ฐานันดรศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือ

ฐานันดรศักดิ์เจ้านายฝ่ายเหนือ หมายถึง ระบบชั้น และชั้นยศของเจ้านายประเทศราชฝ่ายเหนือ ซึ่งประกอบด้วยนครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน และนครแพร่

สมัยอาณาจักรล้านนา

ในสมัยอาณาจักรล้านนา มีกษัตริย์และราชวงค์สืบทอดกันมายาวนาน

  • พญา หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน พระมหากษัตริย์ เจ้าอยู่หัว เช่น พญามังราย ปฐมกษัตริย์ราชอาณาจักรล้านนา พญาญี่บากษัตริย์แห่งลำพูน[1]
  • ขุน เช่น ขุนเครือผู้ครองเมืองพร้าว
  • ท้าว เช่น ท้าวน้ำท่วมผู้ครองเมืองฝางและเมืองเชียงตุง ท้าวช้อยผู้ครองเมืองฝาง ท้าวลกผู้ครองเมืองพร้าว
  • เจ้าหลวง
  • เจ้าป้อ เช่น เจ้าป้อประตูผา กษัตริย์เมืองงาว

เจ้านายฝ่ายหญิง มีพระอิสริยยศ ดังนี้

สมัยเข้าเป็นประเทศราชของสยาม

พระเป็นเจ้าทั้งสาม

ชาวยวนตั้งแต่สมัยอาณาจักรล้านนาเรียกเจ้าผู้ครองนครว่าพญา (พงศาวดารสยามสะกดว่าพระยา)[2] ต่อมาจึงมีตำแหน่งพระมหาอุปราชเรียกว่าเจ้าหอหน้า[3]

ปี พ.ศ. 2325 เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขึ้นครองราชย์ พระยากาวิละเจ้าเมืองนครลำปางได้พาพี่น้องลงมาเข้าเฝ้าสวามิภักดิ์ จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระยากาวิละขึ้นเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองนครเชียงใหม่ พร้อมทั้งตั้งเจ้าธรรมลังกาเป็นพระยาอุปราชนครเชียงใหม่ และเจ้าคำฟั่นเป็นพระยารัตนหัวเมืองแก้ว[4] "ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่" เรียกเจ้านายทั้งสามพระองค์นี้ว่าพระเป็นเจ้าทั้ง 3 พระองค์พี่น้อง[5] โดยพระยาอุปราชเป็นวังหน้าและพระยารัตนะหัวเมืองแก้วเป็นวังหลัง[6]

เจ้าขันห้าใบ

ในปี พ.ศ. 2366 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระยาเมืองแก้วประจำนครเชียงใหม่เป็นครั้งแรก[7] ถึงปี พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงตั้งตำแหน่งพระยาเมืองแก้วและพระยาราชบุตรขึ้นสำหรับนครลำปางและนครลำพูน[8] ทำให้เกิดตำแหน่ง "เจ้าขันห้าใบ" ขึ้นเป็นครั้งแรกในนครลำปางและนครลำพูน ต่อมาปี พ.ศ. 2386 จึงทรงตั้งเจ้าขันทั้งห้าสำหรับเมืองพะเยาด้วย[9]

ในปี พ.ศ. 2398 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเลื่อนยศเจ้าขันห้าของเมืองประเทศราชอันใหญ่ ได้แก่ นครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครลำพูน จากพระยาขึ้นเป็นเจ้าทั้ง 3 เมือง ส่วนเมืองขึ้นให้คงเป็นพระยาอยู่ตามเดิม[10] และปีต่อมาเจ้าขันห้าของนครน่านก็ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าด้วย[11]

เจ้าขันห้าใบ ประกอบด้วย เจ้าห้าตำแหน่ง คือ[12]

