คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะวิชาที่จัดตั้งขึ้นเป็นอันดับ 2 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ภายในการนำของหลวงดำริอิสรานุวรรตน์ จัดการเรียนการสอนด้านการบัญชี และการบริหารธุรกิจ ด้วยวิสัยทัศน์ของการมุ่งไปสู่การเป็น "ต้นแบบของสถาบันการศึกษาและวิจัยด้านการบัญชี และบริหารธุรกิจที่ดีที่สุดของประเทศไทย" (Thailand's Best Business School Model)[1]
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ "Thammasat Business School – TBS" มีอายุครบ 85 ปีในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
ในระยะเริ่มแรกได้ก่อตั้งเป็น "แผนกวิชาการบัญชี" โดยเปิดสอน 2 หลักสูตร คือ
ปัจจุบัน การจัดการเรียนการสอนมีครบทั้ง 3 ระดับ คือ ปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก มีทั้งหลักสูตรภาษาไทย และหลักสูตรนานาชาติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะที่มีอัตราการแข่งขันสูงในระบบรับตรงรวมทั้งในระบบแอดมิดชั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักสูตรนานาชาติหรือ BBA
ในระดับปริญญาโท หลักสูตร MBA ได้รับการยอมรับมาอย่างยาวนานจากแวดวงธุรกิจว่าดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยในปี ค.ศ. 2024 QS Global MBA Ranking จัดอันดับให้หลักสูตร MBA ของธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School) เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย อันดับ 1 ของเอเชีย ในเรื่อง Return on Investment อันดับ 8 ของเอเชียในแง่ภาพรวม และเป็นอันดับที่ 64 ของโลก[2]
ปัจจุบันคณะฯได้ผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่รับใช้สังคมในทุกหน่วยงานอันเป็นผู้นำในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในแวดวงธุรกิจเป็นจำนวนมากอีกทั้งศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงทั้งในวงการธุรกิจไม่ว่าจะเป็นทั้งระดับไทยและนานาชาติ
เดิมมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปิดสอนหลักสูตรการศึกษาเฉพาะวิชากฎหมาย เมื่อสำเร็จการศึกษาได้รับปริญญาธรรมศาสตรบัณฑิตแล้วจึงแยกออกไปศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2478 วิชาการบัญชีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเป็นวิชาหนึ่งในหลักสูตรปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ โดยมีหลวงดำริอิศรานุวรรตน์ เป็นผู้สอน
ในสมัยนั้นวิชาการบัญชียังไม่แพร่หลาย ยังมิได้มีการบันทึกบัญชีเป็นกิจจะลักษณะ ผู้มีความรู้ทางการบัญชีจริง ๆ มีน้อยมากเพียง 3 – 4 คนเท่านั้น และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ หลวงดำริอิศรานุวรรตน์ ผู้มีบทบาทในการก่อตั้งและพัฒนาวิชาการบัญชี เป็นผู้ริเริ่มให้มีกฎหมายรับรองการจัดตั้งสภาบัญชี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมวิชาชีพสอบบัญชี และเพื่อเป็นองค์กรให้รัฐบาลในการจัดดำเนินการทดสอบความชำนาญงานทางบัญชีเพื่อออกประกาศนียบัตรวิชาชีพรับรองว่าผู้นั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ทางการบัญชี ดีพอที่จะเป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตอิสระได้
รัฐบาลในสมัยนั้นพิจารณาเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะจัดตั้งสภาบัญชี เนื่องจากผู้มีความรู้ทางบัญชีน้อยมาก จึงเห็นว่าควรจะส่งเสริมในการให้วิชาความรู้ทางการบัญชีให้แพร่หลาย ดังนั้นหลวงดำริอิศรานุวรรตน์ จึงได้ขอให้รัฐบาลรับนโยบายอนุมัติให้มีการศึกษาวิชาการบัญชีที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยระยะแรกได้ก่อตั้ง “แผนกวิชาการบัญชี” เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 จึงถือว่าคณะฯ ได้ใช้เป็นวันสถาปนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และได้มีการดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรให้เทียบเท่ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน
QS Master of Management Ranking 2024
MBA THAMMASAT
อันดับ 1 ของประเทศไทย
อันดับ 8 ของเอเชีย
อันดับ 64 ของโลก
QS Global MBA Ranking 2024
GEMBA THAMMASAT
