มหาอำมาตย์โท พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) (จีน: 許心美; พินอิน: Xū Xīnměi "ซวี ซินเม่ย์"; เป่อ่วยยี: Khó͘ Sim-bí "คอ ซิมบี๊", 8 เมษายน พ.ศ. 2400 – 10 เมษายน พ.ศ. 2456) เป็นข้าราชการชาวไทย ระหว่างเป็นเจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าจนกลายเป็นเมืองเกษตรกรรม จึงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นสมุหเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลภูเก็ต และเป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล ณ ระนอง
คอซิมบี๊ ณ ระนอง เกิดที่ตำบลเขานิเวศน์ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนองเมื่อวันพุธ ขึ้น 14 เดือน 5 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2400 เป็นบุตรคนสุดท้องของพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซู้เจียง ณ ระนอง) ซึ่งเป็นชาวจีนฮกเกี้ยนที่อพยพมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 3 และนางกิม ณ ระนอง ชื่อ "ซิมบี๊" เป็นภาษาฮกเกี้ยน แปลว่า "ผู้มีจิตใจดีงาม" เมื่ออายุได้ 9 ปี ได้ติดตามบิดาเดินทางกลับไปประเทศจีนและอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2 ปี ทำให้ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ และได้ดูแลกิจการแทนบิดา ทั้ง ๆ ที่มิได้เรียนหนังสือ มีความรู้หนังสือเพียงแค่ลงลายมือชื่อตนได้เท่านั้น แต่มีความสามารถพูดได้ถึง 9 ภาษา บิดาจึงหวังจะให้สืบทอดกิจการการค้าแทนตน มิได้ประสงค์จะให้รับราชการเลย
บิดาถึงแก่กรรมขณะคอซิมบี๊อายุได้ 25 ปี พระยารัตนเศรษฐี (คอซิมก้อง ณ ระนอง) ผู้เป็นพี่ชาย (ต่อมามีบรรดาศักดิ์เป็น พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี สมุหเทศาภิบาลมณฑลสุราษฎร์) ได้นำเข้ารับราชการเป็นครั้งแรก โดยเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงบริรักษ์โลหวิสัย ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ต่อมา ได้เลื่อนเป็นผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี บรรดาศักดิ์ พระอัษฎงคตทิศรักษา ถือศักดินา ๓๐๐๐ เมื่อวันอังคาร เดือน 12 ขึ้น 11 ค่ำ ปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับปี 2428[1]แล้วได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ถือศักดินา ๓๐๐๐ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2433 [2] ทั้งนี้ เนื่องจากราษฎรชาวตรังได้ยื่นฎีกาถวายความว่า เจ้าเมืองตรังคนก่อนคือ พระยาตรังคภูมิภาบาล (เอี่ยม ณ นคร) กดขี่ข่มเหงราษฎรทั้งที่สภาพเศรษฐกิจไม่ดี
พระยารัษฎานุประดิษฐ์ เมื่อรับตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้พัฒนาปรับปรุงสภาพหลายอย่างในเมืองตรังให้เจริญรุ่งเรืองหลายอย่าง ด้วยกุศโลบาลส่วนตัวที่แยบยล เช่น การตัดถนนที่ไม่มีผู้ใดเหมือน รวมทั้งส่งเสริมชาวบ้านให้กระทำการเกษตร เช่น ให้เลี้ยงไก่โดยบอกว่า เจ้าเมืองต้องการไข่ไก่ ให้เอากาฝากออกจากต้นไม้ โดยบอกว่าเจ้าเมืองต้องการเอาไปทำยา ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ และยางพารา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการนำยางพารามาปลูกที่ภาคใต้ จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญเช่นในปัจจุบัน
ในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้จัดตั้งกองโปลิศภูธรขึ้นแล้วซื้อเรือกลไฟไว้เป็นพาหนะตรวจลาดตระเวน บังคับให้ทุกบ้านเรือนต้องมีเกราะตีเตือนภัยไว้หน้าบ้าน หากบ้านใดได้ยินเสียงเกราะแล้วไม่ตีรับจะมีโทษ เป็นต้น
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มีวิธีการบริหารปกครองแบบไม่มีใครเหมือน โดยใช้หลักเมตตาเหมือนพ่อที่มีต่อลูก เช่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามนโยบายก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก แต่การลงโทษนั้นให้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่คนผู้นั้น เช่น ให้ไปทำนา เป็นต้น ชาวบ้านถือมีดพร้าผ่านมาก็จะขอดู ถ้าพบว่าขึ้นสนิมก็จะดุกล่าวตักเตือน แม้แต่ข้าราชการก็อาจถูกตีศีรษะได้ต่อหน้าธารกำนัลถ้าทำผิด หรือแม้กระทั่งดูแลให้ชาวบ้านสวมเสื้อเวลาออกจากบ้าน
