิง
↑ 1.0 1.1 1.2 (... 年七十二,景元二年四月辛丑薨。) เฉฺวียนซานกั๋วเหวิน เล่มที่ 56.
↑ ("สุมาสู ก็มานะในใจยืนขึ้นจึงว่า ข้าป่วยเพียงนี้มิพอเปนไรจำจะไปเองจึงจะได้การ ก็ให้สุมาเจียว อยู่รักษาเมือง จึงให้จูกัดตุ้น นายทหารเปนแม่ทัพเมืองอิจิ๋ว ยกไปตีเมืองชิวฉุน ให้อ้าวจุ๋น นายทหารเปนแม่ทัพเมืองเซงจิ๋ว ยกไปสกัดอยู่ตำบลเจี๋ยวซองเปนทางข้าศึกจะกลับไป ให้อองตี๋ นายทหารไปตีตำบลติ่นลำ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๑" . วัชรญาณ . สืบค้นเมื่อ July 19, 2024 .
↑ ("ฝ่ายอองกิ๋ม คุมทหารตีเข้าไปทางประตูทิศตวันตก พบอีจ้วน นายทหารเมืองกังตั๋งเข้าจึงร้องว่า ท่านยังจะรบไปถึงไหน เร่งมาสมัคด้วยเราเถิดจะรอดชีวิต") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒" . วัชรญาณ . สืบค้นเมื่อ July 19, 2024 .
↑ (王基字伯輿,東萊曲城人也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (少孤,與叔父翁居。翁撫養甚篤,基亦以孝稱。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (年十七,郡召為吏,非其好也,遂去,入琅邪界游學。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (黃初中,察孝廉,除郎中。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (是時青土初定,刺史王凌特表請基為別駕,後召為秘書郎,凌復請還。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (頃之,司徒王朗辟基,淩不遣。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (朗書劾州曰:「凡家臣之良,則升于公輔,公臣之良,則入于王職,是故古者侯伯有貢士之禮。今州取宿衞之臣,留秘閣之吏,所希聞也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (淩猶不遣。淩流稱青土,蓋亦由基恊和之輔也。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (大將軍司馬宣王辟基,未至,擢為中書侍郎。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (明帝盛脩宮室,百姓勞瘁。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基上疏曰:「臣聞古人以水喻民,曰『水所以載舟,亦所以覆舟』。故在民上者,不可以不戒懼。夫民逸則慮易,苦則思難,是以先王居之以約儉,俾不至於生患。昔顏淵云東野子之御,馬力盡矣而求進不已,是以知其將敗。今事役勞苦,男女離曠,願陛下深察東野之弊,留意舟水之喻,息奔駟於未盡,節力役於未困。昔漢有天下,至孝文時唯有同姓諸侯,而賈誼憂之曰:『置火積薪之下而寢其上,因謂之安也。』今寇賊未殄,猛將擁兵,檢之則無以應敵,乆之則難以遺後,當盛明之世,不務以除患,若子孫不競,社稷之憂也。使賈誼復起,必深切於曩時矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (散騎常侍王肅著諸經傳解及論定朝儀,改易鄭玄舊說,而基據持玄義,常與抗衡。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (遷安平太守,公事去官。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ ("ฝ่ายทหารกองทัพเมืองกังตั๋งถอยไปอยู่ตำบลตันฉอง ") "สามก๊ก ตอนที่ ๘๒" . วัชรญาณ . สืบค้นเมื่อ July 23, 2024 .
↑ (時吳兵退屯安豐 ) สามก๊ก (ซานกั๋วเหยี่นอี้ ) เล่มที่ 112.