อันดับ 1 ของ Asia ในเรื่อง Return on Investment
อันดับ 21 ของเอเชีย
อันดับ 131 – 140 ของโลก
สัญลักษณ์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ เรือสำเภา
สีฟ้า–สีขาว
หลักสูตร 4 ปี ศึกษาที่ศูนย์รังสิต
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต (บช.บ.) 1 สาขาวิชา
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) 7 สาขาวิชา
หลักสูตร 4 ปี นานาชาติ (BBA) ศึกษาที่ท่าพระจันทร์
หลักสูตรบูรณาการปริญญาตรี-โท 5 ปี (IBMP) ศึกษาที่ท่าพระจันทร์ ปริญญาตรี
ปริญญาโท
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต : MBA
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ : MRE
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ : MSMIS
หลักสูตรบัญชีมหาบัณฑิต (หลักสูตรสองภาษา) : MAP
หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน (หลักสูตรนานาชาติ) : MIF
หลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการธุรกิจสากล (หลักสูตรนานาชาติ) : GEMBA
หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารธุรกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) : PhD
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการรับรองวิทยฐานะ European Quality Improvement System (EQUIS) อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นโครงการประกันคุณภาพระดับโลกของมูลนิธิ เพื่อพัฒนาด้านการจัดการแห่งยุโรป หรือ European Foundation for Management Development (EFMD) โดยการรับรองวิทยฐานะ EQUIS ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั้งระดับปริญญาตรี–ปริญญาโท–และปริญญาเอกจากกรรมการผู้ประเมินคุณภาพ EQUIS Review Committee ในการรับรองมาตรฐาน ได้มีการตรวจเข้มโดยใช้มาตรฐานเดียวกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับนานาชาติในทุก ๆ ด้าน อาทิ
ทั้งนี้ EFMD ได้มีการรับรองวิทยฐานะ EQUIS ให้กับสถาบันด้านบริหารธุรกิจชั้นนำทั่วโลกรวมถึง INSEAD (France), London Business School (UK), Cambridge Business School (UK), Melbourne Business School (Australia), Tsinghua University School of Economics and Management (China), NUS Business School (Singapore) เป็นต้น
ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาจาก The Association to Advance Collegiate Schools of Business (AACSB) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็นหนึ่งในคณะบริหารธุรกิจชั้นนำของโลก ทั้งทางด้านวิชาการ ระบบการจัดการ งานวิจัย และ การพัฒนานวัตกรรม มาตรฐานการรับรอง จาก AACSB เป็นการรับรองที่มีคุณค่ายิ่ง เนื่องจากคณะบริหารธุรกิจมีไม่ถึง 5 เปอร์เซนต์ของทั่วโลก ที่จะได้รับมาตรฐานนี้ การได้รับคัดเลือกจาก AACSB เป็นหนึ่งในความสำเร็จ ที่ยิ่งใหญ่ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะมีเพียง 4 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของไทย และ ในสิงคโปร์คือ NUS, SMU, NANYANG ที่ได้รับคัดเลือกให้ผ่านมาตรฐานจากทั้ง AACSB และ EQUIS ในทุกระดับชั้น ตั้งแต่ปริญญาตรี โท และ เอก
ในวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาจาก AMBA The Association of MBAs (AMBA) จากประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) โดยเฉพาะหลักสูตรและนวัตกรรมการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจในระดับบัณฑิตศึกษา (ในระดับปริญญาโทบริหารธุริจ MBA)
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจแห่งแรกในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาครบถ้วน หรือ “Triple Crown accreditation” จากทั้ง 3 สถาบันรับรองคุณภาพการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ AACSB, AMBA, และ EQUIS ที่มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นที่ยอมรับที่สุดทั่วโลก มีสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจไม่ถึง 100 แห่งทั่วโลก ที่ได้รับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาครบถ้วน (Triple Crown accreditation) จากทั้ง 3 สถาบันนี้