กำแพงเมืองเชียงใหม่ |
ชื่ออื่น | กำแพงเวียงเชียงใหม่ |
---|
ที่ตั้ง | ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย |
---|
ประเภท | ระบบป้อมปราการ |
---|
ความกว้าง | 6.54 กิโลเมตร |
---|
ความเป็นมา |
---|
ผู้สร้าง | พญามังราย |
---|
วัสดุ | อิฐ |
---|
สร้าง | พ.ศ. 1839 |
---|
ละทิ้ง | พ.ศ. 2491 |
---|
สมัย | ล้านนา |
---|
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่ |
---|
สภาพ | ซากเหลือจากการรื้อถอน |
---|
ผู้บริหารจัดการ | เทศบาลนครเชียงใหม่ |
---|
สถาปัตยกรรม |
---|
รูปแบบสถาปัตยกรรม | ล้านนา |
---|
|
---|
|
---|
ชื่อที่ขึ้นทะเบียน | กำแพงเมืองเชียงใหม่ |
---|
ขึ้นเมื่อ | 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 |
---|
เป็นส่วนหนึ่งของ | กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ |
---|
เลขอ้างอิง | 0003557 |
---|
|
---|
|
---|
กำแพงเมืองเชียงใหม่ หรือ กำแพงเวียงเชียงใหม่ ปัจจุบันหมายถึงกำแพงเมืองชั้นในของเวียงเชียงใหม่ (ในขณะที่กำแพงเมืองชั้นนอกคือแนวกำแพงดิน) สร้างขึ้นพร้อมกับการสถาปนาอาณาจักรล้านนา ในรัชสมัยพญามังราย เพื่อเป็นเมืองหลวงของล้านนา โดยขั้นแรกได้ขุดคูเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีความยาวด้านละประมาณ 1.63 กิโลเมตร และนำดินที่ได้จากการขุดคูเมืองนั้นขึ้นไปถมเป็นแนวกำแพงเมือง โดยเริ่มขุดที่มุมตะวันออกเฉียงเหนือคือแจ่งศรีภูมิอันเป็นทิศมงคลก่อน แล้วก่ออิฐขนาบสองข้างกันดินพังทลาย ข้างบนกำแพงปูอิฐตลอดแนวทำเสมาไว้บนกำแพงทั้งสี่ด้านและประตูเมืองอีกทั้งสี่แห่ง เดิมประตูเมืองทั้งชั้นนอกชั้นในหนึ่งประตูก็ทำเป็นสองชั้น บานประตูวางเยื้องกัน เพื่อป้องกันข้าศึกเอาปืนใหญ่ยิงกรอกประตูเมือง ปัจจุบันถูกรื้อหมดแล้ว
กำแพงด้านทิศเหนือ มีความยาวมากที่สุด วัดได้ประมาณ 1.67 กิโลเมตร รองลงมาเป็นกำแพงด้านทิศใต้ วัดได้ 1.63 กิโลเมตร ส่วนกำแพงด้านทิศตะวันออกมีความยาวเท่ากับทิศตะวันตก คือ 1.62 กิโลเมตร
หลังจากที่เชียงใหม่ได้รับอิสรภาพจากพม่า เจ้ากาวิละได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์แรก ก็โปรดให้บูรณะกำแพงเมืองเป็นครั้งใหญ่ เป็นกำแพงอิฐที่มีความมั่นคงทนทาน และบูรณะอีกครั้งในปี พ.ศ. 2361 ในรัชสมัยเจ้าหลวงธรรมลังกา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 2[1]
ในสมัยมณฑลลาวเฉียง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยถวายความเห็นในการรื้อกำแพงเมืองเชียงใหม่ต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไว้ว่า "...เห็นว่าที่จะเอาตัวอย่างที่รื้อกำแพงพระนครกรุงเทพฯ ไปรื้อกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นไม่ควร กรุงเทพฯ เพราะบ้านเมืองเบียดเสียดเยียดยัด ต้องรื้อกำแพงขยายเป็นถนนหนทาง แลจัดบ้านเมืองให้เรียบร้อย เหตุเช่นนี้ไม่มีในเมืองเชียงใหม่ เปนแต่จะรื้อเสียโดยเห็นว่าเปนของเก่ารุงรังเปลืองแรง ไม่คุ้มค่าที่ได้อิฐหัก ๆ มาใช้สอย เห็นว่าเอาไว้ดูเล่นเปนของโบราณดีกว่า..."