  1. เจ้านคร หรือ เจ้าหลวง หรือ เจ้าหอคำ หมายถึง เจ้าผู้ครองนคร มีอำนาจเฉกเช่นพระมหากษัตริย์ มีพานทองคำกลมเครื่องพร้อมเป็นเครื่อยศ เจ้าหลวงที่ทรงอำนาจมากจะเรียกว่า เจ้ามหาชีวิต ดังข้าราชการอังกฤษที่เดินทางมาติดต่อกับเจ้านายล้านนาพบว่า เจ้าหลวงนั้นเป็น"...ผู้นำอิสระที่มีอำนาจเหนือคนในบังคับของตนและเหนือทรัพย์สินรายได้ เป็นผู้สร้างและบังคับใช้กฎหมาย ควบคุมวัดวาอารามและมีพระสงฆ์เป็นผู้รับใช้ ไม่มีกองทัพบกหรือกองทัพเรือ แต่ถ้ามีก็จะอยู่ภายใต้อำนาจพระองค์..."[13]
  2. เจ้าอุปราช หรือ เจ้าหอหน้า มีพานทองคำเหลี่ยมเครื่องพร้อมเป็นเครื่องยศ เป็นเจ้านายที่ทรงอิทธิพลมากกว่าเจ้านายองค์อื่น ๆ บางครั้งเจ้าหอหน้าบางองค์ มีอิทธิพลเหนือเจ้าหลวงด้วย ในยามที่เจ้าหลวงไม่ได้ประทับในนครหลวง ประชวร หรือถึงแก่พิราลัย ระหว่างรอการแต่งตั้งเจ้าหลวงองค์ใหม่ เจ้าหอหน้าจะทำหน้าที่แทน ชาวต่างประเทศที่มาติดต่อกับล้านนาต้องเข้าพบเจ้าหอหน้าก่อนที่จะพบกับเจ้าหลวง เจ้าหอหน้าบางองค์ สามารถเพิกถอนโองการของเจ้าหลวงได้[14]
  3. เจ้าราชวงศ์ มักเป็นอนุชาในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ หรือเป็นโอรสในเจ้าหลวงองค์ก่อน มีพานเงินกลีบบัวถมยาดำเป็นเครื่องยศ
  4. เจ้าบุรีรัตน์ หรือที่ก่อนรัชกาลที่ 4 เรียกว่า เจ้าหอเมืองแก้ว มักเป็นโอรสในเจ้าหลวงองค์ก่อน หรือเป็นโอรสในเจ้าห้าขันเดิม มีพานเงินกลีบบัวกลมเป็นเครื่องยศ
  5. เจ้าราชบุตร เป็นโอรสในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ มีพานเงินกลีบบัวกลมเป็นเครื่องยศ หากเจ้าหลวงถึงแก่พิราลัยแล้วผู้อื่นได้ขึ้นเป็นเจ้าหลวงแทน เจ้าหลวงองค์ใหม่จะเลื่อนเจ้าราชบุตรขึ้นเป็นเจ้าบุรีรัตน์หรือเจ้าราชวงศ์

นายโฮลต์ ฮัลเลต์ นักสำรวจชาวอังกฤษ ได้เคยเขียนบันทึกระบุถึงเจ้าห้าขันไว้ว่า

...ที่ดินทั้งหมดเปนของเจ้าผู้ทรงอำนาจสูงสุดทั้งห้าคน ซึ่งประกอบกันเปนรัฐบาล เขาทั้งหลายให้ที่ดินแก่เจ้านายแลขุนนาง... ซึ่งจะได้รับข้าวหนึ่งตระกร้า...เป็นภาษีที่ดินหรือค่าเช่าที่ดิน...[15]

— มิสเตอร์ โฮลต์ ฮัลเลต์

เจ้าตำแหน่งรองและตำแหน่งพิเศษ

เจ้าตำแหน่งรอง เป็นตำแหน่งเจ้านายระดับรองลงมาจากเจ้าขันห้าใบ ประกอบด้วย

  1. เจ้าสุริยวงษ์
  2. เจ้าราชสัมพันธวงษ์
  3. เจ้าราชภาคินัย
  4. เจ้าราชภาติกวงษ์
  5. เจ้าอุตรการโกศล
  6. เจ้าไชยสงคราม

    เฉพาะตำแหน่งเจ้าราชภาคิไนยที่ตั้งในรัชกาลที่ 4 ตำแหน่งที่เหลือเริ่มตั้งในรัชกาลที่ 5

เจ้าตำแหน่งพิเศษ เป็นตำแหน่งเจ้านายระดับรองลงมาจากเจ้าขันห้าใบและระดับรอง ประกอบด้วย[16]

  1. เจ้าราชดนัย (มีเฉพาะ นครน่าน)
  2. เจ้าทักษิณนิเขตน์/ทักษิณเกษตร
  3. เจ้านิเวศน์อุดร
  4. เจ้าประพันธ์พงษ์
  5. เจ้าวรญาติ
  6. เจ้าราชญาติ
  7. เจ้าวรวงศ์ (มีเฉพาะ นครลำปาง)
  8. เจ้าไชยวรเชษฐ์