พระยารัษฎานุประดิษฐ์ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรังนาน 11 ปี ในปี พ.ศ. 2444 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต รับผิดชอบดูแลหัวเมืองตะวันตก ตั้งแต่ภูเก็ต ตรัง กระบี่ พังงา ตะกั่วป่า ระนอง และสตูล มีผลงานเป็นที่เลื่องลือไปถึงหัวเมืองมลายูและปีนัง จนถึงสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี แต่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ได้ปฏิเสธ จึงได้ทรงจะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ ซึ่งพระยารัษฎาฯ ก็ได้ปฏิเสธไปอีกอย่างนิ่มนวล โดยขอเป็นเพียงสมุหเทศาภิบาล มณฑลภูเก็ต เช่นเดิมต่อไป จากนั้น จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสายสะพายช้างเผือกชั้นที่ 1 และทรงถือว่า พระยารัษฎาฯ เป็นพระสหาย สามารถห้อยกระบี่เข้าเฝ้าฯ โดยพระบรมราชานุญาตพิเศษ
พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2456[3] ณ บ้านจักรพงษ์ ปีนัง ด้วยสาเหตุเจ็บป่วยจากการถูกหมอจันทร์ หรือ นายเรือเอก จันทร์ บริบาล[4] หมอทหารเรือคนสนิทยิงเข้าที่แขน[5]: 44 พร้อมกับพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด ณ ระนอง) หลานชายซึ่งถูกยิงเข้าที่ขาด้วยปืนบราวนิง[5]: 44 ที่ท่าเทียบเรือกันตังเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2456 สิริอายุได้ 56 ปี นายแพทย์เยซี แบทซ์ เบิกความยืนยันว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคประจำตัว ไม่ใช่เหตุที่ถูกกระสุนปืน แต่เหตุที่ถูกกระสุนปืนนั้นเป็นต้นเหตุให้ถึงแก่อนิจกรรมเร็วกว่าโรคที่เป็นอยู่[5]: 45 ส่วนหมอจันทร์ถูกศาลพิพากษาให้ประหารชีวิตตาม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๖ (พ.ศ. ๒๔๕๗) ฐานฆ่าพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เกียด ณ ระนอง) โดยเจตนา[5]: 45 เรื่องเล่าเหตุการณ์ฆาตกรรมของหมอจันทร์มีบันทึกอยู่ในวรรณกรรมชื่อ บทแหล่หมอจันทร์ หรือ แหล่เทศน์หมอจันทร์[4]
เมื่ออนิจกรรม หลวงบริรักษ์โลหวิสัย (คอยู่จ๋าย) บุตรชายได้รับหนังสือแสดงความเสียใจจากบุคคลต่าง ๆ รวมถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีใจความว่า
เรามีความเศร้าสลดอย่างยิ่งในอนิจกรรมของบิดาเจ้า ผู้ซึ่งเรายกย่องอย่างสูง ไม่เฉพาะที่เป็นข้าราชการเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นเพื่อนผู้หนึ่ง ซึ่งเราเศร้าสลดที่ต้องสูญเสียไปเช่นนั้น จงรับความเศร้าสลดและเห็นใจอย่างแท้จริงจากเราด้วย
ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2456 หนังสือพิมพ์ สเตรตส์ เอโก และหนังสือพิมพ์ปีนังกาเซ็ต ที่ตีพิมพ์ในปีนังก็ได้ลงบทความไว้อาลัยต่อการจากไปของพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี พร้อมทั้งยกย่องว่าเป็นสมุหเทศาภิบาลที่ยอดเยี่ยมมมาก ยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือนทั้งในอดีตและอนาคต
วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2456 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โปรดฯ ให้พระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิรยศิริ) รองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และคณะบุคคลเชิญพวงมาลา เครื่องขมาศพ และเครื่องเกียรติยศ ไปพระราชทานศพพระยารัษฎานุประดิษฐ์ ในการฝังศพที่จัดขึ้นที่เมืองระนอง ในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2456[6]
ปัจจุบัน อนุสาวรีย์ของพระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี ตั้งอยู่ที่สวนสาธารณะเทศบาลนครตรัง ห่างจากใจกลางเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร และอยู่บนเขารัง จังหวัดภูเก็ต
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งยางพาราไทย[7]: 347 ซึ่งเขากับพระสถลสถานพิทักษ์ (คอยู่เคียด ณ ระนอง) หลานชาย เป็นผู้นำเมล็ดยางพารามาปลูกในประเทศไทยเป็นคนแรก[8]: 72 โดยลอบนำเมล็ดยางจากหัวเมืองมลายู (ภายใต้การปกครองของอาณานิคมอังกฤษ) นำมาห่อสำลีชุบน้ำบรรจุประป๋องขนมแคร็กเกอร์ลงเรือกลับเมืองตรัง[8]: 72
เมื่อ พ.ศ. 2547 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้วันที่ 10 เมษายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันถึงแก่อนิจกรรมของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เป็น วันยางพาราแห่งชาติ ให้ถือเป็นวันสำคัญแห่งชาติของทุกปีเพื่อเป็นอนุสรณ์[9]: 322
รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ได้แต่งบทร้อยกรองเรื่อง ใครนำยางพารามาสู่ถิ่น? เพื่อสดุดีบิดาแห่งยางพาราของประเทศไทย[8]: 80
ตัวอย่างคำประพันธ์ (บางส่วน)
{{cite journal}}
|journal=