ในปี พ.ศ. 2491 เนื่องจากกำแพงเมืองเชียงใหม่มีสภาพทรุดโทรมลงอย่างมาก และบางแห่งก็พังเป็นซากปรักหักพัง ทั้งยังมีวัชพืชขึ้นเป็นการรกอย่างมาก อีกทั้งยังบดบังทัศนียภาพของคนที่อยู่นอกกำแพงเมือง ทางเทศบาลนครเชียงใหม่จึงได้เริ่มรื้อกำแพงออก เพื่อสร้างถนนและเส้นทางคมนาคมในตัวเมืองเชียงใหม่ ส่วนอิฐจากกำแพงเมืองที่ถูกรื้อนั้นได้ถูกนำไปสร้างรั้วของค่ายกาวิละ
กำแพงและคูเมืองเชียงใหม่ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ในปี พ.ศ. 2478[2]
ประตูเมืองเชียงใหม่
เดิมกำแพงเมืองเชียงใหม่นั้นมีสองชั้น ได้แก่กำแพงชั้นนอก ซึ่งไม่เป็นที่แน่ชัดถึงปีสร้างและผู้สร้าง และกำแพงชั้นในซึ่งสร้างขึ้นมาในสมัยพญามังราย
ประตูเมืองชั้นใน
โดยประตูเมืองในปัจจุบันจะเป็นประตูเมืองของกำแพงชั้นในซึ่งมีประตูทั้งหมด 5 ประตู ได้แก่
- ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น
- ประตูเชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้
- ประตูท่าแพ เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้ มีบ้านเชียงเรือกตั้งอยู่บริเวณนอกกำแพงเมือง เดิมบ้านเชียงเรือกเป็นชุมชนค้าขายเพราะเป็นที่ตั้งของตลาดเชียงเรือก ตลาดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเชียงใหม่ คาดว่ามีประชากรหนาแน่น ซึ่งมีหลักฐานกล่าวถึงสมัยพญาแก้วเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงเรือกมีคนจมน้ำตายเป็นจำนวนมาก ในสมัยพระเจ้าอินทวิชายานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416 – 2440) ชื่อประตูเชียงเรือก เปลี่ยนมาเป็นประตูท่าแพชั้นในเพื่อให้คู่กับประตูท่าแพชั้นนอก เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่
- ประตูสวนดอก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญามังราย
- ประตูแสนปุง หรือ ประตูสวนปรุง เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคารขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ส่วนชื่อ แสนปุง เพราะเป็นทางออกไปสู่บริเวณที่มีเตาปุง (เตาไฟ) มากมาย เพราะด้านนอกประตูเป็นที่อยู่ของกลุ่มช่างหลอมโลหะจึงมีเตาปุงไว้หลอมโลหะจำนวนมากเปรียบนับแสน ปัจจุบันยังมีบ้านช่างหล่อพระพุทธรูปอาศัยอยู่ และถนนเลียบคูเมืองด้านนี้ชื่อถนนช่างหล่อจากความเชื่อเรื่องทิศและพื้นที่ถือเป็นเขตกาลกิณีจึงกำหนดให้ประตูแสนปุงเป็นทางออกไปสุสาน เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
-
ประตูช้างเผือก
-
ประตูเชียงใหม่
-
-
ประตูสวนดอก
-
ประตูแสนปุง
ประตูเมืองชั้นนอก
เป็นประตูของกำแพงเมืองชั้นนอก มีทั้งหมด 4 ประตู ได้แก่
- ประตูท่าแพ อยู่ด้านทิศตะวันออกของเมืองบริเวณหน้าวัดแสนฝาง ที่ชื่อท่าแพ เพราะเป็นทางออกสู่ท่าน้ำแม่ปิง ในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เรียกชื่อประตูนี้ว่า ประตูท่าแพชั้นนอก เพราะความเจริญเติบโตของเมืองชื่อของประตูท่าแพชั้นนอกจึงค่อย ๆ หายไป ประตูท่าแพจึงเหลือเพียงประตูเดียว