↑ (大將軍曹爽請為從事中郎,出為安豐太守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (郡接吳寇,為政清嚴有威惠,明設防備,敵不敢犯。加討寇將軍。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (吳嘗大發衆集建業,揚聲欲入攻揚州,刺史諸葛誕使基策之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基曰:「昔孫權再至合肥,一至江夏,其後全琮出廬江,朱然寇襄陽,皆無功而還。今陸遜等已死,而權年老,內無賢嗣,中無謀主。權自出則懼內釁卒起,癕疽發潰;遣將則舊將已盡,新將未信。此不過欲補定支黨,還自保護耳。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (後權竟不能出。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (時曹爽專柄,風化陵遲,基著時要論以切世事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (以疾徵還,起家為河南尹,未拜,爽伏誅,基甞為爽官屬,隨例罷。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (其年為尚書,出為荊州刺史,加揚烈將軍,隨征南王昶擊吳。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基別襲步恊於夷陵,恊閉門自守。基示以攻形,而實分兵取雄父邸閣,收米三十餘萬斛,虜安北將軍譚正,納降數千口。於是移其降民,置夷陵縣。賜爵關內侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基又表城上昶,徙江夏治之,以偪夏口,由是賊不敢輕越江。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (明制度,整軍農,兼脩學校,南方稱之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (時朝廷議欲伐吳,詔基量進趣之宜。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基對曰:「夫兵動而無功,則威名折於外,財用窮於內,故必全而後用也。若不資通川聚糧水戰之備,則雖積兵江內,無必渡之勢矣。今江陵有沮、漳二水,溉灌膏腴之田以千數。安陸左右,陂池沃衍。若水陸並農,以實軍資,然後引兵詣江陵、夷陵,分據夏口,順沮、漳,資水浮糓而下。賊知官兵有經乆之勢,則拒天誅者意沮,而向王化者益固。然後率合蠻夷以攻其內,精卒勁兵以討其外,則夏口以上必拔,而江外之郡不守。如此,吳、蜀之交絕,交絕而吳禽矣。不然,兵出之利,未可必矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (於是遂止。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (司馬景王新統政,基書戒之曰: ...) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (「天下至廣,萬機至猥,誠不可不矜矜業業,坐而待旦也。夫志正則衆邪不生,心靜則衆事不躁,思慮審定則教令不煩,親用忠良則遠近恊服。故知和遠在身,定衆在心。許允、傅嘏、袁侃、崔贊皆一時正士,有直質而無流心,可與同政事者也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (景王納其言。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (高貴鄉公即尊位,進封常樂亭侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27
↑ (毌丘儉、文欽作亂,以基為行監軍、假節,統許昌軍,適與景王會於許昌。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (景王曰:「君籌儉等何如?」基曰:「淮南之逆,非吏民思亂也,儉等誑脅迫懼,畏目下之戮,是以尚群聚耳。若大兵臨偪,必土崩瓦解,儉、欽之首,不終朝而縣於軍門矣。」景王曰:「善。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (乃令基居軍前。議者咸以儉、欽慓悍,難與爭鋒。詔基停駐。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基以為:「儉等舉軍足以深入,而乆不進者,是其詐偽已露,衆心疑沮也。今不張示威形以副民望,而停軍高壘,有似畏懦,非用兵之勢也。若或虜略民人,又州郡兵家為賊所得者,更懷離心;儉等所迫脅者,自顧罪重,不敢復還,此為錯兵無用之地,而成姦宄之源。吳寇因之,則淮南非國家之有,譙、沛、汝、豫危而不安,此計之大失也。軍宜速進據南頓,南頓有大邸閣,計足軍人四十日糧。保堅城,因積穀,先人有奪人之心,此平賊之要也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基屢請,乃聽進據濦水。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (旣至,復言曰:「兵聞拙速,未覩工遟之乆。方今外有彊寇,內有叛臣,若不時決,則事之深淺未可測也。議者多欲將軍持重。將軍持重是也,停軍不進非也。持重非不行之謂也,進而不可犯耳。今據堅城,保壁壘,以積實資虜,縣運軍糧,甚非計也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (景王欲須諸軍集到,猶尚未許。基曰:「將在軍,君令有所不受。彼得則利,我得亦利,是謂爭城,南頓是也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (遂輙進據南頓,儉等從項亦爭欲往,發十餘里,聞基先到,復還保項。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (時兖州刺史鄧艾屯樂嘉,儉使文欽將兵襲艾。基知其勢分,進兵偪項,儉衆遂敗。欽等已平,遷鎮南將軍,都督豫州諸軍事,領豫州刺史,進封安樂鄉侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (上疏求分戶二百,賜叔父子喬爵關內侯,以報叔父拊育之德。有詔特聽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (諸葛誕反,基以本官行鎮東將軍,都督揚、豫諸軍事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (時大軍在項,以賊兵精,詔基斂軍堅壘。基累啟求進討。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (會吳遣朱異來救誕,軍於安城。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基又被詔引諸軍轉據北山,基謂諸將曰:「今圍壘轉固,兵馬向集,但當精修守備以待越逸,而更移兵守險,使得放縱,雖有智者不能善後矣。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (遂守便宜上疏曰:「今與賊家對敵,當不動如山。