นอกจากนี้ยังมีเจ้าระดับรองมีตำแหน่งเป็น ”พระ“ ประกอบด้วย 15 ตำแหน่ง คือ

  1. พระสุริยะจางวาง
  2. พระเมืองราชา
  3. พระอุตรการโกศล
  4. พระไชยสงคราม
  5. พระอินทราชา
  6. พระจันทราชา
  7. พระอินทวิไชย
  8. พระวิไชยราชา
  9. พระไชยราชา (เจ้าตำแหน่งที่ 1 ถึง 9 สามารถเลื่อนขึ้นไปเป็นเจ้าขันห้าได้)
  10. พระวังขวา (นครน่าน ได้เป็น ”พระยาวังขวา“ เป็นกรณีพิเศษ)
  11. พระวังซ้าย (นครน่าน ได้เป็น ”พระยาวังซ้าย“ เป็นกรณีพิเศษ)
  12. พระเมืองไชย
  13. พระเมืองแก่น
  14. พระถาง
  15. พระคำลือ (เจ้าตำแหน่งที่ 10 ถึง 15 ไม่สามารถเลื่อนขึ้นไปตำแหน่งที่ 1 ถึง 9 และเจ้าขันห้าได้)

ในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์ เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์แห่งสยาม ที่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้แก่เจ้านาย ตามที่เจ้าประเทศราชขอกราบบังคมทูลเสนอมา

อนึ่ง เจ้าระดับรองของนครแพร่ ถึงแม้จะมีตำแหน่งเป็นชั้น "พระ" แต่ภายในล้านนาหรือในนครแพร่เองก็จะได้รับการยอมรับว่ามีฐานันดรศักดิ์สูงกว่ากลุ่มขุนนางเค้าสนามหลวงที่มาจากไพร่และเจ้าผู้ครองนครเป็นผู้แต่งตั้ง เพราะเจ้าระดับรองลงมาเหล่านี้ล้วนเป็นเชื้อพระวงศ์สืบเชื้อสายมาจากเจ้าผู้ครองนครแพร่ หรืออาจเป็นขุนนางเป็นคหบดีที่ได้เสกสมรสกับราชธิดานัดดาของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ซึ่งมักเรียกกันว่า "เจ้าพระ"

— [17]

เจ้านายฝ่ายหญิง

เจ้านายฝ่ายหญิง มีอิสริยยศ ดังนี้

  • มหาเทวี หมายถึง พระมารดาในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ และเป็นพระชายาในเจ้าหลวงองค์ก่อน นิยมเรียกว่าแม่เจ้าเฒ่า หรือแม่เจ้าหลวงเฒ่า
  • ราชเทวี หมายถึง พระชายาเอกในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ นิยมเรียกว่าแม่เจ้า หรือแม่เจ้าหลวง
  • เทวี หมายถึง พระชายารองในเจ้าหลวงองค์ที่อยู่ในราชสมบัติ นิยมเรียกว่าแม่เจ้า

 อนึ่งการขึ้นเป็น “เจ้าผู้ครองนคร” หรือสืบตำแหน่ง “เจ้าหลวง” หรือสืบความเป็นเจ้านายของล้านนาสามารถสืบทางฝ่ายหญิงได้เพราะวัฒนธรรมล้านนานั้นนับถือผีบรรพบุรุษ (ผีปู่ย่า) ซึ่งเป็นผีฝ่ายผู้หญิง วิถีชีวิตของเจ้านายล้านนาจึงแตกต่างจากเจ้านายสยามอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้หญิงสามารถสืบทอดเชื้อสายวงศ์ตระกูล และมีการตรากฎหมายรองรับชัดเจนในสมัยพระเจ้าสุทโธธัมมราชา (King Thalun) (คัดลอกจากบทความของอ.ชัยวุฒิ ไชยชนะ) การสืบทอดผ่านทางผีปู่ย่าของฝ่ายหญิงไม่ว่าเจ้านายผู้หญิงจะแต่งงานกับเจ้าที่ต่ำศักดิ์ หรือแต่งงานกับไพร่ บุตรธิดาที่เกิดมาจะมีความเป็นเจ้าโดยปริยาย แต่หากเจ้านายผู้ชายแต่งงานกับไพร่ บุตรธิดาที่เกิดมาจะเป็นไพร่ธรรมดาสามัญหากผีฝ่ายหญิงไม่ปรากฏชัด โดยเฉพาะส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าหญิงไพร่มีเชื้อผีกะหรือผีปอบ ในทางกลับกันลูกทาสที่ถือผีคุ้มหลวงอาจมีสถานะเหนือกว่าทั้งนี้เป็นเพราะผีปู่ย่าของฝ่ายหญิงนั้นสำคัญมากต้องมีการสืบให้รู้ ดังเช่น

