อุทุมพรพิสัย เป็นเทศบาลตำบลในอำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ[2] เป็น 1 ในจำนวนเทศบาลตำบล 23 แห่งของจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน
อาณาเขต
ครอบคลุมบางส่วนของตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย โดยมีอาณาเขตในทิศทางต่างๆ ดังนี้
ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลสำโรง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศใต้ ติดกับ ตำบลก้านเหลือง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลแต้ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลสระกำแพงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
ประวัติ
เทศบาลตำบลอุทุมพรพิสัย เดิมมีฐานะเป็น "อบต.กำแพง" ได้เปลี่ยนแปลงและยกฐานะจากเทศบาลตำบลอุทุมพรพิสัย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการจัดตั้งเทศบาลตำบลอุทุมพรพิสัย ให้เป็นเทศบาลตำบลอุทุมพรพิสัย เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2552
โครงสร้างการบริหารและปฏิบัติราชการ
- ฝ่ายบริหาร ได้แก่ คณะเทศมนตรี ประกอบด้วยนายกเทศมนตรี 1 คน รองนายกเทศมนตรี 2 คน ที่ปรึกษานายกเทศมนตรี 1 คน และเลขานุการนายกเทศมนตรี 1 คน
- ฝ่ายนิติบัญญัติ(ควบคุมฝ่ายบริหาร) ได้แก่ สภาเทศบาล และควบคุมฝ่ายบริหาร ประกอบด้วยสมาชิกสภาเทศบาลที่มาจากการเลือกตั้งจำนวน 12 คน ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี มีประธานสภา 1 คน รองประธานสภา 1 คน
- การปฏิบัติราชการ มีปลัดเทศบาล เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานเทศบาลและพนักงานจ้างเทศบาล มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการควบคุมดูแลราชการประจำของเทศบาลให้เป็นไปตามนโยบาย ประกอบด้วยส่วนการบริหารคือ สำนักงานปลัดเทศบาล กองการศึกษา กองคลัง กองช่าง และกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
เขตการปกครอง
เขตการปกครองภายในพื้นที่เทศบาลแบ่งออกเป็น 9 ชุมชน
เศรษฐกิจ
หน่วยธุรกิจในเขตเทศบาล
- ประเภทพาณิชยกรรม : ร้านจำหน่ายของชำ ร้านค้าเสื้อผ้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ปั้มน้ำมัน ร้านเสริมสวย ร้านจำหน่ายยานพาหนะ เทสโก้ โลตัส
- ประเภทอุตสาหกรรม : โรงซ่อมสร้างเครื่องยนต์ โรงสีข้าว
- ประเภทบริการธุรกรรมทางการเงิน : ธนาคารพาณิชย์ทั้งของรัฐบาลและเอกชน (ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย)
โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค
การขนส่ง
- ทางรถยนต์ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (นครราชสีมา-บุรีรัมย์-สุรินทร์-ศรีสะเกษ-อุบลราชธานี) เส้นทางดังกล่าวนี้เชื่อมระหว่างตัวจังหวัดศรีสะเกษกับเขตเทศบาลตำบลกำแพง(ตัวอำเภออุทุมพรพิสัย) โดยจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ มาตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 226 (ช่วงศรีสะเกษ-สุรินทร์)เป็นระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร มีรถโดยสารประจำทางให้บริการคือรถตู้ปรับอากาศสายศรีสะเกษ-สุรินทร์ และรถบัสสายศรีสะเกษ-อุทุมพรพิสัย
นอกจากนั้น ยังมีบริการรถยนต์โดยสารปรับอากาศจากต้นทางในจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอุบลราชธานี หยุดรับส่งผู้โดยสารจากอำเภออุทุมพรพิสัย ปลายทางกรุงเทพมหานคร
- ทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ(นครราชสีมา-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี)มีบริการรถไฟธรรมดา รถเร็ว รถด่วนและรถด่วนพิเศษ หยุดรับ-ส่ง ผู้โดยสารที่สถานีรถไฟอุทุมพรพิสัย ในเขตเทศบาลตำบลกำแพง
โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ
- ชุมสายโทรศัพท์และโทรคมนาคม 1 แห่ง (ชุมสายโทรศัพท์และโทรคมนาคมอุทุมพรพิสัย)
- ที่ทำการไปรษณีย์ 1 แห่ง (ไปรษณีย์ไทย อุทุมพรพิสัย)
- พลังงานไฟฟ้า ได้รับบริการจากสำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำเภออุทุมพรพิสัย
- การประปาและแหล่งน้ำธรรมชาติ ได้รับบริการน้ำประปาจากการประปาส่วนภูมิภาค อำเภออุทุมพรพิสัย
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น