若遷移依險,人心搖蕩,於勢大損。諸軍並據深溝高壘,衆心皆定,不可傾動,此御兵之要也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (書奏,報聽。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (大將軍司馬文王進屯丘頭,分部圍守,各有所統。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基督城東城南二十六軍,文王勑軍吏入鎮南部界,一不得有所遣。城中食盡,晝夜攻壘,基輙拒擊,破之。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (壽春旣拔,文王與基書曰:「初議者云云,求移者甚衆,時未臨履,亦謂宜然。將軍深筭利害,獨秉固志,上違詔命,下拒衆議,終至制敵禽賊,雖古人所述,不是過也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (文王欲遣諸將輕兵深入,招迎唐咨等子弟,因釁有蕩覆吳之勢。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基諫曰:「昔諸葛恪乘東關之勝,竭江表之兵,以圍新城,城旣不拔,而衆死者太半。姜維因洮上之利,輕兵深入,糧餉不繼,軍覆上邽。夫大捷之後,上下輕敵,輕敵則慮難不深。今賊新敗於外,又內患未弭,是其脩備設慮之時也。且兵出踰年,人有歸志,今俘馘十萬,罪人斯得,自歷代征伐,未有全兵獨克如今之盛者也。武皇帝克袁紹於官渡,自以所獲已多,不復追奔,懼挫威也。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (文王乃止。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (以淮南初定,轉基為征東將軍,都督揚州諸軍事,進封東武侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基上疏固讓,歸功參佐,由是長史司馬等七人皆侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (是歲,基母卒,詔祕其凶問,迎基父豹喪合葬洛陽,追贈豹北海太守。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (甘露四年,轉為征南將軍,都督荊州諸軍事。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (常道鄉公即尊位,增邑千戶,并前五千七百戶。前後封子二人亭侯、關內侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ 66.0 66.1 (司馬彪戰畧載基此事,詳於本傳。曰:「景元二年春三月,襄陽太守胡烈表上『吳賊鄧由、李光等,同謀十八屯,欲來歸化,遣將張吳、鄧生,并送質任。克期欲令郡軍臨江迎拔』。) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (景元二年,襄陽太守表吳賊鄧由等欲來歸化,基被詔,當因此震蕩江表。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (大將軍司馬文王啟聞。詔征南將軍王基部分諸軍,使烈督萬人徑造沮水,荊州、義陽南屯宜城,承書夙發。若由等如期到者,便當因此震蕩江表。) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基疑其詐,馳驛陳狀。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基疑賊詐降,誘致官兵,馳驛止文王,說由等可疑之狀。) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (『且當清澄,未宜便舉重兵深入應之』。) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (且曰:「嘉平以來,累有內難,當今之務,在於鎮安社稷,綏寧百姓,未宜動衆以求外利。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (又曰:『夷陵東道,當由車御,至赤岸乃得渡坦,西道當出箭谿口,乃趣平土,皆山險狹,竹木叢蔚,卒有要害,弩馬不陳。今者筋角弩弱,水潦方降,廢盛農之務,徼難必之利,此事之危者也。昔子午之役,兵行數百里而值霖雨,橋閣破壞,後糧腐敗,前軍縣乏。姜維深入,不待輜重,士衆飢餓,覆軍上邽。文欽、唐咨,舉吳重兵,昧利壽春,身歿不反。此皆近事之鑒戒也。嘉平以來,累有內難。當今之宜,當鎮安社稷,撫寧上下,力農務本,懷柔百姓,未宜動衆以求外利也。得之未足為多,失之傷損威重。』) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (文王累得基書,意疑。尋勑諸軍已上道者,且權停住所在,須後節度。) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (基又言於文王曰:『昔漢祖納酈生之說,欲封六國,寤張良之謀,而趣銷印。基謀慮淺短,誠不及留侯,亦懼襄陽有食其之謬。』) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (文王報書曰:「凡處事者,多曲相從順,鮮能確然共盡理實。誠感忠愛,每見規示,輙敬依來指。」後由等竟不降。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (文王於是遂罷軍嚴,後由等果不降。」) อรรถาธิบายจากจ้านเลฺว่ ของซือหม่า เปียวในสามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (是歲基薨,追贈司空,謚曰景侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (子徽嗣,早卒。咸熈中,開建五等,以基著勳前朝,改封基孫廙,而以東武餘邑賜一子爵關內侯。) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
↑ (蠡臺直東,又有一臺,世謂之雀臺也。城內東西道北,有晉梁王妃王氏陵表,竝列二碑,碑云:妃諱粲,字女儀,東萊曲城人也。齊北海府君之孫,司空東武景侯之季女,咸熙元年嬪於司馬氏,泰始二年妃於國,太康五年薨,營陵於新蒙之,太康九年立碑。) ฉุ่ยจิงจู้ เล่มที่ 24.
↑ (晉室踐阼,下詔曰:「故司空王基旣著德立勳,又治身清素,不營產業,乆在重任,家無私積,可謂身沒行顯,足用勵俗者也。其以奴婢二人賜其家。」) สามก๊กจี่ เล่มที่ 27.
บรรณานุกรม
จักรพรรดิ จักรพรรดินี เจ้าชายและราชนิกูลชาย เจ้าหญิงและราชนิกูลหญิง ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ข้าราชการฝ่ายทหาร สตรีที่มีชื่อเสียง บุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