  1. พระยาเทพวงศ์ ขึ้นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 2 สืบผ่านทางราชเทวี คือ แม่เจ้าสุชาดา ราชธิดาในพระยาศรีสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ สมัยอาณาจักรธนบุรี กับราชเทวี
  2. พระยาพิมพิสารราชา ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 4 สืบผ่านทางพระมารดา คือ แม่เจ้าปิ่นแก้ว ราชธิดาในพระยาเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ องค์ที่ 2 กับแม่เจ้าสุชาดาราชเทวี ซึ่งมีบิดาเป็นเพียง พระวังขวา เมืองแพร่
  3. เจ้านายอ้าย ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 3 สืบผ่านทางพระมารดา คือ แม่เจ้านางเทพ ราชธิดาในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 1
  4. เจ้ามโน ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 4 สืบผ่านทางพระมารดา คือ แม่เจ้านางเทพ ราชธิดาในพระเจ้าหลวงติ๋นมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 1
  5. พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 สืบผ่านทางราชเทวี คือ แม่เจ้าอุษา ราชธิดาในพระเจ้ามโหตรประเทศ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 5 กับแม่เจ้าสุวรรณคำแผ่นราชเทวี ซึ่งมีตำแหน่งเดิมเป็นพระยาเมืองแก้ว (พระยาบุรีรัตน์)
  6. พระเจ้าอินทวิชยานนท์ ขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7 สืบผ่านทางราชเทวี คือ แม่เจ้าทิพเกสร ราชธิดาองค์โตในพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 6 กับแม่เจ้าอุษาราชเทวี เป็นโอรสในพระยาราชวงศ์ (มหาพรหมคำคง)
  7. หรือการขึ้นรั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำปางของเจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง) โดยการอ้างสิทธิ์ของเจ้าศรีนวล ณ ลำปาง ราชธิดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 13 กับแม่เจ้าเมืองชื่นราชเทวี ซึ่งโดยหลักการแล้วการแต่งตั้งเจ้าผู้ครองนคร สมควรจะแต่งตั้งจากเจ้าขันห้าใบ ที่ดำรงฐานันดรชั้นสูงกว่า กล่าวคือ สมควรจะแต่งตั้งเจ้าราชวงศ์ (แก้วปราบเมรุ ณ ลำปาง) ซึ่งดำรงฐานันดรเป็น "เจ้าราชวงศ์เมืองนครลำปาง"

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. พงศาวดารโยนก, หน้า 267
  2. พงศาวดารโยนก, หน้า 267
  3. ตำนานวังน่า, หน้า 1
  4. พงศาวดารโยนก, หน้า 425
  5. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี, หน้า 126
  6. ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี, หน้า 134
  7. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 91-92
  8. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 99
  9. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 104
  10. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย, หน้า 109-112
  11. เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ, หน้า 43
  12. เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ, หน้า 84-85
  13. U.K., Hilderbrand's Report. F.O. 625/10/157. 15 Febuary. 1875.
  14. Carl Bock. Temple and Elephant: Travels in Siam in 1881-1882. p. 226.
  15. Holt Hallet. A Thousand Miles on an Elephant in the Shan States. p. 411.
  16. ภูเดช แสนสา. หัวเมืองในล้านนายุคราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน (ทิพจักราธิวงศ์) ช่วงเป็นประเทศราชของสยาม พ.ศ. ๒๓๑๗ - ๒๔๔๒
  17. เชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย, หน้า ๖๗ และ ๑๑๐
บรรณานุกรม
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยา. ตำนานวังน่า. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2462. [พิมพ์แจกในงานศพนางสุ่น ชาติโอสถ ปีมะแม พ.ศ. 2462]
  • ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับ เชียงใหม่ 700 ปี. เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, 2538. 496 หน้า. ISBN 974-8150-62-3
  • บัวผิว วงศ์พระถาง และคณะ, เชื้อสายเจ้าหลวงเมืองแพร่ ๔ สมัย, (แพร่ : แพร่ไทยอุตสาหการพิมพ์, ๒๕๓๗).
  • ประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค), พระยา. พงศาวดารโยนก. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2557. 496 หน้า. ISBN 978-616-7146-62-1
  • พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  • มหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ), พระยา. พงศาวดารเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนไชย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์พระจันทร์, 2505.
  • วรชาติ มีชูบท. เจ้านายฝ่ายเหนือ และตำนานรักมะเมียะ. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2556. 428 หน้า. ISBN 978-616-220-054-0
  • สุริยพงษ์ผริตเดช, พระเจ้า. ประชุมพงษาวดารภาคที่ ๑๐ เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่านยังให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง. พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2461.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!