- ประตูหล่ายแกง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พบหลักฐานในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่กล่าวถึง ประตูนี้ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2313 เมื่อกองทัพธนบุรียกมาล้อมเมืองเชียงใหม่ ที่ชื่อหล่ายแคง เพราะบริเวณริมคูเมืองมีลักษณะลาดเท ในสมัยต่อมาจึงเรียกเพี้ยนมาเป็น ประตูระแกง
- ประตูขัวก้อม อยู่ทางทิศใต้ ปรากฏในหลักฐานโคลงมังทรารบเชียงใหม่ว่าสร้างขึ้นอย่างน้อยในปี พ.ศ. 2158
- ประตูไหยา (ประตูหายยา) อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในตำนานสิบห้าราชวงศ์ กล่าวถึงประตูไหยาเป็นครั้งแรกว่า "อยูบ่นานเท่าใด เทพสิงห์ยอเสิก็ (ศึก) เข้ามาคุมเวียง ลวดได้ ประตูไหยา"
แจ่งเมืองเชียงใหม่
กำแพงเมืองเชียงใหม่มีแจ่ง (มุม) 4 แจ่ง ซึ่งถือเป็นป้อมปราการของเมืองในอดีต ได้แก่
- แจ่งศรีภูมิ เดิมชื่อ แจ่งสะหลีภูมิ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่มาของชื่อหมายถึง ศรีแห่งเมือง ถือเป็นจุดแรกเริ่มของการสร้างเมืองเชียงใหม่ เชื่อมต่อถนนอัษฏาธร ออกไปยังตลาดคำเที่ยง และถนนวิชยานนท์ ออกไปยังตลาดเมืองใหม่, เจดีย์ขาว
- แจ่งก๊ะต้ำ หรือ แจ่งขะต๊ำ เป็นแจ่งทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อหมายถึง กับดัก เป็นเครื่องจับปลาชนิดหนึ่ง เพราะมุมด้านนี้อยู่ต่ำสุดมีปลาชุกชุม จึงมีผู้คนมาดักปลาโดยใช้ ขะต๊ำเชื่อมต่อถนนศรีดอนชัย ออกไปยังไนท์บาร์ซ่า, ขัว(สะพาน)เหล็ก, ถนนช้างคลาน
- แจ่งกู่เฮือง เป็นแจ่งทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นที่เก็บอัฐิของ อ้ายเฮือง ผู้คุมของแจ่งนี้
- แจ่งหัวลิน เป็นแจ่งด้านตะวันตกเฉียงเหนือ ที่มาของชื่อเนื่องจากเป็นจุดรับน้ำจากห้วยแก้ว (ดอยสุเทพ) ผ่านราง (ลิน) ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของระบบน้ำประปาแบบโบราณ เชื่อมต่อถนนสุเทพ ออกไปยังดอยสุเทพ, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สวนสัตว์เชียงใหม่
-
แจ่งศรีภูมิ
-
แจ่งก๊ะต้ำ
-
แจ่งกู่เฮือง
-
แจ่งหัวลิน
นอกจากนี้ ยังมี แจ่งหายยา (บ้างก็เรียกแจ่งทิพเนตร) ซึ่งเป็นแจ่งของกำแพงเมืองชั้นนอกหลงเหลืออยู่และมีสภาพดีมาก เป็นแจ่งที่ก่อด้วยอิฐมีลักษณะเป็นป้อมอย่างแจ่งกู่เฮือง ตั้งอยู่ทางใต้จากแจ่งกู่เฮืองราว 600 เมตร
คูเมืองเชียงใหม่
คูเมืองเชียงใหม่ อดีตเป็นคูเมืองที่ใช้ป้องกันข้าศึก และยังเป็นแหล่งประมงและแหล่งน้ำสำหรับเมืองเชียงใหม่ ซึ่งน้ำในคูเมืองเป็นน้ำที่รับมาจากดอยสุเทพ
ในปัจจุบัน เนื่องจากไม่มีกำแพงเมืองแล้ว จึงเรียกแนวกำแพงเมืองเชียงใหม่นี้อย่างเป็นทางการว่า "คูเมือง" ซึ่งคูเมืองเชียงใหม่ เป็นคูน้ำความกว้างราว 13 เมตร (อดีตเคยกว้างสูงสุด 25 เมตร) ลึกสุด 4 เมตร ตลอดคูเมืองจะมีน้ำพุ และจุดกลับรถกั้นเป็นระยะ ๆ การจราจร รอบนอกเป็นแบบวิ่งรถทางเดียวตามเข็มนาฬิกา ส่วนรอบในวิ่งรถทางเดียวทวนเข็มนาฬิกา อยู่ในความดูแลของเทศบาลนครเชียงใหม่
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
|
---|
อำเภอ | | |
---|
ประวัติศาสตร์ | |
---|
ภูมิศาสตร์ | |
---|
เศรษฐกิจ | |
---|
สังคม | การศึกษา | |
---|
วัฒนธรรม | |
---|
กีฬา | |
---|
การเมือง | |
---|
|
---|
|